จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 043


    โดยรู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ไม่ใช่ทำอย่างอื่นที่จะไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    7586 การรู้ลักษณะของจิตต้องในขณะที่กำลังเห็น ได้ยิน ... คิดนึก

    เพราะการที่จะรู้ลักษณะของจิต ต้องในขณะที่กำลังเห็น จึงจะรู้ว่ามีธาตุรู้ มีสภาพรู้ที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

    การที่จะรู้ลักษณะของจิตได้ ก็ต้องในขณะที่ได้ยินเสียง ในขณะที่กำลังได้ยินเสียง เป็นหนทางที่จะรู้ว่า มีธาตุรู้ มีสภาพรู้ ที่กำลังรู้เสียง ซึ่งไม่ใช่เสียง แต่สภาพรู้ ธาตุรู้นั้นกำลังรู้เสียง

    ขณะใดที่กลิ่นปรากฏ ขณะนั้นก็เป็นขณะที่สามารถจะรู้ได้ว่า มีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้กลิ่น ในขณะที่กำลังลิ้มรส ที่รสปรากฏในขณะนั้นก็เป็นขณะที่สามารถจะรู้ลักษณะของจิต ซึ่งเป็นสภาพที่กำลังลิ้มรส ทางใจที่กำลังคิดนึกก็เหมือนกัน ซึ่งทุกท่านคิดอยู่ตลอดเวลา ก็ย่อมจะเป็นขณะที่จะทำให้รู้ได้ว่า ที่มีเรื่องที่กำลังคิดในขณะนั้น ก็เพราะจิตนึกถึง คิดถึงเรื่องนั้น จิตเป็นสภาพคิด ถ้ามิฉะนั้นแล้ว จะรู้ลักษณะของจิตได้ขณะไหน ที่จะรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ถ้าไม่พิจารณาในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ หรือว่ากำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ กำลังได้กลิ่นเดี๋ยวนี้ กำลังลิ้มรสเดี๋ยวนี้ กำลังกระทบสัมผัสทางกาย หรือกำลังคิดนึกทางใจ

    7587 จิตเที่ยวไป

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมองเพราะจิตเศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ เพราะจิตผ่องแผ้ว.

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตชื่อว่า “จรณะ” เที่ยวไป เธอทั้งหลายเห็นแล้วหรือ

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เห็นแล้วพระเจ้าข้า

    จิตเที่ยวไปยังไงคะ ทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายกระทบสัมผัส ทางใจคิดนึก ทุกท่านรู้สึกว่าจะชอบเที่ยว ใช่ไหมคะ ไม่มีใครอยากจะอยู่ซ้ำซากจำเจที่หนึ่งที่ใด เพราะต้องการเห็น ต้องการได้ยิน ต้องการได้กลิ่น ต้องการลิ้มรส ต้องการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ต้องการคิดนึกถึงสิ่งที่ได้เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่กระทบสัมผัส เพราะฉะนั้น เที่ยวอยู่เสมอ ตลอดเวลา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางใจ ไม่อยู่นิ่งนะคะ มีจิตของใครอยู่นิ่งๆ บ้าง เป็นไปได้ไหมคะ ไม่ได้ ถ้าจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะต้องรู้ว่า จิตเกิดขึ้นและดับไป นั่นคือการรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็จะต้องอบรมเจริญปัญญาด้วยการฟัง ด้วยการพิจารณา ซึ่งจะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สัมมาสติเกิด ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิต ซึ่งเป็นนามธรรม ซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ซึ่งกำลังเกิดดับอยู่

    สิ่งที่กำลังมีแล้วไม่รู้ตามความเป็นจริง ก็น่าที่จะอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะได้รู้ตามความเป็นจริง เพื่อที่ว่า จิตจะได้ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง

    7588 ประโยชน์ที่ทรงแสดงเรื่องของจิต เพื่อเกื้อกูลให้สติเกิดพิจารณาจิต

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    จิตชื่อว่า “จรณะ” แม้นั้นแล เธอทั้งหลาย คิดแล้วด้วยจิตนั่นแหละ จิตเป็นเครื่องคิดนั้นแหละ แม้นั้น เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงพิจารณาจิตของตนเนืองๆ ว่า จิตนี้เศร้าหมองด้วยราคะ โทสะ โมหะ สิ้นกาลนาน. สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมอง เพราะจิตเศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ เพราะจิตผ่องแผ้ว.

