จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 021


    ถ้าเข้าใจว่าคล้าย ก็ดี จะได้ไม่ลืม พอนึกถึงนัตถิปัจจัย ก็จะได้นึกถึงวิคตปัจจัยด้วย พอคิดถึงอัตถิปัจจัย ก็จะได้คิดถึงอวิคตปัจจัยด้วย

    7112 เหตุผลที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยประเภทต่างๆ

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังมีปัญหาสงสัยอะไรบ้างหรือเปล่าคะ จากที่ได้รับฟังในคราวก่อน

    ในคราวก่อนได้กล่าวถึงอรรถ ซึ่งเป็นลักษณะของจิตประการที่ ๔ ซึ่งมีข้อความว่า

    อนึ่งจิตแม้ทุกดวง ชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตร ตามสมควรโดยอำนาจแห่งสัมปยุตธรรม

    นี่เป็นการที่ทรงแสดงให้ทราบถึงความต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม เพื่อการที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง และรู้ลักษณะของรูปธรรมถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้โดยประการต่างๆ

    ข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความที่กล่าวถึงเหตุผลที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยประการต่างๆ ว่า

    การแสดงธรรมโดยประการต่างๆ ย่อมนำมาซึ่งการแยกความเป็นกลุ่มก้อน และเพื่อปฏิสัมภิทาญาณ

    สภาพธรรมที่รวมกันอยู่ทั้งนามธรรมและรูปธรรม ถ้าไม่ทรงแสดงโดยละเอียด โดยแยกเป็นนามธรรมประเภทต่างๆ รูปธรรมประเภทต่างๆ ก็ย่อมไม่สามารถที่จะเห็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะ โดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่าถ้าสภาพธรรมยังรวมกัน ก็ย่อมยึดถือว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม เช่น จิตเกิดพร้อมกับเจตสิก จิตก็เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ เจตสิกแต่ละประเภทก็เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ เพราะฉะนั้นถ้าไม่แยกว่า สภาพของจิตเป็นอย่างไร สภาพของเจตสิกแต่ละประเภทเป็นอย่างไร ก็ยังรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นนามธรรมซึ่งยึดถือว่าเป็นเรา แต่ว่าตามความเป็นจริง จิตไม่ใช่เจตสิก และเจตสิกไม่ใช่จิต

    เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจิต เจตสิก หรือรูป ก็ย่อมเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน โดยหลายปัจจัย แม้ว่าจิตเป็นสภาพรู้ ขณะใดที่เกิดขึ้น จิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ คือมีสิ่งที่จิตกำลังรู้ แม้ว่าลักษณะของจิตจะเป็นอย่างนั้น แต่จิตซึ่งเป็นนามธรรมนั้นเอง ก็เป็นปัจจัยให้แก่เจตสิกและรูปซึ่งเกิดร่วมกันได้

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า จิต เจตสิก และรูป เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน ซึ่งปัจจัยทั้งหมดโดยประเภทใหญ่ๆ มีถึง ๒๔ ประเภท แต่ยังไม่จำเป็นที่จะกล่าวถึงปัจจัยทั้ง ๒๔ ปัจจัยในตอนนี้ เพราะเหตุว่ากำลังศึกษาลักษณะต่างๆ ของจิต เพื่อที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของจิต เท่าที่จะสามารถระลึกได้ เพราะเหตุว่าเมื่อมีความเข้าใจในลักษณะอาการต่างๆ ของจิต ไม่ว่าจิตจะมีประเภทต่างๆ กันอย่างไร สติย่อมสามารถที่จะมีปัจจัยเกิดขึ้นระลึกได้ว่า ขณะใดเป็นจิต เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้

