ปกิณณกธรรม ตอนที่ 368


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๖๘

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    พ.ศ. ๒๕๔๐


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่ามหาภูตรูปจะมี ๔ ก็จริง แต่ที่จะเป็นโผฏฐัพพารมณ์ คือ ปรากฏเมื่อกระทบได้ มีเพียง ๓ รูปเท่านั้น คือ เย็นหรือร้อน ธาตุไฟ อ่อนหรือแข็ง ธาตุดิน ตึงหรือไหว ธาตุลม ทั้งหมด ๗ แล้ว เป็นรูปหยาบจริงๆ เพราะปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นอกจากนั้นยังเหลืออีก ๕ รูป ซึ่งเป็นรูปหยาบด้วย ได้แก่ จักขุปสาทรูป๑ โสตปสาทรูป๑ ฆานปสาทรูป๑ ชิวหาปสาทรูป๑ กายปสาทรูป๑ เพราะถึงแม้ว่าไม่ปรากฏให้รู้ แต่ทุกคนก็ยังรู้ว่ามี ยังสามารถที่จะรู้ได้ว่า รูปนี้มีจริงๆ เพราะฉะนั้น จึงเป็นรูปหยาบ ๑๒ รูป ที่เหลือ ๑๖ รูป เป็นรูปละเอียด

    การอบรมเจริญปัญญาต้องรู้รูปไหน ถ้าจะรู้รูป สุขุมรูป มีไหม ในตำราก็มี อย่างธาตุน้ำก็เป็นสุขุมรูป ๑ รูปแล้ว ๑ รูป ใน อวินิพโภครูป ๘ ก็มีโอชาอีก ๑ รูป ที่เป็นสุขุมรูป ภาวรูป ลักขณรูป วิการรูป หทยรูป วิการรูป ๓ ก็เป็นสุขุมรูปด้วย วิญญัติรูป ๒ ก็เป็นสุขุมรูปด้วย หทยวัตถุก็เป็นสุขุมรูปด้วย รูปที่ได้ยินชื่อนอกจากนี้ก็เป็นสุขุมรูปทั้งนั้น นิพผันรูป ได้แก่รูปที่มีสภาวะลักษณะของตนจริงๆ

    ผู้ฟัง อยากจะเรียนถามเรื่องรูปกับนามที่ปรากฏในขณะนี้ มีลักษณะอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ทางตาเป็นรูปๆ หนึ่ง มีลักษณะอย่างนี้ กำลังเห็นอยู่อย่างนี้ เป็นรูปๆ หนึ่ง จะให้อธิบายว่าอย่างไร ก็กำลังเห็นกันอยู่ นอกจากค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่า แท้ที่จริงที่เราหลงคิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ที่ปรากฏทางตาจริงๆ แล้วก็เท่านี้เอง คือที่กำลังปรากฏอย่างนี้ หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องคิดนึกทั้งหมด แต่สิ่งที่ปรากฏทางตาจะเกินขณะนี้ไปไม่ได้เลย ส่วนความคิดที่ติดตามมาก็มากมายหลายเรื่องเหลือเกิน เป็นสัตว์เป็นบุคคลต่างๆ แต่สภาวะลักษณะจริงๆ คือ เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นทางตา ปรากฏทางตาหรือเปล่า เมื่อปรากฏทางตาแล้วไม่เป็นแก้ว เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ทุกอย่างที่ปรากฏทางตาก็เป็นรูปที่ปรากฏทางตาได้ เสียงที่ปรากฏทางหู ไม่ว่าเสียงใดๆ ทั้งสิ้น คือสภาพธรรมที่มีจริงที่ปรากฏทางหู นี่คือรูป ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    นี่คือรูปที่ปรากฏในวันๆ หนึ่ง ทางใจรับรู้รูปต่างๆ เหล่านี้สืบต่อจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น ที่ว่ารูปทางใจ ในวันหนึ่งๆ คืออะไร ก็คือขณะที่เมื่อทางตาดับไป ทางใจก็รู้รูปนั้นต่อ ก็คือสีสันวัณณะต่างๆ เมื่อทางหู จิตที่รู้เสียงทางหูดับไป จิตก็เกิดขึ้นทางใจรู้เสียงนั้นที่เพิ่งดับต่อ

