ปกิณณกธรรม ตอนที่ 382


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๘๒

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ อย่างจิตเห็นเกิด ถ้าไม่มีรูปร่างเลย แต่จิตเห็นก็เกิด สมมติจิตเห็น จะเป็นเทวดาเห็น หรือจะเป็นนกเห็น หรือจะเป็นคนเห็น เพราะว่าเป็นสภาพเห็น แต่ที่เราบอกว่าคนเห็น เพราะรูปร่างคน เราบอกว่าปลาเห็น เพราะรูปร่างเป็นปลา เราบอกว่าเทวดาเห็น เพราะรูปร่างเป็นเทวดา แต่แยกรูปออกจากนาม มีเฉพาะเห็น โดยไม่มีรูปร่างเลย เป็นไทยก็ไม่ได้ เป็นจีนก็ไม่ได้ เป็นหญิงเห็นก็ไม่ได้ เป็นชายเห็นก็ไม่ได้ เป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้น ธาตุชนิดนี้รู้สิ่งที่ปรากฏ เมื่อกระทบกับตา สิ่งที่กำลังปรากฏต้องกระทบตา จึงมีจิตเห็น ถ้าไม่กระทบตา อย่างคนที่นอนหลับเดี๋ยวนี้ แม้ว่ามีจักขุปสาท มีรูปร่างสีสันวรรณะ แต่หลับ รูปนี้ก็ไม่ปรากฏ

    ต้องมีจิตอีกชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่จิตที่หลับ เป็นจิตที่อาศัยจิตที่ตื่น เกิดขึ้นแล้วก็ทำกิจเห็น

    จิตมีจริง เป็นอนัตตาจริงๆ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับใครเลย จะไม่ให้จิตคิดไม่ดีก็ไม่ได้ ให้เกิดอกุศลจิตก็มีปัจจัยที่จะคิดอย่างนั้น ถ้าเกิดกุศลจิตที่จะคิดดีๆ ก็มีปัจจัยที่จะเกิด

    เรามีทั้งจิตดี จิตไม่ดี ทั้งๆ ที่อยากจะมีจิตดีตลอด เพราะอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เรื่องนิพพานคงต้องอีกไกล

    ผู้ฟัง อาจารย์บอกว่าต้องเข้าใจเรื่องจิต เจตสิก รูป

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่มีจริง เดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง ที่นี้ ความเข้าใจจะเอาขนาดไหน ระดับฟังแล้วก็รู้ผ่านไป ฟังแล้วก็รู้ผ่านไป หรือว่าจะต้องให้ประจักษ์แจ้งด้วยปัญญา แล้วก็จะต้องกินเวลานานเป็นกัป เป็นกัลป์อย่างนั้น ใช่ไหม ที่ดิฉันฟังมา เหมือนกับว่า ไม่รู้เมื่อไร แล้วขณะนี้เรากำลังทำอะไรอยู่

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นผู้ตรง เราต้องรู้ว่าปัญญารู้อะไร รู้ความจริง ความจริงของอะไร ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ขณะนี้ จึงจะเป็นปัญญา

