จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 010


    ยังไม่ต้องเป็นวิถีไหนเลย แต่ขอให้เข้าใจให้ชัดเจนว่า นามธรรมนั้นเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ในขณะที่กำลังเห็น เพราะเวลานี้ก็ปนกันแล้ว ใช่ไหมคะ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ มีใครสามารถที่จะรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สภาพรู้ แต่สิ่งที่ปรากฏทางตานี้ ปรากฏเพราะมีสภาพรู้ที่กำลังเห็น เมื่อฟัง พิจารณาเข้าใจพยัญชนะ แล้วสติก็ยังจะต้องเริ่มระลึกจนกว่าที่จะรู้จริงๆ ว่า ธาตุรู้ซึ่งเห็น เป็นแต่เพียงธาตุรู้ เป็นสภาพรู้เท่านั้นจริงๆ เป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง มันจะเป็นอย่างนี้ได้ไหมครับ อาจารย์ เราเกิดสติระลึกรู้ทางปัญจทวาร เช่น จักขุวิญญาณ รูปารมณ์ รูปที่เราเห็น ปกติเราเห็นปั๊บ เกิดความเป็นตัวตน หรือสัตว์บุคคลทันที การที่รู้ว่าเป็นตัวตนนี้ ผมเข้าใจว่าไปถึงมโนทวารวิถี คือ คิดถึงรูปร่างที่เคยเก็บไว้ในใจ แล้วเข้าใจว่าเอาอันนั้นมาเทียบ พอเห็นปั๊บอันนี้กับของเก่าเหมือนกัน ก็เลยเข้าใจว่า คนนี้ ชื่อนี้ สิ่งนี้ชื่ออย่างนั้น จึงจะเรียกกันถูก การเจริญสติปัฏฐานเป็นเช่นเดียวกับอย่างนี้ ได้ไหมครับ เป็นแต่ละภาวะที่ว่าเคยจำเป็นตัวตน แต่กลับเป็นปรมัตถ์ขึ้นมาแทนตัวตนในขณะนั้นหรือเปล่า เป็นลักษณะนี้หรือเปล่าครับ

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานย่อมรู้ว่าสติเกิด หรือว่าหลงลืมสติ และผู้ที่เจริญสติปัฏฐานย่อมรู้ว่า เมื่อสติเกิดแล้ว สำเหนียก สังเกต น้อมพิจารณาที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ขณะหนึ่ง หรืออาจจะหลายๆ ขณะ หลายวัน หลายเดือน หลายปี หรือว่าบางวัน บางเดือน บางปี ก็ไม่ได้ระลึกอย่างนี้เลย แล้วแต่สติจะเกิดหรือไม่เกิด และไม่ใช่เพียงแต่ศึกษารู้ลักษณะของสภาพสิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้น ยังจะต้องน้อมระลึกรู้ธาตุรู้ สภาพรู้ ที่กำลังรู้ คือ กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ

    นี่คือการอบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ลักษณะจริงๆ ยังไม่ต้องไปห่วงกังวลถึงวิถีจิตอะไรทั้งสิ้น แต่ว่าการฟังเพื่อที่จะให้เข้าใจว่า ลักษณะของสภาพธรรมไม่ใช่ตัวตนอย่างไร เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้น แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว แต่เพราะการเกิดสืบต่อของสภาพธรรมใหม่ ทั้งนามธรรมและรูปธรรม ปิดบังการดับไปของนามธรรมและรูปธรรมก่อน จึงทำให้ไม่เห็นว่า นามธรรมและรูปธรรมนั้นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นจึงฟังเพื่อที่จะให้เข้าใจ เพื่อเป็นปัจจัยให้สติระลึกและในที่สุดก็จะเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมเสียก่อน

    เพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วงกังวลถึงปัญจทวารวิถี มหากุศลจิตเกิดที่ชวนะ ระลึกรู้ลักษณะของรูป แล้วพอถึงมโนทวารวิถีนั้น จะระลึกรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏ หรือว่าระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ แต่ตามปกติตามธรรมดาอย่างนี้ ยังไม่ต้องห่วงกังวลถึงวิถีไหน เพราะว่าตามความเป็นจริงแล้ว มหากุศลญาณสัมปยุตต์ซึ่งเป็นสภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร

    เวลานี้ก็สืบต่อกันอยู่นะคะ ถ้าสติของใครจะเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นแข็ง อ่อน เสียง สี กลิ่น รส หรือว่านามธรรมที่เห็น สภาพรู้เสียง สภาพรู้อ่อน รู้แข็งที่กำลังปรากฏ ก็เป็นมหากุศลจิต ซึ่งเกิดสืบต่อกันทั้ง ๖ ทวาร โดยที่ไม่จำเป็นเป็นต้องแยก

    ยังสงสัยไหมคะเรื่องนี้

    6944 ปัจจุบันอารมณ์ - ปัจจุบันสันตติ

    ถาม เรื่องของวิถีจิต เรื่องของปรมัตถธรรมตามที่ได้ศึกษามาว่า รูปารมณ์นี้มีอายุเท่ากับ ๑๗ ขณะของจิต แต่ทางปัญจทวารวิถี นับตั้งแต่อตีตภวังค์ไปจนกระทั่งถึงตทาลัมพนะ ก็ได้ ๑๗ ขณะ รูปารมณ์ก็ดับไปในขณะนั้น ทีนี้ในเมื่อปัญจทวารวิถีนี้ ๑๗ ขณะดับไปแล้ว ภวังคจิตก็เกิดคั่น นับไม่ถ้วน หลังจากนั้นทางมโนทวารวิถีจึงเกิดขึ้นรับอารมณ์ทางปัญจทวาร ทีนี้ถ้ามีสติระลึกรู้ในขณะนั้น รู้อารมณ์ที่ปัญจทวารรู้มา ในขณะนั้นยังชื่อว่า ปัจจุบันอารมณ์ หรือปรมัตถอารมณ์หรือเปล่าครับ

    ท่านอาจารย์ ปัจจุบันปรมัตถ์ด้วยค่ะ แต่ไม่ใช่โดยขณะ โดยสันตติ คือโดยการสืบต่อ เพราะยังไม่ดับไป ยังปรากฏอยู่ ยังไม่ดับในที่นี้ หมายความว่า ยังมีเกิดดับปรากฏอยู่ แต่ว่าที่จริงแล้วขณะ ๑๗ ขณะ อายุของรูปนั้นก็ดับไปหมด แล้วก็มีรูปเกิดอีก ๑๗ ขณะ ดับไปแล้ว ก็มีรูปเกิดอีก ๑๗ ขณะ ดับไป จึงปรากฏให้เห็นเป็นลักษณะของรูปนั้น

    ที่ใช้คำว่า ปัจจุบัน มีความหมายหลายอย่าง ในความหมายนี้ หมายความถึง สันตติปัจจุบันที่สืบต่อ ไม่ใช่เมื่อวานนี้ เมื่อปีก่อน เมื่อเดือนก่อน

    ผู้ฟัง ก็รูปารมณ์นี้มันเกิดขึ้นอีก ทางมโนทวารก็ไม่ได้รับรูปารมณ์นั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าบอกว่า ทางมโนทวารไม่ได้รับรูปารมณ์นั้นล่ะก็ ขณะนี้ท่านผู้ฟังเห็นแล้ว จะไม่มีการเห็นต่อไป ก็ต้องขาดช่วง แต่นี่เห็นไม่ปรากฏว่าดับเลย สิ่งที่ปรากฏซึ่งเป็นรูปารมณ์ทางตา ก็ไม่ปรากฏว่าดับ แล้วอย่างนี้จะกล่าวว่า มโนทวารวิถีไม่ได้รับต่อได้อย่างไรล่ะคะ

