ปกิณณกธรรม ตอนที่ 400


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๐๐

    สนทนาธรรม ระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย

    พ.ศ. ๒๕๓๘


    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ประจักษ์ทุกขลักษณะ ก็ไม่สามารถที่จะถึง อริยสัจทั้ง ๔ ได้ แม้อริยสัจที่ ๓ ซึ่งจะทำให้เป็นพระอริยเจ้า นี่ก็แสดงว่าเพราะไม่ประจักษ์ในทุกขสัจ สภาพธรรม ที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ ไม่มีใครสามารถ จะแม้ได้ยินได้ฟัง ถ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ทรงแสดงพระธรรม ที่พระองค์ทรงตรัสรู้ แต่เมื่อทรงแสดงแล้ว เราก็ฟัง แล้วก็พิจารณา แล้วก็อบรมเจริญปัญญา ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงกาลซึ่งประจักษ์จริงๆ ว่าขณะนี้สภาพธรรม ที่เห็นดับ สภาพธรรมที่ได้ยินก็ดับ ทุกอย่างเกิด ดับเร็ว แสนเร็ว นี่คือสิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นเพียงเพื่อที่จะทำกิจสั้นๆ เล็กน้อยที่สุดแล้วก็ดับ ไม่มีอะไรเหลือเลย ไม่ว่าเราจะต้องการทรัพย์สิน เงินทองมหาศาล เกียรติยศ ลาภยศสรรเสริญสุข ตาเห็นแล้วดับ สิ่งที่ปรากฏดับ การเห็นก็ดับ ทางหูจะได้ยิน คำยกย่อง ชมเชย สรรเสริญ สักเท่าไร เสียงที่ปรากฏให้ได้ยิน ดับ จิตที่ได้ยินก็ดับ เรียกว่า ปริตตธรรม คือธรรมที่สั้นแสนสั้น เล็กน้อยที่สุด แล้วชั่วขณะก็คือเท่านี้ในสังสารวัฏ ที่ผ่านมาแล้วแสนโกฏิกัปป์ ชาติก่อนๆ ไม่มีอะไรเหลือเลย ถึงชาตินี้ ชาตินี้ที่เราเห็นก็ไม่เหลือ ทุกๆ ขณะดับไปๆ ไม่ว่าจะได้ยินอะไร ไม่ว่าจะเห็นอะไร ไม่ว่าจะคิดนึกอะไร ทุกขณะดับหมด เรียกว่าสภาพธรรม เกิดขึ้นเพียงปรากฏ ให้ความติดข้อง ติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ นี่ด้วยความไม่รู้ แต่ถ้าเป็นปัญญาที่ค่อยๆ อบรมขึ้น ก็จะสามารถประจักษ์ความจริงได้ว่า ทุกอย่างที่แสวงหาที่ต้องการ เพียงชั่วขณะสั้นๆ คือเพียงเห็นนิดหนึ่ง ได้ยินนิดหนึ่งแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง ก็หมดไป ไม่มีอะไรเหลือจริงๆ เมื่อกี้นี้ก็ไม่เหลือแล้ว ขณะนี้ก็กำลังเกิดดับ เพราะฉะนั้น ธรรมทุกอย่าง ปรมัตถธรรมทั้งหมด เกิดขึ้นมีลักษณะเฉพาะตน เพื่อทำกิจหน้าที่ของธรรมนั้นๆ แล้วดับอย่างรวดเร็ว อย่างเวลาที่แข็งปรากฏ แล้วคิดว่าแข็งเป็นรูป เพียงแค่คิดว่าแข็งเป็นรูป แข็งดับไปแล้ว แล้วก็เกิดอีกแล้วก็ดับไป ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะคิดว่าแข็งก็ดับ เป็นก็ดับ รูปก็ดับ ความเกิดก็ดับ ทุกอย่างเกิดดับทั้งนั้น นี้เป็นทุกขอริยสัจ ให้เห็นสมุทัยสัจด้วย ว่า ตราบใดที่ไม่ประจักษ์ทุกขสัจ ก็ยังมีความติดข้องในทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น มีธรรมธาตุอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งโลภะ ไม่สามารถจะติดข้องได้ คือพระนิพพาน เพราะเหตุว่าพระนิพพานไม่ใช่สภาพธรรมที่เกิดขึ้น ไม่มีสภาพธรรม ที่มีปัจจัยให้ปรุงแต่งให้เกิด เพราะฉะนั้น โลภะไม่สามารถที่จะติดข้องในพระนิพพานได้ แต่ไม่ว่าอะไรก็ตาม ขอให้ปรากฏ จะเป็นทางตาก็มีความติดข้องทันทีที่เห็น จะเป็นทางหู เพียงได้ยิน จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม เพียงแค่แว็ปเดียวที่เสียงปรากฏก็ติดข้องแล้ว นี่คือความรวดเร็วของวิถีจิต เพราะฉะนั้น ต้องเห็นสมุทัย ว่าขณะใดก็ตามที่ปัญญาไม่เกิด ขณะนั้นโลภะเกิด ส่วนใหญ่ เห็นผิด ยึดถือว่าสภาพธรรมเป็นตัวตน ทั้งๆ ที่สภาพธรรม ไม่ใช่ตัวตน ที่เราฟัง เพราะเรารู้ว่ายังมีความเห็นผิดอยู่ จึงต้องฟังแล้วฟังอีก ฟังจนกว่าความเห็นผิด จะค่อยๆ ลบเลือนไปทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะหมด

    ผู้ฟัง การที่ได้มีโอกาสมา สถานที่เกี่ยวกับเรื่องพระพุทธศาสนา เราไม่ควรจะปล่อยโอกาส เพื่อที่จะได้ มีการตั้งปัญหา หรือตั้งคำถามอะไรเป็นการสะสมเพื่อให้เกิดสติปัญญาต่อไป เนื่องจากว่า ณ สถานที่แห่งนี้ เป็นที่ประทับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสรู้สภาพธรรม ทุกสิ่งทุกอย่าง ตามความเป็นจริง แล้วประกาศสัจธรรม ในขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงแสดงหนทาง ที่จะทำให้สัตวโลก หรือผู้ที่ฟังธรรม ได้ประพฤติปฏิบัติตาม แม้แต่คำว่าสติก็ดี ปัญญาก็ดี แต่เวลานี้เท่าที่ผมได้พิจารณาตัวผมเองแล้ว ปรากฏว่ายังไม่ใช่เป็นความรู้จริงๆ ของผม แต่จำได้ในทุกเรื่อง เท่าที่อาจารย์ได้บรรยายแล้วก็ยังพอ จะมีการสังเกตบ้าง แต่ก็มามีความคิดอยู่ว่า สิ่งที่เป็นเรื่องของสติก็ดี ปัญญาก็ดี รู้สึกว่ามันจะไม่มีกำลังเอาเสียเลยในภพนี้ชาตินี้ แต่ก็ไม่ลืมอยู่ที่ท่านอาจารย์ เคยพูดเสมอว่า ไม่ควรที่จะให้กุศลอื่นๆ ผ่านไป เพราะฉะนั้น ก็เป็นคำแนะนำที่ น่าจะเป็นประโยชน์ กับทุกๆ ท่าน ว่าถ้าจะมุ่งแต่สติปัฏฐานอย่างเดียว ก็คงจะไม่ได้อะไรมากในชาติ ๑ ชาติ ๑ แต่ถ้าเป็นการเจริญกุศลทุกประการ เพราะกุศลขั้นสูงสุดก็คือ ขั้นที่เป็นสติปัฏฐาน นั่นเอง แต่ถ้าไม่มีกุศลที่เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล จู่จู่ จะให้เป็นสติปัฏฐาน ก็คงเป็นสิ่งที่ยาก เพราะว่าจะให้เป็นเหมือนบุคคลบางคนในอดีตนี่ ไม่ได้ เช่น เศรษฐีขนมเบื้อง อะไรทำนองนั้น ปัญหาที่ผมจะเรียนถามคือว่า นอกจาก ที่ท่านอาจารย์ได้บรรยายเกี่ยวกับเรื่องข้อปฏิบัติ การเจริญสติปัฏฐานแล้ว ถ้าจะมีการที่เราจะพิจารณาว่า ข้อปฏิบัติที่จะทำให้สติเกิด หรือว่าทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น คำอธิบายอย่างอื่น จะเป็นไปได้ไหม อันนี้ต้องขอให้ท่านอาจารย์เน้น ณ สถานที่แห่งนี้

