จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 032


    7363 การชักจูงทางใจเป็นอย่างไร

    ถาม ผมยังติดใจเรื่องสังขาร เมื่อกี้นี้อาจารย์ยกมา ๒ ตัวอย่าง เป็นกุศลตัวอย่างหนึ่ง เป็นอกุศลตัวอย่างหนึ่ง ที่อาจารย์ยกมานั่น ก็เป็นการชักจูงด้วยวาจา การชักจูงนี้ ชักจูงได้ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ ทีนี้ขอให้อาจารย์ยกตัวอย่างของการชักจูงด้วยใจ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ใจของคนอื่นนะคะ แต่ใจของตัวเอง ทีแรกก็ไม่สนใจ คิดไปคิดมาก็ดีเหมือนกัน ถ้าสมมติว่า อ่านพบในหนังสือพิมพ์ก็ตาม จะมีการประกาศเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตาม อาจจะเป็นโฆษณาหนัง ซึ่งรู้สึกว่าจะสนุกดี ทีแรกก็อาจจะไม่ค่อยสนใจเท่าไร แต่พอคิดไปคิดมาก็เกิดความสนใจขึ้น ไปดีกว่า อย่างนั้นได้ไหมคะ

    ผู้ฟัง ได้ครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นสสังขาริก หรือเป็นสสังขาร หมายความถึงจิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยการชักจูง จึงมีกำลังอ่อน ซึ่งการชักจูงนั้นอาจจะเป็นด้วยจิตของตนเอง เพราะเหตุว่าไม่ใช่เป็นจิตที่เกิดแรงกล้า มีกำลังขึ้นในทันที แต่ต้องเป็นจิตที่มีสภาพลังเลไปลังเลมา คิดไปคิดมา แล้วเกิดเป็นกุศลหรืออกุศลประเภทนั้นๆ ขึ้น เหมือนการทำบุญค่ะ บางท่านก็คิดอยากจะทำบุญ แต่ว่าอาจจะไม่สะดวก เพราะเหตุว่าต้องเดินทางไป หรือว่าต้องการอะไรๆ หลายอย่าง แต่หลังจากคิดไปคิดมา คิดมาคิดไป แล้วก็ไป อันนั้นก็เป็นจิตที่ไม่แรงกล้าในทันที แต่ถ้าเป็นจิตที่แรงกล้า มีกำลังกล้าในทันที ถึงจะลำบากอย่างไรก็ไป

    นั่นแสดงให้เห็นถึงสภาพของจิตซึ่งมีกำลัง เป็นอสังขาร มีความเป็นกุศลหรืออกุศลเกิดขึ้น แล้วสามารถที่จะกระทำสิ่งนั้นลงไปทันทีได้ ไม่ต้องอาศัยการที่จะต้องคิดไปคิดมา ซึ่งแสดงว่าจิตนั้นเป็นจิตที่มีกำลังอ่อน

    7364 ทรงแสดงจิตโดยนัยอสังขาร - สสังขารเพื่อประโยชน์อะไร

    ถาม มันต่างกันตรงที่ลังเลหรือครับ ตัวอย่างเมื่อกี้ที่ผมยกตัวอย่างที่ว่า เห็นรถยนต์สวย แล้วก็อยากได้ ทีนี้ถ้าเห็นครั้งแรกอยากได้ แต่เงินของเราก็ยังไม่พอ อย่างนี้ก็เป็นสสังขาร

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีกำลังอ่อน เพราะฉะนั้นแทนที่จะคิดถึงว่า มีใครมาชวนหรือเปล่านี่ นั่นเป็นเหตุภายนอก ไม่ต้องคำนึงถึง การอบรมเจริญสติปัฏฐานจะทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นจิตตานุปัสสนา ตรงลักษณะที่กำลังปรากฏ การที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงจิตโดยประเภทของอสังขารและสสังขาร ควรที่จะได้ทราบว่าเพื่อประโยชน์อะไร การศึกษาธรรมไม่ว่าจะเป็นพระวินัย พระสูตร หรือพระอภิธรรม เพื่อประโยชน์อะไร

