จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 009


    แล้วต่อจากนั้นทหารยามคนที่ ๑ ก็รับเครื่องราชบรรณาการ ได้แก่ สัมปฏิจฉันนจิต ส่งให้คนที่ ๒ คือ สันตีรณจิต คนที่ ๒ ส่งให้คนที่ ๓ คือ โวฏฐัพพนจิต คนที่ ๓ ทูลเกล้าถวายพระราชา คือ ชวนจิต พระราชาได้เสวย

    มีคำอธิบายว่า ข้อเปรียบเทียบนี้ แสดงเนื้อความอะไร แสดงเนื้อความว่า อารมณ์มีกิจ คือ หน้าที่เพียงแต่กระทบปสาทเท่านั้น คนบ้านนอกไม่ได้เข้าไปเฝ้าพระราชา แต่ว่าเครื่องราชบรรณาการส่งต่อจากคนที่ ๑ ให้คนที่ ๒ ให้คนที่ ๓ แล้วจึงถึงพระราชา

    เพราะฉะนั้นจักขุวิญญาณจิตเท่านั้นที่กระทำกิจเห็น อารมณ์อยู่ที่ทวาร อารมณ์สามารถเพียงกระทบปสาทเท่านั้น แต่ว่าจิตรู้อารมณ์สืบต่อกัน อารมณ์ไม่ได้ข้ามพ้น หรือว่าล่วงล้ำปสาทไปที่อื่นเลย อารมณ์จะเลยปสาทเข้าไปที่ไหนได้ไหมคะ เป็นรูปที่กระทบปสาท ถ้าเป็นรูปารมณ์ทางตาที่กำลังเห็นในขณะนี้ มีกิจเพียงกระทบปสาทเท่านั้น เครื่องบรรณาการ

    นี่เป็นคำอุปมาที่จะให้พิจารณาให้เข้าใจโดยละเอียดถึงกิจแต่ละกิจของวิถีจิตแต่ละขณะว่า จักขุวิญญาณกระทำกิจเห็น เหมือนนายทวารซึ่งเปิดประตูดู ทำกิจที่นั่น แล้วสัมปฏิจฉันนะ เป็นทหารยามคนที่ ๑ ที่รับเครื่องราชบรรณาการส่งให้คนที่ ๒ เพราะเหตุว่าจักขุวิญญาณกระทำกิจเห็นแล้วดับไป กระทำกิจต่อจากนั้นได้ไหมคะ จักขุวิญญาณจะกระทำกิจของสัมปฏิจฉันนะไม่ได้ จักขุวิญญาณจะรับอารมณ์ไม่ได้ เพราะจักขุวิญญาณกระทำทัสสนกิจ คือทำได้อย่างเดียว คือ เห็นที่ประตู แต่ว่าสัมปฏิจฉันนะเป็นทหารยามคนที่ ๑ กระทำกิจรับ แล้วส่งให้คนที่ ๒ คือ สันตีรณะ ซึ่งสันตีรณะก็ส่งให้โวฏฐัพพนะ แล้วโวฏฐัพพนะก็ส่งให้พระราชา พระราชาก็เสวยเครื่องราชบรรณาการนั้น

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ที่ใช้คำว่า เสพ ที่ใช้คำว่า เสวย นี้ เพื่อที่จะให้เข้าใจจริงๆ ถึงสภาพของจิตที่เป็นกุศลหรืออกุศลที่กระทำชวนกิจ เวลาที่มีอารมณ์ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นจิตที่อิ่มด้วยโลภะ หรือว่าอิ่มด้วยโทสะ หรือว่าอิ่มด้วยโมหะ หรือว่าอิ่มด้วยกุศล เพราะเหตุว่ากระทำกิจแล่นไปในอารมณ์ ไม่ใช่เพียงเห็น ไม่ใช่เพียงรับ ไม่ใช่เพียงพิจารณา ไม่ใช่เพียงตัดสิน แต่กิจทั้งหมดกระทำหมดแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นปัจจัยให้กุศลเกิดขึ้นเสพอารมณ์นั้น หรืออกุศลเกิดขึ้นก็ส้องเสพอารมณ์นั้น แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล เป็นวิถีจิตที่อิ่มจริงๆ เพราะว่าเกิดขึ้นเสพอารมณ์นั้นถึง ๗ ขณะ

