สนทนาธรรม ตอนที่ 027


    ตอนที่ ๒๗

    สนทนาธรรมที่หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๓๘


    ผู้ฟัง ผมขออนุญาตสนทนาธรรมอีกนิดหนึ่ง ในสมัยที่ผมแสวงหาธรรม คิดว่าสิ่งไหนเป็นบุญกุศล ผมก็พยายามแสวงหาสำนักต่างๆ จนกระทั่งคุณสฤษดิ์แนะนำให้ฟังท่านอาจารย์สุจินต์นี่นะครับ ผมก็เริ่มฟังดู เออนี่เข้าท่ารู้ว่า กุศล อกุศล ที่แท้จริงเป็นยังไงนะครับ ผมก็คิดว่าอย่ากระนั้นเลยเรามาทำกุศลเถอะเพื่อจะได้เป็นเครื่องอยู่เครื่องอาศัยของเราในชาติต่อๆ ไป ในขณะนั้น ถ้าใครได้คุยกับผมบ่อยๆ ผมก็ยังพูดว่าผมยังไม่เป็นนะพระอรหันต์ หรือว่าไปนิพพานอะไรอย่างนี้ เพราะว่ายังติดอยู่ในโลกธรรมอยู่นะครับ ผมยังมีความสุขกายสบายดี ร่างกายผมแข็งแรงอะไรนี่นะครับ ผมก็คิดว่าเรามาสร้างกุศลเพื่อจะได้เป็นเครื่องอยู่เครื่องอาศัยของเราในชาติต่อไป

    โดยไม่รู้ตัวเลยว่าในขณะนั้น สภาพจิตของเรานี่คงกระด้างนะครับ คงจะหยาบช้าอะไรอย่างนี้ เราก็ไม่ได้คิด ต่อมาๆ เราได้ฟังธรรมเพิ่มขึ้น ผมขอประทานโทษที่ต้องพูดตามตรงกันนะไม่ได้อวดอะไร เราเริ่มรู้สึกว่าเราเข้าใจสติสัมปชัญญะบ้างเล็กๆ น้อยๆ เราจะรู้สึกเลยว่ารายรับรายจ่ายไม่พอกันในขณะที่เราดำรงชีพอยู่ หรือปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันกุศลเกิดน้อยเหลือเกินครับ วันสองวันสามวันเดือนนึงเกิดจริงๆ สักทีหนึ่ง โอโหมันไม่คุ้มเลย แล้วเราจะอยู่ทำไมนี่ และเครื่องอยู่เครื่องอาศัยเราในภพต่อๆ ไปนี่ เดือนหนึ่งกุศลแท้ๆ จริงๆ จะเกิดอะไรสักครั้งหนึ่ง มันจะคุ้มกับทุกขณะจิต แต่ละขณะจิตไปเท่าไหร่แล้วที่เป็นอกุศล ฉะนั้นผมก็มาเริ่มหวนคิดถึงสภาพจิตตัวเอง จิตชักจะอ่อนโยนนะครับ ชักจะไม่ไหวแล้วนะถ้าเป็นอย่างนี้เราเริ่มเข้าใจเรื่องกุศล อกุศล อะไรต่างๆ นี่ครับ ชักจะมีความโน้มเอียงกันแล้วว่า ถ้าจะไม่เกิดก็จะดีเหมือนกันนะครับ อันนี้คือความรู้สึกในขณะนี้ของผม ก็ยอมรับว่าถ้าไปถึงจุดนั้นได้ก็คงจะนะดีครับ

