ปกิณณกธรรม ตอนที่ 366


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๖๖

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    พ.ศ. ๒๕๔๐


    ผู้ฟัง ที่อาจารย์กล่าวว่ามีการสะสมทีละขณะจิต หมายถึงในปัจจุบันชาตินี้

    ท่านอาจารย์ จิตที่เกิดทีละขณะเฉพาะในชาตินี้หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ในชาตินี้

    ท่านอาจารย์ ชาติก่อนจิตไม่ได้เกิดทีละขณะหรือ

    ผู้ฟัง ในอดีตชาติ ก็เกิดอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ แล้วในอนาคตจิตจะเกิดขึ้นทีละขณะหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็จะเกิดลักษณะนี้

    ท่านอาจารย์ ในจิตขณะหนึ่ง มีอะไรบ้างสำหรับคนหนึ่ง ที่สะสมมาแล้ว เมื่อดับไปก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นขณะเดียว ทีละหนึ่งขณะสืบต่อกันไป

    ผู้ฟัง พูดถึงในปัจจุบัน คือขณะจิต ขณะนี้

    ท่านอาจารย์ ขณะเดียวดับ

    ผู้ฟัง ดับ

    ท่านอาจารย์ เป็นปัจจัยให้ขณะต่อไปเกิด

    ผู้ฟัง ส่วนมากที่เกิดขึ้นจะเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ มีอกุศล ก็เป็นปัจจัยให้อกุศลเกิด

    ผู้ฟัง เป็นปัจจัยให้อกุศลเกิด

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีอกุศล จะรอให้อกุศลเกิดก็ไม่ได้

    ผู้ฟัง เราจะขัดเกลาอย่างไร

    ท่านอาจารย์ การฟังให้เข้าใจ นี่ไง

    ผู้ฟัง ฟังให้เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจนี้เป็นปัญญาหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นปัญญา

    ท่านอาจารย์ ปัญญาละความไม่รู้หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ จากไม่รู้เลย ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ รู้ขึ้น ละเอียดขึ้น

    ผู้ฟัง ปัญญาเขาจะขัดเกลา

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่เป็นเรื่องของฉัน หรือเรา หรือเขา หรือตัวตน

    ผู้ฟัง ขณะนี้ก็เป็นจิต เจตสิกของเรา

    ท่านอาจารย์ ของเราก็ไม่ได้ เพราะว่าดับแล้ว เป็นของใครก็ไม่ได้

    ผู้ฟัง ก็สะสมไป

    ท่านอาจารย์ เป็นจิต เจตสิกที่สะสม สืบต่อ แต่ละบุคคลก็เป็นจิต เจตสิกที่สะสมสืบต่อ ไม่มีเจ้าของ ธาตุรู้เกิดขึ้นได้ เช่นเดียวกับธาตุเย็นเกิดขึ้นได้ ธาตุร้อน ธาตุอ่อน ธาตุแข็ง พอบอกว่าเป็นธาตุ เราเข้าใจ แต่พอถึงนามธรรม คือ จิตก็เป็นธาตุรู้ ต่างกับธาตุที่ไม่รู้เท่านั้นเอง แต่ก็เป็นธาตุ ไม่ใช่เรา หรือของใครเลย จิตเกิดแล้วก็ดับ ของใคร ทุกขณะ

    ผู้ฟัง ตัวอวิชชามันมีผลอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้ สภาพธรรมที่กำลังเป็นจริงว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรม ที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม นั่นคืออวิชชา

    ผู้ฟัง ทำให้เราสะสมเป็น กุศลหรืออกุศล อวิชชา

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ สะสมไปทีละหนึ่งขณะ ทุกขณะไปเป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง จิตเห็น พอจิตเห็นเกิดขึ้นก็เห็นสี ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องเรียกชื่อสี หรืออะไรเลย ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ คือ สิ่งที่จิตกำลังเห็น

    ผู้ฟัง สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ก็ไม่ต้องเรียกสี

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จะไม่เข้าใจผิดเลย เพราะเวลานี้ทุกคนพิสูจน์เลย เมื่อพูดถึงธรรมข้อใดก็พิสูจน์ความจริง ถ้าไม่เข้าใจสี ก็หมายความว่าสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ทุกคนกำลังมองเห็น เห็นอะไร สิ่งนั้นคือสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นทางตา มีจริงๆ

