จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 040


    ในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น เป็นสภาพรู้ แต่ขณะนั้นไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก เพราะเหตุว่าปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมหนึ่งซึ่งทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน แม้ว่าปฏิสนธิจิตจะเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ แต่เมื่อไม่ใช่อารมณ์ของโลกนี้ โลกนี้จึงยังไม่ปรากฏ และเมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมทำให้ภวังคจิตเกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิต ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นไว้ อยู่เรื่อยๆ ภวังคจิตเกิดขึ้นแล้วดับไปๆ ๆ

    เพราะฉะนั้นการที่ภวังคจิตเกิดดับสืบต่อจากปฏิสนธิจิต ดำรงภพชาติของความเป็นบุคคลนี้ แต่เพราะยังไม่ได้อาศัยตาเกิดขึ้นเห็น ยังไม่ได้อาศัยหูเกิดขึ้นได้ยิน ยังไม่ได้อาศัยจมูกเกิดขึ้นได้กลิ่น ยังไม่ได้อาศัยลิ้นเกิดขึ้นลิ้มรส ยังไม่ได้อาศัยกายเกิดขึ้นรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และในขณะที่ยังไม่ได้คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ทางใจ แม้จิตกำลังเกิดขึ้นและดับไปอยู่เรื่อยๆ ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ลักษณะของจิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ ซึ่งกำลังเกิดดับได้ จนกว่าจะมีการเห็นขณะใด โลกนี้ คือ โลกทางตาที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก็ปรากฏให้รู้ว่า โลกนี้เป็นอย่างนี้ ทางตา ขณะใดที่จิตอาศัยหู คือ โสตปสาท เป็นโสตทวารเกิดขึ้นได้ยินเสียง เวลาที่เสียงกำลังปรากฏ ก็มีความรู้ว่า โลกนี้มีเสียงอย่างนี้เกิดขึ้น ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยนัยเดียวกัน

    เพราะฉะนั้นการที่จะรู้จักโลกโดยไม่อาศัยทวาร ไม่อาศัยทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ของโลก ย่อมเป็นไปไม่ได้ นี่เป็นชีวิตตามปกติตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องรู้ว่า การที่โลกปรากฏเป็นโลกซึ่งเต็มไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ต่างๆ นั้น ก็เพราะเหตุว่ามีทวาร ซึ่งเป็นทางให้จิตเกิดขึ้นรู้จักโลกในทางนั้นๆ

    7538 ทวาร ๖

    สำหรับ ๕ ทวารนั้น คือ จักขุปสาทรูป เป็นจักขุทวาร ๑ โสตปสาทรูป เป็นโสตทวาร ๑ ฆานปสาทรูป เป็นฆานทวาร ๑ ชิวหาปสาทรูป เป็นชิวหาทวาร ๑ กายปสาทรูป เป็นกายทวาร ๑

    ทั้งหมดนี้เป็นรูปแต่ละรูป ซึ่งมีลักษณะพิเศษ ซึ่งเป็นทางที่จะให้จิตเกิดรู้อารมณ์เฉพาะทวารของตนๆ แต่ว่าไม่ใช่มีแต่เฉพาะการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเท่านั้นในวันหนึ่งๆ ยังมีการคิดนึก ซึ่งจิตนั้นเองเกิดขึ้น ตรึกนึกถึงอารมณ์ต่างๆ ขณะใด ขณะนั้นเมื่อไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เป็นมโนทวาร หมายความว่าใจนั่นเอง เป็นทวารของการที่จะตรึกนึกถึงเรื่องราวต่างๆ หรือว่ารับรู้สิ่งที่ปรากฏต่อจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    นี่เป็นชีวิตปกติประจำวัน เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้ทราบความหมายลักษณะของทวาร เพื่อที่จะได้พิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า แต่ละขณะซึ่งเกิดดับ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน อย่างไร

    7539 จักขายตนะ

    ขณะนี้คงจะไม่มีท่านผู้ใดคิดถึงจักขุปสาทรูป ซึ่งอยู่ที่ตัว เป็นรูปที่มีจริง แล้วก็อยู่ที่กลางตา ซึ่งข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถา ธัมมสังคิณีปกรณ์ รูปกัณฑ์ มีข้อความที่กล่าวถึงเรื่องของ “ปสาทรูป” โดยละเอียด ซึ่งข้อความในพระบาลี “จักขายตนนิทเทส” ข้อ ๕๙๖ มีข้อความว่า

