จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 048


    ชื่อว่า “ความกำหนัดนัก” โดยความหมายว่า ยินดีรุนแรง อันนี้ทุกท่านก็ย่อมทราบได้ เวลาที่เกิดดีใจอย่างมาก ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของความกำหนัดนัก

    ชื่อว่า “ความคล้อยตามอารมณ์” เพราะยังสัตว์ทั้งหลายให้คล้อยตามไปในอารมณ์ทั้งหลาย

    นี่เป็นสิ่งที่ควรจะสังเกตและทราบได้ว่า ไม่ว่าท่านจะเห็นอะไร ไม่ได้ทิ้งสิ่งที่ปรากฏทางตาเลย ถ้าเห็นต้นไม้ ก็นึกถึงเรื่องต้นไม้นั้น ถ้าเห็นดอกไม้ ก็นึกถึงเรื่องดอกไม้นั้น ถ้าเห็นเสื้อผ้า ก็นึกถึงเรื่องเสื้อผ้านั้น ถ้าเห็นอาหาร ก็นึกถึงเรื่องอาหารนั้น ถ้าได้กลิ่นอะไร ก็นึกถึงเรื่องของกลิ่นนั้น ถ้าได้ยินเสียงอะไร ก็นึกถึงเรื่องของเสียงนั้น ไม่ว่าอะไรจะกระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตที่คล้อยตามไปในสิ่งที่ปรากฏในขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต

    เพราะฉะนั้นในวันหนึ่งๆ ไม่มีทางที่จะยับยั้งโลภมูลจิตได้ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ขณะนี้กำลังคล้อยตามอารมณ์ที่ปรากฏหรือเปล่า คล้อยไปแล้ว ไม่ทันจะรู้ตัวเลย แล้วสติปัฏฐานจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ อย่าลืมนะคะ ไม่มีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดที่เจาะจงจะรู้ แม้แต่ลักษณะของโลภะ ซึ่งทราบว่า ในขณะนี้ ขณะใดซึ่งสติปัฏฐานไม่เกิด ขณะนั้นคล้อยตามอารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อยู่เรื่อยๆ

    เพราะฉะนั้นเมื่อลักษณะของโลภะขั้นนี้ไม่ปรากฏ การที่สติปัฏฐานจะระลึกรู้ลักษณะของโลภะขั้นนี้ จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นทั้งๆ ที่รู้ว่า โลภะเกิดแล้ว คล้อยตามอารมณ์ที่ปรากฏแล้วขณะที่หลงลืมสติ เพราะฉะนั้นขณะที่มีสติ ไม่ใช่พยายามจะไปจับโลภะที่คล้อยตามอารมณ์ เพราะเหตุว่าลักษณะของโลภะที่คล้อยตามอารมณ์นั้นไม่ปรากฏ แต่ลักษณะของอารมณ์กำลังปรากฏ ทางตามีสิ่งซึ่งกำลังปรากฏ ทางหู ดังกำลังปรากฏ ทางจมูก ถ้ามีกลิ่นปรากฏ ทางลิ้น รสปรากฏ ทางกาย เย็น ร้อน หรืออ่อน แข็ง หรือตึง ไหว ปรากฏ ไม่ต้องห่วงกังวลเรื่องโลภะซึ่งคล้อยตามไป แต่ว่าขณะใดที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แล้วศึกษาที่จะรู้ในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมที่ปรากฏ ขณะนั้นเป็นการอบรมเจริญปัญญา จนกว่าลักษณะของสภาพธรรมอื่นๆ จะปรากฏให้รู้ เมื่อลักษณะของสภาพธรรมอื่นๆ ปรากฏให้รู้ ก็จะต้องศึกษารู้ในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน รู้ในลักษณะสภาพที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมของสภาพธรรมนั้นๆ ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าปัญญาจะคมกล้า

