สนทนาธรรม ตอนที่ 001


    ตอนที่ ๑

    สนทนาธรรมที่หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๓๗


    ผู้ฟัง จะเรียนถามท่านอาจารย์ เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ลูกโทรมาจากสวิตเซอร์แลนด์บอกก็ได้พูดถึงเรื่องธรรมให้พวกฝรั่งฟัง แล้วพูดถึงว่าอนัตตาไม่มีอะไรเป็นตัวตนแน่นอน เขาบอก ถ้าอย่างนั้นจะทำมาหากินกันทำไม แล้วก็ทำงานทำการกันทำไม ไม่เห็นจะมีประโยชน์อะไร

    ท่านอาจารย์ ที่มีตัวตน แต่ก็ต้องมีเห็น มีได้ยิน ซึ่งไม่ใช่ตัวตน ตัวตนไม่มี แต่มีเห็น มีได้ยิน มีคิดนึก มีสุขมีทุกข์ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นเมื่อว่ามีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ก็จะต้องมีการดำรงชีวิต ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไรเลย ถ้าไม่มีตัวตนแล้วไม่มีอะไรเลย ก็ไม่ต้องรับประทานอาหาร ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น เพราะไม่มีอะไร แต่นี่มี แต่ไม่ใช่ตัวตน มีเห็น มีได้ยิน มีได้กลิ่น มีลิ้มรส มีร่างกาย มีสุขมีทุกข์ เมื่อเกิดมามีร่างกาย ที่จะไม่ให้รับประทานอาหารก็ไม่ได้ ใช่ไหม แต่การรับประทานอาหารด้วย การเห็นก็ไม่ใช่ตัวเรา แต่ว่าเป็นสิ่งซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา อย่างผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลอย่างพระโสดาบัน หรือแม้แต่พระอรหันต์เอง ท่านก็รู้ว่าไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล แต่มีนามธรรม มีรูปธรรม

    พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ยังไม่ปรินิพพาน ท่านตรัสรู้มาตั้งแต่เป็นพระโสดาบันในคืนที่ท่านจะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ละสักกายทิฏฐิความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน หรือเมื่อเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ไม่มีความเห็นผิดว่าเป็นตัวตนเลย แต่ยังต้องมีนามธรรมรูปธรรมเกิดอยู่ จนกว่าจะหมดเหตุปัจจัย เมื่อมีนามธรรมรูปธรรม พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องเสวยพระกระยาหาร เพราะฉะนั้น คนธรรมดาซึ่งไม่รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ตัวตน แต่ก็มีสภาพธรรมซึ่งเกิด และก็จะไปบังคับไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ อย่างเวลานี้ กำลังเห็น มีปัจจัยให้เห็นเกิด ได้ยิน เห็นชัด ว่าเกิดโดยที่ว่าเราไม่ได้ต้องการหรือปรารถนา หรือจะสร้าง หรือจะทำ ก็ไม่ได้ นอกจากมีโสตปสาท มีเสียง และมีจิต การได้ยินก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นก็เป็นนามธาตุ รูปธาตุ ซึ่งบังคับบัญชาไม่ได้ ที่ว่าไม่ใช่ตัวตน สิ่งนั้นมี แต่บังคับบัญชาไม่ได้ แล้วก็เกิดขึ้น และดับไปด้วย สิ่งใดที่เกิดขึ้น และดับไปแล้ว หาไม่ได้อีกเลย แล้วตัวตนจะอยู่ที่ไหน ก็เพียงชั่วขณะหนึ่งซึ่งเกิด และดับ ขณะหนึ่งซึ่งเกิดแล้วก็ดับ ก็เป็นนามธรรมรูปธรรม ซึ่งเมื่อมีร่างกายก็จะต้องมีการดำเนินชีวิตต่อไป