    ผู้ฟัง คือรูปารมณ์จะต้องเกิดที่ปัญจทวารวิถี เช่นสมมติว่า จักขุทวารวิถีเห็นรูปารมณ์ เมื่อรูปารมณ์เกิดขึ้น ๑๗ ขณะของจิต รูปารมณ์นั้นก็ดับไป ทีนี้ถ้ารูปารมณ์เกิดใหม่ จิตก็ไม่ได้รับ ในเมื่อมโนทวารเกิดขึ้น มโนทวารวิถีเกิดขึ้นนี้ รูปารมณ์ที่เกิดใหม่นั้น จิตก็ไม่ได้รับรูปารมณ์ใหม่นั้นแล้ว

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ จะประจักษ์ความเกิดดับ แล้วก็รู้ว่า เวลาที่คิดนึกอยู่ในขณะนั้น ไม่มีเสียง หรือว่าไม่มีสีรวมอยู่ในขณะของวิถีจิตที่กำลังคิดนึก

    ขอกล่าวถึงคำถามเมื่อกี้นะคะ เพื่อที่จะได้ประกอบกันที่ว่า รูปารมณ์มีอายุ ๑๗ ขณะ แล้วก็ดับไป แล้วก็มโนทวารวิถีจิตรับรู้รูปารมณ์ต่อจากปัญจทวารวิถี

    เพราะฉะนั้นเวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมที่จะปรากฏความขาดตอนระหว่างปัญจทวารวิถีและมโนทวารวิถี ก็คือมโนทวารวิถีปรากฏ รู้รูปซึ่งต่อจากปัญจทวารวิถีได้ ยังชื่อว่า เป็นปัจจุบันอารมณ์ เพราะเหตุว่าการเกิดดับสืบต่อกันอยู่ อย่างทางตาที่กำลังเห็น ขณะนี้เป็นปัจจุบันหรือเปล่า เวลาที่สติระลึกทั้ง ๖ ทวาร ไม่มีใครไปกั้นเอาไว้ว่า ให้เกิดทางมโนทวารวิถีเท่านั้น แล้วทางปัญจทวารวิถีไม่มีสติปัฏฐาน ไม่มีใครที่สามารถจะไปกั้นการเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วมากของวิถีจิตได้

    เพราะฉะนั้นเวลามีการระลึกรู้ลักษณะของรูปารมณ์ทางมโนทวาร ระลึกรู้รูปารมณ์ และทางปัญจทวารก็เห็นรูปารมณ์ สติก็ระลึกรู้ลักษณะของรูปารมณ์ที่ปรากฏนั้น ทั้งทางปัญจทวารและมโนทวารวิถี

    ทางหูก็เช่นเดียวกัน เสียงปรากฏในขณะนี้ ใครจะแยกว่า ทางปัญจทวารวิถี แล้ว เสียงก็ดับไปใน ๑๗ ขณะ เพราะเหตุว่ามโนทวารวิถีเกิดสืบต่อหลังจากที่ภวังค์คั่นแล้ว มโนทวารวิถีก็รู้เสียงซึ่งทางโสตทวารวิถีเพิ่งได้ยินแล้วดับไป มีใครจะกั้นไม่ให้จิตเกิดดับอย่างนี้ และเมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของเสียง ย่อมระลึกรู้ลักษณะของเสียงที่ปรากฏทั้งทางโสตทวารวิถีและทางมโนทวารวิถี โดยที่ไม่แยกเหมือนกัน เพราะว่าเสียงเมื่อปรากฏทางปัญจทวารแล้ว ก็ยังเป็นอารมณ์ของมโนทวารวิถีจิตต่อ

    ข้อสำคัญท่านผู้ฟังอย่าเข้าใจโดยชื่อ แล้วเอาไปปะปนกับเวลาที่สติกำลังระลึกรู้ เช่น ลักษณะที่แข็ง ถึงสติไม่เกิด แข็งก็ปรากฏ ถูกไหมคะ เพราะฉะนั้นในขณะที่แข็งปรากฏ ขั้นการฟังเห็นว่า เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด นี่ขั้นการฟัง รู้ว่าแข็งเป็นแข็ง แต่ปัญญาอบรมเจริญจนกระทั่งรู้ในปฐวีธาตุ ซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดทั้งสิ้นหรือยัง

    เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งรีบร้อน หรือว่าใจเร็ว ที่จะเอาปริยัติไปปนกับขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าจะต้องศึกษาจนกระทั่งเป็นความรู้ที่สามารถจะแยกขาดจากนามธรรม ซึ่งเป็นสภาพรู้สิ่งที่กำลังปรากฏนั้น เช่นในขณะที่แข็งปรากฏ ถ้าเคยศึกษามาว่า ลักษณะที่แข็งเป็นรูปธรรม บางท่านก็อาจจะบอกว่า ไม่สงสัยเลย เข้าใจแล้วว่า แข็งนี้เป็นรูปธรรม ลักษณะที่แข็งต้องเป็นรูปธรรม แต่ว่าลักษณะที่รู้แข็ง ไม่ใช่แข็งอย่างไร ในขณะที่แข็งกำลังปรากฏ สภาพรู้แข็งต่างกับแข็งที่กำลังปรากฏอย่างไร ที่จะรู้จริงๆ ว่า แข็งเป็นรูปธรรม

    เหมือนกับทางตาที่กำลังเห็น รูปารมณ์เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ถึงแม้ว่าทุกท่านที่ยังไม่ได้อบรมสติปัฏฐานเพียงพอ ก็จะต้องเห็นเป็นคนหลายๆ คน เห็นเป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ที่จะให้เห็นว่าเป็นรูปารมณ์ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นจริงๆ นี้ ยากที่จะเป็นได้ หมายความว่าโดยขั้นประจักษ์ แต่โดยขั้นวาจาที่จะกล่าวตามก็แสนที่จะง่าย ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตามีจริง กำลังปรากฏ เป็นสภาพธรรมที่ไม่ปรากฏทางอื่น ไม่ปรากฏทางหู ไม่ปรากฏทางจมูก แต่ว่าเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แต่ว่าลักษณะของรูปารมณ์แท้ๆ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเลยจริงๆ ปรากฏโดยสภาพที่เป็นรูปารมณ์ หรือว่าเพียงแต่กล่าวตามได้ว่า รูปารมณ์กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าเป็นลักษณะของสภาพที่สามารถจะปรากฏทางตาเท่านั้น

    การอบรมเจริญปัญญาต้องเป็นผู้ที่ตรง เพื่อที่จะได้อบรมเจริญปัญญาถูกต้องขึ้น และรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมถูกต้องยิ่งขึ้นเป็นขั้นๆ ถ้ายังเห็นว่า เป็นคนหลายๆ คน เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ ก็หมายความว่า ที่เคยพูด แล้วก็เคยเข้าใจขั้นการฟังว่า รูปารมณ์เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา นั่นเป็นเพียงขั้นความเข้าใจที่เป็นปริยัติเท่านั้น

    เพราะฉะนั้นเวลาที่สติระลึกนี้ ต้องเป็นผู้ที่ตรง อุชุปฏิปันโน ต้องตรงจริงๆ ว่า มีการน้อมรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏจนกระทั่งประจักษ์จริงๆ ว่า หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งใดๆ ในเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ได้เลย

    6945 การอบรมเจริญสติปัฏฐานต้องทั่วทั้ง ๖ ทาง

    เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญสติปัฏฐานต้องทั่วทั้ง ๖ ทาง เพราะเหตุว่าทั้ง ๖ ทางซึ่งรวมกันติดแน่น ทำให้สัญญา ความทรงจำในสัณฐาน ในรูปร่างของสิ่งที่ปรากฏ ประกอบกับการรู้ความอ่อน ความแข็ง โดยการกระทบทางกาย ก็ทำให้เชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่าง รวมเป็นบุคคล เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ขึ้น ยากที่จะพลัดพรากให้กระจัดกระจายออก ให้เห็นว่า รูปารมณ์เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา และสิ่งที่อ่อนแข็ง เวลากระทบสัมผัส ก็เป็นแต่เพียงธาตุ ซึ่งไม่ใช่คน ไม่ใช่วัตถุ ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่เสียงที่ปรากฏทางหู ไม่รวมกันเหมือนอย่างแต่ก่อน

