ปกิณณกธรรม ตอนที่ 396


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๙๖

    สนทนาธรรม ระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย

    พ.ศ. ๒๕๓๘


    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นผู้ที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็อบรมเจริญปัญญา ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เวลาที่เข้าใจสภาพธรรม เราจะรู้เลย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ธรรมก็คือธรรม จะอยู่โลกนี้ ธรรมก็คือธรรม จะอยู่โลกหน้า ธรรม ก็คือธรรม เพราะฉะนั้น ที่เรากลัว เราเสียดายความเป็นบุคคลนี้ เพราะเราไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้หรือชาติไหน คือสภาพธรรม ที่เกิดแล้วก็ดับ ชั่วขณะหนึ่งๆ เท่านั้น เพราะฉะนั้น ต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะเข้าใจ แล้วก็เป็นความจริงอย่างนี้

    ผู้ฟัง เราคิดเรื่องอกุศล กุศล ที่น้อยไม่พอเลย ลืมสติ ลืมกุศล และมีโทสะมากๆ ไม่มีเมตตาพอ ดิฉันกลัว

    ท่านอาจารย์ ถ้าเรารู้ตัว ว่าเรามีอกุศลมาก เมตตาก็น้อย ทานก็น้อย แล้วเราจะทำอย่างไร ไม่ใช่เรากลัว กลัวก็ไม่มีประโยชน์ ทั้งๆ ที่เรารู้ว่าเรามีอกุศลมาก เป็นเครื่องเตือนให้เรารู้ว่า อกุศล เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ แล้วเราเริ่มเห็นว่าอกุศลไม่ใช่มีแต่เฉพาะเรื่อง โลภะ โทสะ แม้โมหะที่เราไม่รู้สภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ แทนที่เราจะไปกลัวอกุศล เราเห็น โทษ แล้วเราก็อบรมเจริญปัญญาอย่างสบายๆ เพราะว่าถ้าไม่ใช่อย่างสบายๆ เมื่อไร โลภะมาทันที อยากเหลือเกิน ที่จะมีกุศลมากๆ อยากเหลือเกินที่จะมีอกุศลน้อยๆ นี้คือตัวอยาก เพราะฉะนั้น อันนี้จะเห็นได้เลยว่า ถ้าเราเริ่มมีความคิดอยาก ไม่ว่าจะอยากฝ่ายดี หรืออยากฝ่ายไม่ดีก็ตาม ขณะนั้นโลภะทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ตัวโลภะ เป็นตัวที่เห็นยากมาก แต่ว่าถ้าชีวิตปกติธรรมดาเป็นอย่างไร ปัญญาสามารถที่จะเข้าใจตามความเป็นจริง เพราะว่าสติเกิด แล้วรู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม ที่จะรู้ว่าขณะนี้ก็คือธรรม แล้วก็จะลดความกังวล ลดความหวั่นไหว ลดความติดข้องเมื่อเราค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ เพิ่มขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่แสดงให้เห็นว่าต้องทั่ว ถ้าไม่ทั่วจริงๆ เราก็ยังหวั่นไหว เพราะว่ายังมีความเป็นตัวตนว่า เรามีอกุศลมาก เรามีกุศลน้อย

    ผู้ฟัง บางทีดิฉันมีความสงสัยเรื่องธรรม จะอ่านหนังสือเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องการได้ยิน แล้วมีความสงสัยเรื่อง จิต มีจริงไหม เห็น ได้ยินเป็นจิต ชนิดหนึ่งหรือเปล่า ดิฉันไม่ชอบความสงสัย และมีโทสะ อีกขั้นหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ เสมอๆ จะต้องเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น หนทางเดียวก็คือว่า เวลาที่ได้ฟังธรรมแล้ว เราพิจารณา อย่างเราจะพูดคำว่าจิต หรือว่า จะรู้จริงๆ ว่ามีจิตไหม เราก็ต้องค่อยๆ เปรียบเทียบ ว่าจิตที่ว่ามีไหม เมื่อมีสภาพที่เป็นสภาพรู้ เช่น กำลังเห็น ลักษณะที่เห็นจะเป็นอะไร เราไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า จิต แต่เห็นมี ลักษณะที่เห็น หมายความถึงว่า รู้ว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา คือเห็น ไม่ใช่รู้เรื่องของสิ่งที่เห็น แต่รู้เดี๋ยวนี้ว่า สภาพรู้ คือรู้ อันนี้ รู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา โต๊ะ เก้าอี้ แก้วน้ำ ไม่สามารถจะรู้ได้เลย เพราะฉะนั้น เราใช้คำนี้ คือคำว่า จิต เพื่อที่จะแทนสภาพธรรม ชนิดหนึ่ง ซึ่งกำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิด ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างได้ยินมีเสียง ก็แสดงว่าต้องมีสภาพที่ได้ยิน หรือรู้เสียงนั้น นี้เป็นเครื่องยืนยันว่าเราไม่ต้องไปติดที่คำว่า จิต แต่เรารู้ว่าสภาพอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาพรู้ มีแน่นอน เพราะฉะนั้น ก็มีทั้ง ๒ อย่างที่ต่างกัน คืออย่างหนึ่ง เป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเลย มีแน่ๆ และสภาพอีกอย่างหนึ่ง คือ สภาพรู้ ก็มีแน่ๆ ด้วย ให้เข้าใจว่าเป็นลักษณะของอาการรู้ หรือสภาพรู้

