ปกิณณกธรรม ตอนที่ 384


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๘๔

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ ไม่ว่าอะไรจะเกิด จะดีแสนดี มันก็ชั่วขณะ แล้วมันก็หมด เท่านั้นเอง มันก็ไม่มีการยึดติดมั่นอย่างเหนียวแน่นเหมือนเก่า ไม่ว่าจะสุข จะทุกข์ใดๆ ก็เพราะสิ่งที่มีปัจจัยเกิด แล้วธรรมเขาจะกระจ่างไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเขาเปิดเผยลักษณะที่เป็นอนัตตา ในแต่ละสภาพธรรมได้ว่า เป็นอย่างนั้นจริงๆ ตรงตามที่ทรงแสดงทุกอย่าง แต่ก็ต้องเริ่มต้นตั้งแต่หน้า ๑ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเข้าใจเพิ่มขึ้น แต่ข้อสำคัญที่สุดในครั้งพุทธกาล ก็มีการสนทนาธรรม เป็นมงคล เพราะว่าเป็นสิ่งที่จะทำให้ความรู้ความเข้าใจของเราเพิ่มขึ้น จากข้อสงสัยเล็กๆ น้อยๆ อย่างที่ว่าจะไปถึงนิพพานเลย ตอนนี้เราก็ถอยมาแล้ว คือปัญญาต้องเป็นไปตามลำดับจริงๆ ตามขั้นจริงๆ การฟังธรรมก็ตั้งแต่เริ่มรู้ว่า ธรรมคืออะไร แล้วถ้าเราเข้าใจตรงนี้ เหมือนกันหมดทั้ง ๓ ปิฎก และตลอดไป คือธรรมต้องเป็นสิ่งที่มีจริง มีจริงคือมีลักษณะปรากฏให้เห็น ให้ได้ยินพวกนี้จริงๆ ไม่ใช่เราไปนึกฝัน แต่มีสิ่งที่มีจริงซึ่งเราไม่เคยรู้ พระธรรมที่ทรงแสดงจากการตรัสรู้ เกื้อกูลให้พุทธบริษัทที่ฟังได้เข้าใจด้วยในสิ่งที่พระองค์สามารถตรัสรู้ และทรงแสดง เรื่องของจิต เรื่องของเจตสิก เรื่องของรูป

    เพราะฉะนั้น จากจิต เจตสิก รูป ทรงแสดงโดยนัยอีกไม่ทราบว่าจะเท่าไร โดยขันธ์ โดยธาตุ โดยอายตนะ โดยปฏิจจสมุปบาท โดยอริยสัจจะ แต่ก็คือจิต เจตสิก รูป เพราะจิต เจตสิก รูป เป็นปรมัตถธรรม เหมือนกับเป็นแก่นหรือเป็นสภาพธรรมล้วนๆ แท้ๆ ต่างกันเป็น ๔ อย่าง คือ รูปไม่ใช่จิตเจตสิก ไม่ใช่นิพพาน จิตไม่ใช่รูปไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่นิพพาน เจตสิกก็ไม่ใช่รูป ไม่ใช่จิต ไม่ใช่นิพพาน แต่จะแสดงโดยนัยของธาตุก็ได้ โดยนัยของขันธ์ ๕ ก็ได้ โดยนัยของอายตนะ ๑๒ ก็ได้ คือ พระไตรปิฎกทั้งหมด หัวใจคือจิต เจตสิก รูป นิพพาน

