ปกิณณกธรรม ตอนที่ 416


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๑๖

    สนทนาธรรม ระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย

    พ.ศ. ๒๕๔๒


    ท่านอาจารย์ จิต เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ทางตาขณะนี้ เห็นธรรมดาๆ อย่างนี้เพราะจิตเกิดขึ้น จึงเห็นอย่างนี้ว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏ อย่างนี้ๆ ไม่เป็นอย่างอื่น นั่นคือลักษณะของจิต เวลาที่ได้ยินเสียง เสียงอย่างนี้ๆ เพราะจิตรู้จึงรู้ว่าเสียงที่กำลังปรากฏ มีลักษณะอย่างนี้ๆ จิตเป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งลักษณะต่างๆ ของอารมณ์ที่กำลังปรากฏ อารมณ์ หมายความถึง สิ่งที่จิตกำลังรู้ เพราะเหตุว่าเมื่อจิตเป็นสภาพรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ ภาษาบาลีใช้คำว่า อารัมมาณะ หรือ อาลัมพนะ ต่างกับภาษาไทย หมายความถึง สิ่งที่ถูกจิตรู้ ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เป็นอารมณ์ของจิตเห็น เสียงที่กำลังปรากฏ เป็นอารมณ์ของจิตได้ยิน คือเป็นสิ่งที่จิตกำลังรู้นั่นเอง

    เวลาที่เราพูดถึงเห็นเดี๋ยวนี้ ได้ยินเดี๋ยวนี้ นั่นคือลักษณะของจิต ไม่ใช่ลักษณะของเจตสิก ด้วยเหตุนี้นามธรรมมี ๒ อย่างคือ จิต เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ ในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ แต่ไม่ใช่การรู้ด้วยความเห็นถูกอย่างปัญญา ว่าสิ่งนั้นแท้ที่จริงแล้วเป็นสภาพธรรม อย่าง ๑ ซึ่งเพียงปรากฏแล้วก็ดับ เฉพาะแต่ละลักษณะ เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ปรากฏทางหู ไม่ปรากฏทางจมูก คนตาบอดไม่เห็น เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นธาตุ หรือธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถจะปรากฏได้เฉพาะทางตาเท่านั้น เช่นเดียวกับเสียง เสียงก็มีจริง ก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถจะปรากฏทางหู แล้วเราอยู่ที่ไหน ของเราอยู่ที่ไหน ถ้าเข้าใจลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมมากขึ้นๆ ก็จะเข้าใจความหมายของคำว่า อนัตตา มากขึ้นด้วย

    ผู้ฟัง ทานที่เป็นมิจฉาปฏิปทา กับทานที่เป็นสัมมาปฏิปทา ๒ อย่างนี้ ต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงมิจฉาปฏิปทา หรือ สัมมาปฏิปทา หนทางใดซึ่งไม่ทำให้ออกจากสังสารวัฏ เป็นมิจฉาปฏิปทาทั้งหมด ถึงแม้ว่าจะมีศีล หรือว่ามีความสงบของจิต ถึงระดับอัปนาสมาธิ ที่เราใช้คำว่า ฌานจิต เป็นถึงรูปฌาน หรืออรูปฌาน แต่ก็ไม่ออกจากสังสารวัฏ เพราะฉะนั้น ทั้งหมดเป็นมิจฉาปฏิปทา

    วิทยากร. ข้อปฏิบัติใดๆ ถ้ายังไม่ก้าวล่วงวัฏฏะ ข้อปฏิบัตินั้นก็เป็นมิจฉาปฏิปทา เป็นทางที่ผิดต่อมรรคผล ไม่ใช่อย่างเรากระทำกุศล ไม่ใช่เป็นอกุศล ก็เป็นกุศลนั่นแหละ แต่เป็นกุศล ประจำอยู่ในวัฏฏะ ไม่ถึง

