สนทนาธรรม ตอนที่ 061


    ตอนที่ ๖๑


    ท่านอาจารย์ แล้วก็มีวิธีของคนสอนนานาชนิด ศาสดาต่างๆ ให้ระงับอย่างนั้น ให้ทำอย่างนี้ และก็โทสะก็เช่นเดียวกัน แต่ไม่มีใครสอนเรื่องปัญญาที่จะให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง นี่คือความต่างกัน แล้วถ้าไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง คิดว่าละกิเลส แต่ว่าละผิดขั้น เพราะเหตุว่าการที่จะเป็นผู้ที่ไม่ติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ต้องบรรลุคุณธรรมถึงขั้นพระอนาคามีบุคคล เพราะฉะนั้นมหาอุบาสิกาวิสาขาท่านเป็นพระโสดาบันชีวิตของท่านคนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้เลย มองดูก็คงจะไม่คิดว่าท่านเป็นพระอริยเจ้าเพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะหยั่งรู้ถึงปัญญาของท่านได้ว่าท่านสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาสอนเรื่องความจริงที่ลึก อย่างโลภะรับรองได้ที่จะดับหมดเป็นสมุจเฉทคือพระอรหันต์ ถ้ารองจากนั้นมาก็คือว่าดับความยินดีติดข้องในรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสเป็นพระอนาคามี แต่ถ้าเป็นพระสกทาคามี หรือพระโสดาบันก็ยังมีโลภะในรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัส เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าให้หนีไปให้พยายามบังคับให้กด หรือให้อะไร แต่ว่าให้รู้ความจริงทุกขณะว่าสภาพธรรมเป็นธรรมไม่ใช่เราพยายาม หรือว่าเรามีความสามารถที่จะบังคับ แต่ว่ารู้ตามความเป็นจริงว่าแต่ละคนสะสมมาไม่เหมือนกันแม้แต่เราเอง วันนี้เราอาจจะเป็นคนดี พรุ่งนี้โกรธร้ายแรงก็ได้มาจากไหน ทำไมเราไม่เป็นคนดีตลอดไป ทำไมบางวันเราแสนจะดี แต่บางกาละ และเราก็อาจจะเป็นคนที่ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น ก็เป็นอย่างนั้นได้ นี้แสดงให้เห็นว่าถ้าทุกคนรู้จักตัวเอง ไม่ใช่รู้เฉพาะวันนี้ แต่จะรู้ถึงเหตุปัจจัยที่สะสมมาเนิ่นนานจนกระทั่งเมื่อมีเหตุปัจจัยที่เหมาะสมกับสภาพธรรใดจะเกิดขึ้นปรากฏสภาพธรรมนั้นก็ปรากฏ เพราะว่าตามความเป็นจริงเป็นธรรม ไม่ใช่เรา โกรธเป็นของใคร ไม่เป็นของใครเลยแต่เวลาที่ไม่รู้ความจริงนะคะ เวลาโกรธ แล้วเป็นเราโกรธ อย่างนี้ก็แสดงให้เห็นว่ามีความเห็นผิดมีการไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นวิธีที่จะไประงับโทสะก็ดีใช้อุบายนานาประการก็ดี แต่ไม่ใช่วิธีที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ซึ่งวิธีนี้คนอื่นก็แสดงไม่ได้นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เพราะฉะนั้นจึงมีอัตตกิลมถานุโยค และกามสุขัลลิกานุโยคซึ่งบางคนก็พยายามหามาตราวัด ว่าแค่ไหนจะเป็น ๒ อย่างนี้ แต่จริงๆ แล้วมัชฌิมาปฏิปทา คือ ชั่วขณะที่สัมมาสติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นจึงจะเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่มีโลภะที่จะให้ไปทำอย่างอื่น ไม่มีโทสะที่จะปฏิเสธอารมณ์ที่กำลังปรากฏ ไม่มีความติดข้องว่าเราต้องการให้สงบ นั่นคือตัวตน หรือเราไม่ต้องการให้โทสะเกิด ก็คือเรานั่นแหละที่ไม่ต้องการ แต่ถ้ามัชฌิมาปฏิปทาก็คือขณะที่ระลึกได้รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรมจึงไม่ใช่เราแต่ถ้าไม่รู้ความจริงอย่างนี้ก็ต้องเป็นตัวตนเป็นเราอยู่ตลอด และก็ดับกิเลสไม่ได้

