ปกิณณกธรรม ตอนที่ 369


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๖๙

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    พ.ศ. ๒๕๔๐


    ท่านอาจารย์ ที่ทรงแสดงว่าสภาพธรรมเกิดดับ รู้ชัดหรือเปล่า หรือว่าเข้าใจตามว่า ขณะนี้สภาพธรรมกำลังเกิดดับ ถ้ารู้ชัดต้องเห็นหรือประจักษ์ลักษณะของสภาพนามธรรมที่เกิดดับ รูปธรรมที่เกิดดับ จึงจะเป็นความรู้ชัดได้

    แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่จะอ่านพระสูตรต้องเป็นผู้ที่เข้าใจ ไม่เผินว่าพอไปนั่งสักประเดี๋ยวก็รู้ชัด ได้วิปัสสนาญาณต่างๆ นั่นเป็นเพราะไม่ได้ศึกษาจริงๆ รู้ชัดนั้นรู้อะไร ประการหนึ่ง แล้วปัญญาที่จะเกิดรู้ชัดอย่างนั้นได้ต้องอบรมเจริญอย่างไร เหตุต้องตรงกับผล ถ้าเหตุไม่ตรง ผลที่ต้องการหรือที่เป็นผลแท้จริงก็เกิดไม่ได้

    การมีพระธรรมเป็นสรณะ ทุกคนก็ได้กล่าวคำนี้อยู่ตลอด พุทธังสรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมจะมีพระธรรมเป็นสรณะได้อย่างไร ก็ยังมองหน้าคนนั้นคนนี้ คนนี้เป็นครู คนนั้นเป็นอาจารย์ แต่ว่าไม่มีความเห็นหรือความเข้าใจที่ถูกต้องของตัวเองพอที่จะทราบว่า พระธรรมแท้ๆ ที่ทรงตรัสรู้นั้นคืออย่างไร

    เพราะฉะนั้น ก็มีหนทางเดียวที่จะรู้ได้โดยการศึกษา ซึ่งต้องศึกษาพระอภิธรรมด้วยแน่นอน

    ผู้ฟัง หมายความว่า เราจะต้องเรียนพระอภิธรรมก่อน แล้วเรียนพระสูตร หรือเรียนพร้อมๆ กัน

    ท่านอาจารย์ ถ้าเรียนพระสูตรหรืออ่านพระสูตรก่อน จะไม่เข้าใจถูกต้อง จะมีตัวเราที่กำลังเข้าใจเรื่องต่างๆ แม้แต่เรื่องความเป็นอนัตตา ก็เข้าใจว่าบังคับไม่ได้เท่านั้นเอง แต่จะไม่รู้ความละเอียด เพราะเหตุว่าที่ใช้คำว่า อภิธรรม หรือ ปรมัตถธรรม ปรม คือ ธรรมที่ยิ่ง อภิ ก็ยิ่ง เพราะเหตุว่าเป็นธรรมที่ละเอียด อภิ อีกความหมายหนึ่ง คือ ละเอียด ละเอียดมาก ไม่ใช่กล่าวแต่เพียงว่ามีจิต แต่มีเจตสิก สภาพธรรมที่เกิดกับจิต เกิดในจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต เกิดที่เดียวกับจิต ซึ่งใครจะรู้ มีตำราไหน ที่จะแสดงลักษณะของเจตสิก ซึ่งต่างเป็นประเภทถึง ๕๒ ประเภท

    นอกจากจะแสดงว่ามีจิตประเภทต่างๆ มีเจตสิกประเภทต่างๆ ยังแสดงถึงความเกี่ยวข้อง ความเป็นปัจจัยซึ่งกัน และกันของนามธรรม และรูปธรรม เพราะเหตุว่าสภาพธรรม มี ๒ อย่าง นามธรรมเป็นสภาพรู้สิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ รูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เพราะฉะนั้น รูปธรรมก็เป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากนามธรรม โดยสิ้นเชิง นามธรรมก็เป็นสภาพธรรมที่ต่างจากรูปธรรมโดยสิ้นเชิง แต่เกี่ยวข้องกันอาศัยกันโดย ๒ สถาน คือ ๑. โดยรูปธรรมเป็นอารมณ์ของนามธรรม จิต เจตสิก ตั้งแต่เกิดจนตาย มีรูปเป็นอารมณ์ ทางตาเห็นรูป ทางหูได้ยินรูป ทางจมูกได้กลิ่นรูป ทางลิ้นลิ้มรสรูป ทางกายกระทบสัมผัสรูป เพราะฉะนั้น เป็นกามตัณหา คือ ความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งมีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน

    เพราะฉะนั้น ทั้งๆ ที่เป็นรูป แล้วรูปก็ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย รูปก็ไม่รู้ว่าใครรัก ใครชังรูปด้วย แต่รูปก็เป็นที่ตั้ง เป็นที่ยึดถือ เป็นที่พอใจของนามธรรม คือ จิต และเจตสิก

    เพราะฉะนั้น ทั้งๆ ที่ รูป เกิดดับแตกสลายไป จิตก็เป็นนามธรรมที่เพียงเกิดขึ้นรู้แล้วก็ดับไป แต่ก็ยังติดข้องในรูปที่ปรากฏ ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็คือ รูปในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เป็นที่เกิดของจิต จิตจะเกิดนอกรูปไม่ได้เลย รูปก็เป็นปัจจัยของจิตตั้งแต่ปฏิสนธิ มีกัมมชรูปซึ่งเกิดเพราะกรรม มีหทยวัตถุ กุล่ม ๑ กลาป ๑ ซึ่งเป็นกัมมชรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต มีกายทสก คือ กายปสาทรูปซึ่งต่อไปก็จะซึมซาบอยู่ทั่วร่างกาย ซึ่งเป็นรูปซึ่งเกิดจากกรรม เป็นรูปซึ่งเกิดจากจิต เป็นรูปซึ่งเกิดจากอุตุ เป็นรูปซึ่งเกิดจากอาหาร เพราะว่าถ้ามีแต่เพียงกัมมชรูป ไม่มีรูปซึ่งเกิดจากจิต จากอุตุ จากอาหารเลย จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ เพราะว่าน้อยมาก จักขุปสาทรูปก็อยู่กลางตา โสตปสาทรูปก็อยู่กลางหู ฆานปสาทรูปก็อยู่กลางจมูก ชิวหาปสาทรูปก็อยู่กลางลิ้น กายปสาทรูป ซึมซาบอยู่ในรูปกลาปทั้งหมด ซึ่งเกิดขึ้นมีกายปสาทรูปซึ่งเป็นรูปซึ่งเกิดจากกรรมอยู่ด้วย แต่ต้องมีรูปอื่นซึ่งเกิดจากอาหาร เกิดจากอุตุด้วย

    นี่ก็คือความเป็นปัจจัยซึ่งกัน และกันของนามธรรม และรูปธรรม แต่นามธรรมเป็นสภาพรู้ อาศัยรูปเป็นที่เกิด แล้วก็อาศัยรูปเป็นอารมณ์ที่ทำให้จิตประเภทนั้นๆ เกิดขึ้น เช่น เสียง ถ้าไม่เกิด โสตวิญญาณก็เกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ก็จะต้องรู้จริงๆ ในลักษณะที่เป็นเพียงนามธรรม และรูปธรรม ซึ่งในพระสูตรจะไม่แสดงโดยละเอียด แม้ว่าจะมีปฏิจจสมุปบาทในพระสูตร แต่ก็ไม่ละเอียด ถึงกับว่า เป็นปัจจัยอย่างไร ซึ่งถ้าเป็นปัจจัยโดยประการอย่างไรต้องอยู่ในพระอภิธรรมในคัมภีร์สุดท้ายซึ่งเป็นคัมภีร์ปัฏฐาน

    นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งจะต้องศึกษา เพราะว่าถ้าไม่ศึกษาพระอภิธรรมแล้วก็จะเข้าใจเอาเอง ซึ่งจะไม่ทำให้เข้าใจสภาวธรรมซึ่งเป็นจิต เจตสิก รูป ได้

