จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 045


    แต่เวลาที่โสตาปัตติมรรคจิตเกิด ไม่ได้ประกอบด้วยฌานขั้นหนึ่งขั้นใดเลยก็ได้ หรือว่าท่านที่ได้ฌานขั้นสูง แต่เวลาที่โสตาปัตติมรรคจิตจะเกิด เกิดพร้อมกับฌานขั้นต่ำก็ได้ ด้วยความเป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้นจึงมีโลกุตตรจิตโดยนัยของจิต ๑๒๑ ดวงว่า โสตาปัตติมรรคจิตปฐมฌาน โสตาปัตติมรรคจิตทุติยฌาน โสตาปัตติมรรคจิตตติยฌาน โสตาปัตติมรรคจิตจตุตถฌาน โสตาปัตติมรรคจิตปัญจมฌาน คือ เป็นมรรคจิต ๕ ผลจิต ๕ ตามขั้นของฌาน ๕ แล้วเป็นสกทามิมรรคจิต ๕ สกทามิผลจิต ๕ ตามขั้นของฌาน ๕ เป็นอนาคามิมรรคจิต ๕ อนาคามิผลจิต ๕ ตามขั้นของฌาน ๕ เป็นอรหัตมรรคจิต ๕ อรหัตผลจิต ๕ ตามขั้นของฌาน ๕ รวมเป็นโลกุตรฌาน ๔๐ โดยไม่เลือก หรือว่าโดยเลือกไม่ได้ ผู้ที่เคยได้ฌาน เวลาที่มรรคจิต ผลจิตจะเกิด ไม่ประกอบด้วยฌานก็ได้

    ผู้ที่เคยได้ฌานขั้นสูง เวลาที่มรรคจิต ผลจิตจะเกิด ประกอบด้วยฌานขั้นต่ำก็ได้ ซึ่งท่านเหล่านั้นก็ไม่ได้เสียใจ หรือว่าไม่ได้เสียดาย เพราะเหตุว่าท่านรู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    7638 อรูปฌาน โดยองค์ได้แก่ปัญจมฌาน แต่มีอรูปเป็นอารมณ์

    อรูปฌานโดยองค์แล้วก็ได้แก่ ปัญจมฌาน แต่ว่ามีอรูปเป็นอารมณ์ ต่างกับปัญจมฌานที่มีรูปเป็นอารมณ์

    7639 โสตาปัตติมรรค โสตาปัตติผล บรรลุอย่างเดียวกันหรือไม่

    ท่านอาจารย์ มีข้อสงสัยอะไรไหมคะ

    ถาม อาจารย์ช่วยอธิบายที่ว่า เป็นมรรค เป็นผล ที่ว่าอย่างโสตาปัตติมรรค โสตาปัตติผล ไม่ใช่ว่าบรรลุธรรมอย่างเดียวกันหรือครับ

    ท่านอาจารย์ รู้แจ้งอริยสัจธรรม มีนิพพานเป็นอารมณ์ค่ะ

    โลกุตตรจิตมี ๘ ดวง ได้แก่ โสตาปัตติมรรคจิต ๑ โสตาปัตติผลจิต ๑ โสตาปัตติมรรคจิต เป็นโลกุตรกุศล เมื่อดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้ผล คือ วิบากจิตซึ่งเป็นโสตาปัตติผลเกิด ทั้งโสตาปัตติมรรคจิตและโสตาปัตติผลจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์ จะไม่มีอย่างอื่นเป็นอารมณ์เลย แต่ว่าที่เป็นโสตาปัตติมรรคจิต ไม่ใช่โสตาปัตติผลจิต แม้ว่ามีนิพพานเป็นอารมณ์ ก็เพราะเหตุว่า โสตาปัตติมรรคจิตทำกิจละ หรือปหานกิเลส มีนิพพานเป็นอารมณ์ จึงละหรือดับกิเลสได้ ตราบใดที่ยังไม่มีนิพพานเป็นอารมณ์ ยังไม่สามารถที่จะดับกิเลส อาจจะรู้ลักษณะสภาพของนามธรรมและรูปธรรม แต่กิเลสยังดับไม่ได้ ตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์ในลักษณะของนิพพาน