    7709 ชื่อว่า ความยินดี ด้วยอรรถว่า พอใจ อธิบายว่า ทำให้อยาก

    สำหรับลักษณะต่อไป

    ชื่อว่า “ความยินดี” ด้วยอรรถว่า พอใจ อธิบายว่า ทำให้อยาก

    สิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งเป็นที่พอใจ แล้วไม่ต้องการสิ่งนั้น ไม่อยากได้สิ่งนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ถ้ามีสิ่งที่พอใจแล้ว ผลต่อไปคืออะไรคะ อยากได้สิ่งนั้น เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่พอใจ

    เพราะฉะนั้น ชื่อว่า “ความยินดี” ด้วยอรรถว่า พอใจ อธิบายว่า ทำให้อยาก

    7710 ชื่อว่า ความเพลิดเพลิน

    ชื่อว่า “ความเพลิดเพลิน” ด้วยอรรถว่า เป็นเหตุให้สัตว์เพลิดเพลินอยู่ในภพใดภพหนึ่ง หรือเพลิดเพลินเอง

    ไม่มีใครอยากจากโลกนี้ไป ใช่ไหมคะ เพราะเหตุว่าเพลิดเพลินอยู่ในโลกนี้ แสดงให้เห็นว่า ที่ไม่อยากจากไป เพราะยังเพลิดเพลินอยู่ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นในภพไหนทั้งสิ้นนะคะ

    ชื่อว่า “ความเพลิดเพลิน” ด้วยอรรถว่า เป็นเหตุให้สัตว์เพลิดเพลินอยู่ในภพใดภพหนึ่ง

    7711 ที่ชื่อว่า ความสยบ

    ที่ชื่อว่า “ความสยบ” ด้วยอรรถว่า เป็นเหตุให้สัตว์สยบ โดยที่เป็นกิเลสที่มีกำลัง

    มีใครอยากจะต่อสู้กับโลภะบ้างคะ มีนักสู้ไหมคะ สู้กับใครไม่สู้ จะพยายามสู้กับโลภะ ผลคือแพ้ เพราะที่ชื่อว่า “ความสยบ” ด้วยอรรถว่า เป็นเหตุให้สัตว์สยบ โดยที่เป็นกิเลสที่มีกำลัง

    รับประทานอาหารไม่อร่อย จะทำอย่างไรคะ กิเลสมีกำลังที่จะทำให้ปรุงให้อร่อย ลองนึกซิคะว่า จะรับประทานอาหารซึ่งไม่อร่อยได้ไปเรื่อยๆ จะเรื่อยๆ ได้ไหม จะชนะโลภะ หรือโลภะมีกำลังที่จะทำให้สยบ คือ แพ้ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ธรรมชาติใดเป็นธรรมชาติซึ่งมีกำลัง มีแรง ย่อมเป็นฝ่ายชนะ

    เพราะฉะนั้นโลภะเป็นธรรมชาติที่ชื่อว่า “ความสยบ” ด้วยอรรถว่า เป็นเหตุให้สัตว์สยบ โดยที่เป็นกิเลสที่มีกำลัง

    7712 ที่ชื่อว่า ความหมกมุ่น ด้วยอำนาจว่ากลืนเอาไปเสียเสร็จสิ้น

    ที่ชื่อว่า “ความหมกมุ่น” ด้วยอำนาจที่กลืนเอาไปเสียหมดสิ้น

    ในวันหนึ่งๆ ทุกท่านหมกมุ่นด้วยโลภะกลืนเอาไปหมดในวันหนึ่งๆ กลืนเอาไปเสียเสร็จสิ้น จริงไหมคะ ท่านที่ชอบการละเล่นชนิดหนึ่งชนิดใด เวลาของท่านในวันนั้นไม่ค่อยที่จะได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์เท่าไร เพราะเหตุว่าชื่อว่า ความหมกมุ่นด้วยอำนาจที่กลืนเอาไปเสียเสร็จสิ้น ในวันหนึ่งๆ เวลาส่วนมากที่ใช้ไปก็ใช้ไปด้วยโลภะ