    ผู้ฟัง คิดว่าเรายังไม่ พิสูจน์ เราต้องพิสูจน์เอง อาจจะถามอาจารย์สุจินต์ที่พูด แล้วบอกว่าดี ดีมาก แต่ไม่พิสูจน์เอง ต้องพิสูจน์เอง แล้วก็จะมี ความสงสัย แต่ไม่มีสติ และพิสูจน์ได้

    ผู้ฟัง ทุกครั้งที่ได้มีโอกาสฟังคำบรรยายที่ ท่านอาจารย์ได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องการมีสติระลึก ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ฟังแล้วก็ไม่สงสัย แล้วก็คิดว่าเป็นคำแะนำที่ถูกต้องที่สุด แต่ว่าเมื่อจบแล้ว ก็ไม่ได้ทำให้สตินั้นเกิดขึ้น แต่กลับมีความเป็นตัวเป็นตน เข้ามาแทนที่ ผมก็มาพิจารณาต่อไปว่า อาจจะเป็นเพราะว่าเรามีการอ่าน เรามีการฟัง น้อยเกินไปหรืออย่างไร ถึงได้ไม่ทำให้มีการระลึกได้ หรือทำให้สติ แทนที่จะเกิดขึ้นมา พิจารณาตามที่ได้ยินได้ฟัง กลับเป็นตัวเป็นตนทันทีทันใดเลย อันนี้มันจะด้วยสาเหตุอะไร

    ท่านอาจารย์ ทำไมคุณศุกลไม่คิดว่านี่มันเป็นเรื่องธรรมดา ธรรมดา นี่คือชีวิตธรรมดา นี่เรื่องธรรมดา ถ้าเป็นเรื่องพิเศษ พอได้ยินปุ๊บ คุณศุกล บรรลุรู้แจ้งอริยสัธรรม หรือมิฉะนั้นก็รู้ได้ทันทีว่า นี่เป็นนามธรรม นี่เป็นรูปธรรม นั่นเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ธรรมดา แต่ชีวิตธรรมดาคืออย่างนี้ เพราะฉะนั้น แต่ละคนจะรู้จักตัวเอง ประโยชน์ สูงสุดก็คือว่า ความจริงเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น คือหวังว่าพอฟังแล้วให้สติเราเกิด แล้วพอสติเราเกิดก็หวังให้ปัญญาเราเกิด รู้มากๆ ทันที นี่ผิดธรรมดา เพราะฉะนั้น ต้องทราบตามความเป็นจริงว่าไม่มีใครจะฝืนที่จะเป็นอย่างนั้น

