ปกิณณกธรรม ตอนที่ 402


    ตอนที่ ๔๐๒

    สนทนาธรรม ระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย

    พ.ศ. ๒ ๕๓๘


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าจะเข้าใจธรรม ไม่อยากให้เพียงฟังเฉยๆ แล้วก็จำได้ แต่มีทางใดที่จะให้เราเข้าใจ ใช้คำว่า เข้าใจ ถ้าเข้าใจแล้ว อย่างที่คุณธงชัยว่า สติปัฏฐาน ก็สามารถที่จะเกิดแม้ในขณะนี้ ชั่วขณะเดียวก็ยังดี เป็นทุนเริ่มต้น สำหรับที่จะเจริญต่อไปข้างหน้า เพราะว่าถ้าไม่มีสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ หรือว่าความเข้าใจเรื่องนามธรรมรูปธรรมในขณะนี้ยังไม่พอ เกิดอีก ๒-๓ ชาติ หรือ ๔ ชาติ ๑๐๐ ชาติ เราก็คงจะต้องมานั่งฟังว่า มีจิต มีเจตสิก มีรูป มีนิพพาน สภาพธรรมมี ๒ อย่างคือ นามธรรมและรูปธรรม รูปก็เป็นส่วนรูปแยกไปโดยเด็ดขาด นามธรรมก็ได้แก่ จิต เจตสิก เราก็ต้องมาตั้งต้นใหม่ ทั้งๆ ที่ขณะนี้ก็เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป ที่พร้อมที่จะให้เข้าใจขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมเหล่านี้ ถ้าสามารถที่จะฟังพิจารณาให้เข้าใจขึ้น ไม่ต้องห่วงเรื่องอื่นเลย ไม่อย่างนั้นเราก็สะสมชื่อเอาไว้ แล้วก็พอจะตายจริงๆ เราลืม ลืมหมดเลย ตั้งต้นเหมือนกับเราเรียน ก.ไก่ ข.ไข่ แล้วก็อ่านออก ชาตินี้ก็อ่านหนังสือเป็นเล่มๆ ชาติหน้าก็ตั้งต้นเรียนใหม่อีก เพราะเหตุว่าไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรม เป็นแต่เพียงการเหมือนเรียนหนังสือ หรือว่าเรียนเพื่อจะจำ แต่ถ้าเราเรียนเพื่อที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม จะทำให้เราสามารถที่จะสะสมการเริ่มต้นที่ปัญญาจะเจริญได้ โดยไม่ใช่เพียงแค่จำ คุณสุรีย์บอกหน่อยสิว่าสภาวธรรมคืออะไร เป็นอย่างไร ขณะนี้

