สนทนาธรรม ตอนที่ 033


    ตอนที่ ๓๓

    สนทนาธรรมที่หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๓๙


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ แทนที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่เห็นกระทบสิ่งต่างๆ และจะเป็นอกุศล ก็จะเปลี่ยนเป็นกุศลเพิ่มขึ้นด้วยปัญญา นี่เป็นจุดประสงค์ในการที่จะรู้ความจริงซึ่งเป็นสัจธรรมของสภาพธรรม เป็นการทำให้เรารู้จักตัวเราเอง แล้วก็จะเข้าใจได้ถูกต้องว่าบังคับบัญชาไม่ได้ จิตทั้งหมดทุกขณะนี้ก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จะหลับ จะตื่น จะเป็นอะไรก็ตาม แต่ทั้งหมดมีปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็จะทำให้เราเข้าใจว่าที่พระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัปนี้เป็นอย่างน้อย เพื่อที่จะรู้ความจริงของจิต ซึ่งขณะนี้กำลังเห็น กำลังได้ยิน เราพูดแต่เพียงว่าจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จิตคิดนึก แต่ให้ทราบว่าถ้าจะใช้คำว่าจิตคิดนึก คิดนึกด้วยกุศลหรือคิดนึกด้วยโลภะ หรือคิดนึกด้วยโทสะ นี้ก็จะทำให้เราเห็นความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่เราจะต้องเข้าใจเรื่องจิตก่อนที่จะรู้ลักษณะของจิตจริงๆ ทั้งๆ ที่ขณะนี้มีตัวจิตจริงๆ แต่ก็ฟังเรื่องของจิตก่อน พูดถึงเรื่องจิตคือจิตเป็นสภาพรู้ เราพูดสั้นมากแต่ความเข้าใจของคนที่กำลังฟังนี้ เข้าใจแค่ไหน นี่เป็นสิ่งที่เราพยายามจะให้ทุกคนได้เข้าใจยิ่งขึ้นเพราะว่าบางคนก็อาจจะจำ พอได้ยินว่าจิตเป็นสภาพรู้ จำเลย พอใครถามว่าจิตคืออะไรก็ตอบว่าจิตคือสภาพรู้ ตอบได้ทุกคน ถ้าเป็นคำถาม คำตอบ ผิดถูก ทุกคนจะตอบได้หมดว่า จิตเป็นสภาพรู้ แต่นั่นไม่ใช่หมายความว่าเราเข้าใจจริงๆ แล้วในลักษณะของจิต เพราะฉะนั้นแม้แต่คำพูดประโยคเดียวว่าจิตเป็นสภาพรู้ เรายังจะต้องรู้ว่าสภาพรู้ที่เป็นจิตต่างกับเจตสิกซึ่งก็เป็นสภาพรู้เหมือนกันอย่างไร เพราะเหตุว่าเจตสิกก็เป็นนามธรรมเป็นสภาพรู้อารมณ์เดียวกัน เวลาที่มีจิตรู้อารมณ์คือสิ่งที่ถูกจิตรู้ก็จะต้องมีเจตสิกเกิดกับจิตนั้น และก็รู้อารมณ์นั้นด้วย

    เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องแยกให้รู้จริงๆ ว่าเวลาพูดถึงจิตซึ่งขณะนี้กำลังมี และกำลังเกิดขึ้นทำการงานด้วย พอที่เราจะเข้าใจลักษณะของจิตได้โดยการเข้าใจให้ถูกต้องว่า จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ เวลานี้ทุกคนต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าจิตเป็นสภาพรู้ต้องมีอารมณ์คือสิ่งที่ถูกจิตรู้ทุกครั้ง จะมีจิตรู้โดยไม่มีอารมณ์คือไม่มีสิ่งที่ถูกจิตรู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่ว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธานก็ต้องรู้จริงๆ ว่าขณะนี้ที่กำลังเห็น ลักษณะเห็น อาการเห็น สภาพที่เห็น ยังไม่มีความรู้สึกว่าจะรัก จะชัง จะชอบ จะเฉย หรืออะไรทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วมีสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งคือเจตสิกเกิดร่วมกับจิตทุกครั้ง แล้วอย่างน้อยที่สุดต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยถึง ๗ ดวงก็จริง แต่ลักษณะของเจตสิกก็ยังไม่ได้ปรากฏทันทีที่เห็น แต่สภาพที่เห็นมีแล้วคือขณะนี้ เพราะฉะนั้นให้ทราบจริงๆ ว่าอาการรู้ ลักษณะรู้นั้น ต่างกับรูปโดยสิ้นเชิง รูปแข็ง รูปอ่อน รูปร้อน รูปเปรี้ยว รูปหวาน รูปขม รูปหอม รูปเหม็น คือรูปเป็นกลิ่น รูปเป็นเสียง รูปเป็นรส แต่ว่าจิตเป็นสภาพที่กำลังรู้เสียง หรือกำลังได้กลิ่น หรือกำลังลิ้มรสที่หวาน หรือกำลังกระทบสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง นั่นคือลักษณะของจิต เรียกว่าจิตล้วนๆ โดยที่ยังไม่กล่าวถึงลักษณะอาการของเจตสิก ให้ทราบว่าจิตเป็นใหญ่คือเป็นประธานในการที่รู้ลักษณะของอารมณ์ ที่ท่านใช้คำว่ารู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ เพราะว่าจิตที่เป็นสภาพเห็น เห็นทุกอย่าง ไม่ว่าลักษณะของสิ่งที่ปรากฏนั้นจะเป็นอย่างไรก็ตาม เช่น สีแดงของดอกกุหลาบ จิตก็รู้ว่าไม่เหมือนกัน มีแดงเข้ม แดงอ่อน หรือว่าปนสีส้ม นี่คือลักษณะของจิตซึ่งเห็นเท่านั้น เห็นสิ่งที่ปรากฏ เห็นความต่างกัน เห็นความวิจิตร ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย คนที่ชิมอาหารเก่ง บอกได้ใช่ไหมว่า อ่อนเปรี้ยว หรือต้องเติมเค็ม หรือต้องเติมหวาน เพราะเหตุว่าจิตวิจิตรมากที่จะรู้ในรสนั้น นี่แสดงเห็นถึงความเป็นใหญ่เป็นประธาน หรือลักษณะของจิต คืออย่างนี้ คือสามารถที่จะรู้แจ้งในลักษณะที่ต่างๆ กันของอารมณ์ที่ปรากฏ ต้องเข้าใจลักษณะของจิตอย่างนี้เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์จริงแต่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ กลิ่นมีมากมายหลายกลิ่น แต่คนที่ชำนาญมีสัญญา มีความจำพร้อมกับขณะที่รู้กลิ่นก็สามารถที่จะรู้ความละเอียดของกลิ่นได้ แต่สภาพที่กำลังได้กลิ่น สามารถที่จะรู้ความวิจิตรความต่างกันของกลิ่นจนกระทั่งสามารถที่จะบอกได้ว่ากลิ่นนั้นเป็นกลิ่นอะไร นี่คือลักษณะของสภาพที่สสามารถที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ต้องเข้าใจจริงๆ ในลักษณะของจิต แล้วภายหลังถึงจะค่อยๆ รู้ลักษณะของเจตสิก ขณะนี้ก็มีเจตสิก แต่ว่าจิตเกิดตั้งแต่เกิดจนตาย เกิดแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว แล้วการดับไปของจิตดวงก่อนก็เป็นปัจจัยทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นเรื่อยไปในสังสารวัฎ