    7713 ที่ชื่อว่า ความใคร่ -ที่ชื่อว่า ความข้องอยู่ - ที่ชื่อว่า ความจมอยู่

    ที่ชื่อว่า “ความใคร่” ด้วยอรรถว่า เป็นเหตุให้สัตว์มุ่งหวังอย่างยิ่ง

    ที่ชื่อว่า “ความข้องอยู่” ด้วยอรรถว่า เป็นเหตุให้สัตว์ติดอยู่

    ไม่ไปไหนเลยนะคะ นอกจากติดอยู่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไม่ไปถึงรูปฌาน อรูปฌาน หรือโลกุตตระ เพราะเหตุว่ายังติดอยู่

    ที่ชื่อว่า “ความจมอยู่” โดยความหมายว่า จมลง

    โลภะไม่ได้ทำให้ลอยขึ้น แต่ว่ายิ่งมีมาก ยิ่งจมลงทุกที

    7714 ที่ชื่อว่า ธรรมชาติผู้คร่ามา

    ที่ชื่อว่า “ธรรมชาติผู้คร่ามา” เกี่ยวกับการชักมา ดังที่ตรัสไว้ว่า ธรรมชาติผู้คร่ามา ยิ่งดึงบุรุษไปรอบ เพื่อความผุดขึ้นแห่งภพนั้นๆ นั่นเอง

    ที่ชื่อว่า “ธรรมชาติผู้หลอกลวง” โดยความหมายว่า ล่อสัตว์ไว้

    ที่ชื่อว่า “ธรรมชาติยังสัตว์ให้เกิด” โดยความหมายว่า เป็นเหตุให้สัตว์เกิดอยู่ในวัฏฏะ ดังที่ตรัสไว้ว่า ตัณหาย่อมยังบุรุษให้เกิด จิตของสัตว์นั้นย่อมพล่านไป

    7715 ที่ชื่อว่า ธรรมชาติอันร้อยรัด โดยความหมายว่า สืบต่อไว้

    ที่ชื่อว่า “ธรรมชาติอันร้อยรัด” โดยความหมายว่า สืบต่อไว้ จริงอยู่ธรรมชาตินี้ย่อมร้อยรัด คือ สืบต่อสัตว์ไว้ในวัฏฏะ ด้วยอำนาจจุติและปฏิสนธิ เหมือนดังช่างชุนเอาท่อนผ้าเก่าชุนผ้าเก่าไว้ ฉะนั้น

    ถ้าตราบใดที่ยังมีโลภะอยู่ ไม่มีวันที่จะพ้นไปจากสังสารวัฏได้ จะต้องมีการตายแล้วเกิดอีก ตายแล้วเกิดอีก อย่างนี้อยู่เรื่อยๆ

    นี่เป็นเพียงลักษณะบางประการของโลภะ ซึ่งข้อความในอรรถกถาและพระไตรปิฎกแสดงไว้มาก แต่ว่าได้กล่าวถึงเพียงบางประการ

    7716 ชื่อว่า วิสัตติกา

    ชื่อว่า “วิสตฺติกา” ด้วยอรรถว่า มีรากเป็นพิษ

    ชื่อว่า “วิสตฺติกา” ด้วยอรรถว่า มีผลเป็นพิษ

    ชื่อว่า “วิสตฺติกา” ด้วยอรรถว่า มีการบริโภคเป็นพิษ

    ก็หรือว่า ตัณหานั้นแผ่ไป ชื่อว่า “วิสตฺติกา” ด้วยอรรถว่า แผ่ไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรม ตระกูล คณะ

    7717 ที่ชื่อว่า ธรรมชาติเป็นเพื่อนสอง

    ที่ชื่อว่า “ธรรมชาติเป็นเพื่อนสอง” โดยความหมายว่า เป็นสหายโดยไม่ยอมให้เงยหน้า จริงอยู่ ตัณหานี้ย่อมไม่ให้เหล่าสัตว์เงยในวัฏฏะ ย่อมทำให้อภิรมย์อยู่ ดุจสหายรักในที่ๆ ไปแล้วๆ ด้วยเหตุนั้นจึงตรัสไว้ว่า บุรุษมีตัณหาเป็นเพื่อนสอง ท่องเที่ยวไปอยู่ สู่ความเป็นอย่างนี้ และความเป็นอย่างอื่น สิ้นกาลนาน ย่อมไม่ผ่านพ้นสังสาระไปได้