    ผู้ฟัง ยังไม่เข้าใจว่า ทำไมเราต้องเกิดมา

    ท่านอาจารย์ ไม่เข้าใจทั้งหมดเลย เพราะว่าถ้าตราบใดที่ยังเป็นเรา ไม่ใช่ปัญญา ไม่รู้เหตุปัจจัย เพราะว่าสำหรับคนส่วนใหญ่จะคิดว่า ชีวิตตั้งต้นตอนเกิด แล้วก็จบสิ้นตอนตาย แต่พระหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขณะจิตว่า แต่ละขณะไม่ใช่มีอยู่แล้ว แล้วก็คอยเหตุปัจจัยเกิด ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แม้แต่จิตได้ยิน ชั่วขณะที่โสตปสาทเกิดแล้วยังไม่ดับ แล้วก็มีการกระทบกับภวังคจิต จิตได้ยินก็มีปัจจัยเกิดขึ้น แสดงว่าจิตได้ยินไม่ได้ไปรอคอยอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้นจิตทุกๆ ขณะเป็นธาตุแต่ละชนิดซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัยเฉพาะธาตุนั้นๆ เท่านั้น เพราะฉะนั้นการไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของผู้ที่ประจักษ์ในสภาพความเป็นธาตุ และความเป็นอายตนะ คือเมื่อประชุมกันจึงเกิดขึ้น เหมือนไม้ขีดไฟซึ่งเราเอามาขีด พอประชุมกันเสร็จไฟก็เกิด ฉันใด จิตแต่ละขณะนี้ก็ฉันนั้น ไม่ใช่ว่ามีจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ คอยภวังค์จิตเกิดจิตนี้ก็มาเห็นมาได้ยิน ไม่ใช่เลย ชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดแล้วดับจริงๆ นี่คือการที่จะเห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมว่า ความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ตัวตนถึงอย่างนี้ คือเป็นเพียงธาตุซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดแล้วดับ ความที่สืบต่อกันเร็วมาก แล้วไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน ไม่เคยพิจารณา ไม่ได้อบรมเจริญปัญญาถึงขั้นที่จะประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไป เพราะฉะนั้นก็ยังหลงเหลือเหมือนกับว่าตัวตนเอาเถอะถึงจะไม่เที่ยง มันก็คงห่างหน่อย หรืออะไรอย่างนี้ แต่ความจริงแล้วสั้นแสนสั้น คือเพียงชั่วขณะจิตแต่ละขณะซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับ

    ผู้ฟัง ทีนี้เราจะตอบให้คนต่างชาติเข้าใจ จะบอกยังไงดี

    ท่านอาจารย์ เขาจะเชื่อเรื่อง Soul เหมือนกับวิญญาณซึ่งเที่ยง แล้วถ้าเป็นพุทธศาสนิกชนซึ่งยังไม่ถึงความเป็นพระอริยะก็ได้ฟังแต่ก็ไม่ประจักษ์ในความไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นนอกจากนี้ไปแล้วเป็นสักกายทิฏฐิทั้งหมด คือมีความเห็นว่ามีตัวตน เพราะฉะนั้นก่อนอื่นก็ต้องให้เขาเข้าใจสิ่งซึ่งเขาคิดว่ามี อย่างวิญญาณว่าลักษณะแท้ๆ คืออย่างไร เหมือนอย่างคุณแมวเมื่อครู่นี้ ก็ใช้หนังสือสนทนาธรรมกับชาวอียิปต์ ขอไปหลายเล่ม เพราะว่าพวกนั้นจะต้องติดขัดอยู่ที่ตัวตนทั้งนั้น เพราะฉะนั้นก่อนอื่นจะต้องให้เข้าใจว่าที่เข้าใจว่าเป็นตัวตน หรือว่าเป็นวิญญาณที่เที่ยง พอตายแล้วก็ต้องมีความเป็นอมตะ บางส่วนเที่ยง บางส่วนไม่เที่ยง บางคนก็เชื่อว่าตายแล้วสูญไปเลย บางคนก็หมดไปแต่ร่างกายแต่จิตใจนี่ยังล่องลอยหรือไปเกิดอยู่ พวกนี้ก็จะไม่พ้นจากความเห็นผิดในความเป็นตัวตน เพราะฉะนั้นต้องให้เขาเห็นจริงๆ ว่าไม่มีตัวตน แม้แต่ความรู้สึกก็ไม่ใช่เขา หรือว่าการเห็นการได้ยินก็ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าพวกนั้นจะตอบไม่ได้เลย เขาว่าเขามีตัวตนแต่เขาบอกเราไม่ได้ว่าตัวตนเขาอยู่ที่ไหน เพราะเราซักไปทีละอย่างๆ เขาถึงจะเข้าใจขึ้นว่าไม่มีเรา