    ท่านอาจารย์ คะ คุณประทีปหมายความว่าเดิมทีเดียวก็ยังติดในผลของกุศล หวังว่ากุศลที่ทำๆ ไป ก็จะให้ความสะดวกความสบายทุกอย่างที่จะเกื้อกูลต่อไปที่จะให้มีชีวิตอยู่โดยที่ยังไม่ต้องการที่จะนิพพานหรือถึงนิพพาน ใช่ไหมคะแต่จริงๆ แล้ว เราก็เห็นค่ะว่าคุ้มไหมที่เรามีทุกอย่างที่ดีนะคะ ทางตาแล้วติด มีทุกอย่างที่ดีทางหูนะคะ ได้รับเสียงเพราะๆ แล้วติด ชั่วขณะที่วิบากจิตเกิดนี่ น้อยนะคะ แต่โลภะซึ่งติดในสิ่งนั้นๆ มากกว่าเยอะแล้วก็เป็นอย่างนี้มาแล้วกี่ชาติโดยที่ไม่รู้ตัวเลยใครที่ชอบสบาย ชอบสิ่งต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ถ้าเป็นพวกที่มีปัญญาก็รู้ว่า หลังจากที่ได้รับสิ่งนั้นแล้ว โลภะ โทสะ โมหะ กับกุศล เทียบกันไม่ได้อย่างที่ว่า

    เพราะที่จะเป็นกุศลจริงๆ หลังจากที่เห็น บ่อยมั้ย แล้วถ้าไม่เป็นสติปัฐานนี่คะ จะเป็นไปได้ไหมว่าพอเห็นแล้วเป็นกุศล ห่างกันมากเลย กว่าจะไม่คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้เรื่องจะทำบุญทำกุศลอะไรต่างๆ แต่พอลืมตามาแล้วก็เป็นอกุศลไปแล้ว นับไม่ถ้วนเลย เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่าเราอยากจะละอกุศลแต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเราไม่มีปัญญาที่จะรู้ความจริงนั้น ไม่มีหนทาง ละไม่ได้

    ด้วยเหตุนี้แม้แต่ผู้ที่เป็นพวกที่ได้ฌานในสมัยพุทธกาลนะคะ ก็ไม่ใช่พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะไม่ได้แสดงสัจธรรมคือความจริงให้ผู้นั้นเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าเขาเองหรือทุกคนมีอกุศลอะไร หลังเห็น หลังได้ยิน อย่างเร็วมากเลยแล้วก็เป็นอย่างนี้คะ หนาแน่นมากจนกว่าจะฟังพระธรรมแล้วก็อาศัยความเข้าใจนะคะ ถึงจะเริ่มรู้ว่าทุกคนนี้ หนักด้วยอกุศล เป็นผู้ที่หนา เป็นปุถุชนจริงๆ จนกว่าจะมีความเข้าใจเรื่องสภาพธรรมแล้วสติก็มีปัจจัยที่จะเกิด แล้วก็ระลึกรู้ตามความเป็นจริง มิฉะนั้นแล้วก็ติดในกุศลได้ เรียกว่าติดในผลของกุศลได้ เพราะเหตุว่าโลภะติดในทุกอย่างที่มี ที่ปรากฏ เว้นอย่างเดียวคือโลกุตระธรรม

    ผู้ฟัง คืออาจารย์พูดเสมอว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นเรื่องของจิต เรื่องของเจตสิก เรื่องของรูป เวลาที่เรามีการพูดกันถึงสิ่งที่มันเป็นปกติในชีวิตประจำวันก็บอกว่าเช่นความโกรธก็เป็นเรื่องของจิต เรื่องเจตสิก ความโลภเป็นเรื่องของจิต เรื่องเจตสิก การที่แต่ละคนจะรู้จะเข้าใจอย่างถูกต้องในขณะที่จิตนั้นๆ เกิดขึ้น ถ้าสติไม่เกิด ขั้นแรกก็คงเป็นการรู้เรื่องก่อน แล้วก็รู้เรื่องไปอยู่ตลอดอย่างนี้ ตลอดเวลาเลยโอกาสที่จะให้มีสติระลึกในขณะที่จิตนั้นกำลังปรากฏ ต้องเป็นเรื่องของสติปัฏฐานใช่ไหมครับ งั้นก็เป็นสิ่งที่ยากมากครับ สำหรับผมนี่ยากจริงๆ เลย

