จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 031


    แม้ที่กำลังเผชิญหน้า เห็นลักษณะของโมหะ ไหมคะ

    รูปารมณ์กำลังปรากฏ สภาพธรรมที่ปรากฏเป็นแต่เพียงสิ่งที่สามารถปรากฏทางตา แต่แม้อย่างนั้นโมหะไม่สามารถจะรู้ในลักษณะของรูปารมณ์ได้ ว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นสำหรับโมหมูลจิต ๒ ดวง ดวงหนึ่งเป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ เมื่อไม่รู้ก็สงสัย ที่กำลังเห็นอยู่นี่ล่ะค่ะ สิ่งที่เห็นนี้เป็นอะไร เป็นคนหรือว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ขณะใดที่สงสัย ขณะนั้นเป็นโมหมูลจิตที่เป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ แต่ไม่ใช่ว่า ความสงสัยจะเกิดอยู่ได้ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าเวลาที่โลภมูลจิตไม่เกิด โทสมูลจิตไม่เกิด แล้วจะเกิดความสงสัยอยู่เรื่อยๆ ไม่ใช่อย่างนั้น เพียงบางครั้งบางขณะเท่านั้นที่โมหมูลจิตเกิดพร้อมกับวิจิกิจฉา ความสงสัยในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสภาพธรรมที่ปรากฏ

    โดยปกติเวลาที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แล้วหลงลืมสติ โมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์ เพราะว่าขณะนั้นไม่ได้มีความสงสัยเกิดร่วมด้วย ไม่ได้มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย หรือว่าไม่มีโทสมูลจิตเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้นลักษณะของโมหมูลจิตดวงนั้นจึงเป็นอุทธัจจสัมปยุตต์ ที่จะให้รู้ว่า ขณะใดที่หลงลืมสติ ขณะนั้นไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏ และเมื่อขณะนั้นไม่ได้ประกอบด้วยโลภเจตสิก หรือโทสเจตสิก จึงเป็นโมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์

    7348 สัมปยุตต์ ๕ เป็นอกุศลสัมปยุตต์ ๔ เป็นโสภณสัมปยุตต์ ๑

    เพราะฉะนั้นสำหรับสัมปยุตต์ ๕ เป็นอกุศลสัมปยุตต์ ๔ และเป็นโสภณสัมปยุตต์ ๑ คือ ญาณสัมปยุตต์ เวลาที่จิตเกิดขึ้นขณะนั้นเกิดพร้อมกับปัญญาขณะใด ก็เป็นญาณสัมปยุตต์ในขณะนั้น

    7349 จิตวิจิตรต่างๆ กันออกไปโดยชาติ โดยภูมิ โดยเวทนา โดยสัมปยุตต์และวิปยุตต์

    ในคราวก่อนก็ได้กล่าวถึงอรรถ คือ ความหมายที่เป็นลักษณะของจิตประการที่ ๔ ซึ่งก็ยังคงอยู่ในเรื่องของอรรถ คือ ความหมายที่เป็นลักษณะของจิตประการที่ ๔ ซึ่งชื่อว่า จิต เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควรด้วยอำนาจแห่งสัมปยุตธรรม

    แสดงให้เห็นว่า จิตแม้ว่าจะเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ หรือว่าทีละ ๑ ดวง แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ชั่วขณะที่เกิดแล้วดับนั้น จิตต่างกันมากเหลือเกิน ตามสัมปยุตธรรม คือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ซึ่งถ้าพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า จิตต่างกันไปโดยนัยต่างๆ เช่น

    โดยชาติ เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เป็นวิบากบ้าง เป็นกิริยาบ้าง และเรื่องของกุศล ก็เป็นกุศลต่างๆ กันออกไปอีก เรื่องของอกุศล ก็เป็นอกุศลต่างๆ กันออกไปอีก เรื่องของวิบาก ก็เป็นวิบากต่างๆ กันออกไปอีก เรื่องของกิริยา ก็เป็นกิริยาต่างๆ กันออกไปอีก