    การศึกษาเรื่องของจิต เจตสิก รูป เพื่อประโยชน์อะไร การรู้ว่าจิตเป็นอสังขารบ้าง สสังขารบ้าง เพื่อประโยชน์อะไร ประโยชน์สูงที่สุด ก็เพื่อที่จะให้สติเกิด ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้นที่มีลักษณะสภาพอย่างนั้น และรู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นจุดประสงค์ของการที่จะศึกษาเรื่องของธรรมโดยละเอียด ก็อย่าลืม เพื่อเกื้อกูลอนุเคราะห์ให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง ซึ่งในเรื่องของสสังขารและอสังขารก็เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานหมวดหนึ่ง

    ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจิตประเภทใดๆ อยู่ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานหมวดหนึ่งหมวดใด ก็แสดงว่าประโยชน์ที่ทรงแสดงนั้นเพื่อให้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ถึงจิตเป็นอสังขาร ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน หรือถึงจิตจะเป็นสสังขาร มีกำลังอ่อน ในขณะนั้นก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    7365 ประโยชน์คือเข้าใจลักษณะของจิตเพื่อสติระลึกรู้ลักษณะของจิต

    ผู้ฟัง พราหมณ์ที่จะถวายผ้าสาฎกแก่พระพุทธเจ้านั้น คงจะเป็นสสังขาร อันนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ครับว่า ถ้าพราหมณ์นั้นถวายตอนปฐมยาม พราหมณ์นั้นจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิตอนปฐมยามนั้น พอชักออกมาจะถวาย ก็คิดว่า เรามีอยู่ผืนเดียว ถ้าถวายไปก็หมด เมียก็ไม่มีใช้ เราก็ไม่มีใช้ เลยเก็บไว้ก่อน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ เรื่องของจิตและการให้ผลของจิต เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามที่เข้าใจเรื่องลักษณะของจิตที่เป็นอสังขารและสสังขาร ที่เกิดกับอกุศลจิตเป็นอย่างไร ที่เกิดกับกุศลจิตเป็นอย่างไร มีประโยชน์ที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของจิตในขณะนั้น โดยเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นประโยชน์ที่จะเห็นว่า ขณะนั้นเป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง

    7366 ง่วง ท้อถอย ท้อแท้ อ่อนเพลีย มีสติระลึกได้ไหม

    ท่านผู้ฟังเคยง่วง เคยเพลีย เคยเบื่อไหมคะ บางทีก็มีจิตคิดอยากจะทำกุศลอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เสร็จแล้วก็อ่อนเพลียไป หรือว่าเกิดความง่วงขึ้น สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพของจิตในขณะนั้นไหม ถ้าไม่ระลึก ก็เป็นเรา อย่าลืมค่ะ ไม่มีทางที่จะดับอนุสัยกิเลสที่ยึดถือสภาพธรรมซึ่งเป็นรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

    เพราะเหตุว่าความง่วงมีจริง ความท้อถอย ความท้อแท้ ความเหนื่อยหน่าย ความรู้สึกอ่อนเพลียมีจริง ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเหล่านั้นตามความเป็นจริง เมื่อไรจะถ่ายถอนความยึดถือสภาพธรรมนั้น และรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงลักษณะของจิต ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ซึ่งแสดงโดยประการต่างๆ เช่น โดยประเภทที่เป็นอสังขารและสสังขาร ที่เป็นโลภะ เป็นอสังขารก็มี เป็นสสังขารก็มี ที่เป็นโทสะ เป็นอสังขารก็มี เป็นสสังขารก็มี ที่เป็นกุศลเป็นอสังขารก็มี เป็นสสังขารก็มี ซึ่งก็เป็นชีวิตประจำวัน จะรู้ได้มากขึ้น เวลาที่สติไม่หลงลืมที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น ถ้าเป็นความรู้สึก เป็นลักษณะของจิตแล้ว ไม่ใช่รูป

    ความท้อแท้ ความท้อถอย ไม่ใช่รูป เป็นลักษณะของจิต ในขณะนั้นเป็นสสังขาริก หรืออสังขาริก ก็พอที่จะทราบได้ใช่ไหมคะว่า ในขณะนั้นเป็นสสังขาร เพราะเหตุว่าเป็นจิตที่ไม่มีกำลังแรงกล้า

