ปกิณณกธรรม ตอนที่ 398


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๙๘

    สนทนาธรรม ระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย

    พ.ศ. ๒๕๓๘


    ท่านอาจารย์ การที่จะรู้ลักษณะของนามธาตุ แล้วก็มีความเข้าใจถูกต้อง จนกระทั่งรู้ว่า นามธาตุนั้น เป็นธาตุรู้เกิดขึ้น แล้วไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็จะทำให้ใกล้ชิดต่อการที่จะพิจารณา นามธรรม โดยสภาพที่เป็นนามธรรมแต่ละชนิดเพิ่มขึ้นอีก เพราะฉะนั้น จะเห็นความสมบูรณ์ของปัญญา จะต้องเพิ่มขึ้นๆ ๆ เรื่อยๆ แล้วก็จะแสดงให้เห็นว่ากิเลสมาก แล้วก็ความรู้นิดหน่อย ไม่มีทางเลย ที่จะไปรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แต่เมื่อเริ่มเข้าใจ เมื่อเริ่มรู้ อันนี้เป็นหนทางที่จะอบรม แล้ววันหนึ่งก็จะถึงวันที่รอคอย เหมือนอย่างผู้ที่รอคอยมาก่อนเรา แสนโกฏิกัปป์ ล้านแสนโกฏิกัปป์ แต่ท่านก็ได้บรรลุถึงวันที่ท่านรอคอย ในกาลที่ท่านพระผู้มีพระภาคตรัสรู้แสดงพระธรรม เพราะฉะนั้น ท่านเหล่านั้นมีโอกาสได้ฟังพระธรรม พร้อมทั้งการอบรมเจริญมาแล้ว อย่างสะดวกสบายที่จะเข้าใจลักษณะของนามธรรมรูปธรรมในขณะนี้ สามารถที่จะประจักษ์แจ้งความจริงของนามธรรม และรูปธรรมได้

    ผู้ฟัง ความเข้าใจในระดับไหน ที่จะตามถ้อยคำอันนี้ทัน ระลึกรู้สภาพธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ถ้าเราเข้าใจในเรื่องปรมัตถธรรม จิต เจตสิก รูป นิพพานไม่ต้องพูดถึง แล้วเข้าใจในสังขารขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

    ท่านอาจารย์ ธรรมไม่ใช่เรื่องทฤษฎีแบบมาตราส่วน คือคนพยายามที่จะหามาตราส่วนว่าเท่าไร แล้วก็เมื่อไร อะไรที่ทำให้คิดอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ถ้าเป็นธรรมที่ถูกต้องจริงๆ เป็นเรื่องเบาสบาย ไม่ใช่เรื่องหนัก ไม่ใช่เรื่องกังวล ว่าเมื่อไร เท่าไร เรียนปรมัตถ ๔ จิต เจตสิก แล้วไปถึงขันธ์แล้วพอหรือยัง พอรู้เรื่องขันธ์แล้วต้องไปต่ออายตนะ ถึงจะเป็นปัจจัยให้สติระลึก หรืออะไรอย่างนั้น ถ้าเป็นเรื่องของการฟังธรรมด้วยความเบาใจ สบายใจ ขณะนั้น เป็นกุศลจิต ถ้าใครเกิดหนักใจ ให้ทราบว่าขณะที่หนัก เป็นโลภะ หรือเป็นโทสะ เป็นอกุศลประเภทหนึ่ง ประเภทใดแล้ว เพราะว่าธรรมจริงๆ กุศลจิตเกิดแล้ว พร้อมกับโสภณเจตสิก ประกอบด้วยปัสสัทธิเจตสิกสภาพที่สงบ ซึ่งเป็นจิตลหุตา กายลหุตา ไม่อยากจะใช้ภาษาบาลี หมายความว่าสภาพที่เบาใจ สงบใจ ไม่ต้องเป็นทุกข์เดือดร้อน