    “รูป” ที่เรียกว่า “จักขายตนะ” นั้น เป็นไฉน

    จักขายตนะ เป็นคำรวมของ จักขุ + อายตนะ “จักขุ” คือ ตา ตามที่เข้าใจกัน และ “อายตนะ” หมายความถึง ที่ประชุม ที่เกิด เพราะฉะนั้น “จักขายตนะ” ก็คือ จักขุซึ่งเป็นที่ประชุม เป็นที่เกิดนั่นเอง

    “รูป” ที่เรียกว่า “จักขายตนะ” นั้น เป็นไฉน คือ จักขุใดเป็นปสาทรูป อาศัยมหาภูตรูป ๔ นับเนื่องในอัตภาพ เป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้

    นี่เป็นข้อความที่จะกล่าวถึงเรื่องปสาทรูปแต่ละปสาทรูปโดยละเอียด เพื่อที่จะให้เข้าใจถึงลักษณะของจักขุปสาท ซึ่งกำลังเป็นอายตนะ เป็นที่ประชุม ที่ต่อของรูปารมณ์ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เวลาที่รูปปรากฏทางตา ในขณะที่เห็นนี้ จะลืมปัจจัยที่สำคัญ คือ จักขุปสาทไม่ได้ เพราะเหตุว่าถ้าเพียงไม่มีรูปนี้ คือ ไม่มีจักขุปสาทรูป สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาจะปรากฏไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นบางครั้งแทนที่พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงเรื่องของรูปที่กำลังปรากฏทางตา หรือเสียงที่กำลังปรากฏทางหู แต่ก็ไม่ได้ทรงแสดงถึงปัจจัย คือ สิ่งซึ่งเป็นที่อาศัยที่สำคัญ ที่จะให้รูปนั้นๆ ปรากฏได้ หมายความถึงปสาทรูปทั้งหลายนี่เอง

    ถ้าไม่มีจักขุปสาท สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ จะไม่ปรากฏเลย ถ้าไม่มีโสตปสาทรูป เสียงที่กำลังปรากฏทางหูในขณะนี้ จะปรากฏไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นขณะที่สภาพธรรมหนึ่งๆ ปรากฏขึ้นได้ ก็เพราะเหตุว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้สภาพธรรมนั้นๆ ปรากฏได้ เช่น ทางตา สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ย่อมจะปรากฏไม่ได้เลย ถ้าปราศจากรูปซึ่งเป็นจักขุปสาทรูป

    เพราะฉะนั้นแทนที่จะพูดถึงรูปารมณ์ข้างนอกที่กำลังปรากฏ ก็กล่าวถึงปัจจัยสำคัญซึ่งจะทำให้โลกทางตาปรากฏ ซึ่งได้แก่ จักขุปสาทรูปนั่นเอง

    ซึ่งข้อความที่อธิบาย “จักขายตนะ” มีว่า

    จักขุใดเป็นปสาทรูป ปสาทรูปเป็นรูปพิเศษ มีลักษณะที่ใส รับกระทบกับรูปารมณ์ทางตา ถ้าเป็นโสตปสาทรูป ก็เป็นรูปที่มีลักษณะที่ใสพิเศษสามารถรับกระทบเฉพาะเสียงเท่านั้น แต่ละปสาทรูปก็มีคุณสมบัติของตนๆ

    จักขุใดเป็นปสาทรูป อาศัยมหาภูตรูป ๔ ..

    นี่ก็แสดงว่า ขณะใดที่จักขุปสาทรูปเกิดขึ้น จะเกิดขึ้นลอยๆ โดยไม่อาศัยมหาภูตรูป ๔ ไม่ได้ เพราะเหตุว่ามหาภูตรูป ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ย่อมเป็นประธาน และรูปอื่นอีก ๒๔ รูป เป็นรูปที่อาศัยเกิดกับมหาภูตรูปทั้งสิ้น แม้จักขุปสาทซึ่งกำลังกระทบกับรูปารมณ์ในขณะนี้ ก็ต้องอาศัยเกิดกับมหาภูตรูป ๔

    จักขุใดเป็นปสาทรูป อาศัยมหาภูตรูป ๔ นับเนื่องในอัตภาพ เป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้

