ปกิณณกธรรม ตอนที่ 381


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๘๑

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏ มีจริงๆ ไหม คุณศีลกันต์

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสิ่งที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ มีจริงๆ เพราะว่ามีตาก็เห็น เมื่อมีสิ่งหนึ่งที่กำลังปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏเป็นธรรม เสียงที่ได้ยิน มีจริงไหม

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมไหม

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ คิดนึก

    ผู้ฟัง คิดนึกก็มีจริง

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรม

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ความรู้สึก เป็นสุขมีจริงไหม

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ ความโกรธ

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเป็นธรรม ไม่เว้นเลย มันจะมาเข้ากับคำว่า “อนัตตา” หมายความว่าสิ่งที่มีจริง เราเคยคิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งเที่ยง แล้วบางคนก็อาจจะคิดว่ามีวิธีที่จะบังคับได้ แต่ว่าถ้าเข้าใจธรรมจริงๆ ก็จะรู้ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา นี่ขยายความของธรรมว่า ธรรมที่มีจริงทั้งหมดเป็นอนัตตา คำว่า อนัตตา มาจากคำว่า อะ กับอัตตา แล้วเปลี่ยน อะ เป็น นะ ก็เป็นอนัตตา หมายความว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ตัวตน คือ ไม่ใช่สิ่งของใครที่จะเป็นเจ้าของได้ เป็นสภาพธรรมที่มีจริงแต่ไม่ใช่ของใครเลยทั้งสิ้น นี่ต้องค่อยๆ คิดเลย ว่าสิ่งที่มีจริงทั้งหมดเป็นอนัตตา ธรรมทั้งหมดเป็น อนัตตา ธรรมทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีจริง

    เริ่มเข้าใจความหมายของคำว่า อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะว่าอย่างเราที่เคยเกิดมา แล้วก็ยึดถือว่าเป็นเรา ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า มันเหมือนของเรา อยู่ที่นี่ตรงนี้ ผมตรงนี้ก็เป็นของเรา แต่พอผมนั้นหลุดออกไป อยู่ที่หมอนบ้าง อยู่ที่พื้นบ้าง ในความรู้สึกเหมือนกับว่า ผมเราหลุดออกไป แต่สิ่งใดก็ตามซึ่งมันไกลออกไปจากตัว เราจะรู้ความจริงว่า มันไม่สามารถจะอยู่ตรงนี้อีกต่อไป ที่จะให้เรายึดถือว่า เป็นตัวตน มีคนหนึ่งเขาตัดขา ตัดขาใหม่ๆ เวลาเขานอนตื่นขึ้นมา เขายังรู้สึกเหมือนว่า เขามีขา เพราะว่าความเคยชินว่าเคยมีขา แต่ขณะนั้นขาเขาถูกตัดไปข้างหนึ่ง แต่ความทรงจำว่ายังมีอยู่ ทำให้เข้าใจว่าเป็นตัวตน

    ถ้าเราจะเข้าใจความหมายของคำว่า ตัวตน คือสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ต้องมาประชุมรวมกัน ทำให้มีรูปร่างสัณฐาน เราถึงจะคิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ ถ้าเอาหนังสือเล่มนี้ไปแตกย่อยฉีกให้กระจุย ให้ละเอียดยิบ เราก็ไม่มีความเห็นว่าเป็นหนังสือ เพราะฉะนั้น เส้นผมของเรา หรือว่าแขนของเรา หรือสิ่งต่างๆ ที่อยู่ที่ตัว ลองเอาไปแยกให้ละเอียดยิบหมดเลย มันก็ไม่ประชุมรวมกัน มันก็เป็นอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ เป็นตัวเราไม่ได้