    เพราะฉะนั้นทุกคนมีอายุเกินแสนโกฏิกัปป์ เพราะว่าสืบต่อมาเรื่อยๆ จนถึงเดี๋ยวนี้ จิตเห็นไม่เคยหยุดหรือว่างเว้นเลย ชาติหนึ่งผ่านไปพอเกิดขึ้นไม่นานก็เห็นอีกต่อไป และชาติต่อไปซึ่งจะมาถึงก็มีเห็นอีกได้ยินอีก ก็อยู่อย่างนี้เรื่อยไป นี่คือลักษณะของธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นธาตุรู้ เป็นนามธาตุซึ่งไม่มีใครสามารถจะทำลายธาตุนี้ได้เลย ใครจะบอกว่าฉันตายแล้วฉันไม่อยากเกิด ไม่อยากเกิดแต่ก็ต้องเกิด เพราะเหตุว่ามีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดก็ต้องเกิด จนกว่าจะถึงจุติจิตของพระอรหันต์เท่านั้นที่จะไม่มีจิตเกิดอีกต่อไป เป็นธาตุซึ่งไม่มีใครสามารถจะทำลายได้ ฟ้าร้องมีใครห้ามไม่ให้ฟ้าร้องได้ ฝนตกไม่มีใครห้ามไม่ให้ฝนตกได้ เพราะฉะนั้นจิตจะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จิตก็ต้องเกิดขึ้น จะไปดับการเกิดขึ้นของจิต เจตสิก ไม่ให้เกิดอีกเลยไม่ได้ นอกจากปัญญา เพราะการที่ยังมีกิเลสอยู่เป็นปัจจัยให้จิตซึ่งดับไปแล้วเกิดขึ้นอีก

    อ.นิภัทร ขณะไหนที่จะรู้ได้ว่ามีจิต มีเจตสิกเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ขอตอบว่าจิตก็คงจะเป็นสภาพที่รู้ความจริงคือรู้อารมณ์ จิตเป็นใหญ่เป็นสิ่งที่รู้อารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่เกิดทางรูป เป็นสี หรือเป็นอะไรต่างๆ หรือทางสี เสียง กลิ่น รสต่างๆ ซึ่งมีความวิจิตร รู้ รู้ไปทั่ว หมายความว่าเป็นสภาพอาการที่รู้ รู้ว่าสิ่งนั้น คือ รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏที่เป็นอารมณ์นั้นอย่างไร

    อ.นิภัทร อยากจะบอกว่าขณะใดมีจิตนี้ ก็ขณะที่เห็น เพราะมีสภาพรู้ ขณะเห็นมีสภาพรู้หรือไม่

    ผู้ฟัง ขณะที่เห็นมีสภาพรู้

    อ.นิภัทร รู้ทางไหน

    ผู้ฟัง รู้ทางตา

    อ.นิภัทร ขณะได้ยิน

    ผู้ฟัง รู้ทางหู

    อ.นิภัทร ก็เป็นสภาพโสตวิญญาณคือทางหู รู้ นั่นคือวันหนึ่งๆ จะมีจิตเกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ส่วนเจตสิก เมื่อเห็นแล้ว ชอบไม่ชอบ ก็เป็นอีกขณะหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ นี้คือโดยทฤษฎี ใช่ไหม คือโดยทฤษฎีทราบแน่ๆ ว่าขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นจิต รู้ว่ามีจิตเพราะมีเห็น ศึกษาในขั้นที่จะเข้าใจสิ่งซึ่งเราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนเรื่องของจิต เรื่องของสภาพธรรม เรื่องของทุกๆ ขณะจิต แต่ขั้นฟังนี้เข้าใจ แต่ว่าทั้งๆ ที่พูดเรื่องจิต จะรู้ได้ว่ามีจิตเมื่อไร แล้วก็ตอบว่าจะรู้ได้ในขณะที่มีการเห็นเมื่อไร ก็รู้ว่ามีจิตเมื่อนั้น นี้โดยการตอบ แต่ตัวจิตจริงๆ ซึ่งกำลังเห็น นี่เป็นอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งจะต้องเข้าใจถึงตัวจิตซึ่งเรากำลังกล่าวถึง และเป็นขั้นปฏิบัติ ขั้นปฏิเวท แต่ว่าขั้นนี้เป็นขั้นปริยัติ เพราะพูดเรื่องจิต แล้วก็ตอบได้ด้วย จะรู้ว่ามีจิตในขณะที่กำลังเห็น และก็ตอบได้ว่าขณะที่กำลังเห็นนี้เป็นจิตที่รู้อารมณ์ทางตา ทั้งหมดนี้เป็นทฤษฎี เป็นขั้นปริยัติ