    ท่านอาจารย์ สำหรับทุกคนที่ตั้งต้น ที่ตั้งต้นไงคะ

    ผู้ฟัง ครับ เวลานี้ผมก็ไม่อยากจะให้ข้ามเรื่องของลักษณะสติ เพราะว่าถ้าสติไม่เกิด ทุกสิ่งทุกอย่างเราจะไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับคำว่าปรมัตถธรรมเลยนะ ได้แต่ชื่อ ได้แต่เรื่อง ได้แต่ชื่อ ได้แต่เรื่องนะครับ แม้กระทั่งเรื่องของเวทนานะครับ

    ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ทุกคนปฏิเสธไม่ได้ว่า ใครบ้างที่จะไม่มีความรู้สึกที่เป็นสุขเป็นทุกข์ แต่ก็รู้เอาเมื่อหลังจากที่มันผ่านไปหมดแล้ว ไม่ใช่เป็นการรู้ในขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏ นี่เป็นสิ่งที่คงจะต้องให้ความสำคัญของลักษณะของสติมากพอสมควรใช่ไหมครับ ที่ว่าสตินี่ถ้าเป็นเรื่องของกุศลขั้นธรรมดาสติเขาก็เกิดแล้วนะ แต่ถ้าเป็นสติที่จะเป็นการระลึกได้จะต้องเป็นเรื่องของสติปัฐาน เวลาเราพูดกันรู้สึกว่าจะพูดเรื่องสติปัฏฐานง่าย แต่จริงๆ แล้ว แม้ในวันหนึ่งๆ ท่านอาจารย์เคยมีคำถามเปรียบเทียบว่ามีกุศลเกิดมากหรือว่าอกุศลเกิดมาก เพียงกุศลขั้นทาน ขั้นศีล ก็ไม่ใช่ว่าจะมีปรากฏบ่อย แต่ว่าเป็นเรื่องของการหลงลืมสติมากกว่า อันนี้ท่านอาจารย์คิดว่านอกจากการฟังการสนทนาแล้ว โอกาสที่จะทำให้สติมีการระลึกได้มีแนวทาง ทางไหนบ้างครับ

    ท่านอาจารย์ อย่าลืมนะคะ ว่าตามลำดับคะ เหมือนกับเวลานี้เราอยู่ที่พื้นแล้วเราอยากจะกระโดดขึ้นไปถึงไหนได้ ไม่ได้หมายความว่ามันอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาที่จะทำนะคะ แต่ให้ทราบว่าเรื่องของการที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมนี่คะ แม้แต่การที่จะประจักษ์ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนที่เป็น นามธรรม และรูปธรรมเป็นปัญญา เพราะฉะนั้นถ้าปัญญาขั้นต้นขั้นนี้ไม่มีแล้วเราก็ไปสอนเรื่องสติ เพื่อจะให้สติเกิดมันเป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นต้องทราบว่าการฟัง และเข้าใจ เข้าใจจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมอย่างขณะนี้ แม้แต่คำเดียวที่ว่าทุกอย่างเป็นธรรม แล้วทางตาทุกคนก็กำลังเห็นแล้วก็ทุกอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่ว่าไปสอนให้สติเกิด สติก็คือสภาพที่ระลึก แต่ไม่ใช่ระลึกธรรมดา รู้ ไม่ใช่ระลึกเฉยๆ ค่ะ ถ้าเป็นสติปัฎฐานแล้วระลึก แล้วรู้ มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ถ้าเป็นสติขั้นทานจะเห็นได้เลยว่าใครที่สะสมอุปนิสัยในเรื่องทาน จิตของเขานี่คะ มีปัจจัยเกิดระลึกในทาน แต่คนที่ไม่ได้สะสมมาในเรื่องทาน ไปบอกเท่าไหร่ ทานก็ไม่เกิด เพราะเหตุว่าเขาไม่ได้มีการสะสมมาในเรื่องทานที่จะเป็นปัจจัยให้จิตเขาระลึกเป็นไปในทาน

