สนทนาธรรม ตอนที่ 068


    ตอนที่ ๖๘


    ท่านอาจารย์ ไม่ว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะระลึกถึงชาติไหน ก็ได้ทันที ไม่ใช่แต่เพียงเฉพาะของพระองค์เท่านั้น แม้ของคนอื่นก็เช่นกัน นี่คือความวิจิตรที่อัศจรรย์เกินกว่าที่ใครจะสามารถพรรณนาถึงพระคุณได้ นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่งเท่านั้น ที่จะพรรณนาพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ได้ เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า มีธรรมอีกประเภทหนึ่งที่เป็นเจตสิก ที่เรียกว่าสัญญาเจตสิกเป็นสภาพที่จำ ถ้าสภาพนี้ไม่เกิดขึ้น ไม่มีการจำใดๆ เลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นสภาพที่จำ เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง ชื่อสัญญาเจตสิก ไม่ใช่สัญญาในภาษาไทย แต่สัญญานั้นเป็นสัญญาที่จำ ไม่ว่าจิตรู้อารมณ์อะไร เจตสิกก็จำอารมณ์นั้น

    เพราะฉะนั้นจิตแต่ละดวงที่เกิดขึ้น จำทุกอย่าง แล้วก็สืบต่อเก็บไว้ในจิต ทำให้จิตเกิดการคิดนึกขึ้นเอง แม้ว่าไม่เห็นเลย ไม่ได้ยินเลย ไม่ได้กลิ่นเลย ไม่ลิ้มรสเลย ไม่ได้กระทบสัมผัสเลย แต่คิดนึกได้ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้จากความฝัน ว่าเราฝันแปลกๆ มีใครคิดหรือไม่ ว่าจะฝันอย่างนั้น เมื่อคืนนี้ฝันว่าอะไร แปลก เพราะว่าถ้าไม่ใช่ฝัน เราก็จะไม่คิดเรื่องนั้น ใช่หรือไม่ แต่ทำไมถึงฝัน ซึ่งเราใช้คำว่าฝัน ก็คือคิดนั่นเอง จิตเกิดขึ้นคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ที่เราใช้คำว่าฝัน เพราะเหตุว่าไม่เหมือนตอนกลางวัน ที่ไม่ใช่เพียงแต่คิดไปตลอดอย่างฝัน แต่มีเห็นสลับ มีได้ยินสลับ มีภวังคจิตสลับ มีคิดนึกสลับ เราจึงบอกว่าขณะนี้ไม่ได้ฝัน เพราะเหตุว่ามีเห็นด้วย มีเสียงปรากฏด้วย แต่เวลาที่เราใช้คำว่าฝัน หมายความว่าไม่มีการรู้อารมณ์ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ทางตา หู จมูก ลิ้น กายเลย เพียงใจคิดนึก ตามประสบการณ์ที่ ไม่มีใครคาดฝันว่าจะคิดอย่างนั้น นี่แสดงให้เห็นถึงความวิจิตรของความคิด ไม่ว่าจะฝันหรือไม่ฝัน

    เพราะฉะนั้นยกตัวอย่าง ความฝัน ให้เห็นได้ชัดๆ เลยว่า เป็นเพราะสภาพที่จำทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วก็ปรุงแต่งกันมากมายจนเป็นเรื่องเป็นราวที่แสนวิจิตรทางใจ ทั้งๆ ที่ไม่เห็นเลย ไม่ได้ยินเลย จิตก็รู้อารมณ์ได้ ขณะนั้น ไม่ใช่ทวารวิมุตติ เพราะเหตุว่าอาศัยใจเกิดเป็นทางที่จะนึกคิดเรื่องราวต่างๆ ได้ เป็นการรู้อารมณ์ทางใจ อาศัยใจ ไม่ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะฉะนั้นเวลาที่นึกคิด ไม่ใช่ทวารวิมุตติ เฉพาะปฏิสนธิ ภวังค์ จุติเท่านั้น ที่เป็นทวารวิมุตติ แล้วก็ไม่ใช่วิถีจิต แต่เวลาฝันเป็นวิถีจิตทางใจทางมโนทวาร ยังมีข้อสงสัยเรื่องทางใจหรือไม่

