จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 033


    เพราะฉะนั้นรูปเป็น “อเหตุกะ”

    ในทั้ง ๓ ปิฎก ไม่ว่าจะเป็นพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก หรือพระอภิธรรมปิฎก พอได้ยินคำว่า “อเหตุกะ” ก็ ทราบได้เลยว่า สภาพธรรมนั้นไม่ได้เกิดพร้อมกับเจตสิกซึ่งเป็นเหตุ

    “รูป” เป็นรูปธรรม ไม่ใช่สัมปยุตตธรรม ไม่ใช่สภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต มีอารมณ์เดียวกับจิต

    เพราะฉะนั้น “รูป” เป็นทั้ง นเหตุ และอเหตุกะ

    แต่ “จิต” เป็น นเหตุ และบางดวงเป็น สเหตุกะ และบางดวงเป็น อเหตุกะ

    7374 ผัสสะไม่ใช่เหตุ เป็นนเหตุ

    เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว “เจตสิก” ก็โดยนัยเดียวกัน เพราะเจตสิก เช่น ผัสสะ ไม่ใช่เหตุ เพราะฉะนั้นผัสสเจตสิกเป็น นเหตุ แต่ผัสสเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้นถ้าจิตดวงนั้นเกิดพร้อมกับเหตุ ผัสสเจตสิกนั้นเป็นสเหตุกะ หมายความว่าเกิดพร้อมกับเหตุ ถ้าจิตนั้นเกิดขึ้นไม่ประกอบเจตสิก ซึ่งเป็นเหตุทั้ง ๖ เมื่อจิตนั้นเป็นอเหตุกะ ผัสสเจตสิกซึ่งเกิดกับอเหตุกจิตนั้นก็เป็นอเหตุกะ เพราะฉะนั้นผัสสะก็เป็น นเหตุ และบางครั้งเป็น สเหตุกะ บางครั้งเป็น อเหตุกะ

    ไม่ต้องท่อง ใช่ไหมคะ ท่องไม่มีประโยชน์เลย เพียงแต่เข้าใจและใช้ศัพท์ภาษาบาลีถูกต้อง ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องว่า

    เหตุ ตรงกันข้ามกับ นเหตุ สเหตุ ตรงกันข้ามกับ อเหตุ

    สเหตุกะ ประกอบด้วยเจตสิกซึ่งเป็นเหตุ อเหตุกะ ไม่ประกอบด้วยเจตสิกที่เป็นเหตุ

    ซึ่งทุกท่านมีทั้งสเหตุกจิตและอเหตุกจิต เพียงแต่ยังไม่ทราบว่า เมื่อไรเป็น สเหตุกะ และเมื่อไรเป็นอเหตุกะ

    แต่นี่คือชีวิตของท่านในวันหนึ่งๆ ซึ่งพระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงโดยขณะจิตอย่างละเอียดว่า ขณะใดเป็นอเหตุกะ ไม่ประกอบด้วยเหตุเลย และขณะใดเป็นสเหตุกะ

    7375 สเหตุก แยกออกเป็นประกอบกับเหตุกี่เหตุ

    และนอกจากนั้น ในจิตประเภทที่เป็นสเหตุกะ ก็ยังจำแนกออกว่า ประกอบด้วยเหตุกี่เหตุ บางครั้งประกอบด้วยเหตุเดียว คือ ประกอบด้วย โมหเหตุ เหตุเดียวเท่านั้น เป็น “โมหมูลจิต” บางครั้งประกอบด้วย ๒ เหตุ คือ โมหเหตุและโลภเหตุ จึงเป็น “โลภมูลจิต” และบางครั้งที่ประกอบกับ ๒ เหตุ คือ โมหเหตุและโทสเหตุ จึงเป็น “โทสมูลจิต”

    ด้วยเหตุนี้จึงมีคำว่า “เอกเหตุกะ” และคำว่า “ทวิเหตุกะ” และคำว่า “ติเหตุกะ” ก็เป็นศัพท์ภาษาบาลีเท่านั้นนะคะ ซึ่งถ้าขณะใดประกอบด้วยเหตุเดียว เช่น โมหมูลจิต ก็เป็น “เอกเหตุกะ” เพราะเหตุว่าประกอบด้วยโมหเจตสิกเท่านั้นที่เป็นโมหเหตุ เหตุเดียว