    วิวัฏฏะ เพราะฉะนั้น มิจฉาปฏิปทา สัมมาปฏิปทา จึงต่างกัน

    ผู้ฟัง ปัจจุบันนี้อย่างในเมืองไทย ถ้าตามสถานที่สำคัญต่างๆ ตามวัดที่ทำบุญกุศลขั้นทาน ขั้นศีลโดยที่ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็จัดเป็น มิจฉาปฏิปทา ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ออกจากสังสารวัฏก็ต้องเป็น ฟังดู มิจฉาแล้วเหมือนกับน่าเกลียดน่ากลัว ไม่ชอบ เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นมิจฉามรรค มิจฉาสมาธิ มิจฉาอะไรทั้งนั้น แต่ความจริงเป็น ความจริง เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่าเราต้องเป็นผู้ตรงต่อ ความจริง คือผิดก็ผิด ถูกก็ถูก ถ้าเป็นสัมมามรรค คือ มรรคที่ถูกต้อง แต่ว่าถ้าเป็นมิจฉามรรคก็ผิด แล้วจะให้เอามิจฉามรรค มาเป็นสัมมามรรคก็ไม่ได้ ทั้งหมดในพระไตรปิฎก ต้องทราบความหมาย ถ้าใช้คำว่า ปฏิปทา มิจฉาปฏิปทา คือ การประพฤติเป็นไปใดๆ ที่ไม่เป็นไปเพื่อการออกจากสังสารวัฏ ทั้งหมดเป็นมิจฉาปฏิปทา จะชอบฟัง หรือไม่ชอบฟัง อยากได้ยินหรือไม่อยากได้ยินก็ตามแต่ แต่ว่า ถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญา ย่อมได้สาระจากคำที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดง เป็นการเตือนให้รู้ว่าคนนั้นยังไม่รู้หนทางที่จะออกจากสังสารวัฏ เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ยินคำไหนก็ตาม ทำให้คนนั้น ซึ่งเป็นผู้ที่มีปัญญา สามารถที่จะน้อมรับมาพิจารณาได้ ว่าขณะนั้น ความคิดความเห็นเป็นอย่างไร ถูกต้องอย่างไร ถ้าเป็นคนที่ไม่พอใจ ไม่ต้องการที่จะฟังเหตุผลต่อไป ก็ไม่ได้สาระจากพระธรรม ผู้ที่มีปัญญาเท่านั้นที่จะได้สาระ และมีพระรัตนไตร เป็นสรณะได้ แต่ผู้ที่ไม่มีปัญญา ไม่สามารถที่จะมีพระรัตนไตรเป็นสรณะได้เลย

    ผู้ฟัง อวิชชา เป็นปัจจัยแก่สังขาร ซึ่งเป็นฝ่ายวัฏฏะ คือมีอวิชชา เป็นปัจจัย อาจารย์กล่าวถึงปัญญา ซึ่งเป็นสภาพธรรม ที่ตรงกันข้ามกับอวิชชา แล้วสภาพธรรม ที่เป็นปัญญา บุคคลที่เจริญ ฌานจิต แน่นอนต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วย ปัญญาที่เกิดขณะนั้นไม่ละอวิชชา หรือ

    ท่านอาจารย์ ออกจากสังสารวัฏได้ไหม

    ผู้ฟัง ถ้าไม่มีความรู้ตามความเป็นจริง ก็ออกไม่ได้ แสดงว่าปัญญานั้น

    ท่านอาจารย์ มีหลายระดับ ปัญญาไม่ได้มีระดับเดียวเลย ทราบไหม ทำไมคนในยุคนั้นถึงอบรมเจริญความสงบ โดยมากเราใช้คำว่า สมาธิ แต่ว่าสมาธิ มี ๒ อย่าง คือสัมมาสมาธิ กับมิจฉาสมาธิ ถ้าคนนั้นไม่มีปัญญาไม่มีทางเลย ที่จะเป็นสัมมาสมาธิได้ เพราะว่าสัมมาสมาธินั้น ละไว้ในที่เข้าใจว่าไม่ได้หมายความถึงจฉาสมาธิ เลย แต่ต้องหมายความถึงความสงบของจิต เพราะกุศลจิต เกิดบ่อยๆ มากๆ จนกระทั่งนิวรณธรรมไม่มีโอกาสจะเกิดเลย เป็นความตั้งมั่นของกุศล จิตจึงสงบ ถึงขั้นที่เป็นสมาธิขั้นต่างๆ ตั้งแต่อุปจารสมาธิ บริกรรมสมาธิ อุปจารสมาธิ จนถึงอัปนาสมาธิ เพราะฉะนั้น คนนั้นต้องมีปัญญา แต่ปัญญาของคนนั้นคือปัญญาอย่างไร ไม่ใช่ปัญญาที่รู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    ผู้ฟัง แสดงว่ากุศลธรรมที่เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา เพื่อรู้ธรรมตามความเป็นจริงขณะนั้น เป็นสัมมาปฏิปทา