    เพราะฉะนั้น เราก็รู้ว่า เรารู้หรือยัง ถ้าอย่างนี้ยังไม่รู้ ปัญญาขั้นนี้ยังไม่รู้ เราก็ยังไม่ต้องคิดถึงข้างหน้า เอาเพียงแค่กำลังฟัง กำลังฟังแล้วเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังแค่ไหน แล้วจะได้ยินได้ฟังเรื่องนี้ต่อไปอีกมากมายมหาศาล ก็ยังเป็นเพียงเรื่องราวของจิต เรื่องราวของเจตสิก เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้ตัวจริงของจิตซึ่งกำลังเกิดดับขณะนี้ ต้องเป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง อย่างเราเห็นแกง น้ำแกง มีทั้ง กะปิ หอม กระเทียม พริก ข่า ตะไคร้ พอตำละเอียดละลายไปแล้ว เราบอกได้ไหมในช้อนหนึ่งว่า ส่วนไหนเป็นพริก ส่วนไหนเป็นกะปิ ส่วนไหนเป็นน้ำตาล น้ำปลา นั่นรูป แต่เวลาที่มีการเห็น เราลืมว่า เราเห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เร็วมาก สั้นมาก แต่ว่าปรากฏสืบต่อจนทำให้เราจำได้ว่า สิ่งนี้มีรูปร่างอย่างนี้เป็นผ้า สิ่งนั้นรูปร่างอย่างนั้นเป็นกระดาษ เหมือนเราดูเงาในกระจก ในกระจกบานใหญ่ในเวลานี้ มองดูก็ได้มีโต๊ะ มีเก้าอี้อยู่ที่กระจก ในกระจก แต่โต๊ะเก้าอี้อยู่ในกระจกจริงๆ หรือเปล่า ไม่มีเลย เพราะฉะนั้น เป็นความจำรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ แล้วไม่ทิ้งความจำ เมื่อคืนฝันเห็นอะไรบ้างไหม คุณศีลกันต์ฝันหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เคยฝันเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เจ้าเคยฝันไหม ฝันน้อยหรือ ดิฉันฝันเสมอเลย เกือบจะบอกได้ ไม่เคยที่จะไม่ฝัน ฝันทุกคืน แต่ทีนี้เราลองนึกดู เราเคยฝันถึงใครบ้าง ขณะที่ฝันเราเหมือนเห็น แต่ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ ทำไมเรารู้ว่า เห็นของเราเหมือนเห็น แต่ไม่ใช่เห็นอย่างนี้ เพราะว่าเห็นในฝันคือจำสีสันวรรณะ ที่จะรู้ว่าเป็นตัวคนนั้น คนนี้ แต่สีสันวรรณะไม่ได้ปรากฏอย่างนี้เลย แต่เราจำจากสีสันวรรณะว่า คนนี้ แล้วก็ฝัน ถ้าฝันวันนี้ ดิฉันอาจจะฝันเห็นคุณสุภาพใส่เสื้อสีชมพูก็ได้ เพราะว่าเห็นอย่างนี้ จำอย่างนี้ เอาสีนี้มาเป็นคุณสุภาพ ความจำสีก็ไปฝันแล้วจำว่า นี่เป็นคุณสุภาพ แต่ไม่ได้เห็น ในฝันเหมือนเห็น แต่ไม่เห็น

    เดี๋ยวนี้ก็เหมือนกัน มีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เห็น แต่เวลาจำคน ไม่ได้จำเหมือนเห็น แต่จำรูปร่างสัณฐานเหมือนฝัน ซึ่งไม่มีสีปรากฏ เพราะฉะนั้น ฝันกับเดี๋ยวนี้แยกกัน โดยเดี๋ยวนี้มีสิ่งที่ปรากฏกระทบตาจริงๆ แต่ฝันไม่มีสีสันวรรณะกระทบตา แต่จำ จำจากที่เคยเห็นว่า เป็นคนนั้นคนนี้ เพราะฉะนั้น ขณะที่จำกับขณะที่เห็น คนละขณะ เร็วมาก ถ้าไม่ประจักษ์การเกิดดับของจิตแต่ละขณะจริงๆ ถึงนิพพานไม่ได้ เพราะยังเป็นเรา ยังเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ยังไม่ได้แยกกระจัดกระจายว่า เพียงเห็น ชั่วขณะสั้นมาก เพียงได้ยินชั่วขณะสั้นมาก