    ทางมโนทวารรับรู้รูปต่อจากทางปัญจทวารแต่ละวาระ เป็นสิ่งที่ปรากฏในชีวิตประจำวันเท่านี้ รูปอื่นปรากฏไหม หทยรูปปรากฏหรือเปล่า จักขุปสาทรูปปรากฏหรือเปล่า ชีวิตอินทริยรูปปรากฏหรือเปล่า อาโปธาตุปรากฏหรือเปล่า ก็ไม่ปรากฏ

    สัมมาสมาธิเป็นความตั้งมั่นของจิต ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกับ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสติ สัมมาวายามะ กับมรรคมีองค์อื่น

    สัมมาสมาธิในขณะที่เกิดกับกุศลจิตก็ได้

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์กล่าวไปเมื่อกี้ ขณะนี้ผมก็ยังยอมรับว่า ยังไม่รู้ คือสิ่งที่ปรากฏทางตา หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องของทางใจ เกิดความนึกคิดอะไรต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องของสมมติบัญญัติ ไม่ได้เป็นไปในลักษณะของคิดนึกในเรื่องของปรมัตถธรรมที่ปรากฏทางตา เป็นเรื่องของสมมติบัญญัติ หมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ จริงไหม เวลานี้คุณเห็นใคร

    ผู้ฟัง มันไม่ได้เห็นเป็นสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เห็นเป็นสภาพธรรม มีสภาพธรรมปรากฏ แต่ไม่รู้ว่าเป็นสภาพธรรม นี่คือความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ที่เรากล่าวว่า อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร เราเกือบจะไม่รู้เลยว่าเมื่อไร แต่เมื่อเห็นแล้วไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เห็นเป็นคน เห็นเป็นสัตว์ เห็นเป็นเก้าอี้ โต๊ะต่างๆ ก็มีสังขาร แล้วแต่ว่าจะปรุงแต่งให้เป็น กุศลหรือเป็นอกุศล เพราะความไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ รู้ขึ้น ในที่สุดก็จะรู้จริงๆ ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งธาตุชนิดนี้จะไม่ปรากฏทางอื่นเลย สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นเดี๋ยวนี้มีจริงๆ คนตาบอดจะไม่เห็นเลย เพราะฉะนั้น สิ่งที่คนตาดีกำลังเห็น เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งจะปรากฏเมื่อกระทบจักขุปสาท หันหลังให้ หลับตาเสีย หรือไปทางไหนก็ไม่ปรากฏ ต้องมาสู่ครองของจักษุ คือ กระทบกับจักขุปสาท รูปนี้จึงปรากฏ เหมือนเสียง นี่เสียง ต้องกระทบกับโสตปสาท กระทบกายเสียงก็ไม่ปรากฏ กระทบตาเสียงก็ไม่ปรากฏ แต่ต้องกระทบกับโสตปสาท เสียงจึงปรากฏฉันใด สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ก็ฉันนั้น เหมือนกันเลย ปรากฏเพียงชั่วสั้นแสนสั้น เช่นเดียวกับเสียงที่ปรากฏเมื่อกี้นี้

    ผู้ฟัง อย่างเสียงนกเมื่อกี้นี้ พอเสียงนกปรากฏ เราได้ยินเสียง

    ท่านอาจารย์ ทางตานี้เหมือนกัน จิตสามารถที่จะรู้สิ่งที่กระทบตา เช่นเดียวกับจิตสามารถที่จะรู้เสียงที่กระทบหู แต่เป็นธาตุต่างชนิด ธาตุชนิดนั้นรู้ได้เฉพาะเสียง ธาตุชนิดนี้รู้ได้เฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง ขณะนี้เราก็ต้องยอมรับสภาพก่อนว่า ที่ได้ยินนั้น เราได้ยินอย่างนกเมื่อกี้ เสียงนกร้องเมื่อกี้ จิตเราก็คิดว่าเป็นเสียงนกไป

    ท่านอาจารย์ หลังจากที่ได้ยินดับแล้ว ก็มีจิตคิดนึก เพราะฉะนั้น ทางหูพอได้ยินเสียงดับ ก็คิดเรื่องเสียงนก ทางตาพอเห็นดับก็คิดเรื่องคน เรื่องสิ่งต่างๆ ไม่ต่างกันเลย นี่กำลังเป็นเครื่องพิสูจน์