    ในพระไตรปิฎก ท่านใช้คำว่ามีโคอยู่ตัวหนึ่ง แล่โคออก เอาหนังออกหมด แล้วก็หั่นเป็นชิ้นส่วนต่างๆ เป็นตับ เป็นปอด เป็นม้าม หรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วก็คลุมกันไว้อย่างเดิม เอาหนังมาคลุมไว้ หนังที่ลอกออกไป ความสำคัญของคนก็อาจจะคิดว่า ยังมีโคตัวนั้นอยู่ แต่ถ้าเป็นคนที่สามารถจะรู้ความจริง อย่างเป็นคนขายเนื้อวัว เขาก็จะรู้เลยว่าขณะนี้เป็นเนื้อส่วนไหน โคทั้งตัวก็ไม่มีแล้ว

    เพราะฉะนั้น รูปร่างกายของเราถ้าแตกย่อยกระจัดกระจายออกหมด ก็จะไม่มีความเป็นเราเลย แต่ว่ามีความเป็นลักษณะของรูปแต่ละอย่าง มีใครคิดบ้างไหมว่าในตัวของเรา หรือที่โต๊ะ หรือที่กระจก หรือที่หมอน หรือที่กระเป๋า หรือที่ไหนก็ตาม มีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ละเอียดยิบ พร้อมที่จะแตกทำลายได้หมดเลย ทันทีเลยก็ได้

    นี่คือไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีสภาพธรรมที่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็หมดไป อันนี้ก็รู้สึกว่ามันกว้างๆ ต้อง ค่อยๆ แยกออกมาทีละอย่างๆ แต่ก่อนอื่นให้ทราบว่า ทุกอย่างที่มีจริง มี ปฏิเสธไม่ได้ แต่ว่าเป็นธรรมก่อน ทีนี้ทุกอย่างที่มีจริง เป็นธรรม มีลักษณะที่ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คุณครูทราบแล้ว ใช่ไหม

    ผู้ฟัง รูปกับนาม

    ท่านอาจารย์ รูปกับนาม แต่ภาษาไทย เราเอาภาษาบาลีมาใช้ ทำให้เข้าใจผิด รูปคือสิ่งที่เรามองเห็นเป็นรูป นามคือชื่อ แต่ไม่ใช่เลย เวลาที่ศึกษาแล้วเราต้องลืม ความหมายภาษาไทย แล้วก็คิดถึงสภาพธรรมว่า รูป คำสรุป คำรวมคือ เป็นสิ่งที่มีจริง เกิดจึงปรากฏ ถ้าไม่เกิดก็ไม่ปรากฏ อย่างเสียง ถ้าไม่เกิด ใครจะรู้ลักษณะของเสียง เมื่อกี้นี้ได้ หรือเสียงเดี๋ยวนี้ ที่กำลังได้ยิน เสียงต้องเกิด จึงมีลักษณะที่ปรากฏว่าเป็นเสียง ที่รู้ได้ทางหู แล้วก็ดับ

    เพราะฉะนั้น ลักษณะของสภาพธรรมมี ๒ อย่าง ต่างกัน อย่างหนึ่งมีจริงๆ เกิดขึ้น แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ปรากฏให้รู้ได้ทางหู แต่ตัวเสียงไม่สามารถจะรู้อะไรได้ เรากระทบโต๊ะแข็ง เก้าอี้แข็ง หนังสือแข็ง ลักษณะที่แข็งมีจริง ไม่ต้องเรียกชื่อก็ได้ จะเรียกก็ได้ ไม่เรียกก็ได้ แต่ใครเปลี่ยนลักษณะแข็งให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะว่าแข็งเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเป็นรูปธรรม

    ถ้าเอารูปที่ปรากฏทางตา เอาเสียงออก เอากลิ่นออก เอารสออก เอาเย็นร้อนอ่อนแข็งออก เหลือสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งต่างกับรูป เป็นสภาพที่สามารถจะคิด นึก จำ เป็นสุข เป็นทุกข์ เสียใจ ดีใจได้ ทั้งหมดนี่เป็นนามธรรม