    ผู้ฟัง ขณะนี้ เมื่อย

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วเมื่อย เป็นสภาวธรรม ไม่ใช่ของคุณสุรีย์ เห็นไหมแค่นี้ เราก็ยังจะสามารถจะเข้าใจได้ว่า ภาวะคือความเมื่อย ไม่ใช่ของใคร เป็นภาวะของเมื่อย เมื่อยจะต้องเมื่อยอย่างนี้ แล้วก็ต้องอย่างนี้ด้วย ไม่ใช่เมื่อยอย่างอื่น ถ้าเมื่อยอย่างอื่นก็ไม่ใช่สภาวะของเมื่อยอันนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าเมื่อยอันนี้เป็นลักษณะอย่างนี้ นี้คือสภาวะของเมื่อยอย่างนี้ แสดงว่าให้เห็นว่าความเป็น เฉพาะของตนๆ ๆ ของธรรมแต่ละอย่าง นี่เราก็สามารถที่จะรู้ภาษาบาลี แล้วแท้ที่จริงแล้ว คำนั้นหมายความถึงตัวธรรม แล้วตัวธรรมอย่างไร ก็เป็นตัวธรรมอย่างนั้น สำหรับคุณสุรีย์ ขณะนั้นเขาไม่ได้ คิดถึงรูปเลย เวลาที่เขาตอบว่าเมื่อย นี้เป็นสิ่งที่เราต้องแยกจริงๆ ว่า นามธรรมเป็นนามธรรม รูปธรรมเป็นรูปธรรม เวลาที่ลักษณะที่เมื่อยปรากฏ ขณะนั้นเป็นความรู้สึก โต๊ะไม่เมื่อย เสาไฟฟ้าไม่เมื่อย เพราะฉะนั้น ลักษณะความรู้สึกเมื่อย เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ถึงแม้ว่าเราไม่ใช่คำว่า นามธรรมก็ตาม แต่ลักษณะนั้นเป็นสภาพที่รู้สึก นี้คือเราจะต้องค่อยๆ แยกลักษณะที่เป็น รูปธรรม ออกจาก นามธรรม ขณะที่จิตรู้สภาพธรรม มีอารมณ์เดียว จะมี ๒ อารมณ์ไม่ได้ ขณะที่คุณสุรีย์ คิดถึงลักษณะที่เมื่อย คุณสุรีย์ไม่ได้มีลักษณะของรูปหนึ่งรูปใดเลย ในขณะนั้นที่กำลังเป็นอารมณ์ เฉพาะสภาพที่เมื่อยเท่านั้นที่กำลังเป็นอารมณ์ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็จะต้องแยกจริงๆ ว่ารูปเป็นรูป นามเป็นนาม ไม่ใช่พอเมื่อยแล้วไปคิดถึงรูป แต่ต้องรู้ว่า ลักษณะที่เมื่อย เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ขณะหนึ่ง แล้วมีใครไม่รู้จักลักษณะเมื่อยบ้างไหม แต่ว่าไม่มีใครไม่รู้จักเมื่อย ใช่ไหม เมื่อย ลักษณะเมื่อย ลักษณะที่เมื่อย ความรู้สึกที่เมื่อย ไม่มีใครไม่มี เพราะฉะนั้น ต่อไปเมื่อมีอยู่ที่ตัว แล้วไม่รู้ กับมีอยู่ที่ตัวแล้ว ค่อยๆ รู้ขึ้น อย่างไหนจะดีกว่ากัน เพราะว่าเราไปเรียนตำรามามากแล้ว ตำราจริงๆ อยู่ที่ตัว ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เพราะฉะนั้น ลักษณะที่เมื่อย ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งต่อไปเวลาที่เมื่อยเกิดขึ้น คงไม่ลืม พุทธคยา แล้วก็เราก็นั่งอยู่ที่นี่ แล้วเราเคยพูดถึงเรื่องนี้ แล้วเมื่อยจะต้องเกิดอีก ไม่ใช่ว่าจะเกิดเพียงครั้งเดียว เวลาเกิดอีกก็ระลึกได้ว่าเรารู้ลักษณะที่เมื่อยที่ไหนนะ ที่พุทธคยา เพราะว่าเราพูดเรื่องนี้ ก็จะได้ทั้งอนุสสติด้วย ถ้ามีการระลึกถึงว่าเราได้มานมัสการที่นี่ พร้อมกันนั้นเราก็มีโอกาสที่จะรู้ ได้รู้สภาพที่เมื่อยว่าเป็นสภาวะ คือสภาพธรรมที่มีภาวะของตน คือลักษณะที่เมื่อยอย่างนั้น จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ กลับไปบ้านก็เมื่อย คุณสุรีย์ แต่ว่าจะได้ความเข้าใจว่ารู้จักลักษณะที่เมื่อย ว่าเป็นสภาพธรรมที่นี่

    ผู้ฟัง แต่อันนี้ดิฉันต้องจำแล้ว เพราะว่าอาจารย์เทียบให้เห็นชัดเลยว่า ลักษณะที่ไม่เข้าใจสภาวธรรม แล้วพูดออกมา พูดอย่างไร คนที่เข้าใจสภาวธรรม อย่างพี่สงวนพูดออกมาแล้วพูดอย่างไร อันนี้ก็เป็นบทเรียนที่ดีมาก