    คุณชาติวิบูลย์ มีอะไรไหม

    ผู้ฟัง มีคำถามมาอีกขึ้นมา คือ การพิจารณาสภาพธรรม โดยความเป็นปัจจัย การที่สติปัฏฐานเกิดโดยทั่วไปเป็นอย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้วการอบรมเจริญปัญญาต้องเป็นลำดับจริงๆ อย่างเวลาที่เราเรียนเรื่องปัจจัย เราเข้าใจเรื่องปัจจัย พอที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรม เราก็อาจจะสงสัยว่า แล้วเราจะพิจารณาโดยลักษณะที่เป็นปัจจัยอย่างไร คือเหมือนกับจะเอาปริยัติมาประกอบกับปฏิบัติ เหมือนอย่างนั้น แต่จริงๆ แม้แต่การฟังวันนี้ ซึ่งอาจจะเป็นครั้งแรกสำหรับบางท่านที่เพิ่งมา ต้องทราบจุดประสงค์จริงๆ มิฉะนั้น เราจะตั้งจิตไว้ ไม่ชอบ แล้วก็ไม่สามารถที่จะบรรลุถึงจุดประสงค์ได้

    เพราะฉะนั้น ก็ขอพูดย้ำเรื่องจุดประสงค์ของการฟังพระธรรม เพราะว่าเป็นจุดตั้งต้นจริงๆ ว่า การฟังธรรมอย่าฟังเผิน ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด เพราะเหตุว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ ตรัสรู้สภาพธรรมที่มีจริงๆ แต่ละเอียดมาก มากกว่าที่เราคิดว่า เพียงฟังนิดหน่อย หรือว่าพอเข้าใจอะไรบ้าง ปัญญาก็จะเกิด แต่ตามความจริงปัญญาคือความเข้าใจถูกในขณะที่กำลังฟัง แม้แต่คำแต่ละคำ ต้องเข้าใจจริงๆ แล้วจึงจะเป็นการที่จะปรุงแต่งให้ปัญญาถึงขั้นที่จะเป็นสติปัฏฐานไปเรื่อยๆ

    คำแรกที่เราได้ยินในพระพุทธศาสนา คือ พระธรรม หรือธรรม ธรรมคือสิ่งที่มีจริง แค่นี้ อย่างเพิ่งยอมรับว่าเรารู้แล้ว แต่ต้องพิจารณา ทำไมทรงแสดงเรื่อง สิ่งที่มีจริง เพราะว่าสิ่งที่มีจริง จริงสำหรับทุกคนที่เกิดมา ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ดูเป็นของที่ชินกับเรา แต่ปัญญามีหลายระดับขั้นเหลือเกิน ขั้นที่ยังไม่ได้ฟังเลย ไม่รู้เรื่อง กับขั้นที่ได้ทราบว่า ทุกอย่างเป็นธรรม สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธรรม เสียงที่กำลังได้ยินทางหูเป็นธรรม ฟังดูเหมือนเข้าใจแล้ว เร็วมาก แต่ว่าปัญญาระดับไหนที่จะรู้จริงๆ ว่า เป็นธรรมเท่านั้น

    ความเข้าใจธรรมขั้นต้น จะค่อยๆ ทำให้เรามีความละเอียดขึ้น ในการที่จะไม่ข้ามการศึกษาทั้งหมด เพื่อรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ โดยความเป็นธรรม แค่นี้ อีก ๒๐ ปี แล้วก็เวลาที่สติเริ่มระลึกบ้าง เราก็จะรู้ว่า ปัญญาไม่ใช่รู้อย่างอื่น รู้สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังตั้งแต่ต้นนี่แหละ แต่ว่าเริ่มรู้ในความเป็นธรรม เพราะว่าพูดตามง่าย ทุกอย่างเป็นธรรม เห็นเป็นธรรม ได้ยินเป็นธรรม พูดตาม แต่ที่ประจักษ์ แล้วก็ลักษณะของธรรมไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง จริงๆ แต่ละหนึ่งอย่าง ไม่ปะปนกัน นี่เป็นความละเอียด อย่างทางตาที่กำลังเห็นเป็นธรรม แต่ก่อนเคยเป็นคนหนึ่งคนใด สิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่เมื่อฟังแล้วที่จะเข้าใจจริงๆ ว่า เป็นธรรม ต้องใช้กาลเวลายาวนาน ที่จะต้องค่อยๆ น้อมไปแม้ขณะฟัง ขณะนี้เองก็รู้ว่า นี่เป็นธรรม ถ้าเป็นอย่างนี้ ขณะนั้น เป็นสติปัฏฐาน ไม่ต้องคอยเวลาเลย ไม่ต้องไปเข้าห้อง ไม่ต้องไปคิดอะไร ทำอะไรที่ไหน เพียงกำลังเห็น แล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น จากการฟัง ค่อยๆ รู้ว่า วันหนึ่งเราจะต้องประจักษ์ในความเป็นธรรม คือ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นจริงๆ

