ปกิณณกธรรม ตอนที่ 373


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๗๓

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    พ.ศ. ๒๕๔๑


    ท่านอาจารย์ เวลานี้เข้าใจแล้วใช่ไหม ที่บอกว่าถูกๆ แปลว่าเข้าใจแล้ว

    ผู้ฟัง เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง

    ท่านอาจารย์ ตอนที่บอกว่าถูก หมายความว่าเข้าใจ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เข้าใจแค่นี้ไม่ต้องไปปฏิบัติ เพราะยังไม่ได้รู้มากพอที่จะเป็นสัมมาสติที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ต้องศึกษามากกว่านี้ แล้วก็สติเป็นอนัตตา เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิด บังคับไม่ให้สติเกิดก็ไม่ได้ มีเสียง มีโสตปสาท จะบังคับให้ไม่ได้ยินก็ไม่ได้ ฉันใด ถ้ามีความรู้ มีความเข้าใจที่ถูกต้อง จะไม่ให้สติปัฏฐานเกิดก็ไม่ได้ แต่ถ้าอยากจะให้สติปัฏฐานเกิด นั่นไม่ใช่เหตุที่จะให้สติปัฏฐาน เกิด ตัวอยากไม่ใช่เหตุที่ให้สติปัฏฐานเกิด แต่ต้องเป็นความเข้าใจถูกเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ผู้ที่จะเขาใจถูกก็คงจะหายากได้น้อยมาก

    ท่านอาจารย์ เอาคนหนึ่งก็ได้ คือคนที่กำลังพูด จะยากมากอย่างไรก็ตามแต่ เราคนหนึ่ง ทีละคนๆ ๆ

    ผู้ฟัง การยึดมั่นเป็นตัวตนนั้น ยึดมั่นเพราะทิฏฐิ ยึดมั่นเพราะมานะ ยึดมั่นเพราะโมหะ ไม่ทราบว่า รายละเอียดจะเป็นอย่างไรบ้าง ขอความกรุณาท่านอาจารย์อธิบาย

    ท่านอาจารย์ ยึดถือด้วยโลภะ อย่าง ๑ ด้วยทิฏฐิ อย่าง ๑ ด้วยมานะอีกอย่าง ๑ ๓ อย่าง

    ผู้ฟัง ไม่มีโมหะ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ โมหะเป็นประจำ เป็นพื้นอยู่แล้ว

    ผู้ฟัง เป็นพื้นอยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีโมหะ ก็ไม่มีโลภะ ไม่มีทิฏฐิ ไม่มีนานะ ถ้าไม่มีโมหะ อกุศลใดๆ ก็ไม่มี แต่ถ้ามีแต่โมหะ ไม่มีโลภะ ก็เป็นเพียงโมหะ แต่นี่มีโลภะ มีความยึดมั่น ในความเป็นของเรา ในความเป็นเรา หรือว่ามีความยึดมั่นด้วยทิฏฐิ มีความเห็นผิดว่า เป็นตัวตนจริงๆ หรือมีความยึดมั่นด้วยความสำคัญตนว่าเป็นเรา

    ผู้ฟัง การเจริญเมตตาโดย ที่เราคิดว่า เราเหนือกว่าเขา หรือว่าเรามีอันจะกินกว่าเขา เราดีกว่าเขา แล้วเราก็บริจาคให้เขาไป นี่เป็นอกุศลมูลจิต ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เกี่ยวกับเมตตาอย่างไร

    ผู้ฟัง การให้

    ท่านอาจารย์ การให้

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ให้โดยฐานะที่

    ผู้ฟัง เราคิดว่าเราเหนือกว่าเขา

    ท่านอาจารย์ เราเหนือกว่า แล้วเราผูกพันในการให้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ผูกพัน ก็ถือว่าให้ไป เราเห็นเขา รู้สึกเป็นผู้น้อย ด้อยกว่า เราก็เลยให้ไป