    ผู้ฟัง ขออนุญาตถาม ว่าคุณวีระมีความรู้สึกอย่างไรในความแตกต่างของจิตกับเจตสิก คือ จิตกับเจตสิกนี้ ก็เป็นนามธรรมเป็นสภาพรู้เหมือนกัน และจะต้องไปด้วยกันถึงจะทำงานได้ แต่ถ้าแยกรู้ของเขาทีละอย่างแล้ว ถามว่าจิตกับเจตสิกนั้นมีส่วนต่างกันตรงไหน เพราะเหมือนกันมากคือสภาพรู้ คงจะมีอะไรที่ต่างกันจึงทรงแสดงให้มีชื่อ ๒ ชื่อว่า เป็นจิตกับเจตสิกนั้นต่างกันตรงไหน

    ผู้ฟัง ความต่างของจิตที่เป็นสภาพรู้กับความต่างของเจตสิกที่เป็นสภาพรู้นี้ ต่างกันเห็นได้ค่อนข้างจะชัดก็คือว่า ขณะที่อารมณ์เกิดทางประสาทที่เรารับความรู้สึก จะเป็นทางหู ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็ในความรู้สึกนั้นมีอาการของความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เมื่อเห็นแล้ว พอใจ มีความพอใจหรือไม่พอใจ หรือว่าชอบหรือไม่ชอบ หรือว่าอาการอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเห็นที่ผมคิดว่าเป็นความบริสุทธิ์ที่เห็น มีอารมณ์อยู่แล้ว มีอารมณ์ที่เห็น คือรูปที่เกิดขึ้นจิตก็ทราบ ส่วนอาการของจิตนั้นก็คือ ที่เข้ามาทราบว่า รูปที่เกิดขึ้นที่เป็นอารมณ์นั้น เป็นสิ่งที่น่าจะเป็นอย่างไร พอใจ ไม่พอใจ เกลียด ไม่ชอบ หรือว่า อาการที่แตกต่างออกไปอย่างนี้ ซึ่งไม่ใช่อาการที่ปรากฏ เกิดขึ้นในทางทวารต่างๆ คือๆ เจตสิก

    ผู้ฟัง ที่กล่าวถึงพอใจ ไม่พอใจ นั่นคือการทำงานของจิตกับเจตสิกร่วมกัน จิตอย่างเดียวทำงานไม่ได้ เจตสิกอย่างเดียวก็ทำงานไม่ได้ เพราะจะต้องเกิดปรุงแต่ง เจตสิกจะต้องปรุงแต่งจิต เจตสิกจะต้องปรุงแต่งจิตให้เกิดชอบไม่ชอบ เพราะฉะนั้นจุดต่างกันอยู่ตรงไหน จุดคือจิตกับเจตสิกเป็นนามธรรมเป็นสภาพรู้เหมือนกัน แต่เมื่อสักครู่นี้ท่านอาจารย์กล่าวว่า จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ ก็จะรู้ทุกอย่าง แต่ถ้าไม่มีเจตสิก จิตทำงานได้ไหม

    ผู้ฟัง จิตคงเกิดไม่ได้

    ผู้ฟัง จิตเกิดไม่ได้ ทำงานไม่ได้ต้องมีเจตสิกปรุงแต่ง เจตสิกทั้งหมดมีเท่าไร จำได้หรือไม่