    โดยภูมิ คือ ถ้าเป็นกุศล เป็นกุศลภูมิไหน ระดับไหน ระดับกามาวจร เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือว่าเป็นไปในรูปฌาน หรือว่าเป็นไปในอรูปฌาน หรือว่าเป็นไปในระดับของโลกุตตระ ถ้าเป็นอกุศล ก็ยังมีอีกหลายประเภท เป็นอกุศลประเภทโลภะ หรือว่าประเภทโทสะ หรือประเภทโมหะ เป็นอกุศลที่เป็นไปทางกาย หรือทางวาจา หรือทางใจ

    อย่างตัวอย่างที่ท่านผู้ฟังถามเมื่อกี้นี้ ก็เป็นความวิจิตรของจิต ซึ่งเมื่อเกิดความยินดีในเสียงเพลงแล้ว ก็ทำให้อกุศลเกิดขึ้นเป็นไปทางกาย นั่นก็เป็นความวิจิตรของจิตที่เกิดมาชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น เรื่องความวิจิตรของจิต แม้ว่าจะเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวทีละ ๑ ขณะ ก็ย่อมต่างกันไปตามสัมปยุตธรรม คือ เจตสิก ซึ่งเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น ซึ่งได้แสดงความต่างกันของจิตโดยชาติ โดยภูมิ โดยเวทนา โดยสัมปยุต์และวิปปยุตต์แล้ว

    7350 สังขารธรรม

    สำหรับในวันนี้ ก็เป็นความต่างกันของจิตโดยอำนาจของสัมปยุตตธรรมที่ทำให้จิตต่างกัน โดยเป็นอสังขาริกหรือสสังขาริก

    ท่านผู้ฟังได้ยินคำว่า “สังขาร” บ่อยๆ ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกก็ได้กล่าวถึง “สังขาร” หลายนัย ซึ่งควรที่จะได้เข้าใจตามลำดับว่า

    “สังขาร” ที่หมายความถึง สังขารธรรม นัยหนึ่ง

    “สังขาร” ที่หมายความถึง สังขารขันธ์ นัยหนึ่ง

    “สังขาร” ที่หมายความถึง อภิสังขาร นัยหนึ่ง

    “สังขาร” ที่หมายความถึง อสังขารและสสังขารอีกนัยหนึ่ง

    สำหรับความหมายของ สังขารธรรม ก็คงจะทราบแล้วว่า หมายความถึงสภาพธรรมที่เกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัยปรุงแต่ง และดับไป ไม่เที่ยง ที่กล่าวว่า

    สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง หมายความถึงธรรมทุกอย่าง ไม่เว้นเลย ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เมื่อมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป ตามเหตุปัจจัยนั้นๆ

    “เสียง” เป็นสังขารธรรม เพราะเสียงเกิดขึ้น แล้วก็ไม่เที่ยง สภาพธรรมใดๆ ก็ตาม ซึ่งเกิดแล้วจักไม่ดับ ไม่มีเลย และสภาพธรรมซึ่งเกิดแล้ว ไม่ได้ตั้งอยู่นานเลย เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะที่เล็กน้อย แล้วก็ดับไป หมดสิ้นไป นั่นเป็นลักษณะของสังขารธรรม ซึ่งได้แก่ จิต เจตสิก และรูป

    ปรมัตถธรรม มี ๔ จิตปรมัตถ์ ๑ เจตสิกปรมัตถ์ ๑ รูปปรมัตถ์ ๑ นิพพานปรมัตถ์ ๑

    ปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก และรูป เป็นสังขารธรรม มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้นเป็นไปต่างๆ และตั้งอยู่ชั่วเวลาที่สั้นมาก แล้วก็ดับไป นั่นเป็นความหมายของสังขารธรรม

    นอกจากนิพพานแล้ว ธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นสังขารธรรม