    แม้แต่ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ท่านต้องอบรมมาอย่างเราแน่นอน หมายความว่าท่านตั้งต้นด้วยการฟัง ชาติหนึ่ง ชาติใดก็แล้วแต่ แล้วเมื่อฟังแล้วก็ต้องพิจารณา แล้วสติของท่านก็เกิดเป็นปกติ ข้อสำคัญที่สุดก็คือว่า ไม่เห็น ผิด และไม่ให้โลภะ พาเราไป โดยการที่ต้องการผล เพราะเหตุว่าเราเห็นโลภะอย่างอื่น เราเห็นโลภะ อาหารอร่อย เราเห็นโลภะ สิ่งสวยๆ งามๆ ดอกไม้ชีวิตประจำวัน แต่เราลืมว่าหลังจากเหล่านี้แล้ว โลภะจะตามเราไปที่อื่นด้วย เวลาฟังธรรม จะมีโลภะอยากจะเข้าใจธรรม ซึ่งความจริง ขณะที่เข้าใจไม่ใช่ขณะที่อยาก เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ตัวอยากจะมาก่อน ทั้งๆ ที่อยากเท่าไร ก็เข้าใจธรรมไม่ได้ นี้แสดงให้เห็นว่าความเข้าใจของเราไม่ใช่เพราะความอยาก แต่เป็นเพราะการฟังด้วยดี แล้วก็เข้าใจจริงๆ ว่า ธรรมที่เป็นปกติ คืออย่างไรก็เป็นอย่างนั้น จะเปลี่ยนความเป็นปกติอย่างนั้นไม่ได้ แต่ความเป็นตัวตนอยากจะเปลี่ยนให้เข้าใจมากๆ อยากจะให้สติเกิดบ่อยๆ นี้แสดงว่าความเป็นตัวตนหนาแน่นมาก

    ผู้ฟัง พูดถึงเรื่องสติ ผมฟังแล้ว ผมก็ยอมรับ แต่บางครั้งมันเกิดความคิดอย่างนี้ว่า เวลาที่สติเขาเกิด เขามีหน้าที่ระลึก แล้วก็ขณะนั้นต้องมีปรมัตถธรรม จะเป็นลักษณะใดลักษณะหนึ่งก็ได้ จะเป็นรูปจะเป็นนาม ก็ได้ แล้วจะทันรู้อะไร ในเมื่อเป็นเพียงชั่วขณะสั้น นิดๆ หน่อยๆ แต่เวลาพอเราฟังจากคำบรรยาย รู้สึกสติมีหน้าที่ระลึกสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่กำลังปรากฏ ก็พูดเป็นเรื่องเป็นราวทั้งหมด แต่พอมาพูดถึงหน้าที่ของสติที่เกิด ก็เกิดความสงสัยว่า แล้วจะรู้ได้จริงๆ อย่างที่ได้ฟังมาอย่างนั้นหรือเปล่า หรือว่าตอนนี้ยังต้องสงสัยอย่างนี้ก่อน จนกว่าการฟังแล้วการพิจารณา แล้วก็มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ความสงสัยต่างๆ คงจะหมดไปเองโดยที่ไม่ต้องไปคิดหาวิธีอย่างอื่น อันนี้ไม่ทราบท่านอาจารย์ จะมีคำแนะนำ

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังสงสัย เป็นสัจธรรม เป็นความจริง ไม่ใช่คุณศุกล

    ผู้ฟัง แต่ว่ามันแฝงในตัวตน

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุนั้นแสดงให้เห็นว่าความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เหนียวแน่นมาก แม้แต่ความสงสัยก็ไม่รู้ว่าแท้ที่จริง แล้วก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น ก็บังไว้หลายชั้น เหลือเกิน

    ผู้ฟัง ผมก็เข้าใจในเรื่องของสตินี้ ก็เป็นปกติ เหมือนอย่างว่ามี สีแล้วก็มี แข็ง มีเสียงแล้วก็มีได้ยิน เป็นปกติอย่างนั้น ความจริงของสติก็ต้องเป็นปกติอย่างนั้นด้วย ถ้ามีเหตุของสติ สติก็ต้องระลึก ถ้าไม่มีเหตุของสติ สติก็ไม่ระลึก เหมือนโลภะ เหมือนโทสะ ทุกคนไม่ทำให้โลภะโทสะเกิด แต่โลภะโทสะมีเหตุ ก็เกิดขึ้น สติปัญญาก็เหมือนกัน ฟังธรรมเข้าใจ แล้วก็ทำให้มีสติระลึก เพราะฉะนั้น ต้องไม่หวัง ไม่จำเป็นจะหวังให้มีสติ ถ้าหวังให้มีสติก็เป็น เครื่องกั้น ไม่รู้สภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น สภาพธรรม เป็นรูปธรรม เป็นนามธรรม สติก็เป็นนามธรรมด้วย ไม่ต้องไปคิดเพื่อให้มีสติ เพื่อให้มีปัญญา แต่สภาพธรรมทุกอย่างมีเหตุจึงจะเกิด ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ระหว่างที่นั่ง เครื่องบินมา ผมได้นั่งใกล้ คุณหมอมธุรส แล้วก็คุยกันถึงเรื่องบอกว่า สงสัยในเรื่องของสัมมากัมมันต กับสัมมาอาชีวะ ว่าจะมีความต่างกันอย่างไร สัมมากัมมันตะแปลว่าการงานชอบ สัมมาอาชีวะแปลว่าอาชีพชอบ ผมก็ได้อธิบายไปตามที่ตัวเองเข้าใจ จะผิดถูกอย่างไร ขอท่านอาจารย์ได้ช่วย รับฟัง และช่วยแก้ไขด้วย ผมบอกว่าสัมมากัมมันตะ การงานชอบ หมายความว่า เราเว้น แม้กระทั่งจะไปสนับสนุนหรือส่งเสริมในสิ่งที่มันเป็นโทษ ไม่เป็นคุณ ส่วนสัมมาอาชีวะ หมายความว่าเป็นผู้ที่ละเว้นจากการประกอบอาชีพซึ่งมีกล่าวไว้ ในพระไตรปิฎก มีความต่างกันคือว่า ๒ อย่าง ถึงแม้ว่าจะเป็นการงานชอบก็คือว่าแม้แต่จะไปสนับสนุน คือว่าไปช่วยให้การกระทำไม่เป็นกุศลเกิดขึ้น อันนี้ไม่ทราบว่าผมเข้าใจผิด เข้าใจถูก