    ผู้ฟัง การออกบวช หรือการบำเพ็ญเนกขัมมะบารมี โกนผมทิ้งหมดเลย เสื้อผ้าสวยงามเลิกใช้หมด ของหอมอะไรเลิกใช้หมด การกระทำเหล่านั้นจะถือว่าเป็นการกระทำในแนวทางพุทธที่มีคุณประโยชน์มากน้อยเพียงไร หรือว่าจะเข้าไปทางอัตตกิลมถานุโยคด้วย

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่สำหรับทุกคน คือจะบังคับให้ ทุกคนเป็นแบบฉบับเดียวกันนี้ไม่ได้ ไม่มีทางที่จะตั้งฟอร์ม หรือแบบแผนขึ้นมาว่าทุกคนต้องเป็นอย่างนี้ หรือจะใช้คำว่านักปฏิบัติ หรือผู้ปฏิบัติก็ตาม ไม่ใช่อย่างนั้นเลย นักปฏิบัติ หรือผู้ปฏิบัติคือผู้ที่มีความเข้าใจสภาพธรรมถูกต้อง ถ้าไม่เช่นนั้นก็ปฏิบัติผิดถ้าไม่เข้าใจสภาพธรรม

    ด้วยเหตุนี้ผู้ที่บวชในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานเป็นผู้ที่ได้ฟังธรรม แล้วก็ถ้าจะบวชในพระพุทธศาสนา ก็คือว่าได้ฟังธรรม ได้พิจารณาแล้วก็รู้จิตของตนเองว่ามีการสะสมที่จะเจริญกุศลเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจธรรมในเพศบรรพชิต ท่านอนาถบิณฑิกท่านเป็นพระโสดาบันท่านไม่ได้บวช วิสาขามิคารมารดาก็เป็นพระโสดาบันก็ไม่ได้บวช แต่คนที่ฟังธรรมแล้วมีจิตเลื่อมใส และรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่าต้องการที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิตจึงขออุปสมบท ไม่ใช่ทุกคน แล้วแต่การสะสม ด้วยเหตุนี้พระพุทธศาสนาจึงมีทั้งอุบาสกอุบาสิกาที่เป็นเอตทัคคะเป็นเลิศในทางต่างๆ มีภิกขุที่เป็นเลิศในทางต่างๆ มีภิกษุณีที่เป็นเลิศในทางต่างๆ คือพร้อมทั้ง ๔ บริษัท เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าความจริงคือความจริง เพราะเหตุว่าความจริงจะเป็นอย่างเดียวกันไม่ได้เว้นจากเมื่อบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์แล้วเท่านั้นจึงจะบวช ไม่มีการที่จะอยู่ครองเรือนอีกต่อไป เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่ดับกิเลสหมด แต่ถ้ายังเป็นพระอนาคามี เป็นพระสกทคามี เป็นพระโสดาบันแล้ว แล้วแต่อัธยาศัย ท่านเป็นตั้งพระโสดาบันท่านยังไม่บวช นี่แสดงให้เห็นว่าท่านรู้การสะสมของท่านจริงๆ ว่าท่านมีอุปนิสัยที่จะเป็นคฤหัสถ์

    เพราะฉะนั้นในพระพุทธศาสนาไม่มีการฝืน ไม่มีการเสแสร้งไม่มีการหลอกลวง ยิ่งศึกษาธรรม ยิ่งปฏิบัติธรรม คือระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมกำลังปรากฏยิ่งเป็นคนตรง เพราะเหตุว่าสภาพธรรมของแต่ละคนสะสมมาอย่างไรเกิดขึ้นกับตนเฉพาะตนเฉพาะตน ซึ่งคนอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้ คนอื่นเพียงแต่เห็นอากัปกิริยาภายนอก แต่รับรองได้ว่าไม่มีใครรู้ใจใครสักคนเดียว เพราะเหตุว่าแม้แต่ตัวบุคคลนั้นเอง จิตก็เกิดดับสลับไปอย่างรวดเร็ว ต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ

    ด้วยเหตุนี้บทสรรเสริญพระสังฆคุณคือพระอริยะบุคคล จึงมีคำว่าอุปชุปฏิปันโนปฏิบัติตรงกับลักษณะของสภาพธรรมที่มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นปรากฏ และรู้ความจริงเพื่อที่จะเห็นว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะเหตุว่าโลภะมีมากมายมากๆ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีทั้งอย่างหยาบๆ อย่างแรง และก็อย่างอ่อน อย่างบาง จนกระทั่งไม่รู้ตัวเลยว่าขณะนั้นเป็นโลภะ แต่ก็ยังทรงจำแนกว่าโลภะก็ยังต่างออกไปที่มีโทษมาก คือโลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด เป็นโลภมูลจิตทิฎฐิคตสัมปยุต หมายความว่าโลภะมีเป็นความติดข้อง แต่เมื่อไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ก็ยังสามารถที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ แต่ถ้าประกอบด้วยความเห็นผิดเห็นว่าสิ่งที่ไม่ใช่หนทางข้อปฏิบัติที่ไม่ใช่หนทางที่จะให้ปัญญาเกิดเป็นหนทางผู้นั้นก็หมดโอกาสที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้นการดับกิเลสดับเป็นขั้นๆ ไม่ใช่ว่าจะดับโลภะ โทสะ โมหะ แต่ดับความเห็นผิดซึ่งไม่เคยรู้ความจริงของสภาพธรรมแล้วก็ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลก่อน สำหรับพระโสดาบันขั้นต้น

    ผู้ฟัง การเอาชนะการเห็นผิดให้มีความเห็นให้ถูกต้อง ก็เข้าใจว่าเป็นการพยายามขัดเกลากิเลสในตระกูลโมหะ คือ ทำให้ปัญญาเกิดเพื่อให้โมหะหมดไป แต่สำหรับในการเอาชนะกิเลสตระกูลราคะจริต คือ ความยินดีติดใจในของสวย ของหอม ของอร่อย ครูบาอาจารย์แต่ไหนแต่ไรมา ท่านกล่าวสรรเสริญว่าอุบายที่แก้เรื่องนี้ได้อย่างชะงัดมากที่สุด คือ อสุภะกรรมฐาน คือให้พิจารณาศพ ศพแท้ๆ ศพที่มีกลิ่น คือไม่สวยไม่หอม

    ท่านอาจารย์ ท่านอนาถบิณฑิกเคยไปพิจารณาศพไหมคะ

    ผู้ฟัง ไม่ทราบว่าท่านมีความยินดีติดใจในกามฉันทะมากเพียงใด

    ท่านอาจารย์ ทุกคนมีโลภะ ไม่ใช่แต่เฉพาะเราทุกคน พระผู้มีพระภาคก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า อนุสัยกิเลส และกิเลสทั้งหมดยังไม่ได้ดับเลย

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์มีความเห็นว่าการเจริญอสุภะกรรมฐานมีคุณประโยชน์มากน้อยเพียงไรสำหรับผู้มีราคะจริตมาก

    ท่านอาจารย์ การเจริญสมถภาวนามีก่อนการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า พวกที่อบรมเจริญความสงบที่ได้ฌานจิต บรรลุถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะฌานซึ่งเป็นอรูปฌานสูงสุด เพราะฉะนั้นการเจริญความสงบของจิต มีมาก่อนการตรัสรู้ แต่ผู้นั้นก็ไม่สามารถที่จะให้คนได้รู้หนทางที่จะดับกิเลสเพราะเหตุว่าถึงจะได้ฌาน แต่กิเลสก็ไม่ดับ แต่ว่าเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสรู้แล้วทรงแสดงหนทางว่ามีหนทางเดียวคือการอบรมเจริญปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นจึงชื่อว่าความเห็นถูก