    ผู้ฟัง แล้วก็สิ่งที่ปรากฏทางหู ก็มีขณะนี้ ก็คือความจริง

    ท่านอาจารย์ คุณหมอต้องตอบเองว่า จริงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง จริง

    ท่านอาจารย์ เวลานี้เห็น กำลังเห็น จิตเห็นดับไหม

    ผู้ฟัง ดับ

    ท่านอาจารย์ แล้วหลังจากนั้น

    ผู้ฟัง เกิดไม่ชอบ

    ท่านอาจารย์ ไม่ชอบสิ่งที่เห็น ขณะที่ไม่ชอบ ไม่ใช่ขณะเดียวกับเห็น

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ต้องให้เข้าใจอย่างนี้ สำหรับผู้ที่มาใหม่ ขณะที่เห็นไม่ใช่ขณะที่ไม่ชอบ ในสิ่งที่เห็น ห่างกันแล้ว เห็นนิดเดียว แต่จิตที่ไม่ชอบเกิดทีหลัง คือเราพูดถึงสภาพธรรมก่อน แล้วเอาชื่อมาทีหลัง จะทำให้เราเข้าใจมากกว่า ถ้าเราเอาชื่อมาก่อน แล้วเราจะงงหมด คำนี้แปลว่าอะไร ก็ไปติดอยู่ที่ตรงแปลว่าๆ แต่ถ้าเราพูดถึงธรรมที่มีจริงๆ ขณะนี้ เพราะไม่รู้ความจริง จึงเกิดความไม่ชอบ ความไม่ชอบเป็นโทสะ ก็มีความไม่รู้เกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง อาจารย์อธิบายว่า เห็น คิด คิด มันคิด มันอะไรคิด จิตคิด หรือว่าเจตสิก

    ท่านอาจารย์ แน่นอน จิตต้องเกิดกับเจตสิก

    ผู้ฟัง ทีนี้ ตัวที่ทำหน้าที่คิดเป็นจิต หรือเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้น คุณศีลกันต์ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งให้ชัดเจนเลยว่า จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ จิตจำไม่ได้ จิตสงสารไม่ได้ จิตโกรธไม่ได้ จิตรัก จิตชังไม่ได้ หน้าที่ของจิตมีอย่างเดียวคือรู้อารมณ์ คือสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ จิตจะไปรู้อื่นก็ไม่ได้ จิตต้องรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏให้จิตรู้เท่านั้น นี่คือหน้าที่ของจิต เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ อย่างอื่นเป็นหน้าที่ของเจตสิกหมด

    ผู้ฟัง แล้วคิดล่ะ

    ท่านอาจารย์ มีจิตไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ กำลังคิดเรื่องอะไร

    ผู้ฟัง เรื่องราว

    ท่านอาจารย์ คิดเรื่องราว ขณะนั้นเรื่องราวกำลังถูกจิตรู้ จิตมีหน้าที่รู้ แต่จิตไม่ได้เป็นจำหรือว่ารู้สึกเลย ถ้าศึกษาเรื่องของเจตสิก จะทราบว่า เจตสิกมี ๕๒ ชนิด วิตกเจตสิก เป็นสภาพที่ตรึก หรือจรดในอารมณ์ที่จิตตรึก จรดในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้

    เวลาที่คิดเกิดขึ้น ไม่ใช่มีแต่เฉพาะจิต มีเจตสิกอื่นมากมาย แล้วแต่ละอย่างก็ทำหน้าของตนของตน แต่เนื่องจากจิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน ถึงแม้ว่าเจตสิกอื่นทำหน้าที่ก็เหมือนว่าจิต เพราะว่าจิตเป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ที่ปรากฏ

    วิตกมีหน้าที่ของวิตก คือตรึก หรือจรดในอารมณ์ ผัสสะมีหน้าที่กระทบอารมณ์ สัญญามีหน้าที่จำอารมณ์ เวทนามีหน้าที่รู้สึกในอารมณ์ แต่เพราะจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน ก็เหมือนเป็นจิตทั้งหมดที่คิด ที่จำ ที่รู้สึก แต่ความจริงถ้าเข้าใจจริงๆ สามารถที่จะแยกลักษณะของความรู้สึกว่า ความรู้สึก เป็นสภาพที่รู้สึก รู้สึกเสียใจ ความรู้สึกขณะนั้นเสียใจ จะลืมว่ามีจิตเลย