    เพราะฉะนั้นจิตซึ่งสามารถดับกิเลสได้ ได้แก่ มรรคจิต ๔ ดวง ซึ่งดับกิเลสตามขั้น มรรคจิตขั้นต้น คือ โสตาปัตติมรรคจิต ดับกิเลสอกุศลธรรมที่เป็นมิจฉาทิฏฐิและวิจิกิจฉา ความเห็นผิด และความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรม

    เมื่อโสตาปัตติมรรคจิตซึ่งเป็นโลกุตตรจิต มีนิพพานเป็นอารมณ์ ดับกิเลส และดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้วิบาก โลกุตตรวิบากซึ่งเป็นผลของโสตาปัตติมรรคจิตเกิดขึ้น สำหรับโลกุตตรวิบาก ก็คือโสตาปัตติผลจิต มีนิพพานเป็นอารมณ์ แต่ต่างกับโสตาปัตติมรรคจิต คือ มีนิพพานเป็นอารมณ์ โดยสภาพที่ดับกิเลสแล้ว จึงเป็นผล แต่สำหรับโสตาปัตติมรรคจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์ แต่ทำกิจปหาน คือ ดับกิเลส กิจต่างกันนะคะ แม้ว่าจะมีนิพพานเป็นอารมณ์เช่นเดียวกัน ขณะที่โสตาปัตติมรรคจิต เป็นขณะที่ดับกิเลส เมื่อดับกิเลสแล้ว ผลของโลกุตตรกุศลก็คือว่า โสตาปัตติผลจิตเกิดขึ้น มีผลอะไร มีผลคือประจักษ์แจ้ง มีนิพพานเป็นอารมณ์ เช่นเดียวกับโสตาปัตติมรรค แต่ว่าไม่ได้ทำกิจปหาน เพราะกิเลสดับแล้ว

    เพราะฉะนั้นโสตาปัตติผลจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์ โดยสภาพที่ดับกิเลสแล้ว ต่างกับโสตาปัตติมรรคจิต ซึ่งมีนิพพานเป็นอารมณ์ โดยทำกิจปหานกิเลส

    ผู้ถาม ระยะเวลาที่จะบรรลุธรรม ๒ ขั้นนี้ ก็อาจจะไม่ต่างกันมาก

    ท่านอาจารย์ ต่อกันเลยค่ะ ไม่มีจิตประเภทอื่นแทรกคั่นได้เลย ทันทีที่โสตาปัตติมรรคจิตดับลง จิตอื่นจะเกิดคั่นหรือแทรกไม่ได้ เป็นกุศลที่ให้ผลทันที คือ เมื่อกุศลจิตซึ่งเป็นโลกุตรกุศลดับแล้ว เป็นปัจจัยให้โสตาปัตติผลจิต ซึ่งเป็นโลกุตรวิบาก เป็นผลของโสตาปัตติมรรคจิตเกิดต่อทันที มีนิพพานเป็นอารมณ์เช่นเดียวกัน แต่สภาพจิตนั้นต่างกันที่ว่า เมื่อเป็นกุศลทำกิจดับกิเลส เมื่อเป็นวิบาก คือ เป็นผล ทำกิจ คือ มีนิพพานเป็นอารมณ์ แต่โดยสภาพของจิตซึ่งดับกิเลสแล้ว

    7640 กามาวจรจิต ๕๔ รูปาวจรจิต ๑๕ อรูปาวจรจิต ๑๒ โลกุตตรจิต ๘

    ยังมีข้อสงสัยอะไรไหมคะ

    สำหรับจิต ๘๙ ดวง คือ กามาวจรจิต ๕๔ ดวง และเป็นรูปาวจรจิต คือ จิตซึ่งอบรมความสงบถึงขั้นฌานจิตซึ่งมีรูปเป็นอารมณ์ ๑๕ ดวง จิตที่เป็นอรูปาวจรจิต คือ จิตซึ่งเป็นอรูปฌาน ๑๒ ดวง และโลกุตตรจิต ๘ ดวง