    มีข้อสงสัยอะไรไหมคะในตอนนี้

    7351 เฉพาะเจตสิก ๕๐ เป็นสังขารขันธ์

    เมื่อทราบว่าปรมัตถธรรมมี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน จิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรม นิพพานไม่ใช่สังขารธรรม เป็นวิสังขารธรรม

    แต่สำหรับสังขารธรรม ซึ่งได้แก่ จิต เจตสิก รูป ก็ยังจำกัดออกไปอีกว่า จิตทั้งหมดเป็นวิญญาณขันธ์ รูปทั้งหมดแต่ละรูป ทุกรูป เป็นรูปขันธ์ สำหรับเจตสิก ๕๒ ประเภท เวทนาเจตสิก ๑ ดวง เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิก ๑ ดวง เป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกที่เหลือ ๕๐ ดวง เป็นสังขารขันธ์

    เพราะฉะนั้นสังขารขันธ์หมายเฉพาะเจตสิก ๕๐ ดวง เว้นเวทนาและสัญญา แต่ “สังขารธรรม” หมายถึงทั้งจิต เจตสิก รูป

    เพราะฉะนั้นสังขารธรรมมีความหมายกว้างกว่าสังขารขันธ์ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมใดก็ตามซึ่งเกิดขึ้นและดับไป เป็นสังขารธรรม แต่ในธรรมซึ่งเกิดขึ้นและดับไปซึ่งเป็นจิต เจตสิก รูป นั้น เฉพาะเจตสิก ๕๐ เท่านั้นที่เป็นสังขารขันธ์

    7352 เฉพาะเจตนาเจตสิกดวงเดียว เป็นอภิสังขารในปฏิจจสมุปปาท

    และในเจตสิก ๕๐ ซึ่งเป็นสังขารขันธ์ ก็ยังหมายเฉพาะเจตนาเจตสิกดวงเดียวเท่านั้นที่เป็น “อภิสังขาร” ในปฏิจจสมุปปาท ซึ่งท่านผู้ฟังก็คงจะได้ทราบว่า “อวิชชา” เป็นปัจจัยแก่ “สังขาร"

    “สังขาร” นั้น หมายความถึง “อภิสังขาร” คือ สภาพของเจตสิกซึ่งเป็นเจตนา เป็นสภาพที่ปรุงแต่งอย่างยิ่ง คือ ทำให้เป็นกุศลหรืออกุศล ซึ่งจะทำให้เกิดผลข้างหน้า ในเมื่อเจตสิกอื่นก็ปรุงแต่งให้จิตเกิดขึ้น เช่น ผัสสเจตสิก ถ้าไม่มีผัสสเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่กระทบอารมณ์ การเห็นมีไม่ได้ การได้ยินมีไม่ได้ การได้กลิ่นมีไม่ได้ การลิ้มรสมีไม่ได้ การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึกต่างๆ ก็มีไม่ได้ แต่ว่าผัสสเจตสิกไม่ใช่อภิสังขาร

    เพราะฉะนั้นในสังขารขันธ์ ๕๐ เฉพาะ เจตนาเจตสิก ดวงเดียวเท่านั้นที่เป็น “อภิสังขาร” คือ เป็นสภาพที่ปรุงแต่งอย่างยิ่งให้เป็นกุศลธรรมหรืออกุศลธรรม

    เพราะเหตุว่าสำหรับ อวิชชา ซึ่งเป็นปัจจัยแก่ สังขาร ในปฏิจจสมุปปาท สังขาร นั้นได้แก่ ปุญญาภิสังขาร ๑ อปุญญาภิสังขาร ๑ อเนญชาภิสังขาร ๑ ซึ่งหมายถึงเจตนา