    ท่านอาจารย์ สภาพของจิตเกิดดับสลับกันเร็วมาก บางคนเป็นคนที่ดูเหมือนกับเป็นคนผู้ที่มีความกรุณา เห็นใครตกทุกข์ได้ยาก เขาช่วยทันทีเลย แต่ว่าเขามีความสำคัญตนหรือเปล่า เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลที่จะรู้ว่า เขามีความสำคัญในตัวเขาหรือเปล่า หรือเขามีความเสมอกันกับผู้รับ เพราะบางคนเห็นคนตกทุกข์ได้ยาก ยากจนเดือดร้อน แต่ผู้ให้ขณะนั้นไม่ได้ยากจน ไม่ได้เป็นทุกข์ ไม่ได้เดือดร้อน มีจิตกรุณาที่จะให้จริง เป็นกุศลที่ให้ แต่ในขณะเดียวกันนั้น เขายังมีความสำคัญตนในความเป็นเขา ซึ่งไม่เป็นอย่างนั้น หรือว่าทุกคนเหมือนกัน วันหนึ่งวันใดเราก็เป็นอย่างนั้นได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นเมตตาจริงๆ ก็จะต้องเป็นกุศลจริงๆ ไม่มีการที่จะมีความคิดว่า เราสูงกว่า หรือเราเหนือกว่า หรือเขาด้อยกว่า

    ผู้ฟัง พระที่ให้แก่เด็กวัด

    ท่านอาจารย์ ใครก็ตามเอาชื่อออกหมด เป็นสภาพของจิตซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพียงหนึ่งขณะแล้วดับ มีทั้งการสะสมของกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ไม่ใช่ว่าคนนี้คนดี แล้วไม่มีอกุศลเลย ไม่ใช่ ขณะนั้นดี ขณะต่อไปไม่ดีได้ เพราะเหตุว่ายังมีอกุศลสะสมอยู่ในจิต จนกว่าอกุศลจะค่อยๆ ดับไปเป็นประเภทๆ ถึงความเป็นพระอริยบุคคล จนกว่าจะดับกิเลสได้

    ผู้ฟัง หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่ให้ของเด็ก โดยคิดว่า เพราะผู้ใหญ่มีเงินเดือน มีฐานะมีอะไรมากกว่า ก็เลยให้

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วการให้เป็นกุศล พูดเฉพาะการให้ แต่หลังจากให้แล้วจิตเป็นอะไร ทำไมพระอรหัตเท่านั้นที่จะดับมานะได้ ลองคิดดู พระโสดาบันละมานะไม่ได้ พระสกทาคามีดับมานะไม่ได้ พระอนาคามีดับมานะไม่ได้ ต้องถึงความเป็นพระอรหันต์ อรหัตมรรคจิตเกิดจึงดับมานะได้

    แสดงให้เห็นว่า มานะที่เรารู้จักผิวเผินมาก เราไม่ได้รู้จักมานะอย่างละเอียด ที่ต้องเป็นพระอรหันต์ถึงจะดับได้ คำพูดของเรา วาจาของเรา การกระทำของเราในวันหนึ่งๆ เกิดจากจิตประเภทต่างๆ แต่ว่าถ้าสติสัมปชัญญะ ไม่เกิด ไม่สามารถจะเห็นมานะ แม้ละเอียดได้ เราจะเห็นมานะชนิดซึ่งแรง แล้วก็ทำให้เรามีความรู้สึกว่า สำคัญ เราเป็นคนสำคัญ ขณะนั้นลักษณะของมานะก็เป็นมานะอย่างหยาบ ที่สามารถปรากฏความแรงให้เห็นได้ แต่มานะที่ละเอียดกว่านั้น ในชีวิตประจำวัน เราเคยสังเกตหรือว่าเคยรู้บ้างไหม ถ้าเห็นบ้านสีแสด สีส้ม หรือสีเขียว ปี๊ด แล้วก็บอกว่า บ้านนี้สีเขียว แค่นั้น จิตอะไร กุศลหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ใช่กุศลเป็นอะไร จิตนี่ ถ้าไม่ใช่กุศลแล้วเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ก็จะต้องเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นอกุศล แต่อกุศลประเภทไหน โทสะอาจจะไม่ชอบเฉยๆ แต่มานะมีความสำคัญตนหรือเปล่า นิดหนึ่งว่าทำไมเขาทำอย่างนั้น ถ้าเป็นเรา เราก็ไม่ทำ มีเรา มีเขา ไม่ได้เป็นความเมตตา หรือความเป็นเพื่อน หรือความเป็นมิตรที่จะเข้าใจ

