จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 020


    ท่านอาจารย์ อย่างที่เรียนให้ทราบแล้วว่า แม้รูปธรรมจะเกิดร่วมกันและต่างก็มีลักษณะของตนก็จริง อย่างเช่น ธาตุดินเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะแข้นแข็ง ถึงแม้ว่าจะมีธาตุไฟเกิดร่วมด้วยในที่นั้น ไฟก็ไม่ได้ไหม้ธาตุดิน ต้องแยกจากกันแม้ว่าเกิดร่วมกัน โดยที่ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่า เป็นรูปที่ละเอียดแล้ว แต่โดยนัยของรูป ๒๘ รูปใดที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งมีทั้งหมด ๗ รูปนั้น เป็นรูปหยาบ ไม่ใช่รูปละเอียด เพราะเหตุว่ายังปรากฏ ยังสามารถกระทบกับอายตนะ หรือปสาท แล้วก็มีการรู้เสียงทางหู ซึ่งจิตและเจตสิกจะไม่ปรากฏทางหู จะไม่ปรากฏทางตา จะไม่ปรากฏทางจมูก จะไม่ปรากฏทางลิ้น จะไม่ปรากฏทางกาย

    เพราะฉะนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่ละเอียด และที่เป็นสัมปยุตตธรรม ก็เพราะเหตุว่าแม้ว่ารูปเกิดพร้อมกับรูป ดับพร้อมกันกับรูปก็จริง ก็ไม่ใช่สัมปยุตตธรรม เพราะเหตุว่ายังไม่พร้อมเพรียงกัน หรือร่วมกัน ละเอียดอย่างเดียวกัน เหมือนกับจิตกับเจตสิก ซึ่งนอกจากเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน แล้วก็ยังรู้อารมณ์เดียวกัน นี่คือสภาพธรรมที่ต่างกันระหว่างรูปธรรมซึ่งไม่ใช่สัมปยุตตธรรม และนามธรรมซึ่งเป็นสัมปยุตตธรรม เมื่อเกิดร่วมกันแล้ว ร่วมกันจริงๆ ไม่ใช่รูปสามารถแยกปรากฏแต่ละทวาร อย่างเช่นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นมหาภูตรูป ๔ ขณะที่เกิดขึ้นจะมีอุปาทายรูปอีก ๔ เกิดร่วมด้วย คือ เกิดพร้อมกัน คือ สี กลิ่น รส โอชะ ๘ รูปนี้ไม่แยกจากกันเลย ใช้คำว่า “อวินิพโภครูป” คือ รูปซึ่งไม่แยกจากกัน แต่แม้กระนั้นสีปรากฏทางตา แยกอาการที่ปรากฏ กลิ่นปรากฏทางจมูก รสปรากฏทางลิ้น โผฏฐัพพะ คือ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ปรากฏทางกาย แต่นามธรรมเป็นสภาพที่ละเอียดกว่านั้น แล้วก็สัมปยุตต์กันจริงๆ เพราะเหตุว่าแม้จะเกิดขึ้นแล้วดับไปโดยรวดเร็ว แต่ก็มีอารมณ์เดียวกัน คือ รู้อารมณ์เดียวกัน กระทำกิจในอารมณ์เดียวกัน นั่นคือความหมายของสัมปยุตตธรรม

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมถ้าศึกษาโดยละเอียด แล้วให้เป็นความเข้าใจที่ชัดเจนจริงๆ ก็ไม่ต้องท่อง ใช่ไหมคะ เพราะเหตุว่าในวันนี้ได้ยินคำว่า สัมปยุตธรรม ซึ่งหมายความถึงนามธรรม ได้แก่ จิตและเจตสิกเท่านั้น และจิตและเจตสิกจะเกิดโดยไม่มีปัจจัยไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อจิตและเจตสิกเกิดร่วมกัน จิตเป็นสัมปยุตปัจจัยให้เจตสิกที่เกิดร่วมกันเกิดขึ้น เจตสิกเป็นสัมปยุตปัจจัยให้จิตซึ่งเกิดร่วมกันเกิดขึ้น เป็นปัจจัยโดยปัจจุบัน หมายความว่า ปัจจัยและปัจจยุปบัน ธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะปัจจัยนั้น เกิดขึ้นพร้อมกัน แล้วก็ดับพร้อมกัน แล้วก็เป็นสภาพธรรมที่ละเอียดกว่ารูป เพราะเหตุว่ารู้อารมณ์เดียวกันและเกี่ยวข้องกัน