    ท่านอาจารย์ ถ้าสัมมาปฏิปทา ต้อง เป็นเรื่องของการออกจากสังสารวัฏ

    ผู้ฟัง ในเรื่องมิจฉาปฏิปทา ก็พระพุทธเจ้าแสดงใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค มีการชัดเจนว่า อวิชชาเป็นปัจจัยต่อสังขาร สังขารเป็นปัจจัยเฉพาะวิญญาณ แล้วก็ต่อไป เป็นมิจฉาปฏิปทา แล้วก็สัมมาปฏิปทาคือ การดับอวิชชา แล้วก็สังขารก็ดับ นี้เป็น สัมมาปฏิปทา ที่พระองค์ทรงแสดงใน นิทานวรรค สังยุตตนิกาย ทีนี้ผมก็จะสนทนาใน เรื่องการปฏิบัติในการเจริญสติปัฏฐาน การที่มีการพูดกัน เดรัจฉานกถา มีบางครั้งก็เป็นสัมผัปปลาปะ ก็เป็นคำพูดเพ้อเจ้อ ก็เป็นอกุศลกรรมบท ก็มีการขัดข้องในการเจริญสติปัฏฐานได้ หรือก็แล้วแต่เหตุปัจจัย พูดแล้วก็อาจจะเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ ข้อนี้บุคคลถามในเรื่องศีล ก็เป็นอุปการของการเจริญสติปัฏฐาน แล้วก็ผู้ที่พูดคำ เดรัจฉานกถา อาจจะเป็นอกุศลกรรมใน สัมผัปปลาปะวาจา แล้วก็มีความรู้สึกว่าแล้วแต่เหตุปัจจัย ให้พูดอย่างนั้น แล้วก็เจริญสติปัฏฐานไป ผมก็อยากจะถามว่า การพูดอย่างนั้น มีการขัดข้องเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน หรือไม่ขัดข้องอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คุณบุตร สาวงษ์ คิดว่าการรู้แจ้งสภาพธรรม ตามความเป็นจริง ไม่ใช่เราพยายามไปเปลี่ยนตัวเราให้เป็นคนอื่นเสียก่อนแล้ว ถึงจะรู้แจ้งสภาพธรรมได้ เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจลักษณะของปัญญาก็คือว่า ปัญญาสามารถจะรู้สภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ จริงๆ แล้วแต่ว่าเป็นปัญญาระดับไหน ถ้าเป็นปัญญาของผู้ที่เพียงฟัง แล้วก็ได้สะสมมา ก็สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม คือนามธรรมรูปธรรมในขณะนี้ ประจักษ์การเกิดขึ้นแล้วดับไป แล้วได้อบรมบารมี ที่จะสามารถสละความเป็นตัวตนจาก นามธรรม และรูปธรรมซึ่งลึกมาก

    เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจจริงๆ ว่าปัญญาสามารถที่จะรู้แจ้งสภาพธรรม ที่มีปัจจัยทำให้เกิดขึ้นแล้วปรากฏจริงๆ ไม่ใช่ว่าให้เราไปทำอย่างอื่น เพราะว่าเราอยู่ภายใต้โลภะมานานแสนนาน ในสังสารวัฏ เกือบจะไม่รู้ตัวเลยว่า โลภะชักพาเราไปได้อย่างละเอียดแค่ไหน แม้แต่ความคิดที่ว่า อย่างที่คุณสวนพูดเมื่อคืนนี้ เราก็ได้คุยกันหลังจากนั้นว่า ถ้าตราบใดที่ยังคิดว่าจะไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ในขณะนี้ แต่ทำอย่างอื่นเช่น ให้เป็นสมาธิเสียก่อน หรือว่าไปมีศีลเสียก่อน หรือจะไปทำอะไรก็ตาม นั่นเป็น ความเห็นถูกหรือเป็นความเห็นผิด มีความเข้าใจเรื่องสภาพธรรม ที่เป็นนามธรรม ที่เป็นรูปธรรม ที่เป็นอนัตตา แล้วก็เราก็ทราบแล้วว่า การที่ระรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ได้ ไม่ใช่อย่างใจหวัง ว่าเราเรียนมามากเท่านี้ ควรจะรู้เท่านั้น หรือว่าเราเป็นผู้ได้ฟัง มาก็ ๒๐ – ๓๐ ปี เราน่าที่สติจะเกิดมากๆ นั่นคือความหวัง โดยที่ไม่ใช่เป็นผู้ที่ตรงต่อธรรมว่า สามารถที่จะเข้าใจ

    เริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามที่เราได้ยินได้ฟังว่า เป็นธรรม เป็นนามธรรมเป็นรูปธรรม ตั้งต้นตรงนี้ เพราะว่าขณะนี้ มีนามธรรม และมีรูปธรรม แต่ไม่ได้หมายความว่าจะให้ตั้งต้นทันที ฟังให้เข้าใจให้ถูก แล้วการตั้งต้นจะเกิดเมื่อไร ก็แล้วแต่ เหตุปัจจัยว่า จะมีการระลึกแทรกขึ้นมาว่า ขณะนี้เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นจริงๆ จริงหรือเปล่า ถ้าจริงก็คือว่าค่อยๆ แทรก ความที่จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สภาพธรรมที่ปรากฏกับสติ ต่างกับสภาพธรรมที่ปรากฏกับขณะที่หลงลืมสติ เพราะเหตุว่าสภาพธรรม เกิดดับเร็วมาก ในขณะนี้ สภาพธรรม กำลังเกิดดับ อย่างเร็ว เพราะฉะนั้น ตามปกติที่สติไม่เกิด แม้ว่าเป็นปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง แต่เพราะว่าความไม่รู้ จึงมีความทรงจำที่เป็นสัญญาวิปลาส ทำให้เห็นว่าสภาพธรรมนั้น เป็นสิ่งหนึ่ง สิ่งใด เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะฉะนั้น แทนที่จะรู้ความจริงของสภาพปรมัตถธรรม ที่กำลังปรากฏ การสืบต่ออย่าง เร็วมาก ก็ทำให้เราเห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล แล้วมีความเชื่อว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ตลอดเรื่อยมา

