ปกิณณกธรรม ตอนที่ 367


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๖๗

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    พ.ศ. ๒๕๔๐


    ท่านอาจารย์ ถ้ายังไม่เป็นพระโสดาบันบุคคล กรรมเก่าๆ หรือกรรมอดีตที่ได้ทำมาแล้วก็สามารถจะทำให้เกิดในอบายภูมิได้ แต่ก็ไม่น่าจะวิตกกังวลเลย เพราะว่าอย่างไรก็ต้องตายหนึ่ง แล้วชาติก่อนก็ตายมาแล้ว ชาตินี้ก็เกิดเป็นมนุษย์ ไม่รู้ว่าเพราะกุศลกรรมอะไร แล้วชาตินี้ก็ทำกุศลกรรมพอสมควรทีเดียว โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา การเข้าใจธรรม แต่ต้องถูก อย่าเข้าใจผิด เพราะถ้าเข้าใจผิดแล้วไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่หนทางที่จะออกจากสังสารวัฏได้เลย เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ ที่จะให้ปัญญาเป็นปัญญาที่เจริญขึ้นได้ มิฉะนั้นจากการฟังเพียงเข้าใจว่า เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม แต่หนทางปฏิบัติไม่ถูก ก็ไม่สามารถที่จะประจักษ์แจ้งในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมได้ ก็ไม่มีโอกาสที่จะพ้นจากอบายภูมิได้ เมื่อยังไม่ถึงพระโสดาบัน

    ผู้ฟัง มีคำถามของนักศึกษาฝากมาเรียนถามว่า ท่องหนังสือเพื่อที่จะสอบพระอภิธรรม แต่จำได้บ้าง จำไม่ได้บ้าง ก็เกิดความทุกข์ ความกังวล ขณะที่อ่านหนังสือนั้นเป็นกุศลหรือว่าเป็นอกุศล เพราะขณะนี้อ่านก็มีความกังวลปนอยู่ด้วย

    ท่านอาจารย์ เรื่องสอบนี่เรื่องทุกข์ ไม่ว่าสอบอะไรทั้งนั้น มีสอบอะไรที่ไม่ทุกข์บ้างไหม ถามเด็กนักเรียนทุกคน ต้องทุกข์ ผู้ใหญ่สอบก็ทุกข์ ไม่ว่าจะสอบอะไรทั้งหมดเป็นทุกข์ทั้งนั้น การศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจ แล้วแต่ละคนจะรู้จักตัวเองว่า เข้าใจแค่ไหน ไม่ต้องให้คนอื่นสอบ จริงๆ แล้วที่สอบ แล้วสมมติว่าสอบได้ ก็ได้เพียงแค่เท่าที่ถูกถาม แต่ว่าตามความเป็นจริงที่ถูกถามนั้นเข้าใจจริงๆ หรือเปล่า หรือว่าจำมาตอบ

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เราจะคิดว่า เป็นสิ่งซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของการศึกษาธรรม จุดมุ่งหมายของการศึกษาพระธรรม หรือจุดมุ่งหมายของการศึกษาใดๆ ก็ตามที่ถูกแล้ว คือ เพื่อเข้าใจ แต่หลักเกณฑ์ทางโลกมีการสอบ เพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะวัดความรู้ของผู้ที่ศึกษาในทางโลกได้ ก็ต้องอาศัยการสอบ แต่สำหรับทางธรรม ทุกคนที่ศึกษาธรรม จะต้องไม่ลืมว่า จุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรมเพื่ออะไร เพื่อเข้าใจ เพื่อรู้ หรือเพื่อสอบ

    ต้องเข้าใจจริงๆ ในครั้งพุทธกาลก็ไม่มีการสอบ แต่มีการสนทนากัน แล้วก็ถามไถ่กัน เพื่อที่จะรู้ว่า ผู้ฟังมีความเข้าใจในสิ่งนั้นมากน้อยแค่ไหน ในขณะนั้นเพื่อความรู้ เพื่อความเข้าใจ แต่ไม่ใช่เพื่อกระดาษวัดความรู้ ประกาศนียบัตร หรืออะไรเลย ซึ่งได้มาแล้วก็ไม่ทำให้คนนั้นมีความรู้เพิ่มขึ้น ก็คือเท่าที่รู้อยู่ หรือว่าไม่ได้ทำให้คนนั้นมีความรู้น้อยลงไป เพราะรู้เท่าไรก็ต้องรู้เท่านั้น