    ถ้าเราจะแสวงหาโลก ไม่ใช่เฉพาะโลกนี้โลกเดียว ที่นี่ที่เดียว ที่อื่นทั้งหมด ก็จะไม่พ้นจากสภาพธรรม ๒ อย่าง คืออย่างหนึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น แต่อีกอย่างหนึ่งเป็นสภาพที่มีปัจจัยทำให้เกิดรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วก็ดับ

    นี่คือชีวิตของเรา ของทุกคน ซึ่งเป็นสัตว์ บุคคล ต้องมีทั้งนามธรรมกับรูปธรรม แต่ความเป็นอนัตตาก็คือว่า เป็นสภาพที่ทางธรรมใช้คำว่า ปรมัตถธรรม

    ปรมัตถธรรม หมายความว่า มาจากคำว่า ปรม คือใหญ่ ยิ่ง บรม กับ ธรรม ปรมัตถธรรม หมายความถึง ธรรมที่ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้เลย อย่างแข็ง จะให้เปลี่ยนเป็นเย็นก็ไม่ได้ หวานจะให้เปลี่ยนเป็นขมก็ไม่ได้ สภาพธรรมแต่ละลักษณะ มีลักษณะเฉพาะของตนๆ จึงเป็นปรมัตถธรรม ธรรมทั้งหมดเป็นปรมัตถธรรม เรียกชื่อก็ได้ ไม่เรียกชื่อก็ได้ แต่มี แล้วใครก็เปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นไม่ได้ จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า อภิธรรม ความหมายเดียวกันหมดเลย

    ถ้าใครรู้จักธรรม คือ รู้จักปรมัตถธรรม รู้จักอภิธรรม ว่าธรรม หมายความถึงสิ่งที่มีจริงที่ใครเปลี่ยนแปลงลักษณะไม่ได้ เป็นปรมัตถธรรม เมื่อใครไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นได้ จึงเป็นอภิธรรม แม้พระพุทธเจ้าก็ไม่เปลี่ยนลักษณะของอภิธรรม เพียงแต่ตรัสรู้ว่าสภาพธรรมมีจริง ที่เคยยึดถือว่าเป็นเราหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็คือ นามธรรมบ้าง รูปธรรมบ้าง

    ผู้ฟัง รูป หรือว่าจิต หรืออะไร ที่ว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับ เกิดดับนั้น ขณะหนึ่งจะใช้เวลา สำหรับรูปใช้เวลา ๑๗ ขณะจิต สมมติว่า ข้าเจ้ามองไปข้างหน้า เห็นอาจารย์สุภาพ แต่จะเห็นอาจารย์สุภาพอยู่นานหลายนาที ก็แปลว่า ๑๗ ขณะนั้นต้องมีตั้งเป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่น

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว นามธรรมเป็นสภาพรู้ รู้ที่นี่ไม่ใช่หมายความว่ารู้อย่างปัญญา ลักษณะที่รู้คือ สามารถที่จะรู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏมีรูปร่างลักษณะอย่างไร อย่างเสียง จิตก็สามารถจะรู้ว่าเสียงนั้นสูง เสียงนั้นต่ำ เสียงนั้นมีลักษณะอย่างไร สิ่งที่ปรากฏทางตามีสีสันวรรณะต่างๆ สภาพรู้ มี ถ้าไม่มีธาตุรู้หรือสภาพรู้นี้ ถึงแม้ว่าจะมีรูปอยู่เต็มห้อง แต่ไม่มีใครเห็น สภาพเห็นไม่มี ก็ไม่มีการรู้ว่ามีรูปนี้เลย คุณครูนั่งอยู่ตรงนี้ แต่มีคนตาบอด เขาไม่สามารถจะรู้ได้ว่ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏอย่างนี้ อยู่ตรงนี้ เป็นลักษณะอย่างนี้ แต่สำหรับคนที่มีตา สามารถที่จะเห็นว่า ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ลักษณะอย่างนี้ๆ แม้ไม่เรียกชื่อ ไม่รู้จักชื่อคุณศีลกันต์เลย แต่ก็รู้ว่ามีสิ่งนี้กำลังปรากฏอยู่ตรงหน้า แล้วมีรูปร่างลักษณะอย่างนี้ๆ