    ได้ยินเฉพาะเสียงกับเข้าใจความหมายคนละขณะ ได้ยินก่อน ถึงจะนึกเสียงได้ ได้-ยิน-ก่อน หมายความว่าอะไร แต่ต้องมีเสียงได้ เสียงยิน เสียงก่อน ได้ยินเสียงแล้วถึงจะรู้ว่าหมายความว่าอะไร ทางตาก็ต้องมีเห็นก่อน อย่างเด็กเกิดใหม่เห็น ไม่สามารถจะรู้ว่าเป็นอะไร คนตาบอดที่เขาตาบอดนานๆ พอเขาตาดี ตกใจหมดเลย ทำไมสว่างจ้าอย่างนี้ แต่ยังไม่รู้ความยาว ความลึกของสิ่งที่ปรากฏ เพราะเขายังไม่ได้จำรูปร่างสัณฐาน เพราะฉะนั้น เขาอาจจะตกบันได หรือไม่รู้ความลึก ความสูงของตึกได้ เพราะเขาเห็นแต่เพียงสีเท่านั้นเอง ต่อเมื่อไรที่เขาค่อยๆ จำ ค่อยๆ รู้ เมื่อนั้นเขาถึงจะแยกว่า นี่เป็นสิ่งที่เขากระทบสัมผัสหรือจับได้ เป็นคน แต่ที่จะให้เห็นความต่างของสิ่งที่ปรากฏทางตากับฝัน แน่นอน พอเห็นแล้วเราจำ เพราะฉะนั้น ในฝัน เราจำ เกิดจากความจำทั้งหมดที่เราเห็น แต่ไม่ใช่จักขุวิญญาณ ไม่ใช่จิตที่เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดแล้วลึก เพียงแต่ฟังวันนี้ก็ต้องคิดไตร่ตรอง จนกว่าจะรู้ว่าลักษณะของจิตมากมายมหาศาล จิตขณะหนึ่งแสนสั้นเกิดแล้วดับไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้ขณะต่อไปเกิดสืบต่อกันเรื่อยๆ เดี๋ยวทางตา เดี๋ยวทางหู เดี๋ยวทางจมูก เดี๋ยวทางลิ้น เดี๋ยวทางกาย เดี๋ยวทางใจ แล้วรวมไว้ที่ใจ จำไว้ที่ใจ แม้ไม่เห็นไม่ได้ยินก็นึกจากที่ได้เห็นเป็นเรื่องราวต่างๆ

    นี่ก็หมายความว่า เป็นอนัตตา บังคับไม่ให้คิดก็ไม่ได้ บังคับไม่ให้เสียใจก็ไม่ได้ บังคับไม่ให้จำก็ไม่ได้

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นหมายความว่า ถ้าเผื่อเรายังไม่เข้าใจถ่องแท้จริงๆ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เราไม่มีสิทธิจะนึกถึง

    ท่านอาจารย์ นิพพานเลย

    ผู้ฟัง อย่างนั้นอุปสมานุสติทำอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คือจริงๆ แล้ว ถ้าเป็นอนัตตาแล้ว คือจิต เจตสิกทำ ไมใช่เรา เพราะฉะนั้น จิต เจตสิกที่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยสามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ทีละเล็กทีละน้อยได้ แต่จิตที่ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็มี แต่ว่าไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม

    การที่เราฟังธรรมเป็นหนทางที่จะทำให้เกิดความเข้าใจถูก ซึ่งความเข้าใจถูกนี้คือปัญญา ปัญญาเป็นภาษาบาลี ปะ แปลว่าทั่ว ญา แปลว่ารู้ แล้วรวมกันเป็นปัญญา แต่คนไทยชอบใช้ภาษาบาลีมาก แต่ไม่เอาความหมายในภาษาบาลีมาเลย อย่างเราบอกว่า เด็กคนนี้สติปัญญาดี ไม่ใช่สติเจตสิก ไม่ใช่ปัญญาเจตสิกซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดี แต่เราก็บอกว่า เด็กคนนี้มีปัญญาดี มีสติปัญญาดี เพราะว่าเราไปเอาปัญญากับสติมาใช้ในทางธรรมดา ซึ่งไม่ใช่ในทางพระพุทธศาสนา