    ท่านอาจารย์ พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงพระธรรมไว้แล้วโดยละเอียด ไม่มีอื่นอีก เพราะฉะนั้น ก็ฟังแล้วก็อ่าน แล้วก็พิจารณา แล้วก็มีสภาพธรรม ที่ปรากฏให้พิสูจน์ คำเดิมเหมือนเดิม แต่ความเข้าใจจะค่อยๆ กว้าง ลึก และละเอียดขึ้น

    ผู้ฟัง ที่บอกว่าทุกสิ่ง ทุกอย่าง เป็นธรรม แต่เวลานี้ก็รู้อีกว่า พอเห็น ก็ยังไม่เป็นธรรมแต่เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน แต่พอนึกอย่างนี้ทีไรก็รู้ว่า มันคนละขณะๆ ก็คิดอย่างนี้ตลอดเวลาไม่ขยับเขยื้อนไปสักที

    ท่านอาจารย์ อยากจะผิดปกติหรือเปล่า ถ้าผิดปกติ แว็บเดียว ขยับเขยื้อนแน่ แต่ถ้าเป็นปกติ คือว่าต้องอาศัย กาลเวลา และเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง ว่าขณะใดที่ไม่รู้ก็เป็นความไม่รู้ จะเปลี่ยนขณะที่ไม่รู้ ให้เป็นขณะที่รู้ ไม่ได้ แล้วถ้าปรากฏว่าอบรมจนกระทั่งรู้แล้ว จะเปลี่ยนให้กลับไปเป็นไม่รู้อีกก็ไม่ได้ นี่คือความจริง เพราะฉะนั้น ให้เห็นความละเอียดของ ทุกขอริยสัจจะ และสมุทัย สมุทัยมีไหม เมื่อกี้นี้ นี่แหละ เครื่องเนิ่นช้า เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องกังวล หรือจะต้องคิดที่ว่าคุณศุกล บอกว่ากี่ปีก็ไม่ทราบ ว่ามันไม่ขยับ แต่ที่ท่านสะสมบารมีกันมา ถ้าเป็นสาวกธรรมดาแสนกัป

    ผู้ฟัง ก็ไม่ใช่ว่าเป็นการเร่งรัด เพราะว่า ถ้าขาดท่านอาจารย์ ยอมรับจริงๆ ว่า โอ้โห เหมือน มีไฟ แล้วก็ดับไฟทันที ไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องช่วยให้ได้เกิด แม้แต่การฟังพระธรรมก็ดี มีแต่การจะสนทนาธรรมก็ดี อันนี้ผมต้องกราบเพราะว่ามีท่านอาจารย์ เป็นที่พึ่ง