    กำลังอิ่มไหมคะ ทางตาต้องดูนานๆ หรือเปล่าถึงจะอิ่ม ทางหู ถ้าเป็นโมฆวาระ ก็ไม่ได้ยินเสียง เสียงกระทบ แต่ไม่ได้ยิน หรือว่าถ้าเป็นโวฏฐัพพนวาระ กุศล อกุศลก็ไม่เกิด อิ่มไหมคะ ยังไม่ได้รับประทาน ไม่อิ่ม แต่พอถึงชวนจิตเสพอารมณ์นั้น เป็นจิตประเภทเดียวกันที่เกิดดับสืบต่อซ้ำกันถึง ๗ ครั้ง คือ ๗ ขณะ แล้วแต่ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล

    เพราะฉะนั้นโดยปัจจัย ชวนวิถีสั่งสมสันดานตนโดยสามารถของชวนจิต เพราะมีอาเสวนปัจจัย กระทำกิจเสพอารมณ์นั้นซ้ำถึง ๗ ขณะ เพราะฉะนั้นก็มีกำลังที่จะทำให้วิบากซึ่งเป็นผลเกิดขึ้นในอนาคต

    ถ้าเป็นกุศลก็ดี แต่ถ้าเป็นอกุศล ไม่ทราบว่า รู้ตัวหรือเปล่าว่า สั่งสมอกุศลประเภทใดมากมาย หนาแน่น พอกพูน ทันทีที่ลืมตาตื่นขึ้นก็หลงเลย เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

    6933 โลกนี้ไม่ปรากฏในขณะที่เป็นภวังคจิต

    เวลาที่เป็นภวังคจิต ไม่ได้รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ไม่ได้นึกคิด เพราะเหตุว่าถ้าคิดนึกหรือถ้าฝัน เป็นมโนทวารวิถีจิต ไม่ใช่ภวังคจิต

    เพราะฉะนั้นเวลาที่เป็นภวังค์จริงๆ โลกนี้ไม่ปรากฏ อย่าลืมค่ะ โลกนี้ไม่ปรากฏเลย ความสำคัญที่คิดว่า เป็นบุคคลนี้ในโลกนี้ แล้วจะอยู่ในโลกนี้อีกนานสักเท่าไร เป็นไปในขณะที่นึกคิดถึงเรื่องในโลกนี้ ซึ่งเป็นวิถีจิต แต่เวลาที่เป็นภวังคจิต ไม่มีการรู้อารมณ์ต่างๆ ของโลกนี้เลย โลกนี้ไม่ปรากฏเลย

    เพราะฉะนั้นในขณะนั้นมีอนุสัยกิเลส ไม่ใช่ว่าไม่มีกิเลส

    6934 อนุสัยกิเลส - ปริยุฏฐานกิเลส - วีติกกัมมกิเลส

    เพราะเหตุว่ากิเลสมี ๓ ขั้น คือ อนุสัยกิเลส เป็นกิเลสอย่างละเอียด ๑ ปริยุฏฐานกิเลส เป็นกิเลสอย่างกลาง ๑ และวีติกกมกิเลส เป็นกิเลสอย่างหยาบ ๑

    อนุสัยกิเลส ซึ่งเป็นกิเลสอย่างละเอียดที่สะสมนอนเนื่องอยู่ในภวังคจิตนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นปรากฏกระทำกิจการงาน ปริยุฏฐานกิเลส กิเลสอย่างกลาง เกิดขึ้นกระทำกิจที่ชวนวิถี วีติกกมกิเลส กิเลสอย่างหยาบ ก็ไม่พ้นจากชวนวิถี

    เพราะฉะนั้นจิตที่ไม่ใช่วิถีจิตเท่านั้น ซึ่งจะมีอนุสัยกิเลส หลังจากที่วิถีจิตเกิดขึ้นแล้ว จะไม่เป็นอนุสัยอีกต่อไป จะเป็นปริยุฏฐานกิเลส หรือวีติกกมกิเลส

    เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า เวลาที่วิถีจิตเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู ได้กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก ลิ้มรสที่ปรากฏทางลิ้น รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย หรือว่าจะคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ทางใจ ขณะนั้นมีการสั่งสมสันดานตน เพราะเป็นชวนวิถี ขณะนั้นไม่ใช่อนุสัยกิเลส ถ้าเป็นอกุศลก็จะเป็นปริยุฏฐานกิเลส หรือวีติกกมกิเลส ปริยุฏฐานกิเลส คือ กิเลสอย่างกลาง วีติกกมกิเลส คือ กิเลสอย่างหยาบ ซึ่งกระทำให้ล่วงทุจริตทางกาย ทางวาจา