    ผัสสะกระทบอารมณ์ใด เวทนารู้สึกในอารมณ์นั้นพร้อมกันทันที ไม่ได้แยกกันเลย เกี่ยวข้องกัน สัมปยุตกัน ถ้าผัสสะดับไป แล้วเวทนาเกิดขึ้น แล้วเวทนาจะรู้ในอารมณ์ที่กระทบได้อย่างไร เพราะเหตุว่าเมื่อผัสสะกระทบแล้ว ดับไปแล้ว ถ้าเวทนาเกิดภายหลัง เวทนาจะไปรู้อารมณ์ที่ผัสสะกระทบดับไปได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเวทนาและผัสสะเกิดพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน เป็นปัจจัย คือ สัมปยุตตปัจจัยซึ่งกันและกัน

    เพราะฉะนั้นเรื่องของปัจจัยก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังมี กำลังเป็น กำลังปรุงแต่ง เป็นปัจจัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้น จะทราบหรือไม่ทราบก็ตามแต่ แต่ว่าสภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดดับอยู่ทุกขณะจิตนี้เป็นปัจจัย มีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น แล้วก็แยกตามสภาพของธรรมนั้นๆ เช่น รูปธรรมไม่ใช่นามธรรม เพราะฉะนั้นรูปธรรมทั้งหมดไม่ใช่สัมปยุตธรรม เพราะฉะนั้นไม่เป็นสัมปยุตปัจจัย

    7102 รูปธรรมเป็นปัจจัยแก่นามธรรมโดยวิปยุตปัจจัยได้

    แต่เวลาที่รูปธรรมเป็นปัจจัยแก่นามธรรม เช่น จักขุปสาทเป็นปัจจัยแก่จักขุวิญญาณ ถ้าไม่มีจักขุปสาท จักขุวิญญาณ การเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้จะมีไม่ได้ จะเกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้นรูปธรรมเป็นปัจจัยให้แก่นามธรรมเกิดขึ้นได้ แต่เป็นวิปปยุตตปัจจัย ไม่ใช่สัมปยุตตปัจจัย

    เพราะฉะนั้นความหมายของ “วิปปยุตปัจจัย” คือ นามธรรมเป็นปัจจัยแก่รูปธรรม หรือรูปธรรมเป็นปัจจัยแก่นามธรรม ชื่อว่า “วิปปยุตปัจจัย” เพราะเหตุว่าไม่ใช่ธรรมที่สัมปยุตต์กัน หรือเกี่ยวข้องกันอย่างนามธรรม

    7103 รูปเกิดพร้อมกับจิตเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ใครมีข้อสงสัยอะไรไหมคะ เชิญค่ะ

    ถาม ดิฉันมีความสงสัยคำว่า รูปเกิดพร้อมกับจิตก็ได้ ขอให้อาจารย์กรุณาอธิบายยกตัวอย่างด้วยค่ะ