    สำหรับปุญญาภิสังขาร ได้แก่ เจตนาซึ่งเกิดกับกุศลจิต สำหรับอปุญญาภิสังขาร ก็ได้แก่ เจตนาซึ่งเกิดกับอกุศลจิต และสำหรับอเนญชาภิสังขาร ก็ได้แก่ เจตนาที่เกิดกับอรูปฌานกุศลจิต ซึ่งเป็นกุศลที่ไม่หวั่นไหว

    7353 กามาวจรกุศลหวั่นไหวง่ายเพราะเกิดแค่ชั่ว ๗ ขณะ

    สำหรับกามาวจรกุศลก็หวั่นไหวง่าย คือ เกิดขึ้นเพียงชั่ว ๗ ขณะ แล้วก็ดับไป แล้วก็ไม่มาก เดี๋ยวอกุศลก็เกิดอีกแล้ว การที่จะให้ทาน หรือการที่จะวิรัติทุจริต ก็เป็นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว หลังจากนั้นอกุศลจิตก็เกิดมากมายทีเดียว มากกว่ากุศลอื่นๆ

    7354 อเนญชาภิสังขาร

    แต่สำหรับอเนญชาภิสังขารเป็นอรูปฌานขั้นสูง ซึ่งจิตในขณะนั้นไม่หวั่นไหวเพราะรูป และสามารถจะตั้งดำรงอยู่ได้นาน และการให้ผลก็ให้ผลอย่างไพบูลย์ คือว่า ทำให้เกิดในอรูปพรหม ซึ่งมีอายุที่ยืนยาวมาก

    การเกิดในสวรรค์ก็เป็นสุข คือ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ทุกข์ยากลำบากกายอย่างในภูมิมนุษย์ หรือว่าในอบายภูมิ และมีอายุที่ยืนยาว แต่ก็ยังไม่ยืนยาวเท่ากับพรหมโลก และสำหรับพรหมโลกซึ่งเป็นรูปพรหม ก็ยังมีอายุที่ไม่ยืนยาวเท่ากับอรูปพรหมภูมิ

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า เฉพาะเจตนาในอรูปฌานกุศลเท่านั้นที่เป็นอเนญชาภิสังขาร

    7355 สังขารธรรม - สังขารขันธ์ - อภิสังขาร

    เพราะฉะนั้นให้ทราบความหมายของ

    สังขารธรรม ได้แก่ จิต เจตสิก รูป

    สังขารขันธ์ ได้แก่ เจตสิก ๕๐ เว้น เวทนาเจตสิกและสัญญาเจตสิก

    และอภิสังขาร ได้แก่ เจตนาเจตสิก ๑ ดวง ในสังขารขันธ์ ๕๐

    7356 การจำแนกจิตโดยอสังขาร และ สสังขาร

    และสำหรับการจำแนกจิตโดยความต่างกัน โดยประเภทของอสังขารและสสังขาร แสดงให้เห็นว่า แม้กุศลจิตก็ตาม หรืออกุศลจิตก็ตาม ซึ่งประกอบด้วยเจตนาเจตสิกแล้ว ก็ยังมีความต่างกันออกไปเป็น โดยประเภทที่เป็นอสังขารและสสังขาร ซึ่งข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความอธิบายว่า

    ชื่อว่า “สสังขาร” เพราะเป็นไปกับด้วย “สังขาร”

    “สังขาร” ในที่นี้ หมายถึง เครื่องชักจูง ด้วยตนเอง หรือโดยผู้อื่นชักชวน หรือสั่งให้กระทำ

    นี่เป็นสภาพของจิตในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม บางครั้งเกิดขึ้นเองโดยอาศัยการสะสมในอดีตมีปัจจัยแรงกล้า ที่จะทำให้กุศลหรืออกุศลประเภทหนึ่งประเภทใดเกิดขึ้นเอง มีกำลัง ขณะนั้นไม่ต้องอาศัยเครื่องชักจูงใดๆ เลย จิตในขณะนั้นเป็น “อสังขาร” ไม่ต้องอาศัยเครื่องชักจูง