    อันนี้ก็เป็นจุดประสงค์ของแต่ละบุคคล เพราะว่าเคยถามคนที่สอบ เขาก็บอกว่า เขาจะได้รู้ว่า เขามีความเข้าใจแค่ไหน นี่ข้อ ๑ แล้วอีกอย่างหนึ่งเขาก็บอกว่า เพื่อให้เขาขยัน ที่เขาจะได้ศึกษามากๆ อ่านมากๆ แต่อย่าลืมจุดประสงค์ว่า ธรรมเพื่อละ ไม่ใช่เพื่อได้ หรือไม่ใช่เพื่อเอา ถ้าผิดพลาดนิดเดียว จิตของคนที่ศึกษาธรรม จะเปลี่ยนแปลงไป อาจจะเป็นเพื่อลาภ เพื่อยศ เพื่อสรรเสริญ หรือแม้เพื่อสักการะ หรือแม้เพื่อคำชม ถ้าสอบได้ที่ ๑ ก็คงจะมีคนชมว่านี่ได้ที่ ๑ ชมน้อยลงมาหน่อยก็นี่ได้ที่ ๒ ชมน้อยลงมาหน่อยก็ได้ที่ ๓ ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ซึ่งเหมือนกับทางโลก แต่ถ้าเป็นทางธรรมจริงๆ แล้วจะไม่สนใจเลย

    ผู้ฟัง ผมมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการดับของรูปในขณะที่ตาย กัมมชรูปจะดับพร้อมกับจุติจิต ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ใช่

    ผู้ฟัง ทีนี้อาจารย์โชติกะได้สรุปไว้ตอนหนึ่งว่า ถ้ากัมมชรูปยังไม่ดับ จุติจิตก็ยังไม่เกิด ฟังดูแล้วเหมือนกับว่า กัมมชรูปจะดับก่อน แล้วจุติจิตจึงเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ความหมายนั้น พร้อมกัน ถ้ากัมมชรูปไม่ดับ จุติจิตก็ไม่เกิด แสดงว่า เวลาที่จุติจิตเกิด กัมมชรูปก็ต้องดับพร้อมกัน พร้อมกับกัมมชรูปดับ ไม่ใช่ดับไปแล้ว ดับพร้อมกัน พร้อมกับจุติจิต แล้วใครจะไปรู้อย่างนี้ ตายก็ยังไม่ตาย รู้เพราะท่านแสดงไว้

    เมื่อกี้นี้ยังไม่ได้ตอบคำถามที่ว่า ระหว่างที่เป็นทุกข์ใจนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล เรียนแล้วก็หนักอกหนักใจที่จะสอบ แล้วก็อ่านไป เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง เป็นกุศลหรืออกุศล ใช่ไหม ผู้นั้นรู้เอง คนอื่นรู้ไม่ได้เลย กุศลจิตของใคร อกุศลจิตของใคร คนนั้นรู้เอง คนอื่นตอบไม่ได้ แต่มีหลักเกณฑ์อยู่ว่า ขณะใดที่เป็นความผ่องใส เป็นสภาพที่เบา แล้วขณะที่เข้าใจธรรม ก็ต้องเป็นกุศล แต่ขณะที่สงสัย ไม่ใช่กุศล ขณะที่เป็นทุกข์ใจ ไม่ใช่กุศล

    ผู้ฟัง จิตอาศัยหทยวัตถุอยู่ อาศัยอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คำถาม ที่ว่าจิตอาศัยหทยวัตถุอยู่ อาศัยอย่างไร ถ้าเข้าใจจริงๆ ถึงสภาพธรรมว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดเพราะมีเหตุปัจจัย คิดถึงคำว่า เกิด เพราะมีเหตุปัจจัย แล้วดับ แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้มีที่อยู่ถาวรเลย แม้แต่หทยวัตถุก็ดับ ขณะที่กำลังเห็น จักขุปสาทรูปเกิด ต้องเกิดจึงมี แล้วเมื่อมีแล้วยังไม่ดับด้วยที่จะกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ ต้องหมายความว่า จักขุปสาทรูปยังไม่ดับ แล้วสิ่งที่ปรากฏทางตา ยังไม่ดับ เมื่อกระทบแล้วจิตจึงเกิดเห็น แสดงว่าจิตเห็นไม่ใช่มีอยู่แล้ว จิตเกิดขึ้นเห็นที่จักขุปสาทรูป แล้วดับ