    ถ้าในทางพระพุทธศาสนาทรงแยกละเอียดเลย เจตสิก ๕๒ ชนิดแบ่งเป็นกี่พวก พวกที่เกิดกับจิตทุกประเภทได้พวกหนึ่ง พวกที่เกิดกับอกุศลได้เท่านั้นพวกหนึ่ง พวกที่เกิดกับจิตฝ่ายดีเท่านั้นพวกหนึ่ง บังคับไม่ได้ เป็นอนัตตา

    นี่คือเริ่มเข้าใจความเป็นอนัตตา คือ ชีวิตประจำวันอย่างละเอียด คือจิต เจตสิก รูป ทำกิจการงานของจิต และ เจตสิกนั้นๆ

    นี่เรากำลังพูดเฉพาะลักษณะหน้าที่ของจิต ยังมีเจตสิกอีก ๕๒ อย่าง ซึ่งมีลักษณะกิจเฉพาะแต่ละ อย่างๆ ซึ่งถ้าเราศึกษาเข้าใจโดยละเอียดแล้ว เราจะรู้เลยว่าไม่มีเราที่ทำ แต่เพราะจิต เจตสิกเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่นั้นๆ เราก็ยึดถือจิตนั้นว่าเป็นเรา ยึดถือเจตสิกนั้นว่าเป็นเรา แต่ความจริงต้องรู้ว่าเป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป

    จิตเกิดแล้วดับ ไม่ใช่จิตเก่า เราจะไปหาจิตเราเมื่อวานนี้ไม่ได้

    ผู้ฟัง ไม่ใช่จิตเราหรือ

    ท่านอาจารย์ ไม่

    ผู้ฟัง ที่ออกจากร่าง

    ท่านอาจารย์ จิตออกไม่ได้ จิตไม่มีแขน ไม่มีขา เดินไม่ได้ บินไม่ได้ ลอยไม่ได้ จิตเป็นธาตุชนิดหนึ่งจะเกิดที่ไหนก็ได้ แต่เมื่อเกิดแล้วเป็นสภาพที่รู้ คือเป็นสภาพที่เห็นชนิดหนึ่ง เป็นสภาพที่ได้ยินชนิดหนึ่ง เป็นสภาพที่คิดนึกชนิดหนึ่ง หรือเป็นจิตที่ไม่รู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเลยก็ได้ เป็นธาตุเหมือนกับธาตุไฟ ธาตุไฟในครัวก็ร้อน ธาตุไฟในห้องนี้ที่มีก็ร้อน ธาตุไฟไปเกิดตรงไหนก็ร้อน

    จิตจะเกิดตรงไหน จะมีรูปเกิดร่วมด้วย หรือไม่มีรูปเกิดร่วมด้วย จิตก็เป็นธาตุที่เกิดขึ้นแล้วเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ ซึ่งสามารถที่จะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏให้รู้แล้วดับ เร็วมาก

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อจิตนั้นออกจากร่างไป

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเลย จิตยังไม่ออกจากร่างเลย ปฏิสนธิจิต

    ผู้ฟัง อาจจะไปเป็นอะไรก็ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ไปเป็นอะไรเลย จิตขณะแรกที่เกิด

    ผู้ฟัง ที่บอกว่า อาจจะเกิดเป็นคนอีก

    ท่านอาจารย์ ลองคิดถึงจิตขณะแรกที่เกิด ถ้าเป็นขณะแรกในชาตินี้เลย กรรมเป็นปัจจัย วันนี้เราทำกรรมอะไรบ้าง เมื่อวานนี้เราทำกรรมอะไรบ้าง วันก่อนเราทำกรรมอะไรบ้าง สะสมสืบต่อในจิตที่เกิดดับทุกขณะ แล้วแต่ว่ากรรมไหนจะให้ผล อย่างคนที่มีกรรมดี แต่ไปเกิดเป็นแมว เพราะอกุศลกรรม ถ้าเขาไม่เคยมีอกุศลกรรมเลย การเกิดเป็นแมว หรือเป็นสัตว์ หรือในนรก เป็นเปรต หรือพวกนี้เกิดไม่ได้ แต่ที่เกิดเป็นแต่ละชีวิต เพราะกรรมแต่ละกรรม แต่ละอย่าง