    ผู้ฟัง ช่วงไหนที่จะมองให้เห็น

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่มองให้เห็น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ฟังแล้วเข้าใจแล้ว ก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละน้อยแสนน้อย จนกว่าสติปัฏฐานจะเกิด ก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นอีกทีละนิดทีละหน่อย ก็เวลานี้เราเห็นว่า เมื่อกี้นี้เองมีเสียงปรากฏ ถ้าไม่กระทบโสตปสาทรูป จิตจะได้ยินเสียงนั้นไม่ได้เลย ฉันใด ทางตาที่กำลังเห็นก็เหมือนกันเลย ถ้าสีหรือสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ ไม่กระทบจักขุปสาท จิตก็เห็นไม่ได้ ชั่วขณะที่เห็นแล้วก็ดับ เร็วแสนเร็ว แต่ว่าจิตคิดนึก มีอยู่ตลอด

    ทุกคนจะอยู่ในโลกของความคิดเป็นส่วนใหญ่ โลกที่มืดสนิท เพราะขณะที่คิดไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการกระทบสัมผัสสิ่งใดเลย แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏนิดเดียว แว๊บเดียว จะเป็นทางตา หรือทางหูก็ตามแต่ ในโลกของความคิดนั้น แล้วก็คิดต่อไป เพราะฉะนั้น อยู่ในความมืดที่คิดเรื่องของสิ่งที่กระทบ ทางตาเป็นความสว่าง ทางหูเป็นเสียงต่างๆ ทางจมูกเป็นกลิ่น ทางลิ้นเป็นรส ทางกายเป็นการกระทบสัมผัส สืบต่อเร็ว ทำให้ความทรงจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จำไว้ เป็นอัตตสัญญา เพราะเหตุว่าจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น กว่าจะขัดลอกไถ่ถอนอัตตสัญญา ด้วยปัญญาที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จะนานสักแค่ไหน

    เพราะฉะนั้น จึงจะเข้าใจความหมายของ จิรกาลภาวนา แล้วไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น ไม่ใช่ไปเดินจงกรม ไม่ใช่ไปนั่งกรรมฐาน แต่ว่าอบรมเจริญปัญญา จนกว่าความรู้จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ความรู้ เข้าใจเพิ่มขึ้นแล้ว ปัญญาจะเกิดเอง

    ท่านอาจารย์ ความรู้ คือ ปัญญา

    ผู้ฟัง ปัญญาเกิดขึ้นมา ปัญญาก็จะขัดเกลา

    ท่านอาจารย์ ความไม่รู้

    ผู้ฟัง ความไม่รู้ คือพวกอัตตสัญญา ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ความไม่รู้ ตรงกันข้ามกันเลย สัญญา ความจำ ถ้าอัตตสัญญาก็เกิดจากความไม่รู้ ถ้าอนัตตสัญญาก็เกิดจากความรู้ เกิดพร้อมกับจิต เกิดพร้อมกับปัญญา ก็ลองคิดดูสภาพจริงๆ เป็นอย่างนี้ แล้วก็เกิดดับอย่างเร็วมาก ที่จะเห็นว่า ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ต้องประจักษ์ความเกิดขึ้น และดับไปตามความเป็นจริงด้วยปัญญาเท่านั้น ไม่ใช่เป็นด้วยการฝึก หรือทำอย่างอื่น

    ผู้ฟัง การลดโลภะ ซึ่งเป็นการติดข้องในทุกๆ อย่าง ในภพในชาติ ในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ ถ้าละอวิชชาไป โลภะ โทสะก็เบาบางไป แต่ว่าจะดับสนิท สำหรับอวิชชา และโลภะ ต่อเมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์ เป็นเรื่องของความติดข้อง โลภะเขายังดีทั้งนั้น อะไรๆ ก็ยังดี

