อจิณไตย ๔ ประการ


    เพราะฉะนั้นท่านผู้ฟังก็จะแยกวิถีจิตหนึ่งออกได้ว่า ชั่วในขณะที่เห็นทางตา เป็นวิบาก ส่วนความยินดี ความพอใจ ความต้องการในสิ่งนั้นจะมีมากน้อยสักเท่าไร ไม่ใช่เป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบากได้ทันที ไม่ใช่ว่าผลจะเกิดขึ้นได้ทันที แต่ว่าการที่ผลต่อไปจะเกิดขึ้น อาศัยเหตุในอดีตทั้งนั้น

    ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีผู้ใดที่จะพยากรณ์ได้ว่า ในขณะที่มีการเห็นแต่ละครั้ง หรือว่าการได้ยินแต่ละครั้งนั้น เป็นผลของกรรมอะไร ซึ่งข้อความในอังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ อปัณณกวรรคที่ ๓ พระสูตรที่ ๗ ข้อ ๗๗

    อจินติตสูตร

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้ อันบุคคลไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน อจินไตย ๔ ประการเป็นไฉน

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑ ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน ๑ วิบากแห่งกรรม ๑ ความคิดเรื่องโลก ๑

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ ประการนี้แล ไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน ฯ

    จบสูตรที่ ๗

    จริงไหมคะ ขณะนี้วิบากทางตา สติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพนามธรรม ซึ่งเป็นสภาพรู้สิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้นค่ะ จะรู้เกินไปจนกระทั่งถึงว่า ที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เป็นผลของอดีตกรรมอะไร ในชาติไหน ย่อมไม่สามารถที่จะรู้ได้ แต่แม้กระนั้นในชั่วการเห็นขณะหนึ่ง ๆ สติปัฏฐานและปัญญาสามารถที่จะรู้ชัดว่า ขณะที่เห็นเป็นวิบาก ไม่ใช่ขณะที่เกิดความพอใจ หรือความไม่พอใจซึ่งเป็นอกุศลจิต หรือกุศลจิตซึ่งเกิดขึ้นต่อจากขณะที่เห็น

    นี่เป็นความรวดเร็วของวิถีจิต ซึ่งผู้ที่จะดับกิเลสได้ ต้องรู้ตรงตามความเป็นจริงว่า แม้แต่ชั่วขณะวาระหนึ่งของวิถีจิตที่เห็น มีวิบากจิตซึ่งเป็นผลของอดีตกรรมในอดีตเนิ่นนานมาแล้ว ไม่ทราบว่าเป็นผลของกรรมในชาตินี้ หรือว่าเป็นผลของกรรมในชาติก่อน หรือว่าเป็นผลของกรรมในชาติโน้น ๆ แต่ก็ไม่ต้องเสียเวลาคิด เพราะเหตุว่าเป็นอจินไตย ถ้าคิดแล้วจะมีประโยชน์อะไร ตรงกันข้าม สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ศึกษารู้ในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แล้วละการยึดถือว่าสภาพธรรมนั้นเป็นเรา หรือเป็นของเรา ก็เป็นประโยชน์แก่การที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่ปัญญาสามารถที่จะรู้ได้

    เพราะฉะนั้นปฏิจจสมุปปาท ชั่วในขณะที่วิถีจิตเกิดขึ้นวาระหนึ่ง  วาระหนึ่งทางตา ขณะที่เห็น รู้ลักษณะที่ต่างกันของวิถีจิต และกุศลจิต หรืออกุศลจิต ซึ่งเกิดต่อ

    ทางหูก็เช่นเดียวกัน พร้อมกันนั้นก็รู้ว่า ไม่มีสมบัติ ไม่มีเรา ไม่มีของเรา เพราะเหตุว่าทุกสิ่งปรากฏ เวลาที่กระทบกับทวารแล้ว ก็ดับไป ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย


    หมายเลข 7084
    23 ส.ค. 2558