    ซึ่งท่านผู้ฟังก็คงจะได้ทราบมาบ้างแล้ว ตอนที่กล่าวถึงจิตโดยจำแนกจิตโดยภูมิว่า กามาวจรจิต ๕๔ ดวง รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง โลกุตตรจิต ๘ ดวง รวมเป็นจิต ๘๙ ดวง

    7641 กามาวจรจิตมีทั้งหมด ๕๔ ดวง

    สำหรับกามาวจรจิตมีทั้งหมด ๕๔ ดวง เป็นจิตซึ่งเป็นจิตขั้นต่ำที่สุด ซึ่งทุกท่านนี้ไม่พ้นไปเลยจากกามาวจรจิต แต่ว่าก็ไม่ใช่ว่าทุกท่านจะมีจิตครบทั้ง ๕๔ ดวง แม้ว่าจิตของแต่ละท่านในภูมินี้จะเป็นกามาวจรจิต จะเป็นจิตขั้นกาม แต่จิตขั้นกามซึ่งเป็นกามาวจรจิต มี ๕๔ ดวง และไม่ใช่ว่าทุกท่านจะมีกามาวจรจิตครบทั้ง ๕๔ ดวง ซึ่งก็จะได้ทราบต่อไปว่า ท่านจะขาดกามาวจรจิตประเภทไหนบ้าง

    7642 ความหมายของคำว่า กามาวจร

    แต่ขอให้เข้าใจความหมายของคำว่า “กามาวจร” เสียก่อน

    คำว่า “กามาวจร” เป็นคำรวมของ กาม + อวจร ภาษาไทยใช้คำว่า “กาม” หมายถึงสภาพธรรมที่ใคร่ หรือพอใจ ขณะใดที่มีความพอใจ มีความใคร่เกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นลักษณะของกามธาตุ เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง

    คำว่า “กาม” นี้ มีความหมาย ๓ อย่าง คือ

    ๑. “กิเลสกาม” กามซึ่งเป็นกิเลส ได้แก่ เป็นสภาพซึ่งพอใจ ยินดี ติดข้อง หรือใคร่ ซึ่งได้แก่ โลภเจตสิกนั่นเอง

    โดยปรมัตถธรรมแล้ว “กิเลสกาม” ได้แก่ โลภเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่ยินดี พอใจ ไม่ว่าจะในขณะใดที่เกิดความยินดีพอใจขึ้น ขณะนั้นเป็นกิเลสกาม เมื่อเกิดความยินดีพอใจแล้ว ก็ต้องมีสิ่งซึ่งเป็นที่พอใจยินดีของโลภะ เพราะฉะนั้นสิ่งซึ่งเป็นที่พอใจยินดีของโลภะ แต่ไม่ใช่ตัวโลภะ เป็นสิ่งซึ่งยินดีพอใจของโลภะ สิ่งที่โลภะพอใจเป็น “วัตถุกาม” เพราะเหตุว่าเป็นที่ตั้งของความยินดี พอใจ เพราะฉะนั้นจึงมีกิเลสกามและวัตถุกาม

    สิ่งที่เป็นที่ยินดีพอใจของโลภะ ไม่จำกัดเลย นอกจากนิพพานอย่างเดียว สิ่งอื่นทั้งหมดเป็นวัตถุกาม เป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจได้ทั้งสิ้น พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ พอใจในขันธ์ ในธาตุ ในอายตนะ พอใจในกุศลขั้นต่างๆ พอใจในภพภูมิต่างๆ พอใจในมนุษย์ภูมิ ในเทวภูมิ ในพรหมภูมิ หรือในอรูปพรหมภูมิ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นที่ตั้งของความยินดี พอใจ เป็นวัตถุกามได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นในสังสารวัฏหรือวัฏฏะทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นในภพใด ภูมิใดทั้งสิ้น ภพภูมิต่างๆ เหล่านั้นย่อมเป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจได้ เว้นนิพพานอย่างเดียว

    7643 อยากได้นิพพาน โลภะยินดีในนิพพานได้หรือไม่

    ถาม ฟังว่านิพพานหลุดพ้น มีความสุขอย่างนี้อย่างนั้น ฟังแล้วก็เมื่อหมด หลุดพ้นจากกิเลสจะได้มีความสงบสุข ฟังแล้วก็ดีเหมือนกัน เมื่อได้ ผมก็ยินดีในนิพพาน จะว่าโลภะ ไม่ยินดีในนิพพานได้อย่างไร ยินดีเช่นกัน