    กรรม คือ เจตนาที่เป็นกุศล หรือเป็นอกุศลที่ตั้งใจ จงใจ ถ้าเป็นอกุศลกรรม ตั้งใจจะทำให้คนนี้ตาบอด บางคนเขาเอาเข็มแทงตาปลา หรือว่าเจาะตาปลา ตั้งใจไม่ให้คนอื่นเห็น จริงๆ แล้วคือมีเจตนาที่จะไม่ให้เห็น แต่เจตนาอันนั้นแหละที่เราคิดว่า เราทำให้คนอื่นไม่เห็น เป็นเจตนาของเราที่ให้การไม่เห็นเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น วันหนึ่งถ้ากรรมนั้นให้ผล เพราะกรรมนี้เก็บสะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ เป็นตู้เซฟชั้นเยี่ยม ขโมยก็ลักไม่ได้ แดดลมไม่ต้อง ไม่มีใครไปทำลายกรรมเลย เก็บไว้ในที่ๆ ปลอดภัยที่สุด คือ เก็บไว้ในจิตที่เกิดดับสืบต่อทีละหนึ่งขณะ

    กรรมตั้งแสนโกฏิกัปป์มาแล้วก็สะสมอยู่ในจิต เพราะว่าเป็นนามธรรม นามธรรมไม่มีรูปร่างเลย ไม่มีสี ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส เป็นธาตุรู้ นามธาตุ แล้วก็เมื่อเกิดขึ้นแต่ละขณะที่ดับไปก็สะสม

    เพราะฉะนั้น เราขณะนี้ จิตหนึ่งขณะที่เกิดสืบต่อมาแสนโกฏิกัปป์ แสนโกฏิกัปป์ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยปัญญาแต่ละชาติ จึงมีการตรัสรู้สภาพธรรมในพระชาติสุดท้าย แต่ว่าการสืบต่อของคนที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สะสมกุศล อกุสลมา แต่ปัญญาไม่พอที่จะรู้ความจริง ต้องอาศัยการฟัง เป็นสาวก

    ทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย ดับเลย แต่การดับของจิตขณะก่อนเป็นปัจจัยทำให้จิตขณะต่อไปเกิด สืบต่อ เก็บทุกอย่างสะสมมา ไม่ขาดเลยในจิตขณะต่อไป การเกิดขึ้น และดับไปของจิต ที่ทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดต่อ โดยเป็นอนันตรปัจจัย หมายความว่า อนันตร ไม่มีระหว่างคั่นเลย จิตเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับสืบต่อ ไม่มีใครบอกว่าหยุด ไม่ให้เกิด ไม่ได้เลย เพราะเขาเป็นอนันตรปัจจัย ทันทีที่ดับต้องมีจิตอื่นเกิดสืบต่อ

    คนหนึ่งมีจิตทีละหนึ่งขณะ เพราะว่าถ้าจิตขณะก่อนยังไม่ดับ จิตต่อไปเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น มีอีกปัจจัยหนึ่ง ชื่อว่า วิคตปัจจัย หมายความว่าทันทีที่จิตเก่าปราศ คือ หมดสิ้นไป จิตต่อไปจึงจะเกิดขึ้นได้