    เพราะฉะนั้นพุทธบริษัทจึงต่างอัธยาศัย ซึ่งก็ถูก ถ้าใครบอกว่าพุทธบริษัทเหมือนกันหมดคือละโลภะเข้าป่า กล่าวอย่างนั้นก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่เป็นความจริง ความจริงคือแต่ละคนมีการสะสมต่างๆ กัน และในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ที่เป็นพระอริยะบุคคลที่ประกอบด้วยฌานจิต หมายความว่าได้ทั้งฝ่ายสมถภาวนาด้วย วิปัสสนาภาวนาด้วย มีน้อยกว่าผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม โดยไม่ได้เจริญสมถะ นี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าการที่จะได้ทั้ง ๒ อย่างเป็นเรื่องยากแม้ในครั้งที่ยังไม่ปรินิพพาน ก็มีสุขวิปัสสกะ คือผู้ที่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยที่ไม่ได้บำเพ็ญสมถภาวนาถึงขั้นฌาน การเจริญสมถภาวนามีก่อนการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง ก็พอจะเข้าใจอยู่ว่าอสุภะกรรมฐานเป็นส่วนของสมถกรรมฐานคือเป็น ๑๐ อย่าง ในกรรมฐาน ๔๐ ซึ่งการเจริญอสุภะกรรมฐานที่ครูบาอาจารย์กล่าวสรรเสริญคุณว่ามีส่วนช่วยในการขัดเกลาราคะจิต หรือกามฉันทะเป็นอย่างมากนั้น เรียนถามว่าท่านอาจารย์เห็นว่าการเจริญอสุภะจะเกื้อกูลการเจริญวิปัสสนามากน้อยเพียงไร คือแม้ว่าจะเป็นส่วนของสมถะก็ตาม แต่ว่าจะมีประโยชน์ในการเกื้อกูลช่วยขัดเกลาราคะจริตมากน้อยเพียงไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีการได้ยินได้ฟังคำสอนเรื่องการเจริญสติปัฎฐาน ถ้าไม่มีการได้ยินคำสอนเรื่องมัชฌิมาปฏิปทา กุศลมีหลายขั้น คือ ขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นสมถะ แต่ถ้ามีการได้ยินได้ฟังเรื่องสติปัฎฐาน เรื่องการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนี้ไม่มีอสุภะ แต่มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นควรจะเจริญอะไร

    ขณะนี้ทางตากำลังเห็น ก่อนนี้ไม่เคยรู้เลยว่ามีความชอบความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ ไม่รู้เลยว่าหลังจากที่เห็นแล้วอกุศลก็เกิดทันที เพราะฉะนั้นเวลาที่ท่านผู้หนึ่ง ผู้ใดเปลี่ยนสภาพจากหลังจากที่เห็นแล้วค่อยๆ เป็นกุศลขึ้น สามารถที่จะรู้ที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะต่างกับขณะที่กระดูกก็ไม่มี อสุภะก็ไม่มีอะไรก็ไม่มี แต่มีสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็กุศลจิตไม่เกิด ควรจะเป็นอย่างไร ไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายไปไหนเลย มีสภาพธรรม ซึ่งเมื่อได้ฟังธรรมแล้วถึงจะรู้ว่าเต็มไปด้วยอวิชชาความไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ และหนทางเดียวที่จะค่อยๆ ขจัดความไม่รู้ด้วยการฟังพระธรรมให้เข้าใจ เมื่อมีความเข้าใจแล้วก็มีปัจจัยที่จะทำให้เกิดการระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้รู้จักธรรม เพราะว่าเราเพียงแต่รู้เรื่องธรรม แต่ว่าไม่รู้จักตัวธรรมทั้งๆ ที่ตัวธรรมกำลังเห็น ตัวธรรมกำลังคิด ตัวธรรมทั้งจิตเจตสิกกำลังทำงานอยู่

    เพราะฉะนั้นทางเดียวที่จะรู้ ก็คือเมื่อมีสติระลึกได้ เพราะฉะนั้นเราจะอบรมอย่างไหน เราจะอบรมการฟังเพื่อที่จะให้มีปัจจัยพอที่สติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม หรือว่าจะไปทำอย่างอื่น ในเมื่อสภาพธรรมมีอยู่ แล้วขณะใดที่ปัญญาไม่เกิดขณะนั้นก็เป็นอกุศล