    ท่านอาจารย์ การงานชอบเกี่ยวกับกายสุจริต หมายความว่ามีการงานที่ไม่ทุจริต แต่สำหรับสัมมาอาชีวะก็เกี่ยวกับอาชีพ หมายความว่าสัมมากัมมันตะ ไม่เกี่ยวกับอาชีพ แต่สัมมาอาชีวะเกี่ยวกับอาชีพ

    ผู้ฟัง ที่บอกว่าสัมมากัมมันตะที่เป็น การงานชอบหมายถึงว่าไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการประกอบอาชีพ แต่ว่าถ้าเป็นการทุจริตทางกาย เช่น มีการฆ่าสัตว์ มีการลักทรัพย์ ถือว่าเป็นมิจฉากัมมันตะ แต่ถ้าเป็นสัมมาก็เป็นฝ่ายดี ฝ่ายตรงข้าม พอพูดถึงอาชีวะ ก็มีกล่าวไว้ที่บ้านคุณหญิง ว่า ๑. ไม่ค้ามนุษย์ ไม่ค้ายาพิษไม่ค้าอาวุธ ไแล้วอะไรต่างๆ เหล่านั้นซึ่งก็ชัดเจนมาก สำหรับสัมมาอาชีวะ มิจฉาอาชีวะ แต่ว่าเมื่อแยกกันระหว่างสัมมากัมมันตะ กับมิจฉากัมมันตะ คุณหมอเข้าใจแล้ว ใช่ไหม ทีนี้พอพูดถึง ฝ่ายโลกียะ ฝ่ายโลกุตตระ ผมฟังแล้วผมยังไม่ค่อยเข้าใจ ที่บอกว่ามันมีอารมณ์อย่างเดียวกัน แต่ว่าอีกอย่างหนึ่งเป็นโลกียะปัญญา อีกอย่างเป็นโลกุตตระปัญญา อันนี้จะไปเกี่ยวข้องกับมรรคทั้ง ๘ องค์ ซึ่งมันอาจจะฟังแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจ อันนี้ผม ไม่อยากจะสรุป

    ท่านอาจารย์ สำหรับเรื่องของสัมมาอาชีวะ เราก็ทราบว่าต้องเป็นการเลี้ยงชีพชอบ ทีนี้ถ้าเป็นมิจฉาอาชีวะ หมายความว่าในการเลี้ยงชีพของเรา ไม่ชอบ อย่างพระภิกษุ ท่านเลี้ยงชีพด้วยการบิณฑบาต แต่ว่าถ้ากระทำอย่างอื่น ที่ไม่ใช่ การบิณฑบาต แปลว่า มิจฉาอาชีวะ เลี้ยงชีพไม่ชอบ เพราะฉะนั้น อะไรก็ตาม ที่เกี่ยวกับการเลี้ยงชีพ เป็นอาชีพแล้ว จะต้องเป็นมิจฉาอาชีวะ หรือสัมมาอาชีวะ อย่างอาชีพทนายความ แล้วเขาก็ทำสิ่งที่ไม่ชอบ เพื่ออาชีพของเขา เพราะทนายความก็มีทั้งทนายที่ดี และอาจจะมีทนายซึ่งไม่ดีด้วย ขณะใดที่ดี ขณะนั้นก็เป็นสัมมาอาชีวะได้ เพราะเหตุว่า ทำถูกต้อง แต่ถ้ามีความทุจริตเกิดชึ้นที่เกี่ยวกับอาชีพ ไม่ว่าจะอาชีพใดๆ ทั้งสิ้น ขณะนั้นเป็นไปเพื่อการเลี้ยงชีพแม้แต่ บรรพชิต ก็แสดงให้เห็นว่า เป็นมิจฉาอาชีวะ ถ้าท่านไม่เลี้ยงชีพตามควร