    การที่จะอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ที่จะรู้ลักษณะของสภาพปรมัตถธรรม จริงๆ เป็นเรื่องที่ละเอียด เห็นยากว่าข้อปฏิบัตินี้ เป็นข้อปฏิบัติที่ถูก เพราะเหตุว่าโลภะ จะทำให้เรา ต้องการทำอย่างอื่นเสมอ ให้มีสมาธิบ้าง หรือว่าให้ทำอย่างอื่นบ้าง ขณะนั้นไม่ได้ละอภิชชา และโทมนัสในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น หนทางถูกสำคัญที่สุด เพราะว่าโลภะ จะทำให้หลงทางอยู่ตลอดเวลา เพราะเหตุว่าเป็นที่ติดข้อง เป็นที่ต้องการ แต่ว่าถ้าเป็นเรื่องของปัญญาแล้ว เป็นเรื่องละ ขณะที่สติปัฏฐานไม่เกิด หลงลืมสติ ย่อมเห็นเป็นสัตว์บุคคลตัวตน ซึ่งขณะนี้ทุกคนก็ทราบ เห็นเป็นอย่างนี้ แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิด สภาพธรรมตามปกติ ไม่เปลี่ยนเลย การที่จะทรงจำรูปร่างสัญฐาน แล้วรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร ก็ยังมี เพราะเหตุว่า เป็นการคิดนึกต่อจากทางปัญจทวาร เพราะฉะนั้น โลกธรรมดาปกติอย่างนี้ แต่ว่าเมื่อสติระลึกก็สามารถจะรู้ว่า แข็ง เรากระทบมาตั้งแต่เช้า แต่ไม่เคยรู้ว่าเป็นปรมัตถธรรม เพราะเป็นช้อน เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ ติดตามมาอย่างรวดเร็ว เห็นก็เป็นคนอย่างรวดเร็ว แต่เวลาที่สติระลึก แม้ว่าสั้นมาก เพราะสติก็เกิดดับเร็ว แล้วสิ่งที่ปรากฏ ที่สติระลึกก็ดับ แต่ไม่ต้องเป็นห่วงเลย เพียงแต่ว่าเราทราบว่าขณะนั้นเป็นการเริ่ม ที่จะรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม ไม่ใช่ชื่อเลย แข็งไม่มีชื่อ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ไม่มีชื่อ สภาพปรมัตถธรรมมีจริง คนนั้นจะรู้เลยว่า แข็งตามปกติในชีวิตประจำวัน กับแข็ง ขณะที่สติระลึก ต่างกัน เพราะลักษณะของแข็ง ภาวะของแข็ง สภาวะของแข็งปรากฏกับสติ แต่ว่าสั้นมากก็ไม่เป็นไร ที่กล่าวไว้ว่า ชั่วช้างกระดิกหู หรือว่าชั่วงูแลบลิ้น หรืออะไรก็แล้ว แต่ซึ่งเป็นคำเปรียบเทียบ แต่เมื่อกาลเวลาซึ่งเป็นจิรกาลภาวนา ค่อยๆ ผ่านไปพร้อมกับปัญญาที่ค่อยๆ เกิดบ้าง ไม่เกิดบ้าง แม้แต่เพียงเล็กน้อย นิดๆ หน่อยๆ เหมือนไม่เกิด แต่ก็เป็นทางเดียวที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมได้ ไม่ใช่ทางอื่น อย่าไปคิดหวัง ว่าจะต้องทำอย่างนั้นก่อน ทำอย่างนี้ก่อน นั่นคือผู้หลงทาง เพราะเหตุว่ามีความติดมีความพอใจในสิ่งนั้น ไม่สามารถที่จะรู้สภาพธรรมตามปกติ ตามธรรมดาในขณะนี้ เมื่อไม่สามารถจะรู้สภาพธรรมตามปกติ ตามธรรมดาในขณะนี้ ดับ กิเลสไม่ได้ ไม่สามารถที่จะประจักษ์ การเกิดดับของสภาพธรรม ตามปกติได้

    ผู้ฟัง ผมก็เคยแสดงธรรมบ่อยๆ มาในเรื่องการเจริญปัญญานี้ก็ อาจจะอบรมกุศลขั้นทาน ขั้นศีล แล้วก็ทำให้ศีล สมาธิบริบูรณ์ ตลอดถึง อยู่ในอริยมรรค ก็เพราะการเจริญปัญญา

    ท่านอาจารย์ เมื่อคืนนี้ เราก็พูดถึงชีวิตของบรรพชิต ว่า การบวชเป็นบรรพชิต ชีวิตต้องต่างกับคฤหัสถ์ที่จะดูว่าศีลของบรรพชิต เป็นปาริสุทธิศีล บริสุทธิ์ไหมก็ต้องดูถึง ๔ อย่าง สำหรับบรรพชิต คือนอกจากดูว่าประพฤติปฏิบัติ ตามปาฏิโมกข์ที่ทรงบัญญัติไว้หรือไม่ ถ้าประพฤติปฏิบัติ ตามปาฏิโมกข์ก็เป็น ปาฏิโมกขสังวรศีล เป็นปริสุทธิศีล แล้วเวลาที่เฉพาะ ปาฏิโมกข์เท่านั้น แต่ว่าไม่มีอินทรียสังวรศีล ก็ยังไม่บริสุทธิ์ ถึงแม้ว่าจะมีการประพฤติปฏิบัติ ตามปาฏิโมกข์ และอาชีวปาริสุทธิศีลก็ต้องดูด้วย รวมถึงปัจจยสันนิสิตศีล แต่อย่างที่บอกแล้ว แม้ว่าปาฏิโมกข์ เกิดล่วงก็ยังสามารถจะกระทำคืน แล้วบริสุทธิ์ได้ แต่ถึงอย่างนั้นไม่ว่าจะเป็น ปาฏิโมกข์สังวรศีล อินทรียสังวรศีล หรือ อาชีวปาริสุทธิศีล หรือว่าปัจจยสันนิสิตศีลก็ตาม