    ผู้ฟัง ปุถุชนคนธรรมดาไม่สามารถที่จะละมานะได้เลย

    ท่านอาจารย์ พระโสดาบันก็ละไม่ได้ พระสกทาคามีก็ละไม่ได้ พระอนาคามีก็ละไม่ได้ ต้องถึงความเป็นพระอรหันต์จึงจะละได้ เพราะฉะนั้น จะเห็นกิเลสละเอียดขึ้นๆ ตามลำดับขั้นของปัญญา

    ถ. งั้นก็คงจะทำให้เราอยู่ในวัฏฏะต่อไป อีกนานแสนนาน

    ท่านอาจารย์ ก็ลองคิดดูว่าเราอยู่มานานแล้วเท่าไร ด้วยความไม่รู้ แล้วถ้ายังมีความไม่รู้ต่อไป เราก็อยู่ต่อไปอีกนานเท่าไร ตราบใดที่ยังไม่รู้อยู่ ถ้ายังไม่รู้อยู่ ก็อยู่ไป ออกไปไม่ได้ ออกจากวัฏฏะไม่ได้ ด้วยความไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็ต้องอยู่ไป

    ผู้ฟัง ความโลภ เคยได้ยินพระเทศน์ ถ้าเกิดความโลภจะมีความรุนแรงมาก หากเราสั่งสมภพภูมิของความอยากไว้ อย่างเช่นพวกเด็กกำพร้าที่อดๆ อยากๆ ต่อเมื่อเราให้อาหารเขา เขาจะวิ่งกรูกันมา นั่นหมายความว่าความโลภเขาทวีความรุนแรงอย่างมากยิ่งขึ้น ใช่ไหม เป็นลักษณะเช่นนี้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถ้ารุนแรงมากแสดงออกมาทางกาย ทางวาจา ถ้ามากจริงๆ ก็ทำทุจริตกรรม

    ผู้ฟัง แต่นั่นมีเหตุตรงที่ว่า เขาสั่งสมภพภูมิของความโลภไว้ก่อนแล้ว

    ท่านอาจารย์ ทุกคนเหมือนกัน ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับหมด ก็มีเชื้อที่ทำให้เกิด

    ผู้ฟัง ยิ่งสั่งสมมากก็ยิ่งมีความพยายามมาก

    ท่านอาจารย์ เพิ่มขึ้นๆ

    ผู้ฟัง อย่างอาทิเช่น การอดอาหารก็เช่นกัน เป็นการสะสมความโลภหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ อดอาหาร

    ผู้ฟัง เพราะว่าถ้าเกิดอดไปวันนี้ พรุ่งนี้ ต่อไปมะรืนนี้ ก็ต้องกินเพิ่มปริมาณให้มากยิ่งขึ้น

    ท่านอาจารย์ แล้วอดทำไม

    ผู้ฟัง อดเพื่อสุขภาพด้วย

    ท่านอาจารย์ เห็นไหม เขามีกิน ไม่ใช่เขาไม่มีกิน

    ผู้ฟัง เป็นการสั่งสมภพภูมิด้วย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ โลภะหรือเปล่า อยากจะอด