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่พิจารณาเห็นหมู่สัตว์อื่นแม้เพียงหมู่หนึ่ง ซึ่งวิจิตรเหมือนอย่างสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายนี้เลย

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ดิรัจฉานแม้เหล่านี้แล คิดแล้วด้วยจิตนั่นแหละ. จิตนั่นแหละวิจิตรกว่าสัตว์ดิรัจฉานแม้เหล่านั้น เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงพิจารณาจิตของตนเนืองๆ ว่า จิตนี้เศร้าหมองแล้วด้วยราคะ โทสะ โมหะ สิ้นกาลนาน. สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมอง เพราะจิต

    เศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ เพราะจิตผ่องแผ้ว

    มีประโยชน์อะไรไหมคะ ถ้าจะไม่พิจารณาจิต แล้วแสดงแต่เรื่องของจิตโดยละเอียดมากมาย แต่ว่าไม่พิจารณา

    เพราะฉะนั้นประโยชน์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของจิต ก็เพื่อที่จะให้พิจารณาจิต ด้วยคำเทศนา ด้วยอนุศาสนีย์มากมายประการต่างๆ ก็เพื่อเกื้อกูลให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของจิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นนามธรรม

    7589 จิตเหมือนช่างย้อมหรือช่างเขียน

    ซึ่งข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช่างย้อมหรือช่างเขียน เมื่อมีเครื่องย้อมก็ดี ครั่งก็ดี ขมิ้นก็ดี สีเขียวก็ดี สีแดงก็ดี พึงเขียนรูปสตรีหรือรูปบุรุษ มีอวัยวะใหญ่น้อยครบทุกส่วนลงที่แผ่นกระดานเกลี้ยงเกลา หรือที่ฝา หรือที่แผ่นผ้า แม้ฉันใด.

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อจะให้เกิด ย่อมยังรูปนั่นแหละให้เกิด เมื่อจะให้เกิด ย่อมยังเวทนานั่นแหละให้เกิด เมื่อจะให้เกิด ย่อมยังสัญญานั่นแหละให้เกิด เมื่อจะให้เกิด ย่อมยังสังขารนั่นแหละให้เกิด เมื่อจะให้เกิด ย่อมยังวิญญาณนั่นแหละให้เกิด.

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า

    พ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง

    ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

    พ. เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

    จบ สูตรที่ ๘

    ถ้าท่านผู้ฟังเห็นช่างเขียนรูป กำลังเขียนรูปจากสิ่งที่ไม่มีอะไรเลย แต่อาศัยสีต่างๆ กระทำให้วิจิตรเกิดขึ้น เป็นรูปต่างๆ ฉันใด ขณะนี้จิตของท่านผู้ฟังเหมือนกับช่างเขียน ซึ่งกำลังจะเขียนรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ซึ่งจะเกิดต่อไปในอนาคต

    ขณะนี้ทุกท่านต่างกันตามกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะความวิจิตรซึ่งเกิดขึ้นเนิ่นนานมาแล้ว ฉันใด จิตซึ่งกำลังวิจิตรในขณะนี้ ก็กำลังกระทำให้วิจิตร ซึ่งจะเป็นคติ จะเป็นเพศ จะเป็นรูปร่างสัณฐาน จะเป็นการได้ลาภ หรือเสื่อมลาภ ได้ยศ หรือเสื่อมยศ ได้สุข หรือทุกข์ นินทา หรือสรรเสริญในกาลข้างหน้า

