ปกิณณกธรรม ตอนที่ 365


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๖๕

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    พ.ศ. ๒๕๔๐


    ท่านอาจารย์ แต่ละคำถ้าเราใช้ตรง เราจะไม่เข้าใจคลาดเคลื่อนเลย อย่างคำถามของคุณชมเชยว่า จิตอยู่ที่ไหน อาจารย์ท่านตอบว่าไม่มีที่อยู่ แล้วเราก็เรียนเรื่องหทยวัตถุ เป็นที่เกิด ไม่ใช่ที่อยู่ จิตเกิดที่รูปใดรูปหนึ่งในกาย แต่ไม่ใช่ที่อยู่ เพราะเหตุว่าเกิดแล้วดับเลย

    ถ้าอย่างนั้นถามต่ออีก ดีไหม จิตเห็นไม่มีที่อยู่ แต่ว่ามีที่เกิด ต้องเกิดที่รูปหนึ่งรูปใดแน่นอน จิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือ หมายความว่าในภูมิที่มีรูป จะเกิดนอกรูป หรือว่าไม่อาศัยรูป ไม่ได้เลย ต้องมีรูปหนึ่งรูปใดเป็นที่เกิดของจิต เพราะฉะนั้น จิตเห็นที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ จิตเห็นเกิดที่ไหน

    ผู้ฟัง เกิดที่วัตถุ ที่ตา

    ท่านอาจารย์ ที่จักขุปสาทรูป เป็นที่เกิด จิตได้ยินเกิดที่ไหน

    ผู้ฟัง ก็เกิดที่ประสาทของหู

    ท่านอาจารย์ โสตปสาท จิตได้กลิ่นเกิดที่ไหน

    ผู้ฟัง จิตได้กลิ่นก็เกิดที่

    ท่านอาจารย์ จมูก ฆานปสาท คือ เรียนบาลีไปด้วย นิดๆ หน่อยๆ แล้วก็จิตที่ลิ้มรสเกิดที่ไหน

    ผู้ฟัง เกิดที่ชิวหาปสาท

    ท่านอาจารย์ จิตที่รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็งตึงไหว เกิดที่ไหน

    ผู้ฟัง เกิดที่กายปสาท

    ท่านอาจารย์ เร็ว ที่ว่ามันเกิดนิดเดียว แล้วรูปนั้นก็เล็กมาก ดับอย่างรวดเร็ว นี่คือชั่วขณะที่สั้นแสนสั้นของจิตขณะหนึ่งๆ ว่า รูปสั้นแค่ไหน จิตดับเร็วแค่ไหน จิตอื่นๆ นอกจากจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส โลภะชอบใจ โทสะไม่ชอบใจเกิดที่ไหน จิตอื่นๆ ทั้งหมดนอกจากจิตประเภทนี้แล้ว

    ผู้ฟัง เกิดที่ใจ

    ท่านอาจารย์ หทยวัตถุ เกิดที่หทยวัตถุ ต้องมีรูปๆ หนึ่งซึ่งเป็นที่เกิดของจิตในภูมิที่เป็นขันธ์ ๕ บนสวรรค์ จิตเห็นเกิดที่ไหน

    ผู้ฟัง จิตเห็นก็เกิดที่ประสาทตา

    ท่านอาจารย์ จักขุปสาท แล้วก็โลภะของเทวดาเกิดที่ไหน โลภมูลจิต

    ผู้ฟัง ก็เกิดที่จิตเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ หทยวัตถุ เรียกว่า หทยวัตถุ ไม่ต้องไปคิดถึงรูปร่าง ไม่ต้องไปคิดถึงสีใดๆ ทั้งสิ้น รูปเล็กนิดเดียว รูปนั้นเกิดจากกรรมเป็นปัจจัย แล้วเวลาที่จิตอื่น นอกจาก ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง ทางตา ๒ ดวง เป็นกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ รวมเป็นอย่างละ ๒ คือ ๑๐ นอกจากนั้นแล้วจิตอื่นทั้งหมดเกิดที่หทยวัตถุ แม้แต่ในพรหมโลก รูปของพรหมก็ละเอียดมาก แต่ก็ต้องมีรูปหนึ่งซึ่งเป็นที่เกิดของจิต เพราะเหตุว่ายังเป็นพรมหที่มีรูปอยู่ ถ้าเป็นอรูปพรหม จิตเกิดที่ไหน