    ผู้ฟัง เวลาไม่ได้หลับ จิตตกภวังค์เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ความจริงแล้ว ถ้าเราคิดถึงจิตทีละหนึ่งดวง จะชัดเจนกว่า เพราะฉะนั้นแทนที่เราจะใช้คำว่าตก หรือขึ้น หรือเข้า หรือออก จิตเป็นอะไร อย่างขณะที่เป็นปฏิสนธิ ทำกิจปฏิสนธิ หรือเป็นภวังค์เพราะว่าทำกิจภวังค์ เพราะบางทีเราเรียกชื่อจิตตามกิจ อย่างจิตที่ทำปฏิสนธิจิต เป็นวิบากจิตก็จริงแต่เมื่อทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อนเราก็เรียกว่าปฏิสนธิจิต เวลาที่ไม่ได้รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ว่าเกิดต่อจากปฏิสนธิ ทำกิจภวังค์ จึงเป็นภวังคจิต

    เพราะฉะนั้นเราจะใช้คำว่า เป็น เพราะว่าจิตเกิดขึ้นหนึ่งขณะ เป็นอะไร เป็น ปฏิสนธิ ทำกิจปฏิสนธิ หรือเป็นภวังค์ ทำกิจภวังค์ ไม่ขึ้น ไม่เข้า ไม่ออก ไม่ตก เพราะเหตุว่าเกิดขึ้นเป็นอย่างไร สืบต่อจากจิตดวงก่อนอย่างไร ก็จะทำให้เราเข้าใจชัดขึ้นเพราะว่าจิตตกไม่ได้แน่ ขึ้นก็ไม่ได้ เข้าก็ไม่ได้ ออกก็ไม่ได้ แต่เป็นได้ ว่าจิตเกิดแล้วเป็นอะไร เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ซึ่งเป็นเหตุ หรือเป็นวิบากซึ่งเป็นผล หรือไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศลวิบาก แต่เป็นจิตอีกชนิดหนึ่ง คือเป็นกิริยาจิต และเป็นจิตที่อาศัยทวาร หรือไม่ใช่อาศัยทวาร หรือเป็นวิถีจิต หรือไม่ใช่วิถีจิต ดังนั้น ใช้คำว่า เป็น จะทำให้เข้าใจขึ้น

    วิถีจิตทั้ง ๖ ทาง เริ่มจากทางใจก่อนใช่หรือไม่ เพราะว่ายังไม่พูดถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย เลยแต่ใจคิด แสดงว่าจิตไม่ได้เป็นภวังค์ ถ้าเป็นภวังค์แล้วไม่คิด แต่ขณะใดที่คิด ขณะนั้นอาศัยใจที่สะสมเรื่องราวต่างๆ ทำให้ไหวขึ้น ที่จะนึกถึงอารมณ์นั้น

    เพราะฉะนั้นมีจิตดวงหนึ่ง ซึ่งทำกิจนึก ชื่อว่ามโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งเกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะ หรือภวังคจิตดวงสุดท้าย เพราะว่าจิตดวงนี้ เกิดขึ้นทางใจ และทำหน้าที่คิด เพราะฉะนั้นที่เราจะคิดนึกเรื่องอะไรขึ้นมา ให้ทราบว่าเป็นจิตที่ไม่ใช่ภวังค์ แต่เป็นจิตที่เกิดต่อจากภวังค์ และเป็นจิตที่คิดเรื่องราวต่างๆ แล้วเวลาที่คิด คิดที่เป็นกุศลจิตหรือว่าเป็นอกุศลจิต เพราะฉะนั้นหลังจากที่มโนทวาราวัชชนจิตดับ กุศลจิตเกิดต่อ หรืออกุศลจิตเกิดต่อ คือคิด แต่ว่าคิดด้วยจิตชนิดไหน อย่างท่านพระสารีบุตร เป็นพระอรหันต์ ท่านคิดคำว่าพาราณสี แล้วคนธรรมดาที่ไม่ใช่พระสารีบุตร ไม่ใช่พระอรหันต์ ก็คิดคำว่าพาราณสีเหมือนกัน เสียงเดียวกัน คำเดียวกัน จิตของคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์เป็นอกุศลจิต แต่จิตของพระอรหันต์เป็นกิริยาจิต แม้ว่าคำเดียวกัน เพราะฉะนั้นสภาพจิตที่คิด ขณะที่เพียงคิดขณะแรกที่คิด คือมโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งไม่ใช่ภวังคจิต แต่เป็นกิริยาจิต ไม่ใช่วิบากจิต ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต แต่เมื่อคิดแล้ว จิตที่เกิดต่อจากจิตที่คิด เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ที่คิดเรื่องนั้นต่อ