    การศึกษาการฟังเราต้องย้อนกลับมาที่จิต เจตสิก รูป ถึงจะรู้ว่าเป็นอนัตตา แต่ถ้าเป็นเราโดยสมมติ อย่างบอกว่าจิตประเภทนี้แหละเกิดที่นั่น เป็นอบายภูมิ ภูมิที่ไม่เจริญ คือ ภูมินรกบ้าง เปรตบ้าง สัตว์บ้าง เดรัจฉานพวกนี้ อสุรกายบ้าง ทรงแสดงความจริงในกี่จักรวาลก็พ้นจากความจริงที่ตรัสรู้ไม่ได้เลย เราก็เริ่มเข้าใจ อิติปิ โส ภควา แม้เพราะเหตุนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราไม่ฟังเลย แม้เพราะเหตุนี้ ไม่รู้เหตุไหน แต่พอฟังแล้ว แม้เพราะเหตุที่ทรงประจักษ์แจ้ง ตรัสรู้ความจริงทั้งหมด แล้วทรงอุปการะสัตว์โลกโดยการแสดงธรรม จึงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วข้อความต่อไปเราจะรู้เลย พอฟังธรรมเข้าใจ แม้เพราะเหตุนี้ จากใจเรา พระองค์เป็นพระอรหันต์จริงๆ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งกี่กัปก็ยากที่จะหาใครเสมอเหมือน แม้กว่าจะถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ต่อไปอีกก็นาน ต้องเป็นผู้ที่สะสมเหตุปัจจัยจริงๆ ถึงจะปัญญาระดับที่สามารถรู้หมด สามารถทรงแสดงธรรมโดยนัยต่างๆ ให้คนฟัง ถ้าไม่เข้าใจโดยนัยนี้ ก็โดยนัยนั้น โดยนัยโน้น ไม่ว่าใครจะไปเฝ้า ก็เพื่อฟังพระธรรม ประโยชน์ คือ ฟังแล้วเข้าใจ

    ผู้ฟัง สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วก็ทำไมไม่มีพระพุทธเจ้า หลายๆ องค์

    ท่านอาจารย์ มี แต่ไม่พร้อมกัน พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่พร้อมกัน ๒ พระองค์

    ผู้ฟัง แต่ผู้ที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์จะมีมาเรื่อยๆ จะสำเร็จได้

    ท่านอาจารย์ พระโมคคัลลานะเป็นพระอรหันต์ พระสารีบุตรเป็นพระอรหันต์ พระมหากัสสปเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์สาวก ต้องเติมคำว่า สาวก เพราะมีอรหันต์ ๓ อย่าง ๓ ระดับ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่อบรมบารมีถึงระดับตรัสรู้แล้ว ประกอบด้วยพระญาณมากมายมหาศาล ที่จะทรงแสดงธรรมโดยนัยประการต่างๆ ด้วย อิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ไม่มีใครเสมอ คือ หาบุคคลเปรียบไม่ได้เลย ไม่ว่าจะระดับขั้น สมถะ ขั้นวิปัสสนา ขั้นไหนก็ตามแต่ ขั้นโลก ขั้นโลกุตตระ ไม่มีใครเสมอพระองค์ได้เลยเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บำเพ็ญพระบารมีหลังจากที่ได้รับคำพยากรณ์จากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง อย่างน้อย ๔ อสงไขยแสนกัป กว่าจะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยปัญญายิ่ง แต่ถ้าด้วยศรัทธา ๘ อสงไขยแสนกัป ถ้าด้วยวิริยะ ๑๖ อสงไขยแสนกัป ไม่ต้องคิดก่อนนั้นที่เพียงดำริว่า ถ้าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถที่จะช่วยคนได้เท่าไร เพราะว่าต้องอบรมพระปัญญามากมายมหาศาล กว่าจะพร้อมด้วยพระปัญญาอย่างนั้น นี่ระดับสูงสุด