    ท่านอาจารย์ จิตตชรูป เป็นรูปที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน เกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิต ที่กายของแต่ละบุคคลนี้ มีรูปเป็นกลุ่มๆ ที่เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน เกิดร่วมกันก็ได้ แต่เพราะเหตุว่าไม่ใช่ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ จึงไม่ใช่สัมปยุตธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อแตกย่อยร่างกายออกเป็นส่วนที่ละเอียดที่สุด สำหรับร่างกายของสัตว์ บุคคลที่มีชีวิต จะมีกลุ่มของรูปมากมายหลายกลุ่ม บางกลุ่มเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เช่น กลุ่มของจักขุปสาทที่อยู่ตรงกลางตา เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน ไม่มีใครสามารถที่จะสร้างจักขุปสาทรูปได้ ไม่มีใครสามารถจะใช้เครื่องมือใดๆ ทั้งสิ้น เอารูปใดๆ เอาอุตุทั้งหลายมาปรุงแต่งที่จะให้เป็นโสตปสาทเกิดขึ้นก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นบางรูปเป็นรูปกลุ่มที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน บางรูปเป็นกลุ่มที่เกิดเพราะอุตุ ความเย็น ความร้อน เป็นสมุฏฐาน บางรูปเป็นกลุ่มที่เกิดเพราะอาหารที่รับประทานเข้าไปเป็นสมุฏฐาน ทำไมยิ้มได้ ทำไมพูดได้ ทำไมเดินได้ ทำไมแสดงอาการต่างๆ ได้ เมื่อเป็นรูปของสัตว์บุคคล เพราะเหตุว่ามีกลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ให้เกิดการเคลื่อนไหว การกระทำทางกาย ทางวาจา

    7104 รูปเกิดพร้อมกับรูป แต่ไม่เกี่ยวข้องกัน รูปจึงไม่เป็นสัมปยุตธรรม

    ผู้ถาม คำหนึ่งที่บอกว่า รูปเกิดพร้อมกับรูปนี้ จะเป็นความเข้าใจถูกไหมคะ คือว่า เรากระทบธาตุหนึ่งธาตุใด ก็แปลว่าไปกระทบธาตุทั้ง ๔ ด้วยกัน แต่ว่าความรู้สึกของธาตุใดที่จะเป็นอธิบดี หรือว่าเป็นใหญ่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ มหาภูตรูป ๔ ไม่ได้แยกกันเลย แล้วแต่ว่าขณะนั้นน้อมรู้ลักษณะของรูปใด ถ้ารู้ลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง ขณะนั้นก็เป็นกายวิญญาณที่มีปฐวีธาตุเป็นอารมณ์ ถ้ารู้ลักษณะที่เย็นและร้อน ขณะนั้นก็มีเตโชธาตุเป็นอารมณ์ ขณะที่รู้ลักษณะที่ตึงหรือไหว ขณะนั้นก็มีวาโยธาตุเป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง ก็เข้าใจว่า มหาภูตรูป คำว่า รูปเกิดร่วมกับรูปนั้น แต่สติระลึกรู้ได้ก็เพราะความที่รูปนั้นเกิดร่วมกันแล้ว แต่จะปรากฏได้ทีละอย่าง

    ท่านอาจารย์ แม้ว่าจะเกิดร่วมกัน ที่จะต้องเข้าใจในวันนี้ ก็คือว่า ถึงแม้ว่ารูปจะเกิดร่วมกันก็จริง และดับร่วมกันพร้อมกันก็จริง แต่รูปทั้งหมดไม่ใช่สัมปยุตตธรรม เพราะเหตุว่าไม่ใช่สภาพธรรมซึ่งรู้อารมณ์ และก็ไม่ใช่สภาพธรรมที่ละเอียดและเกี่ยวข้องกัน เช่น เวลาที่ผัสสะกระทบกับรูปารมณ์ จิตเกิดขึ้นเห็นรูปารมณ์ ผัสสะในขณะที่จิตเกิดขึ้นเห็นนั้นเอง กระทบรูปารมณ์ เวทนาที่เกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณที่เห็นรูปารมณ์นั้นเอง เป็นอุเบกขาเวทนา

    เพราะฉะนั้นก็เกี่ยวข้องกันทั้งผัสสะ ทั้งเวทนา ทั้งจิต และทั้งสัญญา ซึ่งจำหรือหมายรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นจึงเป็นสัมปยุตตธรรม เพราะว่าเกี่ยวข้องจริงๆ สัมปยุตต์จริงๆ รู้อารมณ์เดียวกันจริงๆ ไม่เพียงแต่เกิดพร้อมกันและดับพร้อมกันเท่านั้น เพราะเหตุว่ารูปก็เกิดพร้อมกันและดับพร้อมกัน แต่รูปไม่ใช่สัมปยุตตธรรม เพราะเหตุว่าไม่เกี่ยวข้องกัน ไม่สัมปยุตต์กัน ไม่รู้อารมณ์

