ปกิณณกธรรม ตอนที่ 401


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๐๑

    สนทนาธรรม ระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย

    พ.ศ. ๒๕๓๘


    ท่านอาจารย์ มีเงินทองมีลาภสักการะ แต่ก็ยังเป็นทุกข์ แต่เมื่อมีพระธรรม คือการที่ได้เข้าใจสภาพธรรม ที่ทรงแสดง จะทำให้ทุกข์นั้นเบาบาง เพราะฉะนั้น ก็เป็นรัตนที่เหนือรัตนอื่นใดทั้งสิ้น พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ ตำบลคยาสีสะ แล้วก็เสด็จไปสู่ทางพระนครราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ซึ่งเคยเป็นชฎิล ๑,๐๐๐ รูป ประทับอยู่ใต้ต้นไทรชื่อ สุประดิษฐ์ เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบ ก็ได้เสด็จไปเฝ้า ได้กราบทูลถึงควาปรารถนา ของพระองค์ ๕ ประการ และบัดนี้ ความปรารถนาของพระองค์ พระเจ้าพิมพิสารก็สำเร็จทั้ง ๕ ประการ ความปรารถนา

    ประการที่ ๑. ขอให้ได้อภิเษกในราชสมบัติ ขอให้ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน

    ประการที่ ๒. ไม่ใช่เพียงแต่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ขอให้พระพระผู้มีพระภาค เสด็จมาสู่แคว้นของพระองค์

    ประการที่ ๓. ไม่ใช่เพียงแต่ให้เสด็จมาเท่านั้น ขอให้พระองค์ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคด้วย ซึ่งก็เป็นการที่ยาก เพราะเหตุว่า ถึงแม้ว่า พระผู้มีพระภาค จะเสด็จมา แต่ถ้าพระเจ้าพิมพิสารประชวร หรือว่าไม่เหมาะกับโอกาส ก็อาจจะไม่ได้เฝ้า เพราะฉะนั้น ตั้งความปรารถนาที่จะได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค

    ประการที่ ๔. ขอให้พระผู้มีพระภาค ทรงแสดง ธรรมแก่พระองค์

    ประการที่ ๕. ขอให้รู้ทั่วถึงธรรม ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

    แล้วความปรารถนาของพระเจ้าพิมพิสารก็สำเร็จทั้ง ๕ ประการ ได้อาราธนาให้พระผู้มีพระภาค เสวยภัตตาหาร และเมื่อพระผู้มีพระภาค ทรงอันตรวาสก แล้วถือบาตรจีวร เสด็จพร้อมด้วยพระภิกษุหมู่ใหญ่ จำนวน ๑,๐๐๐ รูป ซึ่งล้วนเป็นชฎิลเก่า ท้าวสักกะจอมเทพคือพระอินทร์ ก็ทรงเนรมิต เพศเป็นมาณพ แล้วก็เสด็จดำเนินนำหน้าภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ได้ขับคาถาดุษฎีพระองค์ ซึ่งประชาชนได้เห็นท้าวสักกะ ก็สงสัยว่าพระผู้มีพระภาค ใครเป็นผู้รับใช้ ซึ่งพระอินทร์ ก็ตอบว่า พระอินทร์เองเป็นผู้รับใช้พระผู้มีพระภาค เพราะเดินนำเสด็จพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคเมื่อได้ประทับนั่ง เสวยภัตตาหารแล้ว พระเจ้าพิมพิสารก็ทรงพระดำริว่าพระผู้มีพระภาค ควรประทับอยู่ที่ไหน เห็นสวนนี้เป็นที่ที่เหมาะ ที่จะประทับ จึงได้ถวายสวนเวฬุวัน แก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ทรงรับ แล้วก็ได้ทรงแสดงธรรม และอนุญาตให้ภิกษุรับอาราม ตั้งแต่ครั้งที่พระเจ้าพิมพิสารถวายอารามเป็นครั้งแรก

    ผู้ฟัง สถานที่นี้เป็นสถานที่ซึ่งพระผู้มีพระภาค ทรงได้อัครสาวก คือ พระสารีบุตร กับพระโมคคัลลานะ อยากจะทราบว่าได้ตอนไหน

