อรรถของจิตประการที่ ๔ ชื่อว่าจิตตามสมควรโดยอำนาจแห่งสัมปยุตธรรม


    อรรถ คือ ความหมายที่เป็นลักษณะของจิตประการที่ ๔ ซึ่งมีข้อความว่า

    อนึ่ง จิตแม้ทุกดวง ชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร วิจิตร คือต่างกันตามสมควรโดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม

    มีเจตสิก ๕๒ ประเภท แต่ว่าจิตดวงหนึ่ง ๆ ไม่ได้ประกอบด้วยเจตสิกพร้อมกันทั้ง ๕๒ ประเภท แล้วแต่ว่าอกุศลจิตจะประกอบด้วยอกุศลเจตสิกเท่าไร หรือว่ากุศลจิตจะประกอบด้วยโสภณเจตสิกเท่าไร ซึ่งก็ทำให้จิตต่างกันออกไปโดยประเภทต่าง ๆ ซึ่งในการศึกษาเรื่องจิตโดยละเอียด ควรที่จะได้ทราบลักษณะที่ต่างกันของจิตโดยประเภทใหญ่ ๆ คือ

       โดยชาติ คือ การเกิดขึ้นมี ๔ ชาติ ตามที่ได้เคยกล่าวถึงแล้วครั้งหนึ่ง คือ เป็นกุศล ๑ เป็นอกุศล ๑ เป็นวิบาก ๑ เป็นกิริยา ๑

    ในวันหนึ่ง ๆ ไม่ใช่มีแต่กุศลจิตหรืออกุศลจิตเท่านั้นค่ะ มีวิบากจิตและกิริยาจิตด้วย ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า โดยปรมัตถธรรม ซึ่งแสดงจิตโดยชาติเภท คือ โดยประเภทของชาติ ไม่ได้หมายความถึงชาติชั้นวรรณะ หรือว่าชาติจีน ชาติไทย ชาติแขก แต่หมายความถึงจิตประเภทที่เป็นกุศล ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนกับใคร จิตนั้นเป็นกุศล  ถ้าจิตนั้นเป็นอกุศล ไม่ว่าจะเกิดกับใคร ไม่ว่าจะเกิดกับสมณะชีพราหมณ์ ชาติชั้นวรรณะผิวพรรณใดทั้งสิ้น อกุศลก็เป็นอกุศล นั่นคือสภาพของปรมัตถธรรม เพราะประกอบด้วยสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกที่เป็นอกุศลจิต จึงเป็นอกุศล หรือว่าประกอบด้วยโสภณเจตสิก จิตนั้นจึงเป็นกุศล


    หมายเลข 7143
    23 ส.ค. 2558