    เพราะฉะนั้นอย่าคิดถึงเหตุการณ์ภายนอก หรือว่าสิ่งแวดล้อมภายนอก เพื่อที่จะวินิจฉัยว่า จิตนั้นเป็นสสังขารหรืออสังขาร แต่ควรจะเป็นเพราะสติระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิต และรู้ว่าจิตนั้นมีกำลัง หรือว่าไม่มีกำลัง ถ้าขณะนั้นเป็นจิตที่ไม่มีกำลัง ไม่ต้องคิดถึงเลยว่า เพราะอะไร เพราะมีคนมาชักชวน หรือเพราะเขาชักชวนหรือเปล่า จิตนั้นจึงเป็นสภาพที่อ่อนกำลัง แต่ว่าในขณะใดก็ตามซึ่งจิตเป็นสภาพที่อ่อนกำลัง ในขณะนั้นเป็นสสังขาร จะโดยจิตของตนเองลังเล แล้วก็ชักจูง หรือว่าบุคคลอื่นก็ได้

    7367 สสังขาร-อสังขาร มีในกามาวจรจิต ส่วนจิตภูมิอื่นเป็นสสังขาร

    สำหรับโดยประเภทของอสังขารและสสังขาร มีเฉพาะในกามาวจรจิต ที่จำแนกจิตออกเป็นโดยสสังขารและอสังขาร เพราะเหตุว่ากามาวจรจิตเป็นจิตภูมิที่ต่ำสุด ระดับขั้นต่ำที่สุดซึ่งเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เป็นจิตในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และคิดนึกเรื่องราวของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งในบางครั้งก็มีกำลังแรงกล้า และในบางครั้งก็มีกำลังอ่อน ตามเหตุตามปัจจัย

    เพราะฉะนั้นสำหรับจิตซึ่งเป็นกามาวจรจิต โดยประเภทแล้วต่างกันเป็นอสังขารก็มี สสังขารก็มี

    แต่สำหรับจิตระดับที่สูงกว่านี้ คือ ที่เป็นรูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต และโลกุตตรจิตแล้ว เมื่อจัดโดยประเภทของสังขารแล้ว ทั้งหมดนั้นเป็นสสังขาร ฌานจิต เป็นสสังขาร อรูปฌานจิต เป็นสสังขาร โลกุตตรจิตเป็นสสังขาร เพราะเหตุว่าจิตเหล่านี้จะเกิดขึ้นเองไม่ได้ ต้องอาศัยการอบรม การเจริญ จนกว่าจิตนั้นๆ จะเกิดขึ้น แต่ว่าจิตนั้นๆ จะเกิดขึ้นตามลำพังเองขึ้นมาวันนี้ โลกุตตรจิตจะเกิดขึ้นมาเอง หรือว่ารูปฌานจิตจะเกิดขึ้นมาเอง หรือว่าอรูปฌานจิตจะเกิดขึ้นมาเองไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปฌานจิต หรืออรูปฌานจิต หรือโลกุตตรจิต ต้องมีมหากุศลจิตเกิดก่อน เพราะฉะนั้นก็เป็นจิตซึ่งต้องอาศัยการอบรม การเจริญภาวนา จึงจะเกิดขึ้นได้

    ด้วยเหตุนี้จิตภูมิอื่น คือ รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต และโลกุตตรจิต จึงเป็นสสังขาร

    7368 รูปฌาน - อรูปฌาน - โลกุตตรจิต เป็นสสังขาร

    ถาม รูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล และโลกุตตรกุศล อาจารย์กล่าวว่า เป็นสสังขาริก อาศัยอะไรชักชวนล่ะครับ

    ท่านอาจารย์ มหากุศลต้องเกิดก่อนค่ะ จิตเหล่านั้นจึงจะเกิดได้ ต้องอาศัยการอบรมเจริญภาวนา ไม่ว่าจะโดยสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนาก็ตาม อยู่ดีๆ กำลังเห็นแล้วโลกุตตรจิตจะเกิดขึ้น เป็นสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ หรือว่าอยู่ดีๆ กำลังมีสีสันวรรณะต่างๆ ปรากฏ มีเสียงปรากฏ รูปฌานจิตจะเกิด หรืออรูปฌานจิตจะเกิด เหมือนอย่างโลภะ โทสะ โมหะ หรือว่ากามาวจรกุศล เป็นไปไม่ได้