    ท่านอาจารย์ แต่ข้อสำคัญที่สุดก็คือ ทั้งๆ ที่เมื่อย ทุกคนก็กำลังเมื่อย แต่ลึกๆ ลงไปก็คือเรานั่นแหละที่เมื่อย เพราะฉะนั้น ทำอย่างไร จึงจะรู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่เราที่กำลังเมื่อย โดยขั้นการฟัง ชินหูว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน แต่ตามความเป็นจริงลึกๆ ถ้าปัญญายังไม่สมบูรณ์แล้วก็ยังคงเป็นเราอยู่ ต่อให้ใครจะมาบอกว่า ไม่ใช่เราๆ ก็ยังเป็นเรา เพราะว่าปัญญายังไม่ได้ประจักษ์แจ้งในธาตุที่เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เรา และไม่ใช่ใครเลย และขณะใดที่สภาพธรรมนั้นปรากฏ อย่างอื่นจะไม่ปรากฏด้วย เพราะเหตุว่าคุณสุรีย์ลืมเลย นั่งอยู่ที่นี่ หรือว่า คิดถึงบ้าน หรืออะไรก็ไม่มีทั้งนั้น มีแต่เมื่อยที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น นี้ก็เป็นเครื่องที่แสดงให้เห็นความจริงว่า สภาพธรรมปรากฏทีละอย่าง เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพรู้อารมณ์ ทีละหนึ่งอย่าง เมื่อจิตประเภทหนึ่งเกิดขึ้น รู้อารมณ์อะไร ก็จะรู้เฉพาะอารมณ์นั้นอารมณ์เดียว ไม่ใช่รู้ไปทุกอารมณ์ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะเข้าใจเมื่อยให้เห็นจริงๆ ว่าไม่ใช่เรา เพราะว่าฟังนิดๆ หน่อยๆ อย่างไรๆ ก็ต้องเป็นเรา อยู่จนกว่าจะฟังบ่อยๆ พิจารณามากๆ พร้อมกับสติจะระลึกต่อไปอีก ถึงจะเห็นชัดว่าไม่ใช่ตัวตน ถ้าไม่มีร่างกายเลย เมื่อยมีไหม คุณสุรีย์

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มีแน่นอน จะเห็นได้ว่า ความทุกข์มีหลายอย่าง ทุกข์กายอย่างหนึ่ง ทุกข์ใจอย่างหนึ่ง ทุกข์ใจไม่เกี่ยวกับกายเลย ร่างกายแข็งแรงสบายดี แต่ใจไม่สบายได้ เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นสภาวะ คือภาวะของตนๆ อีกว่า ถ้าเป็นภาวะของความทุกข์ใจแล้วละก็ จะไม่ต้องอาศัยร่างกายเลยสักนิดเดียว เพราะเหตุว่าภาวะนั้นเป็นภาวะที่เป็นความทุกข์ทางใจ นี้ก็แสดงให้เห็นว่า สภาวธรรมมีหลายอย่างเฉพาะของตนๆ จริงๆ สำหรับร่างกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าไม่ว่าจะเป็นตา หรือจะเป็นหู หรือเป็นกาย หรือเป็นปอด หรือเป็นเลือด หรือเป็นอะไรก็ตาม เป็นที่ตั้งของความทุกข์ได้ทั้งนั้น เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีกาย ทุกข์ต่างๆ เหล่านั้น จะไม่มี ไม่มีการเจ็บคอ ไม่มีการปวดท้อง หรือว่าไม่มีการปวดศีรษะ อะไรๆ ทั้งหมดเลย นี่ก็แสดงให้เห็นว่า สภาวะเป็นจริงอย่างนั้น คือ ความทุกข์มี ๒ อย่าง ทุกข์กายอย่าง ๑ กับทุกใจอีกอย่าง ๑ เพราะฉะนั้น เวลาที่เกิดปวดเมื่อย คุณสุรีย์รู้เลย ทั้งๆ ที่เรานั่งอยู่ที่นี่ คือในเขตบริเวณพุทธคยา มีสิ่งที่กุศลจิตก็จะเกิด แล้วก็จะมีสภาพจิตหลายๆ อย่าง แต่แม้กระนั้นเมื่อมีกาย ก็ยังต้องเมื่อย หนีไม่พ้นความทุกข์ตราบใดที่ยังมีกายอยู่ เพราะฉะนั้น ทุกข์เพราะกิเลส จะดับได้ก็ต่อเมื่อมีปัญญา เมื่อมีปัญญาดับกิเลสแล้ว แต่ยังมีร่างกายอยู่ ทุกข์กายก็ต้องเกิด นี่ก็แสดงถึงสภาวะลักษณะ หมายความว่า ภาวะของความทุกข์กาย ตราบใดที่ยังมีกายอยู่ ภาวะนี้ก็มีได้ เพราะเหตุว่าภาวะนี้เป็นภาวะที่ต้องอาศัยกายจึงได้มีขึ้น นี้ก็เป็นสภาวะของเขา เพราะฉะนั้น เรียนธรรมจากตัวจริงๆ จากทุกๆ ขณะจริงๆ ในขณะนี้ก็จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจสภาวธรรมขึ้น