    พระพุทธเจ้าลำดับต่อไปคือพระปัจเจกพุทธเจ้า หมายความว่าผู้ที่ได้ฟังธรรม อบรมเจริญปัญญานานแสนนาน แต่ไม่สามารถบรรลุในขณะที่เป็นสาวก จะผ่านพระพุทธเจ้ากี่พระองค์ก็ตาม ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าองค์ไหนก็ตาม แต่ไม่สามารถบรรลุในฐานะที่เป็นสาวกที่ฟัง แต่เมื่อใดที่พระศาสนาอันตรธาน ไม่มีคำสอนเหลืออยู่เลย การสะสมนั้นไม่สูญหายเลย สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมด้วยตัวเอง แต่ไม่ประกอบด้วยพระญาณเสมอกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วในกาลซึ่งยากแสนยากที่คนจะเข้าใจ โดยที่ไม่อาศัยพระธรรมอย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะฉะนั้น นี่ก็เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า จากการที่เคยสะสม แต่ไม่บรรลุโดยฐานะสาวกที่ฟังธรรม ส่วนพระอรหันต์อีกประเภทหนึ่งก็คือ อรหันต์สาวก ต้องฟังถึงจะบรรลุได้ แม้ว่าบำเพ็ญบารมีมามากมายแต่ก็ต้องอาศัยการฟัง

    ผู้ฟัง แต่อาจารย์แนะนำให้ไปเรียนทั้ง ๙ ปริจเฉท ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่มีปริจเฉทเลย ถ้าพูดถึงจิต เราเข้าใจตลอดหมด ตั้งแต่ต้นจนถึงกี่ปริจเฉท ถ้าเรามีพื้นที่ถูกต้อง คือถ้าเราเข้าใจธรรม ถ้าเราเข้าใจเรื่องนามธรรม เข้าใจเรื่องรูปธรรม เข้าใจเรื่องจิต เข้าใจเรื่องเจตสิก ไม่ต้องมีปริจเฉทเลย

    ผู้ฟัง ความเข้าใจจากการฟัง

    ท่านอาจารย์ การฟัง การสนทนา ขึ้นอยู่กับว่าจุดประสงค์ของผู้สอน สอนอย่างไร บางคนสอนให้จำ จิตมีเท่าไร กี่ดวง สอนให้จำ แต่เขาจะไม่ได้อะไรเลย นอกจากจำ แต่ความเข้าใจ ประโยชน์กว่ามากมายมหาศาล แล้วมันจะตลอดไปหมดด้วย ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ มันก็คือตลอดไป ตรงไหนมันคือต้องเหมือนกัน ไม่ต้องไปห่วงเรื่องเล่มนั้นปริจเฉทนี้เลย ถ้าเรามีความเข้าใจพื้นฐานจริงๆ แบบบวกลบคูณหาร แล้วเราก็ต่อไปได้

    พื้นสำคัญที่สุด และอันนี้เป็นพื้น ของการที่จะเข้าสู่พระไตรปิฎกที่จะเข้าสู่ธรรม ปรมัตถธรรมสังเขป อาจจะมีชื่อเป็นภาษาบาลี แต่คำแปลอยู่ข้างหลัง และอธิบายให้เข้าใจได้ แล้วอีกหน่อยเราก็คุ้นกับชื่อนั้น อย่างปรมัตถธรรม เรารู้เลย ธรรมที่มีจริง ไม่ต้องเรียกชื่อก็ได้ เขามีลักษณะเฉพาะของเขาปรากฏอยู่ตลอดเวลา เสียงมีจริงก็เป็นปรมัตถธรรม กลิ่นมีจริงก็เป็นปรมัตถธรรม เป็นประเภทไหน เป็นประเภทรูปธรรม ไม่ใช่นามธรรม ถ้านามธรรมแล้วต้องเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ เห็น ได้ยิน คิดนึก จำได้ พวกนี้ เราก็มีสิ่งที่พิสูจน์ในชีวิตประจำวันว่าจริง

    คือศึกษาธรรมคือศึกษาเรื่องจริง ที่มีจริง มีจริงอยู่แล้ว แม้พระพุทธเจ้าไม่ตรัสรู้ ไม่ทรงแสดง ธรรมก็เป็นธรรม แต่พอตรัสรู้แล้วก็ทรงแสดงความเป็นธรรมของสิ่งที่มีจริงนั้นๆ ว่าเป็น อนัตตา