    เพราะฉะนั้นปริยัติต้องอย่าปนนะคะ อย่าคิดว่ารู้แล้ว

    แสดงให้เห็นว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องละเอียด และเป็นเรื่องที่จะต้องอบรมนาน และเป็นเรื่องที่จะต้องเป็นการศึกษารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมทุกอย่างต้องตรงตามความเป็นจริง สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทางตา ก็จะเพิ่มความรู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาว่า เป็นเพียงลักษณะที่มีจริง แล้วก็เพียงปรากฏเท่านั้น นั่นเป็นทางตา ส่วนทางใจที่รับรู้ต่อ ก็สามารถนึกถึงรูปร่างสัณฐาน จดจำส่วนสัดต่างๆ ของสีที่ต่างกัน ทำให้เกิดความทรงจำว่าเป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นได้

    แสดงให้เห็นว่า การอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ความรู้นั้นต้องประจักษ์จริงๆ ในความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ทางมโนทวารวิถี จึงเป็นการแยกขาด เพราะเหตุว่ามโนทวารวิถีคั่นทุกปัญจทวารวิถี เมื่อจักขุทวารวิถีดับไปแล้ว มโนทวารวิถีเกิดต่อ จึงสามารถประจักษ์ความดับไปของรูปารมณ์ได้ และรู้ว่า สภาพธรรมที่ปรากฏทางมโนทวาร เป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่รวมกันทุกทวาร จนกระทั่งเป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

    6946 การศึกษาปริยัติธรรมมีประโยชน์ที่จะให้เห็นความเป็นอนัตตาของธรรม

    การศึกษาปริยัติธรรมมีประโยชน์ที่จะให้เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทั้งหลายโดยละเอียด ที่สติจะเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทีละทวาร ทีละทาง จนกว่าปัญญาจะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและลักษณะของรูปธรรม แต่ต้องรู้ความต่างกัน มิฉะนั้นต้องรวมกัน เช่น ขณะที่แข็งปรากฏ ไม่ทราบว่าเป็นรู้แข็งหรือแข็ง เพราะฉะนั้นก็ยังคงเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่จนกว่าปัญญาจะรู้ชัดทางมโนทวาร ขณะนั้นจึงจะปรากฏว่า ไม่ใช่สิ่งใดทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงแข็งซึ่งเกิดดับ

    6947 เข้าใจการสั่งสมของชวนวิถี ควรเข้าใจเรื่องชาติของจิตด้วย

    สำหรับการที่จะให้เข้าใจเรื่องการสั่งสมสันดานตนเอง โดยสามารถของชวนวิถี ก็จะต้องเข้าใจเรื่องชาติของจิต ไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังเรื่องจิตประเภทใดก็ตาม ก็ควรที่จะได้ทราบด้วยว่า จิตนั้นเป็นชาติอะไร

    เพราะฉะนั้นสำหรับวิถีจิตทั้ง ๗ วิถีในขณะที่กำลังเห็น เป็นจักขุทวารวิถี กำลังได้ยินในขณะนี้ เป็นโสตทวารวิถี กำลังได้กลิ่น เป็นฆานทวารวิถี กำลังลิ้มรส เป็นชิวหาทวารวิถี กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นกายทวารวิถี และมโนทวารวิถีที่กำลังคิดนึก กำลังรู้เรื่องต่างๆ ก็ควรที่จะได้ทราบวิถีจิตทั้งหมดว่า เป็นจิตชาติอะไรด้วย