    ผู้ฟัง อรูปพรหม ไม่มีรูป

    ท่านอาจารย์ ไม่มีรูปเลย

    ผู้ฟัง เกิดที่หทยวัตถุ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีรูปเลย

    ผู้ฟัง แล้วไปเกิดที่ไหน

    ท่านอาจารย์ อรูปพรหมไม่มีรูปเลย แล้วจิตของอรูปพรหมยังมี เป็นอรูปพรหมเกิดที่ไหน จิตเกิดที่ไหน

    ผู้ฟัง จะไปเกิดที่ไหนได้ล่ะ

    ท่านอาจารย์ นั่นสิ อรูปพรหมเกิดแน่ แต่ว่าจิตของอรูปพรหมเกิดที่ไหน

    ผู้ฟัง เขาเกิดมาได้ลอยๆ หรือ

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องอาศัยรูป ไม่ต้องอาศัยรูปเลย ในภูมินั้นไม่มีรูปเลย นี่เป็นสิ่งซึ่งถ้าเราสามารถที่จะเห็นความต่างกัน ความแยกขาดจากกันของนามธรรมกับรูปธรรม ขอให้ยืนยันว่า สภาพธรรม มี ๒ อย่าง ต่างกัน จริงๆ โดยเด็ดขาด คือ รูปมี แต่รูปไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น รูปในโลกนี้ รูปบนสวรรค์ รูปที่ไหนๆ รูปก็คือสภาพที่ไม่รู้ รูปจะอยู่ที่ตัว หรือจะอยู่นอกตัว ลักษณะของรูปแท้ๆ ก็ไม่รู้อะไรเลย

    รูปที่โน่น กับรูปที่นี่ ไม่มีความต่างกันเลย โดยเป็นรูปจริงๆ แล้วไม่มีเจ้าของด้วย เราอาจจะถือว่า นี่เราเป็นเจ้าของ นี่เราเป็นเจ้าของ แต่เราถือผิด เพราะว่ารูปจริงๆ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เพราะอะไร เพราะเกิดขึ้นจากสมุฏฐานต่างๆ แล้วก็ดับ เสียงที่ดับไปแล้ว ใครเป็นเจ้าของ ไม่มี ทุกรูปไม่มีใครเจ้าของเลย ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า

    แสดงให้เห็นว่า อวิชชามากแค่ไหน เพราะตลอดเวลารูปของเราทั้งนั้นเลย ตลอดเวลา ทั้งภายในภายนอก แต่ความจริงแท้ คือ เป็นสภาพธรรมที่มีจริงเกิดแล้วก็ดับอย่างเร็ว จะเป็นของใครไม่ได้เลย เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดแล้วก็ดับอย่างเร็ว จะเป็นของใครไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น กว่าจะหมดกิเลสถึงความเป็นพระอรหันต์ ไม่มีเชื้อของความยินดียินร้าย หรืออกุศลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเห็นความจริงว่า ปรมัตถธรรมเป็นปรมัตถธรรม รูปธรรมเป็นรูปธรรม เกิดแล้วก็ดับ เร็วมาก ถึงแม้ว่าจะมีชีวิตอยู่ในป่า เดินไปในกรุง หรือที่ไหนก็ตาม แต่ปัญญาที่สามารถรู้ความจริงของธรรม ก็ไม่มีเยื่อใยที่จะหลงพอใจ หรือติดข้องในธรรมใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าประจักษ์แจ้งธรรมตั้งแต่เป็นพระโสดาบัน แล้วก็เป็นพระสกทาคามี แล้วก็เป็นพระอนาคามี ไม่เหลือแม้แต่พืชเชื้อของความยินดีพอใจซึ่งเป็นกิเลสใดๆ ทั้งสิ้น