    ด้วยเหตุนี้จึงควรพิจารณาลักษณะของจิตที่กำลังปรากฏ ซึ่งกำลังเขียนสิ่งซึ่งจะเกิดขึ้นข้างหน้า ซึ่งถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของจิตในขณะนี้ ย่อมจะไม่ทราบเลยว่า วิจิตรจริงๆ ทั้งๆ ที่กำลังนั่งอยู่นี้ จิตเกิดดับสืบต่อรวดเร็วเหลือเกิน นั่งอยู่ที่นี่ แต่บางครั้ง นอกจากจิตจะเห็นทางตา ได้ยินเสียงทางหู ก็ยังมีจิตคิดนึกไกลออกไป แล้วแต่ว่าจะท่องเที่ยวไปที่ไหนบ้าง หรือว่ากำลังจะกระทำอะไรให้วิจิตรเกิดขึ้น

    7590 จิตของผู้ไม่ได้สดับเหมือนช่างเขียนที่ยึดถือจิตรกรรมที่เขียน

    ข้อความใน คัททูลสูตร ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    สุนัขที่เขาผูกไว้ด้วยเชือก ถูกล่ามไว้ที่หลักหรือเสาอันมั่นคง เวลาเดิน ย่อมเดินใกล้หลักหรือเสานั้นเอง เวลายืน ย่อมยืนใกล้หลักหรือเสานั้นเอง เวลานั่ง ย่อมนั่งใกล้หลักหรือเสานั้นเอง เวลานอน ย่อมนอนใกล้หลักหรือเสานั้นเอง แม้ฉันใด. ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

    ช่างเขียนยึดถือจิตรกรรมที่เขียนขึ้นว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ฉันใด จิตของปุถุชนซึ่งยังยึดถือในรูปว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ยึดถือในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ก็ยังคงจะยึดถือต่อไปทุกภพ ทุกชาติ เหมือนกับช่างเขียนซึ่งยึดถือในจิตรกรรมซึ่งตนเองเขียนขึ้น นี่คือ ลักษณะของปุถุชน

    เพราะฉะนั้นถ้าตราบใดยังไม่รู้ลักษณะของรูป ของเวทนา ของสัญญา ของสังขารและของวิญญาณ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปตามความเป็นจริง ผู้ที่เป็นปุถุชน เมื่อยืนก็ย่อมยืนใกล้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อนั่ง ในขณะนี้ก็นั่งใกล้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ว่าด้วยความเป็นตัวตน เหมือนกับช่างเขียนซึ่งเขียนรูป และยึดถือจิตรกรรมที่ตนเขียนว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ฉันใด ปุถุชนเมื่อไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปตามความเป็นจริง ก็ย่อมยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เหมือนช่างเขียนที่ยึดถือจิตรกรรมที่ตนเขียนว่า เป็นรูปสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    7591 ยากที่จะพูดให้เข้าถึงสภาพของธรรม โวหารเทศนาจึงมีมาก

    ท่านอาจารย์ มีอะไรสงสัยไหมคะในเรื่องนี้

    ถาม อาจารย์ว่า ความวิจิตรของจิต วาจาก็เกิดจากจิต เพราะฉะนั้นจิตจะวิจิตรเท่าไรก็มีคำพูด พูดถึงเรื่องของจิต แต่บางทีจิตบางอย่าง คำพูดเข้าไปไม่ถึง เช่นคำว่า “โยนิโสมนสิการ” แปลเป็นภาษาไทยก็แปลว่า การพิจารณาโดยแยบคาย และอรรถกถาต่างๆ ท่านก็ยังขยายความออกไปอีก เสร็จแล้ว ฟังแล้วก็ยังไม่รู้ว่า โยนิโสมนสิการนั้นคืออย่างไร จิตชนิดไหน แบบไหน จึงจะมีโยนิโสมนสิการ พูดเท่าไรๆ คนฟังก็ยังไม่เข้าใจ เพราะคำพูดเข้าไม่ถึง หรือยังไง