    7105 อนันตรปัจจัย

    สำหรับความละเอียดของนามธรรมซึ่งเป็นสัมปยุตปัจจัย เป็นสัมปยุตธรรม และเป็นสัมปยุตปัจจัยนี้ ก็ยังมีประการอื่น ซึ่งถ้ากล่าวถึงแล้วจะทำให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาเห็นความต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม

    ขอกล่าวถึง “อนันตรปัจจัย” ซึ่งท่านผู้ฟังก็ได้ทราบแล้วว่า เมื่อจิตเกิดขึ้นและดับไปแล้ว จิตที่เกิดและดับไปนั้นเป็นปัจจัยทำให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ไม่มีใครยับยั้งการเกิดขึ้นในขณะต่อไปของจิตได้เลย ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นพระอรหันต์ และยังไม่ถึงจุติจิต ก็จะต้องมีจิตเกิดต่อจากจิตดวงที่ดับไป เพราะเหตุว่าจิตทุกดวงเป็นอนันตรปัจจัย เมื่อดับไปแล้วก็ทำให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น ซึ่งรูปธรรมไม่เป็นอย่างนั้น นี่เป็นความต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม

    ท่านผู้ฟังก็อาจจะเห็นรูป ก็ไม่ได้สูญหาย อย่างจักขุปสาท รู้โดยการฟังว่า เกิดดับ จึงมีการเสื่อม มีโรคตา เพราะเหตุว่าถ้าเกิดมาอย่างไรคงอยู่อย่างนั้น ก็ไม่มีโรคตาต่างๆ แต่เพราะแม้รูปธรรมก็เกิดดับ แม้ว่าจะช้ากว่าจิต แต่เมื่อรูปธรรมหนึ่งดับไป การดับไปของรูปธรรมนั้น ไม่เป็นอนันตรปัจจัยให้รูปธรรมอื่นเกิดต่อ แต่ว่ารูปธรรมอื่นซึ่งเกิดต่อ เกิดเพราะสมุฏฐานของตนเป็นปัจจัย เช่น ทุกท่านขณะนี้มีจักขุปสาทกำลังเกิดดับอย่างรวดเร็ว จักขุปสาทใดซึ่งเกิดแล้วยังไม่ดับ และกระทบกับรูปารมณ์ ก็เป็นปัจจัยให้จักขุทวารวิถีจิตเกิดขึ้นเห็นรูปารมณ์ เพราะอาศัยจักขุปสาทที่ยังไม่ดับ แต่เมื่อจักขุปสาทดับไป การดับของจักขุปสาทนั้นไม่ใช่อนันตรปัจจัยที่จะให้จักขุปสาทต่อไปเกิดขึ้น แต่จักขุปสาทที่เกิดต่อจากจักขุปสาทนี้มีกรรมเป็นปัจจัย

    เพราะฉะนั้นจักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป เป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย ถ้ากรรมไม่กระทำให้จักขุปสาทเกิด บุคคลนั้นจะเป็นผู้ที่ตาบอดทันที

    เพราะฉะนั้นการดับไปของจักขุปสาท ไม่เป็นอนันตรปัจจัยให้จักขุปสาทต่อไปเกิดขึ้น แต่การดับไปของจิตและเจตสิกเป็นอนันตรปัจจัยให้จิตและเจตสิกต่อไปเกิดขึ้น