    ทุกอย่างที่เรามี เราลองคิดดู เรามีโลภะ เราชอบ อาหารกำลังอร่อย จะหยุดไม่ให้โลภะเกิดได้ไหม ไม่ให้ชอบไม่ได้ แค่อาหารเรายังติด ไม่สามารถที่จะละได้ แล้วอะไรอีกตั้งกี่ร้อยแปดพันเก้าอย่าง ไม่ใช่อาหารอย่างเดียวที่เราติด บ้าน ทรัพย์สมบัติ ญาติมิตร ทุกอย่าง ติดไปหมดเลย แสดงให้เห็นว่า ละโลภะ จะละอย่างไร ละจนไม่เหลือ ดับหมดเป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีกเลย ผู้นั้นต้องมีปัญญาอย่างคมกล้า แล้วก็มหาศาลจริงๆ เพราะว่าเปรียบเทียบ แม้แต่ขณะจิตเดียวของเราซึ่งโลภะกำลังเกิด แล้วก็ไม่รู้ว่า จะไม่ให้มีโลภะนั้นได้อย่างไร แต่ท่านสามารถที่จะไม่มีโลภะได้เลย โดยตลอด ไม่มีอกุศลใดๆ เลยทั้งสิ้น จากการฟังในวันนี้ ค่อยๆ ไป จนถึงวันนั้น เหมือนกับอยู่ฝั่งนี้ของมหาสมุทร แล้วก็เพียรที่ไปถึงอีกฝั่งหนึ่งของมหาสมุทร แล้วก็มหาสมุทรของใคร กว้างแค่ไหน หรือว่าชักจะแคบเข้า หรือว่ามีปัญญาพอที่จะอยู่กลางมหาสมุทรเกือบจะถึงฝั่ง

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า จากปุถุชนสู่ความเป็นพระอรหันต์ ด้วยปัญญาอย่างเดียว ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่นเลย ทำไม่ได้ แต่เข้าใจสภาพธรรมซึ่งมีเหตุปัจจัยเกิดแล้วปรากฏเดี๋ยวนี้ แล้วก็รู้ความจริงด้วยตัวเองว่า ปัญญาแค่ไหน ถ้าเป็นผู้ตรง ก็ไม่ต้องไปคอย ไปหวัง ไปรออะไรทั้งสิ้น แต่มีความเพียร คือ อดทนที่จะรู้ว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ปัญญาจะต้องรู้จนประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้น ก็ไม่หันหน้าหนีจากสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ว่าค่อยๆ เข้าใจขึ้นตามความเป็นจริง

    ก็พอจะทราบเรื่อง จิตเกิดที่ไหนแล้ว เพราะว่าตลอดไปจนกระทั่งถึงอรูปพรหม แล้วก็รู้ว่าสำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เท่านั้นที่จิตต้องอาศัยรูปเกิด แต่ในภูมิที่มีแต่นามธรรม ไม่ต้องอาศัยรูปเลย จิตก็เกิดได้ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง

    ผู้ฟัง เกิดอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เมื่อมีปัจจัยก็ต้องเกิด พอลักษณะของรูปธรรมไม่ปรากฏเลย เพราะขณะนั้นกำลังประจักษ์ลักษณะของนามธรรมเท่านั้น จะรู้ได้เลยว่า เป็นโลกของนามธรรม ซึ่งเกิดปรากฏ แต่ไม่มีรูปธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องเลย เพราะว่านามธรรมก็เกิดเพราะปัจจัยของนามธรรม