    ผู้ฟัง ก็ยังเถียงอยู่ตลอดเวลา เขาจะต้องทำอะไรต่ออะไร

    ท่านอาจารย์ ถึงรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ก็ต้องทำ เพราะมีเหตุปัจจัยให้เกิด อย่างพระพุทธเจ้า ก็ต้องดำรงพระชนม์ชีพไป ต้องบิณฑบาต ต้องอะไรทุกอย่าง แม้ว่าตรัสรู้แล้วถึงขั้นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ต่าง เพราะเหตุว่ายังมีนามธรรมมีรูปธรรม ที่จะต้องบริหาร ที่จะต้องรักษา ที่จะต้องดำรงอยู่ตามเหตุตามปัจจัย ต่อเมื่อใดจิตขณะสุดท้ายเกิดแล้วดับ แล้วไม่เกิดอีก เมื่อนั้นไม่ต้องทำอะไรเลย แต่ความจริงที่เขาคิดว่าเป็นเขาที่ทำก็เป็นจิตแต่ละชนิดที่ทำ ไม่ใช่เขา เป็นธรรมทั้งนั้น เป็นจิตเจตสิกต่างหากที่ทำ ขณะนี้ที่ว่าเป็นเห็น เป็นเราเห็น ก็คือจิตเจตสิกที่ทำกิจทางตา ขณะที่ได้ยิน ก็เป็นจิตเจตสิกที่เกิดขึ้นทำกิจได้ยินทางหู ไม่มีเราเลย แล้วเราจะสลับหน้าที่ของจิตก็ไม่ได้ ธรรมก็คือธรรม ที่ตรง ซึ่งบังคับไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่เพราะความไม่รู้ก็ไม่รู้ไปหมดจนกระทั่งเป็นเราไปทั้งหมด ต้องให้เขาเห็นความบังคับบัญชาไม่ได้ และความเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดขึ้นทำกิจการงานแต่ละชนิด แม้แต่ความคิดก็เป็นจิตขณะหนึ่ง ความหิวก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นทุกขเวทนาเป็นกายวิญญาณ

    ผู้ฟัง เขาบอกว่า ถ้าไม่มีตัวตนแล้วเขาจะทำอะไรไปทำไม ลูกก็ไม่ทราบจะตอบยังไง

    ท่านอาจารย์ ถึงไม่มีตัวตนก็ต้องทำ ตราบใดที่ยังไม่ถึงปรินิพพาน เกิดขึ้น และดับไป เมื่อนั้นก็มีนามธรรม และรูปธรรมซึ่งกำลังทำ ไม่ใช่เขาทำ ให้ทราบว่าที่กำลังทำนั้นไม่ใช่เขา คิดก็ไม่ใช่เขา เป็นจิตขณะหนึ่งซึ่งไม่ใช่เห็น ได้ยินเสียงก็ไม่ใช่เขา แต่เป็นจิตขณะหนึ่งซึ่งรู้เสียง คือให้มีความเข้าใจให้ถูกจริงๆ ว่าคนเรามีจิต ไม่ใช่มีแต่ร่างกาย และจิตต่างกับร่างกาย เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพรู้ สภาพรู้ที่นี่หมายความว่ารู้สิ่งที่ปรากฏให้รู้ ไม่ใช่รู้อย่างปัญญา แต่เพียงรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาลักษณะหนึ่ง รู้ลักษณะของเสียงที่ปรากฏทางหูลักษณะหนึ่ง เป็นสภาพที่รู้เท่านั้นเอง ให้เขาทราบความต่างกันของรูปธรรมกับนามธรรม แล้วก็ค่อยๆ ไล่เรียงไปว่าเขาจะยึดถือนามธรรมไหน รูปธรรมไหนว่าเป็นตัวตน ในเมื่อทั้งรูปธรรมนามธรรมก็มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วก็เปลี่ยนแปลงโดยที่เขาไม่รู้สึกตัวเลย ขณะเมื่อกี้กับขณะเดี๋ยวนี้ก็ห่างกันแสนไกล ถ้าคนไม่รู้ก็เหมือนกับว่าไม่มีอะไรดับเลย แต่ความจริงแม้แต่ขณะที่เสียงปรากฏ แค่นี้ อย่างอื่นก็ปรากฏไม่ได้ นี่ก็แสดงความเป็นสภาพธรรมล้วนๆ ทีละอย่าง ต้องเป็นทีละอย่าง ต้องกระจายสิ่งที่ติดกันออกมาเป็นทีละอย่าง แล้วถึงจะรู้ว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่ถ้ายังรวมกัน ก็เป็นเขา แต่ถ้าเอาออกมาเป็นทางตาอย่างหนึ่ง ทางหูอย่างหนึ่ง จมูกอย่างหนึ่ง ลิ้นอย่างหนึ่ง กายอย่างหนึ่ง ใจอย่างหนึ่ง ก็ไม่มีความเป็นบุคคลตัวตน แต่ว่ามีสภาพธรรมที่ต้องเกิดเพราะมีเหตุปัจจัยก็ต้องเกิด