    นี่เป็นลักษณะของนามธรรม ซึ่งมี ๒ อย่าง นามธรรม คือจิตกับเจตสิก จิตนี่เราเคยได้ยินมาตั้งแต่เด็กเลย ทุกคนมีจิต แต่ไม่รู้ว่าจิตอยู่ที่ไหน จิตมีลักษณะอย่างไร จนกว่าจะทรงแสดงว่า จิตคือสภาพที่รู้ สามารถที่จะเห็น สามารถที่จะได้ยิน สามารถที่จะได้กลิ่น สามารถที่จะลิ้มรส สามารถที่จะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ความสุข ความทุกข์ ความง่วง ความขยัน ทุกอย่างหมด เป็นนามธรรม คือ จิตกับเจตสิก แต่จิตเขาต่างกับเจตสิกที่ว่า จิตเขาเป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น ในขณะที่เห็น คือ จิต ธาตุชนิดนี้กำลังสามารถเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เขาไม่จำ เขาไม่ชอบ เขาไม่ชัง ความจำ ความชอบ ความชัง เป็นลักษณะของเจตสิกซึ่งต้องเกิดกับจิต

    นามธรรมมี ๒ อย่างคือ จิตกับเจตสิก เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน เห็นสิ่งเดียวกัน ได้ยินเสียงเดียวกัน ได้กลิ่นเดียวกัน ต้องเกิดร่วมกันโดยตลอด ซึ่งก็เป็นชีวิตประจำวันของเรา ก็มีทั้งจิต มีทั้งเจตสิก มีทั้งรูป แต่ถ้าเป็นพวกโต๊ะ เก้าอี้มีแต่รูปไม่มีจิตไม่มีเจตสิก แล้วก็บางภพ บางภูมิ เขาสามารถมีแต่นามธรรม คือ จิตกับเจตสิก เท่านั้น ไม่มีรูปเกิดเลย เพราะเขามองเห็นว่าที่ทุกคนเป็นทุกข์เพราะรูป ถ้าไม่มีรูปไม่มีการฆ่ากัน ไม่มีการประพฤติผิดทางกาย ไม่มีการเบียดเบียนประทุษร้าย เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีรูป ไม่มีทุกข์ ไม่ต้องอาบน้ำ ไม่ต้องกินข้าว ไม่ต้องเดือดร้อนแต่งตัว ไม่ต้องทำอะไรหมดเลย เขาสามารถที่จะอบรมจิตถึงระดับที่ตายแล้วเกิดเฉพาะนามธรรม เป็นอรูปพรหม ซึ่งยากมาก ไม่ง่ายเลย แต่ถ้าปัญญาไม่ถึงระดับนั้น ถึงใครจะตายจากโลกนี้ไป ก็ยังเกิดในภพภูมิที่มีนามกับรูป ที่เราใช้คำว่าขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ ๑ เป็นรูป เวทนาความรู้สึกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญา ความจำ ที่กำลังจำในขณะนี้เป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกอื่นๆ เป็นสังขารขันธ์ จิตก็เป็นวิญญาณขันธ์