    6948 วิถีจิตแรกทางปัญจทวารวิถี ได้แก่ อาวัชชนวิถี

    วิถีจิตแรกทางปัญจทวารวิถี แล้วแต่ว่าจะเป็นจักขุทวารวิถี หรือโสตทวารวิถี หรือฆานทวารวิถี หรือชิวหาทวารวิถี หรือกายทวารวิถี ก็ต้องเกิดขึ้นทีละวิถี และทีละขณะ เพราะฉะนั้นเวลาที่ภวังคจิตดับไปแล้ว

    วิถีที่ ๑ ทางปัญจทวาร คือ “อาวัชชนวิถี” ซึ่งได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง เป็นชาติ “กิริยา” ไม่ใช่กุศล อกุศล และไม่ใช่วิบาก

    ซึ่งข้อความในอัฏฐสาลินี แสดงลักษณะของจิตที่เป็นกิริยาจิตว่า

    เป็น “กิริยา” คือ เป็นเพียงการกระทำ

    และข้อความต่อไปแสดงลักษณะของกิริยาจิต ที่ต่างกันโดย “กิจ” ว่า

    ก็ในบรรดากิริยาจิตทุกดวงทีเดียว กิริยาจิตดวงใดไม่ถึงความเป็นชวนะ กิริยาจิตดวงนั้นย่อมไม่มีผล เหมือนดอกไม้ลม ซึ่งมาจากศัพท์ว่า “วาตบุปฺผํ” ซึ่งมูลฎีกาแก้ว่า “โมฆบุปฺผํ” หมายถึง ดอกไม้ที่ไร้ผล

    มีไหมคะ ดอกไม้ซึ่งไร้ผล มีหรือไม่มีคะ ไม่ใช่หมายความว่า เมื่อมีดอกแล้ว จะต้องมีผลเสมอไป แต่ว่าดอกไม้บางชนิด มีดอกจริง แต่ว่าเมื่อร่วงหล่นไปแล้ว ก็ไม่มีผล

    เพราะฉะนั้นกิริยาจิตก็เช่นเดียวกัน กิริยาจิตดวงใดไม่ถึงความเป็นชวนะ กิริยาจิตดวงนั้นย่อมไม่มีผล เหมือนดอกไม้ลม และกิริยาจิตที่ไม่ถึงชวนะ คือ ไม่เป็นชวนวิถีจิตนั้นก็มี ๒ ดวง คือ “ปัญจทวาราวัชชนจิต” ๑ ดวง ซึ่งเป็นอาวัชชนจิต กระทำอาวัชชนกิจทางปัญจทวาร และ ”มโนทวาราวัชชนจิต” ๑ ดวง ซึ่งกระทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร และทำอาวัชชนกิจทางมโนทวาร

    ส่วนกิริยาจิตอื่นซึ่งถึงความเป็นชวนะเป็นจิตของพระอรหันต์นั้น ข้อความในอัฏฐสาลินี อุปมาว่า

    กิริยาจิตดวงใดถึงความเป็นชวนะ กิริยาจิตดวงนั้นก็ไม่มีผล เหมือนดอกของต้นไม้ที่มีรากขาดเสียแล้ว จึงเป็นแต่เพียงการกระทำเท่านั้น เพราะเป็นไปด้วยอำนาจให้สำเร็จกิจนั้นๆ

    นี่ก็เป็นการแสดงลักษณะที่ต่างกันของกิริยาจิตที่ไม่ถึงความเป็นชวนะ และที่ถึงความเป็นชวนะ เพราะฉะนั้นผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็มีกิริยาจิต แต่ว่ามีเพียง ๒ ดวงเท่านั้น คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตและมโนทวาราวัชชนจิต กิริยาจิตอื่นทั้งหมด ซึ่งต่อไปจะทราบว่ามีกี่ดวง เป็นของพระอรหันต์ทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้นพระอรหันต์ก็มีกิริยาจิตที่ไม่ถึงชวนะ ๒ ดวง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง มโนทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง และกิริยาจิตที่เป็นชวนวิถี เพราะพระอรหันต์ดับกุศลและอกุศลทั้งหมด จึงไม่มีชวนวิถีจิตที่เป็นกุศลและอกุศลเลย