    สำหรับโลภมูลจิต ไม่ได้ประกอบเฉพาะโมหเจตสิกเท่านั้น แต่ต้องประกอบด้วยเหตุ ๒ คือ โลภเจตสิกด้วย จึงเป็นโลภมูลจิต เพราะฉะนั้นสำหรับโลภมูลจิตเป็นสเหตุกะ และเป็นทวิเหตุกจิต เพราะเหตุว่าประกอบด้วยเหตุ ๒ คือ โมหะและโลภะ

    สำหรับโทสมูลจิต ก็เป็นสเหตุกจิต และทวิเหตุกะ เพราะประกอบด้วยเหตุ ๒ คือ โมหเหตุ และโทสเหตุ

    ทางฝ่ายกุศลที่จะไม่มีเหตุเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยก็ไม่เป็นกุศล เพราะฉะนั้นเวลาที่กุศลจิตเกิด จะต้องประกอบด้วยเหตุ ๒ เพราะฉะนั้นสำหรับทางฝ่ายกุศล ไม่มีเอกเหตุ แต่มีทวิเหตุ คือ ประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ บางครั้งก็เป็น ติเหตุกะ คือ ประกอบด้วย ๓ เหตุ คือ ประกอบด้วย อโลภเหตุ อโทสเหตุและอโมหเหตุ “อโมหะ” คือ ปัญญา หรือญาณนั่นเอง

    ชีวิตประจำวันอีกเหมือนกัน ซึ่งทุกท่านก็พอจะทราบได้ว่า ขณะไหนเป็นสเหตุกะ และขณะไหนเป็นอเหตุกะ ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏละเอียดขึ้น ต้องละเอียดขึ้นด้วย

    มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะ วันนี้ มีการบ้านใช่ไหมคะ ที่จะคิดว่า

    “เหตุ” ได้แก่อะไร “นเหตุ” มีอะไรบ้าง “สเหตุกะ” คืออะไร “อเหตุกะ” คืออะไร ทางฝ่ายกุศล มีกี่เหตุ ทางฝ่ายอกุศลมีกี่เหตุ

    7376 เหตุ กับ ปัจจัย ต่างกันอย่างไร

    ถาม คำว่า เหตุกับปัจจัย มีความต่างกันอย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์ มีความต่างกันที่ว่า ปัจจัย หมายความถึงสภาพที่อุปการะเกื้อกูลให้ธรรมอื่นเกิดขึ้น แล้วแต่ประเภทของปัจจัยนั้นๆ เช่น ผัสสเจตสิก ไม่ใช่โลภเจตสิก แต่ทั้งผัสสเจตสิกก็ดี โลภเจตสิกก็ดีเป็นปัจจัย แต่เมื่อสภาพของผัสสะต่างกับสภาพของโลภะ ความเป็นปัจจัยของผัสสะ ก็ต่างกับความเป็นปัจจัยของโลภะ ถูกไหมคะ ในเมื่อผัสสเจตสิกมีลักษณะ มีกิจ ต่างกับโลภเจตสิก ความเป็นปัจจัยของผัสสเจตสิก จึงต่างกับความเป็นปัจจัยของโลภเจตสิก

    ผัสสเจตสิกเป็นปัจจัยโดยเป็น “อาหารปัจจัย” เป็นอาหาร คือ เป็นสภาพที่นำมาซึ่งผล แต่ไม่ใช่เป็นเหตุที่จะให้เกิดผลข้างหน้า ซึ่งจะงอกงามไพบูลย์ขึ้นอีกมากทีเดียว เหมือนกับรากแก้ว

    สำหรับสภาพธรรมที่เป็นเหตุนี้ เป็นปัจจัยโดยความเป็นเหตุ ซึ่งอุปมาเหมือนรากแก้วของต้นไม้ แต่ไม่ใช่หมายความว่า ต้นไม้มีแต่รากแก้ว ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นเจตสิกอื่น สภาพธรรมอื่นก็เป็นปัจจัย โดยเป็นปัจจัยอื่น ซึ่งไม่ใช่เป็นปัจจัยโดยเป็นเหตุ หรือเหตุปัจจัย