    ผู้ฟัง เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒

    ท่านอาจารย์ ใครจะมีอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะถ้าพูดถึงเรื่องลักษณะที่ต่างกันของจิตกับเจตสิกซึ่งก็เป็นนามธรรมซึ่งเกิดร่วมกันอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น เพราะเหตุว่าสภาพของธรรมทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นลอยๆ ตามลำพังอย่างเดียวนั้นไม่ได้เลย ต้องมีปัจจัยคือสิ่งอื่นปรุงแต่งอาศัยสนับสนุนอุปการะให้เกิดขึ้น ที่จะต้องจำอีกประการ หนึ่งก็คือว่า จิต และเจตสิกจะปราศจากกันไม่ได้ เกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน แต่แม้ว่าเป็นนามธรรมยังจำแนกออกมาว่า จิตไม่ใช่เจตสิก เพราะจิตไม่ใช่เจตสิกจริงๆ จิตเป็นจิตปรมัตถ์ ส่วนเจตสิกเป็นเจตสิกปรมัตถ์ เพราะฉะนั้นถ้าจะตอบคำถามของคุณสุรีย์ ไม่ทราบจะใช้คำว่ากำปั้นทุบดินหรือไม่ แต่เป็นความจริงก็คือว่าเจตสิกต่างกับจิตอย่างไรก็คือว่า เจตสิกไม่ใช่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ เพราะเหตุว่าแม้ว่าเกิดร่วมกันพร้อมกันก็จริง แต่สภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานนั้นคือจิต เป็นใหญ่เป็นประธานในการที่รู้แจ้งอารมณ์จริงๆ อย่างทางตากำลังเห็น มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยตั้งหลายเจตสิก แต่ใครเห็น อะไรเห็น จิตเห็น ขณะที่กำลังได้ยินเสียงมากมาย เสียงเบา เสียงต่ำ เสียงมีหลายเสียงในที่นี้ ถ้าสติจะเกิดระลึก จะรู้ได้ว่ามีหลายเสียงทีเดียว แล้วจิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์คือเสียงหมายความว่าจิตได้ยินเสียง ขณะนั้นเราไม่ได้พูดถึงเจตสิกเลย ได้ยินไหม ได้ยิน นั่นคือสภาพของจิตซึ่งทำการงานได้ยิน แต่ต้องอาศัยเจตสิก มิฉะนั้นจิตได้ยินก็เกิดไม่ได้ แต่ว่าให้เราทราบว่าลักษณะที่ต่างกันก็คือว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน แต่เจตสิตไม่ได้เป็นใหญ่เป็นประธาน เพราะว่าเจตสิกมีถึง ๕๒ ชนิด ต่างทำหน้าที่ของตน และจิตที่ว่ารู้อารมณ์นี้ไม่ใช่เที่ยวไปรู้อย่างอื่น ไม่ใช่รู้ว่านั่น รู้ว่านี้ รู้ว่ามีเจตสิกเท่านั้น เท่านี้หรืออะไร จิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์คือรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ นี่คือลักษณะของจิต ถ้าเป็นเรื่องของความจำนั้นไม่ใช่จิต เป็นเรื่องของสัญญาที่จำ แล้วถ้าเป็นเรื่องของปัญญาที่รู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง นั่นก็ไม่ใช่ลักษณะของจิตอีก แม้ว่าปัญญาเจตสิกจะเกิดกับจิตก็จริง แต่ปัญญาคือปัญญา และจิตคือจิต นี่แสดงให้เห็นว่าสภาพของเจตสิกซึ่งเกิดด้วยกันกับจิต ทำให้จิตแสดงลักษณะอาการที่เป็นใหญ่เป็นประธาน

    ความคิดนึกถ้าจะย่อยได้แก่วิตกเจตสิก วิจารเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกัน ไม่ว่าจะตรึกนึกคิด ที่เราใช้คำว่าตรึก หรือใช้คำว่าคิด หรือใช้คำว่านึก ก็มาจากคำว่าวิตก คำเดียวกัน ตรึกหรือนึก หรืออีกประการหนึ่งก็คือจรดในอารมณ์แต่ละอารมณ์ ซึ่งอารมณ์นี้มีมาก อย่างจิตเมื่อเป็นใหญ่เป็นประธานจริงในการเห็น แต่สภาพที่ตรึกหรือจรดในอารมณ์นั้นเป็นลักษณะของวิตกเจตสิก เป็นสภาพที่ตรึกหรือจรดในอารมณ์ แต่ว่าเนื่องจากวิตกเป็นเจตสิก ส่วนจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ เพราะฉะนั้นเมื่อจิตนั้นมีเจตสิกคือวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็ทำให้ดูเสมือนว่าจิตคิด แต่ลักษณะจริงๆ แล้วจิตเป็นสภาพรู้คำ รู้เรื่องที่วิตกเจตสิกนึก แต่ว่าโดยสภาพของความเป็นใหญ่เป็นประธานของจิต ซึ่งเป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ที่เจตสิกนึก ที่วิตกเจตสิกนึกก็เป็นสภาพที่เหมือนกับว่าจิตนั่นเองนึก เพราะเหตุว่าลักษณะอาการของจิตนั้นเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ ซึ่งเจตสิกเป็นสภาพที่ตรึกถึงอารมณ์นั้น