    เพราะฉะนั้น ที่เราฟังธรรม ถ้าเรามีความเข้าใจเดี๋ยวนี้ มีความแช่มชื่น ปิติที่ได้เข้าใจ แม้เพียงเท่านี้ แต่เป็นความเข้าใจแล้ว ไม่ต้องไปคิดกังวลถึงข้างหน้าว่าเท่าไร และเมื่อไร มาตราส่วน และอัตราส่วน ไม่ต้องคิดเลย แล้วก็เมื่อฟังอีกเข้าใจอีก แล้วก็รู้ว่าที่เราเข้าใจ เราไม่เข้าใจเพียงเรื่องราวของธรรม แต่เราเข้าใจตัวธรรมจริงๆ ที่กำลังเห็น ที่กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ เราจะต้องมาใกล้ธรรมมากกว่าผู้ที่ศึกษาโดยทฤษฎี เพราะว่าถ้าโดยทฤษฎี หรือนักวิชาการจะเห็นได้ว่า แม้แต่ในทางโลกกระดาษเป็นปึก และการอ่านไม่รู้ว่าจะอ่านกันหมดทุกตัวอักษรหรือเปล่า หรือว่าพลิกๆ ดูเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วเรื่องของธรรมไม่ใช่เป็นเรื่องของทางโลก ไม่ใช่เป็นเรื่องของ ความสามารถว่าระดับไหน หรือไม่มีการที่จะให้เกรด หรือหน่วยกิจหรืออะไรๆ ทั้งสิ้น เป็นเรื่องที่รู้แล้ว ละ ข้อสำคัญที่สุด ของพระศาสนา ไม่ใช่อย่างอื่นเลย เพราะว่าพระผู้มีพระภาค ทรงตรัสรู้ว่าสิ่งที่นำความทุกข์ แท้จริงมาให้คือโลภะ แต่ว่าคนไม่ได้รู้จักหน้าตาของโลภะ โดยละเอียดขึ้น เวลาที่ใครอยากจะไปซื้อของที่อาเขต หรืออะไรอย่างนี้ คนนั้นก็บอกว่านี่โลภะ เป็นโลภะ แต่ว่ารู้นิดเดียว แต่โลภะก็พาไปตลอดทั้งวัน เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า โลภะ ซ่อนเงื่อน จะเรียกอย่างนั้นก็ได้ ซ่อนเร้นปิดบังซ่อนเงื่อนสารพัด แม้แต่ในขณะที่คิดว่าเข้าใจธรรม แต่ไม่ใช่เพื่อความรู้เพื่อละ จะมีความหวังจะมีความต้องการเกิดขึ้น ว่าเมื่อไร เท่าไร อย่างไร ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการเข้าใจธรรม ถ้าเป็นเรื่องของการเข้าใจธรรม คือรู้แค่นี้ แล้วก็ฟังอีกเข้าใจอีก แล้วก็รู้อีก แล้วก็สบายใจไม่ต้อง ไปกังวลไม่ต้องไปเดือดร้อน ไม่ใช่ว่าวันนี้สติไม่เกิด แล้วก็ทำอย่างไรสติของเราจะเกิดมากๆ นั่นคือไม่เป็นปกติ ผิดปกติแล้ว ถ้าวันนี้ใครเกิดสติมากๆ เพราะเหตุว่า ถ้าเทียบส่วนแล้ว ถึงจะว่ามากอย่างไร ก็ยังต้องน้อยกว่าอกุศล ตามความเป็นจริงเพราะเหตุว่า อวิชชามากกว่าแสนมากในอดีตอนัตชาติมาแล้ว แล้วการฟังธรรมมีเท่าไร การเข้าใจธรรมมีเท่าไร ปัจจัยที่จะให้สติระลึกมีเท่าไร และถ้าระลึกแล้ว เกิดดีใจก็มาอีกแล้ว เพราะฉะนั้น หนีเขาไม่รอด ถ้าปัญญาไม่คมกล้าจริงๆ ที่จะรู้ว่าแท้ที่จริงแล้ว แม้แต่ขณะนั้นก็เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น การที่จะลบความยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ต้องละเอียดแล้วต้องทั่ว เพราะว่าจะไม่เหลือแม้แต่ว่าเมื่อสติระลึก แล้วจะลักษณะของสภาพธรรมใด ก็จะรู้ว่าเป็น เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง แม้แต่โลภะจะเกิด สติก็ระลึกได้ แล้วก็รู้ว่าขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง แต่ไม่ใช่พูดตามด้วยปาก อันนี้เป็นเรื่องง่ายเกินไป ต้องเป็นเรื่องที่ระลึกจริงๆ รู้ว่าเป็นสติสัมปชัญญะ แล้วก็รู้ว่าความเข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรม โดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน จะเพิ่มขึ้นมากหรือน้อย ทีละเล็กทีละน้อยอย่างไร ซึ่งมากไม่ได้ ถ้ามากผิดปกติ ให้ทราบว่าคนนั้นผิดปกติ ไม่ใช่ปกติ เพราะฉะนั้น มีใครอยากจะผิดปกติ ไหม