    ผู้ฟัง ขออนุญาต ผมแสดงความคิดเห็นในเรื่องของความเมื่อย ที่จริงแล้ว มีธรรมประกอบหลายๆ อย่าง อาทิเช่น แข็งก็มี ตึงก็มี ไหวก็มี ร้อนก็มี อะไรต่างๆ เหล่านี้ โดยความจริงแล้ว จิตแต่ละดวงเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน เพราะฉะนั้น กว่าจะเป็นความเมื่อย ซึ่งเป็นสภาวธรรมที่เกิดทางกาย แล้วก็ไม่ใช่สภาพปรมัตถธรรม แล้ว เป็นบัญญัติธรรม

    ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรมมี แต่ว่าขณะนั้นไม่ได้รู้ปรมัตถธรรม เพราะว่า กำลังคิดเรื่องราวของปรมัตถธรรม จิตคนละขณะ นี่แสดงให้เห็นถึงการเกิดดับอย่างเร็วมาก เพราะเหตุว่าตอนนี้คุณสุรีย์เมื่อยไหม

    ผู้ฟัง ยังเมื่อยอยู่

    ท่านอาจารย์ เห็นหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เห็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็แสดงว่าสภาวะของเห็น ไม่ใช่สภาวะของเมื่อย แล้วก็แสดงว่า จะเมื่อยตลอดเวลาไม่ได้ ต้องสลับกัน

    ผู้ฟัง แต่มันรวดเร็วมาก จนกระทั่ง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จิตขณะหนึ่งจะรู้อารมณ์ได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

    ผู้ฟัง ในขณะที่เมื่อยดิฉันก็ได้ยินด้วย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เมื่อยตลอดเวลา ก็ขอถามคุณสุรีย์ว่า เวลาที่คุณสุรีย์ ตอบว่าเมื่อย สติระลึกที่เมื่อยหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ได้ระลึก