    เพราะฉะนั้นการระลึกหรือความคิดนึกของแต่ละคนในเรื่องกุศลก็แต่ละด้านแล้วแต่ว่าจะสะสมมาในการที่จะให้สติเกิดระลึกเป็นกุศลในลักษณะใด แต่ต้องตามการสะสมสำหรับคนที่สะสมเรื่องของทาน เขาระลึกถึงเรื่องทานบ่อยค่ะ แต่ว่าให้ระลึกเรื่องปัญญาระลึกไม่ได้ หรือว่าจะให้สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม ก็ระลึกไม่ได้อีก เพราะว่าไม่มีปัจจัยพอ นี้ก็แสดงให้เห็นว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับการสะสมจริงๆ เพราะฉะนั้นขณะนี้เรากำลังสะสมความเข้าใจ เพราะเหตุว่าการที่จะถึงปัญญา ปัญญาไม่ใช่ว่าไม่รู้อะไร

    แต่ปัญญาคือความเข้าใจที่เจริญเติบโตจนกระทั่งรู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงที่ได้ยินได้ฟังมา เพราะว่าใครก็ตามที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเป็นสาวก คือผู้ฟังทั้งหมด แม้แต่ท่านพระสารีบุตรซึ่งเป็นผู้ที่เลิศทางปัญญาก็ต้องฟัง แล้วเราเป็นใคร ยังไม่ใช่ท่านสารีบุตรโดยไม่มีวันจะถึงความเป็นอัครสาวก แต่ว่าเป็นผู้ที่ฟังพระธรรมเพื่อเข้าใจก่อน ก่อน ไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องปฏิบัติ ไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องสติ ไม่ต้องไปคิดเรื่องระลึกอะไรทั้งสิ้น ฟังเพื่อให้ความเข้าใจ สะสมจนกระทั่งเป็นปัจจัยที่มีการระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นเรื่องของสตินี้เป็นเรื่องระลึกแล้วรู้ อย่างเวลานี้บอกว่าแข็ง กระทบสัมผัสนี่มี ทุกคนตอบได้หมดแต่ปัญญาระดับไหน ปัญญาสามารถจะถึงความเป็นพระอรหันต์ในขณะที่กระทบ หรือปัญญาถึงขั้นเป็นพระอนาคามี หรือปัญญาเป็นขั้นที่กำลังพูดอย่างนี้ แล้วบอกแข็ง สติคือระลึกเป็นปกติธรรมดาไป หรือว่าบอกเท่าไหร่ก็ไม่รู้ว่าสติที่ระลึกที่แข็งเป็นยังไง

    เพราะฉะนั้นก็ต้องอบรมค่ะ ต้องเข้าใจความหมายของคำว่าอบรม ว่าอบรมปัญญาความรู้ความเข้าใจถูก เพราะฉะนั้นจะแพ่งไปที่สติอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม มิฉะนั้นแล้วก็คือตัวเราที่ต้องการ ซึ่งตัวเราที่ต้องการถ้าไม่ใช่ปัญญาจริงๆ แล้วมองไม่เห็นเลยค่ะว่าอยู่ตรงไหน แต่มีทั่วไปหมดในชีวิตประจำวัน

    ผู้ฟัง เรื่องสติก็มายกไว้ แต่ว่าทำยังไงถึงจะเข้าใจนะครับ

    ท่านอาจารย์ ทำยังไงมาอีกแล้วค่ะ

    ผู้ฟัง เพราะว่าเรื่องสตินี้เป็นเรื่องที่ว่าจะต้องเกิดจากเข้าใจสภาวธรรมที่ปรากฏจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เหมือนกันเลยคำตอบ ว่าเรื่องทำยังไงสติจะเกิด ทำยังไงจะให้เกิดความเข้าใจ