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ ก็เป็น ก็ไม่ใช่ปัญญาก็ออกจากวัฏฏะไม่ได้ จะอดอาหารสักเท่าไรก็ออกจากวัฏฏะไม่ได้

    ผู้ฟัง แล้วที่อดมื้อเย็น

    ท่านอาจารย์ ใครอดล่ะ

    ผู้ฟัง บรรพชิต

    ท่านอาจารย์ บังคับให้เป็น หรือว่าความสมัครใจ

    ผู้ฟัง อันนี้เราไม่สามารถจะทราบได้ อาจจะเป็นเพราะวินัย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะเหตุว่าผู้ที่บวช หมายความว่า ผู้ที่ยอมประพฤติตามพระวินัย ไม่ใช่บังคับให้บวช แต่ด้วยความสมัครใจที่จะประพฤติตามพระวินัย ก่อนที่จะบัญญัติสิกขาบทหนึ่งสิกขาบทใด ประชุมสงฆ์ ทรงสอบถาม แล้วก็ให้แสดงความคิดเห็นโดยความพร้อมเพรียงกันว่าควรหรือไม่ควร สำหรับเพศบรรพชิตซึ่งต่างกับคฤหัสถ์เหมือนฟ้ากับดิน

    ผู้ฟัง แสดงว่าการที่คฤหัสถ์ จะเอาพระวินัยสงฆ์ของบรรพชิตมาใช้ เป็นการไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครบังคับ ถ้าคนที่อ่านพระวินัยจะเห็นว่าเป็นเรื่องของสิ่งที่ดีทั้งหมดเลย ตามฐานะของเพศ ไม่ว่าเป็นเพศบรรพชิต หรือเป็นเพศของคฤหัสถ์ อย่างคฤหัสถ์ ทุกคนเวลานี้ ยอมรับกันแล้วว่าถ้ารับประทานอาหารมาก เสียสุขภาพ ใช่ไหม แม้ว่าจะไม่ต้องไปถึงเรื่องของกิเลสหรืออะไรเลย เพียงร่างกาย ถ้าทานมากก็โรคมาก หลายอย่าง เมื่อหิว ก็ทาน นี่คือคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นผู้ที่รู้ประมาณในการบริโภค เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ เรารู้จักตัวเรา ว่าขณะนี้เรารับประทานเพราะอยากทาน หรือว่าเพราะหิว ไม่มีใครบังคับให้หยุด ไม่มีใครส่งเสริมให้ทาน แต่เป็นเรื่องของตัวเราที่จะรู้ตามความเป็นจริงว่าขณะนี้ที่กำลังรับประทาน เพื่อแก้หิว เพราะหิว หรือว่าแม้ไม่หิวก็รับประทาน แล้วอย่างไหนจะถูก

    ผู้ฟัง ถ้าไม่หิว แล้วจะรับประทานไปทำไม

    ท่านอาจารย์ อร่อย ที่รับประทานกัน เกินหิว ถ้าจริงๆ แล้วอีก ๒ - ๓ คำจะอิ่ม หยุดได้แล้วก็ดื่มน้ำ พอดี แต่ทีนี้ โน่นก็อร่อย นี่ก็อร่อย ทานไป ทานไปก็เกินประมาณ ถูกหรือผิด แม้แต่ในเรื่องอย่างนี้ก็มีในพระไตรปิฎก เพราะว่าเป็นเรื่องของกิเลส และการละกิเลส ถ้าผู้ที่เริ่มเห็นโทษจริงๆ จะเห็นโทษแม้แต่โทษของการบริโภคมาก เพราะเห็นกิเลสของตัวเอง เรื่องของการขัดเกลากิเลสเมื่อไร เมื่อนั้นดีทั้งนั้น แม้เล็กน้อยก็สะสมไปเป็นอุปนิสัยได้ ถ้าวันนี้อร่อยมาก จะบริโภคไปก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่คราวหลังก็เตือนตัวเองได้ว่า ถ้าไม่หิวก็อย่าทาน ก็ดี ใช่ไหม ถูกหรือผิด