    นี่คือตัวอย่างที่ยกให้เห็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เหมือนกัน เพราะฉะนั้น จิตอื่นนอกจากนี้อาศัยหทยวัตถุที่เกิดแล้วยังไม่ดับ เช่นเดียวกัน และเมื่อจิตดับ หทยวัตถุก็เกิดดับของเขาไป ก็แสดงให้เห็นว่า ขณะนี้ทุกอย่างเกิดดับจริงๆ ทั้งนามธรรม และรูปธรรม อาศัยเกิด เพราะว่าในภูมิที่มีขันธ์ ๕ กรรมทำให้รูปเกิดขึ้น เป็นรูปประเภทที่ชื่อว่า กัมมชรูป เพราะว่าเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน รูปนี้เกิดพร้อมปฏิสนธิจิต คิดถึงขณะจิตแรกของชาตินี้ เป็นผลของกรรมหนึ่ง ทำให้วิบากจิต ประเภทนั้นเกิด

    ที่ทุกคนนั่งอยู่ที่นี่ เป็นผลของกามาวจรกุศล ทำให้กามาวจรวิบาก หรือที่เราเรียกว่า มหาวิบากเกิด เป็นจิตขณะแรกทำปฏิสนธิกิจ สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับกัมมชรูป เพราะกรรมที่ทำให้เกิดเป็นชนกกรรม ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับเจตสิก สังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ คือ ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับเจตสิก วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูป ไม่ใช่ต่างขณะกันเลย ในขณะที่ปฏิสนธิจิตนั่นเอง จิตเป็นปัจจัยให้เจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วปฏิสนธิจิตก็เป็นปัจจัยให้กัมมชรูปเกิด ทั้งๆ ที่กัมมชรูปเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย แต่จะไม่เกิดเลย ถ้าปฏสินธิจิตไม่เกิด

    เมื่อปฏิสนธิจิตเกิด จึงทำให้รูปซึ่งเป็นผลของกรรมเกิดพร้อมกับจิต ซึ่งเป็นวิบาก และเจตสิกซึ่งเป็นวิบาก รูปไม่เป็นวิบาก แต่จิต และเจตสิกเป็นวิบากเพราะว่าเป็นสภาพที่เป็นสภาพรู้ แต่รูปก็เป็นผลของกรรม

    รูปของคนที่นั่งอยู่ที่นี่ก็มีกรรมทำให้เป็นบุคคล ซึ่งเมื่อเจริญเติบโตขึ้นก็จะมีผิวพรรณวัณณะต่างกัน แล้วแต่ธาตุไฟซึ่งมีอยู่ในกัมมชรูปตอนปฏิสนธิจะทำให้รูปนั้นเป็นอย่างไร ก็ค่อยๆ พัฒนาเจริญเติบโตมาเรื่อยๆ

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตจะต้องอาศัยกัมมชรูป แล้วแต่ว่าจะเป็น ถ้าเป็นจักขุปสาทรูป ก็เป็นที่อาศัยเกิดของจักขุวิญญาณ ถ้าเป็นโสตปสาทรูปก็เป็นที่อาศัยเกิดของโสตวิญญาณ ถ้าเป็นฆานวิญญาณก็ต้องอาศัยฆานปสาทรูปเกิด มิฉะนั้นก็เกิดไม่ได้ ขณะที่ลิ้มรส จิตที่ลิ้มคือรู้รสก็ต้องอาศัยชิวหาปสาทรูปเกิด จิตนั้นเกิดขึ้นจึงลิ้มหรือรู้รสที่กระทบที่ลิ้นนั้น

    นี่แสดงให้เห็นว่าชั่วขณะหนึ่งๆ นอกจากจิต ๑๐ ดวงนี้แล้ว ก็ยังมีรูปซึ่งกรรม เป็นปัจจัยทำให้เกิด คือ หทยรูปเป็นที่เกิดของจิตอื่น นี่ก็แสดงให้เห็นว่า กัมมชรูปเป็นที่เกิดของจิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕

    เพราะฉะนั้น ไม่ได้อาศัยถาวร เพียงแต่ว่าขณะเห็นจิตไม่ได้อาศัยหทยวัตถุ แต่อาศัยจักขุปสาทรูปเกิด ขณะได้ยิน จิตไม่ได้อาศัยหทยวัตถุ แต่อาศัยโสตปสาทรูปเกิด

    นี่แสดงให้เห็นว่าทั่วร่างกายตั้งแต่เกิดจนตายก็มีรูปซึ่งเกิดดับ แล้วรูปที่เกิดดับแต่ละรูปก็เป็นที่เกิดของจิตต่างๆ กัน ให้เห็นความเป็นอนัตตายิ่งขึ้น ที่จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง ท่านหนึ่งถามว่า ถ้าหากว่าเรานั่งกรรมฐานแล้ว สภาวะที่เกิด มันหนัก ตรงนั้นคืออกุศลหรือไม่

    ท่านอาจารย์ กรรมฐานคืออะไร แล้วนั่งกรรมฐานคืออะไร ทุกอย่างต้องเป็นความรู้ที่ถูกต้อง อย่าเพียงใช้คำ แล้วเราก็ไม่เข้าใจ นั่งกรรมฐานคืออะไร ต้องตอบก่อน ไม่อย่างนั้นไม่ทราบว่า จะพูดกันเรื่องอะไร

    ผู้ฟัง ในขณะที่เราพยายามที่จะเดินจงกรม นั่งสมาธิ

    ท่านอาจารย์ เราพยายามได้ไหม ถูกหรือผิด เราพยายาม สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้ได้ยิน ได้ยินจึงเกิดขึ้น เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้โทสะเกิด โทสะจึงเกิดขึ้น เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้คิดนึกเรื่องใด ก็คิดนึกเรื่องนั้น

    เพราะฉะนั้น มีเราพยายามได้ไหม หรือว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทุกขณะ ถ้าพยายามผิดก็เป็นมิจฉาวายามะ ไม่ใช่สัมมาวายามะ

    มรรคมีองค์ ๘ มีทั้งสัมมามรรค ๘ และมิจฉามรรค ๘ มีข้อความนี้ในพระไตรปิฎก ซึ่งจะต้องพิจารณาให้ถูกต้องจริงๆ ว่า ใครจะปฏิบัติมิจฉามรรค ก็แล้วแต่อัธยาศัย ใครจะปฏิบัติสัมมามรรค ก็แล้วแต่ปัญญาที่ได้รู้สภาพธรรมถูกต้อง เพราะเหตุว่ามิจฉามรรคไม่มีสัมมาทิฏฐิ ไม่มีความเห็นถูก เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นอย่าคิดเรื่องปฏิบัติ แต่ให้เข้าใจธรรมขึ้น เพราะว่าถ้าไม่เข้าใจธรรม แล้วจะปฏิบัติได้อย่างไร นั่งกรรมฐานคืออะไร เมื่อกี้นี้ที่ถาม ตอบได้ไหม

    ผู้ฟัง ยังไม่เคยเรียนทางด้านปริยัติ แต่ว่าได้ลองฝึกปฏิบัติธรรม เดินจงกรม

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นจุดประสงค์ของการปฏิบัติเพื่ออะไร ยังไม่ได้เรียนปริยัติ แล้วก็ไปปฏิบัติ จุดประสงค์ของการปฏิบัติเพื่ออะไร

    ผู้ฟัง ตรงนั้นเพียงเพื่อรู้

    ท่านอาจารย์ รู้เป็นปัญญา แล้วถ้าไม่มีการศึกษามาก่อนเลย ปัญญาจะเจริญขึ้นได้ไหม ถ้าไม่มีการฟังให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีอยู่ แล้วสติจะระลึกอะไร ไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจเลย แล้วปัญญานั้นรู้อะไร ถ้าบอกว่าเพื่อที่จะรู้ ในเมื่อไม่มีความรู้ขั้นต้น ไม่มีการศึกษามาก่อน ไม่มีการเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเลย แล้วจะรู้ได้อย่างไร