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ระลึก นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้ว่า ความเมื่อยจะมีตลอด กับเด็กเล็กก็มี กับผู้ใหญ่ก็มี กับคนที่ไม่เคยฟังพระธรรมเลยก็มี กับคนที่ฟังพระธรรมแล้วก็มี เมื่อยก็ยังคงเป็นเมื่อย เพราะเหตุว่าสภาพที่รู้สึกเมื่อย ได้แก่จิตประเภทหนึ่ง คือ กายวิญญาณจิต ที่ใช้คำว่า กายวิญญาณ เพราะเหตุว่า จิตนี้ อาศัยกายปสาทจึงเกิดได้ ส่วนใดที่ไม่มีกายปสาท ส่วนนั้นจะไม่เจ็บ จะไม่เมื่อย เพราะฉะนั้น ที่ตัวของคุณหมอนงลักษณ์ เช่นที่ปลายผมก็ตาม ตรงนั้นจะไม่รู้สึกว่าเจ็บ ว่าเมื่อย หรือปวดเลย ตรงนั้นจะไม่รู้สึกว่าเจ็บ ว่าเมื่อย หรือปวดเลย แต่ว่าตรงใดก็ตามที่มีกายปสาท ตรงนั้นสามารถจะกระทบกับรูป ที่ทำให้ความรู้สึกที่เป็นทุกข์เกิดขึ้น แต่ทีนี้เวลาที่ทุกข์เวทนาปรากฏ เราไม่จำเป็นต้องไปคิดถึงรูปเลย เพราะเหตุว่าขณะนั้น เฉพาะทุกขเวทนาปรากฏ แต่ว่าโดยการศึกษาทราบว่า ทุกขเวทนาปรากฏที่รูป อาศัยรูป จึงได้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น นี้ก็แสดงให้เห็นว่าคนที่ตอบว่าเมื่อย ไม่ได้หมายความว่าสติระลึกที่เมื่อย เพราะเหตุว่าขณะนี้เห็น แล้วตอบว่าเห็น ไม่ได้หมายความว่าสติระลึกที่เห็น ขณะนี้ได้ยินก็ตอบว่าได้ยิน ไม่ได้หมายความว่าสติระลึกที่ได้ยิน เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน ไม่ใช่เพียงตอบได้ว่าเมื่อย เวลาที่เมื่อย ใครๆ ก็ตอบได้ แต่ความรู้สึกเมื่อย จะปรากฏกับกายวิญญาณจิต คือจิตที่อาศัยกายปสาทเกิด รู้สึกเมื่อย ประเภทหนึ่ง และขณะที่สติระลึก ที่ลักษณะที่เมื่อย เพราะฉะนั้น เมื่อยจะปรากฏกับสภาพธรรม ๒ อย่าง คือจะปรากฏกับกายวิญญาณจิตธรรมดาๆ ที่รู้สึกเมื่อยอย่างหนึ่ง แล้วจะปรากฏกับสติที่กำลังระลึกลักษณะที่เมื่อย อีกอย่างหนึ่ง นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ผู้นั้นสามารถที่จะตอบได้ว่า ขณะใดหลงลืมสติ ขณะใดมีสติ เพราะฉะนั้น จึงได้ถามคุณสุรีย์ว่า เวลาคุณสุรีย์ตอบว่าเมื่อย สติเกิดหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ นี้ก็แสดงให้เห็นว่าเฉพาะกายวิญญาณ รู้สึกเมื่อย เหมือนอย่างแข็ง แข็งก็จะปรากฏเฉพาะกับกายปสาท เราไม่ต้องเรียกว่านิ้วของเรา เท้าของเรา หรือว่าศีรษะของเรา หรือว่าแขนของเรา ส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นรูป ที่มีกายปสาทกระทบกับรูปซึ่งเป็นมหาภูตรูป ขณะนั้นจะปรากฏว่าแข็งหรืออ่อน ร้อนหรือเย็น เพราะลักษณะที่อ่อนมี แข็งมี เย็นมี ร้อนมี ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงกายวิญญาณ แต่ว่าอ่อนหรือแข็ง จะปรากฏกายวิญญาณธรรมดาๆ และปรากฏกับสติที่กำลังระลึกลักษณะที่อ่อนหรือแข็งนั้นด้วย เพราะฉะนั้น จึงสามารถที่จะรู้สึกตัวได้ ด้วยสติปัญญาว่า ขณะนั้นสติระลึกหรือเปล่า หรือว่าเพียงแต่กระทบอ่อนหรือแข็ง ก็รู้ว่า อ่อนหรือแข็ง แต่ว่าอ่อนหรือแข็งที่กำลังกระทบ สติระลึกด้วย เพราะฉะนั้น อ่อนหรือแข็งปรากฏกับกายวิญญาณที่รู้อ่อนหรือแข็ง และปรากฏกับสติที่ระลึกด้วย นี้ก็เป็นความต่างกันไม่ใช่ว่าให้ตอบตามตำรา แต่ว่าตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น แบบฝึกหัดอันนี้ เป็นแบบฝึกหัดที่ดีมากเลยว่า ถ้าเผื่อเราจะ มีการถามโดยที่ว่า ทันทีเดี๋ยวนั้น ลักษณะในการตอบของคน จะทำให้ทราบว่าผู้นั้น เข้าใจในระดับไหน ในระดับขั้นการฟัง หรือขั้นการคิด หรือขั้นการภาวนา อย่างดิฉันเข้าใจเลยว่าดิฉัน ขั้นการฟังเท่านั้น จำได้ก็ตอบ จำไม่ได้ก็ลืมไปแล้ว คือยังไม่เกิดสติอะไรเลย ที่จะมาตอบอาจารย์ได้ ตามที่สติระลึก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่เข้าใจอย่างนี้ ยังไม่ต้องปฏิจจสมุปบาท ก็ได้