    นี่คือลักษณะที่ต่างกันของจิตกับเจตสิต เพราะว่าจิตนั้นเป็นใหญ่เป็นประธานจริงๆ ในการรู้อารมณ์ ไม่ว่าเจตสิกจะทำอะไรก็ตามแต่ ไม่ว่าอะไรก็ตามทั้งนั้น จิตเป็นใหญ่เป็นประธาน เหมือนกันขณะที่จำ เจตสิกเป็นสภาพที่จำ จิตไม่ได้จำเลย จิตเห็น จิตได้ยิน จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในขณะที่เห็น สัญญาเจตสิกซึ่งเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะที่จำ เป็นสภาพที่สำคัญจริงๆ เพราะว่าทำให้เกิดอัตสัญญา คือความสำคัญหมายว่ามีตัวตนเพราะเหตุว่าไม่รู้สภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่ามีสัญญาความจำ ถ้าทางตาก็จำในสีสรร ในรูปร่าง ในสัณฐานของสิ่งที่เห็น แต่เวลาที่สัญญาจำ ลักษณะของสัญญา และเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดร่วมกัน และต่างก็ทำกิจคนละเล็กคนละน้อย หรือว่าสภาพละเล็กละน้อยก็ตามแต่ที่เราจะเรียกเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตนั้น แต่จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ เพราะฉะนั้นจึงเหมือนกับจิตจำ แต่ความจริงถ้าย่อยละเอียดแล้ว ที่จำนั้นคือสัญญาเจตสิก แต่เพราะจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ที่สัญญาจำจึงเหมือนกับว่าจิตนั้นจำ แต่ให้ทราบว่าลักษณะปลีกย่อย และเป็นลักษณะของเจตสิกแต่ละชนิด ไม่ว่าจะเป็นวิตกกเจตสิก วิจารเจตสิก สัญญาเจตสิก หรือเวทนาเจตสิกซึ่งเป็นสภาพที่รู้สึก ขณะใดที่รู้สึกขณะนั้นก็ปราศจากจิตไม่ได้เลย และจริงๆ แล้วลักษณะที่รู้สึกไม่ใช่จิต จิตรู้สึกไม่ได้เลย จิตเพียงแต่รู้อารมณ์ คำว่า "รู้อารมณ์" คือรู้สิ่งที่ปรากฏให้รู้ ทางตาเป็นสีสรร ทางหูเป็นเสียง ทางจมูกเป็นกลิ่น ทางลิ้นเป็นรส ทางกายเป็นสิ่งที่กระทบสัมผัส ทางใจเป็นคิดนึก เวลาคิดนึกรู้สึกเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง

    ทุกคนก็ดูโทรทัศน์เรื่องอะไรต่อเรื่องอะไรนี้ ต้องการอะไร ความรู้สึกต่างๆ ของตัวเองจากสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่ความรู้สึกของจอ ไม่มีเปาบุ้นจิ้นด้วย ไม่มีอะไรๆ ในจอนั้น แต่ว่าเราคิดเป็นเรื่องเป็นราว และก็มีความพอใจที่จะให้ความรู้สึกนั้นๆ เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเวลาที่ความรู้สึกนั้นๆ เกิดขึ้น ถ้าไม่มีจิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์นั้น สภาพความรู้สึกนั้นก็เกิดไม่ได้ นี่เป็นการที่จะแยกให้รู้ลักษณะที่ต่างกันของจิตปรมัตถ์กับเจตสิกปรมัตถ์