    ผู้ฟัง หลังจากที่ได้ฝึกตรงนั้นแล้ว ก็คิดว่าจะต้องพยายามที่จะศึกษา

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ คือฝึก ไม่ใช่การอบรมปัญญา ฝึกอย่างไรถึงจะให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ถูกต้อง ฝึกอย่างไร มีวิธีฝึกอย่างไร ที่จะให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมที่เห็น นามธรรมที่ได้ยิน นามธรรมที่คิดนึกในขณะนี้ได้ จะฝึกอย่างไร

    ผู้ฟัง เมื่อกี้ได้ฟังตั้งแต่ต้น สติปัฏฐานก็คือชีวิตประจำวันที่เราจะต้องรู้อยู่ ไม่ใช่เพียงแค่รู้ เพียงแค่ผ่านไป เพิ่งได้เรียนรู้ขณะนี้

    ท่านอาจารย์ แต่ต้องอบรมเจริญปัญญาจากขั้นการฟังเสียก่อน สติขั้นฟังต้องมี แล้วค่อยๆ ปรุงแต่งเป็นสังขารขันธ์ เมื่อมีความเข้าใจมั่นคงขึ้น มากขึ้น ก็มีปัจจัยที่สติปัฏฐานจะเกิด มิฉะนั้นแล้วสติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้เลย ถ้าไม่มีความเข้าใจที่มั่นคง

    ผู้ฟัง เข้าใจแล้วมาได้ยินท่านหนึ่งถาม เหมือนกับที่ได้เดินจงกรม นั่งสมาธิ แล้วเกิดสภาวะ บางครั้งหนัก บางครั้งเบา แล้วได้ยินท่านถามว่า ขณะที่มันหนัก มันเป็นอกุศลหรือไม่ ตรงนี้ก็เลยปลงใจว่าคืออะไร

    ท่านอาจารย์ เป็นอกุศลหรือไม่ ปลงใจแล้วว่าเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ถ้าหากว่าเป็นอกุศลนี่ ก็ทำให้คิดว่าเพราะอะไรถึงเป็นอกุศล ในขณะนั้น จิตเราเป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ ทำไมทราบว่า เป็นกุศล ขณะนี้ทุกคนมีจิต

    ผู้ฟัง สงบ ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข ไม่มีอะไร

    ท่านอาจารย์ ปัญญามีหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ปัญญาก็อยู่ที่การกำหนด

    ท่านอาจารย์ กำหนดอะไร

    ผู้ฟัง กำหนดนั่ง กำหนดเดิน

    ท่านอาจารย์ นั่นไม่ใช่ปัญญา ปัญญารู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ ที่ว่าสภาวธรรมเกิด ขณะนี้สภาวธรรมเกิดหรือเปล่า เห็นเป็นสภาวธรรมหรือเปล่า ได้ยินเป็นสภาวธรรมหรือเปล่า คิดนึกเป็นสภาวธรรมหรือเปล่า ขณะนี้สภาวธรรมกำลังเกิดหรือเปล่า รู้ความจริงของสภาวธรรมหรือเปล่า หรือไปคิดว่าพยายามจงกรมแล้วสภาวธรรมก็เกิด ทั้งๆ ที่ขณะนี้เป็นสภาวธรรมทุกขณะ แล้วเดินจงกรมทำอย่างไร ที่เป็นจงกรม ทำไมชื่อ จงกรม

    วิธีที่จะรู้สภาพธรรม ไม่ใช่วิธีอื่นเลย นอกจากฟังเข้าใจ เจริญปัญญาตามลำดับขั้น จนกระทั่งสติปัฏฐานเกิดเป็นปกติ ตามปกติ ไม่ใช่ไปพยายามจงกรม

    ผู้ฟัง ขณะนี้กำลังเริ่มสนใจศึกษาว่า มันคืออะไร อะไรผิด อะไรถูก ก็ฟังมาหลายท่าน แล้วก็แต่ละท่านก็มีต่างกัน กำลังวิเคราะห์อยู่ว่า แล้วอันไหนคือสิ่งที่ถูก

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้พอจะทราบหรือยัง

    ผู้ฟัง เพิ่งเริ่มฟังวันนี้ อาจจะต้องฟังอีกหลายๆ ครั้ง

    ท่านอาจารย์ ถ้าถูกก็ต้องตรงกับสภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนี้ ขณะก่อนก็หมดไปแล้ว ขณะต่อไปก็ยังไม่มาถึง เพราะฉะนั้น ถ้าถูกจริงๆ คือต้องตรงกับสภาพธรรมในขณะนี้ จะรู้ก็รู้ในขณะนี้ ไม่ใช่ขณะอื่น