    อ. สมพร ที่พี่หญิงพูดว่า ถ้าไม่มีอัตตาแล้วเราจะทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อใคร เพื่อประโยชน์อะไร เขาไม่รู้ถึงสาระที่แท้จริง รู้แต่เพียงโวหาร โวหารก็คือบัญญัติ สมมติรวมๆ กัน สิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นอัตตา เป็นตัวตน เป็นของเที่ยงแท้ รู้เป็นของสมมติหรือโวหาร เมื่อยังไม่เข้าถึงปรมัตถสัจจะก็อธิบายยาก จึงจำเป็นต้องศึกษาว่า ที่เขาเรียกว่าอัตตา อัตตานั้น แท้จริงมันเป็นจิต เจตสิก รูป ซึ่งบังคับบัญชาไม่ได้ ที่ถูกควรจะเรียกว่า อนัตตา ที่เราศึกษาเพื่อจะให้เข้าถึงแก่นแท้นั้น ต้องเรียนปรมัตถสัจจะ ต้องศึกษาปรมัตถสัจจะ ไม่ใช่สมมติสัจจะ ความจริงแค่เป็นคนเป็นสัตว์ เรียกว่าสมมติสัจจะ คนสัตว์เมื่อจำแนกโดยละเอียดแล้ว จะไม่มีเลย มีแต่จิตกับเจตสิก จิต เจตสิก รูปนี้แหละเป็นปรมัตถสัจจะ

    ผู้ฟัง คำถามที่จะค่อนข้างจะยังสงสัยอยู่ก็คือเรื่องของปัญญาที่เกิดขึ้น เพราะการละการวางนี้ คือตัวปัญญา เป็นตัวละใช่ไหม สติที่เกิดขึ้นก็เป็นสติเขาจริญเอง ไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่เกิดเป็นธรรมซึ่งมีเหตุปัจจัย

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะบอกว่าไม่ใช่ผมบอก ไม่ใช่ใครบอกว่า ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล จะวางได้ นี่ก็คือปัญญาเขาทำงาน