    ผู้ฟัง ก็คงจะมีแต่เรื่องการฟังกันอย่างแน่นอน คงไม่มีทางอื่น ไม่มีทางอื่น เพราะฉะนั้นถ้าฟังยังไงถึงจะเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วพิจารณา แล้วคิดในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ไตร่ตรองค่ะ

    ผู้ฟัง เช่นว่าทางตา มีสภาพธรรมคือสิ่งที่ปรากฏทางตากับรู้ ธาตุรู้ธาตุเห็น แล้วก็ฟังอย่างนี้แล้วที่จะให้เข้าใจ ก็คือว่าจะต้องมาคิด มาไตร่ มาตรองว่า มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังเห็น พิสูจน์ได้

    ผู้ฟัง ไม่รู้จะพิสูจน์อย่างไรท่านอาจารย์ ลำบากจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เป็นอย่างนี้หรือปล่าว นั่นสิคะ ไม่รู้จักเพราะว่าปัญญาไม่เกิด ก็ฟังต่อไปคะ

    ผู้ฟัง เห็นก็เห็นแต่ก็ไม่เคยพิสูจน์ หรือพิสูจน์ก็

    ท่านอาจารย์ ไม่มีปัจจัยพอที่จะให้เข้าใจสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง พิสูจน์ก็เป็นว่าเอาตัวเองไปพิสูจน์ คิดจะพิสูจน์

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าไม่มีปัจจัยพอที่จะรู้ความจริง

    ผู้ฟัง ไปคิดว่านี่จะพิสูจน์แล้ว จะพิสูจน์เห็นแล้วนะ คิดอย่างนี้มันก็ไม่ใช่ปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ค่ะมันไม่ไช่ปัจจัย ปัจจัยคือความเข้าใจ ความเข้าใจสภาพธรรมทุกอย่างที่ปรากฏค่อยๆ สะสมไปทีละเล็กทีละน้อยจนกระทั่งสติระลึกก็เข้าใจได้

    ผู้ฟัง ทีนี้ก็หันมาถึงเรื่องที่ว่า ความเข้าใจนะเป็นสิ่งที่จะต้องหา เป็นสิ่งจะต้องอบรมเป็นสิ่งที่ต้องทำเพราะว่าเราเข้าใจผิดมานานแล้วในเรื่องพระศาสนา ในเรื่องคำสอนพระพุทธเจ้า เราจะต้องมาศึกษาให้เข้าใจว่าธรรมที่เราจะต้องเข้าใจนี่มันมีอะไรทางตาธรรมคืออะไรเราเข้าใจแล้วหรือยัง ทางหูธรรมคืออะไรเราเข้าใจแล้วหรือยัง ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ธรรมคืออะไรเราเข้าใจแล้วหรือยัง

    ถ้ายังไม่เข้าใจว่าทางตามีธรรม ทางหูมีธรรม ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มีธรรม แล้วธรรมนั้นเป็นอย่างไร ถ้ายังไม่เข้าใจอย่างนี้ก็ยังไม่ต้องไปปฏิบัติอะไร

    ผู้ฟัง ผมอยากจะเพิ่มเติมตรงนี้นิดนึงว่าทำอย่างไร แล้วก็ฟังอย่างไร สมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ ก็จะไม่ทรงแสดงพระธรรมเทศนา แล้วพอสหัมบดีพรหมทรงอาราธนาแล้ว พระพุทธองค์ก็บอกว่าให้เวไนยสัตว์เตรียมภาชนะไว้ เพื่อจะรองรับพระธรรมที่พระองค์จะแสดง ที่นี้ในอรรถกถาก็บอกว่าภาชนะนั้นนะคืออะไร ที่จะรองรับพระธรรม พระองค์ก็ตรัสว่าเป็นศรัทธาครับ ถ้าเราไม่มีภาชนะไม่มีศรัทธาแล้วจะรองรับ จะฟัง พอฟังๆ ไปแล้วเราก็มาตรวจดูตัวเองว่าเรามีศรัทธาหรือเปล่าก่อนที่เราจะฟังธรรมของพระพุทธเจ้า