    ผู้ฟัง ดิฉันคิมรส ขอถามท่านอาจารย์ คำว่า ตัณหาเป็นเครื่องแผ่ไป อธิบายอย่างไร ไม่รู้ ขอท่านอาจารย์ ช่วยอธิบายให้เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ คุณคิมรส ชอบรูปสวยๆ ไหม ชอบเสียงเพราะๆ ไหม ชอบกลิ่นหอมๆ ไหม ชอบรสอร่อย ชอบสิ่งกระทบสัมผัสสบายๆ ยังสงสัยตัณหาแผ่ซ่านอย่างไร ทุกวันเลย ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แทบจะเรียกได้ว่าไม่เว้น เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เวลาที่เราศึกษาเรื่องของ จิต สิ่งสำคัญที่สุดคือว่า ในพระพุทธศาสนา ทรงแสดงเรื่องเหตุ และผล ด้วยเหตุนี้จึงมีจิต ๔ ชาติ คือจิตที่เป็นอกุศล คือเป็นเหตุที่ไม่ดี ทำให้เกิดผลที่ไม่ดี และจิตที่เป็นกุศล เป็นเหตุที่ดี คือผลที่ดี เพราะฉะนั้น ก็มีจิตที่เป็นกุศล เป็นอกุศล เป็นวิบาก เป็นกิริยานี้ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่เรื่องอื่น ไม่ใช่อย่างอื่นเลย ชีวิตประจำวัน แม้แต่เรื่องชาติของจิต แม้แต่ขณะนี้ เพียงเห็น จิตเกิดขึ้นเห็นขณะหนึ่ง ขณะนั้นเป็นวิบาก แล้วเราก็ไม่ต้องพูดถึงรายละเอียดเพิ่ม เพราะโดยนัยของพระสูตร ไม่ได้แสดงเรื่องสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะเลย แต่แสดงว่าเมื่อเห็นแล้ว หลังจากที่วิบากจิตเกิดแล้ว อะไรเกิดต่อ อันนี้เป็นสิ่งซึ่งควรจะรู้ และสำคัญมาก เพราะเหตุว่า สภาพจิตที่เป็นวิบาก เป็นเพียงผล ซึ่งจะต้องเกิดตามเหตุที่ได้กระทำแล้ว นี้เป็นเหตุที่ต้องคอยวิบาก แต่ไม่ได้รู้เลยว่า วิบาก ผลที่ต้องการ มีเหตุที่จะให้เกิดเป็นอยางนั้นหรือเปล่า อย่างบางคนหวังรอแต่สิ่งที่ดี แต่ไม่รู้ว่าได้ทำบุญมาพอที่จะได้รับสิ่งที่ดี ในชาตินี้หรือเปล่า ในขณะนี้หรือเปล่า นี่แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจสภาพของวิบากคือขณะที่กำลังเห็น จะไม่สนใจเลย ในวิบาก เพราะเหตุว่าเป็นวิบาก วิบากต้องเกิด อย่างไรๆ ก็ต้องเกิด เพราะเหตุว่าเป็นผลที่สุกงอมของกรรมที่ได้กระทำแล้ว แล้วเกิดแล้วก็แล้วไป คือเห็นแล้วก็ดับ แต่ว่าไม่สามารถที่จะทำอะไรยิ่งกว่านั้นเลย แต่เมื่อเห็นแล้วเกิดชอบ เป็นอกุศล หรือว่าเป็นกุศล นี่เป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผลข้างหน้า เพราะฉะนั้น ที่คุณคิมรส บอกว่า ชอบสิ่งที่เห็น ก็แสดงว่าวิบากจิต ต้องเห็น แต่ว่าหลังจากที่เห็นแล้ว เกิดโลภะ เกิดความชอบ เวลาที่ได้ยิน วิบากคือต้องได้ยิน ห้ามไม่ให้ได้ยินก็ไม่ได้ แต่หลังจากที่ได้ยินแล้วเกิดโลภะ คือชอบ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าวันนี้ทั้งวัน ขณะใดที่เราไม่ได้ฟังพระธรรม ในรถ หรือว่าไม่ได้กราบไหว้นมัสการที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ไม่ได้น้อมระลึกถึงพระรัตนไตร ขณะนั้น เราก็รับประทานอาหาร แล้วก็มีความพอใจในรส หรือแม้แต่ไม่รับประทานอาหารเห็นเด็กชาวบ้าน เห็นของใช้เห็นอะไรต่ออะไร จิตของเราก็เป็นไปกับอกุศลทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่าแผ่ไปไม่สงสัยเลย เพราะเหตุว่าตลอดเวลาอยู่แล้ว เว้นแต่ขณะที่เป็นโทสะ โมหะ หรือขณะที่เป็นกุศล และขณะที่เป็นวิบาก