    ผู้ฟัง แล้วกามาวจรจิตจะไปชักชวนให้รูปฌานจิต และอรูปฌานจิตเกิด อย่างนั้นหรือ

    ท่านอาจารย์ ในวิถีของรูปฌานจิตและอรูปฌานจิต และโลกุตตรจิต ในวิถีเดียวนั้นต้องมีกามาวจรกุศลจิตเกิดก่อน แล้วฌานจิตจึงจะเกิดได้ โลกุตตรจิตจึงจะเกิดได้

    ผู้ฟัง ใช่ครับ ในมรรควิถี มีบริกรรม อุปจาร อนุโลม โคตรภู

    ท่านอาจารย์ มีบริกรรม อุปจาร อนุโลม โคตรภู ไม่ว่าจะเป็นวิถีของรูปฌาน อรูปฌาน หรือโลกุตระ ต้องมีมหากุศลจิตเกิดก่อน

    ผู้ฟัง แล้วบริกรรม อุปจาร ก็เป็นกามจิต เป็นจิตเกิดขึ้นมาชักชวนฌานจิต หรือโลกุตตรจิต อย่างนั้นหรือครับ

    ท่านอาจารย์ เป็นเครื่องชักจูง แสดงให้เห็นว่า อยู่ดีๆ รูปฌานจิต อรูปฌานจิต โลกุตตรจิตจะเกิดเองไม่ได้ ต้องอาศัยการเจริญ การอบรมอย่างมากด้วย

    เพราะฉะนั้นโดยความต่างกันที่เป็นอสังขารและสสังขาร จึงมีเฉพาะในกามาวจรจิตเท่านั้น สำหรับรูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต และโลกุตตรจิตทั้งหมดเป็นสสังขาร

    เพราะฉะนั้นใครก็ตามไม่อบรมเจริญปัญญา แล้วก็หวังรอที่จะให้โลกุตตรจิตเกิด ก็ทราบได้ว่า เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือว่าถ้าไม่รู้เรื่องของการอบรมเจริญสมถะ คือ ความสงบของจิต จนกระทั่งจิตค่อยๆ สงบขึ้นเป็นขั้นๆ จนกระทั่งถึงการประกอบด้วยความสงบที่ลักษณะของสมาธิปรากฏกับความสงบในขณะนั้นเป็นขั้นๆ รูปาจรจิต หรืออรูปาวจรจิต หรือโลกุตตรจิต จึงจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการอบรมเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ก็ไม่มีทางที่อยู่ดีๆ ฌานจิตและโลกุตตรจิตจะเกิดขึ้นได้

    7369 เข้าใจว่าเป็นจิตมีกำลังกล้าหรือเป็นจิตอ่อนกำลัง ไม่ใช่สัตว์ ตัวตน บุคคล

    ความสำคัญ ไม่ใช่คอยดูว่า อะไรชวน ใครชวน หรือใครไม่ชวน แต่ให้ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะนั้นว่า เป็นจิตที่มีกำลังกล้าหรืออ่อนกำลัง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ต่อไปจะได้ทราบว่า ในกามาวจรจิตประเภทไหนบ้างที่เป็นจิตที่เป็นอสังขาริกกี่ดวง สสังขาริกกี่ดวง ซึ่งเป็นได้ทั้งฝ่ายกุศลและฝ่ายอกุศล ซึ่งสามารถที่จะพิจารณาสังเกตรู้ได้ในชีวิตประจำวัน