    แต่ว่าบางครั้งบางขณะไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ตามที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นมีกำลังอ่อน เพราะอาศัยเครื่องชักจูง ได้แก่ตัวเองก็ได้ จะเป็นการชักจูงของจิตก่อนๆ ของตนเองก็ได้ หรือว่าจะเป็นโดยการชักจูงของบุคคลอื่นก็ได้

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าจะเป็นอกุศลหรือกุศลก็ยังต่างกัน ที่บางขณะเป็นอกุศลหรือกุศลที่มีกำลังแรง เกิดขึ้นโดยการสะสมของตนเองเป็นปัจจัย และบางครั้งบางขณะก็เป็นกุศลหรืออกุศลที่มีกำลังอ่อน ต้องอาศัยเครื่องชักจูง ซึ่งอาจจะได้แก่จิตของตนเองหรือการชักชวนของบุคคลอื่นก็ได้

    7357 มีกำลังอ่อนต้องอาศัยการชักจูง - มีกำลังกล้าไม่ต้องอาศัยการชักจูง

    ท่านอาจารย์ มีข้อสงสัยอะไรไหมคะ เชิญค่ะ

    ถาม ที่ว่า สสังขาร และ อสังขารนี้ ตามพยัญชนะก็อย่างที่อาจารย์กล่าวแล้วว่า อาศัยการชักจูง คือสสังขาร ถ้าอสังขารแล้วไม่ต้องอาศัยการชักจูง เพราะฉะนั้น อสังขาร กำลังจึงมีมากกว่า

    แต่ทีนี้โดยนัยของการปฏิบัติแล้ว ก็อยากจะรู้ว่า อ้ายที่ชักจูงน่ะ หมายถึงอย่างไร และไม่ชักจูงหมายถึงอย่างไร เช่นสมมติว่า ผมเห็นรถยนต์รุ่นใหม่มาถึงสวยงามมาก อยากจะได้ ขณะที่คิดอย่างนั้น อยากถามอาจารย์ว่า เป็นสสังขาร หรือ อสังขาร

    ท่านอาจารย์ อสังขารค่ะ

    ผู้ฟัง เพราะว่าบางคนเขาบอกว่า เป็นสสังขาร เพราะว่ารูปของรถยนต์มาชักจูง บางคนเขาว่าอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่มีอสังขาร โดยนัยนั้นไม่มีอสังขารเลย ใช่ไหมคะ

    เพราะฉะนั้นก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า โดยความต่างกันของจิต ที่เป็นอสังขารและสสังขารนั้นคืออย่างไร

    บางครั้งอกุศลจิตเกิด มีกำลังแรงกล้าทันทีด้วยตนเอง เพราะเหตุว่าสะสมมาที่จะให้เกิดความยินดีพอใจ หรือความไม่พอใจในขณะนั้น ตามการสะสมทันที เพราะฉะนั้นก็เป็นจิตที่มีกำลังแรงกล้าที่เกิดขึ้น โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องชักจูงใดๆ เลย แต่ว่าบางครั้งไม่เป็นอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายกุศลหรืออกุศลก็ตาม มีกำลังอ่อน เคยรู้สึกอย่างนั้นไหมคะ

    ไม่ค่อยอยากจะไปดูหนังหรอกค่ะ หรือละครก็เหมือนกัน แต่ว่าถ้ามีญาติพี่น้องเพื่อนฝูงชักชวนก็ไป จิตในขณะนั้น พอที่จะบอกได้ไหมคะว่า ด้วยตัวเองอยากจะไปหรือเปล่า ไม่ดูก็ได้ ไม่ดูก็ดี แต่ว่าเมื่อมีใครชวนก็ไป ไม่ใช่ว่าจะไม่ไป เพราะฉะนั้นในขณะนั้นก็เป็นจิตที่อ่อน หรือไม่อ่อน เพราะเหตุว่าถ้าตามลำพังคนเดียวตัวเองก็คงจะไม่ไป หรือว่าบางครั้งก็รู้สึกว่า หนังเรื่องนี้ก็คงจะดี น่าดู ก็คงจะสนุก ก็อยากจะไปเหมือนกัน แต่ก็ไม่ไป เพราะยังไม่มีกำลังกล้าที่ว่าไปทันที เมื่อเห็นแล้วก็เกิดความต้องการยินดีที่จะไปทันทีได้ เป็นอย่างนี้หรือเปล่าคะ