    ผู้ฟัง จากการฟังวันนี้จะเป็นหนทางอันหนึ่ง ซึ่งเราหวนกลับไปอ่านในหนังสือปรมัตถธรรม แล้วเราจะเริ่มเข้าใจขึ้น ถ้าไม่เข้าใจก็กลับมาฟังใหม่ เพราะอ่านครั้งแรกเราอาจจะไม่เข้าใจ เราฟัง ฟังวันนี้ ทำความเข้าใจให้มากที่สุด แล้วก็กลับไปอ่าน เมื่อไม่เข้าใจก็กลับมาฟังอีก ฟังเทป ฟังอะไร วันใดวันหนึ่งต้องเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ หนังสือเล่มนี้เหมือนยาขม ดิฉันเคยรู้จักคนซึ่งไม่ยอมรับประทานยาเลย เป็นโรค SLE แล้วก็สิ้นชีวิตไป เพราะเหตุว่าเป็นคนที่ทานยายากมาก ทั้งๆ ที่เขาก็รู้ว่าโรคนี้เป็นโรคที่ร้ายแรงมาก โรคแพ้เลือดอะไรพวกนี้ แล้วก็จะต้องปฏิบัติตามหมออย่างใกล้ชิด พอหมอไปเอายาทิ้งกระโถน อยู่บ้านเอายาโยนหน้าต่าง หมอให้ทานไข่ขาววันละ ๖ ลูก ทานวันละลูกเดียว เพราะว่าไม่ได้จริงๆ ทนไม่ได้ต่อการที่จะกลืนยา แม้ว่าจะเป็นเรื่องของชีวิต

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า หนังสือเล่มนี้ก็เหมือนกับยาขมจริงๆ พอเปิดออกมาก็ ไม่เห็นที่จะมีเรื่องอะไรที่คิดว่า น่าสนใจ มีภาษาบาลีเป็นเรื่องหลัก แต่จริงๆ แล้ววิธีที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้ คือ ขอให้อ่านทีละคำ ไม่ต้องมาก ทีละประโยค ถ้ายังไม่เข้าใจ อย่าเพิ่งต่อ แล้วก็วันหนึ่งจะได้สักแค่ย่อหน้าหนึ่งก็ยังดี ยังดีกว่าจะอ่านตลอดไปโดยที่ไม่รู้เรื่องแล้วก็กลับมาอ่านอีกครั้งหนึ่ง พยายามที่จะรู้ว่าเข้าใจอย่างไร ตรงนั้น ๑ ย่อหน้า ไม่ต้องถึงหน้าก็ได้ ดิฉันเคยบอกให้น้องอ่าน วันละ ๑ หน้า ทีหลังหน้าหนึ่งไม่พอ เพราะมันยังไม่จบ ที่จะต้องเข้าใจ มันยังอยู่หน้าต่อไปอีก เขาก็อ่านต่อไปได้ แต่ต้องฝืนใจ และต้องรู้ว่า ประโยชน์คือว่า เท่าที่ดิฉันศึกษามาก่อน ดิฉันทราบเลยว่า ทุกคนที่ศึกษาเรื่องของ อภิธัมมัตถสังคหะ เพราะว่าตำราเรียนของเรา เราจะเรียนพระไตรปิฎกตรงทีเดียวไม่ได้ ท่านแสดงธรรมกับบุคคลที่ฟังแล้วเป็นพระอรหันต์บ้าง เป็นพระอริยบุคคลบ้าง หรือเป็นภาษาซึ่งท่านใช้อยู่ ท่านเข้าใจกันได้แล้ว แต่ของเราต้องมา อารมณ์อะไร อารมณ์เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือว่าอารมณ์ที่เราเคยเข้าใจ ความหมายมันเปลี่ยนหมด

    เพราะฉะนั้น เราก็ต้องมีความลำบากยากเพิ่มขึ้นอีกเท่าหนึ่ง เพราะเหตุว่า ไม่ใช่ภาษาของเรา แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การที่เรามีวิริยะ มีความอดทน ที่จะเห็นประโยชน์ว่า พระธรรมที่ทรงแสดงจากการที่อบรมบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัป เมื่อตรัสรู้แล้วก็มีท่านพระเถระที่ท่านทรงจำต่อๆ จนกระทั่งยังเหลืออยู่ แล้วก็ได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แล้วก็เรายังมีชีวิตอยู่ในยุคที่ยังมีพระไตรปิฎก ยังมีอรรถกถา ยังมีการศึกษาธรรม แต่เราต้องเข้าใจถูกว่า จะศึกษาอย่างไร บางคนก็ถามว่าจะอ่านพระไตรปิฎกได้ไหม ถ้าเป็นพระสูตรโดยที่ไม่ได้ศึกษาพระอภิธรรมมาก่อน จะเข้าใจผิดแน่นอน เพราะว่าในนั้นจะมีเรื่องปฏิจจสมุปบาท จะมีเรื่องอริยสัจ แต่ไม่ได้กล่าวโดยตรงถึงปรมัตถธรรม ๔ สำหรับผู้ที่ยังไม่มีความรู้เลย ถ้าเป็นอภิธรรมปิฏก จะเริ่มจากคัมภีร์ ซึ่งหยิบมาแล้ว ไม่สามารถจะเข้าใจได้ เพราะว่าเป็นเรื่องของกุสลาธัมมา อกุสลาธัมมา อัพยากตาธัมมา ก็ไม่รู้อะไรเลย

    เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่ในเมืองไทยเรา หรือก็จะคงเป็นที่อื่นด้วย ก็เห็นประโยชน์ของการที่จะศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ซึ่งได้จัดเป็นส่วน คือปริจเฉท ว่าปริจเฉทที่ ๑ เป็นเรื่องของจิต ปริจเฉทที่ ๒ เป็นเรื่องของเจตสิก แล้วก็ต่อๆ ไป แต่ถึงอย่างนั้นเท่าที่ดิฉันเรียนด้วยตัวเองทราบว่า ถ้าไม่เริ่มจากพื้นฐานจริงๆ ที่มั่นคงว่า ปรมัตถธรรมมีเท่าไร จำแนกออกไปอย่างไร จะไม่มีทางที่จะเข้าใจโดยตลอด ถ้าเริ่มเรื่องจิต รู้ว่าอกุศลจิตมี ๑๒ ชนิด พอพูดถึงเรื่องขันธ์ จะไม่รู้ จะพูดถึงเรื่อง สัมปยุตต วิปยุตต หรือว่าสังคหะ อะไรต่ออะไร จะไม่รู้เรื่องเลย แต่ถ้าเรามีพื้นก่อนว่า จิตคืออะไร เจตสิกคืออะไร รูปคืออะไร นิพพานคืออะไร จิตมีกี่ชาติ พอถึงอกุศล เรารู้เลยว่า ๑ ใน ๔ พอถึงกุศลต่อไปเราก็รู้ว่าเป็นชาติของจิต แล้วก็โดยลำดับของภูมิว่า ต่ำสุด คือ กามาวจรภูมิ ภูมิซึ่งเป็นไปในรูป ในเสียง ใน กลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ คือ ภูมินี้แหละที่กำลังอยู่กับเรา ที่เรากำลังอยู่ในภูมินี้ แต่ยังมีจิตระดับที่สูงกว่านี้อีก แล้วเราก็จะเริ่มเข้าใจ เพราะเรารู้ว่า มี ๔ ภูมิ แต่ถ้าเราไม่มีพื้นฐานอย่างนี้ เราศึกษาไป บางแห่งจะเป็นการท่อง จะไม่มีคำอธิบายที่จะสอดคล้องกัน

    เพราะฉะนั้น เท่าที่ผ่านมา ถ้ามีความรู้เป็นพื้นอย่างถูกต้อง สามารถที่จะต่อพระไตรปิฎกได้ แล้วจริงๆ แล้วในปรมัตถธรรมสังเขป ถ้าคนที่จะไม่มีโอกาสศึกษาพระอภิธรรมตามสถานที่ต่างๆ เป็นหนังสือที่เป็นคู่มือที่จะเรียนได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องมีวิริยะ แล้วก็มีการเห็นประโยชน์จริงๆ ว่า นี่คือพระธรรมที่ทรงแสดง แล้วก็ยังเหลือมาถึงเราที่จะทำให้เราสามารถจะรู้ว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระปัญญาคุณอย่างไร ที่จะตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งใครก็คิดไม่ถึงว่า ขณะนี้จิตกำลังเกิดดับ เจตสิกกำลังเกิดดับ รูปกำลังเกิดดับ สิ่งใดที่เกิดแล้วดับแล้ว หมดแล้วไม่กลับมาอีกเลย กี่ภพกี่ชาติก็อย่างนี้ เมื่อกี้นี้หลัดๆ ก็ดับหมด ไม่มีอะไรเหลือ แต่ต้องเป็นการประจักษ์ ไม่ใช่เพียงการคิดแล้วก็เข้าใจเท่านั้น