    นี่เป็นความต่างกันของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม

    7106 สมนันตรปัจจัย

    นอกจากอนันตรปัจจัยก็มีสมนันตรปัจจัย ซึ่งหมายความว่า การเกิดต่อไปของจิต ย่อมเป็นไปตามลำดับของปัจจัยด้วยดี เช่น เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นสมนันตรปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้น ถ้าขณะนั้นเป็นอารมณ์ที่กระทบจักขุปสาท แต่ถ้าเป็นเสียงที่กระทบโสตปสาท เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว ปัญจทวาราวัชชนจิตนั้นเป็นสมนันตรปัจจัยให้โสตวิญญาณจิตเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นจิตแต่ละดวงซึ่งเป็นนามธรรมที่ละเอียด เป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้นโดยประการต่างๆ คือ โดยเป็นปัจจัยต่างๆ ซึ่งถ้าศึกษาโดยละเอียดแล้ว ก็จะเห็นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา โดยที่ว่าไม่มีใครที่สามารถจะเปลี่ยนแปลงสภาพของธรรมนั้นๆ ได้ เช่น เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไป จะไม่ให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้น ถ้าเป็นอารมณ์ที่กระทบจักขุปสาท เป็นไปไม่ได้ ไม่มีใครที่สามารถจะไปยับยั้งได้เลย เพราะอะไร เพราะปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นสมนันตตรปัจจัยให้จักขุวิญญาณจิตเกิด หลังจากที่ปัญจทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว แต่รูปไม่เป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้นสัมปยุตปัจจัยก็ดี อนันตรปัจจัยก็ดี สมนันตรปัจจัยก็ดี เป็นปัจจัยที่เป็นนามธรรมเท่านั้น รูปธรรมทั้งหมดไม่ใช่สัมปยุตปัจจัย ไม่ใช่อนันตรปัจจัย ไม่ใช่สมนันตรปัจจัย

    7107 อาเสวนปัจจัย

    สำหรับอาเสวนปัจจัยได้เคยกล่าวถึงแล้วในอรรถ คือ ความหมายที่เป็นลักษณะของจิตประการที่ ๒ ที่ชื่อว่า “จิต” เพราะสั่งสมสันดานของตน ด้วยสามารถชวนวิถี

    ซึ่งได้กล่าวถึงแล้วว่า สำหรับจิตที่เป็นชวนวิถีนี้เกิดดับซ้ำกัน ๗ ขณะ

    ชวนวิถีขณะที่ ๑ เป็นอาเสวนปัจจัย ให้ชวนวิถีจิตขณะที่ ๒ เกิดขึ้น

    ชวนวิถีขณะที่ ๒ เป็นอาเสวนปัจจัย ให้ชวนวิถีจิตขณะที่ ๓ เกิดขึ้น

    ชวนวิถีขณะที่ ๓ เป็นอาเสวนปัจจัย ให้ชวนวิถีจิตขณะที่ ๔ เกิดขึ้น

    ชวนวิถีขณะที่ ๔ เป็นอาเสวนปัจจัย ให้ชวนวิถีจิตขณะที่ ๕ เกิดขึ้น

    ชวนวิถีขณะที่ ๕ เป็นอาเสวนปัจจัย ให้ชวนวิถีจิตขณะที่ ๖ เกิดขึ้น

    ชวนวิถีขณะที่ ๖ เป็นอาเสวนปัจจัย ให้ชวนวิถีจิตขณะที่ ๗ เกิดขึ้น โดยเหตุโดยผล หลังจากนั้นแล้ว ไม่ใช่ชวนวิถี เพราะฉะนั้นชวนวิถีที่ ๗ ไม่เป็นอาเสวนปัจจัย เพราะไม่ทำให้ชวนวิถีที่ ๘ เกิดขึ้นได้

    นี่ค่ะ เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา แล้วก็เกิดดับอยู่ทุกขณะ ในขณะนี้ตามความเป็นจริง