    นี่คือลักษณะของสิ่งที่กำลังมีอยู่ในขณะนี้ คือ ไม่มีใครที่สามารถจะมองเห็นจักขุปสาทได้ แต่จักขุปสาทรูปเป็นรูปซึ่งกระทบได้ ไม่ใช่กระทบทางกาย แต่กระทบกับรูปารมณ์ รูปที่ปรากฏทางตา ถ้าไม่กระทบกับจักขุปสาท รูปที่ปรากฏทางตาก็ปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้นจักขุปสาทเป็นรูปที่กระทบได้ แต่เห็นไม่ได้ ที่เข้าใจว่า เห็นตา ขณะนี้ก็จะต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่มีวันที่จะมองเห็นจักขุปสาทรูปได้เลย ทุกอย่างที่ปรากฏทางตา เป็นเพียงสิ่งที่เป็นรูปารมณ์ เป็นรูปที่ปรากฏให้เห็นทางตา แต่ปสาทรูปซึ่งเป็นรูปที่กระทบกับรูปารมณ์นั้น เห็นไม่ได้ แต่ว่ากระทบได้

    สัตว์นี้เห็นแล้ว

    ทุกท่าน ทุกบุคคลที่มีจักขุปสาทเห็นแล้วในอดีต หรือเห็นอยู่ คือกำลังเห็นในขณะนี้ หรือจักเห็น หรือพึงเห็นซึ่งรูปอันเป็นสิ่งที่เห็นได้ และกระทบได้ด้วยจักขุใด อันเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ แต่กระทบได้ นี้เรียกว่า จักขุบ้าง จักขายตนะบ้าง จักขุธาตุบ้าง จักขุนทรีย์บ้าง โลกบ้าง ทวารบ้าง สมุทรบ้าง ปัณฑรบ้าง เหตุบ้าง วัตถุบ้าง เนตรบ้าง นัยนะบ้าง ฝั่งนี้บ้าง บ้านว่างบ้าง รูปทั้งนี้เรียกว่า “จักขายตนะ”

    ที่กำลังมีอยู่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยนัยต่างๆ เพื่อที่จะให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ในขณะที่กำลังเห็น ไม่ว่าจะอยู่ในที่ไหนก็ตาม ให้รู้ว่ารูปที่ปรากฏทางตากระทบกับจักขุปสาท แล้วก็ปรากฏการเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

    7540 จักขุ

    สำหรับข้อความที่อธิบายความหมายของพยัญชนะต่างๆ ของจักขุ มีคำอธิบายว่า ในพระบาลี มีคำว่า

    “ด้วยจักขุใด” เป็นต้น มีความย่อดังต่อไปนี้

    สัตว์นี้เห็นแล้วในอดีต

    ไม่ใช่เฉพาะตัวท่าน ใครที่ไหน ขณะไหนก็ตาม จะเป็นโลกนี้ โลกไหนก็ตาม ในอดีตเนิ่นนานมาสักเท่าไรก็ตาม

    สัตว์นี้เห็นแล้วในอดีต หรือเห็นอยู่ในปัจจุบัน หรือจักเห็นในอนาคต ซึ่งรูปมีประการดังกล่าวแล้วนี้ ด้วยจักขุใด อันเป็นกรณะ คือ เป็นเหตุ ถ้าว่าสัตว์นี้พึงมีจักขุไม่แตกทำลาย เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะพึงเห็นรูปอันถึงคลองด้วยจักขุนี้ หรือเห็นแล้วซึ่งรูปอดีต ด้วยจักขุส่วนอดีต หรือเห็นอยู่ซึ่งรูปปัจจุบัน ด้วยจักขุส่วนปัจจุบัน หรือจักเห็นซึ่งรูปอนาคตด้วยจักขุส่วนอนาคต

    แค่นี้ก็ทำให้ระลึกได้ถึงความไม่เที่ยงของจักขุปสาทในขณะนี้ว่า กำลังเกิดดับ ที่เห็นแล้วเป็นอดีต ทั้งสิ่งที่ปรากฏทางตา และทั้งจักขุปสาทเองก็ดับไปด้วย เมื่อกี้นี้นะคะ เพราะฉะนั้นที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ก็เป็นรูปารมณ์ ซึ่งกำลังปรากฏในขณะนี้ พร้อมทั้งจักขุปสาท ซึ่งกำลังมีอยู่ คือยังไม่ได้ดับไป และขณะนี้เอง จักขุปสาทและรูปารมณ์ก็กำลังเกิดดับ ที่เป็นอดีต ก็เป็นอดีตแล้ว ที่กำลังเป็นปัจจุบันในขณะนี้ ครู่ต่อไป ขณะต่อไป ก็เป็นอดีตแล้ว และสิ่งที่กำลังเห็นในขณะนี้ ก็เป็นอนาคตสำหรับอดีตเมื่อกี้นี้