    ท่านอาจารย์ ยากนะคะที่จะใช้คำพูด แล้วก็สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมได้ทันที ไม่ต้องกล่าวถึงโยนิโสมนสิการ เพียง “จิต” นี้เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ในขณะที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ในขณะที่กำลังได้ยินเสียง จิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ไม่ใช่เสียง พูดอย่างนี้น่าจะชัดเจนแล้ว ใช่ไหมคะ หรือว่าจะมีคำอะไรที่จะชัดเจนยิ่งกว่านี้ แต่แม้อย่างนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะเข้าใจลักษณะของจิต ซึ่งกำลังได้ยินเสียง เป็นธาตุที่กำลังรู้เสียงในขณะนี้ได้ ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดระลึก และพยายามน้อมที่จะศึกษา รู้ในอาการของธาตุรู้ที่มีจริงๆ ซึ่งกำลังรู้เสียง แต่ก็มีคำ เพราะเหตุว่าลักษณะของจิตมีจริง ก็จะต้องมีโวหาร มีคำซึ่งจะทำให้เข้าใจลักษณะของจิต ถ้าพิจารณาบ่อยๆ แล้วก็รู้หนทางที่จะทำให้อบรมเจริญปัญญา ที่สามารถจะประจักษ์แจ้งในลักษณะของธาตุรู้ สภาพรู้ได้

    เพราะฉะนั้นโวหารจึงมีมาก โดยเฉพาะโวหารเทศนาของพระผู้มีพระภาคที่จะกล่าวถึงสภาพธรรมแต่ละลักษณะตามความเป็นจริง

    7592 ใช้คำว่า สังเกต ใส่ใจในอารมณ์ แทน โยนิโสมนสิการ ได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เข้าใจค่ะ ขณะนั้นเป็นโยนิโสมนสิการ ในขณะที่ฟังแล้วพิจารณา

    ผู้ถาม เป็นความเห็นของผมนะครับ โยนิโสมนสิการ เป็นภาษาบาลี แต่ว่าถ้าเราใช้คำว่า มีการสังเกต มีการใส่ใจในอารมณ์ มาแทนคำว่าโยนิโสมนสิการ จะแทนกันได้ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ได้ค่ะ จะใช้คำอะไรก็ได้ เพื่อที่จะให้เกิดความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามโวหารที่ได้ยินได้ฟัง เช่นตัวอย่างที่ว่า จิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ไม่ใช่รูป ซึ่งแม้ว่าจะละเอียดสักเท่าไรก็ตาม นามธรรมยิ่งละเอียดกว่านั้น เพราะเหตุว่าไม่ใช่รูปสักรูปเดียว ถ้าเข้าใจในขณะที่กำลังฟัง ขณะนั้นเองคือโยนิโสมนสิการ แล้วจะต้องอธิบายอะไรไหมคะ ถ้าเกิดความเข้าใจแล้ว ในขณะใดที่เข้าใจ ในขณะนั้นเพราะโยนิโสมนสิการ พิจารณาในคำที่ได้ยินได้ฟัง แล้วเข้าใจขณะใด ขณะนั้นเป็นโยนิโสมนสิการ แต่จะใช้คำอะไรก็ได้ที่จะอธิบายคำว่า โยนิโสมนสิการ คือ พิจารณาด้วยความแยบคายจนกระทั่งเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นในขณะใดที่เข้าใจถูก ในขณะนั้นเป็นโยนิโสมนสิการ จะใช้คำภาษาบาลีก็ได้ หรือจะใช้คำภาษาไทยว่า พิจารณาจนเข้าใจถูกต้อง