    ในขณะนี้ ทั้งๆ ที่มีจิตเกิดดับสืบต่อ ไม่ขาดเลย เจตสิกบางประเภท เกิดกับจิตนี้ เจตสิกบางประเภทเกิดกับจิตนั้น ก็จริง แต่ว่าเวลาที่สภาพธรรมปรากฏ เหมือนลืมว่ามีจิต ทั้งๆ ที่จิตเท่านั้นกำลังรู้แจ้งในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ แต่เพราะว่าเจตสิกแต่ละชนิดทำหน้าที่ของตน ก็ทำให้สภาพของเจตสิกบางอย่างปรากฏชัด เช่นความรู้สึก ถ้าถามว่ารู้สึกอย่างไร จะตอบเลยว่า รู้สึกเสียใจ ซึ่งเสียใจไม่ใช่จิต แต่ถ้าไม่มีจิต เสียใจก็เกิดไม่ได้

    จิตเกิดดับตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะขณะใดก็ตามที่อารมณ์ใดกำลังปรากฏ ให้ทราบว่าปรากฏกับจิต แต่ส่วนจะรักจะชัง เป็นเรื่องของเจตสิกทั้งหมด

    ผู้ฟัง ทีนี้คิด ผมจะยกตัวอย่างว่า

    ท่านอาจารย์ เมื่อกี้นี้บอกแล้วว่า คิดเป็นวิตกเจตสิก เกิดกับจิต แต่ว่าเพราะจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน จึงเหมือนว่าจิตคิด เพราะว่าจิตกำลังรู้ในอารมณ์ที่วิตกจรด ขณะใดที่ไม่คิด ขณะนั้นมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ เห็นนี่ เห็นหรือเปล่า เป็นปรมัตถ์หรือเปล่า ไม่ใช่อยู่เฉยๆ ปรมัตถธรรมมีเท่าไร คือ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีจิตเป็นอารมณ์ มีเจตสิกเป็นอารมณ์ มีรูป เป็นอารมณ์ หรือมีนิพพานเป็นอารมณ์ มีปรมัตถ์เป็นอารมณ์

    ไม่อยากให้ใช้คำว่าฝึก อยากให้ฟังให้เข้าใจไปอีกมากๆ ธรรมที่แบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ มี ๒ ประเภท ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงทั้ง ๒ อย่าง คือ สภาพที่เกิดขึ้นปรากฏ แต่ไม่รู้อะไรเลย ทั้งหมดไม่สามารถจะรู้อะไรได้ นั่นเป็นรูปธาตุ แล้วส่วนสภาพที่รู้ หมายความว่า สามารถที่จะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น คิดนึก พวกนี้ เป็นนามธาตุ เพราะว่าเมื่อเป็นธาตุรู้ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ หรือสิ่งที่ธาตุนั้นกำลังรู้

    ผู้ฟัง ขณะใดที่ไม่คิด มีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ อันนี้ไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เวลานี้กำลังกระทบแข็ง มีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มี ต้องคิดไหม ว่าแข็ง

    ไม่ทันได้คิด ก็ทราบ

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ลักษณะที่แข็งกำลังปรากฏ ขณะนั้นเป็นปรมัตถธรรม แต่ถ้าคิดเรื่องราวของแข็งเมื่อไร ขณะที่คิดก็ไม่ใช่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ เพราะว่าปรมัตถธรรมทุกอย่างมีลักษณะเฉพาะของปรมัตถธรรมแต่ละอย่างนั้นๆ ปรากฏให้รู้ จะเรียกชื่ออะไรหรือไม่เรียกชื่ออะไร ก็ไม่เป็นไร เพราะว่าปรมัตถธรรมเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น แข็งเกิดขึ้นแข็ง ใครจะเรียกว่าแข็ง ใครไม่เรียกว่าแข็ง ใครจะคิดถึงเรื่องแข็ง ไม่คิดถึงเรื่องแข็ง ถ้าขณะใดมีสภาพที่กำลังรู้แข็ง ขณะนั้นกำลังรู้ปรมัตถธรรมอย่างหนึ่งซึ่งแข็ง