    เพราะฉะนั้นทั้งจักขุปสาทและทั้งรูปารมณ์ในขณะนี้กำลังเกิดดับ

    3541 สัตว์นี้พึงเห็นรูปที่มาสู่คลองด้วยจักขุ

    ในพระบาลีนี้ มีคำ ปริกัป ดังนี้ว่า ถ้ารูปนั้นพึงมาสู่คลองแห่งจักขุไซร้ สัตว์นี้ก็พึงเห็นรูปนั้นด้วยจักขุ

    ไม่มีใครจะบังคับว่า ไม่ให้เห็นสิ่งที่ปรากฏเฉพาะหน้าทางตา ที่กระทบกับจักขุปสาท เวลาที่ฟ้าแลบ ไม่ได้มีใครตั้งใจ หรือว่ารู้ล่วงหน้าก่อนว่า ฟ้าจะแลบขณะใด แต่กระนั้นถ้ารูปนั้นมาสู่คลองแห่งจักขุ คือ กระทบกับจักขุปสาทเมื่อไร ก็มีการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนั้น หรือว่าถ้าต้องการเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็หันจักขุปสาทไปสู่สิ่งนั้น ก็ย่อมจะมีการเห็นสิ่งนั้น เพราะเหตุว่ารูปนั้นกระทบกับจักขุปสาท

    นี่เป็นสิ่งที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่าจักขุปสาทเป็นรูปที่กระทบกับรูปารมณ์ที่ปรากฏทางตา เมื่อมาสู่คลองแห่งจักขุ คือ อยู่เฉพาะหน้า หรือว่ากระทบกับจักขุปสาท ก็จะต้องมีการเห็น

    นี้เรียกว่า “จักขุ” บ้าง ด้วยอรรถว่า บัญชาการเห็น

    หมายความว่า ถ้าไม่มีจักขุแล้ว ไม่สามารถที่จะมีการเห็นได้

    นี้เรียกว่า “จักขายตนะ” บ้าง ด้วยอรรถว่า เป็นถิ่นที่เกิด และเป็นที่ประชุมแห่งธรรม มีผัสสะ เป็นต้น

    ที่เป็นจักขายตนะ เพราะจักขุวิญญาณที่ทำกิจเห็น ไม่ได้เกิดที่อื่น แต่เกิดที่จักขุปสาทในขณะที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    โดยชื่อ โดยพยัญชนะไม่สงสัยเลย เข้าใจลักษณะของจักขุวิญญาณ ซึ่งเป็นสภาพเห็น หรือรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา เกิดพร้อมกับเจตสิก ๗ ดวง แล้วก็ดับที่จักขุปสาทในขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ แต่ว่าลักษณะจริงๆ ของจักขุวิญญาณ ซึ่งเป็นสภาพรู้ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ที่กำลังเห็น

    นี่ค่ะ เป็นสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ของการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของทวาร ทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ต่างๆ เพื่อที่จะให้รู้ลักษณะสภาพของจิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ในขณะที่กำลังเห็นที่จักขุปสาท มิฉะนั้นแล้วก็จะปนกับทางใจทันที ใช่ไหมคะ เห็นคน ไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่ปรากฏที่จักขุปสาท และจักขุวิญญาณเห็นที่จักขุปสาท เพราะฉะนั้นจึงไม่ปรากฏว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพเห็น หรือสภาพที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา

    แต่เวลาที่ไม่รู้อย่างนี้ ไม่ได้ศึกษาอย่างนี้ เรื่องของ “ทวาร” ทางรู้อารมณ์ของจิตโดยละเอียด จะไม่รู้เลยว่า จิตเกิดดับสืบต่อทางจักขุทวาร เมื่อจิตเกิดขึ้นเห็นรูปารมณ์ดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดสืบต่อ แล้วจิตทางมโนทวารก็เกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏทางจักขุทวาร สืบต่อจากทางจักขุทวาร