    ผู้ฟัง เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลา ก็มีสุริยคราส ซึ่งผมก็อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าดูสุริยคราสด้วยตาเปล่า จะทำให้ตาบอด ได้ ทีนี้แสงแดดหรือแสงอาทิตย์นี้ เป็นอุตุชุรูป แต่ทำไมมาทำให้ตาบอดซึ่งเกิดจากกัมมชรูปได้ ในทางธรรม

    ท่านอาจารย์ ก็ทำไมถึงจะสงสัย รูปที่เกิดจากกรรมก็มี รูปที่เกิดจากจิตก็มี รูปที่เกิดจากอุตุก็มี รูปที่เกิดจากอาหารก็มี แล้วอย่างไร จะสงสัยได้อย่างไร

    ผู้ฟัง แสงอาทิตย์ เป็นอุตุชรูป แล้วก็ทำให้กัมมชรูปเสียได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ คนนั้นถ้าไม่มีกรรมก็ไม่เสีย ถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงจริงๆ แม้แต่คำว่า วิบากกำลังเห็น เป็นวิบากต้อง เป็นวิปัสสนญาณ เพราะเหตุว่าจะรู้ได้จริงๆ ว่า สภาพของจติที่เกิดเห็นในขณะนี้เป็น สภาพธรรม ที่มีจริง ขณะหนึ่งเท่านั้น แยกจากความยินดีพอใจซึ่งเกิดต่อภายหลัง เพราะฉะนั้น จะเห็นได้เลยว่าผู้ที่มั่นคงในกรรมจะเห็นได้เลยว่า ขณะไหนเป็นวิบาก ขณะไหนเป็นอกุศล ขณะไหนเป็นกุศล เพราะเหตุว่าสภาพของวิบากจิตไม่ใช่สภาพของอกุศลจิต

    ผู้ฟัง ขณะนี้เห็นกับได้ยินเสียงท่านอาจารย์ เป็นวิบาก แล้วกิเลสอย่างไหน

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่มีแต่เพียงเห็น ใช่ไหม หลังจากเห็นแล้วเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นยินดี