    แต่ว่าสำหรับเรื่องของโลกียะ และโลกุตตระ ก็ทราบว่าที่จะเป็นโลกุตตระได้หมายความว่า จิตเป็นโลกุตตระได้ ต่อเมื่อมีนิพพานเป็นอารมณ์ เพราะเหตุว่าสภาพที่เป็นโลกุตตระที่พ้นจากโลก หมายความว่าไม่เกิดดับ ได้แก่นิพพานอย่างเดียว สภาพธรรมที่พ้นจากโลกเป็นโลกุตตระ คือนิพพาน แต่เมื่อจิตนั้นรู้แจ้งนิพพาน เพราะมีนิพพานเป็นอารมณ์จิตนั้นจึงเป็นโลกุตตรจิต ในขณะที่เป็นโลกุตตรจิต ทั้งจิต และเจตสิก จะมีอารมณ์อื่นไม่ได้เลย นอกจากนิพพานด้วยกัน เพราะเหตุว่า จิตมีอารมณ์อะไร เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็ต้องมีอารมณ์อย่างนั้น เพราะฉะนั้น ขณะที่จิตมีนิพพานเป็นอารมณ์ เจตสิกทั้งหมด ทั้งผัสสะ ทั้งสัญญา ทั้งเวทนา ทั้งเจตนา จิตทุกประเภทที่เกิดร่วมด้วยเป็นโลกุตตระทั้งหมด เพราะเหตุว่ามีนิพพานเป็นอารมณ์ แม้แต่วิรตี ๓ ซึ่งจะเกิดพร้อมกันในขณะที่เป็นโลกุตตรจิตเท่านั้น แต่ว่าเวลาที่ไม่ใช่โลกุตตรจิต ต่างก็มีอารมณ์ เช่น ไม่ว่าจะเป็นอาชีพของพระภิกษุ อาชีพของชาวประมง หรือมิจฉาชีพของทนายความหรืออะไรก็แล้วแต่ ให้เกี่ยวกับการเลี้ยงชีพ ความเป็นอยู่ อันนั้นก็เป็นมิจฉาอาชีวะ ถ้าทุจริต

    ผู้ฟัง คำว่า วิรตีเจตสิก หมายความว่าคือเรา อยู่เฉยๆ เราไม่ได้ฆ่าใครเลย เราก็ ไม่ได้มีวิรตีเจตสิก ถ้าเผื่อเราเห็นมดแล้วเราไม่ฆ่า บางทีมันน่าฆ่า แต่เราไม่ฆ่าอันนั้นคือวิรตีเจตสิก หนูสงสัย เมื่อกี้อาจารย์ได้พูดบอกว่า การที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ แล้วก็ตรงนั้นมีวิรตีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะจริงๆ ตรงนั้นมันก็ยังไม่มีอะไร ที่ทำให้เราละ เว้น มันยังไม่มีอะไรที่มาทำให้เราวิรัติ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเราที่จะไปวิรัติ โดยมากเราคิดว่ามีตัวเรา แล้วก็มีตัวตนแม้แต่การที่ว่าจะวิรัติ แต่ตามความจริงแล้วเจตสิกจะเกิด ก็ต่อเมื่อมีปัจจัย แม้แต่โลกุตตรเจตสิก ที่จะเกิดก็เพราะเหตุว่า ได้อบรมเจริญปัญญาพร้อมที่วิรตีเจตสิกทั้ง ๓ จะเกิดร่วมกับจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์เพื่อวิรัติ ตามระดับขั้นของโลกุตตระปัญญา เพราะฉะนั้น ไม่ต้องเอาเรามาเปรียบเทียบว่าเราจะทำอย่างนั้น เรางดเว้นอย่างนี้แล้วทำไมถึงจะเป็นอย่างโน้น