    วิทยากร. อัครสาวกมี ๒ องค์ คือพระโมคคัลลา และพระสารีบุตร พระสารีบุตรนั้นฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ที่ถ้ำสุกรขาตา ก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าได้กระนั้นแล้ว แต่ว่าสถานที่นี้พระพุทธเจ้า พา หมู่ภิกษุมา แล้วก็แสดงโอวาทปาฏิโมกข์ โอวาทปาฏิโมกข์กล่าวสอนสำหรับภิกษุในครั้งนั้น ซึ่งบวชใหม่ก็มีมากมาย ๑,๐๐๐ กว่าขึ้นไปซึ่งพระองค์บวชให้เอง พระโมคคัลลานะนั้นท่านเป็นพระอรหันต์หลังจาก ท่านบวชแล้ว ๗ วันท่านก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ พระสารีบุตรนี้ ๑๕ วัน จึงบรรลุเป็นพระอรหันต์ ที่ถ้ำสุกรขาตา ซึ่งฟังธรรมพร้อมกับหลาน ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ตามที่เราไปเยี่ยมมาแล้ว

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วก็ไม่ได้กำหนดวัน เดือน ปี อะไรเลย ในพระไตรปิฎก มีข้อความว่า เมื่อตรัสรู้แล้ว ประทับที่ไหน จะเสด็จไปโปรดใครในพรรษาที่ ๑ ที่ ๒ เหล่านี้ เมื่อท่านพระสารีบุตรได้ฟังธรรมจากท่านพระอัสสชิ ท่านก็เป็น พระโสดาบัน แต่ก็ยังไม่ได้รับประกาศว่าเป็นเอตทัคคะ หรือว่าเป็นอัครสาวกเพราะว่าขณะนั้นท่านเป็นโสดาบัน จนกระทั่งท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์ที่ถ้ำสุกรขาตา ทางที่ขึ้นเขาคิชฌกูฏ ขณะที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงธรรมกับ ทีฆนขปริพาชก ตอนบ่ายๆ แล้วตอนเย็นๆ ก็ได้มาสู่พระวิหารเวฬุวัน เพราะว่ามีพระภิกษุ ที่เป็นเอหิภิกขุ ๑,๒๕๐ รูปมาประชุมกันโดยไม่ได้นัดหมาย เป็นวันมาฆบูชา

    ผู้ฟัง เนื่องจากสถานที่แห่งนี้ ได้กล่าวว่า เป็นที่ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ คือ ๑ เรื่องของการชำระจิตก็ดี ทำจิตให้บริสุทธิ์ ผุดผ่องก็ดี ก็อยากจะให้ขยายความเข้าไปเกี่ยวข้องกับ เรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน และการเจริญมรรคมีองค์ ๘ เพราะมันเป็น เหมือนคล้ายๆ ว่าคนละเรื่องคนละอย่างเลย โอวาทปาฏิโมกข์ก็เป็นส่วน แต่ว่าพอพูดถึงชีวิตประจำวัน ที่ทุกคนเราได้มีโอกาสฟังพระธรรมแล้ว เห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรที่จะได้ฟังให้เกิดความเข้าใจ แล้วก็อบรมเจริญไป เพื่อความรู้ และจะได้เห็นสภาพธรรม ตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาที่อบรมทีละเล็กทีละน้อย