    นี่เป็นการเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้น จึงควรที่จะได้ทราบประโยชน์ของการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของทวารโดยละเอียด เพื่อไม่ให้ปะปนกันระหว่างจักขุทวารและมโนทวาร โสตทวารและมโนทวาร ฆานทวารในขณะที่กลิ่นปรากฏและมโนทวาร ซึ่งเกิดสืบต่อ ชิวหาทวาร ในขณะที่รสปรากฏและมโนทวารซึ่งเกิดสืบต่อ หรือทางกาย ที่กระทบสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ทางกายทวาร ดับไปแล้ว ทางมโนทวารเกิดสืบต่อ

    ถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียด ก็จะไม่รู้ว่า ทวารแต่ละทวารย่อมกระทำกิจต่างๆ กัน

    3542 จักขุธาตุ-จักขุนทรีย์-โลก-ทวาร-สมุทร-ปัณฑระ-เขต-วัตถุ-เนตร-นัยนะ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    นี้เรียกว่า “จักขุธาตุ” บ้าง ด้วยอรรถว่า เป็นสภาพว่างเปล่า และไม่ใช่สัตว์

    นี้เรียกว่า “จักขุนทรีย์” บ้าง ด้วยอรรถว่า ให้กระทำความหมายว่า เป็นใหญ่ในลักษณะ คือ การเห็น

    นี้เรียกว่า “โลก” บ้าง ด้วยอรรถว่า ต้องแตกย่อยยับ

    นี้เรียกว่า “ทวาร” บ้าง ด้วยอรรถว่า เป็นเครื่องเข้าไป

    นี้เรียกว่า “สมุทร” บ้าง ด้วยอรรถว่า อันใครๆ พึงให้เต็มไม่ได้

    นี้เรียกว่า “บัณฑระ” บ้าง ด้วยอรรถว่า บริสุทธิ์

    นี้เรียกว่า “เขต” บ้าง ด้วยอรรถว่า เป็นที่เกิดมากมายแห่งธรรม มีผัสสะเป็นต้น

    นี้เรียกว่า “วัตถุ” บ้าง ด้วยอรรถว่า เป็นที่ตั้งอาศัยแห่งธรรม มีผัสสะเป็นต้น เหล่านั้นแหละ

    นี้เรียกว่า “เนตร” บ้าง ด้วยอรรถว่า ชี้ให้เห็นที่เรียบและที่ขรุขระนำร่างกายไป

    นี้เรียกว่า “นัยนะ” บ้าง ด้วยอรรถว่า นั้นแหละ

    นี้เรียกว่า “ฝั่งนี้” บ้าง ด้วยอรรถว่า นับเนื่องในกายของตน

    นี้เรียกว่า “บ้านว่าง” บ้าง ด้วยอรรถว่า เป็นของสาธารณะแก่สัตว์ส่วนมาก และด้วยอรรถว่า หาเจ้าของมิได้

    7543 ทำอย่างไรจึงจะไม่เห็นภาพต่างๆ ในขณะหลับตาทำอานาปานสติ

    ถาม ที่อาจารย์กล่าวว่า จักขุวิญญาณกระทบกับรูปารมณ์ จึงจะเกิดการเห็น ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ที่กำลังเห็นค่ะ

    ผู้ถาม ขณะที่ทำสติปัฏฐานระลึกรู้ถึงสภาพปรากฏในขณะนั้นว่า ลมหายใจเข้าออกทางจมูก ทั้งที่เราหลับตาก็เห็นสี หรือภาพนิมิตอะไรต่างๆ การเห็นเช่นนี้จะเป็นเรื่องของจักขุวิญญาณได้หรือไม่ เพราะตาหลับ เมื่อตาหลับแล้ว จักขุวิญญาณไม่ได้กระทบกับรูปารมณ์ ภาพที่เกิดเช่นนี้ เป็นจิตเห็นหรืออะไรกันครับ