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องฟัง เหมือนอย่างคนที่ได้ยินได้ฟังคำพยากรณ์ พระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่าทีปังกร ซึ่งทรงพยากรณ์ สุเมธดาบส เมื่อสี่อสงไขยแสนกัปว่า ท่านนี้จะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า โคตม ท่านเหล่านั้นเบิกบานยินดี ถ้าไม่สามารถจะรู้ธรรมในสมัยของพระทีปังกรได้ ก็ยังมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ในสี่อสงไขยแสนกัป แล้วเรา ถ้ามีความเข้าใจถูก มีความเห็นถูกจริงๆ เราก็ไม่เดือดร้อน เพราะว่าเราสะสมความไม่รู้มานานมาก สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นเครื่องแสดงว่า ปัญญาของเราแค่ไหน แล้วก็จะต้องอบรมปัญญา จนกระทั่งประจักษ์ความจริงโดยที่ว่า เราไม่ต้องไปห่วง ใครจะพูดอย่างไร ใครจะคิดอย่างไร ใครจะเข้าใจอย่างไร แต่ว่าความเห็นถูกจริงๆ คืออย่างไร ไม่ว่าจะเป็นวิชชาทางที่เราใช้ภาษาว่าทางโลก ความจริงก็ต่างกับความหมายของคำว่าทางโลก ในพระพุทธศาสนา เพราะทางโลก ในความคิดในภาษาของเรา เราเข้าใจว่าโลกอย่างหนึ่ง แล้วก็ธรรมอย่างหนึ่ง

    การที่เราจะเรียนวิชาต่างๆ แล้วก็มีความรู้สามารถที่จะไปโลกพระจันทร์ หรือว่าสร้างสิ่งต่างๆ เราคิดว่านั่นคือปัญญา แต่ไม่ใช่ปัญญาเจตสิก เพราะเหตุว่าไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ เพียงรู้เรื่องราวของสิ่งซึ่งเกิดสืบต่อแล้วก็ทรงจำ เป็นวิชาการต่างๆ แต่ตัวจริงของธรรมไม่ได้รู้เลย

    เราก็จะแยกได้ว่า คำว่าโลก โลกียะ โล กะ ในพระพุทธศาสนา หมายความถึงสิ่งที่แตกดับ คือ เกิดแล้วก็ดับ ทั้งจิต เจตสิก รูป พระปัญญาสามารถประจักษ์การเกิดดับของจิต เจตสิก รูป เป็นโลกียปัญญา ต้องถึงระดับนั้น เป็นปัญญาที่ประจักษ์การเกิดดับ ยังไม่ใช่โลกุตตระ จนกว่าจะมีนิพพานเป็นอารมณ์ รู้แจ้งอริยสัจธรรมเมื่อไร นั่นคือโลกุตตรปัญญา

    ความเข้าใจของเราก็จะตรงกับความจริงตามที่ทรงแสดงไว้ นอกจากนั้นคือความคิดของเราเองทั้งหมด แม้แต่เพียงว่าเราจะปลง คือเรานั่นแหละ เพราะว่าความรู้ของเราไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยในลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ ๔๕ พรรษา แล้วยังครบถ้วน เป็นพระไตรปิฎก เป็นอรรถกถา ฎีกาต่างๆ และต้องตรงกับสภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วย

    ผู้ฟัง มันเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก อย่างเรา เดี๋ยวกลับไปเราก็ต้องไปทำงาน ไปวุ่นวาย แต่คนที่บวชแล้ว เขาจะอยู่ศึกษาธรรมได้ตลอด ก็ย่อมที่จะได้เปรียบ อย่างบางทีฟังจากอาจารย์ไป พอกลับไป พอเราไปที่ทำงาน เราก็ต้องรักษาผลประโยชน์ของ ลูกน้องเรา ที่ทำงานเรา เราก็ต้องยึดติดอะไรไปใหญ่ มันก็เลยแบบกระท่อนกระแท่น บางทีกลับไป ก็ไปทำงาน ก็ลืมแล้ว อะไรอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ เราจะรอไว้เมื่อไรเราจะฟังพระธรรม ถ้าเราคิดว่าภาระเรามี กลับไปก็ต้องอย่างนั้นอย่างนี้ ทุกๆ คนตั้งแต่เกิดจนตายก็ยังมีภาระกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะวัยไหน แล้วเมื่อไรจะศึกษาหรือว่าฟังพระธรรม