    6949 ชาติของจิตทั้งหมดมี ๔ ชาติ

    เพราะฉะนั้นจิตทั้งหมดจำแนกออกได้เป็น ๔ ชาติ คือ เกิดเป็นกุศล ชาติหนึ่ง ประเภทหนึ่ง เกิดเป็นอกุศล ชาติหนึ่ง ประเภทหนึ่ง เกิดเป็นวิบาก คือ เป็นผลของกรรม ประเภทหนึ่ง เกิดเป็นกิริยา คือ เป็นเพียงการกระทำ ไม่ใช่ผลของกรรม และไม่ใช่กรรม คือ ไม่ใช่ทั้งกุศลและอกุศล และไม่ใช่วิบาก อีกประเภทหนึ่ง

    ซึ่งถ้าได้ทราบเรื่องชาติของจิต ก็จะทราบว่า ขณะใดเป็นเหตุ ขณะใดเป็นผล ขณะใดไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่ผล

    พระอรหันต์มีจิตกี่ชาติคะ ๒ ชาติ คือ วิบากกับกิริยา

    ปุถุชนมีจิตกี่ชาติ ๔ ชาติ คือ กุศล อกุศล วิบาก กิริยา

    พระโสดาบันบุคคลมีจิตกี่ชาติ ๔ ชาติ คือ กุศล อกุศล วิบาก กิริยา

    พระสกทาคามีมีจิตกี่ชาติ ๔ ชาติ คือ กุศล อกุศล วิบาก กิริยา

    พระอนาคามีมีจิตกี่ชาติ ๔ ชาติ คือ กุศล อกุศล วิบาก กิริยา

    แต่พระอรหันต์มีจิตเพียง ๒ ชาติเท่านั้น คือ วิบากและกิริยา

    6950 เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับ วิญญาณจิตซึ่งเป็นชาติวิบากเกิดต่อ

    เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว จักขุวิญญาณวิถีเกิดในจักขุทวารวิถี เป็นชาติวิบาก เพราะเหตุว่าเป็นผลของกรรมที่ทำให้เห็นสิ่งที่น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจ ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม จักขุวิญญาณก็เป็นกุศลวิบาก ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม จักขุวิญญาณก็เป็นอกุศลวิบาก

    เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าทุกคนจะมีจักขุปสาท แต่จักขุวิญญาณเห็นอารมณ์ต่างกันตามกรรม ไม่มีใครทำให้นะคะ กรรมของตนเองเป็นปัจจัยทำให้วิบาก คือ จักขุวิญญาณเกิดขึ้น เห็นสิ่งที่น่าพอใจ หรือสิ่งที่ไม่น่าพอใจ

    ถ้าเป็นทางหู หลังจากที่ปัญจทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว โสตวิญญาณก็เกิดขึ้นได้ยินเสียง เป็นชาติวิบาก แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก

    ทางจมูกก็เช่นเดียวกัน บางครั้งได้กลิ่นซึ่งไม่น่าพอใจเลย ขณะนั้นเป็นฆานวิญญาณอกุศลวิบาก ถ้าขณะใดที่ได้กลิ่นที่หอม น่าพอใจ ขณะนั้นก็เป็นฆานวิญญาณกุศลวิบาก

    ถ้าเป็นทางลิ้นก็เช่นเดียวกัน ได้รสที่กลมกล่อม รสที่ประณีตในขณะใด ขณะนั้นก็เป็นชิวหาวิญญาณกุศลวิบาก ถ้าได้รสที่ไม่ประณีต เผ็ด ขม ขื่น ฝาด ไม่น่าพอใจ ขณะนั้นชิวหาวิญญาณก็เป็นอกุศลวิบาก