    7377 ปัจจัยแรก - เหตุปัจจัย

    ถ้าเรียนเรื่องปัฏฐาน ซึ่งเป็นคัมภีร์สุดท้ายของพระอภิธรรม ปัจจัยแรก คือ เหตุปัจจัย ให้เห็นความสำคัญของสภาพธรรมซึ่งเป็นเหตุ เวลาที่ไปงานศพ และสวดอภิธรรม จะเริ่มต้นด้วย “เหตุปัจจโย” ซึ่งหมายความถึง โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ หรืออโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ เตือนให้รู้ถึงสภาพธรรมซึ่งเป็นตัวสำคัญของการที่จะให้เกิดผล เกิดภพ เกิดชาติ ซึ่งได้แก่ เจตสิก ๖ ดวง คือ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก และอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก

    ซึ่งความจริงสภาพธรรมแต่ละลักษณะมีความสำคัญของตนๆ ซึ่งเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยปัจจัย ไม่ใช่มีปัจจัยแต่เฉพาะ “เหตุ” ซึ่งเป็น “เหตุปัจจัย” อย่างเดียว ไม่ใช่มีปัจจัยเฉพาะ “อารมณ์” ซึ่งปรากฏให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น โดยเป็น “อารัมมณปัจจัย” เพียงปัจจัยเดียว แต่มีปัจจัยมาก ปัจจัยประเภทใหญ่ๆ มี ๒๔ ปัจจัย แล้วยังมีปัจจัยละเอียดด้วย นอกจาก ๒๔ ปัจจัยนั้น

    7378 จักขุปสาท เป็น อินฑริยปัจจัย โดยเป็นจักขุนทรีย์

    เช่น “จักขุปสาท” ไม่ใช่เกิดขึ้นมาแล้ว ก็ไร้ความหมาย แต่ว่าเป็นปัจจัยโดยเป็น “อินทรีย์” หรือ “อินทรียปัจจัย” เป็น “จักขุนทรีย์” เป็นรูปซึ่งเป็นใหญ่ในการที่จะให้ “จักขุวิญญาณ” เกิดขึ้น เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าไม่มีจักขุปสาท ไม่มีโสตปสาท ไม่มีฆานปสาท ไม่มีชิวหาปสาท และไม่มีกายปสาท รูปนี้จะเหมือนอะไรคะ ท่อนไม้ ไม่เห็นอะไร ไม่ได้ยินอะไร ไม่ได้กลิ่นอะไร ไม่ได้ลิ้มรสอะไร ไม่รู้การกระทบสัมผัส “ไม้” นี้ ไม่รู้อะไรเลย ใครจะใช้ “ไม้” ทำอะไร “ไม้” ไม่มีความรู้สึก ไม่มีมีการรู้สิ่งที่มากระทบสัมผัส

    เพราะฉะนั้นถ้าสัตว์ บุคคล ไม่มีจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท จะทำอะไรได้ไหม จะต่างอะไรกับท่อนไม้

    เพราะฉะนั้นรูปเหล่านั้นเป็นปัจจัยโดยเป็น “อินทรียปัจจัย” เป็นใหญ่เฉพาะในกิจของตน คือ จักขุปสาท เป็นใหญ่ในการที่จะให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้น เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา รูปอื่นไม่สามารถจะกระทำกิจนี้ได้ และสิ่งที่ปรากฏทางตา จะเห็นชัดเจนหรือเห็นไม่ชัด ก็แล้วแต่ความใส ลักษณะของจักขุปสาทนั้นอีก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเจตนา หรือความต้องการของใครเลย แต่ต้องขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยของการเห็น คือ จักขุปสาท

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้น เป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นเกิดโดยปัจจัยต่างๆ

    7379 ต้องอบรมกุศลเหตุโดยเฉพาะอโมหเหตุ

    สำหรับโลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก และอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก เป็นปัจจัยโดยเป็น “เหตุ” และเหตุอะไรมากคะในวันหนึ่งๆ อกุศลเหตุมาก กุศลเหตุไม่ใช่ว่า ไม่มี แต่ถ้าเทียบส่วนแล้ว น้อยกว่ามาก