    ผู้ฟัง เคยฟังครูบาอาจารย์บางท่านที่ท่านกล่าวสรรเสริญคุณของการเจริญอสุภกรรมฐาน ท่านบอกว่าการพิจารณาอสุภกรรมฐาน เพื่อกูลให้เกิดปัญญาได้ง่าย คือทำให้จิตอ่อนจิต สลดแล้วก็อ่อน ท่านอาจารย์ดูเหมือนว่าจะไม่เห็นความสำคัญ แล้วไม่ไม่เห็นประโยชน์ของอสุภกรรมฐานเลยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คือดิฉันจะเทียบจิตคน ๒ คน คนหนึ่งบอกให้อีกคนเจริญอสุภกรรมฐานเพื่อให้จิตอ่อน เพื่อเกื้อกูล แต่อีกคนหนึ่งบอกให้คนนั้นสามารถที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เปรียบเทียบ ๒ บุคคลนี้ บุคคลไหนจะมีประโยชน์กว่า ในการที่บุคคลหนึ่งสอนให้เป็นนึกถึงอสุภะ ไปหาอสุภะ และขณะนั้นก็ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ว่าเขาบอกว่านี่เป็นประโยชน์ให้ทำอย่างนี้ แต่อีกคนหนึ่งสามารถที่จะเกื้อกูลให้เขาเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และสติสามารถที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะต้องการบุคคลไหนก็แล้วแต่อัธยาศัยเพราะเหตุว่าถ้าเป็นผู้ที่รู้ว่าชาตินี้โอกาสที่จะได้ฟังธรรมไม่ใช่ว่าเกิดง่าย เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีบุญเก่าที่ได้สะสมมาเราก็มีหู แต่เราก็ได้ยินเสียงอื่น เสียงรถยนต์ เสียงนก เสียงใครพูดเรื่องอะไร เสียงคนขายของ แต่ว่าเสียงที่จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมไม่ใช่เป็นเสียงที่หาง่าย ซึ่งก็ทุกคนมีการสะสมที่ต่างกัน คนที่สะสมมาที่จะฟังธรรม และรู้แจ้งอริยสัจธรรมเพราะเคยฟังมาหลายชาติ อย่างท่านพาหิยะ หรือว่าท่านบุคคลอื่น ถ้าไม่มีการฟังมาก่อนไม่มีการเข้าใจสภาพธรรมมาก่อน เมื่อได้ยินพระธรรมสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ไหม ไม่มีทางเลย แต่ต้องอาศัยการสะสมมาเรื่อยๆ ที่จะพอได้ยิน ได้ฟัง ก็สามารถเข้าใจได้ทันที แล้วยังมีปัญญาที่สมบูรณ์มากกว่านั้นอีกคือไม่ใช่เพียงแต่เข้าใจ ยังสามารถที่จะประจักษ์ลักษณะที่เกิดดับของสภาพธรรมในขณะนี้ได้ เพราะว่าการที่ใครจะเป็นพระอริยเจ้าไม่ใช่ว่ามีคนแต่งตั้ง หรือมีคนบอกว่าให้ทำอย่างอื่น แต่จะต้องเป็นปัญญาที่สามารถประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งทุกคนรับรองว่า ขณะนี้สภาพธรรมเกิดขึ้น และดับไป แต่ไม่ประจักษ์ แต่เมื่อเป็นความจริงแล้ว ก็ย่อมสามารถที่จะประจักษ์ได้ เพราะเหตุว่าเป็นความจริง แต่วิธีเดียวที่จะประจักษ์ได้ก็คือว่าต้องฟังให้เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจนกระทั่งสติระลึกจริงๆ ที่ลักษณะของธรรมที่ตัวธรรม และก็ค่อยๆ รู้จักธรรมนั้นจนชินว่าไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่จะต้องอาศัยกาลเวลา ที่จะต้องอบรม ซึ่งในพระไตรปิฎกก็ใช้คำว่าจิรกาละภาวนา ซึ่งต้องใช้เวลานาน แล้วถ้าเราไม่เริ่มอบรมต้้งแต่เดี๋ยวนี้ มัวแต่ไปทำอย่างอื่น แล้วเมื่อไหร่เราจะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง สมมติเราลืมตาขึ้นมาก็เห็นคนนั้น เราก็ไม่ได้คิดว่าเขาเป็นใคร ก็เห็นภาพคน แล้วเราก็หลับต่อไป คือ ทั้งทางหู ทางตา

    ท่านอาจารย์ รู้จักชื่อปรมัต หรือว่ารู้ว่าเป็นธรรมชนิดหนึ่ง

    ผู้ฟัง ก็รู้ว่าเราได้ยินเสียงแล้ว

    ท่านอาจารย์ นึกขึ้นมาใช่ไหม

    ผู้ฟัง คือรู้ว่าสภาพรู้จะเป็นอย่างนั้น หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ใครรู้ ขณะนั้นใครรู้