    ท่านอาจารย์ คือสภาพธรรมมีเหตุปัจจัยเกิด แต่อวิชชาไม่สามารถจะรู้ได้ว่าเป็นธรรม เพราะเหตุว่าความไม่รู้ คือไม่รู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏจริงๆ อย่างทางตาที่กำลังเห็นในขณะนี้มีจริงแน่ๆ แต่ว่าทำอย่างไรหรือว่าอบรมเจริญอย่างไรจึงจะสามารถรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาได้ ต้องอาศัยการฟังแล้วรู้ว่านี่คือชีวิตประจำวัน เพราะอย่างไรๆ ก็ต้องเห็น หลีกเลี่ยงการเห็น หลีกไม่ได้ เพราะเหตุว่าเกิดมาแล้วก็มีเหตุปัจจัย และก็กำลังเห็นด้วย แต่ว่าปัญญาจะรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังเห็นในขณะนี้ และสิ่งที่กำลังปรากฏโดยอาศัยการฟังให้เข้าใจก่อน ไม่เช่นนั้นไม่มีทางเลย เพราะเราก็เห็นมาเรื่อยๆ แล้วก็มีอวิชชา แล้วก็มีโลภะ มีโทสะ แล้วก็คิดถึงผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ทั้งหลาย แล้วเราจะรู้ได้ว่าต่างกันเหมือนฟ้ากับดิน เพราะว่าสำหรับท่านนั้นเมื่อเห็นแล้วอกุศลจิตไม่เกิด แต่ของเราเพียงแต่จะรู้ว่ากำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิดขณะนั้นเป็นอกุศลแล้ว เร็วแค่ไหน แล้วก็สะสมไปอย่างนี้ วันหนึ่งจะหนาสักเท่าไหร่กับการที่หลังเห็นแล้วเป็นอกุศล หลังได้ยินแล้วเป็นอกุศล แล้วก็ยังถึงทุกวันนี้ ก็นับว่ามากเหลือเกิน เพราะฉะนั้นต้องอาศัยการฟังแล้วฟังอีก จนกระทั่งเข้าใจจริงๆ จนกระทั่งรู้ว่าลักษณะที่สติเกิด ต่างกับขณะที่หลงลืมสติ อย่างนี้จะเป็นขั้นแรกที่จะทำให้รู้ว่าเริ่มเข้าใจลักษณะของปรมัตธรรมซึ่งอยู่ในหนังสือ และเราก็ฟัง เวลาที่ฟังก็เหมือนจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม แต่ว่าเวลานี้สภาพธรรมก็กำลังปรากฏ และถ้าสติไม่เกิดเลยจะไม่มีทางรู้ลักษณะของสติ ก็ได้ยินแต่ว่าสติปัฎฐาน สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม ต่อเมื่อใดสติเกิด เมื่อนั้นจึงจะเป็นเครื่องที่ทำให้เรารู้ว่า ขณะนี้ลักษณะของสติกำลังระลึกที่สภาพธรรม นี่เป็นขั้นต้นของการที่จะเจริญสติ เพราะฉะนั้นต้องรู้ลักษณะของสติ เพราะว่า แข็ง ใครๆ ก็ตอบได้ใช่ไหม หวาน ใครๆ ก็ตอบได้ โกรธ ใครๆ ก็บอกได้ ก็เป็นเรื่องธรรมดาๆ ขณะนั้นไม่ได้หมายความว่าสติปัฎฐานเกิด เพราะฉะนั้นผู้นั้นจะต้องมีการฟังให้เข้าใจจนกระทั่งรู้แน่ว่าขณะใดสติปัฎฐานเกิด หรือว่าขณะใดไม่ใช่สติปัฎฐาน เพียงแต่การที่เราสามารถจะบอกได้ว่า โลภะหรือโทสะ โดยชื่อ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น การรู้สึกแต่เพียงว่ามีสติแล้ว ก็ไม่ถูก สติปัฏฐานนี้ก็หมายความถึงว่า นอกจากที่จะรู้ว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว ก็จะต้องมีการฟังจึงจะเข้าใจรู้ว่า สตินั้นเกิดขึ้น ว่าขณะนั้นมีสติหรือขณะนั้นไม่ใช่สติ