    7593 ปัตตสูตร ที่ ๖ ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง

    ข้อความในสารัตถปกาสินี อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค มารสังยุต ทุติยวรรค ปัตตสูตรที่ ๖ ซึ่งจะทำให้เข้าใจพยัญชนะหลายคำที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่อให้พระภิกษุเห็นแจ้ง มีความหมายว่าอย่างไร ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง มีความหมายว่าอย่างไร

    ข้อความในปัตตสูตรที่ ๖

    พึงทราบวินิจฉัย ในปัตตสูตรที่ ๖

    ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงยังพระภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา เกี่ยวด้วยอุปาทานขันธ์ ๕ ก็ภิกษุเหล่านั้น ทำในใจให้สำเร็จ น้อมนึกมาด้วยความเต็มใจ เงี่ยโสตลงสดับธรรมอยู่

    นี่คือความวิจิตรของจิตแต่ละขณะ ซึ่งกำลังปรุงแต่ง เหมือนช่างเขียนรูปเขียนทีเดียว

    7594 อุปาทานขันธ์ ๕ - สามัญญลักษณะ - สภาวะลักษณะ

    ข้อความในสารัตถปกาสินี อธิบายว่า

    คำว่า “เกี่ยวด้วยอุปาทานขันธ์ ๕” ความว่า เมื่อกำหนดอุปาทานขันธ์ ๕ ก็แยกแสดงโดยประการต่างๆ ด้วยสามารถแห่งสภาวะลักษณะและสามัญลักษณะ

    ในที่นี้มีลักษณะ ๒ อย่าง คือ สภาวะลักษณะ ๑ และสามัญลักษณะ ๑

    สามัญลักษณะ หมายความถึงลักษณะที่สาธารณะทั่วไปกับสภาพธรรมทั้งปวง เช่น ไม่ว่าจะเป็นจิต หรือเจตสิก หรือเป็นรูป ซึ่งเป็นสังขารธรรม เกิดขึ้นแล้วดับไป นั่นเป็นสามัญลักษณะ ไม่ว่าสภาพธรรมใดๆ ทั้งนั้น จะเป็นจิต หรือเจตสิก หรือจะเป็นรูปซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไป นี่เป็นสามัญลักษณะของสังขารธรรมทั้งหลาย

    แต่สภาวะลักษณะของจิตต่างกับสภาวะลักษณะของเจตสิกแต่ละเจตสิก และต่างกับสภาวะลักษณะของรูปแต่ละรูป

    เพราะฉะนั้น “สภาวะลักษณะ” หมายความถึง ลักษณะเฉพาะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่ สามัญลักษณะ หมายความถึง ลักษณะทั่วไปของสภาพธรรมทั้งปวงที่เป็นสังขารธรรมด้วยกัน ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

    7595 คำว่า ให้สมาทาน

    คำว่า “ให้สมาทาน” คือ ให้ถือเอา ให้เข้าใจ ให้พิจารณาให้ถูกต้อง

    นี่คือการแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาค เพื่อประโยชน์จะให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง คือ เมื่อฟังแล้วก็ให้สมาทาน ให้ถือเอา ให้เข้าใจ ให้พิจารณาให้ถูกต้องว่า กุศลธรรมเป็นกุศลธรรม อกุศลธรรมเป็นอกุศลธรรม ซึ่งถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงโดยละเอียด หลายท่านอาจจะยึดถืออกุศลธรรมเป็นกุศลธรรมได้ แต่เพราะเหตุว่าสภาวะลักษณะของกุศลธรรมไม่ใช่อกุศลธรรม สภาวะลักษณะของอกุศลธรรมก็ไม่ใช่กุศลธรรม เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงธรรมโดยละเอียด โดยตลอด เกี่ยวด้วยอุปาทานขันธ์ ๕ คือ จิต เจตสิก รูป ซึ่งแยกเป็น รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ซึ่งจะไม่พ้นไปเลย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่สามารถจะฟังเรื่องของขันธ์ ๕ แล้วก็พิจารณาเรื่องของขันธ์ ๕ ด้วยความแยบคาย เพื่อที่จะได้ถือเอาด้วยความถูกต้อง และไม่ให้เข้าใจผิด