    ผู้ฟัง เรียนถามอาจารย์เพิ่มเติม ใน คำว่าคิด ตามความเข้าใจ คิดว่าเป็นชวนวิถี แต่มีจิตประเภทหนึ่ง คือ สันติรณะ เป็นคิดหรือไม่

    ท่านอาจารย์ เรายังไม่พูดถึงจิตใดๆ ทั้งสิ้น เราจะพูดถึงชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกคนคิด แล้วทุกคนเห็น แล้วก็ทุกคนสามารถที่จะเข้าใจได้ว่าเป็นจิตต่างชนิด ที่เป็นจิตต่างชนิด เราเริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิจิต ซึ่งเป็นวิบาก ต้องจำจิต ๔ ชาตินี้ให้ได้ จิตที่เป็นวิบาก เป็นผลของกรรม จิตที่เป็นกุศล อกุศล เป็นเหตุ และจิตที่เป็นกิริยาคือจิตที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่ อกุศล ไม่ใช่วิบาก ถ้าจะศึกษาธรรมคือชีวิตจริงๆ ก็ให้ทราบว่าชีวิตจริงๆ ของเราเป็นอย่างนี้ ตราบใดที่ไม่รู้อย่างนี้ ไม่เห็นความละเอียดลึกซึ้งของจิต ซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ก็ไม่มีทางที่เราจะไปละ ว่าไม่ใช่เรา แต่การสะสมความเข้าใจเรื่องจิตทีละเล็กทีละน้อย จิตแต่ละประเภทเกิดสืบต่อกันอย่างไร ทำให้เห็นความจริงว่า ไม่ใช่เราเลย ตั้งแต่ปฏิสนธิก็ไม่ใช่เรา เป็นวิบากจิต เป็นจิตที่เป็นผลของกรรม สืบต่อมาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ก็มีวิบากบ้าง ที่ทำกิจภวังค์บ้าง ทำกิจเห็นบ้าง ทำกิจได้ยินบ้าง เมื่อรู้ว่าเป็นจิตแต่ละชนิดละเอียดขึ้น ก็ทำให้สามารถที่จะมีปัจจัย ระลึกรู้ลักษณะของสภาพจิต สภาพของนามธรรม ที่กำลังเห็นบ้าง ที่กำลังคิดบ้าง แล้วแต่ แล้วก็รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพรู้ ซึ่งเป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ซึ่งไม่ใช่เรา นี่คือหนทางที่จะถึงปัญญาที่อบรมจากการฟังเข้าใจ และก็สามารถระลึกได้ถูกต้อง และเมื่อระลึกแล้วก็สามารถที่จะรู้ความจริงได้ แต่ต้องอาศัยการฟังไปทีละเล็กทีละน้อย

    สนทนาวันนี้เป็นเรื่องทวาร ทวารวิมุตติ วิถีจิต คือ จิตที่เป็นวิถี กับจิตที่ไม่ใช่วิถี มี ๓ อย่างคือปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ คล่องหรือยังว่า ปฏิสนธิจิตไม่รู้อะไร ทำกิจเกิดมา ภวังค์ก็ไม่รู้อะไร นอนหลับสนิท ตอนจะตายจริงๆ ขณะสุดท้ายก็ไม่รู้อะไรเหมือนกัน มีอารมณ์เดียวกันกับปฏิสนธิ ภวังค์ จิต ๓ ประเภทนี้เท่านั้น ที่พ้นทวาร คือทวารวิมุตติ ไม่ต้องอาศัยทวาร จิตก็เกิดขึ้น รู้อารมณ์อะไรก็ไม่ต้องสนใจ เพราะว่าใครจะไปรู้ได้ อารมณ์ใกล้จุติของชาติก่อน เมื่อมาถึงชาตินี้ก็ไม่รู้แล้ว ชาติก่อนกับชาตินี้ แยกกันเหมือนประตูที่ปิดสนิท ทันทีที่ประตูปิด จะไม่รู้เลยว่าข้างหลัง หรือข้างในประตูนั้นมีอะไร เหมือนกับเมื่อเราพ้นจากประตูนั้นมาแล้วสู่ชาตินี้ ชาติก่อนไม่รู้เลย ว่ามีอะไรเกิดขึ้นแล้วในชาติก่อน