    ท่านอาจารย์ สติระลึกลักษณะของสภาพปรมัตถธรรม คือ แข็ง เราบอกโดยชื่อว่า เป็นปรมัตถธรรม แต่เวลาที่กำลังกระทบแข็ง ก็มีแข็ง และปกติธรรมดาก็เป็นการกล่าวถึงลักษณะแข็งโดยรู้ว่าแข็งธรรมดาๆ ถามเด็ก เด็กก็บอกว่าแข็ง ไม่ได้หมายความว่าเด็กคนนั้นมีสติ ถามดู ถามเขาก็ตอบได้ แต่ผู้ที่จะเจริญสติปัฎฐานที่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานจากการฟังแล้ว ผู้นั้นจะรู้ลักษณะของสติที่เกิด คือขณะที่กำลังระลึกตรงลักษณะนั้น ต้องมีลักษณะปรมัตถธรรม แล้วเริ่มเข้าใจหรือรู้ในสภาพที่เป็นปรมัตถธรรมทีละเล็กที่ละน้อย เพราะเหตุว่าขณะนั้นมีธรรม ๒ อย่าง คือ นามธรรมอย่างหนึ่ง กับรูปธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเราก็ได้ยินได้ฟังบ่อยที่สุดเลย แต่ว่าการที่จะรู้ในขณะที่สติกำลังระลึกค่อยๆ เป็นไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานไม่ได้แยกจากชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่าชีวิตประจำวันเป็นปรมัตถธรรมเป็นสภาพธรรม แต่ปกติไม่รู้ และสติก็ไม่ระลึก แต่ว่าเมื่อฟังพระธรรมแล้ว สติเริ่มจะเกิดบ้าง ส่วนใหญ่จะไม่มาก แต่ว่าเริ่มรู้ว่าลักษณะของสติคือขณะที่ระลึกตรงปรมัตถธรรม และเริ่มค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นการที่จะเสาะแสวงหาไป เพื่อเปลี่ยนที่ไป หนีไป จะไปทำเพื่อจะให้เกิดสติก็คงเป็นไปไม่ได้