    7621 คำว่า ให้อาจหาญ

    คำว่า “ให้อาจหาญ” คือ ให้เกิดอุตสาหะในการสมาทาน

    ในการที่จะเข้าใจสภาพธรรม ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่เรื่องเร็ว โดยเฉพาะเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ว่าจะเข้าใจได้ง่ายๆ เลยนะคะ แต่ว่าธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น เพื่อให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้เกิดความอุตสาหะ ให้เกิดความเพียร ที่จะพิจารณาจนกว่าจะเข้าใจ จนกว่าสติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็จนกว่าจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามปกติ ตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงเรื่องอื่นที่พิสูจน์ไม่ได้ หรือว่าไม่ใช่ที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้า ทรงแสดงเรื่องของจักขุวิญญาณ เรื่องของการเห็น เรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทรงแสดงเรื่องของโสตวิญญาณ เรื่องของสภาพธรรมที่ได้ยินเสียง ทรงแสดงเรื่องของเสียงที่ปรากฏทางหู ทรงแสดงธรรมที่กำลังมีอยู่ กำลังปรากฏให้พิสูจน์

    เพราะฉะนั้นผู้ที่ได้ฟังธรรมแล้วก็จะเกิดความอาจหาญ คือ อุตสาหะในการที่จะพิจารณาจนกว่าจะเข้าใจสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

    7622 คำว่า ให้ร่าเริง

    คำว่า “ให้ร่าเริง” คือ ให้ผ่องใส ให้รุ่งเรือง ด้วยคุณที่ตนแทงตลอดแล้ว

    ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังมีลักษณะของสมาทาน อาจหาญ ร่าเริงบ้างหรือยัง แต่ให้ทราบความหมายว่า ท่านสามารถที่จะร่าเริงได้ในขณะที่กุศลจิตเกิด เพราะว่าบางท่านเป็นทุกข์เพราะอกุศล เป็นห่วงเป็นกังวลขณะใด ขณะนั้นก็เป็นอกุศล บางท่านก็ห่วงว่า อายุมากแล้ว สติปัฏฐานก็ยังเกิดน้อยเหลือเกิน เพราะฉะนั้นก็เป็นห่วงจริงๆ ว่าจะไม่ทัน เพราะเหตุว่ามีอายุมากแล้ว ขณะนั้นเป็นอกุศล

    พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงธรรมให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดมีอกุศลมากๆ หรือว่าเป็นห่วงมากๆ แต่ทรงแสดงธรรมเพื่อให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง อกุศลทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ยับยั้งไม่ได้ ในเมื่ออกุศลจิตประเภทหนึ่งประเภทใดจะเกิดขึ้น หรือว่าเกิดขึ้นแล้ว ก็เกิดแล้ว แต่ร่าเริงได้ในขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของอกุศลที่กำลังปรากฏ ไม่ให้อกุศลที่เกิดขึ้นเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่ว่าให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น แม้เป็นอกุศล เพื่อที่จะได้รู้ว่า แม้ขณะนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และถ้าสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของอกุศลที่กำลังมี กำลังปรากฏ จะเห็นได้ชัดจริงๆ ว่า ขณะที่สติกำลังระลึกรู้นั้น ไม่เศร้าหมองเลย เพราะเหตุว่าไม่กังวลเดือดร้อน ที่จะถือเอาอกุศลนั้นเป็นตัวตน หรือว่าเป็นเรา