    ท่านอาจารย์ สำหรับโอวาทปาฏิโมกข์ ก็คงจะเริ่มด้วย ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง เพราะการที่จะรู้แจ้งสภาพธรรม ถ้าไม่มีความอดทน ไม่มีทางเลย ใครก็ตามที่อยากจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม วันนี้คนนั้นอดทนหรือเปล่า นี้ว่าเป็นคนที่พากเพียรเหลือเกิน ใครๆ ก็นิยมชมชื่น หรือว่า เป็นผู้ที่ไม่ได้รู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง สภาพธรรม ตามความเป็นจริง เป็นอย่างไร สำหรับแต่ละบุคคลก็เป็นอย่างนั้น สภาพธรรม ตามความเป็นจริงของท่านพระสารีบุตร เมื่อได้ฟังท่านพระอัสสชิแสดงธรรมสั้นๆ แต่ธรรมกำลังปรากฏให้แจ่มแจ้งกับท่านพระสารีบุตร แต่ว่าขณะนี้ ธรรมก็มีกำลังปรากฏ แต่ไม่แจ่มแจ้งเพราะเหตุว่า การฟังน้อย การที่จะรู้สภาพธรรม ที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ต้องเป็นผู้ที่สะสมบารมี ความเข้าใจถูกในธรรม การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมจนกระทั่งเพียงแต่รอเทศนา ที่จะเป็นส่วนประกอบ ที่จะให้มีการระลึก แล้วรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ที่ใช้คำว่ารู้ชัด ไม่ใช่รู้อย่างเรา คิดว่าตอนนี้เราชัด เห็นก็ชัดไม่มีอะไรบัง นี่เป็นการเห็นธรรมดา แต่ว่ารู้ชัดด้วยปัญญานั้นคือ วิปัสสนาญาณ เป็นการประจักษ์ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมซึ่ง กำลังเกิดดับ เป็นทุกขลักษณะ อนิจจังไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตาตามความเป็นจริง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ถ้ามีการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ สภาพธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ สามารถที่จะปรากฏกับปัญญา ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นว่า เพียงเกิดขึ้นแล้วดับไปทุกขณะ ทางตาเพียงเกิดขึ้นเห็นแล้วดับไป ทางหูเพียงเกิดขึ้นได้ยินแล้วดับไป ทางใจที่คิดนึกเพียงเกิดขึ้นคิดนึกแล้วดับไป เพราะฉะนั้น สภาพธรรมเพียงแต่เกิดขึ้น ทำกิจ หน้าที่ ของสภาพธรรมนั้นๆ แล้วดับ ไม่ได้เกิดขึ้นมาทำอะไรเลย นอกจากทำหน้าที่ของสภาพธรรมนั้น เช่น สภาพธรรมที่เห็น จิตเห็น ทำอย่างอื่นไม่ได้เลย เพียงเห็นแล้วดับ คิดดู เห็นแล้วดับมากี่ชาติในแสนโกฏิกัปป์ ก็เห็นแล้วดับ ชาติต่อๆ ไปก็จะเกิดขึ้น เห็นแล้วก็ดับอีก ได้ยินก็เช่นเดียวกัน เกิดขึ้นในแสนโกฏิกัปป์ เพื่อทำกิจได้ยินแล้วก็ดับ ขณะนี้ก็กำลังทำกิจได้ยินแล้วก็ดับ ต่อไปก็จะทำกิจได้ยินแล้วก็ดับ นี้คือสภาพธรรม ซึ่งไม่มีใครสามารถ ที่จะเปลี่ยนแปลงความจริงของสภาพธรรม เหล่านี้ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าจะระลึกถึงความจริง ชีวิตก็เหมือนกับความว่างเปล่า เพราะเหตุว่า ไม่มีอะไรเหลือเลย ในขณะหนึ่งซึ่งเกิดแล้วดับไป แต่ว่ามีปัจจัยที่จะทำให้เกิด ขณะต่อไป เกิดอีก เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่รู้ความจริง ก็เห็นสิ่งที่เกิดดับสืบต่อ อย่างรวดเร็ว พร้อมกับการทรงจำว่ามีสัตว์ มีบุคคล มีตัวตน

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การอบรมเจริญปัญญา เป็นความรู้จริงในสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่ต้องไปรู้อย่างอื่นเลย ถ้าขณะนี้กำลังเห็นแล้วไม่รู้ ไม่มีทางที่จะไปรู้อื่น ถ้าขณะที่กำลังได้ยินแล้วไม่รู้ ก็ไม่ใช่ว่าปัญญาจะไปรู้อื่น จากที่เห็น กำลังเห็น ได้ยินกำลังได้ยิน ทุกอย่างที่กำลังเป็นจริงในขณะนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อไม่รู้ ก็ฟัง จนกว่าจะเข้าใจแล้วสติก็ระลึก จนกว่าจะรู้เท่านั้นเอง กี่ภพกี่ชาติ คือ ฟังพระธรรมให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อสติระลึก แล้วรู้ตามความเป็นจริง ไม่ใช่รู้อย่างอื่น ไม่มีตัวตนสักขณะเดียวที่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพธรรม ในขณะนี้ให้ เป็นอย่างอื่นได้ นอกจากรู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นสภาพนามธรรมหรือรูปธรรม เกิดแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น สำหรับโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็นหัวใจของคำสอนของพระพุทธศาสนา อาจารย์จะกรุณาให้คำแปลของคำว่า ปาฏิโมกข์ได้ไหม