    ผู้ฟัง ในวันหนึ่งๆ ก็ เราทานไปเพราะหิว แค่นั้นเอง ไม่หิว เราก็ไม่ทาน

    ท่านอาจารย์ ดีไหม

    ผู้ฟัง ก็ดี แต่สุขภาพเราล่ะ

    ท่านอาจารย์ ก็สุขภาพเรา อิ่มเราก็อิ่ม เราไม่ใช่ไม่ให้อิ่ม ไม่ใช่ให้รับประทานไม่ให้อิ่ม อิ่มก็พอ ไม่ใช่เกินอิ่ม

    ผู้ฟัง แล้วคนที่ทานวันละมื้อเดียว เขาบำเพ็ญเพียร ละกิเลสความหิว

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่คน เขาอาจจะรักษาสุภาพเพื่อความสวยงามก็ได้ เพื่อลดความอ้วนก็ได้ คนเราต่างจิตต่างใจ ไม่ใช่จะไปตอบอย่างเดียวกันหมด แล้วต้องเป็นผู้ตรง ข้อสำคัญที่สุดคือเป็นผู้ตรง ทุกคนรักตัวเอง ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าอยากให้สวย อยากให้น่าดู ตั้งแต่ผม เล็บ เสื้อผ้า ทุกอย่างหมด แม้แต่การจะบริโภคอาหาร บางคนก็บริโภคเพื่อสุขภาพ เพื่อความงาม

    ผู้ฟัง ที่ว่าความแตกต่างกันระหว่าง มีสติกับหลงลืมสติ ถ้ามีสติจะต้องเป็นแบบโสภณเจตสิก ขณะนี้ก็เป็นกุศลด้วย ถ้าสติคิดถึงเรื่องทาน เรื่องศีล เรื่องภาวนา ก็เป็นสติ แต่ถ้าคิดถึงเรื่องอื่น เรื่องดอกไม้ เรื่องอะไรต่างๆ ก็ไม่ใช่สติ มันเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ เชิญคุณศุกลขยาย

    ผู้ฟัง เรื่องสติที่เป็นไปในทาน ผมไม่สงสัย สติที่เป็นไปในศีล ไม่สงสัย แต่ถ้าเป็นสติที่เป็นการระลึกถึงลักษณะที่กำลังปรากฏ ก็สงสัยบ้าง ไม่สงสัยบ้าง เพราะว่าขณะที่เรามองอยู่นี่ เราเห็นตามความเป็นจริง แล้วก็นึกถึงสิ่งที่เรียนมาจำได้ ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา นี่เป็นความหมายหนึ่ง ๒. สิ่งที่ปรากฏทางตาจะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจาก สี เท่านั้น ถ้าสีเท่านั้น จะแค่ไหนเล่า ที่เราว่า สี เพราะไม่ใช่เป็นสีลอยๆ ออกมาโดยที่ไม่มีสัณฐาน แต่มีสัณฐานอยู่ในสี แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะนั้นสติเขาเกิดมีการระลึกได้ที่สี ผมก็คิดว่า วันหนึ่งๆ ผมจะอยู่กับความคิด ถ้าผมคิดเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่คงไม่ใช่เป็นสติจะระลึกไปเป็นไปในเรื่องของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานจึงเป็นสิ่งที่ยากมาก แล้วคิดว่าชาตินี้สติปัฏฐานคงไม่เกิด เพราะเหตุปัจจัยคงไม่พร้อม