    ไม่ทราบ เจ้าเคยได้ยินขันธ์ ๕ ไหม ไม่เคย ดิฉันตอนที่ไม่ได้เคยไปวัด ก็ไม่รู้เรื่องขันธ์ ๕ เหมือนกัน แต่พวกไปวัดเขาสวดเก่ง เขาสวดทำวัตรเช้า รูปูปาทานขันธ์ หมายความว่า รูปเป็นอุปาทาน เป็นขันธ์ที่ทำให้มีการยึดถือ เรายังไม่พูดถึงขันธ์ เอาแต่ชื่อก่อน รูปูปาทานขันธ์ ขันธ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของอุปาทาน การยึดถือ รูปเป็นที่ตั้งของการยึดถือ เวทนูปาทานขันธ์ มาจากคำว่า ขันธ์ อุปาทาน เวทนา เป็น เวทนูปาทานขันธ์ ความรู้สึก เราติดข้องมากเลย เพราะทุกคนที่เกิด เมื่อจิตเกิดต้องมีเวทนาเจตสิก

    ภาษาไทยเราหยิบเอาภาษาบาลีมาใช้ แต่ความหมายเปลี่ยน พอถึงเวทนา เราคิดว่าสงสารมาก น่าสงสารเหลือเกิน แต่ความจริงเวทนาในภาษาบาลี เป็นสภาพนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ จะไม่มีจิตสักขณะเดียวซึ่งไม่มีเวทนา เพราะว่าความรู้สึกมีถึง ๕ อย่าง ความรู้สึกสุขทางกาย๑ ความรู้สึกทุกข์ทางกาย๑ ความรู้สึกโสมนัสดีใจทางใจ๑ ไม่เกี่ยวกับทางกาย เพราะว่าถึงกายจะไม่สุข แต่ว่าโสมนัสเวทนาก็เกิดได้ โทมนัสเวทนา เสียใจ ที่ภาษาไทยเราใช้โทมนัส เสียใจ ต่อให้กายเราสบายสักเท่าไร แต่ใจเราเป็นทุกข์เดือดร้อน นั่นก็คือโทมนัสเวทนา

    เวทนามี ๕ อย่าง สุข ๑ ทุกข์ ๑ ดีใจ ๑ เสียใจ ๑ เฉยๆ อีก ๑ เฉยๆ ก็เป็นความรู้สึกชนิดหนึ่ง ถ้าใครถามเราบอกเป็นอย่างไร ก็เฉยๆ ไม่ใช่เสียใจ ไม่ใช่ดีใจ ไม่ใช่ชอบ ไม่ใช่ชัง แต่เฉยๆ

    คนเราเกิดมาที่เราเห็นว่าสำคัญมาก แล้วติดข้องมาก คือความรู้สึก เพราะทุกคนอยากจะมีแต่ความรู้สึกที่เป็นสุข อยากจะมีแต่โสมนัส ไม่ว่าเราจะเห็นอะไร ดอกไม้เราก็อยากจะให้สวย ดอกไม่สวย เราก็ไม่เอามาปลูก เพราะเราต้องการให้โสมนัสเวทนา ความรู้สึกสบายใจ ความรู้สึกที่เป็นสุขใจเกิดขึ้น เสื้อผ้าทุกชิ้นก็ทำมาซึ่งความสุขใจ ของในบ้านทั้งหมดก็นำมาซึ่งความพอใจของเรา เราต้องการตั้งแต่เกิดจนตาย ต้องการสุขเวทนา แสวงหาซึ่งสุขเวทนา จะรบราฆ่าฟันต่อสู้แย่งชิง ทุจริต อย่างไรๆ ก็เพื่อตัวนี้ สุขเวทนา ไม่ว่าจะเป็นทางตาเห็น ทางหูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายกระทบสิ่งที่สัมผัส ก็ต้องการสิ่งที่ดีเพื่อสุขเวทนา ต้องการอาหารอร่อย วันนี้คุณครูต้องการอะไร ที่เป็นสุขเวทนาทางลิ้น จำได้ไหม

    ผู้ฟัง ยำมะม่วง

    ท่านอาจารย์ ใช่ไหม เพราะว่านำมาซึ่งสุขเวทนา ที่ไหน แกงร้อน ทุกอย่างหมด ทุกวัน หาแต่สุขเวทนา เป็นที่ตั้งของความยึดถือ โดยไม่รู้เลยว่า เป็นอนัตตา ทุกคนอยากได้ อยากมี แต่ใครจะได้หรือใครไม่ได้แล้วแต่เหตุปัจจัย แล้วแต่กรรมที่ทำมา