    ท่านอาจารย์ ทุกคนต้องไม่ลืม พระดำรัสที่ตรัสว่า มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง แม้แต่การฟังพระธรรมไม่ว่าจะฟังจากใคร ต้องมีตัวเองเป็นที่พึ่งเพราะเหตุว่า การที่เราจะอบรมเจริญปัญญา ถ้าสติของเราไม่เกิด จะอาศัย สติของคนอื่นก็ไม่ได้ ถ้าปัญญาของเราไม่เกิด จะอาศัย ปัญญาของคนอื่น ก็ไม่ได้ ผู้อื่นเป็นแต่เพียงผู้ผ่านพระธรรมมาสู่เรา พระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ ๔๕ พรรษา ยังคงอยู่ครบถ้วนสมบูรณ์ แล้วผู้ใดที่ได้มีโอกาสศึกษาก่อน พิจารณาก่อน อบรมเจริญปัญญาก่อน ผู้นั้นก็สามารถที่จะช่วยคนซึ่งตามมาทีหลังได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นแต่เพียงผู้ที่ได้ถ่ายทอด หรือมอบสิ่งที่พระผู้มีพระภาค ประทานไว้ให้ ผ่านต่อๆ กันไป จากยุคหนึ่งถึงอีกยุคหนึ่ง แต่ว่าทุกคนต้องมีตนเองเป็นที่พึ่ง ที่พึ่งคือขณะที่ฟัง เข้าใจ ความเข้าใจ หรือปัญญา เป็นที่พึ่งจริงๆ เพราะว่าอกุศลใดๆ ก็พึ่งไม่ได้ จะพึ่งโลภะ อย่างอยากจะให้ขยับไปเสียเหลือเกิน ก็ไม่ได้ขยับเพราะความอยาก ไม่มีทางเลย ที่ว่า พูดซ้ำอีก ร้อยที จะให้ขยับก็ไม่ขยับ อีกพันทีแสนทีก็ไม่ขยับเพราะโลภะ ทำให้ขยับไม่ได้ เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมต้องรู้จักตัวโลภะ ว่าจะมาในรูปไหน ทั้งๆ ที่ฟังเรื่องสติปัฏฐานแล้ว โลภะก็ยังมีโอกาสเป็นเครื่องเนิ่นช้าได้ เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นผู้ที่ตรงต่อธรรมจริงๆ จะรู้ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ขณะนี้ทุกคนกำลังเดินตามรอยพระบาท แต่ต้องนำด้วยปัญญา แล้วก็จะต้องมีความไว ที่จะรู้เท่าทันโลภะด้วย ว่ามาเมื่อไรที่จะทำให้เป็นเครื่องเนิ่นช้า

    ผู้ฟัง ปัญญาที่ท่านอาจารย์พูด จะมีมา หรือเกิดขึ้นได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ รู้สึกไม่พ้นโลภะเลย คือถ้าฟังแล้วพิจารณา เข้าใจ นั้นคือปัญญา เมื่อไรไม่ต้องคิด อย่าคิด คำว่า เมื่อไร ถ้าคิดคำว่าเมื่อไร ทันที คำว่า เมื่อ โผล่ออกมาครึ่งคำ นั่นคือโลภะแล้ว พอนึกขึ้นมาว่าเมื่อไร นั่นคือโลภะ