    อย่าลืมนะคะว่า ไม่เคยอยู่คนเดียว เพราะว่ามีเพื่อนอีกคนหนึ่ง ซึ่งอยู่ด้วยใกล้ชิดที่สุด ไม่ห่างเลย คือ โลภะ จริงหรือเปล่าคะ อยู่ที่ไหนก็ได้ค่ะ ที่เข้าใจว่าอยู่คนเดียว ลองคิดดูซิคะว่า ในขณะนั้นใจคิดถึงอะไรบ้าง นึกถึงใครบ้าง นึกถึงเรื่องอะไรบ้าง แล้วจะกล่าวว่าอยู่คนเดียวได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้นโลภมูลจิตไม่เคยจากไปไกลเลย อยู่ใกล้เคียงตลอดเวลาในสังสารวัฏ

    7718 ที่ชื่อว่า ความเยื่อใยเนื่องด้วยความเสน่ห์หา

    ชื่อว่า “ความเยื่อใย” เนื่องด้วยความเสน่หา

    ที่ชื่อว่า “ความห่วงใย” ด้วยอรรถว่า ห่วงใยด้วยอำนาจกระทำความอาลัย

    ในวันหนึ่งๆ ห่วงใยอะไรบ้าง บางครั้งนึกขึ้นมาใช่ไหมคะ ห่วงนั่น ห่วงนี่ หายไปหรือเปล่า อยู่ที่ไหน ในขณะนั้นน่ะคะ ถ้าไม่มีความอาลัย คือไม่มีความพอใจ ไม่มีความติดข้องในสิ่งนั้น ย่อมไม่ห่วง แต่ทุกท่านเวลาเกิดความห่วงขึ้น ให้ทราบว่า ในขณะนั้นเป็นลักษณะหนึ่งของโลภะ

    ถ้าจะรู้ลักษณะของโลภะ ก็รู้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งปรากฏให้เห็นโดยลักษณะต่างๆ กัน บางครั้งก็ปรากฏเป็นความเยื่อใย ด้วยอำนาจของความเสน่หา มีเยื่อใย ยังมีการคิดถึง หรือว่ายังมีการผูกพันอยู่ในขณะใด ในขณะนั้นให้ทราบว่า เป็นลักษณะของอกุศลจิต ซึ่งเกิดพร้อมกับโลภเจตสิก ซึ่งเป็นมูล ทำให้มีความติด มีความพอใจ มีความเพลิดเพลิน ผูกพันเพิ่มขึ้น

    7719 ที่ชื่อว่า ความผูกพัน

    ที่ชื่อว่า “ความผูกพัน” ด้วยอรรถว่า ผูกพันไว้ในอารมณ์เฉพาะแต่ละอย่างๆ อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า “ความผูกพัน” หรือพวกพ้องเฉพาะ แม้ด้วยอรรถว่า เป็นพวกพ้องเฉพาะแต่ละอย่าง โดยความหมายว่าเป็นญาติ

    ผูกหลายอย่างใช่ไหมคะ ผูกกับเพื่อนก็มี ผูกกับญาติก็มี เพราะฉะนั้นก็เป็นลักษณะอาการต่างๆ ของโลภะ

    เพราะขึ้นชื่อว่า “พวกพ้อง” ซึ่งจะเสมอด้วยกับตัณหาย่อมไม่มีแก่สัตว์ทั้งหลาย โดยความหมายว่า อาศัยกันอยู่เป็นประจำ

    7720 ที่ชื่อว่า การหวัง เพราะหวังอารมณ์ทั้งหลาย

    ที่ชื่อว่า “การหวัง” เพราะหวังอารมณ์ทั้งหลาย ความว่า เพราะท่วมทับและเพราะบริโภค ไม่เข้าถึงความอิ่มเสียเลย

    ทุกท่านมีความหวังทุกวัน ขณะนั้นเป็นลักษณะของโลภะ ซึ่งไม่หมดหวังใช่ไหมคะ ได้มาแล้วก็หวังอื่นต่อไป หวังอื่นต่อไป เพราะฉะนั้นก็ไม่เข้าถึงความอิ่มเสียเลย