    เพราะฉะนั้นเมื่อไรทางฝ่ายกุศลเหตุจะค่อยๆ เจริญขึ้นจนกระทั่งมีกำลังมากกว่าทางฝ่ายอกุศล ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะการรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนั้น เป็นอโมหเหตุ เป็นปัญญาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง ถ้าตราบใดปัญญายังไม่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่จะไม่ให้โลภเหตุ โทสเหตุ หรือโมหเหตุ เจริญงอกงามไพบูลย์นั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่มีธรรมอื่นเลยที่จะละคลาย หรือว่าสามารถที่จะดับอกุศลเหตุได้ นอกจากปัญญา ซึ่งเป็น “อโมหเหตุ” และเมื่อกุศลกำลังเจริญ เช่น ท่านที่ศึกษาธรรม มีความสนใจที่จะรู้เรื่องของธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน กุศลที่เป็นอโมหะ ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นๆ เมื่อบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคลเมื่อไร เมื่อนั้นจึงจะดับอกุศลเป็นประเภทๆ ได้ แต่ไม่ใช่ว่าดับไปได้ทีเดียวทั้งหมด ถึงความเป็นพระอรหันต์

    เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน ก็เป็นพระเสกขบุคคล ซึ่งจะต้องอบรมเจริญปัญญาต่อไปอีก จนกว่าแม้กุศลเหตุก็ดับด้วย พร้อมกับอกุศลเหตุ ถึงแม้ว่าจะมีอโลภะ อโทสะ อโมหะเกิด ก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดผลข้างหน้า ไม่เป็นกุศลเหตุอีกต่อไป แต่เป็นอัพยากตเหตุ คือ เป็นกิริยาเหตุ ได้แก่ จิตของพระอรหันต์ทั้งหลาย ซึ่งจะไม่มีอกุศลเหตุเกิดอีกเลย และกุศลเหตุก็ไม่มี เพราะว่าอโลภะ อโทสะ อโมหะนั้นเป็นโสภณเหตุ เกิดกับกิริยาจิตและวิบากจิต ซึ่งไม่เป็นเหตุให้เกิดผล

    7380 เมื่อไรจะถึงวันนั้น วันที่บรรลุผล

    เมื่อไรจะถึงวันนั้นใช่ไหมคะ

    ถึงได้ค่ะ ถ้าเพียรอบรมเจริญไปเรื่อยๆ เพราะเหตุว่าผู้ที่บรรลุผลในอดีตมีแล้วเป็นอันมาก ถ้าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ก็ไม่มีผู้ใดที่สามารถจะบรรลุผลนั้นได้ แต่ว่าผลนั้นไม่ใช่เร็วนะคะ ต้องช้าตามควรแก่เหตุ คือ ถ้าปัญญายังไม่เกิดแล้วอย่าหวังที่จะดับกิเลส และปัญญาก็จะต้องเกิดตามลำดับขั้นที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นการที่รู้เรื่องของจิต เจตสิก รูป อย่าลืมว่า เพื่อที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อนจากที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง ถ้าเรียนอย่างหนึ่ง ทำอีกอย่างหนึ่ง รู้อีกอย่างหนึ่ง ไม่ตรงกัน อย่างนั้นก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้

    7381 เหตุ ตรงกันข้ามกับ นเหตุ -- สเหตุก ตรงกันข้ามกับ อเหตุก

    มีข้อสงสัยอะไรไหมคะในเรื่องของเหตุ

    อย่าลืมนะคะ “เหตุ” ตรงกันข้ามกับ “นเหตุ”

    “สเหตุ” หรือ “สเหตุกะ” ตรงกันข้ามกับ “อเหตุกะ”

    เหตุ ได้แก่ เจตสิก ๖ คือ โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ โมหเจตสิก ๑ เป็นอกุศลเหตุ ๓ ซึ่งเมื่อชื่อว่า เป็นอกุศลเหตุ จะเป็นอื่นไปไม่ได้ ไม่ว่าโลภะจะเกิดขึ้นขณะใด โทสะจะเกิดขึ้นขณะใด โมหะจะเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นเป็นชาติอกุศล เป็นตัวเหตุที่จะให้เกิดอกุศลวิบากข้างหน้า