    เพราะฉะนั้น ไม่ต้องทำอะไร มีเหตุปัจจัยทำให้สภาพธรรมเกิดอยู่ตลอดเวลา ไม่มีอะไรที่พ้นไปจากสภาพธรรมเลย ไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เป็นสภาพธรรม แต่ไม่รู้ว่าเป็น เพราะฉะนั้น ก็ต้องอบรมเจริญปัญญารู้ความจริงของสภาพธรรมซึ่งกำลังเป็นอยู่ในขณะนี้

    ถ้ามีใครบอกว่าดี เชื่อเลยทันทีหรือเปล่า เขาดีก็ดี ไม่ได้ ต้องพิจารณาก่อน ต้องฟังก่อน ผลของการศึกษาธรรมคืออะไร

    ผู้ฟัง คือให้เรารู้ถึง

    ท่านอาจารย์ รู้อะไร

    ผู้ฟัง รูป และนาม

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ว่าไม่เที่ยง

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้ขณะนี้ จะต้องไปทำอย่างอื่นไหม

    ผู้ฟัง เราไปเห็นสิ่งต่างๆ เรามักจะไม่ระลึกรู้ทันที

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะไปเร่งให้ระลึกได้อย่างไร เพราะความรู้เราไม่พอ

    ผู้ฟัง แต่ถ้าเราไปฝึก

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เรื่องฝึก เรื่องความเข้าใจ ความรู้ ถ้ายังรู้ไม่พอ แล้วจะไปฝึกอะไร

    ผู้ฟัง ในขณะที่จิตเราตั้งมั่น

    ท่านอาจารย์ จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ

    ผู้ฟัง เราจะมีสติ ระลึกรู้ทัน

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ นั่นคือความหวัง สมาธิไม่ใช่สติ ถ้ามีเราก็ไม่ใช่สัมมาสมาธิ ถ้าเป็นเราแล้ว จะเป็นสัมมาสมาธิไม่ได้

    ผู้ฟัง ในขณะที่เราสติตั้งมั่น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ขณะเราสติตั้งมั่นไม่ได้ สติตั้งมั่นมาจากไหน มีเหตุอะไรที่จะให้สติตั้งมั่น ธรรมทุกอย่างต้องมาจากเหตุที่ถูกต้อง ถ้าบอกว่า สติตั้งมั่น สติตั้งมั่นมาจากไหน

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นเรากำหนด

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นเราคือตัวตน ไม่ใช่ปัญญา

    ผู้ฟัง ตอนนี้คำว่าเป็นเราอยู่ ยังมีตัวเราอยู่

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง คือยังไม่เจริญปัญญา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องเอาตัวเราไปทำอะไร แต่อบรมเจริญปัญญาให้เห็นความจริงว่า ไม่ใช่ตัวเรา แล้วปัญญาเขาก็จะอบรมเพิ่มขึ้นที่จะเห็นว่า ไม่ใช่ตัวเรา แต่ไม่ใช่เมื่อยังเป็นตัวเรา ก็เอาตัวเราไปทำอย่างโน้น เอาตัวเราไปทำอย่างนี้ ก็ยังเป็นตัวเราอยู่

    ผู้ฟัง สรุปแล้วควรจะศึกษาธรรม ฟังธรรมเท่านั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ว่า ปัญญาคืออะไรก่อน เราไปเรียกปัญญา ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นไม่ใช่ปัญญา แต่ปัญญาเจตสิก ไม่ใช่ปัญญาที่เด็กนักเรียนไปโรงเรียนแล้วครูบาอาจารย์ บอกว่าเด็กคนนี้สติปัญญาดี ไม่ใช่อย่างนั้น ปัญญาเจตสิก เป็นความรู้ความเห็นที่ถูกต้อง ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง นั่นจึงจะเป็นปัญญา ถ้าไม่สามารถจะรู้สภาพธรรมขณะนี้ จะเป็นปัญญาไม่ได้