    7142 สัมปยุตตปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ซึ่งลักษณะของจิต ซึ่งเป็นนามธรรมก็เป็นปัจจัยแก่เจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน โดยสัมปยุตตปัจจัย เพราะจิตและเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมนั้นเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน โดยสัมปยุตตปัจจัย ซึ่งจะต้องเข้าใจความหมายด้วย เวลาที่ใช้คำว่า “สัมปยุตต์” ไมว่าจะเป็นสัมปยุตตธรรมหรือสัมปยุตตปัจจัยก็ตาม เป็นสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกัน เป็นสภาพรู้เหมือนกัน รู้อารมณ์เดียวกัน แล้วก็ดับพร้อมกัน และเกิดที่เดียวกัน ในภูมิซึ่งอาศัยรูปเกิดขึ้น จิตจะเกิดขึ้นตามลำพัง โดยไม่มีรูปเป็นที่เกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้นไม่ว่าขณะใดที่จิตเกิดขึ้น สัมปยุตตธรรม คือ ธรรมชาติซึ่งเป็นนามธรรม ซึ่งเกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต และเกิดที่เดียวกับจิตนั้นคือเจตสิก และเจตสิกเมื่อเกิดร่วมกับจิต เจตสิกแต่ละชนิดก็เป็นสัมปยุตตธรรม เป็นสัมปยุตตปัจจัยให้สภาพธรรมที่เกิดพร้อมกันนั้นเกิดร่วมกัน โดยเป็นธาตุรู้อารมณ์เดียวกัน

    นี่เป็นความต่างกันของรูปธรรมและนามธรรม เพราะเหตุว่ารูปธรรมเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน จริง แต่รูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ ไม่รู้อารมณ์เลย แต่นามธรรมนั้นเป็นสภาพที่ละเอียดกว่า เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ไม่มีรูปอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นสุขุมรูปที่ละเอียดสักเพียงไร ก็ไม่ใช่ลักษณะของนามธรรม เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้นั้น ไม่ปะปนกันเลยกับรูป แม้ว่ารูปนั้นจะเป็นสุขุมรูป

    เพราะฉะนั้นก็จะต้องเข้าใจถึงอรรถของสภาพรู้ ธาตุรู้ ซึ่งเป็นเพียงอาการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ และในขณะที่จิตเกิดขึ้นก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมกันเป็นสัมปยุตตธรรม

    7143 อรรถของจิตประการที่ ๔ ชื่อว่าจิตตามสมควรโดยอำนาจแห่งสัมปยุตธรรม

    อรรถ คือ ความหมายที่เป็นลักษณะของจิตประการที่ ๔ ซึ่งมีข้อความว่า

    อนึ่ง จิตแม้ทุกดวง ชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร วิจิตร คือต่างกันตามสมควรโดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม

    มีเจตสิก ๕๒ ประเภท แต่ว่าจิตดวงหนึ่งๆ ไม่ได้ประกอบด้วยเจตสิกพร้อมกันทั้ง ๕๒ ประเภท แล้วแต่ว่าอกุศลจิตจะประกอบด้วยอกุศลเจตสิกเท่าไร หรือว่ากุศลจิตจะประกอบด้วยโสภณเจตสิกเท่าไร ซึ่งก็ทำให้จิตต่างกันออกไปโดยประเภทต่างๆ ซึ่งในการศึกษาเรื่องจิตโดยละเอียด ควรที่จะได้ทราบลักษณะที่ต่างกันของจิตโดยประเภทใหญ่ๆ คือ

    โดยชาติ คือ การเกิดขึ้นมี ๔ ชาติ ตามที่ได้เคยกล่าวถึงแล้วครั้งหนึ่ง คือ เป็นกุศล ๑ เป็นอกุศล ๑ เป็นวิบาก ๑ เป็นกิริยา ๑

    ในวันหนึ่งๆ ไม่ใช่มีแต่กุศลจิตหรืออกุศลจิตเท่านั้นค่ะ มีวิบากจิตและกิริยาจิตด้วย ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า โดยปรมัตถธรรม ซึ่งแสดงจิตโดยชาติเภท คือ โดยประเภทของชาติ ไม่ได้หมายความถึงชาติชั้นวรรณะ หรือว่าชาติจีน ชาติไทย ชาติแขก แต่หมายความถึงจิตประเภทที่เป็นกุศล ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนกับใคร จิตนั้นเป็นกุศล ถ้าจิตนั้นเป็นอกุศล ไม่ว่าจะเกิดกับใคร ไม่ว่าจะเกิดกับสมณะชีพราหมณ์ ชาติชั้นวรรณะผิวพรรณใดทั้งสิ้น อกุศลก็เป็นอกุศล นั่นคือสภาพของปรมัตถธรรม เพราะประกอบด้วยสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกที่เป็นอกุศลจิต จึงเป็นอกุศล หรือว่าประกอบด้วยโสภณเจตสิก จิตนั้นจึงเป็นกุศล