    การศึกษาธรรมต้องละเอียดเป็นลำดับขั้น แล้วต้องรู้จริงๆ ว่านั่นเป็นชีวิตแบบไหน แบบบรรพชิต หรือแบบคฤหัสถ์ มิฉะนั้นแล้วคฤหัสถ์ก็อบรมเจริญปัญญาไม่ได้ ถ้าจะต้องเป็นอย่างบรรพชิต เขามีการพยายามที่จะรักษาศีล ปาฏิโมกข์แต่ไม่เข้าใจเรื่องการอบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้น จะมีอินทรียสังวร ถึงระดับที่จะทำให้ปัญญาเกิดได้ไหม เพราะฉะนั้น แม้แต่คำว่า อินทรียสังวร ก็มีหลายระดับ ในเมื่อเขาคิดว่า เมื่อเป็นปาฏิโมกข์แล้วรวมหมด เขาก็ไม่มี อินทรียสังวร แต่เมื่อเห็นว่า ปาริสุทธิศีลมีถึง ๔ เพราะฉะนั้น จึงจำแนกให้เห็นว่า ไม่ใช่แต่เฉพาะปาฏิโมกข์เท่านั้น ยังจะต้องมีอินทรียสังวรศีลด้วย แล้วยังจะต้องมีอาชีวปาริสุทธิศีลด้วย ตามจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ก็จะเห็นได้ว่าที่จะเป็น อาชีวะที่บริสุทธิ์ควรจะเป็น อย่างไรนอกเหนือไปจากในปาฏิโมกข์ แล้วปัจจยสันนิสิตศีล ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ซึ่งสำหรับพระภิกษุ แล้วจะเห็นได้ว่า เพศของภิกษุ เป็นเพศที่ต่างกับคฤหัสถ์ เหมือนฟ้ากับดิน เพราะฉะนั้น เวลาที่เราฟัง ข้อความใด ต้องพิจารณา แม้แต่ว่าทิฏฐิที่ตรง แล้วก็กัมมัสสกตาญาณ เวลานี้ ถ้าเราพูดถึง กัมมัสสกตาญาณ เราเข้าใจแค่ไหน พอได้ยินคำนี้เข้าใจว่าอย่างไร คุณบุตร สาวงษ์

    ผู้ฟัง กัมมัสสกตาญาณก็คือว่า ให้ปัญญาที่รู้กรรมที่เกิด เพราะอวิชชา แล้วก็รู้ว่ากรรมนี้เป็นปัจจัยให้เป็นมีวิบากจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้วก็จริงอย่างที่ว่า เป็น คือปัญญานี้ไม่ใช่ว่าจะรู้ง่าย เพราะเหตุว่า ผู้ที่จะรู้ กัมมัสสกตาญาณจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน จึงสามารถที่จะรู้ได้ มิฉะนั้นแล้ว เราจะรู้แต่เรื่องทั้งหมดที่พูดมา พ่อแม่มีคุณ หรือว่าการกระทำให้ผล หรือว่าอะไรต่างๆ ก็เป็นเรื่องราว แต่อย่าลืมว่า การศีกษาธรรมต้องสอดคล้องกันทั้ง ๓ ปิฎก คือ ทั้งพระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม อย่างที่เราตั้งต้นเรื่องศีล ว่ารูปไม่ใช่ศึล รูปเป็นศีลไม่ได้ รูปไม่รู้อะไรเลย เพราะฉะนั้น ศีลการที่จะวิรัติทุจริต หรือว่าการที่จะกระทำสิ่งใดๆ ก็ตาม เพราะว่าศีลแปลว่าปกติ แมื่อเป็นปกติ ซึ่งของจิตที่เกิดเป็นกุศล หรืออกุศล ก็มีทางที่จะรู้ได้ ทางกาย หรือ ทางวาจา ในวันนี้ถึงได้ ถามว่าเป็นปกติศีลชนิดไหน เป็นอกุศลศีล หรือว่าเป็นกุศลศีล หรือว่าอพยากตศีล