    ท่านอาจารย์ ไม่อยากจะทำนาย คือ จะไปบอกว่าชาตินี้จะไม่เกิด รู้ได้อย่างไร แล้วอีกอย่างก็เหมือนกับว่า ไม่มีเหตุเลยที่สติปัฏฐานจะเกิด ความจริงแล้ว ใครจะยับยั้งสติปัฏฐานก็ไม่ได้ ถ้ามีเหตุที่สติปัฏฐานจะเกิด เพียงแต่ขณะนี้ไม่เกิด หรือขณะนี้ยังไม่เกิด แต่ไม่ได้หมายความว่าชาตินี้จะไม่เกิด นอกเสียแต่ว่าชาตินี้ คือขณะต่อไป

    ผู้ฟัง ทีนี้มีข้อสังเกตอย่างนี้ว่า ปกติเราจะไม่ค่อยระลึกถึงเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่จะเป็นการคิดเรื่องราวไปตลอดเวลาเลย

    ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นความจริง คือ ทุกคนต้องรับความจริง แล้วเป็นผู้ตรง สำหรับคุณศุกลเป็นอย่างนี้ขณะนี้ก็คืออย่างนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงสติปัฏฐานทางตา เป็นความรู้ อย่าลืม ไม่ใช่เป็นการทำ จะมาถามว่าทำอย่างไร ไม่ได้เลย แต่หมายความว่าฟังจนกระทั่งเข้าใจจริงๆ อย่างที่บอกว่า ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตา เรายังไม่ได้พูดถึงคน ยังไม่ได้พูดถึงอะไรเลย กำลังจะน้อมไปสู่ สิ่งที่มีจริงๆ ว่า มีจริง กำลังปรากฏ แล้วสิ่งนี้ต่างจากเสียง ต่างจากกลิ่น แน่นอน เพราะเหตุว่ากำลังปรากฏ ไม่จำเป็นต้องใช้สี ไม่จำเป็นต้องใช้คำนี้เลย สิ่งที่ถูกต้องที่สุดคือสิ่งที่ปรากฏทางตา แม้ไม่เรียกชื่อ ใกล้เข้ามาอีกนิดหนึ่ง ไม่เรียกอะไรเลย สิ่งนี้ก็มี เพราะฉะนั้น เดิมทีเราละเลยการที่จะรู้ความจริงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะว่าจำได้ทันที ตอนเป็นเด็กเกิดมาก็ไม่รู้หรอก ค่อยๆ โตขึ้น ค่อยๆ จำขึ้น จนกระทั่งสามารถจะเรียกได้ ความจำก็หนาแน่นในความเป็นตัวตน ในความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่โดยความไม่รู้ความจริงว่า เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ต่างจากที่เป็นในขณะนี้ หรือขณะไหนทั้งสิ้น เห็นชาติก่อน แสนโกฏิกัปป์ อีกแสนโกฏิกัปป์ข้างหน้า เห็นก็คือกำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็มีสภาพที่กำลังเห็นชั่วขณะหนึ่งเท่านั้นเอง