    นี่ก็คือการที่เราจะฟังเรื่องของธรรมไปเรื่อยๆ จนกว่าความรู้ของเราจะชัดขึ้น มากขึ้น เพิ่มขึ้นในสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่ต้น แม้แต่เรื่องของปัจจัย อย่างถ้าจะบอกว่า ขณะนี้ คนตาบอดไม่เห็น เพราะเหตุว่าไม่มีตาหรือจักขุปสาท ก็จริง ดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าถ้าเรายังไม่ประจักษ์ว่า เห็นเป็นธรรม เป็นสภาพรู้ หรือเป็นธาตุรู้ แล้วสิ่งที่ปรากฏก็มีจริงๆ เป็นลักษณะของธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น ถ้าปัญญาของเรายังไม่เป็นไปตามลำดับ แม้ว่าเราจะเรียนเรื่องปัจจัย ขณะนั้นเราก็ไม่สามารถจะรู้จริงตามที่เราได้ยินได้ฟังทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องตามลำดับจริงๆ ก่อนอื่นฟังให้เข้าใจว่า ธรรมคืออะไร แล้วก็ศึกษาไปทีละอย่าง จนกระทั่งภายหลังก็สามารถที่จะรู้ว่า ลักษณะของนามธรรมต่างกับรูปธรรมจริงๆ เสียก่อน แล้วถึงจะมีความรู้ที่จะไปเกื้อกูลในการละคลาย ในการที่เข้าใจขึ้นว่า ทุกอย่างขณะนี้เกิด จึงได้ปรากฏ ก็จะรู้ในอาการเกิดขึ้นของธรรม แล้วก็จะรู้ว่า ขณะนั้นเพราะมีปัจจัยจึงได้เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น การที่จะเห็นหรือจะเข้าใจสภาพธรรม โดยลักษณะที่เป็นปัจจัย ไม่ใช่เราเอามานั่งไตร่ตรอง หรือมานั่งคิด แต่ว่าต้องเป็นไปตามลำดับขั้นที่ว่า เข้าใจธรรมเสียก่อน แล้วก็รู้ความต่างกันของนามธรรม และรูปธรรมจริงๆ แล้วสามารถที่จะรู้ในการเกิดขึ้น เพราะขณะนี้สิ่งใดกำลังปรากฏ เพราะสิ่งนั้นเกิด ถ้าไม่เกิดก็ไม่ปรากฏ ถ้าความรู้ของเราไม่เป็นไปตามลำดับ เราก็จะเพียงรู้ตามตำราเท่านั้น

    เป็นเรื่องของการอบรมที่เป็นจิรกาลภาวนา ไม่ใช่เรื่องอื่นใดเลย การฟังธรรมเพื่อเข้าใจขึ้นๆ แล้วก็รู้สิ่งที่กำลังปรากฏโดยความเป็นธรรม ขณะนั้นก็เป็นสติที่ระลึก ที่จะค่อยๆ รู้เป็นปกติ ข้อสำคัญที่สุดคือเป็นปกติ