    หนทางเดียวที่จะละ จะคลาย จะบรรเทา จะดับอกุศลที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยได้ เพราะสติระลึกรู้ ไม่ให้อกุศลที่เกิดปรากฏเสียไปเปล่าๆ โดยเพิ่มความเป็นห่วงกังวลขึ้น แต่โดยการที่สติระลึกและสามารถที่จะรู้ว่า ลักษณะสภาพธรรมที่เป็นอกุศลประการต่างๆ ลักษณะต่างๆ นั้น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้นถ้าอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็จะถึงคำว่า “ให้ร่าเริง” คือ ให้ผ่องใสและให้รุ่งเรืองด้วยคุณที่ตนแทงตลอดแล้ว คือ สามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    7623 คำว่า ทำให้สำเร็จประโยชน์

    คำว่า “ทำให้สำเร็จประโยชน์” คือ พิจารณารู้อย่างนี้ว่า ประโยชน์นี้เราทั้งหลายควรบรรลุได้ ดังนี้แล้วก็ชื่อว่า มีประโยชน์แต่เทศนา

    ไม่ได้เป็นเรื่องให้ท้อถอยนะคะ ท่านผู้ฟังฟังเรื่องของสติปัฏฐาน สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นสิ่งที่สามารถจะแทงตลอดในสภาพที่เกิดขึ้นและดับไป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ได้

    ในขณะที่พิจารณารู้อย่างนี้ว่า ประโยชน์นี้ เราทั้งหลายควรบรรลุได้

    ไม่หมดหวัง ใช่ไหมคะ รู้ว่าเป็นสิ่งที่ควรจะบรรลุได้ วันหนึ่ง ยังไม่ใช่วันนี้ อย่าเพิ่งเป็นห่วงนะคะว่า จะไม่สามารถจะรู้แจ้งได้ในวันนี้ แต่ว่าสติสามารถจะเริ่มระลึกได้ในวันนี้ แต่ส่วนการที่จะประจักษ์แจ้ง และแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมย่อมเป็นวันหนึ่ง ในเมื่อวันนี้สติสามารถที่จะเกิดระลึกรู้ได้

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนี้ ประโยชน์ คือ ให้รู้ว่า “เราควรบรรลุได้” ที่จะไม่ท้อถอย

    เพราะฉะนั้นก็จะต้องฟังเรื่องของสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียดต่อๆ ไป เพื่อจะให้ไม่หลงลืมสติ

    7624 ศาสนาของพระผู้มีพระภาคแต่งขึ้นใหม่ ได้หรือ

    ซึ่งข้อความในอรรถกถา คัมภีร์ กถาวัตถุ สาสนกถาวรรณนา มีข้อความที่กล่าวว่า

    ศาสนาของพระผู้มีพระภาคแต่งขึ้นใหม่ แปลงขึ้นใหม่ ได้หรือ

    นี่เป็นสิ่งที่จะให้ทุกท่านพิจารณานะคะ เพื่อที่จะให้พิจารณาว่า

    อริยธรรมทั้งหลาย มีสติเป็นต้นก็ดี เทศนาแห่งกุศลธรรมเป็นต้นก็ดี ชื่อว่า “ศาสนา”

    ในศาสนานั้น เว้นธรรมทั้งหลาย มีสติปัฏฐานเป็นต้น ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแก่ชนเหล่าใดแล้ว ศาสนาชื่อว่า อันบุคคลนั้นทำขึ้นใหม่ โดยการกระทำธรรมเหล่าอื่นให้เป็นสติปัฏฐานเป็นต้น หรือกระทำอกุศลธรรมเป็นต้นให้เป็นกุศลธรรมเป็นต้น หรือว่าศาสนาอันใครๆ กระทำแล้วอย่างนั้น มีอยู่ หรือพึงอาจเพื่อทำอย่างนั้นได้ มีหรือ

    หมายความว่า ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว คนอื่นสามารถที่จะแต่งขึ้นใหม่ แปลงขึ้นใหม่ แล้วก็เปลี่ยนแปลงสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่า สติปัฏฐานเป็นต้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 18
    16 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