    ชีวิตประจำวันจริงๆ ที่จะต้องรู้ว่า ขณะใดเป็นจิตที่มีกำลังกล้า หรือขณะใดเป็นจิตที่มีกำลังอ่อน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอกุศลที่เป็นโลภะ หรือโทสะ หรือว่าเป็นฝ่ายกุศลก็ตาม บางคนก็มีคนชวนไปทอดกฐิน เมื่อทราบข่าวว่ามีการทอดกฐิน บางท่านก็อาจะเกิดอยากจะไปทันที ด้วยตัวเอง แล้วก็ชักชวนคนอื่นด้วย แล้วสำหรับบางคนถึงแม้ว่าจะถูกชักชวนแล้ว แต่ถ้าคนนี้ไม่ไป คนนั้นไม่ไป ก็ไม่ไป อย่างนั้นเป็นจิตที่อ่อน หรือว่าจิตที่มีกำลังแรงกล้า

    เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกุศลหรืออกุศล สภาพของจิตนี้ต่างกัน แม้ว่าจะมีเจตสิกประกอบเท่ากันทางฝ่ายกุศลก็ตาม แต่ว่ากำลังของจิตที่เกิดขึ้นในขณะนั้นแรงกล้า หรือว่าอ่อน ก็แล้วแต่เหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น

    7358 กุศลที่เป็นสสังขารและอสังขารมีเจตสิกเกิดร่วมเท่ากัน แต่กำลังของเจตสิกต่างกัน

    ยังมีข้อสงสัยไหมคะในเรื่องอสังขารและสสังขาร แต่ให้ทราบถึงความละเอียดของจิตว่า เพราะเหตุใดพระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดง เพราะเหตุว่าถ้าเป็นกุศลที่เป็นอสังขารและสสังขารแล้วละก็ เจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตนั้นมีจำนวนเท่ากัน ไม่ต่างกันเลย แต่แม้กระนั้นลักษณะของจิตที่ต่างกัน เพราะกำลังของเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยนั้นก็มี เป็นลักษณะที่ต่างกัน พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงประเภทของจิตว่า ต่างกันโดยเป็นอสังขารและสสังขาร

    7359 อนันตะ ๔ -- อากาศเป็นอนันตะ ๑

    ซึ่งขอกล่าวถึงข้อความใน อัฏฐสาลินี จิตตุปาทกัณฑ์ ซึ่งแสดง “อนันตะ” ความกว้างใหญ่ที่สุด ๔ อย่าง เพื่อจะให้เห็นพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาคที่ทรงแสดงธรรมโดยละเอียด

    ข้อความในจิตตุปาทกัณฑ์ อัฏฐสาลินี อรรถกถา ธัมมสังคิณีปกรณ์ มีข้อความว่า

    “อนันตะ” ของกว้างใหญ่ที่สุด ๔ อย่าง

    ในทีนี้ท่านถือเอา “อนันตะ” ๔ อย่าง ก็อนันตะ ๔ อย่าง คือ อากาศ เป็นอนันตะ ๑ จักรวาล เป็นอนันตะ ๑ สัตตนิกาย คือ หมู่สัตว์ เป็นอนันตะ ๑ พุทธญาณ เป็นอนันตะ ๑

    จริงอยู่ การกำหนดอากาศว่า ในทิศบูรพา หรือในทิศปัจจิม ทิศอุดร ทิศทักษิณ มีเท่านั้นร้อยโยชน์ มีเท่านี้ร้อยโยชน์ หรือมีเท่านั้นพันโยชน์ ย่อมไม่ได้