    วิทยากร. ปาฏิโมกข์ ถ้าแปลตามศัพท์ แปลว่าพ้นจากอบาย คือศีลนั่นเอง เมื่อรักษาศีลแล้วก็พ้นจากอบาย เฉพาะคำว่า ปาฏิโมกข์ แปลว่า พ้นจากอบาย ที่อาจารย์ กล่าวว่าขันติ เป็นข้อแรกของโอวาท ถูกต้อง พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ จะแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ต้องกล่าวถึงขันติก่อน ทุกคนถ้าไม่มีขันติ การรักษาศีลก็รักษาไม่ได้ ถ้าไม่มีขันติ การเจริญสติปัฏฐาน มีทางตาเป็นต้นก็มี เจริญไม่ได้ ต้องอาศัยขันติอย่างนั้น ผมก็เห็น ชอบด้วยเพราะว่า ขันติ เป็น ตบะ คือเป็นธรรมเครื่องเผาผลาญกิเลสอย่างยิ่ง

    ท่านอาจารย์ สำหรับพระวินัยทั้งหมด ไม่ใช่โอวาทปาฏิโมกข์ แต่เป็น อาณาปาฏิโมกข์ หรืออะไร

    วิทยากร. อาณาปาฏิโมกข์ หมายความว่าเป็นสิ่งที่พระองค์จะต้องบัญญัติ โทษ แก่ภิกษุผู้ล่วง ที่ล่วงสิ่งที่พระองค์ ทรงบัญญัติไว้ สิกขาบท อาณา แปลว่าโทษ จะลงโทษ หมายความว่าต้องอาบัติ เมื่อต้องอาบัติแล้ว ต้องแสดงอาบัติคืนสำหรับอาบัติที่แสดงได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าได้ยินคำว่า ปาฏิโมกข์ ต้องทราบว่า หมายความถึง ๒ อย่าง คือหมายความถึง โอวาทปาฏิโมกข์ หรือหมายความถึง อาณาปาฏิโมกข์ ได้ทราบว่าพระภิกษุท่านสวดปาฏิโมกข์ คือสวดอาณาปาฏิโมกข์ หมายความว่า ตามที่ทรงบัญญัติไว้ แต่ละข้อๆ ทีนี้สำหรับ โอวาทปาฏิโมกข์ในครั้งนั้นที่ เมื่อได้แสดงธรรมแก่ ทีฆนขปริพาชก แล้วก็ท่านพระสารีบุตรได้ เป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านพระสารีบุตร และพระผู้มีพระภาค ได้เสด็จมาที่พระวิหารเวฬุวัน หรือว่ามาแต่เฉพาะ

    วิทยากร. ก็มาทั้งหมู่ภิกษุด้วย

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดเลย

    วิทยากร. ทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ เป็นสาวกสันนิบาต การประชุมสงฆ์สาวกซึ่งเป็น เอหิภิกขุอุปสัมปทา ครั้งแรก แล้วก็ทรงประมวล พระธรรมคำสอน จึงชื่อว่า โอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งได้แก่ ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง ต่อจากนั้นคือ การละอกุศลทั้งปวง

    วิทยากร. ต่อจากนั้นทรงแสดงว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง แปลว่า ไม่กระทำบาปทั้งปวง แล้วก็ต่อไปก็แสดงเรื่อยๆ ไป

    สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง แปลว่า ไม่กระทำบาปทั้งปวง