    นี่คืออนัตตา หมายความว่าไม่มีใครไปจัดแจงเลย เราคิดถึงนามธาตุก่อนว่า ปฏิสนธิจิตเกิด มองไม่เห็นรูปตอนเกิดเลย เล็กมาก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่ขณะนั้นมีรูป ๓ กลาป หรือ ๓ กลุ่ม ที่กรรมทำให้เกิดพร้อมปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้น รูปของแต่ละคนในขณะที่เกิด เป็นกัมมัชรูป คือ รูปที่เกิดจากกรรม เห็นความวิจิตรของนก ของปลา ของไส้เดือน ของไดโนเสา ของช้าง ตอนปฏิสนธิที่เกิด กรรมเป็นปัจจัยให้รูปที่เกิดจากกรรม เกิดพร้อมกัน ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มเล็กๆ ที่มองไม่เห็นเลยกลุ่มหนึ่งจะมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ๔ ธาตุ แล้วก็มีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชา โอชา คือเหมือนกับอาหารพวกวิตามิน หรืออะไรที่ทำให้มีรูปเกิดสืบต่อดำรงอยู่ได้ ในขณะนั้นก็มีชีวิตินทริยรูป หมายความว่าแสดงว่า รูปนี้กรรมทำให้เกิด เป็นรูปที่ทรงชีวิต ต่างจากรูปซึ่งไม่มีกรรมทำให้เกิด ๓ กลุ่มนี้ คือ กลุ่มหนึ่งเป็นหทัยรูป คือ เหมือนกับที่เกิดของจิต ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตเกิดนอกรูปไม่ได้เลย ที่ตัวจะมีรูปที่เป็นที่เกิดของจิต ต่อไปจะทราบว่า รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต มีแค่ ๖ รูป รูปแรกเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต ชื่อว่า หทยรูป ที่เราใช้คำว่าหัวใจ แต่ตอนนั้นยังไม่มีการโตพอที่จะสืบต่อเป็นรูปร่างของหัวใจ อย่างที่เราบอกว่า เท่ากำปั้น แต่รูปนั้นมีแล้ว เล็กแค่ไหนก็ยังเป็นที่เกิดของจิตซึ่งเป็นนามธรรม กลุ่มหนึ่ง ๑๐ รูป แล้วอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ ภาวรูป หญิงหรือชาย มีแล้ว เป็นรูปที่ทำให้เมื่อเจริญเติบโต มีรูปร่างกายเพิ่มขึ้น ก็จะปรากฏลักษณะของภาวะหญิง หรือภาวะชาย ถ้าภาวะของหญิง แขนก็เป็นแบบหญิง ไม่มีกล้ามเนื้อ ทรวดทรงสัณฐาน ผิวพรรณอะไรพวกนี้เป็นเรื่องของหญิง ส่วนของชายก็เป็นภาวะรูปซึ่งกรรมทำให้เกิด กายปสาทรูปมีพร้อมปฏิสนธิ กายปสาทรูป คือ รูปที่สามารถกระทบกับเย็นหรือร้อนอ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ถ้าไม่มีรูปนี้ เราจะรู้ไหมว่า ร่างกายเป็นอย่างไร ไม่มีทางจะรู้ได้เลย แต่เพราะว่ามีรูปพวกนี้เกิดขึ้นจึงทำให้มองเห็น ทางตาเห็นทางกายเรามีผิวสี แต่ความจริงเป็นสี แต่ไม่ใช่ตัวแข็ง ต้องกระทบสัมผัสแข็ง ไม่มีสี แต่มีแข็ง