    ปัญญาของเราจะต้องอบรมอีกมาก แต่ว่าสำหรับการได้ยินได้ฟังแต่ละครั้งไม่สูญหาย ยังคงสะสมเก็บไว้ พอฟังอีกคราวหน้าจะเข้าใจขึ้นอีก แล้วก็ท่านที่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมในครั้งกระโน้น หลังจากการตรัสรู้แล้วทรงแสดงธรรม ในชาติก่อนๆ โน้นก็คือชีวิตประจำวันอย่างนี้ที่เริ่มจากการสนใจแล้วการฟังพระธรรม แล้วก็ค่อยๆ อบบรมไป

    เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่มีโอกาสได้ฟัง ก็นับว่าเป็นกุศลที่ว่า วันหนึ่งจากความเป็นปุถุชนก็สามารถที่จะถึงได้ถึงความเป็นพระอรหันต์ ช้าหรือเร็ว แล้วแต่ความเข้าใจของแต่ละคน แล้วแต่ศรัทธา แล้วแต่หลายอย่างซึ่งเป็นปัจจัย

    ผู้ฟัง ขอท่านอาจารย์สุจินต์ช่วยย้ำในเรื่องที่เรากำลังคุยกันอยู่ขณะนี้ จะได้เกิดความเข้าใจขึ้น

    ท่านอาจารย์ ที่จริงดิฉันสนใจที่คุณศีลกันต์ถามว่า จะฟังอย่างไรที่จะให้เข้าใจขึ้น เพราะขณะนี้ทุกคนกำลังฟัง ความเข้าใจแต่ละคนมากน้อยแค่ไหน อย่างไร ก็ไม่ทราบ แม้แต่คำว่าธรรม คุณวิลาวรรณก็ฟังมานาน แล้วคิดว่าเข้าใจไปแล้ว นานแล้วด้วย เพราะฉะนั้น การฟังธรรมไม่ใช่หมายความว่า เรามีจุดเร่งร้อนที่ว่าเราอยากจะให้เข้าใจได้มากกว่านี้ แต่หมายความว่า ขณะที่กำลังฟังสิ่งใด ให้พิจารณาว่า เข้าใจในสิ่งที่ได้ฟังจริงๆ แค่ไหน ไม่ต้องไปรีบร้อนว่า อยากจะเข้าใจให้มากกว่านี้อีก เมื่อไรจะเข้าใจเร็วๆ กว่านี้ แต่กำลังฟังเดี๋ยวนี้ให้เข้าใจว่า เข้าใจสิ่งที่กำลังฟังแค่ไหนเท่านั้น คงไม่มีปัญหา ใช่ไหม คุณศีลกันต์ว่าฟังอย่างไร ถึงจะเข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง แต่ว่าฟังอย่างไรตัวเองจึงจะเข้าใจ ขณะนี้ผมยอมรับว่า ยังเป็นตัวเองอยู่

    ท่านอาจารย์ เท่าที่ฟังมาแล้ว ตรงไหนไม่เข้าใจ

    ผู้ฟัง มันยังไม่รู้ความจริง

    ท่านอาจารย์ เอาเข้าใจก่อน และการที่จะรู้ความจริง คุณศีลกันต์หมายความว่าประจักษ์หรือว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ยังไม่ต้องถึงขั้นประจักษ์ เพราะว่าผมยังไม่มีปัญญาถึงขั้นนั้น ให้เข้าใจมากกว่านี้ว่า ส่วนมากจะหลงลืมสติ