    จริงหรือไม่จริงคะ ลองกำหนดอากาศทางทิศตะวันออกซิคะ มีเท่าไร กี่โยชน์ กี่ร้อยโยชน์ กี่พันโยชน์ ไม่มีที่สิ้นสุดเลย

    ข้อความในอรรถกถา อุปมาว่า

    แม้จะพึงเอาค้อนเหล็กขนาดเท่าเขาสิเนรุทุบแผ่นดิน ให้แยกเป็น ๒ ส่วน

    แล้วโยนให้ตกไปข้างล่าง ก็หามีที่รองรับไว้ไม่

    คือไม่มีที่สิ้นสุดเลย คือ ตกลงไปๆ ๆ ๆ เรื่อยๆ ได้ เพราะเหตุว่าอากาศไม่มีที่สิ้นสุด

    7360 อนันตะ ๔ -- จักรวาลเป็นอนันตะ ๑

    การกำหนดจักรวาลทั้งหลายว่า มีกี่ร้อยกี่พันหรือกี่แสนจักรวาลย่อมไม่ได้ จริงอยู่ แม้ถ้าท้าวมหาพรหมทั้ง ๔ ที่เกิดในชั้นอกนิกฐภพ (คือเป็นรูปภูมิที่สูงที่สุด ได้แก่ สุทธาวาสชั้นสูง คือ ชั้นที่ ๕ คือ ชั้นอกนิฏฐ) ผู้มีความเร็วขนาดที่สามารถผ่านแสนจักรวาลไปได้ชั่วเวลาเพียงเท่าที่ลูกศรที่เบามากของนายขมังธนูที่มีกำลังแข็งแรง ผ่านเงาตาลด้านขวาง จะพึงวิ่งมาด้วยความเร็วขนาดนั้น ด้วยคิดว่า เราจักดูขอบแห่งจักรวาล ท้าวมหาพรหมเหล่านั้นไม่ทันได้เห็นขอบแห่งจักรวาล ก็จะพึงปรินิพพานเสียก่อนโดยแท้ จักรวาลทั้งหลายจึงชื่อว่า เป็น “อนันตะ” ไม่มีที่สิ้นสุดอย่างนี้

    ใครอยากจะนับดาว อยากจะนับจักรวาล อยากจะทำอะไร ก็ไม่มีวันที่จะสำเร็จ เพราะเหตุว่าจักรวาลเป็นอนันตะ ไม่มีที่สิ้นสุด

    7361 อนันตะ ๔ -- สัตตนิกายเป็นอนันตะ ๑

    ก็ในจักรวาลทั้งหลายมีประมาณเท่านี้ ประมาณแห่งสัตว์ที่อยู่ในน้ำ และอยู่บนบก ย่อมไม่มี สัตตนิกาย จึงชื่อว่า เป็น “อนันตะ” ไม่มีที่สิ้นสุดอย่างนี้

    นี่ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนก็พอที่จะเห็นได้ว่าเป็นอย่างนี้

    7362 อนันตะ ๔ -- พุทธญาณเป็นอนันตะ ๑

    อนันตะที่ ๔ คือ พุทธญาณ

    พุทธญาณ ชื่อว่า เป็น “อนันตะ” แท้ แม้กว่าอนันตะทั้ง ๓ นั้น

    อากาศก็เห็นอยู่แล้วว่า ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีใครสามารถที่จะไปวัดว่า กี่ร้อย กี่พัน กี่แสนโยชน์ หรือจักรวาลก็ไม่มีใครสามารถจะนับได้ว่า ทั้งหมดมีเท่าไร หรือว่าสัตตนิกาย คือ หมู่สัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในจักรวาล ก็ไม่มีใครสามารถที่จะไปทำสถิติเอาไว้ว่า มีจำนวนเท่าไร ทั้งเทพ ทั้งพรหม ทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ ทั้งมนุษย์ ทั้งสัตว์ในอบาย แต่ว่า “พุทธญาณ” ชื่อว่า เป็น “อนันตะ” คือ ไม่มีที่สิ้นสุด แม้กว่าอนันตะทั้ง ๓ นั้น