    กุสะลัสสูปะสัมปะทา แปลว่า ยังกุศลให้ถึงพร้อม

    สะจิตตะ ปะโยทะปะนัง แปลว่า กระทำจิตให้ผ่องใส

    เอตังพุทธานะสาสะนัง นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

    ท่านอาจารย์ สรุปโดยย่อทั้งหมดที่ประมวลมา ได้แก่ คาถาที่อาจารย์กล่าว เมื่อกี้นี้ ซึ่งก็ต้องสอดคล้องกัน เพราะเหตุว่า การที่จะอบรมเจริญกุศล ก็ต้องละอกุศลด้วย ถ้าใครไม่ละอกุศล จะชื่อว่าคนนั้น เจริญกุศลก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น การละอกุศล ด้วยการวิรัติทุจริต ทางกาย ทางวาจา แต่ก็ยังไม่พอ เพราะว่าเราจะเห็นได้ว่า คนที่กายวาจาดี สุจริต ไม่เป็นทุจริตเลย แต่ไม่ทำกุศลอย่างอื่นเลยก็มี กุศลอย่างอื่นๆ ไม่มีเลย นอกจากการวิรัติทุจริตทางกาย ทางวาจา เท่านั้น แต่ว่านอกจากการวิรัติ ทุจริตทางกาย ทางวาจาแล้ว ก็ควรที่จะได้บำเพ็ญกุศลด้วย ให้ถึงพร้อม กุศลได้แก่ บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ จนถึงประการสุดท้ายคือ ชำระจิตให้ผ่องใส ได้แก่ อบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

    วิทยากร. การไม่กล่าวร้าย แล้วเราก็พิจารณาดู เมื่อเป็นภิกษุแล้ว ไปกล่าวร้ายคนอื่น กล่าวโทษคนอื่น แล้วจะเป็นภิกษุได้อย่างไร เป็นภิกษุแล้ว ต้องไม่เบียดเบียนคนอื่น เมื่อเบียดเบียนคนอื่นแล้ว จะชื่อว่า เป็นสมณะ ได้อย่างไร สมณะ แปลว่า ผู้สงบแล้ว อันนี้เป็นใจความย่อ ความพิสดารมีมากกว่าที่ผมกล่าว

    ผู้ฟัง ผมเองก็เข้าใจมุมหนึ่ง ของอาจารย์ แล้วก็พยายามออกไปห่างๆ อยู่เสมอ เพราะว่าผมเองก็เข้าใจว่าทุกคนก็มีจุดยืนของตัวเอง และมีความเข้าใจของตัวเองเหมือนกระจกแว่นตา ๒ อันมาประกบกันมาทับ กัน ส่วนที่ได้รับรู้จากอาจารย์มาก็ส่วนหนึ่ง แต่ทุกคนก็จะมีส่วนที่ตัวเอง คิดว่าตัวเอง เข้าใจแล้วตัวเองรู้

    ท่านอาจารย์ สงสัยว่า ใครๆ เขาก็ต้องการที่จะเข้าใกล้ธรรม แต่ทำไม คุณธำมรงค์ ออกไปไกลๆ

    ผู้ฟัง ธรรม ผมว่าไปไกล ธรรมก็ปรากฏ อยู่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใกล้ หรือไกล

    ผู้ฟัง ธรรม ก็ปรากฏอยู่ แต่ผมว่าไป ใคร่ครวญ คิดถึง

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าการที่ออกไปไกล เพื่อจะได้ใคร่ครวญด้วยตัวเอง

    ผู้ฟัง วิธีการนี้จะถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วเท่าที่ฟังบางคน รวมทั้งอาจจะเคยได้ยินได้ฟังจากคุณธำมรงค์ด้วย ที่บอกว่าเบื่อ ธรรม ฟังแล้ว บางทีก็เบื่อเหลือเกิน หมายความว่าอาจจะชินเสียจนกระทั่ง ใช้คำว่า ต้องตื้อกับโลภะ หรือโทสะ หรืออกุศลของตัวเอง เพราะไม่ใช่ว่าจะหมดไปได้โดยง่าย ทั้งๆ ที่ฟัง นี้ก็แสดงให้เห็นว่า เรื่องของธรรม ถ้าเป็นปกติจริงๆ การฟังเบาสบายๆ ไม่ใช่ว่าไปเร่งรัด ถ้าเรามีการที่ว่า ฟังเท่าไร ฟังมานานแล้ว ก็ชินๆ เบื่อๆ ก็ยังไม่เห็นมีอะไรเพิ่มขึ้น อย่างนี้ นี่แสดงว่า เรามีความหวัง หรือ ความต้องการที่แอบแฝง ทำให้เรามีความรู้สึกอย่างนั้น แต่ถ้าเราฟังด้วยความรู้สึกว่าสิ่งนี้ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน เป็นธรรมจากการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาค ยิ่งฟังเท่าไร เราก็ยิ่งเข้าใจขึ้น มีความพอใจฉันทะในการที่จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นแล้วก็ไม่ต้องไปสนใจ กิเลสไม่เห็นหมดเลย แล้วเมื่อไรจะขยับ หรืออะไรอย่างนี้ ไม่ต้องคิดทั้งหมด มีความพอใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เมื่อมีความเข้าใจ ก็มีความพอใจขึ้นอย่างนี้ จะไม่ดีหรือ คงจะไม่เบื่อ คงจะไม่เซ็ง หรือคงจะไม่ทำอะไร นอกจากมีโอกาสก็ได้ฟัง ได้เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง การเบื่อหรือการเซ็งก็เป็นเรื่องที่ผม คิดว่า เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้