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องทำอะไร หมายความมีหน้าที่อย่างเดียวคือไม่ขาดการฟัง แล้วก็ถ้ามีโอกาสสนทนาก็สนทนา ถ้าจะหลงลืมก็เป็นของธรรมดา ถ้าจะระลึกได้ก็เป็นของธรรมดา อย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ โดยมาก ถ้าฟังเผิน คนอื่นจะเอาไปบอกว่าถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องทำอะไรเลย ขี้เกียจไปเลย อยู่นิ่งๆ เลย ไม่ต้องทำอะไร แล้วแต่เหตุปัจจัย นี้คือการฟังโดยที่ว่าไม่แยบคาย แต่ถ้าฟังอย่างแยบคายก็อย่างที่คุณศุกล กล่าว คือว่า เราไม่ใช่ทอดทิ้ง แต่เรารู้ว่าบังคับไม่ได้ เมื่อไม่ทอดทิ้งแล้วบังคับไม่ได้ สัญญา ความจำที่มั่นคงจะมีได้อย่างไร เพราะเรารู้แล้วว่าเหตุใกล้ ของสติปัฏฐาน แม้แต่เพียงรู้ตามความเป็นจริงว่าขณะนี้เป็น ธรรม เท่านี้รู้จริงๆ เท่านี้ ก็เป็นปัจจัยให้มีการระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม แต่เพียงคำนี้ สัญญาความจำมั่นคงแค่ไหน ขึ้นอยู่กับปัญญา ถ้าปัญญายังไม่สามารถที่จะพิจารณา รู้จริงๆ ว่า ธรรม คืออะไร คือสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่มีใครสร้างขึ้นเลย ถ้ามีปัญญาที่คมกล้าจริงๆ แล้วจะรู้ว่า การเกิดดับของสภาพธรรม เร็วเกินกว่าที่เราจะไปคิด บิดเบือนผันแปรให้เป็นอย่างอื่น ทำอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น สภาพธรรม มีปัจจัยเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้น ก่อนที่ใครคิดว่าจะไปทำอะไรกับธรรม ต้องไปทำอย่างนี้ ต้องไปจดจ้องที่นั่น หรือต้องไปบิดเบือนอย่างนี้ เป็นไปไม่ได้เลย ไม่มีทางที่จะทำอะไรได้เลยสักอย่างเดียว นี้คือปัญญาซึ่งได้อบรม จนกระทั่งรู้ความจริงว่า เมื่อเห็นว่าเป็นอัตตาแล้วก็เป็นผู้ที่มี อธิษฐานคือความมั่นคง นี่ เป็นบารมีอัน ๑ ที่ว่าเราก็มีโอกาสได้ฟังพระธรรม แล้วก็รู้ว่า ถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีทางที่สัตว์โลกจะ ออกจากสังสารวัฏ หรือพ้นทุกข์ สังสารวัฏนี้ดูเหมือนน่าเพลิดเพลิน มีรูปสวยๆ มีอาหารอร่อย มีเสียงเพราะๆ มีความสนุกสนานต่างๆ ดูเหมือนน่าเพลิดเพลินเหลือเกิน แต่ว่า ทุกคนไม่พ้นจากทุกข์ เพราะความเพลิดเพลิน ยิ่งมีความเพลิดเพลินมากเท่าไร ก็จะต้องเป็นทุกข์มากเท่านั้น ยิ่งมีความติดข้องพอใจมากเท่าไร สิ่งนั้นพลัดพรากไป หรือว่าไม่เป็นอย่างที่ต้องการ ไม่ได้อย่างที่ต้องการ ก็เป็นทุกข์ ซึ่งไม่มีใครสมหวังแน่นอน คือเมื่อเกิดแล้วจะไม่ให้แก่ไม่ได้เลยสักคนเดียว เกิดแล้วจะไม่ให้เจ็บก็ไม่ได้เลยสักคนเดียว เกิดแล้วที่จะไม่ให้ตายก็ไม่ได้เลยสักคนเดียว เพราะฉะนั้น จะสมหวังเรื่องอะไร เกิดแล้วไม่อยากแก่ ไม่สมหวัง เกิดแล้วไม่อยากเจ็บ ไม่สมหวัง เกิดแล้วไม่อยากตาย ก็ไม่สมหวัง เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นแล้ว ถ้ามีความหวังหรือมีความติดข้อง นำมาซึ่งความทุกข์แล้วไม่มีวันที่จะสมหวัง ขอให้เห็นตัวโลภะ จริงๆ แต่ว่าก็จะต้องอาศัย การที่เมื่อได้ฟังธรรมเห็นพระคุณแล้วรู้ว่า เรามีความมั่นคงที่ แม้วันหนึ่งๆ ชีวิตของเราจะมีโลภะบ้าง มีโทสะบ้าง แต่ก็ไม่ทิ้งพระธรรม ยังคงเป็นหลักที่ผูกมัดเราไว้อย่างแน่น ในใจ คือว่าเครื่องผูกพันมีหลายอย่าง สิ่งที่ผูกพัน บางคนคือ ลาภสักการะ หรือคำสรรเสริญ แต่ว่าสิ่งที่ผูกพัน ผู้ที่ได้เห็นคุณค่าของพระธรรม แล้วคือว่า มีความมั่นคงที่จะศึกษา ที่จะประพฤติปฏิบัติตาม แม้ว่าอาจจะเป็นคนที่ว่ายากในอดีต แต่ก็เห็นว่า ว่ายากต่อไป ก็คงว่ายากไปอีกไม่รู้จบ แต่ถ้าเริ่มว่าง่าย แม้แต่เพียงขณะหนึ่งก็ง่ายขึ้นๆ และในที่สุดเราก็จะเป็นผู้ที่สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติ ตามพระธรรมได้มากขึ้น ทั้งๆ ที่ยังมีโลภะ ยังมีโทสะ ยังมีอกุศลครบทุกอย่างก็จริง แต่ก็จะมีการสั่งสม ทางฝ่ายกุศลที่มั่นคงขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ที่สำคัญที่สุดคือความมั่นคง มีความศรัทธามั่นคงแล้วก็ มีการที่ถึงพระรัตนไตรเป็นสรณะอย่างมั่นคงจริงๆ เป็นเครื่องผูกพันชีวิตของเราไว้ ไม่ว่าชีวิตของเราจะดำเนินไปทางไหนก็ตาม ไม่ทิ้ง ทีละนิด