    ผู้ฟัง หมายถึง รู้แข็ง

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้แข็งมีไหม กำลังรู้ในลักษณะแข็งตรงหนึ่งตรงใดไหม ขณะนั้นเป็นจิตที่กำลังรู้ลักษณะที่แข็ง ไม่ต้องเรียกชื่ออะไรหมด ไม่ต้องคิดอะไรหมด แข็งปรากฏให้รู้ แข็งเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น ขณะนั้นจิตกำลังมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ คือ มีลักษณะที่แข็งปรากฏให้รู้ ทางอื่นก็เหมือนกัน ตา หู จมูก ลิ้น กาย อย่าไปเรื่องใช่ ไม่ใช่ ฟังให้เข้าใจในเรื่องนี้ก่อน มีที่จะต้องฟังอีกมาก ต้องเข้าใจอีกมาก

    ผู้ฟัง การศึกษาธรรม เราจะต้องไม่มีอะไรเป็นเป้าหมายที่เป็นความอยาก เช่น อยากรู้ อยากละกิเลส อยากจะเป็นนั่นเป็นนี่ ไม่ชอบสิ่งนั้น สิ่งนี้ ไม่ทราบว่าตามความคิดของผมจะถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ คือการศึกษาทุกชนิด ให้ทราบว่าศึกษาอะไรก็ตาม เพื่อเข้าใจสิ่งนั้น จะศึกษาวิชาตัดเสื้อ ก็ต้องเข้าใจให้ถูก ตรงคอจะตัดอย่างไร แขนจะทำอย่างไร จะศึกษาเรื่องการทำอาหาร ก็ต้องรู้ว่าอาหารชนิดนี้รสอย่างไร กลิ่นอย่างไร

    การศึกษาทั้งหมดเพื่อความรู้ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมก็เช่นเดียวกัน จากความไม่รู้เลย แล้วจะมีความรู้ได้อย่างไร ถ้าไม่ศึกษา ไม่มีความรู้เลย ไม่ฟังพระธรรมเลย แล้วจะเข้าใจได้อย่างไร นอกจากคิดเอง หรือฟังคนอื่นที่เขาคิดแล้วมาพูดกันต่อๆ ไป โดยที่เราก็ไม่ทราบว่า เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงหรือเปล่า แต่ถ้าเราศึกษาพระธรรมโดยตรง มีทางที่จะเข้าใจว่า นี่คือธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพราะเหตุว่าเป็นการศึกษาเรื่องสภาพของสิ่งที่มีจริงทั้งหมดในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่มีเลยที่จะไม่กล่าวไว้ แล้วก็ทรงแสดงไว้โดยละเอียดจริงๆ เริ่มจากการฟังว่า ธรรมคืออะไร อย่างตอนต้นที่กล่าวว่าธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงๆ เราไม่ต้องคิด สิ่งนั้นก็มี อย่างเห็นอย่างนี้ ใครจะสร้าง ใครจะทำเห็นให้เกิดขึ้น ไม่มีทางเลย หรือได้ยินก็เหมือนกัน หรือแม้แต่ความคิดของแต่ละคนในขณะนี้ ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยของการสะสมของแต่ละคน ที่เมื่อเห็นแล้ว ใครคิดอย่างไรก็ต่างกันออกไป

    ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงๆ แล้วถ้าศึกษาเข้าใจละเอียดก็จะรู้ว่า ธรรมที่เกิดปรากฏ ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ นามธรรมกับรูปธรรม สิ่งใดที่เกิดขึ้น สิ่งนั้นไม่เที่ยงเป็นอนัตตา คือไม่มีเจ้าของ ไม่สามารถจะบังคับบัญชาได้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ต้องพิจารณาแม้แค่นี้ ให้ทราบว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริง และอะไรบ้างจริงในวันนี้ กำลังเห็น จริง สิ่งที่ปรากฏทางตาก็จริง ได้ยินก็จริง เสียงก็จริง คิดนึกก็จริง อ่อนแข็งก็จริง สุขทุกข์ก็จริง ทั้งหมดเป็นธรรมแต่ละชนิด และถ้าศึกษาโดยละเอียดก็จะทราบว่า ถ้าใช้คำว่า ธาตุ ก็ยิ่งเห็นชัดว่าเป็นสภาวธรรมแต่ละลักษณะ แต่ละอย่างจริงๆ เปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาวธรรมเหล่านั้นไม่ได้เลย อย่างจิตเป็นสภาพที่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จะให้จิตไปทำหน้าที่ของเจตสิกอื่นก็ไม่ได้ จะทำหน้าที่ของผัสสเจตสิกไม่ได้ เวทนาเจตสิกไม่ได้ สัญญาเจตสิกไม่ได้ จิตต้องเป็นจิต เจตสิกแต่ละชนิดก็ต้องเป็นเจตสิกแต่ละชนิด รูปแต่ละอย่างก็เป็นธาตุแต่ละอย่าง เป็นรูปแต่ละอย่าง ความเป็นเราก็จะค่อยๆ ลดน้อยลงไป

    ไม่ใช่วันนี้หมด ไม่มีทาง หรือพรุ่งนี้ก็ยังไม่หมด แล้วก็ไม่ต้องหวังรออะไรทั้งสิ้นขอให้ทราบว่าเป็นเรื่องของปัญญาที่เข้าใจ ถ้าปัญญาไม่เข้าใจก็หวังต่อไป แต่ถ้าเข้าใจแล้ว ก็จะค่อยๆ ละความหวัง เพราะรู้ว่าทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามความคิดหวัง แต่ต้องเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย

    ผู้ฟัง ถ้าเราศึกษาธรรมก็เป็นการศึกษาธรรมชาติ สิ่งที่มันมีอยู่ สิ่งที่มันเกิดขึ้น สิ่งที่มันแตกดับไป เพื่อให้รู้ความจริง เพื่อจะลด จะละสิ่งต่างๆ ตัดสิ่งต่างๆ

    ท่านอาจารย์ คือลดละความไม่รู้

    ผู้ฟัง ค่อยๆ เห็นรางๆ แล้วว่า ธรรมมันเกิดดับ มันเป็นเรื่องจริง แต่คนเป็นไปไม่ได้เลย มันเปลี่ยนแปลงแล้วก็ดับไป สลายไป แล้วก็สูญไปหมด ถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ คุณวิลาวรรณพูดถึงคน แต่ขณะนี้เรากำลังพูดถึงจิต เจตสิก รูป เกิดดับ เวลานี้เรากำลังพูดถึงเรื่องปรมัตถธรรม คือ สิ่งที่มีจริง ไม่เรียกว่าคน จิตมี เจตสิกมี รูปมี ไม่เรียกว่าเทวดา ก็มีจิต มีเจตสิก มีรูป เพราะฉะนั้น คน สัตว์ เป็นแต่เพียงสมมติ สมมติบัญญัติ เราเข้าใจกันมานานแล้ว แต่ตอนนี้เรากำลังจะพูดให้เข้าใจสภาพปรมัตถธรรม คือ สิ่งซึ่งเราไม่เคยคิดเลย เราเคยเห็นคน เราคิดว่า เป็นคน เป็นสัตว์ แต่ความจริงโดยการตรัสรู้ทราบว่า นั่นเป็นแต่เพียงสิ่งสมมติ ชื่อ จำ แต่ว่าสภาพจริงๆ คือจิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้น ก็ขอให้เข้าใจเรื่องจิต เจตสิก รูป ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าลักษณะของโทสะ ที่คิดถึงลักษณะของโทสะ ขณะที่เกิดตรงนั้น ขณะนั้นเป็นอะไร

    ท่านอาจารย์ เป็นอะไรก็เป็นอย่างนั้น คือถ้ากำลังคิดก็เป็นคิด

    ผู้ฟัง โทสะกำลังเกิดตอนนั้น แล้วเราก็คิดถึงลักษณะของโทสะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เป็นอะไร ก็คือเป็นคิดถึงโทสะขณะนั้น คือ สภาพธรรมจริงอย่างไรก็จริงอย่างนั้น ถ้าเป็นสติ คนนั้นก็รู้ว่าเป็นสติ ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ปัญญาก็รู้ว่าเป็นสติปัฏฐาน ถ้าไม่ใช่ก็คือไม่ใช่ เป็นอย่างไรก็คือเป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นคิดก็เป็นคิด เพราะฉะนั้น คนที่คิดเรื่องเก่าๆ แล้วโกรธ เขาก็ไม่รู้ แต่เขาก็ยังคิดเรื่องเก่า แล้วความโกรธก็มีในขณะนั้น แล้วเขาก็คิดต่อไป แล้วจะถามให้คนอื่นตอบว่าเป็นอย่างไร ก็เป็นคิดเท่านั้น