    ผู้ฟัง ขอโทษอย่าได้ว่าดิฉัน พูดตามความเป็นจริง คืออยากทราบว่าใครปฏิบัติ ถ้าผู้ปฏิบัติ อาจารย์อาจจะบอกว่า ไม่ใช่ ไม่ใช่ปฏิบัติอีก ใครที่เจริญสติปัฏฐาน แล้วสามารถมีประสบการณ์อะไรที่เกิดขึ้นแล้ว นอกจากฟังแล้วเข้าใจ แล้วก็ปฏิบัติ มีอะไรที่เป็นทางธรรมที่ว่ามันเป็นความว่างเปล่า เรามองไปแล้วไม่มีตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขา ผู้นั้นสามารถที่จะมาพูดได้ไหม ทำให้ดิฉันครุ่นคิดว่า ในชีวิตนี้อาจจะตายไป แล้วก็คงยังไม่เห็นอีก ก็คงเกิดมาอยู่ในจุดนี้อีกไหม ขอยอมรับอันนี้ต่อหน้าทุกๆ ท่าน อาจจะคิดว่าไม่มีใครกล้าพูด แต่ดิฉันกล้าพูดว่า ดิฉันยอมรับว่า ที่เราไปเดินในวันนั้น เพราะว่าทำอย่างไรเราถึงจะเจริญสติปัฏฐานได้ต่อเนื่องกัน ด้วยกิเลสตัวนี้มันอาจจะหลอกก็ได้ ก็เลยคิดว่ามีทางเดียว ไปกำหนดเดินหนอ อะไรนี้อีก แล้วมันก็จะกลับมาเพื่อให้ตัวนี้แน่นขึ้น ในความรู้สึกในขณะนั้น คิดเป็นแบบนั้น แล้วก็เมื่อไปเดินแล้วก็ไปนั่ง มันก็เกิดสภาวะที่การบีบรัดที่เจ็บปวดที่รุนแรง แทบจะฉีกกล้ามเนื้อออกไปซึ่งในขณะนี้ ถ้าในหนังสือที่เรียนมาก็บอกว่า กำลังที่จะให้รูปแยกออกจากนาม แล้วมันก็เจ็บปวดดิ้นจน

    ท่านอาจารย์ ตำราไหน ไม่มีในพระไตรปิฎก

    ผู้ฟัง ไม่มีเลย ทุกคนอาจจะขำ อันนี้คือความจริงที่ดิฉันพูด

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วเราก็เหมือนญาติในธรรมที่จะต้องเกื้อกูล ฟังกันด้วยเหตุผล ในพระไตรปิฎก ธรรม ขณะนี้เป็นธรรม เป็นปกติ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นปัญญาจริง ก็สามารถที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมในขณะนี้ตามปกติ จึงจะเป็นปัญญา ไม่ใช่เราไปทำ สิ่งหนึ่งซึ่งยากแสนยากสำหรับทุกคนก็คือว่า พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมดเพื่อละ ไม่ใช่เพื่อติดข้อง แต่ตลอดชีวิตของเรามา เราเต็มไปด้วยความติดข้อง ต้องการ ติดข้องในความเป็นเรา ในความเป็นตัวตน ที่ต้องการ มีแต่ความต้องการ ถ้าเราไม่ต้องการรูป เสียง กลิ่น รส เงินทอง ทรัพย์สมบัติ ลาภยศ ชื่อเสียง เราก็ต้องการผล ซึ่งจะทำให้เราคล้ายๆ กับว่า มีสติปัญญาสามารถที่จะรู้อะไรสักอย่างหนึ่ง แต่ว่าสิ่งที่เราบอกว่า อะไรสักอย่างหนึ่ง ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ มันก็เป็นเพียงอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่เราไม่รู้ ไม่สามารถที่จะบอกได้ แม้แต่ประโยคที่กล่าวว่า ความว่างเปล่า เป็นอะไร ความว่างเปล่า

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์พูดว่า ที่เราเห็นคือสี

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตา คือสี ที่รู้เป็นนาม

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ ไม่ต้องเรียกว่าสีก็ได้

    ผู้ฟัง แต่สิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วที่เรารู้ อันนั้นเป็นรูป

    ท่านอาจารย์ เป็นสภาพรู้ มีสภาพรู้จริงๆ เพราะเห็น แต่ที่จะรู้ว่าเห็นเป็นธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง เกิดขึ้น เป็นธาตุรู้ เพราะเหตุว่าถ้าเราพูดเรื่องธาตุที่เป็นรูปธาตุ เราสามารถที่จะเข้าใจตามที่เราเคยเรียนมาว่า มีธาตุอะไรบ้าง แต่ธาตุฝ่ายรูปธรรมก็มีแข็ง มีหวาน มีเปรี้ยว มีกลิ่นต่างๆ นี่เป็นรูปธรรม แต่อีกชนิดหนึ่งเป็นธาตุเหมือนกัน ธาตุ คือ ธา-ตุ ธ.ธง สระอา ต.เต่า สระอุ เมื่อใช้คำว่าธาตุก็หมายความว่า ทรงไว้ซึ่งสภาพนั้น ซึ่งใครเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แล้วก็ไม่มีใครสามารถจะสร้างขึ้น ทำขึ้น เพราะว่าแล้วแต่ว่าธาตุนั้นจะมีปัจจัยปรุงแต่งให้เป็นธาตุชนิดไหนเกิดขึ้น แม้แต่การเห็น มีจริงๆ ถ้ามีจริง แล้วเป็นอะไร ไม่ใช่สี ใช่ไหม แต่เป็นธาตุรู้ ที่ใช้คำว่าธาตุรู้ ไม่ใช่ตัวปัญญา เพียงแต่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใดเท่านั้นเอง เช่นทางตาในขณะนี้ ที่รู้ว่ามีสิ่งที่ปรากฏนั่นคือ เพราะเห็น เพราะฉะนั้น ธาตุชนิดนี้เกิดขึ้น เห็น จึงรู้ว่ามีสิ่งที่ปรากฏ