    ผู้ฟัง สบายใจ ตัวเบา อันนี้ก็เป็นเบื้องต้น เป็นพื้นฐานของคนที่ต้องการปฏิบัติ ถ้าหากว่าตัวเองแล้วรู้สึกว่า สบายใจ สบายกาย ตัวเบา ในขั้นถัดไปก็สามารถที่จะค้นหาตัวเองได้มากขึ้น มีกำลังใจ กำลังกายที่จะทำต่อไปได้มากขึ้น เพราะว่าเกี่ยวกับอาหาร การกิน ทุกคนทุกมื้อ ต้องดำรงชีวิตของตัวเองด้วยอาหาร แต่ถ้าทำตรงนั้นได้ แล้วก็ควบคู่กับการปฏิบัติ อย่างที่ท่านอาจารย์สุจินต์ได้นำเสนอ พวกเราก็จะยิ่งดี อันนี้ก็เป็นความคิดของดิฉันเอง

    ท่านอาจารย์ อาหารเป็นเรื่องของร่างกาย เพราะว่าเราจำเป็นที่จะต้องรับประทานอาหาร เป็นของที่แน่นอน แล้วก็ร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนจำเป็นที่จะต้องบริโภคอาหารเนื้อ บางคนจำเป็นที่จะต้องงดเว้นอาหารเนื้อ ก็แล้วแต่อัธยาศัย ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ชอบรับประทานผัก แต่ไม่ปฏิเสธว่า อาหารที่ได้รับประทานจะมีหมู มีอะไรก็แล้วแต่ บางครั้งก็สั่งอาหารที่รับประทานอาหารที่เป็นปลา เป็นอะไรพวกนี้ด้วย เพื่อสุขภาพ

    เพราะฉะนั้น ทุกคนก็ควรที่จะแยกว่า เรื่องอาหารการกินเป็นเรื่องหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับปัญญา ไม่เกี่ยวกับว่าเรารับประทานเจแล้ว เราจะมีปัญญา หรือว่าเราจะมีกุศลมากขึ้น เพราะจริงๆ แล้วสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก โดยเฉพาะความต้องการหรือความติด อย่างความติดในอาหารเจเป็นโลภะหรือเปล่า ในเมื่อเป็นความติดข้อง เราต้องไม่ปฏิเสธว่า ถ้าเป็นอาหารเจที่เราติดแล้ว ไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่ อะไรก็ตามที่เป็นติด ต้องตรงต่อลักษณะของสภาพธรรม ถ้าสภาพนั้นเป็นสภาพที่ติดข้อง จะติดข้องในอะไร ก็เป็นธรรมทั้งนั้น

    นี่ต้องแยก อย่างที่เราเคยแยกเมื่อกี้นี้แล้วว่า อยากจะทำบุญแต่ไม่ทำ อยากต้องเป็นอกุศล ส่วนการทำกุศลก็เป็นเจตนาที่จะกระทำ ไม่ใช่เป็นโลภะที่อยาก นี่ก็ต้องแยกกัน

    เรื่องรับประทานอาหารเจ คนที่กำลังบริโภคหรือกำลังรับประทานอาหารเจ มีกิเลสไหม กำลังรับประทานอยู่ มีไหม กับอีกคนหนึ่งรับประทานเนื้อสัตว์มีกิเลสไหม ก็ต้องมีทั้ง ๒ คน ถ้าปัญญาไม่เกิด เพราะฉะนั้น เรื่องของอาหารไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับปัญญา ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ต้องแยกกัน มิฉะนั้นเราจะถูกหลอก คือเขาไม่บอกว่า ขณะที่เรากำลังรับประทานเป็นโลภะ เป็นอกุศล เขาจะไม่บอก เขาจะบอกแต่เพียงว่าเป็นบุญที่ได้กินเจ เราก็เลยเชื่อ แต่ว่าบุญนี้เกิดตอนไหน เมื่อไร ขณะใดที่จิตเป็นกุศลเป็นบุญ ขณะใดที่จิตเป็นอกุศลก็เป็นบาป หรือไม่ใช่บุญ