    ภาชนะนั้นนะพระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นศรัทธานะครับ ซึ่งผมอ่านแล้วผมก็ซึ้ง ถ้าเราไม่มีศรัทธา ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าหรือเปล่า ถ้าเราเชื่อแล้วเราฟัง ไม่ต้องมีคำถามว่าฟังอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ทีนี้เราควรจะรู้เรื่องของจิตซึ่งโดยชาติมี ๔ ชาติ แต่ว่ากุศลก็ไม่ใช่มีกุศลระดับเดียวแต่ว่ามีหลายระดับ เพราะฉะนั้นถ้าจะแยกระดับของจิต ว่าจิตโดยภูมิ หรือโดยขั้นระดับแล้วก็มี ๔ ภูมิ ภู มิ ภ สำเภา สระอู ม ม้า สระอิ คือระดับขั้นของจิต จิต ขั้นที่ไม่ไปต้องไปพัฒนา หรือไม่ต้องทำอะไรเลยก็คือจิตระดับขั้นที่เป็นไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่เป็นกามที่ใช้คำว่ากามหรือ กา มะ หมายความถึง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่กระทบได้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ๕ อย่าง เพราะฉะนั้นที่เราเคยเข้าใจคำว่ากาม หรือ กา มะ ในลักษณะอื่นก็ต้องมาจากเนื้อแท้หรือจุดของเขาคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    มีใครไม่ชอบกามบ้างคะ ทุกคนต้องติดแล้ว ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส เพราะฉะนั้นก็ให้ทราบว่าจิตระดับที่เป็นไป ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส เป็นจิตระดับขั้นกามที่ใช้คำว่ากามาวจรจิต กาวะจรหรือ จะระ หมายความว่าไป หรือเป็นไป เพราะว่าจิตนี้เกิดขึ้นเร็วมาก เกิด และก็ดับ แต่ว่าก่อนจะดับนั้นทำกิจของจิต เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า ที่เราคิดว่า เราทำ ไม่ใช่เลยค่ะ จริงๆ แล้วเป็นจิตเกิดขึ้น และจิตที่เกิดขึ้นนะคะ ที่จะไม่ทำกิจหนึ่งกิจใดไม่ได้ จิตเกิดขึ้นทำกิจเฉพาะของจิตนั้นแล้วดับ เช่นในขณะที่กำลังเห็น ไม่ต้องทำอะไร ไม่มีใครทำได้ แต่จิตทำกิจนี้ ซึ่งจะบังคับไม่ให้ทำกิจนี้ก็ไม่ได้ นี่คือหน้าที่การงานหนึ่งของจิต และจิตที่เห็นนะคะ เป็นกามาวจรจิตเพราะเหตุว่าเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    จิตใดก็ตามที่มีกามเป็นอารมณ์เป็นไปในเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แล้วละก็เป็นกามวจรจิต ขณะที่ได้ยิน จิตเกิดขึ้นทำกิจได้ยิน ไม่มีตัวตนเลยขณะนี้ค่ะ ที่เราพยายามที่จะพูดถึงเรื่องสภาพธรรมเพื่อที่จะให้เห็นว่าแท้ที่จริงแล้วไม่มีตัวตนยิ่งเข้าใจสภาพของแต่ละขณะจิตซึ่งเกิดขึ้นโดยละเอียดจะรู้ได้ว่าจิตมีเหตุปัจจัย เป็นธาตุที่ทำกิจเฉพาะธาตุนั้น แล้วดับเหมือนกับธาตุทั้งหลายซึ่งเป็นรูปธาตุ อย่างธาตุได้ยินเสียงก็จะเกิดขึ้น แล้วก็จะรู้อย่างอื่นไม่ได้เลยนอกจากเสียงที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นจิตประเภทนี้ก็เป็นกามาวจรจิต