    ท่านอาจารย์ หนีไปไหนก็ไม่ได้ หนีไปด้วยความไม่รู้ ถ้ามีปัญญาเกิดขึ้นจริงๆ แล้ว สติระลึกทันที ไม่ต้องหนีเลย เรื่องหนีคือเรื่องไม่รู้ แต่เรื่องรู้คือระลึกทันทีเพราะว่ามีสภาพธรรมแล้ว ไม่ใช่ไม่มี เวลานี้ทางตาก็เห็น หูก็ได้ยิน ใจก็คิดนึก กายก็กระทบแข็ง พร้อมที่สติจะระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องหนี ถ้าเรื่องหนีคือเรื่องไม่รู้ แต่เรื่องรู้คือระลึกทันที และก็สามารถจะเข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรมได้ เพราะว่ากว่าจะหนี สภาพธรรมก็เกิดดับในขณะนี้ โดยที่ไม่รู้เลย แล้วเวลาหนีไปจะไปรู้ได้อย่างไร ในเมื่อขณะนี้ไม่รู้ เพราะว่าขณะข้างหน้ายังไม่มาถึง ถ้าจะรู้ก็ต้องรู้ขณะนี้ที่สภาพธรรมใดกำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง สติเกิดได้โดยไม่สามารถที่จะมาบังคับได้ เพราะฉะนั้นก็จะเกิดของเขาเอง ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เหมือนกับโลภะก็เกิดเอง โทสะก็เกิดเอง ได้ยินก็ต้องมีปัจจัยเกิดขึ้น เห็นก็มีปัจจัยเกิดขึ้น ทุกอย่างต้องตรง คือว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ถ้าสติเกิดก็รู้ว่านั้นคือสติปัฎฐาน ถ้าสติของใครไม่เกิด ฟังเท่าไรก็ได้ยินแต่ชื่อสติปัฎฐาน แต่ว่ายังไม่รู้ลักษณะของสติปัฎฐาน จนกว่าสติปัฏฐานจะเกิด ถึงจะรู้ว่านี่คือสติปัฏฐาน ถ้าเกิดก็คือปกติธรรมดา ทางตาอย่างนี้ที่กำลังเห็น ต้องรู้อย่างนี้ ไม่ใช่เรื่องหนี ระลึกได้ว่ามีสภาพธรรมปรากฏอยู่แล้วทุกขณะ ไม่มีใครหนีพ้นสภาพธรรมได้เลย แต่อวิชชารู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่ปัญญาจะรู้ได้ก็เพราะมีการระลึกได้ว่า ขณะนี้ทางตามีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น เพราะฉะนั้นสภาพที่กำลังเห็นนั้นเป็นนามธรรม เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้ ซึ่งไม่ใช่ได้ยิน นี่ก็แสดงให้เห็นความต่างกันแล้วของทางตากับทางหู ซึ่งสติจะต้องระลึก แล้วแต่ว่าจะเป็นทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจบ้าง มีอยู่ตลอดเวลาให้ระลึก ขณะใดที่ไม่หลับ ก็เป็นของที่ยาก เพราะเหตุว่าธรรมมีแต่ไม่ระลึก เพราะเหตุว่าไม่เคยรู้มาก่อนว่า นี่คือธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน แต่เมื่อฟังแล้วเข้าใจแล้ว กว่าจะไม่ใช่ตัวตนจริงๆ เพราะเหตุว่าสติระลึกที่แต่ละลักษณะซึ่งเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นจะไม่มีการคิดถึงอดีตที่ผ่านไปแล้วหรือสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เพราะว่ากำลังมีสภาพธรรมใดปรากฏสติระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ในกรณีที่เราพูดถึงเรื่องสติกับสมาธิ การขับรถยนต์ การข้ามถนน การทำงานประจำวัน การพูดจากไมโครโฟนอย่างนี้อยู่เดี๋ยวนี้ มีสติสัมปชัญญะ เห็นได้ เป็นรูป เป็นไมโครโฟนขึ้นมา เป็นเสียงเป็นอะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็ยังไม่ใช่สติปัฏฐาน ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ สติเกิดแทรกคั่นได้ หมายความว่ามีสภาพธรรมปรากฏ แล้วแทนที่จะเป็นโมหะ แทนที่จะเป็นโลภะ สติเกิดระลึกตรงลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมทุกคนตอบได้ แต่ไม่รู้ในความไม่ใช่ตัวตน อย่างแข็งก็เป็นปรมัตถธรรม ทุกคนก็ตอบได้ แต่ไม่รู้ว่า แข็งไม่ใช่ตัวตน เวลาเห็นทุกคนก็บอกได้ว่ากำลังเห็น แต่ก็ไม่รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นก็เป็นปรมัตถธรรมตลอด ไม่มีเลยซึ่งจะไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่ว่าถ้าไม่ฟังพระธรรมแล้วก็ไม่เข้าใจ ก็ไม่มีการที่จะรู้จริงๆ ว่าเป็นปรมัตถธรรมที่กำลังเกิดดับ ก็เป็นแต่ฟังเรื่องของปรมัตถธรรมมาเรื่อยๆ แต่ตัวจริงเวลานี้ปรมัตถธรรมกำลังทำกิจการงานแต่ละอย่าง อย่างจิตที่เห็น ก็กำลังทำกิจเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้เอง นี่คือประโยชน์ที่เราจะพูดเรื่องของสติปัฎฐาน ปรมัตถธรรม เพราะเหตุว่ามีธรรมปรากฏ และขณะที่ฟังนี่เองถ้ามีความเข้าใจที่ถูก สติก็ระลึกทันที เป็นปกติ แต่ข้อสำคัญที่สุดก็คือว่า ความสงสัย เพราะว่าสติเกิดน้อยมาก สั้นมาก นิดเดียวแล้วดับ จริงๆ ต้องเป็นอย่างนั้น จะมีสติเกิดสืบต่อกันตลอดเวลาสำหรับผู้ที่อบรมเจริญมาก และแม้กระนั้นก็ตลอดเวลาไม่ได้ ไม่มีทางจะเป็นไปได้เลย แม้แต่พระอรหันต์ ขณะที่เห็น ขณะนั้นก็ไม่มีสติเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า แม้พระอรหันต์เองท่านก็มีมหากิริยาญาณวิปยุตต์ ซึ่งไม่มีปัญญาเกิดร่วมกับจิตในขณะนั้น แม้ว่าเป็นจิตของพระอรหันต์ พระอรหันต์มีทั้งมหากิริยาจิตซึ่งมีปัญญาเกิดร่วมด้วย และไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นในขณะใดที่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นก็ไม่ใช่สติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรม สามารถที่จะระลึกขณะไหนเมื่อไรก็ได้ เพื่อความรู้จะได้เพิ่มขึ้นในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 10
    3 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