    6935 ไม่รู้ตัวเลยว่าสะสมสันดานตลอดทุกขณะที่ชวนวิถีเกิด

    เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ “เห็น” ไม่ใช่อนุสัยกิเลส เวลาที่ชวนวิถีจิตเกิด จะต้องเป็นปริยุฏฐานกิเลส หรือวีติกกมกิเลส แต่ไม่รู้ตัวเลย ใช่ไหมคะ ว่าสั่งสมสันดานตลอดทุกขณะที่ชวนวิถีจิตเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางใจ

    6936 ตื่นขึ้นมาแล้วสดชื่น จิตใจสบาย ดีหรือไม่ดี

    ถ้าท่านผู้ฟังตื่นขึ้นมา รู้สึกสดชื่น จิตใจสบาย ดีหรือไม่ดีคะ ดีหรือ ดีแน่นะคะ

    ดูเหมือนว่าท่านปรารถนาแต่ความรู้สึกสบาย วันไหนตื่นขึ้นมาอ่อนเพลีย อาจจะจิตใจเศร้าหมอง ขุ่นมัว ไม่ทราบว่า วันนี้เป็นอะไร รู้สึกไม่ค่อยจะแช่มชื่น ขณะนั้นไม่ชอบ เพราะลักษณะของโทสมูลจิตซึ่งประกอบด้วยโทมนัสเวทนา เป็นสภาพความรู้สึกของจิตที่เสีย เพราะว่าเวทนาในขณะนั้นทำให้สภาพของจิตปรากฏเป็นจิตเสีย เพราะเวทนาเป็นโทมนัส

    เพราะฉะนั้นทุกท่านปรารถนาที่จะตื่นขึ้นสดชื่น ไม่ว่าจะเห็นอะไร ก็รู้สึกว่าวันนี้สบายใจ ชอบไหมคะอย่างนี้ ปกติชอบนะคะ แต่ให้ทราบว่า ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด หรือถ้ากุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นสั่งสมสันดานของความพอใจ ในสภาพของจิตซึ่งสบาย แช่มชื่น เป็นโลภมูลจิต

    เพราะฉะนั้นการสะสมสันดานโดยชวนวิถีจิตเกิดขึ้นพอใจ แช่มชื่น จิตใจสบาย ซึ่งไม่ใช่กุศล ขณะนั้นสะสมอกุศลสันดานทีละเล็กทีละน้อยๆ ๆ อย่างเบาบาง จนกระทั่งไม่รู้สึก

    เพราะฉะนั้นปริยุฏฐานกิเลสก็มีขั้นว่า จะเป็นปริยุฏฐานกิเลสอย่างเบาบาง หรือว่าอย่างรุนแรง ซึ่งถ้าจำแนกแล้ว อกุศลธรรมทั้งหมด ซึ่งได้แก่ อกุศลเจตสิก ๑๔ ประเภท ก็มีถึง ๙ กอง ขั้นละเอียด ขั้นกลาง ขั้นต่างๆ แล้วก็ขั้นหยาบ

    6937 การมีโอกาสได้ฟังได้เข้าใจพระธรรม เพื่อให้รู้ตนเองว่ามีอกุศลมาก

    เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้ทราบว่า การที่ได้มีโอกาสฟังพระธรรม ได้เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ได้ฟังเรื่องของจิตอย่างละเอียด ถึงวิถีจิตต่างๆ ในขณะที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย การคิดนึก ซึ่งเป็นชีวิตปกติประจำวันนี้ ให้ทราบว่า เพื่อประโยชน์ คือ ให้รู้ตัวเองว่า มีอกุศลที่สั่งสมมามากสักแค่ไหน ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด มีใครจะบอกได้ไหมว่า อกุศลลดน้อยลง เพราะเหตุว่าปัญญาไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วอกุศลนั้นจะลดน้อยลงได้อย่างไร แม้แต่เพียงตื่นขึ้นมาสบาย วันนี้สดชื่น ก็ไม่รู้แล้วว่า ขณะนั้นสั่งสมสันดานที่เป็นความพอใจอย่างละเอียด แล้วสั่งสมมาเท่าไรแล้วคะ ที่จะพอใจอย่างนี้ โดยไม่เห็นว่าเป็นโทษ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด

    เพราะฉะนั้นการสั่งสมสันดานก็จะเห็นได้ว่า ทีละเล็กทีละน้อย ทีละวิถีไปนะคะ แล้วแต่ว่าจะเป็นจักขุทวารวิถี โสตทวารวิถี ฆานทวารวิถี ชิวหาทวารวิถี กายทวารวิถี มโนทวารวิถี แล้วในภพนี้ ในชาตินี้ มากสักเท่าไร ในภพก่อนๆ ในชาติก่อนๆ มากสักเท่าไร แล้วถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ภพต่อๆ ไปจะเพิ่มขึ้นอีกมากสักเท่าไร และการที่จะให้ปัญญารู้แจ้งอริยสัจธรรมที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท จะเร็วหรือจะช้า ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ไปทำกันมาเดือนสองเดือน ก็เป็นพระอริยบุคคล โดยที่ปัญญาไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แม้แต่ลักษณะของสติ ซึ่งเป็นสภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็ยังไม่รู้ว่ามีลักษณะอย่างไร

    เพราะฉะนั้นปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ก็ย่อมมีไม่ได้ แต่พระธรรมที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด เพื่อให้เป็นบุคคลผู้ไม่ประมาท ที่จะรู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริง แม้แต่การสั่งสมสันดาน ทุกท่านก็จะรู้ได้ว่า แต่ละท่านซึ่งต่างกันไป เพราะอกุศลชวนวิถีหรือกุศลชวนวิถีเกิดมากกว่ากัน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจ

    6938 วันนี้มีใครรู้สึกว่ามีอกุศลประเภทโลภะบ้างหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้นเวลากระทบทางตา ให้ทราบว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏที่จักขุปสาท แต่ว่าชวนะที่เป็นอกุศลพอใจ สั่งสมสันดานซึ่งยากเหลือเกินที่จะละได้ เพราะว่าเป็นไปอย่างละเอียดและอย่างแผ่วเบา

    วันนี้มีใครรู้สึกว่า มีอกุศลประเภทโลภะมากๆ บ้างไหมคะ น้อยหรือมาก แต่โลภะอย่างเบาบาง รู้ไหมคะว่า เกือบตลอดเวลา ทันที่ลืมตา วันนี้จิตใจสบายแช่มชื่น เริ่มแล้วค่ะ สั่งสมสันดานของความพอใจ แล้วยังปรารถนาที่จะให้เป็นอย่างนั้นอยู่เรื่อยๆ

    เพราะฉะนั้นการจะละกิเลสนี้ยากจริงๆ ไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าใจว่า จะละได้โดยรวดเร็ว หรือว่าโดยไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    6939 การฟังพระธรรมทุกๆ ขั้นจะเกื้อกูลให้จิตผ่องแผ้ว

    แต่การฟังธรรมนี้จะเกื้อกูลได้ ท่านผู้ฟังเคยลองสังเกตไหมคะว่า ถ้าวันไหนท่านฟังธรรมมากๆ เพราะถ้าจะพูดไปแล้ว ที่เมืองไทยเรานี้ รายการธรรมทางวิทยุมีมาก เกือบจะตลอดเวลา และถ้าท่านเป็นผู้ฟังซึ่งพิจารณาประโยชน์ที่จะได้รับจากการฟังธรรม มีธรรมหลายระดับ ล้วนแต่เกื้อกูล ถ้าพิจารณาแล้วก็เป็นไปในทางที่จะให้เป็นกุศลประการต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ถ้าเป็นไปในเรื่องของทาน ศีล ก็เป็นธรรมที่ถูกต้อง แต่ถ้าเป็นไปในเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ท่านผู้ฟังต้องพิจารณาใคร่ครวญโดยดี เพื่อที่จะได้อบรมเจริญปัญญาได้ถูกต้องจริงๆ แต่ก็ไม่ควรที่จะละเลยการฟังธรรมขั้นอื่นๆ ด้วย ซึ่งในขณะที่มีการฟังธรรม มีการพิจารณาธรรม มีสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ในขณะนั้นจิตผ่องแผ้ว ซึ่งต่างกับเวลาที่กุศลจิตไม่เกิด หรือสติปัฏฐานไม่เกิด แต่ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน จึงจะสามารถรู้สภาพของจิตได้ว่า สภาพของจิตซึ่งเป็นกุศลต่างกับสภาพของจิตที่เป็นอกุศล เพราะเหตุว่าผู้ที่ยังมีอกุศลอยู่ ผู้ที่ยังมีปัจจัยจะให้อกุศลจิตเกิด อดไม่ได้ค่ะ ที่จะตื่นมาแล้วรู้สึกสบายใจ สำหรับบางท่าน และสำหรับบางท่าน บางวาระ บางกาลตื่นมาแล้วก็หงุดหงิด ก็แล้วแต่ว่าการสะสมที่โวฏฐัพพนจิตจะมนสิการให้วิถีจิตที่เกิดต่อเป็นอกุศลประเภทใด หรือว่าเป็นกุศล