    7108 นัตถิปัจจัย

    สำหรับนามธรรมซึ่งละเอียดว่ารูปธรรม เป็นสัมปยุตปัจจัย อนันตรปัจจัย เป็นสมนันตรปัจจัย เป็นอาเสวนปัจจัย แล้วก็ยังมีอีก ๒ ปัจจัย ซึ่งเฉพาะนามธรรมเท่านั้น คือ นัตถิปัจจัยและวิคตปัจจัย ซึ่งความหมายท่านผู้ฟังก็ทราบแล้ว เพียงแต่ว่าไม่ได้แสดงโดยสภาพของปัจจัยว่า เป็นปัจจัยอย่างไร เช่น สภาพธรรมที่เป็นนัตถิปัจจัย ได้แก่ สภาพธรรมซึ่งเป็นปัจจัยเมื่อปราศไปแล้ว ถ้าตราบใดที่จิตดวงหนึ่งยังตั้งอยู่ คือ ยังไม่ดับไป จิตดวงต่อไปจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ไม่มีจิตดวงใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งจะเกิดซ้อนขึ้นมาได้อีก ๑ ดวง เพราะฉะนั้นการปราศไปของจิตเป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นโดยนัตถิปัจจัย หมายความว่า โดยสภาพที่ไม่มี เพราะหมดสิ้นไป ไม่ใช่ไม่มี เพราะไม่เกิดขึ้น

    7109 ความเหมือนและความต่างกันของอนันตรปัจจัย กับ สมนันตรปัจจัย

    ถาม อนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย ในอรรถกถาท่านกล่าวว่า มีสภาพธรรมที่เหมือนกัน ต่างกันตรงที่ว่า สมนันตรปัจจัยนั้นมีกำลังมากกว่าเท่านั้นเอง ผมก็คิดว่า ไม่น่าจะเหมือนกันเลย เพราะว่าปัจจัยทั้ง ๒๔ เป็นโดยย่อ แล้วก็เป็นปัจจัยที่ใหญ่ ปัจจัยใหญ่ๆ ไม่น่าจะเหมือนกันได้

    ท่านอาจารย์ เหมือนกันโดยความหมายที่ว่า เวลาที่สภาพธรรมนั้นดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้นามธรรมเกิดต่อทันที โดยไม่มีระหว่างคั่น จึงใช้คำว่า “อนันตรt” แต่เวลาที่ใช้คำว่า “สมนันตระ” ก็เพิ่มความหมายขึ้นมาอีกเล็กน้อย คือ ทำให้สภาพธรรมที่เกิดต่อ เกิดต่อเป็นลำดับด้วยดี

    ยังไงก็ต้องเกิดต่ออยู่แล้ว เพราะฉะนั้นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย ก็คือว่า เมื่อสภาพธรรมนั้นดับไป เป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นเกิดต่อ แต่เมื่อเกิดต่อ ไม่ได้เกิดต่อแบบไม่มีระเบียบ หรือว่าตามใจชอบ หรือว่าตามใจใคร แต่ว่าการที่จะเกิดต่อขึ้นได้นั้น ต้องเป็นไปตามลำดับด้วยดีของปัจจัยนั้น เช่น เมื่อจักขุวิญญาณจิตดับไป จะให้จักขุวิญญาณจิตเกิดขึ้น หรือปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดต่อ เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าจักขุวิญญาณทำกิจเห็น ทัสสนกิจแล้ว เพราะฉะนั้นจิตที่เกิดดวงต่อไป ซึ่งเป็นสัมปฏิจฉนจิต ตามลำดับโดยดี

    ผู้ฟัง อย่างนี้ก็แสดงความต่างกัน แล้วทำไมในอรรถกถาท่านจึงไม่แสดงอย่างนี้ ท่านบอกว่าเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เหมือนกันโดยที่ว่า ไม่มีสภาพธรรมอื่นจะเกิดคั่น่ได้ จะต้องมีสภาพธรรมนั้นแหละ ตามปัจจัยนั้นเกิดต่อ