    ผู้ฟัง ที่ว่าความเป็นของเรา ถ้าเป็นเราคนเดียว ไม่ต้องของเราอะไรก็ได้ ใช่ไหม คือมีความรู้สึกกว่า อันนี้เป็นหน่วยงานของเรา เป็นกลุ่มของเรา เราก็ต้องรักษาผลประโยชน์ อะไรอย่างนี้ คือมันขัดกัน

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นธรรมทั้งหมด

    ผู้ฟัง ธรรม ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ธรรม เป็นอะไร ก็ต้องเป็นธรรม

    ผู้ฟัง เป็นสิ่งที่เป็นจริง เกิดขึ้นจริง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ขออนุญาตมีท่านผู้ฟังฝากถามมา คืออ่านจากหนังสือปรมัตถธรรมสังเขป คำว่า พิจารณาธรรมที่ได้ฟังแล้วด้วยความถูกต้อง อยากให้ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายเพิ่มเติม

    ท่านอาจารย์ พิจารณาธรรมที่ได้ฟังแล้ว ได้ฟังว่าอะไรแล้ว ลืมไปหมดแล้ว หรือว่าได้ฟังมาก เพราะฉะนั้น พิจารณาธรรมที่ได้ฟังแล้ว ธรรมนั้นอยู่ที่ไหน ได้ฟังแล้วว่าธรรมอยู่ที่ไหน เพื่อจะได้พิจารณาธรรมที่ได้ฟังแล้ว

    ผู้ฟัง ธรรมที่ได้ฟังแล้ว คือ ธรรมที่กำลังปรากฏทางปัญจทวาร

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้น คนอื่นที่ไม่ใช่คุณศีลกันต์ ธรรมที่ได้ฟังแล้วคืออะไรอยู่ที่ไหน ตอบกันเองก็ถูกกันเองหมด

    ผู้ฟัง หัวข้อนี้อยู่ในองค์ของโสดาปัตติยังคะ แต่ในปรมัตถธรรมสังเขป ท่านอาจารย์อธิบายคำว่า การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย โดยพิจารณาว่า พิจารณาธรรมที่ได้ฟังด้วยความถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ โยนิโสมนสิการเป็นภาษาอะไร