    ผู้ฟัง สงสัยที่ท่านอาจารย์พูดเมื่อกี้บอกว่า พระภิกษุที่กล่าวว่าเป็นมิจฉาอาชีวะ ยังไม่เข้าใจเลย เพราะว่าไม่เห็นจะเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องทำธุรกิจเลย

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์บอกว่า พระภิกษุเลี้ยงชีพด้วยการบิณฑบาต แต่ว่า ภิกษุบางคน ไปดูหมอดู แล้วก็ได้เงิน หรือว่าไปพรมน้ำมนต์ พ่นน้ำมนต์อะไรอย่างนี้ ก็เรียกว่า เป็นมิจฉาอาชีวะ คือเลี้ยงชีพไม่ชอบ คือผิดจากการบิณฑบาตก็ต้องเป็นมิจฉาหมด

    ท่านอาจารย์ พระภิกษุชีวิตท่านจะดำรงอยู่ได้ด้วยการบิณฑบาตเท่านั้น แม้แต่จะปรุงอาหารเองก็ไม่ได้ จะไปซื้อผักในตลาด หรือองุ่น หรืออะไรมาก็ไม่ได้ ถึงได้มาแม้ว่าคนอื่นจะถวายก็จะทำเอง ก็ไม่ได้ นี่คือชีวิตของบรรพชิต ซึ่งจะเป็นผู้ที่อยู่ด้วยอาหารที่ได้รับจากคนอื่นจริงๆ เท่านั้น ไม่มีการหุงต้ม พระภิกษุทำอาหารเองไม่ได้ แต่เณรทำได้ นี้คือความต่างกัน ระหว่างผู้ที่เป็นสามเณรกับผู้ที่พระภิกษุ ซึ่งสำหรับสามเณรยังเป็น อนุปสัมบัน ไม่ใช่อุปสัมบัน ถ้าอุปสัมบันหมายความถึงผู้ที่เข้าใกล้ความสงบโดยการบรรพชา โดยการอุปสมบท แต่อนุปสัมบัน ยังห่างอยู่ เพียงแต่ว่ามีศรัทธาที่จะอยู่ในเพศของบรรพชิต แต่ไม่ถึงการอุปสมบท เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าเณรรักษาเพียงแต่ศีล ๑๐ เท่านั้น แต่ว่าสำหรับพระภิกษุ ๒๒๗ เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า สำหรับพระภิกษุท่านยังชีพอย่างไร ถ้าท่านทำอย่างนั้น นั่นคือสัมมาอาชีวะ แต่ถ้าท่านไม่ทำอย่างนั้น ท่านทำอย่างชาวบ้าน เป็นมิจฉาอาชีวะ

    ผู้ฟัง ตทาลัมพนจิต มีความสำคัญอย่างไร เพราะว่าเคยได้ยินท่านอาจารย์พูดบอกว่า บางทีวิถีจิตจะเกิดถึงแค่ชวนะเท่านั้นแล้วก็ไม่มี ตทาลัมพนจิตเกิดก็ได้ หนูก็เลยสงสัยว่ามีความสำคัญอย่างไรประเด็นที่ ๑ ข้อ ๒. คือ การรู้อารมณ์เมื่อมีตทาลัมพนจิตเกิดขึ้นอีก ๒ วาระ กับที่ไม่มี การรู้อารมณ์จะต่างกันหรือไม่ โดยเปรียบเทียบกับของจริงที่เราเห็น แล้วข้อ ๓. ก็คือที่บอกว่าตทาลัมพนจิตเกี่ยวข้องกับปฏิสนธิจิต ที่หนูจำได้ คือ ในแง่ที่ว่า ถ้าเผื่อปฏิสนธิจิต เป็นมหากุศลมากๆ คนๆ นั้นจะมี ตทาลัมพนจิตเกิดมาก ไม่ทราบว่าหนูเข้าใจถูกหรือเปล่า แล้วก็มีความสำคัญอย่างไร แล้วก็การที่เกิดอีก ๒ วาระ กับที่ไม่เกิด การรู้อารมณ์ จะต่างกันหรือไม่ ทีละข้อก็คือ ตทาลัมพนจิตมีความสำคัญอย่างไร