    ท่านอาจารย์ เวลาฝัน ซึ่งฝันกันทุกคนทุกคืน เป็นจักขุวิญญาณที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาหรือเปล่า ก่อนที่จะเข้าใจเรื่องนั้น ควรที่จะได้เข้าใจตามปกติ เพราะว่าปกติไม่ได้ทำสมาธิ กำหนดลมหายใจ ไม่ได้มีการเห็นสิ่งต่างๆ พิเศษแปลกไปจากปกติใช่ไหมคะ ควรที่จะได้พูดถึงชีวิตปกติประจำวันว่า ในขณะที่กำลังเห็นอย่างในขณะนี้ กับในขณะที่กำลังฝันเห็นสิ่งต่างๆ เพราะว่าทุกคนก็ฝันกันทุกคืน ในขณะที่กำลังฝันอย่างนั้น เป็นจักขุวิญญาณที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาหรือเปล่า

    ผู้ถาม จักขุมันหลับไปแล้วนี่ จะเห็นยังไง

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ใช่ไหมคะ

    ผู้ถาม ครับ ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน จะไม่ทราบเลยว่า ความฝันทั้งหมด คือ การคิดนึกถึงสิ่งต่างๆ ซึ่งเห็นทางตา ได้ยินทางหู ได้กลิ่นทางจมูก ลิ้มรสทางลิ้น และกระทบสัมผัสทางกาย ที่ผ่านมาแล้วในวันหนึ่งๆ แต่เพราะเยื่อใยที่ยังไม่หมด ไม่เคยมีใครหมดเยื่อใยในสิ่งที่ปรากฏทางตาที่เคยได้เห็นแล้ว เพราะเหตุว่าถึงเห็นแล้วก็ยังคิดถึงอีก ในวันหนึ่งๆ คิดถึงสิ่งต่างๆ มากมาย แม้ว่ากำลังนั่ง แล้วเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ใจคิดถึงเรื่องอื่น

    ผู้ถาม ถ้าเช่นนั้นก็หมายความว่า การเห็นภาพต่างๆ ในขณะที่ทำสติปัฏฐานนั้น เป็นสิ่งที่ยกยอดมาจากการเห็นประจำวันใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เกิดจากการสะสมของจิต ซึ่งประสบพบเห็นสิ่งต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และเจตสิกต่างๆ ซึ่งเป็นสังขารขันธ์ก็ปรุงแต่งให้จิตต่อๆ ไปเกิดขึ้น

    ผู้ถาม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทำอย่างไรจึงจะหายไปได้ หายจากภาพที่เห็นไปได้

    ท่านอาจารย์ เวลานี้ไม่เห็นแล้วนี่คะ เวลานี้ไม่ต้องทำอะไร ก็ไม่เห็นสิ่งนั้นแล้ว เพราะกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ผู้ถาม ที่ผมเรียนถามอาจารย์ หมายความว่า สีต่างๆ ที่ปรากฏในขณะที่เราหลับตาทำสติปัฏฐานระลึก

    ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ นั่นไม่ใช่ทำสติปัฏฐานแน่ค่ะ

    ผู้ถาม ทำอะไรครับ

    ท่านอาจารย์ ทำอะไรล่ะคะ ที่มีอะไรปรากฏ ซึ่งไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้

    ผู้ถาม ระลึกรู้ลมหายใจเข้าออก ที่ผ่านจมูก ผ่านเพดานไป

    ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษค่ะ เวลานี้ทางตากำลังเห็น สติปัฏฐานคืออย่างไร ทางหูกำลังได้ยิน สติปัฏฐานคืออย่างไร

    ผู้ถาม ที่ผมถามอาจารย์ หมายถึงในขณะที่หลับตา

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องหลับค่ะ ถ้าจะเข้าใจสติปัฏฐาน ก็ในขณะที่กำลังเห็น สติปัฏฐานคืออย่างไร

    ผู้ถาม ทำได้ทั้ง ๒ วิธี ใช่ไหม ที่อาจารย์เคยบอกว่า สติปัฏฐานนี้กำหนดลมหายใจเข้าออกทางจมูก

    ท่านอาจารย์ สติปัฏฐานมีกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    สติปัฏฐานไม่มีการเจาะจง ไม่มีการเลือก แต่ว่าขณะใดที่สติเกิดเพราะฟังเรื่องสติปัฏฐาน จนมีความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นปัจจัยปรุงแต่งเป็นสังขารขันธ์ให้สติระลึกได้ รู้ว่าขณะนี้กำลังมีสภาพธรรมกำลังปรากฏ โดยไม่ต้องเลือกเลยค่ะ แล้วแต่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติในขณะนี้ ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ไม่ได้บอกให้ไปทำอานาปาอะไร ต้องเข้าใจอย่างนี้ซิคะ

