จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 017


    รูปเกิดขึ้นเพราะกรรม แต่เพราะรูปไม่รู้อะไร เพราะฉะนั้นรูปไม่ใช่วิบาก แต่ที่เห็นนี้เป็นสภาพรู้ จึงเป็นวิบากของนามธรรมซึ่งเป็นกรรม เพราะฉะนั้นก็ต้องแยกว่า กัมมปัจจัยเป็นอดีตปัจจัย แต่วิปากปัจจัยเป็นปัจจัยในปัจจุบันกาล เพราะเหตุว่าเกิดพร้อมกัน เห็นสิ่งที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย พร้อมกันทั้งจิตและเจตสิก

    นี่คือขณะที่เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่จะรู้ว่าเป็นผลของกรรม หรือว่าเป็นวิบาก ไม่ใช่เป็นกิเลส ไม่ใช่เป็นกรรม

    7025 ปัจจัย - ปัจจยุบบัน - ปัจจนิกกธรรม

    ถาม เกิดพร้อมกันหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่พร้อมกันค่ะ กรรมดับไปก่อน เป็นปัจจัยในอดีต ที่ว่าเป็นปัจจัยในอดีต คือ ปัจจัยนั้นต้องดับเสียก่อน ไม่ใช่เกิดพร้อมกับปัจจยุปบัน

    สำหรับปัจจัยนี้มีคำที่คู่กัน คือ ปัจจัย ปัจจยุปบัน และปัจจนิกธรรม ได้แก่

    “ปัจจัยธรรม” คือ ธรรมที่เป็นปัจจัย ที่ทำให้สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งเกิดขึ้น

    “ปัจจยุปบัน” คือ สภาพธรรมที่เกิดเพราะมีปัจจัยอื่นทำให้เกิดขึ้น

    และ “ปัจจนิกธรรม” คือธรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับสภาพธรรมซึ่งเป็นปัจจัยและปัจจยุปบันของกันและกัน

    เพราะฉะนั้นเวลาที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ จิตและเจตสิกที่ทำกิจเกิดขึ้นเห็นเป็นจักขุวิญญาณ พร้อมทั้งเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ๗ ดวง เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จิตและเจตสิกเป็นวิปากปัจจัยซึ่งกันและกัน เพราะเหตุว่ามีกัมมปัจจัยซึ่งเป็นอดีตปัจจัย ทำให้วิปากปัจจัยเกิดขึ้น

    วิปากปัจจัยเป็นปัจจุบัน เป็นปัจจัยโดยเป็นปัจจุบัน เพราะเกิดพร้อมกัน เป็นวิบากที่เกิดขึ้นเพราะกรรมเดียวกัน

    ถาม ...

    ท่านอาจารย์ กัมมปัจจัยได้แก่เจตนา

    ถาม ...

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่เหตุ บางทีก็ภายใน ๗ วัน บางทีก็ภายในชาตินั้น บางทีก็ชาติต่อไป บางทีก็หลายๆ ชาติข้างหน้าโน้น กรรมไงคะ แล้วแต่ปัจจัยอื่นอีก ไม่ใช่มีเพียงปัจจัยเดียวที่จะทำให้เกิดขึ้น แล้วแต่คติสมบัติ คติวิบัติ อุปธิสมบัติ อุปธิวิบัติ เป็นเรื่องที่ละเอียด ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน แต่ก็จะต้องค่อยๆ รู้ขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย

    7026 วิบากคือทุกขณะที่กำลังเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส

    ไม่ทราบวันนี้ยังมีข้อสงสัยอะไรอื่นอีกไหมคะในเรื่องที่ได้ฟังแล้ว

    ในคราวก่อนกล่าวถึงอรรถ คือ ความหมายที่เป็นลักษณะของจิต ประการที่ ๓ มีข้อความที่ว่า “ชื่อว่า จิต เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรมกิเลสสั่งสมวิบาก”

    เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่เห็นยาก เพราะเหตุว่าเป็นการกระทำที่สำเร็จแล้ว เสร็จสิ้นแล้วในอดีต แล้วก็ให้ผลในปัจจุบัน ซึ่งเป็นวิบาก เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้พิจารณาสภาพธรรมที่เป็นวิบากให้ละเอียดขึ้นว่า ธรรมชาติที่เป็นวิบาก ได้แก่ นามธรรม คือ จิตและเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัย

    เพราะฉะนั้นโดยทั่วไปนี้ เวลาที่มีใครประสบเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใด แล้วมักจะพูดว่า เป็นกรรมของคนนั้น ซึ่งถ้าจะให้เข้าใจจริงๆ แล้ว ควรจะบอกว่า เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วของบุคคลนั้น จะทำให้เข้าใจชัดเจนขึ้นว่า ขณะใดเป็นผลของกรรม และขณะใดเป็นกรรม

    เพราะว่าถ้าพูดสั้น บางคนที่ไม่คุ้นเคยกับธรรมก็จะเข้าใจผิด เข้าใจคลาดเคลื่อน เอากรรมมาเป็นวิบาก หรือว่าเอาวิบากนั่นเองเป็นกรรม

    แต่การศึกษาเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมที่เป็นจิต ซึ่งเป็นธรรมชาติอันกรรมกิเลสสั่งสมวิบาก จะทำให้เห็นชัดตามความเป็นจริงว่า ถ้าปราศจากทวาร คือ ทางรับอารมณ์ต่างๆ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย จะไม่มีวิบากเกิดขึ้นรับผลของกรรมเลย ใช่ไหมคะ ถ้าไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกาย ก็ย่อมไม่มีทางที่จะรับผลของอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจะเข้าใจสภาพของธรรมที่เป็นวิบาก ที่เป็นผลของกรรมให้ชัดเจน ก็จะต้องระลึกรู้ในขณะที่มีการเห็น วิบาก คือ ในขณะที่เห็น เวลานี้ยังไม่มีการประสบเหตุการณ์ใดๆ เป็นอุบัติเหตุ หรือว่าลาภ ยศ อะไรก็ตามแต่ แต่ว่าเป็นชีวิตปกติประจำวัน เพราะฉะนั้นขณะใดที่เห็นให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นวิบาก เป็นผลของอดีตกรรม ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ที่ไม่ใช่ชีวิตประจำวันเกิดขึ้น พิเศษต่างหากไปจากชีวิตปกติชีวิตประจำวัน หรือแม้ว่าในขณะที่เป็นชีวิตปกติประจำวัน ตามธรรมดาๆ อย่างเวลาที่ตื่นขึ้น ก็มีการเห็น มีการได้ยิน ต้องไม่ลืมว่า เป็นวิบาก เป็นผลของอดีตกรรม อย่าไปคิดถึงว่า เป็นวิบากเฉพาะเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย หรือว่าได้ลาภ หรือว่าเสื่อมลาภ หรือว่าเป็นสุข หรือเป็นทุกข์เท่านั้น

    แต่ว่าถึงแม้เหตุการณ์เป็นปกติ การเห็นตามธรรมดา การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ขณะนั้นทั้งหมด สติสามารถที่จะระลึกรู้สภาพธรรมที่เป็นวิบากจริงๆ มิฉะนั้นแล้วท่านก็จะถือว่า เหตุการณ์ใหญ่ๆ เป็นวิบาก อย่างเวลาที่ประสบอุบัติเหตุ ท่านก็บอกว่า เป็นกรรม ความจริงเป็นผลของกรรม ทางไหน ไม่มีการแยกออกเลย รวมๆ กันว่า เป็นผลของอดีตกรรม แต่ว่าการที่จะเป็นผู้ที่รู้สภาพธรรมตรงลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะต้องรู้ว่า วิบากทุกขณะที่เห็น ไม่ว่าจะเห็นอะไร จะเป็นอุบัติเหตุ หรือว่าเสื่อมลาภ หรือว่าได้ลาภ เป็นสุข เป็นทุกข์ ประการใดก็แล้วแต่