    เพราะฉะนั้นชาตินี้กำลังจะเป็นอดีตชาติของชาติหน้า เมื่อถึงชาติหน้าแล้วรู้เลย เดี๋ยวนี้คือชาติก่อนของชาติหน้า แต่พอถึงชาติหน้าจริงๆ เราจะสงสัยว่าชาติก่อนเราทำอะไร แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องสงสัยเลย เพราะกำลังเป็นชาติก่อนของชาติหน้าอยู่แล้ว เรารู้ชัดเลย ทำกุศลเท่าไหร่ ทำอกุศลเท่าไหร่ พอไปถึงชาติหน้าปิดสนิท ประตูปิดแล้ว ไม่รู้เลย แต่ว่าก่อนที่จะถึงชาติหน้า เรารู้ ชาติก่อนของชาติหน้า ว่าคือเดี๋ยวนี้เอง ที่กำลังทำกันอยู่ เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องถามใคร เฉพาะชาตินี้รู้ได้ เพราะชาตินี้เป็นชาติก่อนของชาติหน้า จิต แบ่งออกได้หลายนัย ถ้าแบ่งโดยชาติ หรือชา-ติ คือการเกิด มี ๔ อย่าง คือเป็นกุศลหนึ่ง ชาติกุศล เป็นจิตที่ดีงาม จะเปลี่ยนเป็นอกุศลไม่ได้เลย ทันทีที่เกิดเป็นกุศลต้องเป็นกุศล ประเภทหนึ่ง แล้วก็จิตที่เป็นอกุศลประเภท หนึ่ง จิตที่เป็นอกุศลก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ จะเปลี่ยนให้เป็นจิตที่ดี หรือให้เป็นผลก็ไม่ได้เพราะว่าเป็นตัวเหตุ เพราะฉะนั้นชาติของจิตทั้ง ๔ ก็คือเป็นกุศล ๑ เป็นอกุศล ๑ และเป็นจิตที่เป็นวิบาก ๑ คือเป็นผลของอกุศลกรรม เป็นอกุศลวิบาก ๑ ถ้ากุศลวิบากก็เป็นผลของกุศลกรรม ๑ และอีกประเภทหนึ่ง คือจิตที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่วิบาก เป็นกิริยาจิต เพราะฉะนั้นทุกคนต้องไม่ลืมเรื่องชาติของจิต คือจิตที่เกิดขึ้นจะต้องเป็น ๑ ใน ๔ คือจะต้องเป็นกุศล หรือจะต้องเป็นอกุศล หรือจะต้องเป็นวิบาก หรือจะต้องเป็นกิริยา

    เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะพูดเรื่องขันธ์ เรื่องธาตุ เรื่องอายตนะ เรื่องปฏิจจสมุปบาทเรื่องอริยสัจ หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ จะไม่พ้นจากนามธรรม และรูปธรรมเลย เพราะฉะนั้นขันธ์เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ใช่หรือไม่

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ แยกได้ไหม

    ผู้ฟัง ขันธ์ ถ้าแยก เป็นขันธ์ ๕

    ท่านอาจารย์ เป็นนามกี่ขันธ์ เป็นรูปกี่ขันธ์

    ผู้ฟัง เป็นรูป ๑ ขันธ์ เป็นนาม ๔ ขันธ์ ได้แก่เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ แล้วก็วิญญาณขันธ์