    6940 เจริญสติปัฏฐาน คือ จิตทางมโนทวารเท่านั้นหรือไม่

    ถาม ที่ผมจะเรียนถามก็เรื่องเดียวกับเมื่อกี้นี้ แต่รู้สึกว่าเข้าใจว่า ตามที่อธิบายเมื่อกี้นี้ ก็เข้าใจว่า จิตที่เจริญสติปัฏฐาน ก็คือทางมโนทวารเท่านั้นใช่ไหม ที่ทำสติปัฏฐานกันนี้ทางมโนทวาร

    ท่านอาจารย์ ชวนวิถีค่ะ ที่เป็นกุศลชวนะซึ่งได้ได้ทั้ง ๖ ทวาร

    ผู้ฟัง อยากให้อาจารย์อธิบายให้ชัดเจนว่า จิตที่เจริญสติปัฏฐานอย่างถูกต้องสมบูรณ์แบบนี้แต่ละขั้นๆ ของวิถีจิตนั้น มันเป็นเหตุเป็นผลกันอย่างไร ถ้าเข้าใจนี้ได้ ผมก็จะเข้าใจเรื่องสติปัฏฐานอย่างดีทีเดียว

    ท่านอาจารย์ สติปัฏฐานเป็นการอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ซึ่งตามปกติ ตามความเป็นจริง จิตเกิดขึ้นทีละขณะ กระทำกิจของจิตแต่ละประเภท แต่ละขณะ เวลาที่ยังไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การกระทบสัมผัส ไม่มีการคิดนึก ไม่มีการฝัน ขณะนั้นไม่ใช่วิถีจิต ภวังคจิตไมใช่กุศลจิต ไม่ใช่ชวนวิถี เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ เพราะเหตุว่าในขณะนั้นเป็นวิบากจิต

    เพราะฉะนั้นเวลาที่นอนหลับสนิทจริงๆ สติไม่ได้เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ขณะที่เป็นวิถีจิต คือ ขณะใดก็ตามที่มีการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นจักขุทวารวิถีจิตแต่ละขณะ เริ่มตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิต จักขุวิญญาณเป็นวิถีจิต สัมปฏิจฉันนะเป็นวิถีจิต สันตีรณะเป็นวิถีจิต โวฏฐัพพนะเป็นวิถีจิต ชวนะเป็นวิถีจิต ซึ่งชวนะตามที่ได้ทราบแล้วว่า เป็นกุศลหรืออกุศล สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ และสำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้ว กุศลจิตและอกุศลจิตไม่มี เป็นกิริยา

    เพราะฉะนั้นเมื่อกุศลเกิดที่ชวนวิถี สติซึ่งเป็นกุศลก็เกิดร่วมกับกุศลจิต แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลประเภทใด ซึ่งยากเหลือเกินที่จะมีใครสามารถแบ่งแยกวิถีจิตทางตาและทางใจซึ่งต่อกัน