    แต่ว่าไม่ว่าขณะใดก็ตามที่กำลังเห็น ขณะนั้นเป็นวิบาก ขณะใดที่กำลังได้ยิน ขณะนั้นเป็นวิบาก เพราะฉะนั้นวิบากเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามเหตุในอดีตที่ได้กระทำแล้ว ซึ่งยากแก่การที่จะรู้ได้ว่า เห็นๆ อย่างนี้ เป็นผลของอดีตกรรมอะไร หรือว่าได้ยินเสียงระฆังบ้าง เสียงเด็กเล่นฟุตบอลบ้าง จะเป็นอดีตกรรมอะไร

    เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่ยากที่จะรู้ได้ แล้วก็เป็นอจินไตย คือ เป็นสิ่งซึ่งไม่ควรคิด เพราะเหตุว่าถ้าใครคิดก็จะไม่พ้นจากความบ้าและความเดือดร้อน เพราะคิดถึงสิ่งที่ไม่อาจจะรู้ได้ แต่ว่าวิบากมี ปรากฏ

    7027 สราคจิต - วีตราคจิต

    ด้วยเหตุนี้ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน จะเห็นได้ว่า สำหรับจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรพที่ ๑ คือ สราคจิต คือ จิตประกอบด้วยราคะ หรือโลภะ ความยินดี ความพอใจ ซึ่งมีเป็นปกติธรรมดา โดยที่ว่าท่านผู้ฟังอาจจะไม่เคยสังเกตลักษณะของโลภะ ความยินดี ความพอใจเลย แต่ด้วยเหตุใดสราคจิตจึงเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรพที่ ๑ เพราะเหตุว่าเกิดขึ้นเป็นปกติ ประจำ เมื่อมีการเห็นแล้ว อาจจะไม่รู้เลยว่า เวลาที่วิบากจิตซึ่งเห็นดับไปแล้ว โลภมูลจิตเป็นสภาพที่ยินดี พอใจในสิ่งที่เห็นเกิดสืบต่ออย่างรวดเร็วอยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้นการที่จะดับกิเลสได้ ปัญญาจะต้องสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นเมื่อมีการเห็น แล้วก็มีโลภะ เมื่อมีการได้ยิน แล้วก็มีโลภะ เมื่อมีการได้กลิ่น แล้วก็มีโลภะ มีการลิ้มรส แล้วก็มีโลภะ มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แล้วก็มีโลภะเป็นประจำ จึงเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน แล้วแต่ว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะของวิบากจิต ซึ่งเป็นวีตราคจิต จึงเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรพที่ ๒

    ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมที่เกิดปรากฏเป็นปกติ มีโลภมูลจิตเป็นประจำ ถ้าสติปัฏฐานของใครจะระลึกรู้ได้ หรือมิฉะนั้นก็เป็นวีตราคจิต ซึ่งเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรพที่ ๒ คือ จิตที่ปราศจากราคะ ได้แก่ กุศลจิต หรืออัพยากตจิต ซึ่งก็ได้แก่ วิบากจิตและกิริยาจิต แต่เมื่อกิริยาจิตไม่ปรากฏ วิบากจิตมีปรากฏในขณะที่เห็น เป็นวิบากจิต ในขณะที่ได้ยิน เป็นวิบากจิต ในขณะที่ได้กลิ่น เป็นวิบากจิต ในขณะที่ลิ้มรส เป็นวิบากจิต ในขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย เป็นวิบากจิต

    เพราะฉะนั้นขณะนี้มีวิบากจิตสลับกับกุศลจิต หรืออกุศลจิต ถ้าขณะใดที่เป็นอกุศลจิต ก็เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรพแรก ซึ่งถ้าเป็นสราคจิต ก็เป็นจิตที่พอใจอยู่ตลอดเวลาในการเห็น ในการได้ยิน ในการได้กลิ่น ในการลิ้มรส ในการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ถ้าขณะใดที่มีการระลึกได้ ก็รู้ว่า เห็น ไม่ใช่ความยินดีพอใจ ขณะที่ได้ยินเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาพรู้เสียง ไม่ใช่ความยินดีพอใจในเสียง