    ผู้ฟัง ถ้าอาจารย์อธิบายมีระเบียบอย่างนี้ ก็พอที่จะเข้าใจว่า จักขุวิญญาณเกิดขึ้นแล้ว จักขุวิญญาณจะเกิดขึ้นอีก หรือปัญจทวาราวัชชนจิตจะเกิดต่ออีกไม่ได้ อย่างนี้มันก็มีความต่างกันนี่ครับ ถ้าไม่ได้ฟังอาจารย์อธิบายอย่างนี้ เพียงอ่านในอรรถกถา ท่านก็บอกว่าเหมือนกัน ผมก็งง คิดแล้วไม่น่าจะเหมือนกัน เพราะปัจจัย ๒๔ นี้เป็นปัจจัยโดยย่อ ปัจจัยใหญ่ๆ จะเหมือนกันได้อย่างไร ถ้าเหมือนกันแล้ว พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงอีกชื่อหนึ่งเพื่ออะไร ผมคิดว่า มันจะต้องมีความต่างกัน

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นสิ่งที่ละเอียด สุขุม คัมภีระจริงๆ ลึกซึ้งจริงๆ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงตรัสรู้ และไม่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ย่อมไม่มีใครสามารถที่จะรู้ชัดถึงลักษณะที่ละเอียดและสุขุมของสภาพธรรมนั้นๆ โดยเฉพาะในเรื่องของปัจจัย บางครั้งท่านผู้ฟังอาจจะพิจารณาเพียงคำ และรู้สึกว่าคล้ายคลึงกันเหลือเกิน เช่น นามธรรมซึ่งเป็นปัจจัยแก่นามธรรม โดยเป็นนัถติปัจจัยและวิคตปัจจัย

    นัตถิปัจจัย คือ ความไม่มีนั่นแหละเป็นปัจจัยให้เกิดมีขึ้น และต้องไม่มีในขณะทั้ง ๓ คือ ทั้งอุปาทขณะ ฐีติขณะ และภังคขณะ ถ้าอุปาทขณะไม่มี แต่ฐีติขณะมี ภังคขณะมี นามธรรมอื่นยังไม่สามารถที่จะเกิดต่อได้

    เพราะฉะนั้นความหมายของปัจจัยของจิตที่เป็นนัตถิปัจจัย คือ

    ความไม่มีนั่นแหละ เป็นปัจจัยให้เกิดมีขึ้น คือ ต้องไม่มีในขณะทั้ง ๓ ถ้านามธรรมนั้นไม่ดับไป นามธรรมต่อไป คือ จิตเจตสิกดวงต่อๆ ไปก็เกิดไม่ได้

    7110 วิคตปัจจัย

    สำหรับ “วิคตปัจจัย” ก็คือจิตนั่นเอง แต่มีอรรถว่า ธรรมที่อุปการะโดยความเป็นผู้ปราศไป ไม่ใช่ไม่มีเลย

    สำหรับนัตถิปัจจัย คือ ความไม่มีนั่นแหละเป็นปัจจัยให้เกิดมีขึ้น แต่ความไม่มีนั้น ต้องเข้าใจด้วยว่า ไม่มีโดยเป็นวิคตปัจจัย เพราะโดยความเป็นผู้ปราศไป ไม่ใช่ไม่มีโดยการไม่เคยเกิดขึ้น แต่ไม่มี เพราะเกิดแล้วปราศไป

    เพราะฉะนั้นขณะที่ไม่มี เป็นปัจจัยหนึ่ง คือ นัตถิปัจจัย ขณะที่ปราศไป เป็นวิคตปัจจัย

    เพราะฉะนั้นก็คล้ายคลึงกัน และสำหรับรูปธรรมไม่ใช่นัตถิปัจจัยและวิคตปัจจัย เพราะเหตุว่ารูปธรรมทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะสมุฏฐานหนึ่งสมุฏฐานใดใน ๔ สมุฏฐาน คือ เพราะกรรมเป็นสมุฏฐานพวกหนึ่ง กลุ่มหนึ่ง เพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ประเภทหนึ่ง เพราะอุตุเป็นสมุฏฐานอีกประเภทหนึ่ง เพราะอาหารเป็นสมุฏฐานก็ประเภทหนึ่ง แต่ไม่ใช่ว่าเมื่อรูปธรรมรูปหนึ่งรูปใดดับไป แล้วจะเป็นปัจจัยโดยให้รูปธรรมอื่นเกิดต่อ โดยอนันตรปัจจัย หรือสมันตรปัจจัย หรือนัตถิปัจจัย หรือวิคตปัจจัยไม่ได้