    7144 พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกลักษณะของนามธรรมแต่ละประเภท ทรงทำสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งนัก

    สำหรับเรื่องชาติทั้ง ๔ คือ กุศล อกุศล วิบาก กิริยา ที่ได้เคยกล่าวถึงแล้ว ไม่ทราบท่านผู้ฟังมีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะ

    ข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถา ธัมมสังคิณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความว่า

    ก็แลพระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงจำแนกธรรมเป็นแผนกๆ แล้วทรงยกบัญญัติขึ้นตรัส ทรงทำสิ่งที่ทำได้ยาก น้ำหรือน้ำมันหลายชนิดที่ใส่ลงไปกวนในภาชนะเดียวกันตลอดวัน การมองดู ดมกลิ่น หรือลิ้มรส ก็อาจจะรู้ได้ว่าต่างกัน เพราะสี กลิ่น และรสต่างกัน แม้จะเป็นได้ถึงอย่างนั้น การเช่นนั้นท่านก็พูดกันว่า ทำได้ยาก แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อทรงจำแนกธรรม คือ จิตและเจตสิก ซึ่งไม่มีรูปอยู่ในอารมณ์เดียวกัน คือ รู้อารมณ์เดียวกันเหล่านี้ ออกเป็นแผนกๆ แล้วยกบัญญัติขึ้นตรัส ชื่อว่า ทรงทำสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งนัก

    เพราะเหตุว่านามธรรมเป็นสภาพที่ละเอียดยิ่งกว่ารูปที่ละเอียด แต่แม้กระนั้นพระผู้มีพระภาคก็ทรงจำแนกลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิดไว้ โดยลักษณะที่ปรากฏ โดยกิจของธรรมแต่ละประเภท โดยอาการปรากฏ และโดยเหตุใกล้ให้เกิดธรรมแต่ละประเภทนั้นๆ

    7145 ลักษณะของผัสสะมีแน่ แต่ไม่ปรากฏ อยากให้ปรากฏหรือไม่

    ถาม อันนี้ยากแน่ครับ ทั้งๆ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว เราจะมารู้ตามก็ยังยาก ทั้งๆ ที่อ่านไปแล้วก็เข้าใจ แต่ว่าไม่ประจักษ์ลักษณะ มันยากอย่างนี้ ถ้าประจักษ์ลักษณะแล้ว ก็ไม่มีปัญหาอะไร เช่น ผัสสเจตสิก พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า รูปารมณ์ จักขุวิญญาณ จักขุปสาท ธรรม ๓ อย่างนี้ เมื่อประชุมกันเมื่อไร เป็นผัสสะ อ่านดูแล้วก็เข้าใจ แต่ว่าลักษณะของผัสสะไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นในเมื่อเข้าใจแล้ว ก็ยังไม่รู้อยู่นั่นแหละ

    ท่านอาจารย์ ลักษณะของผัสสะมีแน่ ใช่ไหมคะ รับรอง แล้วก็ไม่ปรากฏแน่ด้วย ใช่ไหมคะ อยากจะให้ปรากฏหรือเปล่า อยาก ผิดเสียแล้วไงคะ คือ อยาก สภาพธรรมใดก็ตามที่ปรากฏ สติควรที่จะระลึกรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเสียก่อน อย่าไปอยากรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ยังไม่ได้ปรากฏ อยากสักเท่าไรก็ไม่ปรากฏ แล้วก็จะไม่มีวันปรากฏเพราะความอยาก