    ถ้าถามเราก็ตอบไปตรงๆ ว่าจิตกับเจตสิกต่างกันอย่างไร จิตก็คือสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ ส่วนเจตสิกต่างกับจิตอย่างไร ก็คือเจตสิกไม่ใช่สภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ เพราะว่าเจตสิกแต่ละชนิดมีลักษณะเฉพาะตน มีกิจเฉพาะตน แต่ไม่มีสักจิตเดียวของเจตสิกหนึ่งเจตสิกใดซึ่งจะเป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์

    ผู้ฟัง คือเมื่อพิจารณากับชีวิตที่เห็นจริงๆ อยู่เดี๋ยวนี้ เห็นก็ตาม ได้ยินก็ตาม ก็เป็นจิตแต่ละจิต แต่ละครั้งที่เกิดขึ้น แต่ละดวงที่เกิดขึ้น ซึ่งมีสภาพเจตสิกเกิดร่วมด้วยของแต่ละดวงเ ช่น เห็นก็ตาม ได้ยินก็ตาม หรือคิดนึกก็ตาม เมื่อจิตเป็นใหญ่เป็นประธานก็หมายความว่า จิตนั้นก็รับรู้ด้วยกับที่เจตสิกแต่ละดวงเกิดหรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่อยากจะให้ใช้คำว่าเจตสิกรับรู้ด้วย หมายความว่าจิตเป็นสภาพรู้เจตสิกเป็นสภาพรู้ซึ่งเกิดร่วมกัน ธรรมดาที่เราได้ยินได้ฟังบ่อยๆ คือสังขารธรรมสังขารไม่เที่ยง เราได้ยินบ่อยมาก แต่ว่าเรายังไม่เข้าใจลึกซึ้งว่าสังขารธรรมหมายความถึงสภาพทุกอย่าง ซึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป จะไม่มีสภาพธรรมใดเลยซึ่งเกิดแล้วไม่ดับ แล้วก็สภาพธรรมใดก็ตามซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องมีปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกันจึงได้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจะมีจิตเกิดขึ้นโดดๆ โดยไม่มีสภาพธรรมอื่นอุปการะเป็นปัจจัยให้จิตเกิดไม่ได้ และสภาพธรรมที่เป็นอุปการะเป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นก็คือเจตสิก และเจตสิกก็เช่นเดียวกัน ทั้งๆ ที่เกิดกับจิต ถ้าปราศจากจิต เจตสิกจะเกิดขึ้นลอยๆ ก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าเจตสิกก็เป็นสังขารธรรม อะไรก็ตามที่จะเกิดทางวิทยาศาสตร์คุณวีระก็ทราบใช่ไหม แยกย่อยออกไปแล้วจะมีอะไรอย่างเดียวลำพังโดดๆ ไม่ได้ จะต้องมีสิ่งประกอบที่เกิดพร้อมกันอาศัยกันเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรูปรูปเดียวก็เกิดขึ้นไม่ได้ ธาตุดินอย่างเดียวที่แข็งเกิดขึ้นไม่ได้ ต้องมีธาตุไฟ ธาตุน้ำ ธาตุลมเกิดร่วมกัน นามธรรมก็เช่นเดียวกัน ขึ้นชื่อว่าสังขารธรรมคือสภาพธรรมใดๆ ซึ่งเกิด ถ้ายังเข้าใจธรรมคลาดเคลื่อนก็ขอให้จำไว้ใหม่ว่าสังขารธรรมคือสภาพธรรมซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัย ต้องมีเหตุปัจจัยทำให้เกิด เช่น แข็ง ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยแข็งนี้จะเกิดไม่ได้ ถ้าใครกำลังได้กลิ่น ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งกลิ่นก็เกิดขึ้นไม่ได้ กลิ่นดอกกุหลาบก็ต้องมีดอกกุหลาบ ต้องมีธาตุดิน ต้องมีอย่างอื่นประกอบกัน แล้วก็มีกลิ่นรวมอยู่ในที่นั้นด้วย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 10
    8 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