    เรื่องกัมมัสสกตาญาณเหมือนกัน ถ้าเราอ่านเพียงตัวหนังสือ ความเข้าใจของเราก็คิดว่าเพียงแค่นั้น แต่ว่าตามความจริง ปัญญาระดับไหน ที่จะรู้กัมมัสสกตาญาณ เพราะเหตุว่าการอบรมเจริญปัญญา อบรมสติปัฏฐาน จะทำให้รู้กัมมัสสกตาญาณ ทุกวิปัสสนาญาณ นอกจากขณะที่มรรคจิตเกิด ผลจิตเกิด เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าขณะนี้ มีนามธรรม มีรูปธรรม ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน สามารถที่จะรู้ว่า ทางตาที่กำลังเห็น เป็นจิตที่เกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย หรือว่าจิตที่กำลังได้ยินในขณะนี้ เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย ผู้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ได้ไปทำอะไรขึ้นมาเลย แต่ว่าสภาพธรรมใดปรากฏปกติ สติปัฏฐาน มีปัจัจยก็เกิด จึงระลึกได้ ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรม อย่างหนึ่งบังคับบัญชาไม่ได้เลย นี่คือความหมายของวิบาก ทุกคนที่เห็น ทุกคนที่ได้ยิน บังคับไม่ได้ มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น ถ้าศึษาโดยละเอียดตามที่ทรงแสดงไว้ก็คือว่า แม้แต่โสตปสาท ก็เป็นกัมมชรูป ใครบังคับได้ จะเกิดหรือไม่เกิดแล้วแต่กรรม เสียงที่กระทบมีปัจจัย เมื่อกระทบแล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตได้ยิน ในขณะนี้ที่กำลังได้ยิน นี่คือวิบาก ไม่มีใครสามารถจะทำอะไร กับนามธรรมประเภทไหนได้เลยทั้งสิ้น รูปธรรมชนิดไหนได้เลย นอกจากเป็นผู้ที่ระลึกรู้ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะเกิดแล้ว เวลาที่เกิดโลภะ ความติดข้อง สติก็สามารถระลึกรู้ความต่าง กันของจิต ว่านี่ไม่ใช่จิตที่เห็น แต่นี้เป็นจิตที่เกิดเพราะการสะสม เวลาที่ความคิดเกิดขึ้น ความคิดของแต่ละคนวิจิตรมาก แม้ในขณะนี้ ความวิจิตรของความคิด ใครรู้ คนที่กำลังคิด เท่านั้นจึงจะรู้ ว่าวิจิตรอย่างไร คิดอะไร ขณะนี้ทำไมคิดอย่างนี้ ถ้าไม่มีการสะสมมาที่จะคิดอย่างนี้ แม้ความคิดอย่างนี้ก็เกิดไม่ได้ ผู้นั้นก็สามารถที่จะรู้นามธรรม ซึ่งต่างจากจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ซึ่งตรงตามพระไตรปิฎกทุกประการ เพราะเหตุว่า จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางกาย เช่น เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว เป็นสิ่งที่ในพระไตรปิฎก ก็กล่าวว่า เป็นวิบากจิต ถ้าผู้นั้น ก็สามารถจะรู้ความเป็นวิบาก ซึ่งต่างกับขณะที่จิต เป็นอกุศล หรือกุศล สภาพธรรมความจริง เป็นอย่างไร ที่ทรงแสดงทั้งหมด คือทรงแสดงสภาพธรรม ตามความเป็นจริงอย่างนั้นๆ แต่ว่าถ้าผู้นั้นศึกษาเพียงตัวหนังสือ ก็จะไม่มีทางเข้าใจเลย ก็คิดแต่ว่า กัมมัสสกตาญาณ ก็เพียงเท่านั้น คือ รู้ว่าพ่อแม่มีคุณ หรือเรื่องราวต่างๆ แต่ความจริงสภาพธรรม คือ จิต หรือเจตสิก หรือรูป มิฉะนั้นไม่ทรงแสดงปรมัตถธรรม แต่ที่ทรงแสดงปรมัตถธรรม ก็เพื่อให้เห็นความเป็น อนัตตา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 99
    23 มี.ค. 2567