    ท่านอาจารย์ แน่ใจหรือคะว่า ยินดีพอใจในนิพพาน ยินดีพอใจในชื่อ หรือว่ายินดีพอใจในลักษณะของสภาพของนิพพาน

    ผู้ถาม ก็อย่างที่อาจารย์พูดเมื่อกี้นี้ สิ่งไหนที่ดีๆ โลภะชอบทั้งนั้น อย่างได้ฌานก็ชอบ เพราะมันสงบ ในเทวภูมิก็ชอบ วัตถุกามที่อาจารย์ว่า ทุกอย่างเป็นปัจจัยแก่กิเลสกาม เมื่อเป็นเช่นนี้ นิพพานก็จัดอยู่ในประเภทที่ว่า เป็นความสุข ความสงบ เป็นความสงบจากกิเลส โลภะก็ควรจะชอบเช่นกัน เหมือนกับวัตถุกามชนิดอื่นเช่นกัน

    ท่านอาจารย์ เวลานี้ท่านผู้ฟังเห็นก็ชอบในสิ่งที่เห็น เวลาที่ได้ยินเสียงก็ชอบในเสียงที่ได้ยิน เวลาที่ท่านผู้ฟังได้กลิ่น ก็ชอบในกลิ่นที่กำลังรู้ เวลาที่ลิ้มรสอาหารที่อร่อยๆ ก็ชอบในรส เวลาที่สงบ ก็ชอบในความสงบ ถ้าสงบ อย่าลืมนะคะ เวลาที่อบรมเจริญความสงบมั่นคงขึ้น ก็ยังพอใจในความสงบที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ชั่วคราวในขณะนั้น เป็นเวลาช่วงหนึ่งซึ่งสามารถที่จะสงบได้ ถ้าสงบ แต่ถ้าไม่สงบเลย แล้วจะบอกว่าพอใจในความสงบ ซึ่งยังไม่เคยประสบในลักษณะของความสงบนั้นได้ไหม ก็ย่อมไม่ได้ ฉันใด เวลานี้ได้ยินชื่อ “นิพพาน” แล้วก็มีคนอธิบายลักษณะของนิพพานต่างๆ บางคนพอใจ เพราะคิดว่านิพพานเป็นสถานที่ที่สงบ พอไปถึงที่นั่นแล้ว ไม่มีทุกข์ ไม่มีความเดือดร้อนอะไรเลย ราวกับสวรรค์สักแห่งหนึ่ง บางคนก็บอกว่า นิพพานเป็นสถานที่ที่สงบมาก ไม่สามารถจะใช้คำใดๆ บรรยายได้เลย เพราะฉะนั้นก็มีความพอใจในนิพพาน ซึ่งเข้าใจว่าเป็นสถานที่ที่สงบ แต่นั่นหรือคะเป็นความพอใจนิพพาน ก็ไม่ใช่ เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ประจักษ์ลักษณะของนิพพานเลย แต่ว่าผู้ใดก็ตามที่ได้ประจักษ์ลักษณะของนิพพาน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ที่กำลังประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน เป็นลักษณะของปัญญาเจตสิก ซึ่งได้อบรมเจริญจนสามารถรู้แจ้งประจักษ์ลักษณะของนิพพานได้

    เพราะฉะนั้นขณะใดที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ ขณะนั้นต้องเป็นปัญญาที่เกิดกับจิตที่เป็นโลกุตตรจิตที่สามารถจะมีนิพพานเป็นอารมณ์ โลภะไม่สามารถจะมีนิพพานเป็นอารมณ์ได้