    เพราะฉะนั้นในขณะนั้นลักษณะของวิบากจิต ซึ่งเป็นผลในปัจจุบันเกิดขึ้น เพราะเหตุในอดีตเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ลักษณะของวิบากจิต อย่ารู้หยาบๆ เวลาที่มีอุบัติเหตุ มีโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้น มีการได้ลาภ หรือเสื่อมลาภ หรือว่ามีการเป็นสุข เป็นทุกข์ทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้น แต่ต้องรู้ว่า วิบากจิตทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นรับผลของกรรม ทางตา คือ ทุกขณะที่เห็น เป็นวิบาก ทุกขณะที่ได้ยิน เป็นวิบาก ทุกขณะที่ได้กลิ่น เป็นวิบาก ทุกขณะที่ลิ้มรส เป็นวิบาก ทุกขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย เป็นวิบาก

    มีท่านผู้ฟังสงสัยอะไรบ้างไหมคะในเรื่องนี้

    7028 วิบากจิตของท่าน มีคนอื่นทำให้หรือไม่

    วิบากจิตของท่านผู้ฟัง มีคนอื่นทำให้หรือเปล่าคะ พร้อมที่จะโทษคนอื่นหรือเปล่าคะว่า บุคคลนั้นบุคคลนี้กระทำให้ หรือว่ารู้ชัดตามความเป็นจริงว่า เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ซึ่งเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ด้วยกรรมของตนเองที่ได้กระทำแล้วในอดีตเป็นปัจจัย

    ตัวอย่างในพระไตรปิฎก ก็มีเรื่องของบุคคลที่ได้รับวิบากกรรมต่างๆ ในยุคนั้นสมัยนั้น และสำหรับสมัยนี้ ก็มีตัวอย่างของเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แต่ละบุคคลย่อมได้รับวิบาก คือ ผลของอดีตกรรม โดยที่ว่าไม่คาดคิดว่า จะเป็นในลักษณะใด เพราะไม่มีใครสามารถที่จะรู้ถึงเหตุในอดีตได้

    ท่านผู้ฟังคงได้ทราบข่าวที่ว่า มีตึกทั้งหลังพังลงมาทับเจ้าของบ้านตาย ไม่ต้องอาศัยลูกระเบิด ไม่ต้องอาศัยคนอื่นยิง หรือว่าทำร้าย แต่ว่าอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว เป็นปัจจัยที่จะให้ได้รับผลของกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะโทษบุคคลอื่น แต่เป็นเรื่องที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ จึงจะรู้ได้ว่า เป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นผลของอดีตกรรม ไม่ใช่ในขณะที่เป็นโลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นเหตุปัจจุบันที่จะให้เกิดผลในอนาคต

    7029 วิบากเป็นผลของอดีตกรรม สามารถจะรู้ได้เพราะปรากฏในปัจจุบัน

    สำหรับเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นวิบาก เป็นผลของอดีตกรรม ซึ่งสามารถจะรู้ได้ เพราะว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏในปัจจุบัน ในขณะที่กำลังเห็น ในขณะที่กำลังได้ยิน ในขณะที่กำลังได้กลิ่น ในขณะที่กำลังลิ้มรส ในขณะที่กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย

    ยังมีข้อสงสัยอีกบ้างไหมคะในการที่สามารถจะรู้ชัดได้จริงๆ เมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะเหตุว่าไม่ใช่มีในตำราเท่านั้น แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ วิบากจิตในขณะนี้เกิดขึ้นแล้ว เพราะเหตุปัจจัยในอดีต

    7030 การจะรู้ว่าสภาพนามธรรมที่เป็นวิบาก ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล

    ที่จะรู้ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เป็นวิบาก เป็นผลของอดีตกรรม ก็เพราะเหตุว่าไม่มีใครสามารถที่จะรู้ขณะจิตต่อไปว่า ขณะนั้นจะเป็นเห็นสิ่งอะไร หรือว่าจะได้ยินเสียงอะไร หรือว่าจะได้กลิ่นอะไร หรือว่าจะลิ้มรสอะไร หรือว่าจะกระทบสัมผัสอะไร ไม่มีใครจะสามารถบอกได้เลย เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าเสียงอะไรที่ปรากฏเป็นผลของอดีตกรรม ที่ทำให้วิบากจิตและเจตสิกเกิดขึ้นได้ยินเสียงนั้น

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่เฉพาะเวลาที่มีอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์พิเศษ แต่ชีวิตปกติประจำวันก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และถ้ารู้ให้ละเอียดขึ้นว่า ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทันทีที่เห็น หรือทันทีที่ได้ยิน หรือทันทีที่ได้กลิ่น หรือทันทีที่ลิ้มรส หรือทันทีที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย จะมีความรู้สึกยึดถือสภาพธรรมนั้นว่า เป็นของเรา หรือว่าเป็นเรา

    7031 ท่านมีสมบัติมากไหม เป็นของท่านจริงๆ หรือไม่

    ท่านผู้ฟังมีสมบัติมากไหมคะ แต่ละท่านมีสมบัติมากไหมคะ เป็นของท่านจริงๆ หรือเปล่า เป็นของท่านชั่วขณะที่ตาเห็น แล้วเกิดความยึดถือว่า นี่ของเรา หรือนี่สมบัติพัสถานของเรา นี่แก้วแหวนเพชรนิลจินดาของเรา แต่แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่ปรากฏเป็นอารมณ์ เป็นของจักขุวิญญาณ ชั่วขณะที่จักขุวิญญาณเห็น แล้วไม่ใช่ของจักขุวิญญาณจริงๆ เพราะเหตุว่าปรากฏภายนอก ไม่สามารถที่จะเอาเข้ามาเป็นภายในว่า เป็นของเราได้ ไม่ว่าจะเป็นเพชรนิลจินดา เสื้อผ้าอาภรณ์ หรือสิ่งใดๆ ก็ตามทั้งหมด ที่ปรากฏในขณะที่เห็น เป็นของสาธารณะกับทุกจักขุวิญญาณซึ่งเห็นสิ่งนั้น ไม่ใช่ของใครเลยค่ะ แล้วแต่ใครจะยึดถือว่า ของฉัน ของเรา แต่โดยสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว สิ่งนั้นไม่ใช่ของใคร แต่ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏกับจักขุวิญญาณเท่านั้น แต่ว่าเมื่อสิ่งนั้นปรากฏ แล้ว “กิเลส” ความไม่รู้ ยึดถือทันทีว่า ของเรา ทั้งวัตถุภายนอก ทั้งรูปร่างกาย ซึ่งแม้รูปร่างกายนี้ เวลาปรากฏทางตา สูง ต่ำ ดำ ขาว ต่างๆ ก็ปรากฏชั่วขณะที่กระทบกับจักขุปสาทเท่านั้นค่ะ ถ้าไม่มีการลืมตา ไม่มีการเห็นเกิดขึ้น จะไม่มีการนึกถึงรูปร่างสัณฐาน สูง ต่ำ ดำ ขาว ซึ่งยึดถือว่าเป็นของเราเลย

    เพราะฉะนั้นสิ่งใดๆ ทั้งภายใน คือ รูปร่างกายของตนเอง และวัตถุภายนอกทั้งหมด ตามสภาพความจริงแล้ว ไม่ใช่ของใครเลย แต่ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏเพียงชั่วขณะที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็น แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ทั้งสิ่งที่ปรากฏและสภาพรู้ คือ จักขุวิญญาณนั้น

    เพราะฉะนั้นมีอะไรบ้างคะซึ่งควรจะยึดถือว่าเป็นของเรา เพราะเหตุว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเมื่อกระทบตา เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเมื่อกระทบหู ดับไปหมดแล้วค่ะ ไม่มีของเราเลย

    การรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง จึงจะทำให้ละการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และรู้ว่าขณะไหนเป็นวิบาก ขณะไหนเป็นกิเลส ขณะไหนเป็นกรรม

    ชั่วขณะที่ได้เห็นครั้งหนึ่ง ได้ยินครั้งหนึ่ง ได้กลิ่นครั้งหนึ่ง ลิ้มรสครั้งหนึ่ง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสครั้งหนึ่ง หรือคิดนึกต่างๆ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริง และสามารถที่จะเป็นสติปัฏฐาน ให้ปัญญาศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้นวันนี้ท่านผู้ฟังก็คงจะสำรวจดูทรัพย์สมบัติทั้งหลายที่เคยมีมาก แต่แท้ที่จริงแล้วก็ทั่วไปกับจักขุวิญญาณ เพราะเหตุว่าถ้าเข้าใจว่า มีทรัพย์สมบัติมาก แต่ไม่เห็นทรัพย์สมบัตินั้นเลย จะเกิดความรู้สึกว่า เป็นของเราได้ไหม หรือว่าจะมีประโยชน์อะไรในเมื่อเป็นผู้ที่เข้าใจว่า เป็นผู้ที่มีทรัพย์สมบัติมาก แต่ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสใดๆ จากทรัพย์สมบัติทั้งหลายนั้น

    เพราะฉะนั้นถ้ารู้ลักษณะของปรมัตถธรรม ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จริงๆ จะมีความเสมอกัน เพราะไม่มีเรา ไม่ว่าจะเป็นจักขุวิญญาณของใคร ก็เห็นสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นไม่ควรที่จะยึดถือสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นเรา หรือของเรา

    เพราะฉะนั้นทุกคนนี้เท่ากัน โดยสภาพลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมเหมือนกัน แต่ว่าการที่จะยึดถือสภาพธรรมที่มีปรากฏว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา ซึ่งเป็นกิเลสนั้น ก็ย่อมมีมากน้อยต่างกัน

    เพราะฉะนั้นท่านที่เคยยินดีในทรัพย์สมบัติของท่านมากมาย เริ่มรู้สึกหรือยังว่า ท่านไม่มีทรัพย์สมบัติ เพราะเหตุว่าจักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็น แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ถ้าจักขุวิญญาณไม่เห็น ทรัพย์สมบัติของท่านอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้นก็เพียงจักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็น ชั่วขณะเห็น แล้วจะยึดถือว่า เป็นทรัพย์สมบัติของท่านได้อย่างไร ในเมื่อไม่สามารถเข้ามาสู่ตัวของท่าน สามารถเพียงแค่ปรากฏที่จักขุทวารหรือจักขุปสาทเท่านั้น

    เสียงก็เช่นเดียวกันนะคะ กลิ่นก็เช่นเดียวกัน รสก็เช่นเดียวกัน สิ่งที่กระทบสัมผัส ก็ชั่วขณะที่กระทบสัมผัสกระทบกายปสาท จึงปรากฏว่า ลักษณะนั้นมี แล้วก็ไม่สมควรที่จะยึดถือลักษณะนั้นว่า เป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา

    7083 ถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีสมบัติ จะดีหรือไม่

    ถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีสมบัติ จะดีไหมคะ ไม่ดี ใช่ไหมคะ ต้องมี ใช่ไหมคะ หรือว่าแท้ที่จริงแล้วจะมีหรือไม่มี เป็นเรื่องของวิบาก ถูกไหมคะ