    วันนี้สิ่งที่ทุกคนจะเพิ่มเติมก็คือคำว่า กาม หรือ กา มะ กับกามาวจรจิตเพราะเหตุว่าต้องคู่กัน ถ้ามีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีเย็น มีร้อน มีอ่อน มีแข็ง เป็นของประจำโลก ใครจะเห็น หรือไม่เห็น สีสันวรรณะต่างๆ ก็เกิดขึ้น มีอุตุมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้รูปต่างๆ เหล่านี้เกิด รูปต่างๆ เหล่านี้ก็เกิดเป็นกาม หรือเป็นกามอารมณ์ที่ใช้คำว่ากามหมายความถึงเป็นสิ่งที่นำความยินดีพอใจมาให้

    เพราะเหตุว่ามีใครบ้างที่ไม่ต้องการรูป ไม่ต้องการเห็น มีไหมนะคะ ไม่มี มีใครบ้างที่ไม่ต้องการได้ยินเสียง ก็ไม่มีอีก มีใครบ้างที่ไม่ต้องการกลิ่น ก็ไม่มีอีก นอกจากรูปพรหมภูมิ ซึ่งท่านละความยินดีพอใจในพวกนี้แล้ว แต่ว่ารส ทุกคนติดค่ะมากๆ เลย เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่าสิ่งใดก็ตามเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความติดข้อง ความยินดี ความพอใจ สิ่งนั้นคือกาม ทำให้เกิดความพอใจขึ้น ที่ใช้คำว่าอารมณ์จากกามเป็นกามารมณ์ ก็คือว่าสิ่งใดก็ตามที่จิตรู้ขณะนั้นเป็นอารมณ์ของจิต

    เพราะเหตุว่าเมื่อจิตเป็นสภาพรู้ก็ต้องมีสิ่งที่จิตกำลังรู้ สิ่งที่ถูกจิตรู้นี่คะ เรียกว่าอารัมณะในภาษาบาลี แต่ว่าภาษาไทยเราใช้คำสั้น แทนที่จะพูดว่าอารมณะเราก็พูดว่าอารมณ์ เพราะฉะนั้นถ้าใช้คำว่าอารมณ์เนี่ยหมายความว่าเป็นสิ่งที่จิตกำลังรู้ทางหนึ่งทางใด เช่น สี เป็นรูป เป็นรูปารมณ์ของจักขุวิญญาณจิต เสียงเป็นสัทธารมณ์เพราะว่าภาษาบาลีไม่รู้จักคำว่าเสียง

    คำว่าเสียงไม่มีในภาษาบาลี ภาษาบาลีใช้คำว่าสัททะซึ่งหมายความถึงเสียง เพราะฉะนั้นสัททารมณ์ก็หมายความถึงเสียงที่จิตกำลังได้ยินไม่ใช่เสียงในป่า หรือเสียงอื่น เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่จิตกำลังรู้เราก็เติมคำว่าอารมณ์ไปได้ เช่นทางตาขณะนี้รูปารมณ์เป็นอารมณ์ของจิตเห็น สัททารมณ์เป็นอารมณ์ของจิตได้ยิน

    ถ้ามีกลิ่นอย่างกลิ่นดอกกุหลาบ และกลิ่นอะไรก็ตามกลิ่นปลาเค็มหรือกลิ่นทั้งหมดก็เป็นคันธารมณ์เพราะเหตุว่าคันธะแปลว่ากลิ่น ขณะที่กำลังลิ้มรสที่กำลังรับประทานอาหาร ให้ทราบว่าขณะนั้นเป็นจิตที่ลิ้มรสซึ่งมีอยู่ในมหาภูตรูป ดอกไม้ ดอกกุหลาบมีรส แต่ทางตาไม่สามารถที่จะรู้ว่ารสดอกกุหลาบ หรือกลีบกุหลาบรสอะไร เมื่อกระทบกับลิ้น ถ้าขณะนั้นคนนั้นนอนหลับก็ไม่สามารถที่จะรู้รสได้อีก ต้องเป็นผู้ที่ชิวหาวิญญาณ คือจิตเกิดขึ้น ลิ้มรสที่กระทบลิ้น เพราะฉะนั้นรสนั้นไม่ใช่รสเฉยๆ แต่เป็นรสารมณ์คือเป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังลิ้มรสนั้น นี่ก็แสดงให้เห็นว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นกาม และขณะใดที่เป็นอารมณ์ของจิตก็เป็นกามอารมณ์ซึ่งแยกไปเป็นรูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์