    7644 การคิดถึงนิพพานของพระอริยะ

    ผู้ถาม เท่าที่เคยเจริญสติมาแล้ว เคยรู้ถึงสภาพจิตที่สงบเป็นกุศล ก็ปราศจากโลภะในช่วงที่จิตเป็นกุศล แล้วจากนั้นมาก็บางครั้งคิดถึงจิตเราที่เคยสงบ เคยเผื่อแผ่ต่างๆ นี้ ก็ยังเป็นปัจจัยแก่โลภะ ความยินดีพอใจว่า เราควรประกอบกุศลกรรม เพื่อทำให้จิตสงบยิ่งขึ้นไป อันนี้ผมยังเกิดความสงสัยอยู่อย่างหนึ่งว่า ผู้ที่ได้บรรลุโสดาแล้ว ได้นิพพานแล้ว ว่าดับกิเลสให้พ้นทุกข์ ได้รับความสุข ความสงบ เมื่อเขานึกถึงนิพพานเช่นเดียวกับผมที่นึกถึงกุศลจิตที่เกิดไปแล้ว พ้นไปแล้ว ที่เป็นวัตถุกาม จะเป็นปัจจัยให้โลภะเกิดอีกเช่นนั้นได้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่จะตรึกระลึกถึงนิพพาน ขณะนั้นต้องเป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะว่าธรรมดาของผู้ที่เป็นพระโสดาบันแล้ว อกุศลจิตก็ยังเกิด เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ดับกิเลสหมดอย่างพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นย่อมมีปัจจัยให้เกิดความพอใจในรูปบ้าง ในเสียงบ้าง ในกลิ่นบ้าง ในขณะที่กำลังพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น หรือในความสุขต่างๆ ในขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ไม่ใช่โลกุตตรจิต เพราะฉะนั้นในขณะที่พระโสดาบัน หรือพระอริยบุคคลขั้นอื่นจะน้อมระลึกถึงนิพพาน ขณะนั้นต้องเป็นจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ไม่ใช่จิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็สามารถที่จะระลึกถึงลักษณะของนิพพานได้

    7645 การได้ฌานที่สูงขึ้นไปเกิดจากโลภะ หรือ ปัญญา

    ผู้ถาม ขอถามอาจารย์อีกข้อหนึ่งว่า บุคคลที่ได้ฌานขั้นแรกก็ยังไม่พอใจ ผมเข้าใจว่า เขาได้ความสงบสุขมากพอสมควร แต่ว่าอยากจะได้ขั้นที่ ๒ ต่อไปถึงขั้นที่ ๕ แล้วยังอยากได้ขั้นอรูปฌานต่อไป อันนี้เกิดจากโลภะหรือปัญญาของท่านผู้ที่ได้ฌานนี้ ผมยังสงสัยอยู่

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ขณะจิตค่ะ แต่ให้ทราบว่า ทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเป็นสังสารวัฏนี้ เป็นวัตถุกาม เป็นที่ตั้ง เป็นที่พอใจของโลภะได้ทั้งหมด เว้นนิพพาน ซึ่งโลภะไม่มีโอกาสที่จะยินดีพอใจในนิพพานได้ ถ้าโลภะมีโอกาสยินดีพอใจในนิพพานได้ นิพพานจะดับโลภะไม่ได้ แต่ธรรมชาติเดียวที่สามารถจะดับโลภะได้ คือ นิพพาน อย่างอื่นไม่สามารถจะดับโลภะได้เลย

    เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่า นิพพานมีลักษณะอย่างไร จึงสามารถที่จะดับโลภะได้ ในเมื่อวัตถุกามอื่นๆ ก็ยังเป็นที่ตั้งของความยินดี ความพอใจของโลภะได้ เพียงนิพพานอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นที่ตั้ง ที่ยินดีของโลภะ และเป็นธรรมที่ดับโลภะ เพราะฉะนั้นโลภะจะมีนิพพานเป็นอารมณ์ไม่ได้ หรือว่าโลภะจะยินดีพอใจในนิพพานไม่ได้ เพราะถ้าโลภะสามารถที่จะยินดีพอใจในนิพพาน นิพพานจะดับโลภะไม่ได้ เพราะเหตุว่ายังเป็นที่ตั้งของโลภะ ยังเป็นความยินดีของโลภะ เพราะฉะนั้นวัตถุกามหมายถึง ธรรมทั้งหลายทั้งปวง เว้นนิพพาน เพราะเหตุว่านิพพานเป็นสภาพธรรมที่ดับโลภะ