    ผู้ฟัง ขณะนี้ หมายความว่า ที่เราสนทนากันอยู่ เรายังไม่รู้จักลักษณะของสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่มีทางรู้จัก พูดเรื่องสติปัฏฐาน เข้าใจลักษณะของสติปัฏฐาน แต่ถ้าสติปัฏฐานยังไม่เกิด ก็ไม่รู้ว่า สติปัฏฐานจริงๆ เป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง หมายความว่าศึกษาได้ ศึกษาตามหลักการในพระไตรปิฎกได้ แต่ถ้าคนนั้นไม่ประจักษ์

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด

    ผู้ฟัง ถ้าสติปัฏฐานคนนั้นไม่เกิด คนนั้นก็ไม่รู้จัก

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่รู้ จะรู้ได้อย่างไร เมื่อสติปัฏฐานยังไม่เกิด

    ผู้ฟัง คนที่ประจักษ์แล้วบอกได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องใช้คำว่าประจักษ์ สติปัฏฐานเกิด เขาก็บอกได้ เขาก็รู้ความต่างกันว่าขณะไหน สติปัฏฐานเกิด ขณะไหนหลงลืมสติ

    ผู้ฟัง แล้วบอกให้คนอื่นรู้ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ เขาก็บอกว่าสติมีลักษณะอย่างไร

    ผู้ฟัง บอกเพียงลักษณะ

    ท่านอาจารย์ คนนั้นต้องฟังพิจารณาเข้าใจจนกว่าสติปัฏฐานเกิดเมื่อไร ก็รู้ว่าสติปัฏฐานเกิด

    ผู้ฟัง จนกว่าสติปัฏฐานของตัวเองจะเกิดใช่ไหม ฟังนี้ฟังได้ แต่ว่าต้องรอจนกว่าสติปัฏฐานของตัวเองจะเกิด

    ท่านอาจารย์ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด แล้วจะรู้ลักษณะสติปัฏฐานไม่ได้ แต่เข้าใจได้

    ผู้ฟัง เข้าใจได้ แต่ยาก

    ผู้ฟัง ลักษณะของสติปัฏฐานเกิด อารมณ์ตอนนั้นเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ อารมณ์อะไร

    ผู้ฟัง อารมณ์ของสติ

    ท่านอาจารย์ ก็เดี๋ยวนี้ ธรรมดา ก็คิด ก็เป็นคิด คิดคำว่าสติปัฏฐาน ใครก็คิด ขณะนี้ทุกคนคิดคำว่าสติปัฏฐาน ทุกคนก็คิดคำนี้ได้

    ไม่มีทำ ฟังให้เข้าใจ นี้ตัวอยาก ไม่สำเร็จได้ด้วยความอยาก แต่สำเร็จได้ด้วยการพิจารณาให้เข้าใจในลักษณะที่ฟัง ไม่มีใครมนสิการด้วย เจตสิกทำหน้าที่ของเจตสิก จิตทำหน้าที่ของจิต ฟังให้เข้าใจ เข้าใจไม่มีแล้ว ต้องเข้าใจอีกๆ ๆ ถ้าผิดแสดงว่ายังไม่เข้าใจ อย่าเพิ่งใช่แล้ว