    ปัญญารู้ตรงจริงๆ อย่างนี้ แค่นี้ ไม่ใช่ให้ทำ เพราะฉะนั้น ขณะนี้เพียงระลึก ยังไม่ชำนาญ ยังไม่มีการฟังที่มั่นคง ยังไม่มีความเข้าใจที่ทำให้ระลึกได้ แล้วก็เข้าใจได้ทันที แต่ฟังมาแล้วบ้าง เพราะฉะนั้น ก็อาจจะมีการระลึกบ้าง อาจจะ เพราะเหตุว่าไม่มีใครสามารถที่จะบอกได้ว่า อีก ๕ วัน อีก ๑๐ วัน หรือระลึกไปเถอะอีก ๒๐ ครั้ง แล้วก็จะเป็นสติปัฏฐาน ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นเรื่องการอบรมจริงๆ ค่อยๆ เข้าใจ ในพระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาคก็ทรงอุปมาให้เห็นถึง ความยาวนานของการอบรมเจริญปัญญา แต่ทุกคนก็ไม่ได้สนใจเท่าไร เพราะฉะนั้น ก็เป็นการที่อุปมาเปรียบเทียบให้เห็นว่า ความยาวนานของการที่จะละคลายกิเลสหรือความไม่รู้ หรือการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน แต่มีหนทาง หรือว่ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง มีความมั่นคงที่เป็นสัจจญาณ ไม่ทำอย่างอื่น ไม่เป็นอย่างอื่น ก็จะมีการระลึกบ้าง ซึ่งเป็นของถูก ไม่ใช่ว่าระลึกได้บ่อยๆ เนืองๆ วันหนึ่ง หลายๆ ครั้ง ระลึกบ้าง แต่เมื่อระลึกก็รู้ว่า ขณะนี้เป็นสติ ที่กำลังระลึกที่ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ด้วยความรู้ว่าเป็น เพียงสภาพธรรม อย่างหนึ่ง เห็นเป็นคน ก็เห็นเป็นคนไป ที่จะไม่เห็นเป็นคนไม่ได้ เพราะอะไร เพราะหลังจากที่จักขุทวารวิถีจิตซึ่งรู้รูปที่มีอายุเพียง ๑๗ ขณะ แล้วความจริงไม่ถึง ๑๗ ขณะ เพราะว่ากระทบภวังค์เป็นภวังคจลนะ ภวังคุปเฉทะ เสีย ๓ ขณะ เพราะฉะนั้น ก็ยังเหลือไม่ถึง ๑๗ ขณะ ชั่วขณะที่รูป ๑๗ ขณะตั้งอยู่ แล้วก็จิตเกิดขึ้นสืบต่อกัน รู้รูปนั้นวาระหนึ่งแล้วดับไป หลังจากนั้นเป็นภวังคจิต แล้วมโนทวารวิถีจิตก็เกิดสืบต่อรับรู้สีที่ปรากฏทางตา หรือสิ่งที่ปรากฏทางตาต่อ แล้วมโนทวารวิถีหลายวาระที่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร เพราะฉะนั้น เวลานี้กำลังเป็นอย่างนั้น คือ มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาแน่นอน แล้วก็ดับไปแล้วแน่นอน มีภวังคจิตคั่นแน่นอน แล้วก็มีมโนทวารวิถีจิตกำลังรู้สิ่งที่ปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แน่นอน เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน ก็คือ แม้ว่าสภาพธรรมจะเกิดดับสืบต่อ เป็นความจริงอย่างนี้ ตามปกติ ก็มีสติเกิดที่จะระลึกแล้วก็รู้ ค่อยๆ รู้ขึ้นทีละน้อยว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แล้วก็มีสภาพธรรมอย่างอื่น เสียงกำลังปรากฏ ซึ่งไม่ใช่สิ่งซึ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่สติว่าจะระลึกที่ลักษณะของรูป หรือว่าจะระลึกที่ลักษณะของนาม แม้ในขั้นต้น เหมือนกับว่าไม่มีความรู้อะไรที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนามธรรม รูปธรรม สติก็ไม่เกิดที่จะระลึกลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ทางตา หรือว่านามธรรมที่กำลังเห็น