    ถาม ที่อยากปรากฏ เพราะรู้ว่ามันมี

    ท่านอาจารย์ มีทั้งนั้นค่ะ เจตสิกมีถึง ๕๒ ประเภท แต่ว่าขณะนี้เจตสิกอะไรปรากฏ ถ้าไม่ปรากฏก็อย่าอยาก แต่เริ่มรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเสียก่อน อย่างโลภะ ปรากฏเป็นประจำ รู้ด้วยใช่ไหมคะว่า ชอบสิ่งไหน ใครชอบอาหารอะไร ผลไม้อะไร สีอะไร เสียงอะไร ทุกคนก็รู้ แต่แม้อย่างนั้น สติก็ยังไม่ได้ระลึกรู้ในลักษณะของความยินดี ความติด ความพอใจ ความชอบซึ่งเกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัย ขณะที่เห็น หรือขณะที่ได้ยิน หรือในขณะที่ได้กลิ่น หรือในขณะที่ลิ้มรส หรือในขณะที่กระทบสัมผัส หรือในขณะที่คิดนึก

    เพราะฉะนั้นแม้โลภะซึ่งมีอยู่เป็นประจำ แล้วก็ยังรู้ด้วยว่าเป็นความชอบ เป็นความพอใจ แต่สติก็ยังไม่ได้ระลึกรู้ตรงลักษณะของโลภะ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเสียก่อน ไม่ต้องอยากอะไรทั้งนั้น เพราะเหตุว่ามีสภาพธรรมที่ปรากฏให้ระลึกรู้ ซึ่งควรรู้ก่อน

    7146 การเจริญสติฯเป็นปกติ ยากที่สุด เพราะความอยากต้องการจะรู้เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง อันนี้ที่ผมเคยกล่าวว่า การเจริญสตินี้ เจริญเป็นปกตินี้ยากที่สุด เพราะว่ายังไงๆ ในเมื่อรู้ว่ามันมี ความอยาก ความต้องการที่จะรู้ มันก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นในขณะนั้นมันก็ไม่เป็นปกติแล้ว ความต้องการ ความอยากรู้

    ท่านอาจารย์ ก็รู้ความอยากนั้นเสียเลยว่าเป็นความอยาก เป็นสภาพธรรมที่อยากรู้ อย่างนั้นถูกนะคะ เพราะเหตุว่ามีสภาพธรรมอื่นปรากฏให้รู้ต่อไป สภาพที่อยากรู้นั้นก็เกิดปรากฏเพียงชั่วเล็กน้อย แล้วก็ดับ แล้วก็หมด

    7147 ปัญญาที่จะรู้ความต่างกันของจิตและเจตสิกมีอย่างไร

    ถาม ทีนี้มีปัญหาอีกปัญหาหนึ่ง คือว่าเรื่องจิตกับเจตสิกนี้มันเกิดพร้อมกันและดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน เกิดในที่ตั้งที่อาศัยเดียวกัน ทีนี้ปัญญาที่จะรู้ความต่างกันของจิตและเจตสิกว่า นี่คือจิต นี่คือเจตสิก ข้อปฏิบัติที่จะรู้ความต่างกันของจิตและเจตสิกนี้ มีอย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ ในอัฏฐสาลินี อรรถกถา ธัมมสังคิณีปกรณ์ จิตตุปปาทกัณฑ์ กล่าวว่า

    จิตเป็นภูมิของสัมปยุตตธรรม

    เช่น ความรู้สึกเป็นสุข ถ้าไม่มีจิต จะมีความรู้สึกเป็นสุข ได้ไหม ไม่มีที่ตั้งของความรู้สึกเป็นสุข แต่ขณะใดที่เกิดสุขเวทนา ความรู้สึกเป็นสุข ขณะนั้นสุขเวทนาเกิดกับจิต จิตเป็นภูมิ เป็นที่ตั้ง เป็นที่อาศัย เป็นที่เกิด เป็นที่อยู่ของสัมปยุตตธรรม คือ สุขเวทนา