    ผู้ฟัง มีความสงสัย เรื่องกรรม ระลึกอะไร เป็นทฤษฎีมากกว่า แต่คิดเรื่องปรมัตถธรรม และต้องรู้ลักษณะที่ตั้ง ครั้งก่อน แต่เวลาที่มีสติ ที่ไม่มีสติ ระลึกเรื่องปรมัตถธรรม มากกว่าอย่างอื่น

    ท่านอาจารย์ ที่คุณนีน่าพูดก็เป็นความจริง เพราะเหตุว่าระลึกแล้วก็ยังสงสัย ว่าเป็นสติปัฏฐานไหม หรือเป็นปรมัตถธรรม หรือเปล่า เพราะเหตุว่าความสงสัย จะต้องค่อยๆ หมดไป จะหมดไปทันที ไม่ได้เลย แล้วช่วงที่ค่อยๆ หมดไปจากช่วงหนึ่งสู่อีกช่วงหนึ่งเป็นระยะที่นานพอสมควร ไม่ใช่ว่าจากการระลึกครั้งที่ ๑ หรือว่าเดือนที่ ๑ แล้วพอระลึกเดือนที่ ๒ หรือปีที่ ๒ ความรู้ของเราจะชัดเจน ข้ามไปได้ทันที ต้องคิดถึงอวิชชามากแสนมากในแสนโกฏิกัปป์ แล้วกว่าจะถึงวันนี้ที่นี่ อวิชชา มากเท่าไร เพราะฉะนั้น ที่ให้สติเกิดขึ้นบ้างนิดหน่อยแล้วก็จะหมดความสงสัย ในลักษณะของปรมัตถธรรมทันที เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เราเองจะเป็นผู้ที่รู้จริงๆ ว่าขณะนี้ สติระลึก แต่ว่าเกิดมีการเห็นทางตาขึ้นมา หรือการได้ยินเสียงทางหู แสดงให้เห็นว่า การระลึกนี้หมดเร็วแล้วก็สั้น แล้วก็ยังไม่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรม แต่ให้ทราบว่าโดยการศึกษา เป็นสิ่งที่เราทุกคนไม่ปฏิเสธเลย โดยการพิจารณา รู้ว่าสภาพธรรม อย่างหนึ่งอาศัยเหตุปัจจัยอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นแล้วดับไป เช่น ทางตากำลังเห็น อาศัยเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งดับ ทางหูกำลังได้ยิน อาศัยเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งดับ จะพร้อมกันไม่ได้ ถ้ามีความเข้าใจที่มั่นคงอย่างนี้ แล้วเวลาที่สติระลึกที่แข็ง แม้ว่ายังไม่มีความเข้าใจชัดเจนเพราะว่ายังไม่สามารถที่จะรู้ชัดประจักษ์แจ้งในลักษณะของนามพธรรม และรูปธรรม กำลังเห็นอย่างนี้ปกติ ผู้ที่อบรมปัญญามาแล้ว เป็นพระอรหันต์ได้ หรือต่ำกว่านั้นลงมา ก็เป็น พระอนาคามี เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามมีหรือประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปของเห็นในขณะนี้ได้