    แต่ว่าเรื่องความละเอียดปลีกย่อยของแต่ละบุคคล ทุกท่านก็จะทราบได้เอง อย่างบางท่านก็จะทราบได้ที่จะมาฟังธรรม ต้องอาศัยใครชักชวนหรือเปล่า ใช่ไหมคะ ตอนแรกอาจจะมีผู้ชักชวน ตอนแรกอาจจะไม่อยากมาเอง แต่ถูกชักชวนมา จึงมา แต่ว่าตอนหลังมาเอง เพราะฉะนั้นลักษณะของจิตก็ต่างกัน ไม่ใช่ว่าจะมีแต่สสังขาริกตลอดไป หรือว่าอสังขาริกตลอดไป อย่างท่านที่ถูกชวนไปดูหนัง ตอนถูกชวนไปก็เป็นจิตที่มีกำลังอ่อน แต่ถ้าหนังสนุกตื่นเต้น หัวเราะสนุกสนาน ในขณะนั้นไม่ใช่จิตที่มีกำลังอ่อนแล้ว ใช่ไหม ไม่ต้องมีใครมาชวนให้หัวเราะ ไม่ต้องมีใครมาชวนให้สนุก แต่ในขณะนั้นเอง จิตก็เกิดความรู้สึกสนุก หรือว่าหัวเราะเกิดขึ้น ขณะนั้นก็ด้วยตนเอง ก็เป็นอสังขาริก ก็แสดงให้เห็นว่า จิตทั้งหลายไม่เที่ยง แม้ว่าจะเกิดขึ้นครั้งนี้เป็นอย่างนี้ ครั้งต่อไปก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ตามเหตุตามปัจจัยได้

    7370 อกุศลเหตุ ๓ - โสภณเหตุ ๓

    ถ้าไม่มีอะไรสงสัย ก็ขอกล่าวถึงความต่างกันของจิต โดยสัมปยุตธรรม ที่เป็น โดยเหตุ

    สภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรมที่จะเกิดขึ้นโดยไม่อาศัยปัจจัย ไม่มีเลย จะเกิดขึ้นมาเองลอยๆ โดยไม่มีปัจจัยอะไรไม่ได้

    เพราะฉะนั้นเมื่อปรมัตถธรรมที่เป็นสังขารธรรมมี ๓ คือ จิต เจตสิก รูป และเมื่อกล่าวถึงจิตต่างกันโดยเหตุ ก็ควรที่จะได้ทราบว่า ธรรมที่ทรงแสดงว่าเป็นเหตุนั้น ได้แก่อะไร ซึ่งสภาพธรรมที่เป็นเหตุ ได้แก่ เจตสิก ๖ ดวง คือ โลภเจตสิก เป็นโลภเหตุ ๑ โทสเจตสิก เป็นโทสเหตุ ๑ โมหเจตสิก เป็นโมหเหตุ ๑ นี่เป็นอกุศลเหตุ ๓

    และมี อโลภเจตสิก เป็นสภาพธรรมอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งตรงกันข้ามกับโลภะ อโลภเจตสิก เป็นอโลภเหตุ ๑ อโทสเจตสิก เป็นอโทสเหตุ ๑ อโมหเจตสิก เป็นอโมหเหตุ ๑ รวมเป็นโสภณเหตุ ๓

    สภาพธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงว่าเป็นเหตุ ได้แก่ เจตสิก ๖ ดวง ซึ่งเป็นอกุศลเหตุ ๓ และเป็นโสภณเหตุ ๓

    นอกจากนั้นแล้ว เจตสิกอื่นนอกจากเวทนาและสัญญา เป็นสังขารขันธ์ เป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่ง แต่ไม่ใช่เป็นเหตุ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่เป็นเหตุนั้นอุปมาเหมือนกับรากแก้วของต้นไม้ ซึ่งตราบใดที่ยังมีอยู่ ยังสมบูรณ์ ยังแข็งแรง ก็เป็นเหตุให้ต้นไม้นั้นเจริญงอกงาม มีดอก มีผลมากมาย ฉันใด เหตุทั้ง ๖ เมื่อเกิดขึ้น ยังไม่ดับไป ก็ทำให้เจริญเติบโต และเผล็ดผลต่างๆ เพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ ซึ่งทุกท่านก็ทราบดีว่า ถ้ายังไม่ใช่พระอรหันต์แล้ว ยังมีอกุศลเหตุ ๓ ทั้งโลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ และเมื่อเป็นพระอริยบุคคลก็ลดลงไป จนกระทั่งถึงเมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว ดับทั้งฝ่ายอกุศลเหตุ ๓ และโสภณเหตุ ๓ แต่ว่ามีอัพยากตเหตุ ไม่ใช่อกุศลเหตุและกุศลเหตุ

    นี่เป็นความละเอียดค่ะ ซึ่งท่านผู้ฟังควรจะสังเกตพยัญชนะที่ว่า เหตุมี ๖ เป็นอกุศลเหตุ ๓ เป็นโสภณเหตุ ๓ แทนที่จะใช้คำว่า เป็นอกุศลเหตุ ๓ และเป็นกุศลเหตุ ๓ ไม่ใช้คำนั้นนะคะ แต่ใช้คำว่า เป็นอกุศลเหตุ ๓ เป็นโสภณเหตุ ๓