    เพราะฉะนั้นสำหรับโลภเจตสิก โทสเจตสิก และโมหเจตสิก เป็นอกุศลเหตุ

    แต่ส่วนโสภณเหตุ ๓ คือ อโลภเจตสิก ๑ อโทสเจตสิก ๑ และอโมหเจตสิก ๑ ไม่ใช้คำว่า กุศลเหตุ แต่ใช้คำว่า โสภณเหตุ เพราะเหตุว่าเป็นกุศลก็มี เป็นวิบากก็มี เป็นกิริยาก็มี หมายความว่า อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก เกิดกับกุศลจิตก็ได้ เกิดกับกุศลวิบากจิตก็ได้ เกิดกับกิริยาจิตก็ได้ ด้วยเหตุนี้จึงชื่อว่า “โสภณเหตุ”

    เพราะฉะนั้นคำว่า “โสภณ” มีความหมายกว้างกว่าคำว่า “กุศล” เพราะโสภณนั้น ได้แก่สภาพธรรมที่เป็นกุศล หรือเป็นกุศลวิบาก หรือเป็นกิริยา

    7382 ปรมัตถธรรม ๔ จำแนกโดยธรรมหมวด ๓

    เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้ทราบว่า ถ้าจำแนกโดยประเภทของธรรมหมวด ๓ ซึ่งท่านผู้ฟังคงจะได้ยินบ่อยๆ ได้แก่ กุสลาธมฺมา อกุสลาธมฺมา อพฺยากตาธมฺมา

    ปรมัตถธรรม ๔ สามารถที่จะแยกออกเป็นหมวด ๓ คือ ธรรมที่เป็นอกุศล ประเภทหนึ่ง ธรรมที่เป็นกุศล ประเภทหนึ่ง ธรรมที่เป็นอัพยากตะ ประเภทหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นสำหรับเหตุ ๖ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก เป็นอกุศลเหตุ แต่อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก เป็นกุศลธรรม พวกหนึ่ง แล้วก็เป็นอัพยากตธรรมอีกพวกหนึ่ง

    โดยนัยของธรรมหมวด ๓ คือ กุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากตธรรม

    7383 เหตุ ๙ ได้แก่ กุศลเหตุ ๓, อกุศลเหตุ ๓, อัพยากตเหตุ ๓

    ก็เป็นเรื่องที่ถ้าเข้าใจความหมายของอัพยากต ก็จะทราบว่า โดยนัยของเหตุแล้วสามารถที่จะจำแนกเป็น “เหตุ” ๙ คือ เป็นอกุศลเหตุ ๓ เป็นกุศลเหตุ ๓ เป็นอัพยากตเหตุ ๓

    ที่ต้องแยกเป็นกุศลเหตุ และอัพยากตเหตุ ก็เพราะเหตุว่ากุศลเป็นเหตุ แต่ว่าอัพยากต คือ วิบากเป็นผล และอัพยากตที่เป็นกิริยานั้น ไม่ใช่เหตุและไม่ใช่ผล จึงเป็นกิริยา

    มีข้อสงสัยอะไรไหมคะในเรื่องเหตุ ๖ และโดยนัยของธรรมหมวด ๓ ก็เป็นเหตุ ๙

    7386 โสภณ - อโสภณ

    ถ้าท่านผู้ฟังไม่มีข้อสงสัยอะไร ก็จะขอกล่าวถึง อรรถ คือ ความหมายของจิต ประการที่ ๔ ต่อไปที่ว่า

    ชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร โดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม

    ซึ่งก็ได้แก่ เจตสิกที่เกิดกับจิตนั่นเอง ที่ทำให้จำแนกจิตต่างกันออกเป็นนัยต่างๆ อีกนัยหนึ่ง คือ โดยนัย ของโสภณและอโสภณ

    โสภณธรรม หมายความถึงสภาพธรรมที่ดีงาม ไม่ได้หมายความเฉพาะกุศล อย่าลืมเวลาที่ใช้คำว่า “โสภณ” หมายความถึง สภาพธรรมที่ดีงาม

    อโสภณธรรม ก็เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับโสภณ คือ ไม่ใช่สภาพธรรมที่ดีงาม