    ทวนได้ใช่ไหมคะ ขณะนี้ทางตารูปารมณ์ปรากฏนะคะ ทางหูสัททารมณ์ ทางจมูกคันธารมณ์ ฆนะเป็นจมูก คันธะเป็นกลิ่น เพราะฉะนั้นคันธารมณ์เป็นอารมณ์ของฆานวิญญาณ ทางลิ้น รสารมณ์เป็นอารมณ์ของลิ้น ชิวหาวิญญาณจิตเวลานี้ยังไม่มีใช่ไหมสักครู่เดี๋ยวจะมี

    เพราะฉะนั้นเวลานี้ก็ระลึกได้ขณะที่รสกำลังปรากฏให้รู้ว่าขณะนั้นชั่วขณะเดียวที่ชิวหาวิญญาณจิตเกิดขึ้น ทำกิจลิ้มรสเราอาจจะรู้สึกว่าอร่อยมาก ชอบต้องการรสอย่างนี้ แต่ให้ทราบว่าขณะนั้นก็คือจิตแต่ละขณะซึ่งเกิดดับสืบต่อกันตั้งแต่ขณะที่ลิ้มรสแล้วเกิดโลภะความติดข้อง หรือว่าถ้าเป็นรสที่ไม่อร่อยขณะนั้นโทสมูลจิตก็เกิด เห็นไหมคะว่าเราไม่ต้องการโลภะ เราไม่ต้องการโทสะจริงๆ หรือเปล่า เพราะว่าเรายังเป็นผู้ที่ติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้นกว่าเราจะเห็นโทษ เราจะค่อยๆ ละคลาย

    และการละคลายหมดทีเดียวไม่ได้แน่เกิดมาในสังสารวัฎ ติดทางตามานานเท่าไหร่ ทางหู หรือทางจมูก ทางลิ้น ทางกายมานานเท่าไหร่ถ้าใครเริ่มจะเห็นโทษก็อาจจะละไปบรรเทาไปหรือคลายไปทีละทางที่ไม่จำเป็น อย่างกลิ่นบางคนก็ติดกลิ่นหอมมากทีเดียว อยู่ไม่ได้ ไปไหนนอกบ้านไม่ได้ถ้าปราศจากกลิ่นหอม

    นี่ก็ไม่เป็นไรค่ะ สะสมมาอย่างนั้นก็เป็นอย่างนั้นแต่เห็นตัวเองตามความเป็นจริงว่าตัวเองมากหรือน้อย หนักหรือเบา แล้วมีทางที่จะเป็นไปได้พอที่จะเว้น จะละ จะคลาย จะวางอะไรลงบ้างสักนิดสักหน่อย แม้แต่บางกาลพอจะได้ไหม ถ้ายังไม่ได้ก็เรียกว่ารู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ว่าสะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น แม้แต่พระโสดาบัน พระสกทาคามี ก็ยังละไม่ได้ตามการสะสม เพราะฉะนั้นผู้ที่เข้าใจธรรมจะไม่มองคนอื่นอย่างเห็นโทษ แต่จะรู้ตามความเป็นจริงแล้วเข้าใจด้วยว่า นี่คือการสะสมของจิตแต่ละประเภทที่สะสมมา


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 10
    5 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