    เพราะฉะนั้น สิ่งนี้เป็นความจริง แต่ต้องใช้เวลา ต้องการเวลาอย่างมากที่จะค่อยๆ สะสมไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ เพราะเห็นกำลังเห็นแล้วก็กำลังเกิดดับ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล ท่านไม่ใช่รู้อย่างอื่น ไปจากเห็นได้ยินได้กลิ่น ลิ้มรส คิดนึก ตามปกติในขณะนี้เอง ต้องเป็นธรรมตามปกติ แต่อาศัยกาลเวลาที่ท่านสะสมมาแสนกัป แต่ว่าถ้าพระอัครสาวกก็มากกว่านั้น แต่เรา ก็ไม่ได้หวังที่จะเป็นพระอัครสาวก แล้วเราก็ไม่ได้หวังว่าจะเป็นเอตทัคคะทางหนึ่งทางใด เพราะฉะนั้น กาลเวลาของเรา ก็เราเอง เป็นผู้ที่รู้ว่า ตากำลังมี จิตกำลังเห็น สภาพธรรม ก็กำลังปรากฏ การรู้แจ้งไม่ใช่รู้แจ้งอื่น รู้แจ้งสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ เพราะฉะนั้น สติก็ระลึกนิดนึง ก็ยังดี ทางหูที่กำลังได้ยิน หูมี เสียงมี จิตได้ยินมี พระอริยบุคคลรู้แจ้งสภาพธรรม นี้เอง ไม่ใช่รู้แจ้งสภาพธรรม อื่นเลย

    ในขณะที่เพียงระลึกนิดเดียว นี้ก็เป็นหนทางที่จะระลึกอีกๆ ความคิดนึกเกิดขึ้นโลภะเกิดขึ้น โทสะเกิดขึ้น ทุกอย่างเป็นธรรมหมด แล้วเวลาที่สติยังไม่เกิด ความจริงก็คือสติไม่เกิด ต้องยอมรับความจริงว่าสติไม่เกิดก็สติไม่เกิด แต่พอเมื่อไร มีเหตุปัจจัยสติเกิด ปัญญาเริ่มที่จะเข้าใจถูกต้องว่า นี่ คือสติระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถ เป็นปกติธรรมดาๆ อย่างนี้ แต่ว่าบ่อยๆ เนืองๆ ในพระไตรปิฎก ใช้คำว่าบ่อยๆ เนืองๆ