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ต้องพูดเรื่องหลงลืมสติเลย เพราะว่ากำลังฟัง ขณะใดที่เข้าใจ ขณะนั้นมีสติ ไม่ใช่ไม่มี ถ้าไม่มีสติฟังไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น เมื่อสติขั้นฟังมี ยังไม่ใช่สติขั้นระลึก สติขั้นฟังก็เป็นสติขั้นฟัง แล้วจะไปให้ระลึกในขณะที่กำลังฟัง ถึงยังไม่ถึงขั้นนั้น

    ผู้ฟัง ถ้าฟังแล้วเข้าใจตอนนั้น

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังเข้าใจมีสติขั้นหนึ่ง

    ผู้ฟัง มีสติ

    ท่านอาจารย์ ซึ่งจะต้องอบรมสติขั้นนี้ให้เพิ่มขึ้น จากฟังอีก เข้าใจอีก สติปัญญาก็เพิ่มขึ้นอีก จนกว่าจะถึงระดับที่สติเกิดระลึกละลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม

    ผู้ฟัง ส่วนขณะใดที่เรากำลังฟัง ขณะใดนั้นหลงลืมสติ อันนี้ก็เป็นสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้เรื่องเลย ขณะนี้ถ้าใครกำลังฟังแล้วหลงลืมสติ ไม่รู้เรื่อง แต่หลงลืมสติที่นี่ ไม่ใช่หมายความว่าสติปัฏฐาน สติมีหลายระดับ ขณะที่ให้ทานก็เป็นสติที่ระลึกเป็นไปในการให้ จึงมีการให้ ขณะที่วิรัติทุจริต ก็เป็นสติที่ระลึกที่จะวิรัติทุจริต ขณะที่จิตไม่สงบ แล้วก็เกิดการที่รู้ว่าจิตไม่สงบ แล้วถ้าจิตสงบ ขณะนั้นก็เป็นสติที่ระลึกว่าจิตสงบเป็นอย่างนี้ ต่างจากจิตที่ไม่สงบ ขณะที่ฟังธรรมก็มีสติขั้นฟัง

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเราจะอยากให้สติขั้นฟังเกิดมากๆ เร็วๆ จนกระทั่งไปถึงขั้นที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม แม้ขณะที่กำลังฟัง ผู้ที่อบรมเจริญปัญญามาแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าสติจะระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ตลอด ขณะที่กำลังฟังเป็นสติขั้นฟังก็ได้ แต่ถ้ามีปัจจัยพอสติระลึกลักษณะสภาพธรรมขณะที่กำลังฟังได้ แต่ไม่ใช่หมายความว่าอย่างไรๆ ถึงจะเป็นขั้นนั้น เพราะว่าจะต้องสะสมความเข้าใจเป็นเรื่องของความเข้าใจถูก ให้เพิ่มขึ้น มากขึ้น แล้วไม่ต้องทำอะไรเลย ปัญญาทำหน้าที่ของปัญญา สัมมาทิฏฐิ หรือความเข้าใจถูกจะอบรมเพิ่มขึ้น พร้อมกันนั้นก็จะทำให้สัมมาสติระลึกถูก พร้อมกับปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่ฟังมาแล้วจนกระทั่งเข้าใจดี แล้วก็รู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ก็ไม่ใช่เรื่องเร่งร้อน แต่เป็นเรื่องรู้ว่า ทั้งหมดเป็นธรรม ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แล้วแต่ว่าสภาพธรรมจะเกิดขึ้น แล้วก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้น อบรมภาวนาให้มีขึ้น ให้เข้าใจขึ้น เพื่อละ ไม่ใช่เพื่อต้องการ แต่เพื่อต้องการขณะใด ให้ทราบว่าผิดทันที

    อยากจะให้ทุกคนที่ฟัง ถึงแม้ว่าไม่ได้ศึกษาในตอนต้นๆ ว่า จิตคืออะไร แล้วก็มีจิตกี่ประเภท อย่างน้อยที่สุดก็ทราบว่า จิตเป็นสภาพที่ต่างกับสิ่งที่เป็นรูปธรรม คือ ไม่สามารถจะรู้อะไรเลย ตั้งแต่เกิดจนตายไม่เคยขาดจิต ทุกอย่างที่ปรากฏให้ทราบว่าเพราะจิตกำลังรู้สิ่งนั้น