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราจะรับประทานหรือไม่รับประทาน ขึ้นอยู่กับจิตใจ ในพระไตรปิฎก ไม่ได้ห้ามภิกษุฉันเนื้อ เว้นเนื้อที่ไม่ควรจะฉันเท่านั้น แล้วแม้พระผู้มีพระภาคเองก็เสวยเนื้อสัตว์ แล้วก็ทรงแสดงหนทางที่ทำให้คนเกิดปัญญา เมื่อเกิดปัญญาแล้ว ถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็ยังบริโภคเนื้อสัตว์ด้วย ไม่ใช่ว่าเมื่อเป็นอรหันต์แล้วจะไม่บริโภคเนื้อสัตว์ เพราะเหตุว่าไม่มีกิเลสเหลือแล้ว การบริโภค คือการบริโภคด้วยจิตซึ่งไม่ประกอบด้วยอกุศล

    ผู้ฟัง เราลองมาวิเคราะห์ดูว่า มันเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าพูดถึงกุศล หรืออกุศล หรือบุญ หรือบาป ต้องหมายถึงจิต ถ้าหากว่า ท่านยังไม่เคยเรียนมา ก็อาจจะไม่เข้าใจ แต่ว่าก็พอรู้ จิตเกิดดับทีละขณะ พอเกิดปั๊บก็ดับไป เกิดปั๊บก็ดับไป ไม่ว่าจิตเป็นกุศล หรืออกุศล ถ้าเกิดแล้วต้องดับปุ๊บ เกิดแล้วดับปุ๊บ เพราะฉะนั้น ในขณะที่เรานั่งทานอาหารมังสวิรัติอยู่นี้ จิตเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าหากว่าจิตเป็นอกุศล จิตจะต้องประกอบไปด้วย ๑ อาจจะมีความติดข้องในรสอาหาร เราเคยอร่อยไหมกับอาหารเจ เราเคยชอบใจไหมว่าอาหารเจประเภทนี้ เราชอบ ถ้ามีต้องสั่งบ่อยๆ อาหารอร่อยมาก วันนี้ทำอร่อย วันนั้นทำไม่อร่อย นี่คือ อกุศลจิตประเภทโลภะ แต่ไม่ใช่ว่าเป็นอกุศลใหญ่โตอะไร ซึ่งเป็นทั่วๆ ไป แม้แต่ไม่กินเจ มันก็มี เราต้องยอมรับว่าสภาวธรรมจริงๆ มันมีอย่างนี้ ไม่มีใครไปบังคับให้มันมี หรือว่าไม่มีใครจะไปแต่งตั้งกำหนดว่า นั่นมันเป็นกุศล จริงๆ มันเป็นอกุศล คือเป็นธรรมฝ่ายไม่ดีอยู่แล้ว เมื่อเป็นธรรมฝ่ายไม่ดี มันต้องให้โทษ นั่นเป็นการสะสมตัวติดข้องมากขึ้น ตัวติดข้องในรสอาหารมากขึ้น ถามว่าขณะนี้ได้บุญหรือได้บาป ได้บาป ถูกไหม จิตเป็นอกุศลเพิ่มขึ้น หรือบางครั้งเราทานแล้ว เราก็คิดว่าทานแล้วทำให้ไปสู่บรรลุมรรคผลได้ อย่างนี้เป็นความเข้าใจผิด หรือเข้าใจถูก นี่เป็นความเข้าใจผิดเหมือนกัน มันไม่ใช่หนทางนั้น ไม่ใช่ทางนั้นเลย ซึ่งอกุศลประเภทนี้ ยิ่งมองไม่เห็นใหญ่เลย แล้วก็มีผู้ที่ศึกษาธรรมมา มีปัญญาพอที่จะพิจารณาว่า ไม่ว่าอาหารนั้นจะมีมังสวิรัติ เมื่อรสปรากฏขึ้น รสเป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง เป็น ๑ ใน ๒๘ ของรูปธรรม รส แล้วเขาก็มีสติ มีสติเพื่อจะพิจารณารส ตามที่พระผู้มีพระภาค ตรัสไว้ว่า รสนี้ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่รสอาหาร ไม่ใช่รสเนื้อ ไม่ใช่รสไก่ ไม่ใช่รสอะไร มันเป็นแต่รสแท้ๆ รสซึ่งมันเป็นของประจำโลก ที่ไหน รสมันเหมือนกันหมด มันมีลักษณะแน่นอน คือปรากฏให้รู้โดยทางชิวหาคือลิ้นเท่านั้น