    ผู้ฟัง ภาษาบาลี

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าอะไร

    ผู้ฟัง เป็นความเข้าใจที่พิจารณา

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ไปติดอยู่ที่คำ ทุกครั้งที่เราจะอ่านด้วยตัวของเราเอง หรือฟัง ปัญญาไม่ใช่อยู่ที่คนอื่นเลย แต่อยู่ที่เราได้ยินได้ฟังแล้วเราเข้าใจ สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมากน้อยแค่ไหน ถ้าเข้าใจเพียงเล็กน้อย ก็ฟังบ่อยๆ แล้วก็คิด แล้วก็ไตร่ตรองจนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะว่าเวลาที่เข้าใจ เราไม่จำเป็นต้องไปติดอยู่ที่คำหนึ่งคำใดเลย เพราะว่าคำนั้นเพียงแต่ให้เรามีความเข้าใจที่ถูกต้องในธรรมที่กำลังมี กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ต้องเป็นปัญญาของเราทั้งหมด อย่าไปติดคำ แล้วเอาคำมาใช้โดยที่ว่า เราก็ยังไม่รู้ว่า หมายความว่าอะไร แต่พอแปลออกมา พูดภาษาเราคือที่เราพูดในภาษาไทยนี่แหละ พิจารณาให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องตามที่ได้ยินได้ฟังมา จะกลับไปเป็นภาษาบาลีว่าอะไรก็คือ ความหมายก็คืออันเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นในภาษาไหน เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ยินได้ฟังว่าธรรมที่ได้ยินได้ฟังแล้ว ก็ไม่ลืมเลย ขณะนี้หรือเปล่า ได้ยินได้ฟังธรรมที่ได้ฟังแล้ว คือ เรื่องที่กำลังมีจริงในขณะนี้ ใช่ไหม แล้วก็พิจารณาอย่างไรที่จะให้เข้าใจถูกต้องขึ้น ถ้าไม่มีการฟังมากขึ้น การพิจารณาของเราจะถูกต้องขึ้นได้อย่างไร ก็เป็นเรื่องธรรมดาของการที่เป็นผู้ฟัง แล้วพิจารณา แล้วก็เข้าใจในสิ่งที่มี ไม่ใช่เอาหนังสือมาแล้วอธิบาย ไม่ใช่อย่างนั้น แต่สิ่งที่มี ที่ได้ฟังแล้ว พอได้ยินอย่างนี้ก็ต้องรู้เลย ธรรมที่ได้ฟังแล้วคือเรื่องอะไร เมื่อไร ขณะนี้มีไหม แล้วเข้าใจขึ้นบ้างหรือยัง ถ้ายังไม่เข้าใจขึ้น ยังอยู่ในระดับที่เพิ่งจะฟัง แล้วจะกระโดดไปถึงการที่เข้าใจแล้ว เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ความเข้าใจที่จะเพิ่มขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อได้ฟังแล้วก็ได้พิจารณาต่อไปอีกได้ค่อยๆ เข้าใจขึ้นอีกเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง เมื่อกี้ได้ฟังประโยคที่ว่าโยนิโสมนสิการ ก็ยังไม่เข้าใจ ความละเอียดหรือความลึกซึ้งของคำว่า โยนิโสมนสิการ จะเป็นลักษณะอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เข้าใจถูกต้อง

    ผู้ฟัง เข้าใจถูกต้อง เป็นเรื่องของในขณะที่สติปัฏฐาน เกิดหรืออย่างไร ที่ว่าโยนิโสมนสิการ

    ท่านอาจารย์ เวลาที่เข้าใจถูกต้องเมื่อไร ขณะนั้นภาษาบาลีก็ใช้คำภาษาบาลี แต่คนไทยก็เข้าใจความหมายนั้นว่า คือขณะที่เข้าใจถูกต้องนั่นแหละ

    ผู้ฟัง เพื่อความเข้าใจถูกต้อง ที่เราคุยกันเมื่อวานนี้ บอกว่าที่เรามีสติระลึกรู้ เพื่อที่จะละตัวตน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพื่อที่จะเข้าใจถูกต้องในสิ่งที่ได้ฟังแล้ว

    ผู้ฟัง แล้วจะทำให้ละตัวตนได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจ ขณะนั้นก็ละความไม่เข้าใจ เพราะไม่เข้าใจจึงยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน ถ้าเข้าใจแล้วจะยึดถือไม่ได้

    ผู้ฟัง แล้วเมื่อวานนี้ ต่ออีกนิดหนึ่งว่า ที่อาจารย์ถามว่า มันมีอยู่ เห็นว่ามันมีอยู่ทางเดียว ใช่ไหม ในการที่ละตัวตน ทีนี้ก็สงสัยอยู่อย่างหนึ่งว่า เมื่อมีอยู่ทางเดียวพระพุทธเจ้าท่านพูดถึง ฌาน ๒ อย่างทำไม อีกอย่างหนึ่งเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ ฌานมีไหม