    นี่ก็เป็นแต่ละรูป ในขณะที่เกิด อนัตตา เราเลือกกรรมไม่ได้ จะเอากุศลจิตดีๆ ประเภทเยี่ยมๆ ที่เราทำแล้วผ่องใส โสมนัสก็ไม่ได้ แล้วแต่ว่ากรรมไหนจะให้ผล ทำให้จิตเกิด ๑ ขณะแล้วดับ ยังไม่มีรูปร่างว่าเป็นคนเป็นสัตว์อะไรทั้งสิ้น เพราะเล็กมาก ถ้ามีภูมิสูงขึ้นไป ก็จะเกิดเป็นตัวทันทีที่เรียกว่า โอปปาติกะ แต่ว่าในครรภ์ จะต้องค่อยๆ เติบโตขึ้นทีละน้อย แต่ว่ามีรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ไม่ต้องไปคิดถึงเลยว่า ตรงไหน ภายใน ภายนอกอย่างไร แต่ตรงนั้นมีรูปซึ่งเกิดจากกรรม ทำให้เกิดพร้อมปฏิสนธิจิต กว่าจะโต ซึ่งในครรภ์จะมี ๒ ประเภท คือ เป็นตัวอยู่ในครรภ์ หรือว่าเป็นไข่ แล้วก็เกิดอีกทีหนึ่งจากไข่ อย่างพวกนกพวกไก่ เขาก็เกิด ๒ ที เพราะเหตุว่าเกิดทีแรกก็เป็นไข่ แล้วเกิดอีกทีคือออกจากไข่ แต่ของเรานี่ไม่ใช่ เกิดในครรภ์แล้วก็เป็นตัว

    ผู้ฟัง เทวดาที่เราพูดถึง หมายถึงอะไร

    ท่านอาจารย์ หมายความถึงผลของกุศลกรรมที่ทำให้เกิดในภูมิที่มีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีสัมผัสที่ดี ประณีตกว่ามนุษย์

    ผู้ฟัง หมายความว่า จิตปฏิสนธิเป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เทวดาอย่างนั้น ในอีกโลกหนึ่ง

    ผู้ฟัง อาจจะเป็นเปรต เป็นอะไรอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่เลย แล้วแต่กรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด พอปฏิสนธิจิตดับ กรรมก็ไม่ได้ทำให้แค่จิตขณะเดียวเกิด ก็ยังทำให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น จนกว่าจะสิ้นกรรมที่ทำให้เป็นคนนั้น

    การที่เราจะมีอายุสั้น อายุยืนยาวสักแค่ไหน เรารู้ได้เลยว่า กรรมที่เราทำ เป็นปัจจัยให้ผลทำให้เรามีอายุยืน หรือให้เรามีอายุสั้น เพราะฉะนั้น ภาษาไทย ใช้คำถูกต้อง ถึงแก่กรรม คือถึงแก่กาลที่กรรมจะสิ้น คือหมดกรรมที่จะทำให้เป็นบุคคลนี้อีกต่อไป

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่ออายุยาว อายุยืน ถือว่าเป็นกรรมดี

    ท่านอาจารย์ เกิดที่ไหนล่ะ ถ้าเกิดในนรกไม่ดีแล้ว

    ผู้ฟัง อย่างเกิดเป็นคนอายุ ๘๐ก็ยังไม่ไป มันทรมาน จะถือว่าเป็นกรรมดีหรือ

    ท่านอาจารย์ เรามีความยึดมั่นในตัวนี้มากขนาดที่ว่า ไม่อยากจะจากตัวนี้ไปเลย ต่อให้ ๘๐-๙๐–๑๐๐ ปีก็ยังไม่อยากจากตัวนี้ไป ความติดข้องในความมีชีวิต เริ่มตั้งแต่เกิดเลย แล้วก็จะไม่สิ้นสุดเลย จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์ พระโสดาบันก็ยังต้องเกิด เพราะยังไม่ได้ดับความยินดีในภพ ท่านดับความเห็นผิดที่ไม่เคยรู้ลักษณะของนามธรรมกับรูปธรรม ประจักษ์แจ้งในลักษณะของนิพพาน จึงสามารถดับกิเลส คือ ความเห็นผิดได้ทั้งหมด ไม่เกิดความสงสัยในนามธรรม รูปธรรม ที่เกิดดับก็ไม่มี เพราะปัญญาเป็นโลกุตตระที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ ดับความเห็นผิด แต่ยังมีความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ท่านรู้ว่าท่านไม่ใช่เป็นพระสกทาคามี ท่านไม่ใช่เป็นพระอนาคามี ปัญญาของท่านเพียงพิจารณาระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง จนประจักษ์แจ้งได้เท่านั้น แต่ความติดข้อง ท่านก็รู้ว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่ง โทสะ ท่านก็รู้ว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่ง แต่ไม่ใช่ตัวท่านอีกต่อไป