    เราต้องเข้าใจ ไม่ใช่ว่าอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วความว่างเปล่า แต่นี่เป็นสิ่งซึ่งปัญญาจะต้องอบรม จนสามารถที่จะรู้จริงๆ ว่า ธาตุรู้มีจริง เมื่อธาตุรู้ปรากฏ จะเป็นลักษณะของนามธรรม ซึ่งไม่มีรูปธรรมใดๆ เจือปนเลยทั้งสิ้น โลกนี้เอาสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทุกสิ่งทุกอย่างออกหมด แม้ออกหมดก็ยังมีธาตุรู้ อย่างเวลาที่เราคิด ไม่มีสีปรากฏ ไม่มีเสียงปรากฏ แต่คิด เพราะฉะนั้น ธาตุชนิดนั้นแหละเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ซึ่งมีจริงๆ แล้วก็ธาตุรู้ก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปด้วย

    ธาตุรู้ก็เปลี่ยนแปลง ตั้งแต่เกิดจนตาย แม้ในขณะนี้ เพราะการเกิดดับสืบต่อกันของธาตุรู้นี้เร็วมาก ไม่ปรากฏเลย จึงทำให้มีเรื่องราวต่างๆ จากสิ่งที่ปรากฏ และความทรงจำ โดยที่ไม่รู้ว่า ความจริงแล้วธาตุรู้กำลังเกิดดับอยู่ทุกขณะ

    การที่เราจะบอกว่าเป็นนักปฏิบัติ เราควรจะเข้าใจความหมายจริงๆ ถ้าเราไม่ศึกษาธรรมโดยละเอียด เราไม่สามารถจะเห็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเรากราบไหว้นับถือตั้งแต่เกิดมาในประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ เราเพียงแต่กราบไหว้คนหนึ่งซึ่งเราเชื่อว่าไม่มีกิเลส เป็นผู้ที่มีพระบริสุทธิคุณ เพราะว่าดับกิเลสหมดแล้ว แล้วก็มีพระมหากรุณาคุณ ทรงแสดงพระธรรมตั้งแต่สมัยตรัสรู้ จนกระทั่งใกล้ที่จะปรินิพพาน แล้วก็เป็นผู้ที่ทรงไว้ซึ่งพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ แต่ถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียด เราคิดว่าเราเข้าใจแต่จริงๆ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เราไปเดินในลักษณะต่างๆ เพื่อที่จะให้มีสติ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แต่ทรงแสดงธรรมให้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟังเสียก่อน