    ผู้ฟัง ความจริงไม่ทราบ แต่คนอื่นบอกว่ามี

    ท่านอาจารย์ ในพระไตรปิฎก แสดงว่าผู้ที่อบรมเจริญความสงบของจิต จนกระทั่งบรรลุความสงบตามลำดับขั้น ถึงขั้นอรูปฌาณซึ่ง เป็นฌานที่สูงที่สุดก็มี แต่ไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ตามความเป็นจริง จึงมี ๒ ฌาน ฌานหนึ่งก็สามารถที่จิตสงบโดยอารมณ์ที่เมื่อจิตระลึกถึง คิดถึงอารมณ์นั้นบ่อยๆ กุศลจิตก็เพิ่มขึ้น สงบขึ้น แต่เวลาที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นก็เป็นฌานอีกประเภท ๑ คือเป็น ลักขณูปนิชฌาน เพราะว่ากำลังอบรมความรู้ความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ได้ยินมาก ฟังมากแต่ว่า ความเข้าใจจริงๆ ต้องมี อย่าเพียงแต่ชื่อ

    ผู้ฟัง ผลที่ได้นี่ จิตสงบอย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ อย่างแรก คือ อารัมมณะ อารมณ์ เพราะฉะนั้น ฌานประเภทแรกคือ อารัมมณูปนิชฌาณ เกิดโดยการที่เราวันหนึ่งๆ เรื่องที่เราคิดเป็นกุศล หรือเป็น อกุศล

    ผู้ฟัง เป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ แล้วขณะที่เป็นกุศล คิดด้วยก็มี ใช่ไหม อย่างไหนน้อยหรือมาก

    ผู้ฟัง อกุศล

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปัญญารู้ว่า อกุศลมาก จึงระลึกถึงสิ่งใดด้วยกุศลจิตเพิ่มขึ้น ระลึกถึงทาน ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ แต่ไม่ใช่ไประลึกเป็นคำ ผู้ที่จะอบรมเจริญความสงบ ต้องประกอบด้วยปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาไปนั่งท่อง ไม่ใช่ฌานอะไรเลย เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่รู้สภาพของจิตว่าทำทำไม ทำไปก็อกุศลทั้งนั้นแหละ ก็เจริญอกุศล แทนที่จะเป็นกุศล

    เพราะฉะนั้น ต้องมีปัญญาที่จะรู้ว่า จิตที่เป็นกุศลระลึกถึงอารมณ์อะไร แล้วก็สงบด้วยกุศลจิตนั้นเพิ่มขึ้น ขณะนั้นเป็นอารัมมณูปนิชฌาน แต่ว่าไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม ที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เมื่อมีการตรัสรู้แล้ว ก็มีองค์ของฌาณที่จะตรึก หรือว่าจรดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ด้วยความเข้าใจถูกเพิ่มขึ้น จึงเป็นลักขณูปนิชฌาน หมายความว่ามีลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้เอง เป็นที่ตั้งของสติสัมปชัญญะ ที่จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจถูก เพื่อละความเข้าใจผิด ทำให้เมื่อมีปัญญาเกิดขึ้น เป็นวิชชา ก็ค่อยๆ ละอวิชชา ความไม่รู้ ก็มีฌาน ๒ อย่าง ถ้าชื่อจำไม่ได้ก็เก็บไว้ก่อน แต่ว่าเข้าใจความหมายว่าต่างกัน อารมณ์อันหนึ่ง ลักขณะอันหนึ่ง ก็คงพอจะช่วยได้

    ผู้ฟัง สำหรับในตอนนี้ ผมอยากจะเรียนถามเรื่องของเวทนา ที่ว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา เพราะว่าเวทนาก็เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเราตลอดเวลา ในเรื่องของเวทนาทั้งหมด เราจะพิจารณาอย่างไร ในเรื่องของเวทนาที่เกิดขึ้นใชีวิตประจำวัน เพื่อให้รู้ความจริง