    นี่เป็นความต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม

    ถาม ฟังๆ ดูแล้ว ๒ ปัจจัยนี้ไม่มีอะไรต่างกัน นัตถิปัจจัยกับวิคตปัจจัย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นคนธรรมดา ก็จะแสดงปัจจัยเดียว แต่เมื่อเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า นัตถิปัจจัยคือ ความไม่มีนั่นแหละเป็นปัจจัยให้เกิดมีขึ้น ส่วนวิคตปัจจัย ความเป็นผู้ปราศไป ไม่ใช่ไม่มีเลย แต่มีแล้วปราศไป หมดไป ต้องในขณะนั้น

    7111 อัตถิปัจจัย คู่ นัตถิปัจจัย กับ อวิคตปัจจัย คู่ วิคตปัจจัย

    ถาม ก็นั่นซิครับ นัตถิปัจจัยก็เหมือนกัน เกิดขึ้นแล้วดับไป ที่ดับไปก็บอกว่า ไม่มี วิคตปัจจัยก็อันเดียวกัน ฟังดูแล้วก็เหมือนกัน ทรงแสดงไว้ แล้วเราก็ยังไม่เข้าใจอยู่นั่นแล้ว นัตถิปัจจัยกับวิคตปัจจัย ๒ ปัจจัยนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ และอาจารย์อธิบาย เราก็ยังไม่เข้าใจ ซึ่งก็คิดว่าเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นก็คงจะต้องกล่าวถึงอีก ๒ ปัจจัย ซึ่งคู่กัน คือ อัตถิปัจจัยคู่กับนัตถิปัจจัย อวิคตปัจจัยคู่กับวิคตปัจจัย แต่สำหรับอัตถิปัจจัยนั้น นามธรรมเป็นปัจจัยแก่นามธรรม โดยต้องเกิดพร้อมกัน เพราะสภาพธรรมหนึ่งมี จึงเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งมีขึ้นหรือเกิดขึ้นร่วมกัน นั่นเป็นอัตถิปัจจัย

    แต่สำหรับอัตถิปัจจัยนั้นไม่ใช่แต่เฉพาะนามธรรมเท่านั้น รูปธรรมก็เป็นอัตถิปัจจัยด้วย เช่น เมื่อมหาภูตรูปหนึ่งมหาภูตรูปใดเกิดขึ้นมีขึ้น เป็นปัจจัยให้มหาภูตรูป ๓ เกิดขึ้น มีขึ้นพร้อมกันในขณะนั้น เพราะฉะนั้นสำหรับอัตถิปัจจัยนั้น ได้แก่ นามธรรมก็ได้ รูปธรรมก็ได้ แต่สำหรับนัตถิปัจจัยนั้น เป็นเฉพาะนามธรรมอย่างเดียว

    นี่คือความต่างกัน เพราะฉะนั้นก็จะต้องเห็นว่า โดยความมีและโดยความไม่มี อย่างหนึ่ง โดยความปราศไป และโดยความไม่ปราศไปอีกอหย่างหนึ่ง

    มีกับหมด เหมือนกันไหมคะ

    ผู้ฟัง ไม่เหมือน

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เมื่อไม่เหมือน อัตถิปัจจัย เพราะธรรมอย่างหนึ่งมี จึงเป็นปัจจัยให้มีธรรมอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้น นั่นคือมี ส่วนหมด เพราะเหตุว่าสภาพธรรมหนึ่งหมดไป ปราศไป จึงเป็นปัจจัยให้ธรรมอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้น

    ถ้าเข้าใจว่าคล้าย ก็ดี จะได้ไม่ลืม พอนึกถึงนัตถิปัจจัย ก็จะได้นึกถึงวิคตปัจจัยด้วย พอคิดถึงอัตถิปัจจัย ก็จะได้คิดถึงอวิคตปัจจัยด้วย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 18
    16 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