    รู้สึกเท่าที่ฟังมาตั้งแต่เช้า ทุกคนจะได้ยินคำว่า ใช่แล้วจากคุณวิลาวรรณบ่อย มาก พอใครพูด คุณวิลาวรรณก็ใช่แล้วๆ ๆ ทุกคนคงจะรู้สึกว่า ใช่แล้วของคุณวิลาวรรณ เร็วหน่อย เพราะฉะนั้น ช้าๆ ยังไม่ต้องใช่แล้ว ฟังแล้วพิจารณาจนกว่าจะแน่ใจจริงๆ ค่อยใช่แล้ว เพราะว่าถ้ารีบใช่แล้ว ยังไม่ใช่ ว่าคุณวิลาวรรณจะพูดอะไรต่อไป เพื่อที่เขาจะได้รู้ว่าสิ่งที่คุณวิลาวรรณพูด ถูกหรือผิด เขาจะยังไม่รีบใช่แล้ว ฟังต่อไปอีก ฟังจนกว่าจะเข้าใจก่อนที่จะพูดคำว่า ใช่แล้ว เหมือนทุกคนที่กำลังฟัง แล้วยังไม่ใช่แล้ว สักคนหนึ่ง

    ผู้ฟัง คือที่เหตุผลที่เข้าสอบ ไม่ใช่ว่าเก่ง เพื่อจะประเมินตัวเอง

    ท่านอาจารย์ ถ้าสอบได้เป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง สอบได้ก็เฉยๆ เพราะเรารู้ตัวเองว่า ยังไม่รู้อีกมาก อาจจะบังเอิญ อาจจะตรงกับข้อสอบ

    ท่านอาจารย์ เมื่อสอบได้แล้วเฉยๆ แล้วจะไปสอบทำไม ไม่ใช่เขาให้ อยู่ที่เรา ไม่มีใครให้ใครทำอะไรทั้งนั้น

    ผู้ฟัง แต่ใจอยากจะสอบ

    ท่านอาจารย์ ใจอยากจะสอบ ก็เป็นเรื่องของคุณวิลาวรรณอยากจะสอบ

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่อยากรู้แล้วละ แต่อยากสอบ

    ผู้ฟัง แต่ที่เรียนธรรม เพื่อรู้แล้วละ

    ท่านอาจารย์ รู้แล้วละก็ไม่สอบ จะสอบทำไม

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น คนที่ไม่สอบ เขาก็คิดถูก

    ท่านอาจารย์ สอบทำไมล่ะ

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้ก็ไม่ต้องสนใจ เรื่องทั้งหลายที่ไม่รู้

    ผู้ฟัง ทีนี้เรากำลังจะละโลภะ ขัดเกลากิเลสตัวเอง ถึงต้องใฝ่หา แต่ไม่ใช่ว่าจะใจร้อนอะไร

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าสอบไม่ใช่เรื่องขัดเกลา ในครั้งพุทธกาล มีพระภิกษุรูปไหนสอบบ้าง เวลาที่ฟังธรรมแล้ว มีการสอบไหม

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ คิดว่า มันไม่เสียหาย เขามาถึงนี่ สอบก็สอบ

    ท่านอาจารย์ เหตุกับผลไม่ตรงกัน ถ้าเป็นผู้ที่รู้แล้ว จะสอบไหม มีใครสอบพระอรหันต์ทั้งหลายบ้างไหม มีใครสอบพระอริยเจ้าทั้งหลายซึ่งท่านรู้แล้วไหม แล้วไม่มีการสอบอย่างนี้เลย เพราะจุดประสงค์ต่างกัน จุดประสงค์ของการแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาค เพื่อให้ผู้ฟัง พิจารณากิดความเข้าใจของตนเอง ไม่มีการเปรียบเทียบ ไม่มีการวัด แล้วผู้นั้นเองจะเป็นผู้รู้ว่า เขาเองรู้ หรือไม่รู้ เข้าใจหรือไม่เข้าใจ ไม่ใช่ว่าต้องให้คนอื่นมาเขียนกระดาษข้อสอบส่งมาแล้วให้เราตอบ แต่อันนั้นไม่ได้แสดงว่าคุณวิลาวรรณ รู้จักตัวเองพอ หรือเขาเองก็ไม่รู้จักคุณวิลาวรรณพอจากคำตอบเพียงไม่กี่ข้อ

    ผู้ฟัง ถูกต้อง แต่ว่าบอกอาจารย์ไปแล้วว่า ขอเป็นสิทธิส่วนตัว ถึงจะโหล่สุด หรือที่สุดก็ไม่ต้องบอกใคร ขอสิทธิส่วนตัว บอกแล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร เพราะรักตัว