    นี่แสดงให้เห็นว่าทุกอย่างค่อยๆ เห็นความเป็นอนัตตาขึ้น แม้แต่เราเกิด ขณะแรกที่เกิด จิตเกิดเราเลือกไม่ได้เลย ว่าเราจะเกิดในตระกูลไหน มีพี่มีน้องกี่คน ประเทศไหน วงศาคณาญาติเราเป็นอย่างไร ต่อไปในชีวิตของเราจะพบสุขทุกข์อย่างไร ก็แล้วแต่กรรมซึ่งเป็นเหตุ เพราะว่าสภาพธรรมที่เป็นเหตุ คือ กุศลจิต จิตที่ดีงามประเภท หนึ่งกับอกุศลจิต จิตที่ไม่ดีงามอีกประเภทหนึ่ง เพราะฉะนั้น ผลต่างกัน เวลาที่จิตที่เป็นผลเกิดขึ้น เห็นสิ่งที่ดี เนื่องมาจากกุศลกรรมที่ได้ทำแล้ว ได้ยินเสียงที่ดีก็เนื่องจากกุศลกรรม ได้กลิ่นที่ดี ลิ้มรสที่ดีเพราะกุศลกรรมที่ทำมา แต่เวลาอกุศลกรรมให้ผล ป่วยไข้ได้เจ็บ ไม่อยากเลย ชีวิตเราก็มีแต่ความสุข เห็นสิ่งที่ดี แต่ทางกายนี่เป็นทุกข์ เพราะกรรมที่ได้ทำมา

    การศึกษาธรรม ให้ทราบว่า เป็นอนัตตา เพราะว่าไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เป็นไปตามปัจจัย คือสิ่งที่จะทำให้สิ่งนั้นๆ เกิดขึ้น ถ้าเป็นจิตที่ดีก็ทำให้เกิดจิตที่เป็นผลที่ดีเกิด ถ้าเป็นจิตที่เป็นเหตุที่ไม่ดีก็ทำให้จิตที่เป็นผลที่ไม่ดีเกิด แต่ว่าธรรมนี้เรื่องยาว เรื่องใหญ่ แล้วก็เรื่องที่ต้องศึกษาเป็นลำดับจริงๆ ตั้งแต่ต้น คือให้เข้าใจความหมายของคำว่า ธรรม ทุกอย่างที่เคยเป็นเรา แตกย่อยออกมา คือ นามธรรมกับรูปธรรม แล้วก็เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าเป็นนามธรรมก็มี ๒ อย่าง คือ จิตกับเจตสิก