    นี่เป็นเหตุที่คำว่า “โสภณ” ไม่ได้หมายความถึงกุศลเท่านั้น แต่หมายความถึงกุศลก็ได้ วิบากก็ได้ กิริยาก็ได้

    มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะในเรื่องของเหตุ ๖ ซึ่งได้แก่เจตสิกซึ่งเป็นสังขารขันธ์ ๖ ดวง

    7371 เหตุ - นเหตุ

    เรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่น่าคิด น่าสนใจ และไม่ควรจะลืมด้วย แล้วควรจะต้องสอดคล้องกับธรรมอื่นๆ ด้วย เช่น เมื่อทราบว่า ปรมัตถธรรมมี ๔ ได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เมื่อกล่าวโดยเหตุ จิตไม่ใช่เหตุ เจตสิกที่เป็นเหตุมีเพียง ๖ เจตสิกอื่นนอกจากนั้นทั้งหมด ไม่ใช่เหตุ รูป ไม่ใช่เหตุ นิพพานไม่ใช่เหตุ ถูกไหมคะ ต้องคิด ถูกหรือไม่ถูกคะ ถ้าถูกก็ควรที่จะได้ทราบว่า สิ่งใดที่ไม่ใช่เหตุ ภาษาบาลีใช้คำว่า “นเหตุ”

    เพราะฉะนั้นมี เหตุ กับ นเหตุ เหตุ ก็คือ เหตุ ส่วนนเหตุ ก็คือ ไม่ใช่เหตุ

    เพราะฉะนั้นจิตเป็นอะไรคะ เป็นนเหตุ

    เจตสิกอื่น เช่น ผัสสะ เป็นนเหตุ เวทนา เป็นนเหตุ สัญญา เป็นนเหตุ เป็นต้น เจตสิกอื่น นอกจากเจตสิก ๖ แล้ว ไม่ใช่เหตุ จึงเป็น นเหตุ

    รูปเป็นอะไรคะ เป็นนเหตุ

    นิพพานเป็นอะไรคะ เป็นนเหตุ

    ก็เป็นเรื่องค่อยๆ เข้าใจตามลำดับ คือ แยก “เหตุ” กับ “นเหตุ” แล้วก็ยังต้องรู้ต่อไปว่า จิตซึ่งเป็นนเหตุ เพราะจิตไม่ใช่เหตุ แต่จิตบางดวงเกิดพร้อมกับเหตุ และจิตบางดวง ไม่มีเหตุสักเหตุเดียวเกิดร่วมด้วย

    เช่น จักขุวิญญาณที่เห็นในขณะนี้ ที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ มีเจตสิกที่เกิดกับจักขุวิญญาณเพียง ๗ ดวง ซึ่งได้แก่ ผัสสเจตสิก ทำกิจกระทบรูปารมณ์ที่ปรากฏทางตา เวทนาเจตสิก ทำกิจรู้สึก อุเบกขาเวทนา อทุกขมสุขในขณะที่กำลังเห็น สัญญาเจตสิก ทำกิจจำสิ่งที่ปรากฏทางตา ในขณะที่จิตเห็นเกิดขึ้น เจตนาเจตสิก เป็นสภาพที่ขวนขวายให้กิจ คือ การเห็นสำเร็จ ชีวิตินทรียเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก มนสิการเจตสิก เหล่านี้ไม่ใช่เหตุ แต่ว่าจิตบางดวงก็มีเหตุเกิดร่วมด้วย เช่น โลภมูลจิต เห็นแล้วดับไปแล้ว ชอบสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะที่ชอบในขณะนั้นไม่ใช่จักขุวิญญาณ แต่ว่าจิตที่เกิดต่อจากจักขุวิญญาณในขณะนั้น ประกอบด้วยเหตุ คือ มีสภาพของความพอใจ ติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ เกิดกับจิตนั้น เป็นโลภมูลจิตเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นแม้ว่าจิตเป็น นเหตุ ก็จริง แต่ว่าจิตบางดวงมีเหตุเกิดร่วมด้วย และจิตบางดวงไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้นจิตซึ่งเป็น นเหตุ เวลาที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย เป็น “สเหตุกะ” หมายความว่า จิตนั้นประกอบด้วยเหตุ