    ลักษณะของปัญญาต่างกับอวิชชา อวิชชาไม่รู้ ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ อวิชชาไม่สามารถจะรู้ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นปัญญา ปัญญารู้ แต่กว่าจะรู้ ต้องฟัง ต้องพิจารณา ต้องเข้าใจ ตามลำดับขั้น จนถึงขณะที่สัมมาสติเกิด จึงรู้ว่า ขณะนี้ไม่ใช่สติขั้นฟัง

    ขณะที่กำลังฟังต้องมีสติขั้นหนึ่ง แล้วสติขั้นนี้แหละจะค่อยๆ เจริญขึ้น เพราะว่าฟังเข้าใจ แล้วสามารถที่จะเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้สติปัฏฐานเกิดในพระไตรปิฎกจะมี ๒ คำ หลงลืมสติกับมีสติ ไม่ใช่มีการทำอะไรเลย ขณะใดที่หลงลืมสติก็รู้ ขณะใดที่สติเกิดก็รู้ เพราะว่าเป็นขณะที่ต่างกัน แล้วขณะที่มีสติเท่านั้นที่ปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้น

    ผู้ฟัง ในขณะที่มีจิตโกรธ จิตโลภเกิดขึ้นแล้วเราระลึกรู้ มันเป็นโกรธ แล้วเราก็มองดูมันว่า มันเป็นโกรธ อย่างนี้เขาจะเรียกสติไหม

    ท่านอาจารย์ เรา เราเรียกชื่อ เพราะว่าเราเรียนมา ก่อนนั้นเราไม่เคยเรียกชื่อ โกรธก็โกรธ แต่ว่าพอเรียนมาว่า ของนี้สวย อร่อย ก็เรียกว่าโลภะ เราก็บอกว่าโลภะ แต่ขณะที่เรียกว่าโลภะ จิตอะไร จำได้ เรียกชื่อถูก หรือว่าเป็นกุศล นี่ต่างกันแล้ว

    สภาพของจิตละเอียดมาก เราจะเหมาเพียงคำพูดเท่านั้นไม่ได้ ถ้าใครบอกว่า ขณะนี้สิ่งที่สวย พอเห็นแล้วเป็นโลภะ เขาเรียกชื่อได้ เพราะเขาจำได้ แต่จิตที่เรียกในขณะนั้นเป็นอะไร เป็นกุศลหรือเปล่า เราไม่สามารถที่จะไปบอกว่า คนนั้นมีปัญญาระดับขั้นที่รู้ว่าพอโลภะเกิด ก็เป็นโลภะ ไม่ใช่เลย เป็นเรื่องความละเอียดของจิต ซึ่งผู้นั้นจะรู้เอง

    ผู้ฟัง แล้วถ้าเราพิจารณา รู้ว่าเป็นอกุศล แล้วเราหยุดการกระทำนั้น

    ท่านอาจารย์ ก็เก่งสิ หยุดให้หมดเลย

    ผู้ฟัง ไม่ถึงกับหยุด คือให้มัน ไม่ถึงกับหยุด เหมือนความหมายของอาจารย์ คือทำให้มันลดลงแล้วก็หายไป

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นสติขั้นหนึ่งที่เห็นโทษของอกุศล แต่ว่ายังมีอยู่ เพราะเหตุว่าไม่ใช่ปัญญาที่ประจักษ์ลักษณะสภาวธรรมของธรรมที่เกิดดับ

    รูปทั้งหมดมี ๒๘ รูป รูปหยาบมี ๑๒ รูป เพราะฉะนั้น ที่เหลือ ๑๖ รูปเป็นสุขุมรูป ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน รูปหยาบ คือรูปสามารถที่จะปรากฏ ตามปกติในชีวิตประจำวัน เช่น รูปารมณ์ สีสันวัณณะที่กำลังปรากฏทางตา ๑ รูป สัททารมณ์ คือ เสียงที่จิตกำลังได้ยินอยู่ คันธารมณ์ คือ กลิ่น รสารมณ์ คือ รส โผฏฐัพพารมณ์ ๓ คือ ธาตุดิน๑ ธาตุไฟ๑ ธาตุลม๑ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่ามหาภูตรูปจะมี ๔ ก็จริง แต่ที่จะเป็นโผฏฐัพพารมณ์ คือปรากฏเมื่อกระทบได้ มีเพียง ๓ รูปเท่านั้น คือ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 99
    23 มี.ค. 2567