    ท่านก็ต้องอบรมเจริญปัญญาต่อไปที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้งฝ่ายดี และฝ่ายไม่ดี แล้วค่อยๆ เห็นโทษ ของการติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น จนกว่าจะถึงความเป็นพระอนาคามี ท่านก็ดับหมด แต่ยังมีความยินดีในภพในชาติ

    เรารู้เลย ตัวเรารักที่สุด ต้องการให้อยู่ต่อไปอีก สักล้านปี ไม่ทราบจะมีใครพอใจหรือเปล่า บางคนเขาก็บอกว่า ไม่เอา เขาบอกว่าเพื่อนฝูงก็ตายไปหมด ให้เขาอยู่คนเดียวไม่เอา เมื่อกี้คำถามพอจะหายสงสัยหรือยัง

    ผู้ฟัง อยากให้อาจารย์ยกตัวอย่างว่า สมมติ เกิดเป็นแมว

    ท่านอาจารย์ ชาติก่อนเคยเป็นไหม ชาติหน้าอาจจะเป็นได้ไหม

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อว่าเกี่ยวกับการทำจิตใจเราก่อนที่เราจะสิ้นใจ ให้ทำอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ลืมแล้ว อนัตตาลืมแล้ว

    ผู้ฟัง ไม่ได้ แปลว่าไม่ได้

    ท่านอาจารย์ อนัตตาลืมแล้ว

    ผู้ฟัง แต่ทำไมยังมีสั่งสอนกันอีก

    ท่านอาจารย์ สั่งสอนให้ทำใจนั้นไม่สมควร สั่งสอนให้เราเข้าใจดีกว่าทำใจ เพราะทำใจไม่ได้ ถ้าทำได้ วันนี้เราไม่มีอกุศลเลย กุศลทั้งวัน ถ้าทำได้ ถ้าทำได้ก่อนจะตาย ทำเดี๋ยวนี้ดีกว่า ไม่ต้องรอถึงเวลานั้น

    ผู้ฟัง แต่หมายความว่าให้ระลึกนึกถึงความดีงาม

    ท่านอาจารย์ ให้ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าสอนให้เราเข้าใจ ไม่ได้สอนให้เราทำใจ แต่พอมีความเข้าใจแล้ว เขาทำหน้าที่ของเขาเอง การละกิเลสเป็นหน้าที่ของปัญญา ไม่ใช่หน้าที่ของอวิชชา หรือความเป็นเรา แต่ว่าต้องเป็นปัญญาที่เห็นจริงในเหตุในผลของสภาพธรรม เข้าใจโดยถ่องแท้ว่า อกุศลจิตเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลวิบาก อกุศลวิบาก อกุศลกรรม ในปฏิจจสมุปบาท เราจะได้ยินบ่อยๆ กิเลสวัฏเป็นปัจจัยให้เกิดกัมมวัฏ กัมมวัฏเป็นปัจจัยให้เกิดวิบากวัฏ ถ้าใหม่จริงๆ จะเข้าใจว่า วิบากในภาษาไทย เราหมายความถึงลำบาก แต่ความจริงวิบากไม่ได้หมายความถึงลำบาก หมายความว่าจิตที่เป็นผลของกรรม จิตที่เป็นกรรมเป็นเหตุ เกิดดับสืบต่อไปจนกว่าจะทำให้จิตที่เป็นผลของกรรมเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เราจะรู้ได้ ก่อนอื่นที่เราชอบพูดว่า ผลของกรรม ผลของกรรม แล้วมันเมื่อไร ถ้าเราเข้าใจจริงๆ ว่า ผลของกรรมขณะแรกคือปฏิสนธิ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 99
    23 มี.ค. 2567