    ท่านอาจารย์ ยินดีอย่างไร ยินดีในธรรม เป็นกุศล ขณะที่ฟังธรรมให้ทราบว่า ทำไมถึงมาฟัง ถ้าเป็นอกุศล ไม่ฟังแล้ว ไปข้างนอก ทำอย่างอื่น แต่ที่ฟังเพราะว่าต้องการที่จะเข้าใจ สิ่งที่มีจริงๆ จากพระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ ต้องการที่จะเข้าใจว่าพระผู้มีพระภาค ทรงบำเพ็ญพระบารมี สี่อสงไขยแสนกัป ทรงตรัสรู้อย่างไร ทรงแสดงธรรมอย่างไร เพราะฉะนั้น ก็มาเพื่อที่จะฟังพระธรรมว่า เมื่อทรงตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงความจริง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพื่อที่จะให้เข้าใจว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เป็นเรา ไม่ใช่เป็นตัวตน เพราะฉะนั้น ขณะที่มาฟัง ขณะใดที่มีความเข้าใจเกิดขึ้น ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต ไม่ใช่คุณคิมรส เป็น กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา แต่ว่าถ้าขณะใด หลังจากเห็นแล้ว นึกถึงเรื่องอื่น ได้ยินแล้วก็คิดเรื่องอื่นไป ขณะนั้นก็เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีสติสัมปชัญญะ จึงสามารถที่จะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงได้ทุกขณะ ไม่ใช่รู้ตามตำรา ว่าหลังจากที่วิบากเกิดแล้ว เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง นั่นถูกนั่นจริง แต่เดี๋ยวนี้ ขณะที่กำลังเห็น หลังจากที่เห็นแล้ว จิตเป็นกุศล หรืออกุศล แต่ก่อนที่จะเข้าใจว่า จิตเป็นกุศล หรืออกุศล ต้องประจักษ์รู้แจ้งชัดในสภาพที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมเสียก่อน ถ้าไม่รู้แจ้งชัดในสภาพของนามธรรม และรูปธรรม ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นต่อจากที่เป็นวิบากจะเป็นประเภทไหน เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ได้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เราก็เอาตำรามาอีก คงจะเป็นอย่างนั้น คงจะเป็นอย่างนี้ เพราะเหตุว่าที่จะรู้จริงได้ ต้องเป็นสติสัมปชัญญะ ที่ระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม จึงสามารถที่จะรู้จริงๆ ได้ว่า ชั่วขณะหนึ่งๆ ที่ต่อจากเห็น เป็นจิตประเภทไหน แต่ต้องรู้ว่าเป็นนามธรรมก่อน ไม่ใช่คุณคิมรส

    ผู้ฟัง มรณสติโดยนัยของการเจริญสติปัฏฐาน เกี่ยวข้องกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่เป็นความจริง เป็นสติปัฏฐานทั้งนั้น สติที่ระลึกถึงความตายก็จริง ในขณะนั้น ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ก็หมายความว่า ไม่ใช่เพียงระลึกถึงเรื่อง ตาย แต่ว่าสติปัฏฐาน ต้องระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม

    ผู้ฟัง ทุกคนที่ฟังธรรมโดยมาก อยากจะได้สติ เพราะได้ยินว่าสติเจริญมากๆ แล้วก็ ได้มรรคมีองค์ ๘ แล้วก็ได้นิพพานอีก เพราะฉะนั้น อยากจะได้สติ คนไหนก็บอกว่า ธรรมเป็นปกติเหมือนธรรมอื่นๆ เช่น การเห็นการได้ยิน มีอารมณ์ก็ต้องเห็น ต้องได้ยิน แล้วก็โลภะ โทสะ เป็นต้น เป็นปกติอย่างใด สติก็อย่างนั้น มีปกติเป็นธรรมดา ถ้ามีเหตุก็สติเกิดขึ้น ถ้าไม่มีเหตุสติก็ไม่เกิด นี่ก็เป็นธรรมเป็นปกติ ต้องไม่ติดในสติด้วย แต่สติมีเหตุต้องเกิดขึ้น ในปัฏฐานของสติมีคำว่า ถิรสัญญา ปทัฏฐาน มีความจำอย่างมั่นคง เป็นปทัฏฐาน ผมตั้งคำถามว่าการจำนี่ ก็ต้องจำธรรมที่ได้ฟังมา อยู่ประเทศเขมร โดยมากเป็นคนแก่ๆ มีอายุ ๗๐ ปี หรือกว่านั้นฟังแล้วไพเราะแต่ไม่จำ บอกอย่างนั้น หลายคน ผมถามว่า มีปัฏฐานอื่นอีกหรือไม่ ที่ฟังไม่จำอย่างนี้แล้ว สติอาจจะเกิด ขอให้อาจารย์ช่วยบอก