    ถึงแม้ว่าทุกท่านอยากจะมีทรัพย์สมบัติมากๆ ให้เท่าๆ กัน เหมือนๆ กัน แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ผลที่ปรากฏในปัจจุบันมาจากเหตุในอดีต เพราะฉะนั้นไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เพราะฉะนั้นการที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า วิบาก ได้แก่ ปรมัตถธรรมในขณะที่เพียงเห็น เพียงได้ยิน เพียงได้กลิ่น เพียงลิ้มรส เพียงรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นผลซึ่งเกิดจากเหตุในอดีต เพราะเหตุว่าแม้ใครก็ตามเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วก็อยากจะได้สิ่งนั้นมาก จะได้หรือไม่ได้สิ่งนั้น แล้วแต่เหตุในอดีต ไม่ใช่เพราะด้วยกำลังของความปรารถนา ถ้าเป็นเพราะด้วยกำลังของความปรารถนาแล้ว ทุกคนที่ปรารถนาย่อมได้ สมมติว่ามีเพชรนิลจินดาที่สวยงาม แล้วทุกท่านที่เห็นก็เกิดความอยากได้ การที่บุคคลใดจะได้วัตถุสิ่งนั้น ไม่ใช่ด้วยกำลังของความอยากได้ แต่การที่จะได้เห็นสิ่งนั้นบ่อยๆ หรือสามารถที่จะถือกรรมสิทธิ์ มีวัตถุสิ่งนั้นไว้ให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นบ่อยๆ เป็นผลของอดีตกรรม มิฉะนั้นแล้วทุกคนที่อยากได้อะไร ย่อมได้ ถ้าสามารถที่จะได้ด้วยกำลังของความต้องการ

    เพราะฉะนั้นท่านผู้ฟังก็จะแยกวิถีจิตหนึ่งออกได้ว่า ชั่วในขณะที่เห็นทางตา เป็นวิบาก ส่วนความยินดี ความพอใจ ความต้องการในสิ่งนั้นจะมีมากน้อยสักเท่าไร ไม่ใช่เป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบากได้ทันที ไม่ใช่ว่าผลจะเกิดขึ้นได้ทันที แต่ว่าการที่ผลต่อไปจะเกิดขึ้น อาศัยเหตุในอดีตทั้งนั้น

    7084 อจิณไตย ๔ ประการ

    เพราะฉะนั้นท่านผู้ฟังก็จะแยกวิถีจิตหนึ่งออกได้ว่า ชั่วในขณะที่เห็นทางตา เป็นวิบาก ส่วนความยินดี ความพอใจ ความต้องการในสิ่งนั้นจะมีมากน้อยสักเท่าไร ไม่ใช่เป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบากได้ทันที ไม่ใช่ว่าผลจะเกิดขึ้นได้ทันที แต่ว่าการที่ผลต่อไปจะเกิดขึ้น อาศัยเหตุในอดีตทั้งนั้น

    ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีผู้ใดที่จะพยากรณ์ได้ว่า ในขณะที่มีการเห็นแต่ละครั้ง หรือว่าการได้ยินแต่ละครั้งนั้น เป็นผลของกรรมอะไร ซึ่งข้อความในอังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ อปัณณกวรรคที่ ๓ พระสูตรที่ ๗ ข้อ ๗๗

    อจินติตสูตร

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้ อันบุคคลไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน อจินไตย ๔ ประการเป็นไฉน

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑ ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน ๑ วิบากแห่งกรรม ๑ ความคิดเรื่องโลก ๑

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้แล ไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน ฯ

    จบสูตรที่ ๗

    จริงไหมคะ ขณะนี้วิบากทางตา สติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพนามธรรม ซึ่งเป็นสภาพรู้สิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้นค่ะ จะรู้เกินไปจนกระทั่งถึงว่า ที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เป็นผลของอดีตกรรมอะไร ในชาติไหน ย่อมไม่สามารถที่จะรู้ได้ แต่แม้กระนั้นในชั่วการเห็นขณะหนึ่งๆ สติปัฏฐานและปัญญาสามารถที่จะรู้ชัดว่า ขณะที่เห็นเป็นวิบาก ไม่ใช่ขณะที่เกิดความพอใจ หรือความไม่พอใจซึ่งเป็นอกุศลจิต หรือกุศลจิตซึ่งเกิดขึ้นต่อจากขณะที่เห็น

    นี่เป็นความรวดเร็วของวิถีจิต ซึ่งผู้ที่จะดับกิเลสได้ ต้องรู้ตรงตามความเป็นจริง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 18
    16 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