    แสดงให้เห็นว่า นอกจากจะมีสภาพธรรม ปรากฏให้ไม่หลงลืม ให้รู้ว่าปัญญาจะต้องเข้าใจสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ ถูกต้องตามความเป็นจริง การฟังให้เข้าใจลักษณะที่ต่างกันของ นามธรรม และรูปธรรมก็เป็นสิ่งที่สำคัญ และมีประโยชน์ อย่างที่เราพูดเมื่อคืนนี้ ก็ขอกล่าวซ้ำอีกครั้งหนึ่ง รูปธรรม มีลักษณะกำลังปรากฏในขณะนี้ สิ่งใดที่ปรากฏทางตามีจริงๆ กำลังปรากฏ เป็นธรรมอย่างหนึ่ง แต่ปรากฏกับนามธรรม เพราะฉะนั้น ต้องมีนามธรรมซึ่งกำลังเห็น ใช้คำว่า ธาตุรู้ อาการรู้ซึ่ง แม้ขณะนี้ไม่ปรากฏก็จริง แต่เราก็มีตาเห็นมีหู ได้ยิน มีจมูกได้กลิ่น มีลิ้นลิ้มรส มีกายกระทบสัมผัส เพราะฉะนั้น เราก็รู้รูปที่ปรากฏทางตา เพราะกำลังปรากฏ เสียงก็ปรากฏทางหู กลิ่นก็ปรากฏทางจมูก รสก็เคยปรากฏทางลิ้น เย็นร้อนอ่อนแข็งก็เคยปรากฏทางกาย เอาสิ่งต่างๆ เหล่านี้ออกให้หมด ไม่เหลือเลย นั่นคือมีนามธรรมล้วนๆ ซึ่งไม่ใช่รูปธรรม นี้คือการที่จะรู้ว่า ลักษณะของนามธรรม แยกขาดจากรูปธรรม เพราะเหตุว่านามธรรมไม่มีรูปร่างใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีสี ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส แต่เป็นสภาพรู้อาการรู้ ลักษณะรู้ ซึ่งความจริงก็มี โดยที่ว่าขณะใดที่ไม่เห็น ไม่ได้ยินเราคิดนึก สภาพคิดนึกไม่ได้เกี่ยวกับรูปใดรูปหนึ่ง ทางตาเลย ถ้าจะกำลังคิดอยู่ หลับตาแล้วคิดไม่มีรูปที่กำลังปรากฏอย่างนี้เลย หรือเวลาที่เรา นอน เงียบๆ กลางคืนไม่มีอะไรเลย ก็ยังมีจิตที่เกิดคิด แต่ว่าความเคยชินว่าเป็นเราคิด ก็ทำให้ไม่รู้ว่า สภาพคิดต่างกับรูป เพราะเหตุว่าแม้ไม่มีรูปก็ยังมีสภาพรู้ ซึ่งสามารถที่จะคิดได้ ด้วยเหตุนี้ อรูปพรหมก็คิดอย่างเราคิดแม้ว่าไม่มีรูปใดๆ ปรากฏเลย ขณะใดที่ไม่รูปใดๆ มาเกี่ยวข้อง ขณะนั้นก็เป็นสภาพของนามธรรมล้วนๆ ก็ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ พิจารณา แล้วในขณะที่กำลังเห็นก็รู้ว่า มีธาตุซึ่งเป็นนามธรรมที่กำลังเห็น ซึ่งไม่ใช่รูปที่กำลังปรากฏ ก็ต้องฟังกันไปอีกพอสมควร แต่ว่าเป็นผู้ที่มีความมั่นคง ไม่ท้อถอย ไหนๆ เราก็มาจนถึงแค่นี้แล้ว ต้องเรียกว่ามาจนถึงแค่นี้ คือได้ฟังพระธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม แล้ว ก็ได้รู้หนทางอบรมเจริญสติปัฏฐาน ด้วย ก็อยู่ที่เพียงกาลเวลาที่เราจะต้องค่อยๆ เป็นผู้ที่มีขันติ มีความอดทน มีอธิษฐาน คือความมั่นคง มีสัจจะคือความจริง ต่อการที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นรัตนะ ที่เหนือรัตนะอื่นใด เพราะเหตุว่าสิ่งอื่น แก้วแหวนเงินทองก็นำความปลาบปลื้มมาให้ชั่วขณะที่เห็น แล้วก็โกรธแล้วก็เป็นทุกข์แล้วก็มีอะไรตั้งหลายอย่าง ไม่ได้ให้ความสุขที่แท้จริงเลย มีเงินทองมีลาภสักการะ แต่ก็ยังเป็นทุกข์ แต่เมื่อมีพระธรรม คือการที่ได้เข้าใจสภาพธรรม ที่ทรงแสดง จะทำให้ทุกข์นั้นเบาบาง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 99
    23 มี.ค. 2567