    ท่านอาจารย์ นี่ก็แสดงว่าเรามีความสอดคล้อง ความเข้าใจของเราตามลำดับ แม้ว่าเราบอกว่าไม่มีสภาพธรรมอื่นเลยในโลกนี้ นอกจากนามธรรม และรูปธรรม เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะพูดเรื่องขันธ์ เรื่องธาตุ เรื่องอายตนะ เรื่องปฏิจจสมุปบาท เรื่องอริยสัจ หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ จะไม่พ้นจากนามธรรม และรูปธรรมเลย เพราะฉะนั้นเราก็ควรจะลำดับขันธ์ ๕ สังขารขันธ์ ก็เป็น ๑ ใน ๕ ขันธ์ เพราะฉะนั้นเมื่อมีนามธรรมกับรูปธรรม แยกรูปธรรมออกไปเลย เป็นรูปขันธ์ เพราะว่าไม่ใช่สภาพรู้ คุณหมอมธุรสกรุณายกตัวอย่างรูปขันธ์

    ผู้ฟัง รูปขันธ์ก็คือรูปทั้งหมด ๒๘ รูป

    ท่านอาจารย์ ยกตัวอย่างว่าอะไรบ้าง ที่พอจะบอกให้คนอื่นทราบได้ว่าอะไรเป็นรูปขันธ์

    ผู้ฟัง ดิน น้ำ ลม ไฟ

    ท่านอาจารย์ ไม่ผิด

    ผู้ฟัง มหาภูตรูป อุปาทายรูป สี กลิ่น รส โอชะ

    ท่านอาจารย์ มีรูปอะไรที่ไม่ใช่ขันธ์

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ แน่ใจหรือ

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ แน่ใจนะ

    ผู้ฟัง แน่ใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไรถึงว่ารูปเป็นขันธ์

    ผู้ฟัง ขันธ์ก็คือสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าจริงๆ แล้ว ก่อนที่จะใช้คำว่าขันธ์ หรือว่ารูปขันธ์ นามขันธ์ต้องเข้าใจความหมายของขันธ์เสียก่อน ว่าหมายความถึงสภาพธรรมที่สามารถที่จะจำแนกได้เป็น ๑๑ อย่าง เช่นเป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นอนาคต เพราะฉะนั้นก็หมายความเฉพาะสภาพธรรมที่เกิดดับเท่านั้นที่เป็นขันธ์ เพราะฉะนั้นเมื่อรูปเป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ต้องดับ ทุกอย่างที่เกิดต้องดับหมด เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่เกิดเป็นขันธ์หมด แต่จำแนกว่ารูป เป็นรูปขันธ์ ไม่ใช่นามขันธ์ ทุกคนก็คงจะรู้จักรูปดี เพราะว่าเห็นรูป ได้ยินเสียงรูป ได้กลิ่น ลิ้มรสรูป กระทบสัมผัสรูป นี่คือรูปที่ปรากฏ ติดข้องหรือไม่ในรูป คงไม่มีใครไม่ต้องการรูป ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ต้องการรูป แต่เมื่อรูปเกิดเขาเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนทุกครั้งไป

    ท่านอาจารย์ ยังไม่คิดถึงเรื่องนั้น หมายความว่าทันทีที่เห็น ติดข้องในรูปที่ปรากฏ ทันทีที่ได้ยินเสียง ติดข้องในเสียง เพราะฉะนั้นเรามองโดยทั่วไป เราปรารถนาทุกอย่าง เป็นสิ่งที่ปรากฏแล้วเราก็ปรารถนา เสียง เราก็ปรารถนา กลิ่นหอมๆ เราก็ปรารถนา รส ซึ่งจำเป็นที่สุดที่จะต้องรับประทานอาหาร แต่เราก็ปรารถนาติดข้องในรสที่เราพอใจ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หมอนนุ่มๆ ข้าวนิ่มๆ หรืออะไรก็แล้วแต่ ทุกอย่าง ก็เป็นเรื่องติดรูปทั้งหมด เพราะฉะนั้นรูปขันธ์สำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นกามาวจรภูมิ หรือกามภูมิ เพราะเหตุว่าคำว่ากามนั้น ได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส

    เพราะฉะนั้นเมื่อเราเป็นบุคคลที่เกิดในกามโลก เป็นกามบุคคล มีความติดข้องในกาม คือในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส เพราะอะไรที่ติดข้องในรูป เพราะเวทนาเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่รู้สึกเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือเฉยๆ และสำหรับความรู้สึกเป็นสุข ยังแยกออกเป็น ๒ ทาง คือถ้าสุขทางกาย อาศัยกายทวาร ชื่อว่าสุข หรือว่าความเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ ความไม่สบายกาย ก็เป็นทุกข์ทางกาย แต่ถึงแม้ว่า กายก็ไม่ทุกข์แต่ใจเป็นทุกข์ได้ ทุกข์ทางใจนั่นคือโทมนัส และสุขทางใจก็คือโสมนัส เพราะฉะนั้นถ้าแยกเป็นทางกาย ทางใจแล้ว เวทนามี ๕ คือ ๑.สุข ๒.ทุกข์ ๓.อุเบกขา ๔. โสมนัส ๕.โทมนัส แต่ถ้าไม่แยกก็เป็น ๓ คือสุข ทุกข์ อุเบกขา เพราะฉะนั้นที่เราต้องการรูป เพื่อใคร

    ผู้ฟัง เพื่อโลภะ

    ท่านอาจารย์ เพื่อโลภะ เพียงแต่ติดข้องเพราะมีความรู้สึกชอบ หรือเป็นสุข เพราะฉะนั้นเวทนาเจตสิก จึงเป็นเวทนาขันธ์ เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท แต่สำหรับเวทนาเจตสิก เจตสิกเดียว จัดเป็นเวทนาขันธ์ เพราะว่าทุกคน สำคัญเหลือเกินกับความสุขความทุกข์ในวันหนึ่ง วันหนึ่ง ถ้าไม่มีความรู้สึกอย่างนี้ สบายมากเลย จะเอาทุกข์มาจากไหน จะเอาสุขมาจากไหน จะเอาโสมนัสมาจากไหน จะเอาโทมนัสมาจากไหน แต่เพราะเหตุว่าสภาพธรรมนี้เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นความรู้สึก เป็นเจตสิก ซึ่งเป็นนามธรรม เพราะไม่มีรูปร่าง ความรู้สึกเป็นสุข โสมนัส ไม่มีรูปร่างเลย เป็นนามธรรมแล้วเกิดกับจิต เจตสิกต้องเกิดกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต แล้วก็ดับพร้อมจิตด้วย นี่ก็คือการทบทวนเรื่องของปรมัตธรรม หรือเรื่องของนามธรรมนั่นเอง ว่านอกจากจิต แล้ว ก็มีนามธรรมที่เป็นเจตสิก และนามธรรม ๑ ซึ่งทุกคนมี แล้วก็มีเป็นประจำ แต่เพียงไม่รู้จักชื่อคือไม่ได้เรียกว่าเวทนาในภาษาบาลี แต่ภาษาไทยใช้คำว่าความรู้สึกเป็นสิ่งที่สำคัญมาก มีความรู้สึกเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือว่าโสมนัส โทมนัส หรือเฉยๆ เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะต้องการรูปทั้งหมด เพื่อเวทนาเจตสิกที่เป็นสุข หรือเป็นโสมนัสเท่านั้น

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวถึงคำว่าสัมผัส อะไรสัมผัส

    ท่านอาจารย์ หมายความถึงโผฏฐัพพะ คือแทนที่จะเรียกภาษาธรรม ก็พูดง่ายๆ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แต่สัมผัสนั้นก็ได้แก่ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ซึ่งเป็นโผฏฐัพพารมณ์