    ถ้าไม่มีจิต ทุกขเวทนาจะมีได้ไหม ถ้าไม่มีจิต โทมนัสเวทนาจะมีได้ไหม ก็มีไม่ได้เลย แต่แม้กระนั้นก็รู้ได้ว่า โทมนัสเวทนา ความรู้สึกเสียใจ ไม่สบายใจ น้อยใจ ไม่ใช่จิต เป็นสภาพความรู้สึกที่เกิดกับจิต โดยจิตเป็นภูมิ เป็นที่เกิดของสัมปยุตตธรรม คือของเจตสิกนั้นๆ

    7148 จิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน แต่บางครั้งกลับรู้ยากกว่า

    ผู้ฟัง ก็แปลกนะครับ จิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน แต่บางครั้งรู้ยากกว่า เช่น เห็นครั้งหนึ่ง เมื่อเห็นแล้วบางครั้งก็พอใจ บางครั้งก็ไม่พอใจ บางครั้งก็เฉยๆ โดยการศึกษาก็รู้อยู่ว่า ขณะที่เห็นนั้นเป็นจิตเห็น โดยการปฏิบัติ จิตเห็นก็ปรากฏ แต่มันปรากฏไม่ชัด ขณะที่ความไม่พอใจเกิดขึ้น บางครั้งมันชัดกว่า เพราะฉะนั้นผมเห็นว่า จิตนี้ในบางครั้งกลับรู้ยากกว่า เจตสิกบางประเภทกลับรู้ง่ายกว่า

    ท่านอาจารย์ จิตก็ดี เจตสิกก็ดี เป็นนามธรรม เป็นเพียงธาตุรู้ อาการรู้ แต่ว่าเจตสิกนั้นมีลักษณะต่างๆ ตามประเภทของเจตสิก เช่น เจตนาเจตสิกเป็นสภาพที่จงใจ ตั้งใจ เวทนาเจตสิกเป็นสภาพที่รู้สึกเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือเฉยๆ หรือดีใจ หรือเสียใจ ในสิ่งที่จิตรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นนามธรรม

    เพราะฉะนั้นการที่จะประจักษ์ชัดในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ต้องเข้าถึงอรรถที่เป็นลักษณะของนามธรรมทั้งจิตและเจตสิก เพราะว่าบางทีท่านผู้ฟังชินกับเรื่อง พอดีใจก็บอกว่าดีใจ แต่ว่าไม่ได้ระลึกรู้ตรงลักษณะสภาพที่ดีใจ แต่บอกว่าดีใจ ชินกับเรื่อง เวลาที่โกรธ ก็บอกว่าโกรธ ชินกับเรื่องโกรธ ความโกรธ ชื่อโกรธ แต่ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะที่เผา ที่ร้อน ที่ทำร้าย ที่กระด้างในขณะนั้นว่า เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลทั้งสิ้น

    ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิด ก็ย่อมจะมีปัญญาที่อบรมเจริญขึ้น จะเห็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมเป็นนามธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    สภาพรู้ทางตาก็เป็นเพียงธาตุรู้ ไม่ใช่รูป จึงเป็นนามธรรม เพราะว่าเป็นสภาพที่น้อมไปสู่อารมณ์ ความรู้สึกชอบในสิ่งที่เห็น ก็เป็นแต่เพียงสภาพที่น้อมไปชอบในสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นแต่เพียงความรู้สึกติดด้วยความรู้สึกพอใจ นี่ค่ะ จะต้องเข้าถึงอรรถ ซึ่งเป็นลักษณะของนามธรรม ซึ่งเป็นนามธาตุจริงๆ