    นี่แสดงว่าเมื่อมีการระลึกแม้เล็กน้อยก็เพราะมีความเข้าใจในขั้นต้น ในเรื่องของนามธรรม รูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ผู้นั้นก็จะไม่เดือดร้อนเลย ไม่ตื่นเต้น สติเกิดเป็นธรรมดา หลงลืมสติเป็นธรรมดา แต่ผู้นั้นมีความรู้ว่า ปัญญาจะเจริญก็ต่อเมื่อสติระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ มิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นเรื่องไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสมมติสัจจะไปเรื่อยๆ เวลาที่ฟังพระธรรม แล้วก็ทราบว่า ทรงแสดงธรรม ๒ อย่าง คือ สมมติสัจจะ กับปรมัตถสัจจะ เราก็รู้ได้ว่า สมมติสัจจะก็คือ การที่รู้สิ่งที่เราจดจำแล้วก็สมมติว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่นเป็นคนเป็นโต๊ะ พวกนี้ทางมโนทวาร ทางปัญจทวาร หรือทางตา หู เขาจะไม่รู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เพราะเพียงเห็นเท่านั้น ทางหูก็เพียงได้ยินเท่านั้น ทางจมูกก็เพียงได้กลิ่นเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น ก็จะรู้ว่าสมมติสัจจะอยู่ตรงไหน ก็อยู่ตรงมโนทวารวิถี ก็ค่อยๆ เข้าใจชัด โลกซึ่งปรากฏสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว สติ และปัญญาก็สามารถจะค่อยๆ เข้าไปพิจารณารู้ว่า แท้ที่จริงสิ่งที่กำลังปรากฏ ปรากฏชั่วที่เป็นวิถีจิตที่กำลังรู้สิ่งนั้นเท่านั้นเอง อย่างสีที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ชั่วขณะที่ไม่เป็นภวังค์ คิดดู ภวังค์เกิดก่อน แล้วก็มีวิถีจิตเกิดแล้วเป็นภวังค์

    เวลาที่สิ่งที่ปรากฏทางตา ปรากฏชั่วขณะที่ไม่เป็นภวังค์ สั้นแสนสั้นแค่ไหน แล้วเราก็หลงติดยึดมั่นในสิ่งที่ปรากฏชั่วขณะที่ไม่เป็นภวังค์ แล้วถ้ากล่าวถึงภวังค์ก็หมายความว่าขณะนั้นไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่คิดนึกใดๆ ทั้งสิ้น รูปนั้นดับหมด ไม่มีทางที่จะเกิดอีก ไม่มีทางที่จะกลับมาเกิดอีก สิ่งใดที่เกิดแล้วดับ ดับจริงๆ ไม่ว่า จะเป็นจิต เป็นเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกัน หรือเป็นรูปก็เกิดแล้วก็ดับไปทั้งสิ้น

    การติดข้องของเราด้วยความไม่รู้ว่า ทุกอย่างปรากฏชั่วขณะที่เป็นวิถีจิต สั้นแค่ไหน เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราเข้าใจจะเกื้อกูลให้สติปัฏฐานเกิด แล้วก็ปัญญาสมบูรณ์ขึ้นตามลำดับ เพราะว่าปัญญาที่จะรู้แจ้งสภาพธรรม ต้องตั้งแต่ขั้นนามรูปปริจเฉทญาณ ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณ ซึ่งไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่เป็นความสมบูรณ์ของปัญญาซึ่งเกิดจากสติปัฏฐาน

    สภาพธรรมก็ปรากฏตามความเป็นจริง มโนทวารก็คือมโนทวาร ปัญจทวารก็คือปัญจทวาร นามธรรมก็คือนามธรรม รูปธรรมก็รูปธรรม แต่แม้กระนั้น การที่จะละความยึดถือในสิ่งนั้นว่า เป็นตัวตน ยากแสนยาก เช่นในขณะนี้ที่ฟัง รู้เรื่องหมดเลย จิต เจตสิก เกิดดับ ละหรือเปล่า ไม่ได้ละ

    ถ้าสติปัฏฐานเกิดแม้เป็นปัญญาระดับที่เป็นตรุณวิปัสสนา ก็ยังไม่สามารถที่จะละคลายความยึดถือติดข้องในแม้สภาพที่ปรากฏโดยความเป็นธาตุ ก็ยังมีความเป็นเราแฝงอยู่ มิฉะนั้นก็จะไม่เข้าใจในเรื่องสักกายทิฏฐิ ๒๐ ขันธ์ ๕ เรารู้จักแต่แตกออกไปเป็นสักกกายทิฏฐิ ๒๐

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 99
    23 มี.ค. 2567