    ผู้ฟัง ก็จิตเรารู้

    ท่านอาจารย์ ก็ยังคงเป็นเรา

    ผู้ฟัง ก็ยังไม่ใช่สติปัฎฐาน เพราะว่า ยังไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน อะไร นั้นใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ สติปัฎฐานคือระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถ์แล้วรู้ว่าขณะนั้น เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    ผู้ฟัง เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ รู้ ไม่ใช่นึกตามชื่อว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    ผู้ฟัง แต่ตอนนั้นก็ไม่มีการคิด ไม่มีสังขารธรรมอะไรเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นบางคนจะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า นึกเป็นชื่อ หรือเปล่าว่านี่เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง หรือรู้จริงๆ ในการเป็นสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ก็จะต้องรู้จริงๆ ในสภาพที่เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ รู้ไป ยังมีอีกมากนักที่จะต้องรู้

    ผู้ฟัง แต่ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรเลย แต่ก็หลับอย่างเดียว หลับต่อไปเลยอย่างเดียว

    คุณประทีป เมื่อก่อนเคยคิดอย่างนี้หรือไม่ ก่อนที่จะมาฟังธรรม

    ผู้ฟัง เมื่อก่อนนี้ไม่ได้สังเกต ว่ามันจะเป็นอะไร

    คุณประทีป เพราะฉะนั้นเราเริ่มรู้ เริ่มใส่ใจ เริ่มพิจารณาว่าอะไรที่เป็นปรมัตถ์ธรรม อะไรที่ไม่ใช่ปรมัตถ์ธรรม เมื่อก่อนเราไม่รู้เรื่องเลยเดี๋ยวนี้เราเริ่มใส่ใจ เราเริ่มสนใจ

    ผู้ฟัง สนใจว่า เอ๊ะ อย่างนี้จะเป็นหมายความว่าอย่างไร เพราะว่าถ้าเราตื่นขึ้นมาเราก็จะยังจำๆ ได้อยู่ว่า เราได้ยินเสียงนะ เราได้เห็นภาพของคนที่เข้ามาปลุก แต่ว่าตอนนั้นเราก็บอกว่า เอ๊ะ เราไม่ได้คิดอะไรต่อ แล้วเราก็หลับ

    คุณประทีป เพราะฉะนั้นเราก็ฟังปรมัตถ์ธรรมให้เข้าใจจริงๆ แล้วเมื่อสภาพธรรมอย่างนั้นกำลังปรากฏเกิดขึ้นกับเรา ถ้าสติสัมปชัญญะเกิดขึ้น เราก็จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงจากการศึกษาจากการฟัง ที่พวกเราได้สนทนาธรรมกันว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้น สภาพธรรมตามความเป็นจริงเป็นอย่างไร เป็นกุศล อกุศล เราจะเริ่มใส่ใจทีละเล็กทีละน้อย แต่เมื่อก่อนที่เราไม่เคยรู้เรื่องเลย เพราะตอนนี้เราเริ่มนะครับ

    ผู้ฟัง พอเราเริ่มนี้ ต่อไปที่จะเริ่มลึกรู้ว่าสภาพธรรมตามความเป็นจริงจะเป็นอย่างไร ก็ต้องใช้ความคิดพิจารณาต่อไปใช่ไหม

    คุณประทีป ไม่ต้องใช้ความคิด และความคิดก็จะทำหน้าที่เขาเอง จากการฟังธรรม จากความเข้าใจอย่างนั้น เขาก็จะปรุงแต่งเป็นเหตุเป็นปัจจัย เหมือนกับว่าเป็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งให้เราเริ่มระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ผมขออนุญาตพูดตอนนี้สักนิดครับ

    ท่านอาจารย์ ดีค่ะ ข้อสำคัญก็คือว่าจะมีความสงสัยเกิดแทรกอยู่เรื่อยๆ จนกว่าสภาพธรรมจะปรากฏพร้อมด้วยปัญญาจริงๆ ที่รู้แจ้งในขณะนั้น

    ผู้ฟัง คือ เท่าที่รู้ตัวเดียว ขณะนี้ คือ จะต้องคิดตามไปทุกครั้ง เพื่อที่จะบอกว่านี่เป็นสภาพธรรม เพราะฉะนั้นก็ยังไม่เป็นสติปัฎฐาน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเราจะรู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นเพียงคิดตาม