    ท่านอาจารย์ ไม่มี ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าทุกคนฟังจริง ผ่านไปเลย เหมือนลอยขีดในน้ำได้ หายไปเร็วมาก ขณะที่กำลังฟัง รู้สึกค่อยๆ เข้าใจ แต่เพียงขั้นฟัง ถ้าไม่ฟังบ่อยๆ ไม่พิจารณา ไม่หมั่นที่จะพยายามเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ก็ไม่มีทางที่สติจะเกิด ที่เป็นสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าที่เรียกว่า สัญญาความจำที่มั่นคง ไม่ใช่จำเรื่องอื่น แต่วันนี้เราจำอะไรบ้าง ลองคิดดู ความจำที่มั่นคงของเราจำเรื่องอะไร ใช่ไหม วันนี้ ความจำที่มั่นคงของเราจำเรื่องอะไร บางคนยังจำเรื่องบ้านที่พนมเปญ อย่างมั่นคงเลย ทุกอย่างที่เป็นสัญญาของเราจำเรื่องอื่นมั่นคง บางคนจำเรื่องลาภมั่นคง จำเรื่องยศมั่นคง จำเรื่องสรรเสริญมั่นคง จำเรื่องอะไรๆ ที่จะได้มาอย่างมั่นคง อย่างนั้นไม่ใช่สัญญาที่มั่นคงที่จะทำให้สติปัฏฐานเกิด สัญญาที่มั่นคงคือว่า ฟังธรรมแล้วเข้าใจ ความเข้าใจนั้น จำมั่นคงที่ไม่ลืม ว่าขณะนี้ทุกอย่างเป็นธรรม คือสิ่งที่ได้ฟังไม่ผ่านไป แม้แต่เพียงประโยคเดียว ธรรมต้องไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แล้วได้ยินมานานเท่าไรแล้ว แต่การที่จะรู้ว่าทุกๆ ขณะไม่มีอะไรเลย นอกจากธรรม เพราะฉะนั้น ความมั่นคงที่เข้าใจ จะทำให้มีการระลึก แล้วก็เข้าใจสภาพของสิ่งที่ปรากฏ แต่ถ้าไม่มีความเขาใจอย่างนี้ ความมั่นคงอย่างนี้ สัญญาความจำของเรายังมั่นคงในเรื่องอื่น ก็ไม่เป็นปัจจัยให้ให้สติปัฏฐานเกิด

    ผู้ฟัง ขออนุโมทนาท่าน ผมมีคำถามอย่างนี้ ก็แสดงความสังเวช ผู้แก่ๆ มีอายุมากๆ แล้วก็ ช่วยเตือนผู้ที่มีอายุน้อยๆ ต้องพยายามฟังธรรม เพราะถ้าแก่แล้วฟังธรรมไม่จำ แล้วก็สติไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ จริงไหม จริงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง อย่างที่อาจารย์ว่าเข้าใจ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ใช่ไหม ไม่ใช่ฟังเพื่อเข้าใจเรื่องราวเท่านั้น ต้องเข้าใจสภาพธรรมด้วย ไม่ใช่เข้าใจเรื่องราวอย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ ขอโทษคุณหมอ แม้แต่เพียงคำว่า ธรรม แค่นี้ ถ้าจำจริงๆ ก็เป็นปัจจัยให้สติระลึกได้ ใช่ไหม ทั้งหมดไม่มีอะไรเลย เป็นธรรมทั้งหมดแค่นี้เพียงเท่านี้ ถ้าเป็นสัญญาความจำที่มั่นคงจริงๆ ก็เป็นปัจจัยให้สติ ระลึกได้ ไม่ต้องมาก เพียงแค่ทุกอย่างขณะนี้เป็นธรรมทั้งนั้น