    เพราะฉะนั้นโดยนัยของสัมปยุตตธรรมที่จำแนกให้จิตต่างกัน เป็นจิตประเภทที่ดีงาม เป็นโสภณบ้าง และเป็นจิตประเภทที่ไม่ดีงาม เป็นอโสภณบ้าง ก็จะต้องเข้าใจว่า หมายความถึงเจตสิก ซึ่งเป็นเหตุ ๖ นั่นเอง

    สำหรับเจตสิกที่ดีงาม ก็ได้แก่ อโลภเจตสิก ซึ่งเป็นเหตุที่จะให้สัมปยุตธรรมในขณะนั้นดีงาม เวลาที่อโลภเจตสิกเกิด

    หรือว่าอโทสเจตสิกเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นก็ทำให้สัมปยุตตธรรม คือ จิตที่เกิดร่วมด้วยและเจตสิกอื่นๆ ในขณะนั้นเป็นสภาพที่ดีงาม

    เวลาที่ปัญญาเจตสิกเกิดขึ้น เป็นอโมหะ เป็นสภาพที่ไม่หลงในขณะนั้น เป็นสภาพที่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรม หรือเป็นสภาพที่เข้าใจเรื่องของปรมัตถธรรม

    ขณะใดที่ปัญญาเจตสิกเกิดขึ้น ขณะนั้นจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นสภาพที่ดีงาม

    เพราะฉะนั้นความหมายของโสภณและอโสภณก็สืบต่อมาจากเหตุนั่นเอง คือ จิตใดที่ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก จิตนั้นเป็น “โสภณจิต”

    เพราะฉะนั้นจิตใดก็ตามที่ไม่ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก จิตนั้นเป็น “อโสภณจิต”

    7387 อกุศลจิต เป็น โสภณจิต หรือไม่

    อกุศลจิต เป็นโสภณจิตหรือเปล่าคะ

    การศึกษาปรมัตถธรรมมีเรื่องต้องคิด ต้องพิจารณาด้วยตนเอง และเหตุผลที่เกิดจากการพิจารณา ย่อมเป็นเหตุผลที่ถูกต้องชัดเจน แล้วไม่ทำให้คลาดเคลื่อนสับสนกับธรรมอื่นๆ เช่น อกุศลจิตเป็นโสภณ หรืออโสภณ

    อกุศลจิตไม่ได้ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก แต่ประกอบด้วยอกุศลเจตสิก เพราะฉะนั้นย่อมเป็นโสภณจิตไม่ได้แน่นอน อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ชัดเจน

    7388 จักขุวิญญาณ เป็น โสภณ หรือ อโสภณ

    “จักขุวิญญาณ” จิตเห็นในขณะนี้เป็นโสภณหรืออโสภณ

    จักขุวิญญาณที่ทำกิจเพียงเห็น ไม่ได้เกิดพร้อมกับโลภเจตสิก หรือโทสเจตสิก หรือโมหเจตสิก หรือโสภณเจตสิกใดๆ เลย เกิดกับเจตสิกเพียง ๗ ดวง คือ ผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก ชีวิตินทรียเจตสิก มนสิการเจตสิก ซึ่งเจตสิกทั้ง ๗ ดวงนี้ เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก คือ เป็นเจตสิกที่ต้องเกิดกับจิตทุกดวง จะไม่มีจิตดวงไหนเลยซึ่งปราศจากเจตสิก ๗ ดวงนี้ ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต หรือวิบากจิต หรือกิริยาจิต หรือโลกุตตรจิต หรือจิตใดๆ ก็ตาม จะต้องมีเจตสิก ๗ ดวงนี้เกิดร่วมด้วย จะขาดเจตสิก ๗ ดวงนี้ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเจตสิก ๗ ดวง ซึ่งเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก เป็นอัญญสมานาเจตสิก คือ เป็นเจตสิกที่เกิดขึ้นเสมอกับจิต ถ้าจิตนั้นเป็นอกุศล สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวงนี้ก็เป็นอกุศล ถ้าจิตเกิดขึ้นเป็นวิบาก สัพพจิตตสาธารณเจตสิกนี้ก็เป็นวิบาก เพราะเจตสิกทั้ง ๗ นี้ เสมอกันกับจิตและเจตสิกที่ตนเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้นจักขุวิญญาณป็นโสภณจิต หรืออโสภณจิต เป็นอะไรคะ