    ผู้ฟัง ท่านพูดถึงเรื่องอาหารกับการบรรลุธรรม ดิฉันมีความคิดเห็นว่า อย่างที่ท่านพูดว่า ใครจะทานเนื้อสัตว์ หรือไม่ทานเนื้อสัตว์ ถ้ายังมีกิเลสอยู่ ก็ไม่บรรลุธรรม ใช่ไหม แต่ว่าการทานมังสวิรัติ ที่ท่านโจมตีมังสวิรัติว่า มันอาจจะไม่บรรลุธรรมก็ได้ ที่จริงเราไม่ควรเอาเรื่องอาหารมาทำให้แตกแยก เพราะว่าในห้องนี้จะมีคนทานมังสวิรัติอยู่มากมาย แต่ละคนที่ทาน บางท่านอาจจะทาน ด้วยความรู้สึกว่า มันดีสำหรับสุขภาพ อย่างตัวดิฉันเป็นต้น เมื่อก่อนดิฉันเป็นคนที่โทสะแรงมาก พอมาทานมังสวิรัติโทสะมันก็ลดลง แล้วก็ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้เรื่อง แล้วก็สุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุขภาพมันดีขึ้น ดีขึ้นอย่างเห็นทันตา คือ ดิฉันผ่าตัดมะเร็งมา แล้วเมื่อมาทานมังสวิรัติ โรคที่เป็นอยู่ มันก็ไม่เกิดขึ้น มันก็หายขาดไปเลย แล้วสำหรับท่านที่บอกว่า พวกทานมังสวิรัติติดรสชาด ดิฉันว่า ถ้าพูดถึงการติดรสชาด ทานเนื้อสัตว์จะติดรสชาดมากกว่า เพราะว่าอาหารผักมันไม่อร่อยเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แมคโครไบโอติก มันจะมีแต่จืดๆ แต่ว่ามันก็ทำให้สุขภาพดี ที่เราปฏิบัติมา กรุณาอย่าไปคิดว่า มันผิดมันถูกเลย เพราะเรื่องอาหาร มันคงไม่มีใครผิดใครถูก มันเป็นสภาวะที่เรียกว่า เรารักษาสุขภาพของเรา ถ้าพูดธรรมแล้ว ถ้ามาแยกว่า คนทานมังสวิรัติจะมีกิเลสมากกว่าคนที่ทานเนื้อสัตว์ อย่างนี้มันเป็นความแตกแยกมากกว่า

    ผู้ฟัง การฟังธรรมต้องฟังดีๆ หน่อย

    ผู้ฟัง ก็ฟังดีแล้ว ดิฉันตั้งใจฟังคุณมาเป็นครึ่งชั่วโมง ฟังแล้ว

    ผู้ฟัง ต้องฟังให้ดีๆ ผมไม่ได้บอกเลยว่า มังสวิรัติไม่ดีสำหรับสุขภาพ ผมเองยังทานเลย แล้วผมจะไปว่าไม่ดีได้อย่างไร อาจารย์ก็ทาน ผมเลือก ผมชอบ

    ท่านอาจารย์ ความจริงดิฉันชอบผัก เพราะว่าผักอร่อย แต่ว่าผักไม่อร่อย เนื้อสัตว์อร่อยกว่าก็ไม่ได้ เพราะจริงๆ แล้วผักก็อร่อย แต่ตามความเป็นจริงก็คือว่า อยากให้คนไม่เข้าใจผิดว่า ต้องกินเจ แล้วก็จะได้ศึกษาธรรมเก่งๆ หรือว่ากิเลสจะได้ลดน้อยลง เพราะเหตุว่ากิเลสไม่ได้หมดลงไปเพราะเรากินเจ หรืออย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ ที่ว่าโทสะลดน้อยลง เป็นเพราะเหตุอื่นแน่ๆ คงไม่ใช่เป็นเพราะกินเจ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ กินเจต้องทำให้ถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคลได้ แต่ว่านั่นไม่ใช่หนทาง เพราะฉะนั้น เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องที่ละเอียด แล้วอัธยาศัยของแต่ละบุคคลก็ต่างกัน คนที่ชอบทานผัก รับประทานผัก แต่ไม่ได้มีความเข้าใจผิด หรือเห็นผิดว่า จะทำให้เขามีปัญญามากๆ เพราะรับประทานผัก หรือว่าจะทำให้กิเลสเขาลดลง เพราะรับประทานผัก ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า เรื่องของอาหารเป็นเรื่องของอัธยาศรัย แต่ว่าอย่าปะปนกัน หรืออย่าเข้าใจผิดว่า เมื่อกินเจแล้วจะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ผู้ฟัง ขอเรียนถามว่า การศึกษาพระไตรปิฎกมีอยู่จำนวนมาก ทั้งพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม การจะศึกษาให้ได้ประโยชน์มาก ควรจะปฏิบัติอย่างไร ขอคำแนะนำด้วย