    7741 ที่ชื่อว่า ธรรมชาติผู้กระซิบ

    ที่ชื่อว่า “ธรรมชาติผู้กระซิบ (ชัปปา) ” ด้วยอรรถว่า ยังสัตว์ทั้งหลายให้กระซิบอย่างนี้ว่า “นี้ของฉันๆ ”

    เยอะไหมคะ ของฉัน ขณะนั้นไม่เคยปล่อยไปเลย นี่ของฉันๆ ๆ ขณะใด ขณะนั้น เป็นลักษณะของโลภมูลจิต

    7742 คำว่า ธรรมชาติเป็นเหตุซมซานไป

    ว่า “ธรรมชาติเป็นเหตุซมซานไป” อธิบายว่า สัตว์ทั้งหลายเที่ยวระริกไป ดุจพวกสุนัขซอกแซกถามไปในที่อันเป็นที่ตั้งแห่งลาภ ด้วยตัณหาใด นั่นเป็นชื่อของตัณหา ระริกไปนั้น

    ขณะใดที่ถามถึงอะไร มุ่งหวังลาภในที่ไหน เพื่อแสวงหาให้ได้มา ตลอดเวลาทั้งหมดนั้น ทั้งหมดเป็นโลภมูลจิต ที่ทำให้ซมซานไป ซอกแซกถามไป ในที่อันเป็นที่ตั้งแห่งลาภทั้งหลาย

    7743 อาวรณ์ - ตัณหา - เหตุแห่งทุกข์ - แดนเกิดแห่งทุกข์

    ชื่อว่า “อาวรณ์” ด้วยอรรถว่า กางกั้นอกุศลธรรมทั้งหลาย

    ชื่อว่า “ตัณหาเหมือนเถาวัลย์” ด้วยอรรถว่า เปรียบดังเถาวัลย์ ด้วยความหมายว่า พันไว้รอบ

    ชื่อว่า “เหตุแห่งทุกข์” ด้วยอรรถว่า เป็นเหตุแห่งทุกข์นั้นแหละ

    ชื่อว่า “แดนเกิดแห่งทุกข์” ด้วยอรรถว่า ทุกข์นั้นเกิดจากนี้

    ถ้าทุกท่านจะพิจารณาหาดูให้ทั่วว่า ความทุกข์ทั้งหมดเกิดมาจากอะไร ก็จะได้ทราบว่า ทุกข์ทั้งหมดเกิดจาก “ตัณหา”

    7744 บ่วง - เบ็ด - ตัณหาเหมือนแม่น้ำ - ตัณหาเหมือนข่าย

    ที่ชื่อว่า “บ่วง” ด้วยอรรถว่า เปรียบเหมือนบ่วง โดยความหมายว่า ผูกไว้ดุจบ่วงแห่งมาร ชื่อว่า บ่วงแห่งมาร

    ชื่อว่า “เบ็ด” ด้วยอรรถว่า เปรียบเหมือนเบ็ด โดยความหมายว่า ขย้อนออกยาก

    สิ่งที่กลืนเข้าไปแล้ว ถ้าจะให้ออกมา ก็ยากที่จะออก โดยเฉพาะเวลาเป็นสิ่งที่พอใจ ย่อมไม่อาจที่จะทำให้ขย้อนออกมาได้เลย

    ดุจเบ็ดแห่งมาร ชื่อว่า “เบ็ดแห่งมาร” สัตว์ผู้ถูกตัณหาครอบงำแล้ว ย่อมไม่ก้าวล่วงวิสัยแห่งมาร มารย่อมวางอำนาจเหนือสัตว์เหล่านั้น

    “แม่น้ำ” คือ ตัณหา โดยความหมายว่า ไหลไป ชื่อว่า ตัณหาเหมือนแม่น้ำ

    “ข่าย” คือ ตัณหา โดยความหมายว่า คลุมไว้ ชื่อว่า ตัณหาเหมือนข่าย

    7745 ตัณหา ชื่อว่า เชือกผูก - ชื่อว่า ตัณหาเหมือนสมุทร

    สุนัขทั้งหลายเขาเอาเชือกผูกล่ามไว้ ย่อมนำไปสู่ที่ตามประสงค์ ฉันใด แม้สัตว์ทั้งหลายที่ตัณหาล่ามไว้ ก็เหมือนฉันนั้น