    ผู้ฟัง ก็ต้องระดับการฟังก่อน

    ท่านอาจารย์ ถึงระดับการฟัง ต้องฟังเข้าใจอย่างนี้ แล้วถึงจะค่อยๆ เข้าใจก้าวไปอีกตามลำดับ เพราะว่าปฏิจจสมุปบาทก็ไม่พ้นจากสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ เดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง สุตมยปัญญา ขั้นการฟังมากกว่า มากกว่าที่จะมาให้ระลึกรู้ หรืออะไร

    ท่านอาจารย์ แต่ทีนี้การฟังแล้ว มี ๒ อย่าง ฟังแล้วก็จำ แล้วก็ลืม แล้วก็ไม่เข้าใจ กับฟังด้วยความเข้าใจ

    ผู้ฟัง เข้าใจมันก็ยังอยู่ขั้นการฟัง

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าฟังด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่ด้วยความจำ

    ผู้ฟัง ถูก แม้ฟังด้วยความเข้าใจ มันก็ยังไม่ถึงระดับ ๓ คือ ภาวนามยปัญญา

    ท่านอาจารย์ ก่อนที่จะพูดถึงปฏิจจสมุปบาท ซึ่งแม้ในพระอภิธรรมปิฏก ก็เป็นคัมภีร์สุดท้าย คือ คัมภีร์ปัฏฐาน คิดดู คัมภีร์อื่นมาก่อนทั้งนั้นเลย ลักษณะของกุศลจิต อกุศลจิต ธัมมสังคณีปกรณ์ วิภังค์ พวกนี้มาก่อนหมด แล้วก็ปัฏฐานอันดับสุดท้าย เพราะฉะนั้น การศึกษาของเราถ้าเป็นไปตามลำดับ ประกอบกับความเข้าใจสภาวธรรมจริงๆ เป็นเรื่องที่ชาติหน้าเราก็ไม่ลืม แล้วเราสามารถที่จะเข้าใจชัดขึ้นด้วย เพราะว่าความเข้าใจธรรม เรามี แต่ถ้าเราจำเรื่องราวเท่านั้น ชาติหน้าเราลืมหมด แล้วเราก็ไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ถ้าเข้าใจอันนี้แล้ว จะทำให้เข้าใจปฏิจจสมุปบาท ได้ดีด้วย

    ผู้ฟัง ความแตกต่างระหว่างสภาพของกายวิญญาณจิตกับสภาวะของการระลึกรู้ นี่ความแตกต่างอย่างไร

    ท่านอาจารย์ จิตคนละประเภท กายวิญญาณจิต เพียงรู้สิ่งที่กระทบว่า อ่อนหรือแข็ง อย่างขณะนี้ ทุกคนพิสูจน์เลย ขณะที่กำลังรู้อ่อนหรือแข็ง เป็นจิตที่กำลงรู้ ลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง ถ้าใช้ภาษาบาลี ก็คือว่า กายวิญญาณ เพราะเหตุว่าต้องอาศัยกายปสาท จิตนี้จึงเกิดได้เท่านี้เอง แต่ถ้าเป็นสติที่ระลึก เพื่อรู้ตามความเป็นจริง ลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเราเคยคิดว่าเป็นมือเรา นิ้วเรา เคยคิดว่าเป็นดินเป็นอะไรก็ตามแต่ ขณะนั้นไม่มีอะไรเลย ชื่อ บัญญัติ ไม่เข้ามาเกี่ยวข้องเลย มีแต่ลักษณะของปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วเมื่อสติที่เป็นสัมมาสติ ระลึกเพื่อละความยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะเหตุว่าตามความเป็นจริง ลึกยิ่งกว่านั้น ละเอียดยิ่งกว่านั้น ก็คือสภาพธรรมนั้นกำลังเกิดดับเร็วมาก แต่ว่าขณะที่ยังไม่รู้ว่าเป็นนามธรรม ไม่รู้ว่าเป็นรูปธรรม ความเกิดดับของสภาพธรรม ไม่ปรากฏ เพราะเหตุว่า ความเกิดดับของสภาพธรรมจะไม่ปรากฏกับอวิชชา หรือการหลงลืมสติ แต่จะปรากฏต่อเมื่อปัญญาเจริญขึ้นๆ ๆ จนลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมปรากฏ กับปัญญาต่างระดับที่เป็นวิปัสสนาญาณ จนหมดความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แล้วยังละคลายความติดข้อง ในนามหนึ่งนามใด รูปหนึ่งรูปใด