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ศึกษาพระอภิธรรม ถึงแม้ว่าจะอ่านพระสูตร และพระวินัยก็ไม่เห็นพระปัญญาคุณของพระผู้มีพระภาค จะไม่ทราบเลยว่า พระองค์ตรัสรู้อะไร ความจริงที่พระองค์ทรงแสดงถึง ๔๕ พรรษาเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่ทรงตรัสรู้ ประจักษ์แจ้งด้วยพระองค์เอง แล้วก็เห็นว่าเป็นสิ่งซึ่งแสนยาก ที่จะทำให้คนสามารถที่จะเข้าใจ แล้วประพฤติปฏิบัติตามได้ แต่เนื่องจากมีผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญาบารมีมาแล้วในอดีต ที่พร้อมที่จะได้รับฟังพระธรรมเทศนา แล้วก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ จึงทรงแสดง แต่กาลสมัยก็ผ่านมา ๒,๕๐๐ กว่าปี แสดงให้เห็นว่า บุคคลที่ใกล้ชิดต่อพระศาสนา ที่ได้ทรงแสดงตั้งแต่ตรัสรู้ จนกระทั่งถึงปรินิพพาน ก็เป็นผู้ที่ห่างปัญญากว่าบุคคลในครั้งกระโน้น ซึ่งต้องเตือนตัวเองว่า พระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ไม่ใช่สิ่งที่เราคิดว่า เราฟังใครก็ได้ ซึ่งบุคคลนั้นจะพูดถึงเรื่องสภาพธรรมที่มีจริงๆ ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง อย่างเช่นเมื่อกี้นี้ก็พูดถึงเรื่องสภาวธรรม ไม่ได้เข้าใจว่าสภาวธรรมหมายความถึงสิ่งที่มีลักษณะสภาพของตนจริงๆ ในขณะนี้ เช่นเสียงก็เป็นเสียง เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่เป็นอย่างอื่น นอกจากเป็นเสียง เป็นสภาพของเสียงเท่านั้น

    แต่ละอย่างในชีวิตประจำวันเป็นสภาวธรรม จะไปทำอะไรที่จะหาสภาวธรรม แล้วก็ไม่เจอ เพราะว่าขณะนี้เป็นสภาวธรรม ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ไปหาสภาวธรรมที่ไหนจะเจอได้ ในเมื่อไปหา แต่ไม่ใช่อบรมปัญญาที่จะรู้สิ่งที่กำลังเป็นสภาวธรรมในขณะนี้ตามความเป็นจริง

    ถ้าไม่ศึกษาพระอภิธรรม แม้อ่านพระสูตรก็ไม่เข้าใจ หรือว่าอาจจะเข้าใจผิด ในพระสูตรจะไม่ได้แสดงวิปัสสนาญาณอะไรเลย แต่มีคำว่ารู้ชัด คำว่า รู้ชัด พอไหม สำหรับคนที่เข้าใจจริงๆ ว่า ไม่ใช่เพียงขั้นการเรียนที่ทรงแสดงว่า สภาพธรรมเกิดดับ รู้ชัดหรือเปล่า หรือว่าเข้าใจตามว่า ขณะนี้สภาพธรรมกำลังเกิดดับ ถ้ารู้ชัดต้องเห็นหรือประจักษ์ลักษณะของสภาพนามธรรมที่เกิดดับ รูปธรรมที่เกิดดับ จึงจะเป็นความรู้ชัดได้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 99
    23 มี.ค. 2567