    ผู้ถาม ผมอยากจะเรียนถามการกำหนดลมหายใจเข้าออก ที่ระลึกรู้ว่า ลมกระทบจมูก หรือเพดานก็ตาม เป็นอานาปานสติ ไม่ใช่สติปัฏฐาน เช่นนั้นหรือ ที่ผมเรียนถาม คือ ผมไม่ทราบข้อแตกต่าง การกำหนดลมหายใจเข้าออก

    ท่านอาจารย์ กรุณาฟังอีกครั้งหนึ่งนะคะ กำลังเห็น สติปัฏฐานคืออย่างไร ทางตา เข้าใจดีหรือยัง

    ผู้ถาม เข้าใจครับ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจนะคะ ทางหู กำลังได้ยิน สติปัฏฐานคืออย่างไร ทางจมูก กำลังได้กลิ่น สติปัฏฐานคืออย่างไร ทางลิ้นที่กำลังรับประทานอาหารเช้าบ้าง กลางวันบ้าง เย็นบ้าง สติปัฏฐานคืออย่างไร ทางกายที่กำลังมีการกระทบสัมผัสขณะหนึ่งขณะใด สติปัฏฐานคืออย่างไร ทางใจ ที่กำลังคิดนึกหลังจากที่ได้ยินแล้วในขณะนี้ สติปัฏฐานคืออย่างไร

    ถ้าเข้าใจดีแล้วนะคะ ก็จะไม่พูดเรื่องลมหายใจ เพราะอะไรคะ ทำไมจึงไม่พูดเรื่องลมหายใจ ทราบไหมคะว่า เพราะอะไร เพราะลมที่ปรากฏที่จมูก ก็เป็นเพียงลม เช่นเดียวกับลมอื่นที่ปรากฏที่กายที่อื่น ไม่ว่าจะกระทบส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็เป็นแต่เพียงรูปธรรม ซึ่งมีลักษณะเย็น หรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว

    เพราะฉะนั้นไม่มีการมุ่งเจาะจงกำหนดลมหายใจ แต่ถ้าลมหายใจจะเกิดขึ้นปรากฏ ขณะนั้นสติจะระลึกรู้ ก็ไม่ต่างกับลมที่กระทบส่วนหนึ่งส่วนใดของกายในขณะนี้ ทุกท่านอาจจะมีการกระทบลมที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของกาย หรือว่าอาจจะมีลมหายใจปรากฏกระทบช่องจมูก ก็เป็นเพียงรูปชนิดหนึ่ง ก็ไม่ต้องไปเจาะจงอะไร ที่จะให้เกิดเห็นอะไรขึ้นมา นั่นจึงจะเป็นการเจริญสติปัฏฐาน

    ผู้ถาม คือการกำหนดอย่างว่า ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเจาะจง มันเกิดขึ้นเอง

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่มีนี่คะ ขณะนี้มีไหมคะ

    ผู้ถาม หมายความถึงขณะที่หลับตา

    ท่านอาจารย์ หลับตาซิคะ มีไหมเดี๋ยวนี้ หลับตาเดี๋ยวนี้ค่ะ

    ผู้ถาม พูดถึงขณะที่เจริญครับ

    ท่านอาจารย์ ก็ระลึกซิคะ ระลึกรูปธรรมดา ถ้าเป็นสติปัฏฐานจริงๆ มีแต่ของจริงที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทวาร ตามความเป็นจริง คือ ทางตา สีสันวรรณะกำลังปรากฏ ทางหู เสียงกำลังปรากฏ ทางจมูก กลิ่นกำลังปรากฏ ทางลิ้น รสกำลังปรากฏ ทางกาย โผฏฐัพพะ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว กำลังปรากฏ ไม่ต้องตื่นเต้น หวั่นไหวกับลมหายใจอะไรเลย เพราะเหตุว่าเป็นแต่เพียงรูปซึ่งกระทบกับกาย กระทบกับกายปสาทเท่านั้น

    ผู้ถาม รูปกระทบกาย จะถือว่าเป็นสติปัฏฐานได้ไหม ที่ผมเรียนถามเพราะผมไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ จะทำสมาธิ หรือจะอบรมเจริญปัญญา

    ผู้ถาม อบรมเจริญปัญญาครับ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 18
    16 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