ความเหมือนและความต่างกันของอนันตรปัจจัย กับ สมนันตรปัจจัย


    ถาม   อนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย ในอรรถกถาท่านกล่าวว่า มีสภาพธรรมที่เหมือนกัน ต่างกันตรงที่ว่า สมนันตรปัจจัยนั้นมีกำลังมากกว่าเท่านั้นเอง ผมก็คิดว่า ไม่น่าจะเหมือนกันเลย เพราะว่าปัจจัยทั้ง ๒๔ เป็นโดยย่อ แล้วก็เป็นปัจจัยที่ใหญ่ ปัจจัยใหญ่ ๆ ไม่น่าจะเหมือนกันได้

    ส.   เหมือนกันโดยความหมายที่ว่า เวลาที่สภาพธรรมนั้นดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้นามธรรมเกิดต่อทันที โดยไม่มีระหว่างคั่น จึงใช้คำว่า “อนันตรt” แต่เวลาที่ใช้คำว่า “สมนันตระ” ก็เพิ่มความหมายขึ้นมาอีกเล็กน้อย คือ ทำให้สภาพธรรมที่เกิดต่อ เกิดต่อเป็นลำดับด้วยดี

    ยังไงก็ต้องเกิดต่ออยู่แล้ว เพราะฉะนั้นอนันตรปัจจัยและสมนันตรปัจจัย ก็คือว่า เมื่อสภาพธรรมนั้นดับไป เป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นเกิดต่อ แต่เมื่อเกิดต่อ ไม่ได้เกิดต่อแบบไม่มีระเบียบ หรือว่าตามใจชอบ หรือว่าตามใจใคร แต่ว่าการที่จะเกิดต่อขึ้นได้นั้น ต้องเป็นไปตามลำดับด้วยดีของปัจจัยนั้น เช่น เมื่อจักขุวิญญาณจิตดับไป จะให้จักขุวิญญาณจิตเกิดขึ้น หรือปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดต่อ เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าจักขุวิญญาณทำกิจเห็น ทัสสนกิจแล้ว เพราะฉะนั้นจิตที่เกิดดวงต่อไป ซึ่งเป็นสัมปฏิจฉนจิต ตามลำดับโดยดี

    ผู้ฟัง    อย่างนี้ก็แสดงความต่างกัน แล้วทำไมในอรรถกถาท่านจึงไม่แสดงอย่างนี้ ท่านบอกว่าเหมือนกัน

    ส.   เหมือนกันโดยที่ว่า ไม่มีสภาพธรรมอื่นจะเกิดคั่น่ได้ จะต้องมีสภาพธรรมนั้นแหละ ตามปัจจัยนั้นเกิดต่อ

    ผู้ฟัง    ถ้าอาจารย์อธิบายมีระเบียบอย่างนี้ ก็พอที่จะเข้าใจว่า จักขุวิญญาณเกิดขึ้นแล้ว จักขุวิญญาณจะเกิดขึ้นอีก หรือปัญจทวาราวัชชนจิตจะเกิดต่ออีกไม่ได้ อย่างนี้มันก็มีความต่างกันนี่ครับ ถ้าไม่ได้ฟังอาจารย์อธิบายอย่างนี้ เพียงอ่านในอรรถกถา ท่านก็บอกว่าเหมือนกัน ผมก็งง คิดแล้วไม่น่าจะเหมือนกัน เพราะปัจจัย ๒๔ นี้เป็นปัจจัยโดยย่อ ปัจจัยใหญ่ ๆ จะเหมือนกันได้อย่างไร ถ้าเหมือนกันแล้ว พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงอีกชื่อหนึ่งเพื่ออะไร ผมคิดว่า มันจะต้องมีความต่างกัน

    ส.   สภาพธรรมที่มีจริง ๆ เป็นสิ่งที่ละเอียด สุขุม คัมภีระจริง ๆ ลึกซึ้งจริง ๆ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงตรัสรู้ และไม่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ย่อมไม่มีใครสามารถที่จะรู้ชัดถึงลักษณะที่ละเอียดและสุขุมของสภาพธรรมนั้น ๆ โดยเฉพาะในเรื่องของปัจจัย บางครั้งท่านผู้ฟังอาจจะพิจารณาเพียงคำ และรู้สึกว่าคล้ายคลึงกันเหลือเกิน เช่น นามธรรมซึ่งเป็นปัจจัยแก่นามธรรม โดยเป็นนัถติปัจจัยและวิคตปัจจัย

       นัตถิปัจจัย คือ ความไม่มีนั่นแหละเป็นปัจจัยให้เกิดมีขึ้น และต้องไม่มีในขณะทั้ง ๓ คือ ทั้งอุปาทขณะ ฐีติขณะ และภังคขณะ ถ้าอุปาทขณะไม่มี แต่ฐีติขณะมี ภังคขณะมี นามธรรมอื่นยังไม่สามารถที่จะเกิดต่อได้

    เพราะฉะนั้นความหมายของปัจจัยของจิตที่เป็นนัตถิปัจจัย คือ

       ความไม่มีนั่นแหละ เป็นปัจจัยให้เกิดมีขึ้น คือ ต้องไม่มีในขณะทั้ง ๓ ถ้านามธรรมนั้นไม่ดับไป นามธรรมต่อไป คือ จิตเจตสิกดวงต่อๆไปก็เกิดไม่ได้


    หมายเลข 7109
    23 ส.ค. 2558