    เหตุนั้น ตัณหาจึงชื่อว่า “เชือกผูก” โดยอรรถว่า เปรียบเหมือนเชือกผูก โดยความหมายว่า มัดไว้แน่น

    “สมุทร” คือ ตัณหา โดยความหมายว่า ให้เต็มได้โดยยาก ชื่อว่า ตัณหาเหมือน “สมุทร”

    7746 ลักขณาธิจตุกะ ของ ตัณหา

    ถึงแม้ว่าตัณหาจะมีลักษณะอาการต่างๆ ที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน แต่ประมวลลักษณะของโลภเจตสิก ดังนี้

    โลภเจตสิกมี อารมฺมณคฺคหณ ลกฺขโณ มีการยึดอารมณ์เป็นลักษณะ ดุจลิงติดตัง

    อภิสงฺค รโส มีความข้องอย่างยิ่ง เป็นรสะ คือ เป็นกิจ

    เจตสิกหรือสภาพธรรมทั้งหลายมีลักษณะที่ปรากฏให้รู้ได้ แล้วมีกิจการงานเฉพาะของเจตสิกแต่ละอย่าง ซึ่งเจตสิกใดเกิดขึ้น ก็มีลักษณะและกิจการงานของเจตสิกนั้นๆ ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉยๆ โดยไม่มีกิจการงานนะคะ เพราะฉะนั้นแม้โลภะก็มีลักษณะ คือ มีการยึดอารมณ์เป็นลักษณะ ดุจลิงติดตัง แกะออกยากไหมคะ เวลาที่เห็นลิงติดตัง แล้วพยายามจะแกะ ก็เหมือนทุกท่านที่กำลังติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แล้วพยายามจะแกะออก แต่ก็ออกยาก

    สำหรับกิจการงานของโลภเจตสิก

    มีความข้องอย่างยิ่ง เป็นรสะ ดุจชิ้นเนื้อที่ถูกซัดไปบนกระเบื้องอันร้อน

    อปริจาค ปจฺจุปัฏฺฐาโน มีการไม่ละไป เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการที่ปรากฏ ดุจการติดสีที่หยอดน้ำมัน

    สํโยชนิยธมฺเมสุ อสฺสารททสฺสน ปทฏฺฐาโน มีความเห็นความสำราญในธรรม เป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ ซึ่งเป็นกิเลสประเภทหนึ่ง เป็นปทัฏฐาน

    นี่คือลักษณะ ๔ ของโลภะ คือ มีความยึดอารมณ์ เป็นลักษณะ มีความข้องอย่างยิ่ง เป็นรสะ คือ เป็นกิจ มีการไม่ละไป เป็นปัจจุปัฏฐาน เป็นอาการปรากฏ และมีความเห็นความสำราญในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสังโยชน์ เป็นปทัฏฐาน

    7747 โลภะ มีความยึดอารมณ์ ดุจลิงติดตัง จาก มักกฏสูตร

    สำหรับลักษณะของโลภเจตสิก ที่เป็น อารมฺมณคฺคหณ ลกฺขโณ มีความยึดอารมณ์ เป็นลักษณะ ดุจลิงติดตัง ขอกล่าวถึงข้อความโดยตรงในพระไตรปิฎก คือ ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค มักกฎสูตร ข้อ ๗๐๑ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลาย มีข้อความว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถิ่นแห่งขุนเขาชื่อหิมพานต์ อันไปได้ยาก ขรุขระ ไม่เป็นที่เที่ยวไปทั้งของฝูงลิง ทั้งของหมู่มนุษย์ มีอยู่