    นี้แสดงให้เห็นว่าสติจะต้องระลึกจนทั่ว ถ้าไม่ทั่วก็จะต้องมีความติดข้อง ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แม้อย่างบางเบาและอย่างรวดเร็วสักเท่าไร ก็ตาม ปัญญาก็จะต้องรู้ทัน คม และอาจหาญร่าเริงต่อลักษณะของสภาพธรรมทุกชนิด เช่น ความหวั่นไหว บางคนก็ติดแล้ว ขณะนั้นก็เป็นตัวตน ไมใช่เป็นสติปัฏฐาน แต่ถ้าอาจหาญร่าเริง เพราะสติระลึกจนชินว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งแล้วหมดไป เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดๆ ในชีวิตของเราที่เกิด ความไม่หวั่นไหวเพราะปัญญา คือรู้ว่าเป็นเพียงชั่วขณะที่สภาพธรรมนั้นอาศัยปัจจัย เกิดแล้วดับ จึงไม่ใช่เรา ทั้งหมดมาสู่จุดๆ เดียวคือ ความสมบูรณ์ของปัญญาที่รู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธาตุต่างๆ ความหวานก็เป็นธาตุชนิดหนึ่งลักษณะที่เผ็ด ลักษณะที่ร้อน หรือลักษณะของเสียง ของกลิ่น ก็เป็น แต่ละธาตุ เพราะฉะนั้น ความหวั่นไหวก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง โลภะก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง โทสะก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เมื่อทุกอย่างเป็นแต่เพียงธาตุซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ก็จะทำให้เห็นชัดเจนว่าไม่ใช่ตัวตน เมื่อปัญญาสมบูรณ์ถึงขั้นที่จะประจักษ์ สภาพที่กำลังเกิดดับ สภาพที่กำลังเกิดดับนี้ปรากฏแน่นอน กับปัญญาที่ได้อบรมแล้ว นี้ก็แสดงให้เห็นว่า ความสมบูรณ์ของปัญญาต้องเกิด เพราะเหตุว่าสติระลึกขั้นต้น ถ้าสติไม่ระลึก ความเกิดดับนั้นก็ปรากฏไม่ได้ แต่ว่าเมื่อระลึกแล้ว ไม่ใช่ความเกิดดับปรากฏทันที ระลึกแล้ว ยังจะต้องรู้ลักษณะที่เป็นรูปธรรมซึ่งต่างกับนามธรรม ไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง ขณะนี้กำลังได้ยินเสียงอาจารย์ ซึ่งกำลังอธิบายธรรมอยู่ ดิฉันก็พยายามน้อมใจตาม เพื่อจะให้เกิดความเข้าใจ เสียงไมโครโฟนที่ดัง ทั้งๆ ที่น้อมใจตาม ให้เกิดความเข้าใจ เสียงก็ยังได้ยินอยู่ แสดงว่า การเกิดดับเร็วมาก จนจับไม่ทัน