    บรรดาสัตว์หาประมาณมิได้ในจักรวาล อันหาประมาณมิได้อย่างนี้ (เมื่อคิดถึงสัตว์ทั้งหลายที่มีอยู่ในจักรวาลว่า มีจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน เพราะฉะนั้นจิตของสัตว์แต่ละบุคลจะมากมายสักแค่ไหน) กุศลจิตที่เป็นกามาวจร สหรคตด้วยโสมนัส คือ เกิดพร้อมกับโสมนัส เป็นญาณสัมปยุต์ เป็นอสังขาริก คือ เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยเครื่องชักจูง ย่อมเกิดแก่สัตว์หนึ่งๆ มากมาย แม้สัตว์มีจำนวนมาก จิตก็เกิดขึ้นมากดวง

    กุศลจิตไม่ใช่มีดวงเดียว คนหนึ่งจิตเกิดขึ้นขณะหนึ่งจริง แต่ไม่รู้ว่าจะมีจิตมากมายสักเท่าไรซึ่งนับไม่ถ้วน เพราะฉะนั้นกุศลจิตที่เกิด แม้โดยประเภทที่เป็นกามาวจรกุศล ซึ่งเกิดพร้อมกับปัญญา คือ เป็นญาณสัมปยุตต์ แล้วก็เป็นอสังขาริก คือ มีกำลังแรงกล้า แต่ว่าไม่ใช่ว่าจะมีเฉพาะดวงเดียวอย่างเดียว ต้องเป็นไปต่างๆ ตามจำนวนของสัตว์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นจิตก็เกิดขึ้นมากดวง

    แต่กุศลจิตแม้ทั้งปวงเหล่านั้น เป็นอย่างเดียวกัน โดยอรรถว่า เป็นกามาวจร โดยอรรถว่า เกิดพร้อมกับโสมนัส โดยอรรถว่า เป็นญาณสัมปยุตต์ และโดยอรรถว่า เป็นอสังขาริก คือ เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยเครื่องชักจูงด้วยกัน

    พระผู้มีพระภาคทรงกำหนดกามาวจรกุศลจิตแม้ทั้งปวง ที่เกิดกับสัตว์ทั้งหลายหาประมาณมิได้ในจักรวาลทั้งหลาย หาประมาณมิได้อย่างนี้ ด้วยสัพพัญญุตญาณ ดุจว่าทรงชั่งด้วยตราชั่งใหญ่ ประดุจทรงใส่ในทะนานนับอยู่ฉะนั้นแล้ว และทรงกระทำให้เป็น ๘ ดวงพอดี โดยอรรถที่บัณฑิตพึงเห็นพ้องด้วย คือ คัดค้านไม่ได้

    แสดงว่าถึงแม้ว่ากุศลจิตจะมีมากที่เป็นกามาวจร แต่ว่าพระผู้มีพระภาคก็ทรงนับและทรงจัดกุศลที่เป็นกามาวจร เป็นมหากุศลนั้นมี ๘ ดวง หรือ ๘ ประเภท ซึ่งใครๆ ก็ไม่สามารถจะคัดค้านได้ เพราะว่าโดยความต่างกันของเวทนา ที่เป็นอุเบกขาและโสมนัส โดยความต่างกันที่ประกอบด้วยปัญญาและไม่มีประกอบด้วยปัญญา โดยความต่างกันที่เป็นอสังขารและสสังขาร

    มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะในเรื่องนี้ ชีวิตประจำวัน

    7363 การชักจูงทางใจเป็นอย่างไร

    ถาม ผมยังติดใจเรื่องสังขาร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 18
    16 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