    7646 คำว่า กาม มี ๓ ความหมาย

    เพราะฉะนั้น คำว่า “กาม” ก็มี ๓ ความหมาย คือ

    ๑. กิเลสกาม ได้แก่ โลภเจตสิก ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม ซึ่งมีสภาพยินดี พอใจ เพลิดเพลิน ติดข้องในวัตถุกาม ซึ่งเป็นที่ตั้ง เป็นอารมณ์ที่ทำให้เกิดความยินดี พอใจนั้น นอกจากนั้นก็ยังมี “กามอารมณ์” ซึ่งหมายความถึง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นกามธาตุ

    เพราะฉะนั้นจิตซึ่งเป็นกามาวจรจิต ก็เพราะเหตุว่าจิตขั้นนี้เป็นธาตุกาม ปรมัตถธรรมทั้งหมดนี้ บางครั้งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยนัยของความเป็นธาตุ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละชนิด แต่ละประเภท ซึ่งมีสภาพธรรมของตนๆ

    เพราะฉะนั้นกามาวจรจิตที่เป็นกามาวจรจิต เพราะเหตุว่าเป็น “กามธาตุ” ยังไม่สามารถที่จะขึ้นถึง “รูปธาตุ” ซึ่งได้แก่ รูปาวจรจิต ซึ่งเป็นจิตที่สงบมั่นคง ซึ่งมีรูปเป็นอารมณ์ และยังไม่ใช่ “อรูปธาตุ” คือ ไม่ใช่อรูปาวจรจิต ซึ่งเป็นจิตที่สงบมั่นคง มี “อรูป” คือ สิ่งซึ่งไม่ใช่รูปเป็นอารมณ์ และไม่ใช่จิตที่เป็นโลกุตตรจิต

    เพราะฉะนั้นจิต ๕๔ ดวง โดยสภาพความเป็นธาตุแล้ว เป็น “กามธาตุ” ไม่พ้นไปจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ถึงแม้ว่าจะเกิดในภูมิอื่น เช่น ในรูปพรหมภูมิ ก็มีกามาวจรจิตบางประเภทเกิดได้

    ในอรูปพรหมภูมิ ถึงแม้ว่าจะอบรมเจริญความสงบมั่นคง มีอรูป คือ ไม่มีรูปเป็นอารมณ์แล้ว เกิดเป็นอรูปพรหมบุคคล ไม่มีรูปเลย แต่ว่ากามาวจรจิตบางประเภทก็ยังเกิดได้ เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าจะเป็นพรหมบุคคล ไม่ใช่มนุษย์ ไม่ใช่เทวดา แต่ว่าเมื่อจิตประเภทนั้นเกิดในภูมินั้น โดยสภาพความเป็นธาตุของจิต ซึ่งเป็นกามธาตุ แม้ว่าจะเกิดในรูปพรหมภูมิ จิตซึ่งเป็นกามาวจร เป็นกามธาตุ ก็ยังไม่เปลี่ยนสภาพ เพราะเหตุว่าไม่ใช่รูปาวจรจิต หรือไม่ใช่อรูปาวจรจิต

    เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าเป็นพรหมบุคคล ขณะใดที่กามาวจรจิตเกิด เพราะกามาวจรจิตเป็นกามธาตุ จิตนั้นก็ยังคงเป็นกามาวจรจิตอยู่ จะไม่เปลี่ยนเป็นรูปาวจรจิต ถึงแม้ว่าจะเป็นจิตของรูปพรหมบุคคลในรูปพรหมภูมิ หรือแม้ว่าจะเป็นจิตของอรูปพรหมบุคคลในอรูปพรหมภูมิ เมื่อกามาวจรจิตเกิดที่ไหนก็ตาม จิตนั้นก็ยังคงเป็นกามธาตุ คือ ยังคงเป็นกามาวจรจิตอยู่