    ท่านผู้ฟังก็คงทราบว่า ภูเขาหิมาลัย ซึ่งในพระไตรปิฎกใช้คำว่า หิมพานต์ เป็นเทือกเขาซึ่งยาวสลับซับซ้อน มีมาในอดีตกาลเนิ่นนานทีเดียว เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงทรงเปรียบเรื่องของธรรมทั้งหลายกับถิ่นต่างๆ ในภูเขาหิมาลัย ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ถิ่นแห่งขุนเขาชื่อหิมพานต์ อันไปได้ยาก ขรุขระ ไม่เป็นที่เที่ยวไปทั้งของฝูงลิง ทั้งของหมู่มนุษย์ มีอยู่ ถิ่นแห่งขุนเขาชื่อหิมพานต์ อันไปได้ยาก ขรุขระ แต่เป็นที่เที่ยวของฝูงลิงเท่านั้น ไม่ใช่ของหมู่มนุษย์ มีอยู่

    คือมีภูมิภาคหลายแห่ง ทั้งเป็นที่ขรุขระ ไม่เป็นที่เที่ยวไปทั้งของฝูงลิงและของมนุษย์ และในบางตอนบางส่วนก็เป็นที่เที่ยวไปของฝูงลิงเท่านั้น ไม่ใช่ที่เที่ยวไปของมนุษย์ มีอยู่

    ภูมิภาคแห่งขุนเขา ชื่อหิมพานต์ ราบเรียบ น่ารื่นรมย์ เป็นที่เที่ยวไปทั้งของฝูงลิงทั้งของหมู่มนุษย์ มีอยู่ ณ ที่นั้น พวกพรานวางตังไว้ในทางเดินของฝูงลิงเพื่อดักลิง ในลิงเหล่านั้น ลิงเหล่าใดไม่โง่ ไม่ล่อกแล่ก ลิงเหล่านั้น เห็นดังนั้น ย่อมหลีกออกห่าง ส่วนลิงใดโง่ ล่อกแล่ก

    อย่าลืมคิดถึงท่านผู้ฟังนะคะ แทนที่จะคิดถึงลิง

    ส่วนลิงใดโง่ ล่อกแล่ก ลิงตัวนั้นเข้าไปใกล้ตังนั้น เอามือจับ มือก็ติดตัง มันจึงเอามือข้างที่สองจับ ด้วยคิดว่า จักปลดมือออก มือข้างที่สองก็ติดตังอีก มันจึงเอาเท้าจับ ด้วยคิดว่า จักปลดมือทั้งสองออก เท้าก็ติดตังอีก มันจึงเอาเท้าข้างที่สองจับ ด้วยคิดว่า จักปลดมือทั้งสองและเท้าออก เท้าที่สองก็ติดตังอีก มันจึงเอาปากกัด ด้วยคิดว่า จักปลดมือทั้งสองและเท้าทั้งสองออก ปากก็ติดตังอีก ลิงตัวนั้นถูกตรึง ๕ ประการอย่างนี้แล นอนถอนใจ ถึงความพินาศ ยุบยับแล้ว อันพรานจะพึงกระทำได้ตามความปรารถนา พรานแทงลิงตัวนั้นแล้วจึงยกขึ้นไว้ในที่นั้นเอง ไม่ละทิ้ง หลีกไปตามความปรารถนา

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องลิงเที่ยวไปในถิ่นอื่น อันมิใช่ที่ควรเที่ยวไป ย่อมเป็นเช่นนี้แหละ.

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายอย่าเที่ยวไปในอารมณ์อื่น อันมิใช่โคจร เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในอารมณ์อื่น อันมิใช่โคจร มารจักได้ช่อง มารจักได้อารมณ์ ก็อารมณ์อื่นอันมิใช่โคจรของภิกษุ คืออะไร คือ กามคุณ ๕ กามคุณ ๕ เป็นไฉน คือ รูปที่พึงรู้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด เสียงที่พึงรู้ด้วยหู อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด กลิ่นที่พึงรู้ด้วยจมูก อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด รสที่พึงรู้ด้วยลิ้น อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด โผฏฐัพพะที่พึงรู้ด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้ คืออารมณ์อื่นอันมิใช่โคจรของภิกษุ.