    ท่านอาจารย์ เร็วมาก ไม่ใช่จับไม่ได้ อย่าใช้ คำว่า จับไม่ได้ เพราะเหตุว่าถ้าเป็นความจริงอย่างไร สติจะระลึกอย่างนั้น แล้วจะมีความไวที่จะละด้วย คือไม่ยึดถือสภาพธรรม ที่เพียงปรากฏแล้วดับ เพราะฉะนั้น ความคมของสติ ก็จะติดตาม ระลึกลักษณะของสภาพธรรมได้ทุกอย่างเหมือนปกติทุกอย่าง แต่ด้วยปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงธรรมเท่านั้น ไม่ต้องบิดเบือน ไม่ต้องทำอะไรทั้งหมด ถ้าบิดเบือนนิดหนึ่ง คือโลภะ ทำให้เปลี่ยนไป

    ผู้ฟัง อยากจะเรียนถามว่า ถ้าเผื่อสมมติว่า สติเกิด แล้วเราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องละกิเลส ทันทีทันควัน ใช่ไหม คือหมายตวามว่าต้องสติเกิดด้วยหรือ หรือการที่สติเกิดไม่ได้ละกิเลสอะไรเลย

    ท่านอาจารย์ สติเกิดทำไมเล่า

    ผู้ฟัง สติเกิดทำไม

    ท่านอาจารย์ เกิดมาว่างๆ หรือว่าทำอะไร เกิดมาทำไม สติ

    ผู้ฟัง สติก็เกิดมาเพื่อระลึกรู้สภาพที่ปรากฏขึ้น ตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ สติ ทำหน้าที่ของสติ เวลาที่สติเกิด คือ ระลึก ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมเลย ไม่มีโอกาสจะรู้เลยว่า เป็นปรมัตถธรรม ใครก็พูดปรมัตถธรรม ก็ไม่รู้ว่าอะไร ขณะไหน แต่พอศึกษาแล้วถึงได้รู้ว่าปรมัตถธรรม คือสิ่งที่มีจริงๆ ตามปกติ ตามธรรมดาทุกอย่าง เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้วสติระลึก หมายความว่าต้องมีความเข้าใจอย่างนี้ก่อน นี้แสดงให้เห็นว่าต้องนำด้วยสัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิก็ไปนั่งทำอย่างอื่น ที่ไม่ใช่การระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ต้องมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสติ ถึงจะเกิดระลึกได้ แต่ว่าสัมมาสติ เป็นสภาพที่เพียงระลึก รู้ลักษณะของปรมัตถธรรม จะรู้เกินกว่านี้ไม่ได้ เพราะว่าสติไม่ใช่ปัญญา ด้วยเหตุนี้ เมื่อสติเกิด สติทำหน้าที่ระลึก แต่การฟังที่ได้ฟังมาแล้วมากบ่อยๆ จะทำให้พร้อมกับที่สติระลึก มีปรมัตถธรรมปรากฏให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ในขณะนั้น หมายความว่า ความรู้ทั้งหมดที่ฟังมา กี่วัน กี่เดือน กี่ปี จากเทป วิทยุ เช้าค่ำอย่างไรก็ตาม เราไม่ได้ระลึกทั้งหมดได้ ได้กี่ร้อยกี่พันครั้ง ในขณะนั้น แต่ว่าความเข้าใจที่ได้จากการฟัง เวลาที่สติระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม ความเข้าใจลักษณะสภาพธรรมจะมีได้ และจะเจริญได้ เพราะอาศัยการฟังนี้เอง

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ อย่างที่เมื่อสักครู่นี้ อย่างที่ท่านผู้ฟังได้ถามมาว่า ในขณะที่กำลังพิจารณาน้อมใจที่จะฟังท่านอาจารย์ แล้วก็ได้ยินเสียงอื่นด้วย แสดงถึงสภาพจิตที่ จิตที่ทำหน้าที่ของเขาเกิดดับอย่างรวดเร็ว อย่างน้อยที่สุดในขั้นการฟัง ก็จะเริ่มเข้าใจ และเริ่มใส่ใจ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครรู้ การทำงานของสังขารขันธ์ เวลาที่พูดเรื่องขันธ์ ๕ เราจำได้หมดเลย รูปขันธ์ ได้แก่สภาพที่เป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเลย ทุกอย่างทุกประเภท ทั้งสี ทั้งเสียง ทั้งกลิ่น ทั้งรส ทุกอย่างเป็นรูปขันธ์

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 99
    28 ก.พ. 2568