    เมื่อจักขุทวารวิถีจิตดับหมดไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นหลายขณะทีเดียว แล้วมโนทวารวิถีก็เกิดขึ้นรู้อารมณ์เดียวกับปัญจทวารวิถีที่ดับไป ถ้าเป็นจักขุทวารวิถี เห็นรูปใด มโนทวารวิถีก็มีรูปนั้นแหละเป็นอารมณ์ แม้ว่าไม่เห็น อย่าลืมนะคะว่า มีรูปนั้นเป็นอารมณ์ แม้ว่าไม่เห็น เช่นเดียวกับจักขุวิญญาณเป็นจิตประเภทเดียว ดวงเดียว ขณะเดียวที่ทำทัสสนกิจ คือ เห็นจริงๆ แต่เมื่อดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ชวนะ ซึ่งเป็นกุศลหรืออกุศล หรือตทาลัมพนจิตก็รู้อารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ไม่เห็น ฉันใด เวลาที่มโนทวารวิถีจิตเกิดต่อจากจักขุทวารวิถีจิต มโนทวารวิถีจิตตั้งแต่มโนทวาราวัชชนจิตก็ดี หรือว่าชวนวิถีที่เป็นกุศลหรืออกุศลก็ดี และตทาลัมพนจิตซึ่งเกิดต่อจากชวนวิถี ก็รู้รูปารมณ์ที่จักขุทวารวิถีเพิ่งรู้นั่นเอง แม้ว่าไม่เห็น

    เพราะฉะนั้นจิตที่กระทำกิจรู้อารมณ์ทางมโนทวาร สามารถที่จะรู้อารมณ์ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จักขุทวารวิถีจิตดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดต่อ แล้วมโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้น รู้รูปารมณ์ซึ่งจักขุทวารวิถีจิตรู้นั่นเอง

    6941 วิถีจิตทางหู กับ การเจริญสติปัฏฐาน

    ถ้าเป็นวิถีจิตทางหู เมื่อโสตทวารวิถีจิตทั้งหมด คือ ตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิต โสตวิญญาณจิต สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิต และตทาลัมพนจิต ดับไปหมดแล้ว วิถีจิตดับหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดต่อคั่นมากหลายขณะ แล้วมโนทวาราวัชชนจิตก็รำพึงถึงเสียง ซึ่งโสตทวารวิถีจิตเพิ่งรู้ แล้วก็ดับไป เป็นอารมณ์ ชวนจิตทางมโนทวารวิถี และตทาลัมพนะทางมโนทวารวิถีก็เกิดขึ้นรู้เสียงซึ่งทางโสตทวารวิถีเพิ่งรู้แล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นในขณะนี้จะมีใครที่จะทราบความเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วของทางจักขุทวารวิถี ภวังคจิต และมโนทวารวิถี หรือว่าทางโสตทวารวิถีซึ่งดับไป มีภวังค์คั่น แล้วมโนทวารวิถีก็รู้เสียง ซึ่งทางโสตทวารวิถีเพิ่งรู้ แล้วก็ดับไป

    การอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง เมื่อตามความเป็นจริง ก่อนที่สติจะเจริญขึ้น ทั้งเห็นด้วย และยังไม่ปรากฏว่าดับ ก็มีการได้ยิน แล้วก็ยังมีการคิดนึก รู้ความหมายของเสียงที่ได้ยินด้วย

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า จิตเกิดดับสืบต่อกันเร็วมาก เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาที่กำลังเห็นก็ได้ โดยที่ไม่ต้องนึกถึงว่า ขณะนี้เป็นปัญจทวารวิถี หรือว่าเป็นมโนทวารวิถี ไม่จำเป็นต้องคิดค่ะ เพราะเหตุว่าถ้าคิดในขณะนั้น กำลังรู้คำ รู้เรื่อง รู้ชื่อ รู้บัญญัติ ไม่ใช่เป็นการมนสิการพิจารณาน้อมที่จะรู้สภาพของสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งกำลังปรากฏ และสามารถจะปรากฏได้เฉพาะทางตาในขณะที่กำลังเห็น

    6942 การอบรมเจริญสติปัฏบานไม่มีชื่อ ไม่มีบัญญัติ แทรก

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่มีชื่อ ไม่มีบัญญัติ เข้าไปคิดนึกคั่นหรือแทรก แต่ก็ห้ามไม่ได้อีก เช่นในขณะที่กำลังเห็นนี้ สติอาจจะระลึกนิดหนึ่ง รู้ว่ากำลังมีสิ่งที่ปรากฏจริงๆ ยังไม่รู้อะไรมากค่ะ แต่รู้ว่าขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาจริงๆ

    นี่ก็แสดงถึงขณะที่มีสติเกิดขึ้น จึงระลึกรู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา มี ต้องอาศัยการระลึกอีกนะคะ แล้วพิจารณาน้อมที่จะรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่เป็นการนึกถึงว่า จักขุวิญญาณดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนะเกิดต่อ สันตีรณะเกิดต่อ โวฏฐัพพนะเกิดต่อ ชวนะขณะนี้กำลังเป็นกุศล ไม่ใช่อย่างนั้นเลยค่ะ

    เวลาที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพื่อที่จะรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่เห็น ต้องแยกให้ออก

    นี่คือการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และในขณะนั้นก็ไม่ใช่การนึกว่า ขณะนี้เป็นกุศลจิตทางมโนทวารที่กำลังรู้ แล้วก็จะตัดวิถีจิตทางปัญจทวารที่เป็นกุศลออกไป ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเหตุว่ามหากุศลจิตเกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร ในขณะที่เห็นเป็นมหากุศลจิตที่ประกอบด้วยสติพร้อมด้วยสัมปชัญญะ ที่รู้ลักษณะของรูปที่กำลังปรากฏได้สืบต่อกันทั้งทางมโนทวารวิถีและทางปัญจทวารวิถี

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่ขั้นคิดนึก แต่เป็นขั้นที่จะระลึกถึงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าสภาพธรรมนั้นจะปรากฏจริงๆ ทางมโนทวารวิถี ซึ่งหมายความว่า มโนทวารวิถีต้องปรากฏ

    6943 วิถีจิตที่เกิดขึ้นมารู้ปรมัตถ์หลายวิถี สติปัฏฐานระลึกทางทวารไหน อย่างไร

    ถาม ผมข้องใจอยู่ที่ว่า เจริญสติปัฏฐานอย่างที่ว่า เราจะรู้นามและรูปโดยความเป็นปรมัตถ์ทางปัญจทวาร ขณะที่รู้นามหรือรูป ขณะนั้นเป็นวิถีจิตเดียวอันนั้นรู้ หรือว่าเปลี่ยนวิถีใหม่ขึ้นมารู้ใหม่

    ท่านอาจารย์ หลายวิถีค่ะ ไม่ใช่วิถีเดียว วิถีจิตหนึ่งที่คิดว่า ๗ ขณะมากนั้นนะคะ ความจริงดับไปอย่างรวดเร็วเหลือเกิน

    ผู้ฟัง เมื่อเป็นหลายๆ วิถี โดยความคิดส่วนตัวของผม การที่เราจะประจักษ์จักขุวิญญาณที่กำลังปรากฏอยู่ อันนี้เป็นอันที่กำลังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน จะเป็นวิถีเดียวกันที่ประจักษ์ว่า อันนี้เป็นจักขุวิญญาณหรือว่ารูปารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์ อันนี้เป็นมโนทวารวิถีร่วมกันอย่างไร อันนี้อาจารย์ช่วยอธิบายให้กระจ่างหน่อยครับ

    ที่รู้จักขุวิญญาณจริงๆ ในขณะที่กำลังปรากฏอยู่เดี๋ยวนี้ เป็นวิถีของมโนทวารรู้ หรือว่าเป็นวิถีของปัญจทวารอันนั้น หรือกับวิถีใหม่รู้ ก็สงสัยอยู่ เพราะว่าที่กำลังรู้ของจริงที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ ต่อหน้าต่อตานี้ จะเป็นวิถีไหน

    ท่านอาจารย์ การอบรมเจริญปัญญา อย่าลืมนะคะตามลำดับขั้น ฟังดูแล้วเหมือนกับว่า ต้องการที่จะเจาะจงเป็นวิถีๆ ไปนะคะ แต่ความจริงแล้ว การอบรมเจริญปัญญานี้ ขอเพียงขั้นที่ให้รู้ว่า ลักษณะของนามธรรมนั้นเป็นสภาพรู้เท่านั้นจริงๆ ได้ไหมคะ ยังไม่ต้องไปถึงวิถีไหนๆ เลย เพียงแต่ให้สติระลึกศึกษาแล้วรู้จริงๆ ว่า ลักษณะของนามธรรมซึ่งเกิดขึ้นนั้นเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เพียงเท่านี้ค่ะ เพียงให้เข้าถึงลักษณะแท้ๆ ของนามธรรม ซึ่งเป็นธาตุรู้ สภาพรู้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 18
    15 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