    ทราบแล้วนี่คะว่า โสภณจิต หมายความถึง จิตที่เกิดร่วมกับอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก จึงจะเป็นโสภณจิต แต่จิตใดๆ ก็ตามซึ่งไม่เกิดพร้อมกับอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิกแล้ว จิตอื่นทั้งหมดเป็นอโสภณจิต

    เพราะฉะนั้นจักขุวิญญาณเป็นโสภณจิต หรืออโสภณจิต เป็นอโสภณจิต เพราะเหตุว่าอโสภณจิตไม่ได้หมายความว่า เป็นอกุศลจิต จิตใดๆ ก็ตามที่ไม่เกิดร่วมกับโสภณเหตุ ๓ คือ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิกแล้ว เป็นอโสภณทั้งหมด

    7389 อกุศล หรือ อโสภณ ต่างกันอย่างไร

    การศึกษาธรรมเป็นการศึกษาที่จะต้องเข้าใจโดยละเอียด แม้แต่จะใช้คำว่า อกุศล หรือ อโสภณ ต่างกันอย่างไร

    “อกุศล” เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดีงาม แล้วก็เป็นเหตุที่จะให้เกิดผล

    แต่ อโสภณ หมายความถึง จิตและเจตสิกที่ไม่ประกอบด้วยโสภณเจตสิก ๓

    7390 จิตมี ๔ ชาติ เหตุใดจึงไม่เป็นเหตุ ๑๒

    ท่านอาจารย์ ยังมีข้อสงสัยไหมคะในเรื่องนี้

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์กล่าวไว้ว่า เหตุมี ๖ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ก็เป็นเหตุ แต่อโลภะ อโทสะ อโมหะ เกิดกับวิบาก หรือกิริยา มันก็จะต้องเป็นเหตุ ๑๒ ซิครับ ทำไมบอกว่า เหตุ ๖ เท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้แยกธรรมออกเป็น ๔ ชาติเท่านั้น แต่ยังแยกออกเป็นธรรมหมวด ๓ ถ้ากล่าวโดยชาติ มีกุศล มีอกุศล มีวิบาก มีกิริยา โดยชาติ ๔ แต่ถ้ากล่าวโดยธรรมหมวด ๓ แล้ว รวมวิบากกับกิริยาเป็นอัพยากตะ

    เพราะฉะนั้นเมื่อกล่าวโดยธรรมหมวด ๓ เป็นเหตุ ๙ คือ เป็นอกุศลเหตุ ๓ กุศลเหตุ ๓ อัพยากตเหตุ ๓

    ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยนัยใดๆ ผู้ที่ศึกษาจะต้องเข้าใจตามนัยที่ทรงแสดงนั้น เมื่อทรงแสดงโดยประเภทของหมวด ๓ ใช้คำว่า กุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากตธรรม ก็จะต้องรู้ความหมายว่า

    “กุศลธรรม” ต้องเป็นสภาพที่เป็นเหตุให้เกิดวิบาก “อกุศลธรรม” ต้องเป็นสภาพที่เป็นเหตุให้เกิดวิบาก แต่ “อัพยากตธรรม” ต้องเป็นสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล เพราะฉะนั้นอัพยากตธรรม หมายความถึง วิบากจิตและเจตสิก ๑ กิริยาจิตและเจตสิก ๑ รูป ๑ นิพพาน ๑

    นี่คือความหมายที่จะต้องเข้าใจ โดยการที่ทรงแสดงโดยนัยต่างๆ เพราะเหตุว่าอัพยากตธรรม ไม่ได้หมายเฉพาะจิตและเจตสิกที่เป็นวิบากและกิริยา แต่หมายความถึง รูปปรมัตถ์ และนิพพานปรมัตถ์ คือ ธรรมใดๆ ก็ตามที่ไม่ใช่กุศลหรืออกุศลแล้ว เป็นอัพยากตะ เมื่อทรงแสดงโดยหมวด ๓


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 18
    16 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