    นี่คือเบื้องต้น เป็นสวนานุตริยะ เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีการเข้าใจขั้นต้น ครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ก็มีไม่ได้ ครั้งต่อๆ ไปที่จะมีการประจักษ์ ในธาตุทั้งหลายโดยความเป็นธาตุ ก็มีไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดมาก ผู้ที่ศึกษาภาษาบาลีท่านให้ความรู้ ความหมายของคำว่า ปฏิปัตติ ซึ่งภาษาไทยใช้คำว่า ปฏิบัติ ว่าคำนี้หมายความถึง ถึง-เฉพาะ เพียงแค่นี้เราเข้าใจไหม ถึงอะไร เฉพาะอะไร แต่ถ้าเราศึกษาธรรมด้วยความเข้าใจ เรารู้เลย ถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เฉพาะธรรมแต่ละอย่าง ไม่ใช่หลายๆ อย่างรวมกัน ถ้าหลายๆ อย่างรวมกัน ไม่ใช่ถึงจริงๆ เพราะเหตุว่ารวมกันแล้วก็ไม่ปรากฏลักษณะแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้น ถึงเฉพาะอย่างหนึ่งๆ ๆ ตามความเป็นจริง ถึงที่นี่จะถึงได้อย่างไร จะถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมได้อย่างไร ด้วยปัญญา จึงสามารถที่จะถึงลักษณะเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมได้ อย่างสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ต่างกับเห็นซึ่งเป็นสภาพธรรม อีกอย่างหนึ่ง อะไรจะถึงเฉพาะสภาพ ๒ อย่างนี้ ทีละอย่าง ต้องด้วยปัญญาที่สามารถที่จะรู้ความต่างกัน แม้ในขณะที่กำลังเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตา ปัญญาถึงเฉพาะสิ่งนั้นเป็นหนึ่งอย่าง สภาพที่กำลังเห็น ปัญญาสามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจว่า เป็นสภาพรู้ที่กำลังเห็น ถึงเฉพาะลักษณะที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา

    นักปฏิบัติไม่ใช่หมายความถึงคนที่ไปที่หนึ่งที่ใด แล้วก็ไปเดิน ๑ ชั่วโมง ไปนั่ง ๑ ชั่วโมง นั่นไม่ใช่หนทางอบรมเจริญปัญญาเลย ไม่มีข้อความนี้ในพระไตรปิฎก และในอรรถกถา

    การฟังพระธรรมต้องทราบ เราฟังอะไร ถ้าฟังพระธรรมต้องจากพระไตรปิฎก และอรรถกถา และเทียบเคียงกับสิ่งที่กำลังปรากฏว่า ถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง ที่จริงก็ไม่ได้ไปที่ไหน ทำอยู่ที่บ้าน แล้วที่เจริญสติปัฏฐานของอาจารย์ ก็ทำ พูดจริงๆ ก็ทำอย่างยิ่งยวด จนกระทั่งเกิดสภาพอันนั้นขึ้นมา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถึงต้องเข้าใจตั้งแต่ต้นแม้แต่คำว่า ปฏิบัติ จะไม่ได้เป็นนักปฏิบัติอีกต่อไป เพราะว่านักปฏิบัตินี้ก็ต้องแย่มาก คือทำเสียเป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี แล้วก็ เรียกตัวเองว่านักปฏิบัติ แต่จริงๆ ถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมด้วยปัญญาหรือเปล่า

    ผู้ฟัง คือสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่สงสัย ติดข้องอยู่ในจิต คิดว่า เมื่อพูดออกไป บางคนอาจจะทั้งขำ และยิ้ม แล้วก็อาจจะนึกสมเพช ดิฉันก็คิดว่ายินดี ที่จะเอาความนี้ออกมาเพื่อที่จะผิดถูกอย่างไร ก็ยินดี

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ไพเราะที่สุด คือ สิ่งที่เป็นความจริง ไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งหมด แต่มีความไพเราะ คือ จริง จริงอย่างไรก็เป็นอย่งนั้น เพราะฉะนั้น ให้ทุกคนได้ทราบว่า ธรรมเป็นเรื่องที่ละ ไม่ใช่เป็นเรื่องเอา ถ้าใครมุ่งจะปฏิบัติเพื่อจะเอา ผิดโดยไม่รู้ตัว ผิดจริงๆ เพราะเหตุว่าไม่สามารถจะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ จึงทำ แต่ถ้าเป็นปัญญาแล้วไม่ใช่ทำ แต่เริ่มเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ จะทำอะไรได้ มีใครทำ สติเกิดจึงทำหน้าที่ระลึก ขณะที่ระลึก ปัญญาก็ค่อยๆ รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไมใช่มีเราเป็นนักปฏิบัติ

    เพราะฉะนั้น ถ้าใครบอกว่าเขาเป็นนักปฏิบัติ ทราบได้เลย ถูกหรือผิด ปฏิบัติของเขาคือทำ ไม่ใช่อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมที่เกิดแล้วปรากฏในขณะนี้ ตามความเป็นจริงว่า ไม่มีใครทำ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 99
    23 มี.ค. 2567