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปในอารมณ์ซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นโคจร เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในอารมณ์ซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นโคจร มารจักไม่ได้ช่อง มารจักไม่ได้อารมณ์ ก็อารมณ์อันเป็นของบิดาตนอันเป็นโคจรของภิกษุ คืออะไร คือ สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน

    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้คืออารมณ์ซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นโคจรของภิกษุ.

    จบ สูตรที่ ๗

    ไม่ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงเรื่องอะไร ก็จะต้องตรัสถึงการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นหนทางเดียว ที่จะทำให้ดับกิเลสได้ แม้ว่าจะเป็นสิ่งซึ่งดับยาก แต่ก็สามารถที่จะอบรมให้เจริญขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

    7748 โทษของกาม - เห็นโทษของสักกายทิฏฐิก่อน

    ถาม ผมสงสัยเมื่อกี้นี้ ที่เทวดาได้ไปทูลพระผู้มีพระภาคว่า การเห็นโทษของกาม อุปมาเหมือนถูกแทงด้วยหอก หรือไฟกำลังไหม้บนศีรษะ อันนี้ก็เห็นโทษของโลภะ มันก็น่าจะถูกนี่ครับ แต่ทำไมพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ต้องละทิฏฐิเสียก่อน อันนี้มันไขว่เขวกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ โสตาปัตติผลมรรคจิตดับสักกายทิฏฐิและมิจฉาทิฏฐิทั้งหมด ถ้าจะดับกาม คือ ความยินดี พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แล้วต้องเป็นพระอนาคามีบุคคล แล้วถ้าดับโลภะหมดแม้ในภพ ในความเป็นอยู่ ก็ต้องเป็นพระอรหันต์ คือ อรหัตมรรคจิตเท่านั้นที่จะดับได้ แล้วไม่ใช่ว่าเป็นพระอรหันต์ก่อน ต้องเป็นพระโสดาบันบุคคลก่อน

    ผู้ถาม ใช่ครับ อันนี้ก็ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น แต่ว่าจะต้องละสักกายทิฏฐิ แต่ก่อนที่จะละสักกายทิฏฐิ จะต้องเห็นโทษของกามเสียก่อนหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เห็นค่ะ

    ผู้ถาม นั่นซิ ในเมื่อจำเป็นต้องเห็นโทษของกาม คำพูดของเทวดาก็น่าจะถูก

    ท่านอาจารย์ ใครจะรู้ว่า เทวดานั้นคิดอย่างไร ใช่ไหมคะ เพราะเหตุว่าถ้ามีบุคคลหนึ่งบอกว่า ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ เพื่อละกามราคะ เหมือนบุรุษผู้ถูกประหารด้วยหอกมุ่งถอนเสีย และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะมุ่งดับไฟ

    ฟังดูก็น่าเชื่อ น่าสรรเสริญอย่างยิ่ง เพราะเป็นผู้เห็นโทษของกามราคะ แล้วเตือนให้ภิกษุมีสติเว้นรอบ เพื่อที่จะละกามราคะ แต่ใครเป็นผู้รู้ว่า เทวดาท่านนั้นคิดอย่างไร

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า คาถาที่เทวดานั้นนำมาตั้งไว้ ทำอุปมาให้มั่นคง ถือเอาประโยชน์ได้นิดหน่อย แม้เธอจะกล่าวซ้ำๆ ซากๆ

    เวลานี้นะคะ ถ้าใครจะบอกท่านผู้ฟังว่า ให้ละโลภะ โลภะมีโทษมาก นำมาซึ่งความทุกข์ทั้งปวง เป็นมูลเหตุของอกุศลธรรมทั้งหลาย จะทำให้อกุศลธรรมทั้งหลายเจริญขึ้น มีวิบากเป็นทุกข์ สารพัดที่จะแสดง สามารถที่จะดับกามราคะได้จริงๆ หรือเปล่า หรือว่าต้องตามลำดับเพราะเหตุว่าพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็เพราะคาถานี้ เทวดากล่าวถึงการละโดยการข่มกามราคะเท่านั้น

    ข้อความต่อไปแสดงถึงความลึก เหนียวแน่นของความยินดีพอใจ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 18
    16 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