    ผู้ฟัง บางครั้งเราอาจจะเข้าใจว่าเป็นผัสสเจตสิก ถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ คือพูดในภาษาไทย ไม่ใช่คำว่าเจตสิก ใครว่าเวทนาไม่สำคัญบ้าง ป่วยไข้ทางกายเห็นได้ชัดเลย ใช่หรือไม่ ทุกขเวทนาทางกาย ถ้าไม่มีรูป ไม่มีร่างกายก็สบายอีก ใช่ไหม ถ้าเกิดบนสวรรค์ก็สบายแล้ว ไม่ต้องมีการเจ็บไข้ได้ป่วยทางกายเลย ไม่ต้องเดือดร้อน แต่เพราะเหตุว่าในภูมิมนุษย์ เป็นภูมิที่ได้รับทั้งกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก ขณะไหนที่เป็นอกุศลวิบากเกิดขึ้นทางกาย ก็มีความรู้สึกเป็นทุกขเวทนาเกิดขึ้น เพราะกายนั้น นี่ก็คือ ๒ ขันธ์แล้ว ใช่หรือไม่ ยังเหลืออีก ๓ ขันธ์ คือสัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ เรื่องขันธ์ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย ถ้ามีความเข้าใจ ก็คือนามธรรมกับรูปธรรม คือจิต เจตสิกนั่นเอง ขันธ์ที่ ๓ สัญญาเจตสิก หรือสัญญาขันธ์ มีความสำคัญจึงได้แยกออกมาจากเจตสิก ๕๒ ในเจตสิก ๕๒ เป็นเวทนาขันธ์ ๑ เป็นสัญญาขันธ์ ๑ ที่เหลือเป็นสังขารขันธ์ ให้ทราบว่าทั้งหมดมีความสำคัญที่ว่า สัญญาคือความจำ ถ้าเราไม่จำเลย จะเดือดร้อนไหม ไม่มีอะไรทั้งนั้นในโลกนี้ ที่จะต้อง ... เพราะเพียงเห็นจบ เพียงได้ยินจบ เพียงได้กลิ่นจบ แต่ที่ไม่จบเพราะจำ

    ผู้ฟัง สัญญานี่มากมาย ทั้งอดีต ทั้งปัจจุบัน และอนาคตด้วย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ทุกขณะ เกิดกับจิตทุกดวง ทุกชาติไม่มีจิตขณะไหน ซึ่งปราศจากเวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก และให้เห็นความสำคัญว่า แม้แต่ความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ สัญญาก็จำ จำความทุกข์ในอดีต หมดไปแล้ว ไม่ควรจะต้องจำเลย แต่จำแล้วเป็นทุกข์อีก คิดดูก็แล้วกัน เพราะความจำที่ยังจำได้ หรือว่าความสุขในอดีตก็เหมือนกัน แสดงให้เห็นว่าสัญญาความจำ เป็นตัวสำคัญที่จะให้เรามีสังขารขันธ์ คือการปรุงแต่งด้วยความคิดในเรื่องราวต่างๆ ที่เราจำได้ ถ้าไม่มีความจำแล้วก็ เห็นก็เห็น ได้ยินก็ได้ยิน ก็จบเรื่องไป

    เพราะฉะนั้นจึงแยกสัญญาขันธ์ หรือสัญญาเจตสิก เป็นขันธ์ ๑ ใน ๕ ขันธ์ เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่สำคัญ ที่จะทำให้มีการคิดปรุงแต่งต่างๆ ตามความทรงจำ เพราะฉะนั้นสัญญาก็มีทั้งกุศลสัญญา และอกุศลสัญญา และสัญญาวิปลาสด้วย แต่ว่าเราจะไม่พูดถึงในวันนี้ ให้เห็นว่าสัญญา ความจำ ก็จำตามสภาพธรรมที่เกิดร่วมกัน ถ้ามีความเห็นผิด ก็จำในสิ่งที่เห็นนั้นผิดๆ ถ้ามีความเห็นถูก ก็จำในสิ่งที่มีความเห็นถูกนั้น อย่างในขณะนี้สัญญากำลังจำ คำที่ได้ยิน เรื่องที่เข้าใจ เพราะฉะนั้นก็สามารถที่จะนึกถึง แม้แต่คำว่ารูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ก็เพราะเหตุว่าสัญญาจำ แต่ว่าเป็นการจำที่เป็นกุศล ถ้ามีความเข้าใจ เพราะฉะนั้นสัญญานี่ก็มีทั้งที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นอกุศลก็มี ที่เป็นวิบากก็มี ที่เป็นกิริยาก็มี


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 11
    2 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