    ผู้ฟัง เพราะเหตุว่าไม่ได้รักตัว ไม่ใช่ไม่อยากจะแชร์คนอื่น

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครไม่รักตัว

    ผู้ฟัง รักเหมือนกัน แต่ว่าไม่อยากจะเดือดร้อน เพราะว่าคนยังมีกิเลสตัณหากัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ยิ่งไปสอบก็ยิ่งมีกิเลสตัณหา

    ผู้ฟัง ก็ตั้งไว้แล้วอย่าให้บอก ขอสิทธิพิเศษไม่บอก

    ท่านอาจารย์ ทำไมต้องมีความลับ

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ เพราะเรารู้ตัวเอง ถ้าเผื่อเราสอบ เราสอบได้ บังเอิญไปจะเอ๋ตรงนั้นเฉยๆ อีกหลายพันข้อยังไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ ทำไมล่ะ เพียงคุณวิลาวรรณตอบคำถามได้ แล้วคุณวิลาวรรณพอใจว่าสอบได้ แต่มีอีกหลายอย่างที่คุณวิลาวรรณไม่รู้ แล้วจะมีประโยชน์อะไรกับที่สอบได้ ในเมื่ออีกหลายอย่างที่เราไม่รู้

    ผู้ฟัง เป็นกำลังใจ เพื่อเราต้องเรียนต่อไป

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ กำลังใจจากการที่ให้คนอื่นมานั่งบอกว่าเราสอบได้ ไม่ถูกต้อง ถ้าไม่สอบแล้วจะไม่เรียนหรือ

    ผู้ฟัง ไม่มีอะไรวัด

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องวัด ไม่มีการสอบเลย มีพระธรรม มีพระไตรปิฎก มีอรรถถา มีการสนทนา มีการฟังให้เข้าใจขึ้น พอไม่สอบแล้ว คุณวิลาวรรณจะไม่เรียน ไม่ทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้หรือ ก็ทำ แล้วทำไมจะต้องไปสอบ กำลังใจก็มีแล้ว ถึงไม่สอบก็มีกำลังใจที่จะศึกษาต่อไป

    ผู้ฟัง เรียนถาม มีเหตุที่ผมจุติคงจะเป็นเปรตแน่นอน เพราะว่ามีของโลภอยู่มาก แต่ถ้ามีใครแนะนำบอกว่า เงินทองเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ คุณตายคุณก็เอาไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่คุณไปปล้นเขามา ก็เป็นบาปแล้ว ถ้าคุณคิดปลงตก แล้วคุณยอมรับสารภาพว่า คุณทำ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แล้วถ้าเขาตายไปในขณะนั้น ความแตกต่างครั้งแรกกับครั้งหลัง มันจะมีอะไรหรือไม่ หรือว่าเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ใครจะช่วยใครตอนจะตายได้จริงๆ เพราะยังไม่รู้เลยว่า จะตายกันเมื่อไร แต่อย่างไรก็ตามถ้าเราบังเอิญอยู่ใกล้คนที่ใกล้จะสิ้นชีวิต หรือว่าเขาป่วยหนักมาก เราก็ให้เขาระลึกถึงกุศลเท่าที่จะทำได้ อาจจะสนทนาธรรม ฟังเทป หรืออะไรก็ได้ เท่าที่จะทำได้ แต่ไม่แน่ เพราะว่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับกรรมที่ทำในขณะนั้น แล้วแต่กรรมใดในสังสารวัฏ ที่จะเป็นชนกกรรม คือ กรรมที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด หลังจากที่จุติจิตดับแล้ว

    ผู้ฟัง อันนี้แสดงว่าผู้ที่จะมีโอกาสเกิดเป็นมนุษย์ หรือว่าลงอบายก็ตาม ถ้ามีการได้ฟังพระสัทธรรม จะต้องได้ทำกุศลไว้ในปางก่อนหรือในอดีตเสียก่อน จึงจะมีโอกาสได้ฟังหรือได้เข้าใจ หรือมีปัญญา ใช่หรือไม่

    ส. ถ้ายังไม่เป็นพระโสดาบันบุคคล กรรมเก่าๆ หรือกรรมอดีตที่ได้ทำมาแล้วก็สามารถจะทำให้เกิดในอบายภูมิได้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 99
    23 มี.ค. 2567