    ท่านอาจารย์ คงจะจริง เพราะไม่มีใครจะฟังธรรม ๒๔ ชั่วโมง มีใครไหมที่ฟังธรรม ๒๔ ชั่วโมง ไม่มีแน่นอน เพราะอะไร เพราะต้องเป็นปกติ ถ้าผิดปกติเมื่อไรก็ฟัง ๒๔ ชั่วโมง ๔๘ ชั่วโมง นั่นคือผิดปกติ แสดงให้เห็นว่าถ้าเป็นปกติ ปกติอกุศลมี ปกติอวิชชามี ปกติสะสมอวิชชา จนกระทั่งมีกำลังมากมายมหาศาล ขณะใดที่กุศลจิต ไม่เกิด ขณะนั้นไปแล้วกับอกุศล ประเภทหนึ่ง ประเภทใด เพราะฉะนั้น เมื่อปกติ เป็นอย่างนี้ ก็ต้องเป็นปกติที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น บางกาลก็เซ็ง บางกาลก็เบื่อ แล้วก็บางกาลก็เป็นอกุศล บางกาลก็ไปซื้อของสวยๆ งามๆ แล้วก็เป็นเรื่องธรรมดาจริงๆ ธรรมเป็นเรื่องปกติ แต่พอระลึกเมื่อไร เห็นพระคุณว่า ถ้าเราไม่เคยฟังมาก่อน สติจะไม่มีการระลึกได้ แล้วสติปัฏฐาน ก็จะไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่เรื่องที่พอระลึก เราก็อยาก จะบรรลุเร็วๆ รู้ว่าอยากจะให้มีสติมากๆ นี่ผิดปกติอีก

    เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่า ถ้าเป็นปกติ คืออย่างเดี๋ยวนี้ ธรรมดาๆ เดี๋ยวเป็นกุศล เดี๋ยวเป็นอกุศล นั่นคือปกติ คือไม่ใช่เราไปรอคอยว่าเมื่อไร ปัญญาแค่ไหน สติจะเกิด แต่ขณะใดที่สติเกิดขณะนั้น รู้ได้เลย ถ้าเป็นสติปัฏฐาน หมายความว่า คนนั้นสามารถที่จะเข้าใจ เรื่องของธรรม มิฉะนั้นแล้วสติก็ระลึกไม่ได้ เพราะว่าขณะนี้เป็นธรรม ถ้าไม่มีความเข้าใจพอ สติก็ระลึกไม่ได้ แต่ถ้าสติเกิดระลึกได้ แสดงว่ามีความเข้าใจพอที่สติจะระลึก ไม่ใช่เราไปนั่งคิดก่อนว่าเมื่อไร เท่าไร แล้วสติจะเกิด แต่ว่าเมื่อไรเท่าไร ไม่มีปัญหาเลย คือเมื่อนั้น ที่สติระลึก คือมีความเข้าใจพอ สติจึงระลึกได้

    ผู้ฟัง สรุปว่า ถ้าผู้ใด มีสติ ผู้นั้นก็คงจะต้องมีปัจจัยที่มีปัญญา พอสมควรแล้ว

    ท่านอาจารย์ แน่นอน สติปัฏฐาน ก็ต้องมีปัจจัย เพราะไม่มีปัจจัยจะเกิดอย่างไร

    ผู้ฟัง อ่านพุทธประวัติ คืนที่ตรัสรู้ พระองค์พิจารณามาถึง ปฏิจจสมุปบาท องค์สุดท้ายหรือองค์แรกก็ได้ นั่นคือ อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร เพราะฉะนั้น พระอภิธรรมเกิดตรงนี้ เกิด ณ ที่นี้ ผมก็มีความสนใจเกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาท ใน พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ได้กล่าวไว้ว่า พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสพุทธพจน์ นี้ไว้ว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้น ชื่อว่าเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็น ปฏิจจสมุปบาท