    7149 ต้องศึกษาสภาพนามธรรมให้เข้าใจโดยละเอียด ไม่ใช่แค่ชาตินี้ชาติเดียว

    ผู้ฟัง ช่วงนี้แหละครับที่จะทำให้คนเข้าใจผิดเกือบทั้งโลกเลย ที่ว่าถ้าเราไปบอกเขาว่า คุณนี้ไม่รู้จักความโกรธ ถ้าบอกเขาอย่างนี้ เขาจะต้องไม่พอใจ ว่าทำไมเขาจะไม่รู้จักความโกรธ ไม่รู้จักความโลภ เขาจะต้องไม่พอใจ แท้ที่จริงเขาไม่พอใจจริงๆ เขารู้แต่เพียงชื่อ อย่างอาจารย์ว่า รู้จักชื่อ รู้จักเรื่อง แต่ไม่รู้จักลักษณะว่า ความโกรธมีลักษณะร้อน มีลักษณะแผดเผา อย่างนี้เขาไม่รู้จัก เขารู้จักชื่อ รู้จักเรื่อง เพราะฉะนั้นถ้าเราจะบอกเขาว่าเขาไม่รู้จักความโกรธ เขาจะต้องไม่พอใจแน่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะต้องศึกษาให้เข้าใจสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมโดยละเอียด ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว ในอดีตชาติ ไม่ทราบว่ากี่ชาติ และยังในอนาคตชาติ ไม่ทราบว่ากี่ชาติ เป็นกัปๆ เพื่อที่จะให้ประจักษ์ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม และสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม

    เพียงเท่านี้ค่ะ แต่สามารถที่จะรู้ตลอดหมดถึงลักษณะของนามธรรม ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกว่าจะหมดความสงสัย จนสามารถที่จะประจักษ์ลักษณะที่เกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม ตลอดไปจนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งชัดในลักษณะของนิพพาน ซึ่งเป็นธรรมที่ดับกิเลส เท่านี้เองนะคะ คือ การที่จะรู้จริงๆ ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ทั้งโดยการฟัง ทั้งโดยการคิด ทั้งโดยการตรึกตรอง ทั้งโดยการสนทนา ทั้งโดยการอ่าน ทั้งโดยการถาม ทั้งโดยการพิจารณา และการระลึกรู้จนกว่าจะประจักษ์แจ้งจริงๆ ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งมีอยู่เป็นประจำทุกขณะ

    7150 ผู้ที่ศึกษาธรรมไม่ละเอียด จะเข้าใจผิด

    ถาม ในเมื่อเป็นอย่างนี้ ผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรม มันก็จบกันแค่นี้ แต่ผู้ที่ปฏิบัติธรรม แต่ไม่รู้ลักษณะของสติ ทีนี้ผู้ที่หวังดี ถ้าไม่มีจิตวิทยาไปบอกว่า คุณนี้ยังไม่รู้จักลักษณะของสติ ก็จะไปทำให้ผู้นั้นโกรธอีกเหมือนกัน เขาเพียงรู้จักชื่อว่าสติ สติเป็นชื่อ ทีนี้ลักษณะของสติก็มีลักษณะของมัน ทีนี้ถ้าพูดถึงลักษณะเขาก็ว่าเขารู้อีก สติก็แปลว่า ระลึกรู้ เขาก็อ้างว่า เขารู้อีก ก็เป็นชื่ออีกล่ะครับ เป็นกิจ ไม่ใช่เป็นชื่อ เป็นกิจของสติ ระลึกรู้ เพราะฉะนั้นผู้ที่ศึกษาธรรมแล้วไม่ละเอียด จะเข้าใจผิด ที่พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว มันก็เป็นอย่างนี้ล่ะครับ ส่วนใหญ่ผมไปถามว่า คุณรู้จักลักษณะของสติหรือเปล่า บางคนเขาก็ว่า ขณะนี้กำลังฟังธรรม ขณะนี้เรากำลังเรียนธรรม คิดว่าขณะนี้มีสติ อย่างนี้ล่ะครับ ส่วนใหญ่ก็ตอบโดยเดาๆ แสดงว่าไม่รู้ลักษณะของสตินั่นเองครับ

    ท่านอาจารย์ ก็มีสติหลายขั้นนะคะ สติที่เกิดกับกุศลจิต ที่เป็นไปในทาน ศีล เป็นไปในสมถะ คือ ความสงบของจิต เป็นไปในการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่เป็นสติปัฏฐาน แต่ว่าที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ต้องเป็นขั้นสติปัฏฐาน ถ้ามิฉะนั้นจะหลงทาง การปฏิบัติจะผิดจะคลาดเคลื่อน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 18
    16 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