    ท่านอาจารย์ จะพิจารณาอย่างไร ให้รู้ความจริง ถูกหรือผิด

    ผู้ฟัง ผิด

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ต้องไปเสียเวลา พิจารณาอย่างไร ค่อยๆ เข้าใจขึ้น อย่าลืมคำนี้เลย ภาษาบาลีไม่มีคำว่า เข้าใจ แต่มีคำว่า ปัญญา แต่สำหรับคนไทย พอใช้ปัญญา ปัญญารู้อะไร ก็ไม่เห็นรู้เลย ใช้แต่คำนี้โดย ที่ไม่รู้ว่าปัญญารู้อะไร แต่ถ้าเราจะเริ่มว่าก่อนที่ปัญญาระดับที่สามารถรู้ยิ่งขึ้นๆ จะมีได้ ต้องมาจากปัญญาเล็กที่สุดคือเข้าใจถูก เห็นถูก แม้ในครั้งที่ได้ยินได้ฟัง ต้องรู้ว่ามีอะไรที่ยังไม่เข้าใจ แล้วเมื่อได้ยินแล้ว จึงค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้น จะรู้ได้ว่า ก่อนนี้ไม่เข้าใจ แต่เวลานี้เข้าใจอะไร ก็อบรมความเข้าใจขึ้น ไม่ใช่ทำอย่างไรจะไปรู้ ไม่ได้เลย แต่ต้องเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง ในขั้นการฟังก็ยังไม่เข้าใจ ที่ว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราจะไปไหนในเมื่อเราไม่เข้าใจ

    ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์ช่วยอธิบายในเรื่องของ เวทนา

    ท่านอาจารย์ เวทนาคืออะไร ตั้งต้นอย่างนี้ทุกครั้ง

    ผู้ฟัง ความรู้สึก

    ท่านอาจารย์ ความรู้สึก มีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะพิจารณา พิจารณาเวทนาอะไร เมื่อไร

    ผู้ฟัง พิจารณาเวทนาที่เกิดขึ้นเดี๋ยวนี้

    ท่านอาจารย์ ที่สติสัมปชัญญะระลึก เพราะว่าเวทนาก็เกิดแล้วก็ดับเร็วมาก ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดระลึกลักษณะของเวทนาหนึ่งเวทนาใด เวทนานั้นก็เกิดแล้วดับแล้ว หมดเลย ไม่เหลือเลย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรา แต่อาศัยการฟังแล้วเข้าใจ รู้ลักษณะของขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ ถ้าไม่รู้อย่างนี้ จะไปเจริญอะไร ก็คงเป็นความไม่รู้ไปเรื่อยๆ แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่า เป็นสติต่างหากที่ระลึก ไม่ใช่เราทำอย่างไรจะรู้ แต่เป็นสติที่เกิดแล้วระลึกตรงลักษณะนั้น แล้วค่อยๆ เข้าใจลักษณะนั้นซึ่งเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง มีลักษณะซึ่งจะเปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย สภาพธรรมทุกอย่าง เป็นสภาพธรรมอย่างนั้น เมื่อเกิดเป็นอย่างนั้นก็เป็นอย่างนั้น แล้วก็ดับไป ใครจะไปเปลี่ยนแปลงไปทำอะไรไม่ได้เลยทั้งสิ้น แต่ค่อยๆ เข้าใจได้ว่า ลักษณะนั้นก็เป็นเพียงสภาพธรรม ซึ่งแต่ก่อนเคยเป็นเรา ไม่ว่าจะดีใจ เสียใจ เป็นทุกข์ เป็นสุข ก็เป็นเรา แต่ว่ามีความเข้าใจว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่เราเลย เวลาที่ไม่เกิดขึ้น เราอยู่ที่ไหน ถ้าเราคิดว่า ทุกข์เป็นเรา ถ้าสุขเป็นเรา เวลาที่สุขยังไม่เกิดขึ้น เราอยู่ที่ไหน ก็ยังไม่มีทั้งนั้น แต่พอเกิดขึ้นเมื่อไร เพราะความไม่รู้ก็ยึดถือว่าเป็นเราเมื่อนั้น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 99
    23 มี.ค. 2567