    ท่านอาจารย์ การฟังธรรมต้อง ฟังแล้วพิจารณาให้ละเอียด แล้วเราก็อย่าเพิ่งรวมกันไปเหมือนกับเราเข้าใจแล้ว ทุกอย่างที่ฟังจะต้อง คิดแล้วก็พิจารณา แม้แต่บางคนที่ได้ยินชื่อ ตทาลัมพนะ แปลว่าอะไรเสียก่อน แล้วถึงจะรู้ว่า หมายความถึงจิตประเภทไหน แปลตามภาษาบาลี มาจากคำว่า ตัง กับ อารัมมานะ หมายความว่าอารมณ์นั้น อารมณ์นั้นคืออารมณ์ไหน อารมณ์เดียวกับจิตที่กำลังเห็น ไม่ว่าจะเป็นจักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ หรือ สันตีรณะ หรือ ตทาลัมพนะ ซึ่งเป็นวิบาก ก็คือวิบาก วิบากคือต้องเกิด เพราะเหตุว่า เหตุนั้นสมควรถึงกาล ที่สุกงอมที่จะให้ผล ขณะใด ขณะนั้นวิบากซึ่งเป็นผลก็ต้องเกิด เท่านั้น เกิดแล้วก็หมด ไม่ใช่ไม่หมด แล้วจะสำคัญอย่างไร ส่วนใหญ่คนไปคิดถึงว่า อารมณ์ยังเหลืออีก ๒ ขณะ แล้วตทาลัมพนะเกิด ตทาลัมพนะนี้แหละสำคัญนักหนาเลย คิดว่าอย่างนั้น ใช่ไหม แต่ลืมเรื่องชาติ เพราะเหตุว่าต้องคิดถึงเรื่องชาติของจิต ถ้าเป็นชาติวิบากแล้ว กล่าวได้เลยว่า เป็นเพียงผลซึ่งต้องเกิดแล้วดับ ดับแล้วจะไม่มีปัจจัยที่จะไปทำให้เกิดเป็นวิบากอีก ถ้าพูดโดยกัมมปัจจัย แต่ถ้าพูดโดยปัจจัยอื่นได้ เช่น อนันตรปัจจัย ก็เกิดได้แต่พวกนี้ไม่มีความหมายเพราะเหตุว่าเป็นแต่เพียงผลของสิ่งที่ได้กระทำแล้ว ที่จำเป็นจะต้องเกิด เมื่อสมควรแก่เหตุ เพราะฉะนั้น อันนี้หมดความสงสัยหรือยัง เรื่อง ตทาลัมพนะ ถ้าตทาลัมพนะเป็นวิบาก จักขุวิญญาณก็เป็นวิบาก สัมปฏิจฉันนะก็เป็นวิบาก สันตีรณะก็เป็นวิบาก แล้วจะสำคัญอย่างไร สำคัญที่เราชอบเท่านั้น หมายความว่าพอวิบากเกิดเห็น อกุศลจิต ติดทันที

    เพราะฉะนั้น ความสำคัญอยู่ที่ว่า เมื่อไม่สามารถที่จะไม่ให้วิบากจิต ก็ควรที่จะเป็นกุศลแทนที่จะเป็นอกุศล ด้วยการฟังพระธรรมให้เข้าใจเพิ่มขึ้น เพราะมิฉะนั้นแล้ว ทันทีที่เห็นก็เป็นอกุศลเลย อย่างเห็นดอกไม้สวย อย่างนี้ ยับยั้งไม่ให้อกุศลจิตเกิดไม่ได้ เกิดแล้ว เพียงแต่ว่าเราไม่สามารถที่จะรู้ได้ เป็นอกุศลระดับไหน เป็นความติดข้องแล้ว มากหรือน้อยแล้วแต่บุคคล เพราะว่าบางบุคคลติดข้องมาก บางบุคคลก็ติดข้องน้อยกว่าคนอื่น

    ผู้ฟัง มีความเกี่ยวข้องกับปฏิสนธิจิต หรือไม่ ตทาลัมพนจิต

    ท่านอาจารย์ ตทาลัมพนจิตเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม แล้วกรรมมีมากมายหลายประเภท กรรมแรงมากทางฝ่ายกุศลก็มี กรรมหนักมากทางฝ่ายอกุศลก็มี เพราะฉะนั้น เรื่องของกรรมหนัก แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นทางฝ่ายอกุศลกรรม ก็ให้ผล คือ ทำให้เกิดในอบายภูมิ เป็นเปรต เป็นอสูรกาย หรือเกิดเป็นสัตว์ในนรก

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 99
    23 มี.ค. 2567