    ท่านอาจารย์ ถึงอย่างไร ปฏิจจสมุปบาท ก็เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมนั่นเอง จะเห็นอย่างไร จะเลย จากนามธรรม รูปธรรมก็ไม่ได้ เพราะว่าปฏิจจสมุปบาทก็เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม โดยมากเราคิดไกลเลยไปถึง ปฏิจจสมุปบาท หรืออะไร แต่สิ่งที่จะต้องรู้ในขณะนี้ คือลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนเพราะเป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้น การเข้าใจของเราจริงๆ ถ้าเป็นไปตามลำดับจริงๆ มันจะไม่ยุ่งยาก แต่ทีนี้พอเราได้ยินคำอะไรสักคำ เราก็ตื่นเต้น ปฏิจจสมุปบาท หรือไม่ก็มรรคมีองค์ ๘ หรืออะไรต่างๆ เหล่านี้ แต่ถ้าความเข้าใจของเรา เข้าใจสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ได้ ไม่ใช่เพียงชื่อ หรือไม่ใช่เราฟังว่า ปรมัตถธรรม มี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ทุกคนก็ตอบได้เหมือนกันหมดเลย ไม่มีใครที่จะไม่รู้ว่า ปรมัตถธรรม มี ๔ แต่ทีนี้การที่เราจะเข้าใจ ไม่ใช่การที่เราจำหรือฟัง เพราะเหตุว่า ปรมัตถธรรม ๔ คือ นามธรรมกับรูปธรรม ย่อลงไป รูปธรรมก็ไม่ใช่สภาพรู้เลย และขณะนี้ก็มีรูปธรรมด้วย แล้วก็นามธรรมก็เป็นส่วนอื่นสภาพธรรมอื่นที่ไม่ใช่รูปทั้งหมด ซึ่งนิพพานไม่เกี่ยวตอนนี้ เพราะเหตุว่า ไม่มีการที่จะรู้แจ้งลักษณะของนิพพานในขณะนี้ แต่มีนามธรรมที่เป็นจิต และเจตสิกในขณะ นี้ ถ้าเราสามารถที่จะเข้าใจสภาพของนามธรรม และรูปธรรมในขณะนี้ ต่อไปเราก็จะเข้าใจถึงปฏิจจสมุปบาท หรือ มรรคมีองค์ ๘ ได้ แต่ว่าสภาพธรรมใดที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แล้วเราข้ามไป เรื่องโน้น เรื่องนี้ เรื่องนั้น แต่ว่าเรายังไม่รู้จริงๆ ในลักษณะของนามธรรมที่เห็น นามธรรมที่ได้ยิน หรือว่ารูปธรรมที่กำลังปรากฏทางตา รูปธรรมที่กำลังปรากฏทางหู ก็เป็นการที่เราเพียงจำ แล้วก็จำแบบ ตอนนี้จำไว้ตอนหนึ่ง แล้วพอไปพบอะไร ได้ยินอะไร ก็จำไว้อีกตอนหนึ่ง แล้วก็พบได้ยินอะไรก็จำไว้อีกตอนหนึ่ง แล้วก็เอามาต่อกันหัวบ้าง ท้ายบ้าง กลางบ้าง คงจะเป็นไปในรูปนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าจะเข้าใจธรรม ไม่อยากให้เพียงฟังเฉยๆ แล้วก็จำได้ แต่มีทางใดที่จะทำให้เรา เข้าใจ ใช้คำว่า เข้าใจ ถ้าเข้าใจแล้ว อย่างที่คุณธงชัยว่า สติปัฏฐาน ก็สามารถที่จะเกิดแม้ในขณะนี้ชั่วขณะ เดียวก็ยังดี เป็นทุนเริ่มต้น สำหรับที่จะเจริญต่อไปข้างหน้า

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 99
    23 มี.ค. 2567