    เพราะฉะนั้น มีจิตหลายชนิด ต้องทราบก่อนว่า วิบากจิต หมายความถึงจิตที่เป็นผลของกรรม ถ้ากรรมไม่มี วิบากจิตก็ไม่เกิด ขณะใดที่วิบากจิตเกิด ต้องหมายความว่า ต้องมีกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัยทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องทราบว่า วิบากจิต คือ ขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ๕ ทาง เอา ๕ ทางก่อน ผลของกรรมทำให้จิตเห็นเกิดขึ้น เห็นสิ่งที่ดี เป็นกุศลวิบาก คือ ผลของกรรมดี เห็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นอกุศลวิบาก เป็นผลของกรรมไม่ดี นี่ก็จบไปตอนหนึ่ง ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็โดยนัยเดียวกัน แต่เราไม่ได้มีเพียงจิตเห็น เห็นแล้วเกิดอะไรขึ้น รักบ้าง ชังบ้าง หรือว่าเป็นกุศลบ้าง

    ถ้าไม่กล่าวถึงพระอภิธรรมโดยละเอียด ที่แสดงการเกิดขึ้นตามลำดับของจิต แสดงโดยนัยของพระสูตรก็ได้ คือ หลังจากที่เห็นแล้ว ความชอบก็เกิดจากสิ่งที่เห็นในสิ่งที่เห็น ความไม่ชอบก็เกิดจากการเห็นในสิ่งที่ถูกเห็น เราก็รักชังกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นโลภะ เป็นโทสะ แต่ว่าผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลท่านประจักษ์แจ้งในสภาพธรรม โดยไม่สงสัยเลยว่า สภาพธรรมแต่ละขณะนี้ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปๆ เท่านั้น ไม่มีตัวตนที่เป็นสัตว์ บุคคล เที่ยงแท้แน่นอน มีแต่สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม รูปธรรมเกิดดับ เมื่อรู้อย่างนี้ หลังจากเห็นแล้ว กุศลจิตก็ไม่เกิด อกุศลจิตก็ไม่เกิด เมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์ แต่กว่าจะถึงอย่างนั้น จิตที่ดับไปแต่ละขณะแล้วเกิดสืบต่อก็ต้องสะสมทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่ว่าหมดไปเลย เพราะว่าขณะนี้จิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ ขณะนี้ขณะเดียวแล้วดับ เป็นปัจจัยให้ขณะต่อไปเกิด ถ้าขณะนี้ไม่มีสิ่งที่สะสมมาเนิ่นนานมาแล้ว ขณะต่อไปก็จะมีสิ่งต่างๆ เหล่านั้นต่อไปไม่ได้ แต่เพราะเหตุว่าเราสะสมโลภะบ่อยๆ สำหรับคนนั้นโลภะก็เกิดมาก ถ้าสะสมโทสะบ่อยๆ สำหรับคนนั้นโทสะก็เกิดมาก ถ้าสะสมปัญญามากๆ สำหรับคนนั้นก็สามารถที่จะมีสติปัญญาเกิดบ่อย แล้วก็มากด้วย

    แต่ละขณะซึ่งเกิด จิตเกิดขึ้นทีละขณะ อย่าคิดถึงเหตุการณ์ใหญ่ๆ ยาวๆ คิดเพียงชั่วขณะจิตเดียว ให้ทราบว่ามีปัจจัยแล้วที่จะให้เป็นอย่างนั้น มีปัจจัยแล้วที่ให้เห็น หลังจากนั้นก็มีปัจจัยแล้วที่ให้คิด ด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิต เพราะฉะนั้น ก็เป็นไปตามการสะสมทีละหนึ่งขณะ ที่สืบต่อไป

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์พูดว่ามีการสะสมทีละขณะจิต หมายถึงในปัจจุบันชาติ นี้

    ท่านอาจารย์ จิตที่เกิดทีละขณะ เฉพาะในชาตินี้หรือเปล่า

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 99
    23 มี.ค. 2567