    ค่อยๆ เข้าใจไปเป็นลำดับขั้น คือ รู้ว่า เหตุ ได้แก่อะไร

    “เหตุ” ได้แก่ เจตสิก ๖ ดวง

    ตลอดพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะเป็นพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก จะไม่มีเหตุ ๗ บางแห่งอาจจะแสดงเหตุ ๙ คือ เป็นอกุศลเหตุ ๓ กุศลเหตุ ๓ อัพยากตเหตุ ๓

    ซึ่งอัพยากตเหตุจะเลยเหตุ ๖ ไปไม่ได้ หมายความว่า ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยนัยของเหตุ ๓ โดยนัยของเหตุ ๖ โดยนัยของเหตุ ๙ โดยนัยใดๆ ก็ตาม สเหตุ อเหตุ นเหตุ ก็ได้แก่สภาพธรรมที่เป็นเหตุ คือ เจตสิก ๖ ดวงเท่านั้น อันนี้แน่นอน ไม่เป็นอื่น ทั้ง ๓ ปิฎก ที่จะต้องทราบว่า สภาพธรรมที่เป็นเหตุ ได้แก่ เจตสิก ๖ ดวง และชื่อก็คุ้นหูนะคะ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก

    ถ้าเป็นกุศล ก็เป็นกุศลเหตุ ๓ คือ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก

    ถ้าเป็นอัพยากต คือ ไม่ใช่กุศลและอกุศล ก็มี ๓ คือ เมื่อปฏิเสธว่า ไม่ใช่กุศลและอกุศล ก็ต้องเป็นอโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ

    เพราะเหตุว่าอโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ ที่ไม่ใช่กุศล มี แต่ว่า โลภะ โทสะ โมหะ ที่ไม่อกุศล ไม่มี

    7372 สเหตุก - อเหตุก

    นี่เพิ่งเริ่มนะคะ ยังไม่ได้เรียนเรื่องจิตโดยละเอียดทีละดวงๆ แต่ว่าถ้าเรียนก็จะเข้าใจเวลาที่ได้ทราบจิตที่ต่างกันโดยประเภทต่างๆ แล้วก็เริ่มที่จะจำ และเข้าใจโดยที่ไม่ต้องท่อง คือ เหตุ ได้แก่อะไร เหตุ ได้แก่ เจตสิก ๖ ดวง

    เพราะฉะนั้นจิตเป็น “นเหตุ” เจตสิกอื่น นอกจากเจตสิก ๖ ดวง ไม่ใช่เหตุ เป็น “นเหตุ” รูป ไม่ใช่เหตุ เป็น “นเหตุ” นิพพานไม่ใช่เหตุ เป็น “นเหตุ”

    แต่จิตซึ่งเป็นนเหตุ บางครั้งเกิดพร้อมกับเหตุจึงเป็น “สเหตุกะ” หมายความว่า มีเหตุเกิดร่วมด้วย ขณะใดก็ตามที่จิตไม่ได้มีเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วยสักเหตุเดียว จิตนั้นชื่อว่า “อเหตุกะ” หมายความว่า ไม่ประกอบด้วยเหตุ

    นี่เป็นศัพท์ภาษาบาลี ซึ่งจะต้องเข้าใจในภาษาไทยง่ายๆ ธรรมดาคือ

    “สเหตุกะ” หมายความว่า ประกอบด้วยเหตุ เกิดพร้อมกับเหตุ

    “อเหตุกะ” หมายความว่า ไม่ประกอบด้วยเหตุ คือ ไม่เกิดพร้อมด้วยเหตุ

    เหตุอะไร คือไม่เกิดพร้อมกับเจตสิก ๖ ดวง

    7373 รูป ไม่ใช่เหตุ เป็นอะไร มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม

    “รูป” ไม่ใช่เหตุ เป็นอะไรคะ เป็นนเหตุ เวลาที่ไม่ใช่เหตุเป็นอะไร ภาษาบาลี “นเหตุ”

    “รูป” มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้นรูปเป็น “อเหตุกะ”


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 18
    16 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