    ผู้ฟัง ไม่ใช่จำเรื่อง ไม่ใช่จำแต่ปาก

    ท่านอาจารย์ นั่นสิ ถ้ามั่นคงจริงๆ คือทุกอย่างเป็นธรรม เพียงแค่นี้ถ้ามั่นคงจริงๆ ก็เป็นปัจจัยให้สติ ระลึกได้

    ผู้ฟัง อยากจะได้ สติก็เป็นลักษณะธรรม แต่ทำอย่างนั้นไม่ได้สติก็ไม่เกิด มีแต่อยากได้สติเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าไม่เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่จะต้องเป็นการละ ความต้องการ ต้องการไปเถอะสติ ทั้งวันก็ไม่เป็นปัจจัยให้สติเกิด ต้องรู้จริงๆ ว่า โลภะหรือความอยากเป็นเครื่องเนิ่นช้า ไม่ใช่เป็นเครื่องที่จะทำให้มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แทนที่จะอยาก ก็ระลึก ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ หมายความมีปัจจัยที่สติจะเกิด แต่นี่มีปัจจัยที่โลภะ จะอยากเท่านั้นเอง แต่ไม่มีปัจจัยที่สติจะระลึก นี้ก็แสดงให้เห็นว่า ต้องมีความเข้าใจจริงๆ ต้องรู้จักหน้าตาของโลภะ ไม่ใช่ให้โลภะพาไป บางทีอยากจนตาย อย่างที่คุณบุตรสวง ว่า อยากทุกวันจนตาย ก็ยังเพียงแค่อยาก

    ผู้ฟัง ธรรมที่ว่าละ คือต้องรู้ ถึงจะละได้

    ท่านอาจารย์ ต้องเห็นตัวโลภะ รู้ว่าเป็นโลภะ ถึงจะเป็นไม่ได้ตามโลภะไป คำถามคือว่า รู้จักโลภะ ไหม

    ผู้ฟัง อยากจะรู้ ความต้องการอยากจะได้สติ อยากจะไปทำความสงบด้วยมาก แม้แต่ความตั้งใจจะทำ ก็ไม่รู้ว่าเป็น ธรรม ไม่รู้อย่างนี้ อยากจะไปทำตลอดเวลา แต่รู้ว่าอยากจะทำนี้เป็นธรรม ความตั้งใจจะทำ ก็เป็นเจตนาไม่ใช่เราอย่างนี้ก็ลดน้อยความอยาก แล้วก็เพิ่มมีสติ แต่ไม่เข้าใจอย่างนี้ ทุกคนมาอยู่ในกัมพูชา ผมก็คิดว่า ความตั้งใจเป็นธรรมจริงๆ จะไปทำเป็นเจตนา อย่างไหนจึงจะรู้ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่รู้อย่างนี้ตลอด แล้วก็ไปทำตลอด ไม่มีสติตลอด ตามความเป็นจริงไม่มีอะไรเป็นตัวตน แม้แต่ความตั้งใจจะไปทำ ถ้ามีสติรู้แค่นี้ อย่างนี้ก็หมดปัญหา ไม่มีอะไรเป็นตัวตน แต่ไม่รู้อย่างนี้ตลอด ไปทำตลอดผมที่พูดอย่างนี้ เพื่อจะได้ความเข้าใจว่าต้องลดน้อยความอยากจะได้ แล้วเพิ่มมีสติรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏคือความสงบ ถ้าไม่รู้อย่างนี้ คือความสงบ แต่อยากได้ๆ ไม่สงบเลย

    ผู้ฟัง มีฉันทะไม่ใช่มีโลภะ

    ท่านอาจารย์ แต่จริงๆ ถึงไม่มีตัวคุณหมอ แต่ก็มีโลภะได้ เพราะว่าโลภะก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งยังไม่ดับ ไม่ใช่ว่าคุณหมอมีตัว ตัวไม่มี มีสภาพธรรม ไม่ใช่มีตัวคุณหมอ แต่มีความเห็นผิด ที่ไปยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา หรือเป็นตัวเรา แต่สภาพธรรม ที่มีเพราะเหตุปัจจัย มีก็ต้องเกิด

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 99
    23 มี.ค. 2567