    ทางกายก็เช่นเดียวกัน มีการกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว อยู่เสมอ ถ้าขณะใดกระทบสัมผัสสิ่งที่แข็งเกินไป กระด้าง แรง ขณะนั้นก็เป็นอกุศลวิบาก ถ้าขณะใดกระทบสัมผัสสิ่งที่น่าพอใจ ขณะนั้นก็เป็นกุศลวิบาก

    เพราะฉะนั้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง ได้แก่ จักขุวิญญาณ ๒ ดวง คือ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ โสตวิญญาณ ๒ ดวง คือ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ ฆานวิญญาณ ๒ ดวง คือ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง คือ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ กายวิญญาณ ๒ ดวง คือ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑

    ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง เป็นวิบาก

    6951 บังคับให้วิบากเกิดตามตั้งใจได้หรือไม่

    ถาม เรื่องของวิบากจิต ฟังดูแล้ว คล้ายๆ กับบังเอิญ หรือบางทีจงใจให้มันเกิดก็ได้ สมมติว่าบังเอิญเราเดินไปเห็นอะไรดีๆ เดินไปโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ อยากจะไปดูอะไรสวยๆ แล้วก็ไปด้วยตัวเอง ก็ได้เห็นของสวยๆ อยากจะดมกลิ่นหอมๆ ก็ไปซื้อน้ำหอมดีๆ มาดม อย่างนี้ก็เป็นกุศลวิบากอยู่ตลอด จะตั้งใจให้มันเป็นก็ได้ และอย่างที่ไม่ได้ตั้งใจ อย่างเราเดินไปผ่านร้านขายดอกมะลิ กลิ่นดอกมะลิหอมๆ ก็โชยมา วิบากโดยที่ตั้งใจให้มันเกิดก็ได้ ผมก็ชักจะงงๆ อยู่ อย่างคนมีเงิน เขาร้อน ก็ไปซื้อแอร์มาติด เขาก็เย็น กายวิญญาณกระทบกับสิ่งที่พอใจ สบายมาก อย่างที่เราเดินไป บังเอิญร้อนมาก เข้าไปใต้ร่มไม้ มันมีที่ให้เรา อันนี้มันยังไง รู้สึกว่าบางครั้งบังคับให้มันเกิดก็ได้ ผมแยกไม่ออก

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้มีกรรมในอดีตที่ได้กระทำแล้วหรือคะ คิดถึงแต่ปัจจุบัน คล้ายๆ กับอยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เป็นตัวเราที่จะทำได้ แต่ขอให้ย้อนนึกไปถึงว่า ไม่มีกรรมในอดีตบ้างหรือคะ ปราศจากกรรมที่ได้กระทำแล้วหรืออย่างไร จึงกล่าวว่าสามารถที่จะได้รูป ได้เสียง ได้กลิ่น ได้รส ตามปรารถนาได้

    ผู้ฟัง ผมดูแล้ว คล้ายๆ กับบังคับให้เกิดได้ หรือโดยบังเอิญ โดยธรรมชาติก็ได้ คล้ายๆ กับมีลักษณะ ๒ อย่างด้วยซ้ำไป

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าไม่รู้ปัจจัยของจิตแต่ละขณะที่จะเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง อย่างคนบางคน หรืออย่างผมก็ได้ อยากกินผลไม้อร่อยๆ เอาสตางค์ไปซื้อมังคุด กิโลละ ๑๐ กว่าบาท มากินก็อร่อยแล้ว อย่างนั้นบังคับให้มันเกิดก็ได้ หรือโดยที่เราบังเอิญเดินไป มีเพื่อนมาเลี้ยงเรา หรืออะไรก็อีกอย่างหนึ่ง บางทีคล้ายๆ กับวิบากจิตอันนี้

    ท่านอาจารย์ ดูเสมือนเกิดมาโดยปราศจากกรรมในอดีต จึงมีความเป็นตัวตน ซึ่งสามารถจะกระทำอย่างนั้นก็ได้ อย่างนี้ก็ได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 18
    15 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