    ผู้ฟัง ได้ยินอาจารย์พูดถึงจิต เจตสิก รูป ดิฉันอยากจะฟังเรื่องนิพพาน

    ท่านอาจารย์ จิตมีปัจจัยเกิด ขณะนี้เดี๋ยวนี้ เจตสิกก็มีปัจจัยเกิดพร้อมจิตดับพร้อมจิต ขณะนี้มีเวทนา มีความรู้สึก เป็นเจตสิกเกิดพร้อมจิต แล้วก็มีรูป นิพพานยังไม่มี เพราะฉะนั้น ถ้าเรายังไม่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งเกิดแล้วปรากฏ ไม่มีทางที่จะรู้นิพพานเลย เพราะว่าเรื่องของพระพุทธศาสนาเป็นศาสนา ที่ทำให้คนที่ได้ยินได้ฟัง พิจารณาแล้วเกิดปัญญาของตัวเอง เพราะว่า พุทธะ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่นจากกิเลส ตื่นจากความไม่รู้ เป็นผู้เบิกบาน ด้วยความรู้ที่ทำให้เห็นความจริงของสภาพธรรม ซึ่งเราอาจจะเคยได้ยินได้ฟังบ้างว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คุณมุกดาเคยได้ยินไหม อนิจจังคือไม่เที่ยง เกิดแล้วก็ดับไป สภาพที่เกิดแล้วดับ มันไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงหรือยั่งยืนเลย แล้วถ้าเรารู้ว่า สั้นมากแค่ไหน ถ้ารู้ว่าจิต เป็นสภาพนามธรรม ซึ่งเราอาจจะบอกว่า เกิดมามีอายุ ๖๐ ปี ๗๐ ปี ๙๐ ปี เหมือนนาน แต่ความจริงจิตเกิดหนึ่งขณะ ทีละ หนึ่งขณะของแต่ละคน คนหนึ่งจะมีจิตซ้อนกัน ๒ ขณะไม่ได้เลย แล้วจิตขณะหนึ่งซึ่งเกิด ดับเร็วมาก แต่จิตเขาเป็นธาตุประหลาด คือเป็นสภาพรู้เกิดเมื่อมีเหตุปัจจัยก็จริง เพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง แต่อายุสั้นมาก คือเกิดแล้วดับ อายุของจิตที่สั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงย่อยออกไปเป็น ๓ ขณะ คือ ขณะเกิด แล้วก็ตั้งอยู่สั้นๆ สั้นมาก แล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น อนุขณะ คืออุปาทขณะ คือขณะเกิด ขณะที่ยังไม่ดับ คือฐีติขณะ ยังตั้งอยู่ ภังคขณะ คือขณะที่ดับ ในขณะที่เร็วๆ อย่างนี้ ขณะที่เกิดไม่ใช่ขณะที่ดับ ขณะที่ตั้งอยู่ไม่ใช่ขณะที่เกิด ไม่ใช่ขณะที่ดับ ขณะที่ดับไม่ใช่ขณะที่เกิด ไม่ใช่ขณะตั้งอยู่

    ก่อนอื่นให้เข้าใจสภาพจิตของเราว่า น่าอัศจรรย์ มีปัจจัยเกิดแล้วดับเร็ว แต่เขาเป็นธาตุที่ประหลาดมาก คือทันทีที่ดับเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที ไม่มีระหว่างคั่นเลย

    จิตขณะแรกที่เกิดจนถึงขณะนี้ ห่างกันไกลแสนไกล เพราะว่าทันทีที่เกิด ดับ แล้วก็มีจิตขณะต่อไปเกิด แล้วก็มีจิตขณะต่อไปเกิด เรื่อยๆ จนกระทั่งถึงขณะนี้ ก็กำลังเกิดดับอยู่

    ถ้าจะมีใครตายจากไป หมายความว่าจิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ เกิดแล้วดับ แต่จิตนั้นก็ต้องมีอุปาทะ ฐิติ ภังคะ ๓ ขณะ พอจิตดวงสุดท้ายของชาตินี้ดับ เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไป ปฏิสนธิ คือเกิดทันทีไม่มีระหว่างคั่น โดยกรรมหนึ่งซึ่งเราเลือกไม่ได้ เราจากโลกก่อนมาสู่โลกนี้ ด้วยกรรมอะไร ก็ไม่ทราบ ซึ่งทำให้เราแต่ละคนต่างกันทั้งรูปร่าง ทั้งฐานะ ความเป็นอยู่ วงศาคณาญาติ ความสามารถในการที่จะมีความรู้ต่างๆ ความคิด ต่างๆ