    อุปมาเหมือนกับสัตว์บกตกลงไปในน้ำ ก็ยังคงเป็นสัตว์บกอยู่ ยังไม่เปลี่ยนสภาพเป็นสัตว์น้ำ หรือว่าช้างศึก ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในสนามรบ เดินไปในที่ต่างๆ คนก็ยังคงเรียกว่าช้างศึก เพราะเหตุว่าเคยเข้าสู่สงคราม ฉันใด เมื่อจิตนั้นเป็นกามธาตุ เป็นกามาวจรจิต ไม่ว่าจะเกิดในภูมิไหน ก็ยังคงเป็นกามธาตุ หรือเป็นกามาวจรจิตอยู่นั่นเอง แล้วถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ที่ดับกิเลสหมด เป็นพระอรหันต์ หรือว่าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตาม จิตที่เป็นกามาวจร เป็นจิตซึ่งเป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เกิดขึ้นขณะใด ก็ยังคงเป็นกามธาตุ ยังคงกามาวจรจิตอยู่นั่นเอง

    ด้วยเหตุนี้แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือว่าพระอริยสาวกทั้งหลาย ท่านก็ยังมีกามาวจรจิต ถึงแม้ว่าจะดับกาม คือ ดับความยินดี พอใจ ไม่มีโลภเจตสิกเกิด ทำให้จิตที่เกิดกับโลภเจตสิกนั้น เป็นโลภเจตสิกเกิดอีกเลย เช่น พระอรหันต์ทั้งหลาย แต่ว่าขณะใดเป็นจิตซึ่งรู้รูป รู้เสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพะ จิตในขณะนั้นเป็นกามธาตุ ไม่ใช่รูปธาตุ อรูปธาตุ ไม่ใช่โลกุตตรธาตุ เพราะฉะนั้นก็เป็นกามาวจรจิต

    ด้วยเหตุนี้พระอรหันต์หรือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังมีกามาวจรจิต ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงระดับขั้นของจิตขั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นกามธาตุ

    7647 จิตที่เป็นกามธาตุ คือ กามาวจรจิตมีมากกว่าจิตประเภทอื่น

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้นะคะ จิตที่เป็นกามธาตุ เป็นกามาวจรจิต มีมากกว่าจิตที่จะต้องอบรมเจริญให้สูงขึ้น เช่น กามาวจรจิตมี ๕๔ ดวง หรือ ๕๔ ประเภท รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง อรูปาวจรจิตมี ๑๒ ดวง โลกุตตรจิตมี ๘ ดวง ยิ่งเป็นจิตขั้นสูงก็ยิ่งมีจำนวนน้อยลง แต่ว่าสำหรับกามาวจรจิต ไม่ต้องไปขวนขวาย หรือคิดจะไปแสวงหาเลย ย่อมเกิดขึ้นเป็นประจำตามเหตุตามปัจจัย

    7648 กามาวจรจิตเกิดวนเวียนอยู่ในกามภูมิเป็นส่วนมาก

    และสำหรับกามาวจรจิตซึ่งเป็นกามธาตุ เป็นกามาวจรภูมิ ก็ย่อมเกิดวนเวียนเป็นส่วนมากในกามภพ หรือในกามโลก ซึ่งได้แก่ อบายภูมิ ๔ มนุษย์ ๑ สวรรค์ ๖ ชั้น มีอยู่ทุกขณะทันทีที่เกิด ก็เป็นจิตที่เป็นกามธาตุ เป็นกามาวจรจิต ซึ่งทำกิจปฏิสนธิ ไม่ว่าจะนั่งอยู่ที่ไหน ไปไหน ขณะไหน วันไหน เวลาไหน จิตซึ่งเกิดอยู่เป็นประจำในภูมิเหล่านี้ ก็คือ กามาวจรจิต

    เพราะฉะนั้นกามาวจรจิตซึ่งเป็นกามธาตุ เป็นจิตซึ่งเกิดวนเวียนอยู่ในกามภูมิเป็นส่วนมาก ถึงแม้ว่าจะเกิดในภูมิอื่นบ้าง แต่ก็ไม่พ้นจากความเป็นกามาวจรจิต ซึ่งเป็นกามธาตุ และถึงแม้ว่าจะเป็นพระอรหันต์ซึ่งดับกิเลสหมดแล้ว ขณะใดซึ่งมีการเห็น การได้ยิน มีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะ เป็นอารมณ์ ในขณะนั้น จิตนั้นก็เป็นกามาวจรจิต

    มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะในเรื่องนี้

    7649 ขณะที่ฌานจิตเกิด มีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์

    ถาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เรียกว่า กามอารมณ์ ทีนี้อยากถามว่า ขณะที่ผู้เพ่งกสิณ มีปฐวีกสิณ เป็นต้น ขณะที่ฌานจิตเกิด มีปฐวีกสิณเป็นอารมณ์ อารมณ์ขณะนั้นเรียกว่า กาม หรือเปล่าครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่เรียกค่ะ เรียก รูปบัญญัติอารมณ์ “กาม” ต้องหมายถึงสภาพปรมัตถธรรม เป็นสิ่งซึ่งมีจริง ในสิ่งที่มีจริงจำแนกออกเป็นขั้น หรือว่าระดับต่างๆ ซึ่งเป็นธาตุแต่ละชนิด เพราะเหตุว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จึงเป็นธาตุแต่ละชนิด เพราะฉะนั้นเวลาที่เพ่งกสิณ หมายความว่า พยายามที่จะให้เกิดสัญญา ความจำ ในรูปที่ปรากฏทางตา โดยแม้ไม่เห็นก็สามารถที่จะจำได้ทางใจ

    เพราะฉะนั้นผู้ที่เพ่งกสิณ หมายความว่า อาศัยกสิณโดยการมองดู จนกระทั่งสามารถจะเกิดบัญญัตินิมิตทางใจ โดยที่ว่า แม้ไม่ได้ใช้ตามองดู ก็ยังปรากฏนิมิตซึ่งเป็นบัญญัติ ไม่ใช่ของจริง เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่กามธาตุ

    ถ้าพูดถึงกามาวจรจิต หรือว่ากามธาตุแล้ว ต้องหมายความถึงสภาพปรมัตถธรรม คือ สิ่งที่มีจริง สิ่งใดซึ่งไม่มีจริง แต่คล้ายของจริง ก็ยังคงไม่ใช่สิ่งที่มีจริงๆ ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นจึงเป็นบัญญัติธรรม ไม่ใช่ปรมัตถธรรม

    7650 ถ้าคิดถึงเรื่องที่พอใจ จิตขณะนั้นเป็นกามธาตุด้วยหรือไม่

    ถาม เรื่องกามธาตุ ถ้าหากว่าเราคิดถึงสิ่งที่เราพอใจทางใจ จะเป็น ...

    ท่านอาจารย์ กามาวจรจิต เป็นจิตที่เป็นกามธาตุ ไม่ใช่เป็นรูปาวจรจิตตราบใด ไม่ใช่อรูปาวจรจิต ไม่ใช่โลกุตตรจิตตราบใด จิตขณะนั้นๆ เป็นกามาวจรจิต

    ผู้ถาม หมายความว่า กามธาตุนี้ นอกจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    ท่านอาจารย์ มิได้ค่ะ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นั่นแหละค่ะ เป็นกามอารมณ์ เป็นกามธาตุด้วย

    ผู้ถาม แล้วใจก็เป็นด้วยซิครับ

    ท่านอาจารย์ จิตที่รู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เป็นกามาวจรจิต คือ เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เนื่องกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ โดยมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นอารมณ์ เป็นกามาวจรจิต

    ผู้ถาม ขณะที่ไม่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ถ้านึกขึ้นมาเฉยๆ

    ท่านอาจารย์ นึกขึ้นมาเฉยๆ น่ะ นึกถึงเรื่องรูป นึกถึงเรื่องเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ พ้นไปจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไหมคะในวันหนึ่งๆ

    ผู้ถาม คือผมสงสัยว่า “ใจ” จะเป็นกามธาตุด้วยหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เป็นซิคะ จิต เป็นกามาวจรจิต

    คำว่า”กาม” ไงคะ ได้แก่ กิเลสกาม ๑ วัตถุกาม ๑ กามอารมณ์ ๑ และจิตซึ่งเป็นไปในกามอารมณ์ แม้ว่าจะดับกิเลสกามแล้ว


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 18
    16 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