    ผู้ฟัง เมื่อครู่นี้ที่คุณบอกว่าลืมตาแล้วก็หลับต่อ ขณะนั้นชวนจิตเกิดขึ้นแค่ ๗ ขณะ ยังไม่ถึงกับตทาลัมพนะใช่ไหม ถึงจะไม่มีกำลังที่จะเจริญสติ หรือว่ารู้เรื่องอะไร

    ท่านอาจารย์ เราไม่นับขณะ ดีไหมคะ แล้วจะไปนับขณะไหน ก็ต้องนับตามไป นับขณะอยู่เรื่อยๆ สิ่งไหนที่หมดไปแล้วผ่านไปแล้วก็อย่าสนใจ เดี๋ยวมีความเป็นตัวตนที่จะไปติดตาม เพราะว่ามีสิ่งใหม่ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ข้อสำคัญที่สุดก็คือว่าเราไม่ทิ้งของเก่าทั้งๆ ที่ขณะนี้มีสภาพใหม่กำลังปรากฏ เห็นนี่ก็เห็นไหม แต่ละขณะได้ยินก็ได้ยินไหม แต่ละขณะ แต่เพราะความเป็นตัวตน ความเคยยึดถือ ก็มีความอยากรู้แล้วก็ไปคิดตามเรื่องเก่าๆ โดยที่ขณะนั้นไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่เป็นของใหม่ที่กำลังปรากฏ นี่คือเราจะเห็นเยื่อใยความเป็นตัวตนว่ามากแค่ไหน กว่าปัญญาเราจะเห็นว่าความยึดถือว่าเป็นตัวตนเราอยู่ที่ไหนบ้าง

    ผู้ฟัง กระผมคิดว่าเรื่องความคิดกับความจริง ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม สงสัยกันทั้งสิ้น ขอเรียนถามว่า ขณะที่ความคิดกับความจริงเกิดขึ้น ปัญญาเห็นว่าความคิดเป็นอย่างไร ความจริงเป็นอย่างไร ก็ไม่สงสัย ถือว่าบุคคลผู้นั้นเริ่มประจักษ์ชัดในสภาพธรรมความเป็นจริงแล้วหรือไม่

    ท่านอาจารย์ โดยมากไปสงสัยคนอื่นอีกแล้ว เลิกได้ไหม เลิกที่จะไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เพราะเหตุว่าตราบใดที่ยังคิดอย่างนี้ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วในจุดประสงค์ของการฟังธรรม ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ถ้าใครมีศรัทธาที่จะฟังพระธรรม ต้องรู้ว่าเพื่อการรู้จักสภาพธรรมเพื่อการรู้แจ้งสภาพธรรมที่เป็นธรรมเดี๋ยวนี้กำลังเป็นธรรม และไม่รู้ เพราะฉะนั้นเราจะไม่ไปนั่งคิดย้อนหลัง หรือว่าคิดไปข้างหน้า หรือไปคิดถึงจิตคนอื่น แล้วไปคิดถึงจิตเมื่อวานนี้ นี่คือเยื่อใยความเป็นตัวตน เพราะเหตุว่าขณะนั้นสติไม่ได้เกิดที่จะระลึกที่ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นเราจะค่อยๆ แยก ค่อยๆ เห็นความต่างกัน ค่อยๆ เห็นเยื่อใยว่าตัวตนอยู่ตรงไหน เพราะเหตุว่าตัวตนมีเป็นประจำ แต่ไม่เคยปรากฏให้รู้ แต่เมื่อใดที่มีการรู้ว่าถ้าขณะนั้นเราไปคิดเรื่องอื่น เพราะเหตุว่าไม่ได้ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็จะเป็นปัจจัยหนึ่ง ซึ่งทำให้เราไม่สนใจในเรื่องอื่น แล้วก็มาระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง แต่การศึกษาธรรมต้องอาศัยบัญญัติถึงจะเข้าถึงปรมัตถ์ได้

    ท่านอาจารย์ เพื่อให้ระลึกสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเราจะมีเหตุปัจจัยที่ทำให้ระลึกถึงสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้จะดีกว่าหรือไม่ แทนที่จะไปติดตามเรื่องอื่นแล้วก็นั่งคิด นั่งสงสัย ที่จริงแล้วที่ใช้คำว่าปริตตธรรมแสดงให้เห็นว่า ธรรมที่เราคิดว่ายั่งยืน แท้ที่จริงแล้วสั้นมาก

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 11
    7 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