    นี่คือการสะสมจากขณะหนึ่งไปอีกขณะหนึ่ง จากโลกก่อนมาสู่โลกนี้ โดยไม่ทราบเลยว่า คนโลกก่อน เขาเป็นวงศาคณาญาติกับเรา เขายังร้องไห้ คิดถึงเราก็ได้ ถ้าเราอายุ ๗๐ ปี คนอายุ ๙๐ ปีที่เป็นพ่อแม่เราที่ยังไม่ตายชาติก่อน แต่เราตายก่อนเขา พอเรามาเกิด เดี๋ยวนี้เขายังคิดถึงเราอยู่ แต่เขาไม่รู้เลยว่า เราจากเขามาเป็นบุคคลใหม่โดยสิ้นเชิง เราไปเห็นเขาคนแก่ ๙๐ ปี เราก็ไม่รู้ว่านี่เป็นพ่อแม่ชาติก่อนหรือเปล่า ไม่มีทางเลยที่จะกลับย้อนไปสู่อดีต เพราะว่าจิตเป็นสภาพซึ่งเกิดเพื่อที่จะรู้ คือเห็น หรือได้ยิน หรือคิดนึกสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วดับทันที สืบต่อมาเรื่อยๆ เกิดแล้วก็ไป เกิดแล้วก็ไป เกิดแล้วก็ไป ไปนี้คือดับไปๆ ๆ แล้วก็มีปัจจัยให้จิตใหม่เกิดตลอด เหมือนกับไฟ แสงสว่างจากเทียน ต้องมีไส้ พอไฟเกิดขึ้นจากอณูเล็กๆ ของไส้หนึ่งดับ อณูใหม่ไส้เทียนใหม่ก็ทำให้ไฟต่อไปเกิด แต่มองไม่เห็นไฟดับ เหมือนกับว่ามีไฟสว่างอยู่ตลอด จะเห็นว่าดับต่อเมื่อหมดไส้ ก็ไม่มีปัจจัยที่จะให้เทียนสว่างอยู่ต่อไป ฉันใด จิตของเราก็เกิดดับสืบต่อ เหมือนไม่ดับเลย เป็นเมื่อวานนี้ เป็นวันนี้ แล้วก็จะเป็นพรุ่งนี้ต่อไป จนกว่าจะถึงขณะสุดท้ายคือตาย แต่ก็ไม่หมด เป็นปัจัจยให้จิตขณะต่อไปเกิดทำกิจปฏิสนธิ

    ปฏิสนธิ นี้แปลว่า เกิด จุติจิต แปลว่าขณะสุดท้ายคือดับ คือตาย จุติจิตทำให้ บุคคลนั้นเคลื่อน คือพ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้นโดยสิ้นเชิง จะกลับไปหาอีกไม่ได้เลย ไม่มีเลย หมดสิ้น แล้วก็กรรมทำให้เป็นบุคคลใหม่ จนกว่าจะสิ้นกรรม คือหมดกรรมที่จะทำให้เป็นบุคคลนั้นต่อไป

    เราต้องเข้าใจเรื่องนี้ก่อน จนปัญญาของเราเห็นความเป็นอนัตตาของจิตว่า เราบังคับจิตให้หยุดเกิด ดับไปแล้วดับไปเลย ไม่ต้องเกิดอีก บังคับไม่ได้ เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น เวลาที่มีปัจจัย ที่จิตดวงก่อนเกิดแล้วดับ แล้วจิตขณะนี้เกิดต่อ ความเป็นอนัตตา คือ สภาพธรรมทั้งหมดมีจริง แต่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของ อย่างจิตเห็น เกิด ถ้าไม่มีรูปร่างเลย แต่จิตเห็นก็เกิด สมมติจิตเห็น จะเป็นเทวดาเห็น หรือจะเป็นนกเห็น หรือจะเห็นเป็นคนเห็น เพราะว่าเป็นสภาพเห็น แต่ที่เราบอกว่าคนเห็น เพราะรูปร่างคน เราบอกว่าปลาเห็น เพราะรูปร่างเป็นปลา เราบอกว่าเทวดาเห็น เพราะว่ารูปร่างเป็นเทวดา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 99
    23 มี.ค. 2567