จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 027


    อย่าหวังหรือว่าอย่ารอ เพราะเหตุว่ายิ่งหวังยิ่งรอ ซึ่งจะเป็นเครื่องกั้นไม่ให้ประจักษ์รู้ลักษณะของสภาพธรรม โดยไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุยังอบรมไม่สมควรแก่ผลที่จะเกิดตราบใด ผลจะเกิดขึ้นไม่ได้

    เพราะฉะนั้นในยุคนี้สมัยนี้ กว่าสภาพธรรมจะปรากฏเป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น ก็จะต้องห่างกัน และจะต้องมีวิริยะ มีความพากเพียรจากการฟัง จากการน้อมรู้สิ่งที่ปรากฏ โดยอาศัยการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมนั้น แล้วไม่หลงลืมที่จะพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏให้ตรงกับที่เคยประจักษ์ ไม่ใช่ว่าวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นจะเกิดขึ้นได้โดยรวดเร็ว และโดยง่าย และประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมโดยตลอดหมด แต่ว่าการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมนั้นเพื่อละความไม่รู้ เพื่อละความสงสัย เพื่อละสีลัพพัตตุปาทาน หรือสีลัพพัตตปรมาสกายคันถะ คือ การลูบคลำข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิด จนกว่าจะถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคล จึงจะหมดกิเลสเป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีกเลย ไม่ใช่ไปคอยว่า เมื่อไรจะรู้สภาพธรรมนั้น ญาณไหนจะรู้สภาพธรรมนี้ ไม่ใช่วางไว้ว่า พอถึงนามรูปปริจเฉทญาณจะประจักษ์แจ้งลักษณะของรูปธรรมที่เป็นรูปารมณ์ หรือว่าเป็นหทยวัตถุ หรือว่าเป็นอาโปธาตุ แล้วพอถึงปัจจยปริคหญาณจะประจักษ์แจ้งลักษณะของปสาทรูป หรืออะไรๆ อย่างนั้น ไม่ใช่อย่างนั้นเลยค่ะ แล้วแต่ว่าการสะสมของแต่ละบุคคล จะทำให้ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมใด ซึ่งรูปทั้งหลายก็มีอยู่ในที่นั้น แต่รูปใดจะเกิดปรากฏแก่บุคคลใด ไม่ใช่ว่าจะมีกฎเกณฑ์ตายตัวว่า เมื่อถึงวิปัสสนาญาณขั้นนั้นแล้ว รูปนั้น กลุ่มนั้น กลาปนั้น จะปรากฏ หรือว่าพอถึงอีกขั้นหนึ่ง รูปอื่น กลาปอื่นจะปรากฏ

    เรื่องของแต่ละบุคคล เป็นเรื่องที่สะสมมาต่างกัน วิจิตรต่างกันมากเหลือเกิน เพราะฉะนั้นแม้แต่การที่วิปัสสนาญาณของแต่ละบุคคล จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมก็ไม่ใช่ว่า มีกฎเกณฑ์ว่าจะต้องเหมือนกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    7281 ความอยากมากมาย ไม่มีที่ทิ้ง ยิ่งอยากยิ่งไกลออกไปทุกที

    ความอยากนี้ก็น่ากลุ้มในนะคะ ไม่ทราบว่าจะเอาไปทิ้งได้ที่ไหน เพราะช่างมากมายเหลือเกิน เพราะว่ายิ่งอยากก็ยิ่งไกล ยิ่งอยากก็ยิ่งไกลออกไปทุกที แต่ถ้าอบรมเจริญปัญญา แล้วเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเองว่า สติระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมหรือเปล่า แม้ว่าสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ปัญญาที่ค่อยๆ น้อมรู้ ขณะนั้นเป็นอธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ขณะที่กำลังน้อมศึกษาเพื่อที่จะรู้ ในขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ แม้ว่าจะไม่ครบองค์ ๘ แต่ก็เป็นหนทางที่จะทำให้ปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้น จนกว่าวิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้น ประจักษ์แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมที่ปรากฏ โดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    7282 อรรถของจิตประการที่ ๔ ชื่อว่าจิตเพราะวิจิตรโดยอำนาจแห่งสัมปยุตธรรม

    มีข้อสงสัยไหมคะในตอนนี้ ถ้าไม่มีก็ขอต่อเรื่อง “อรรถ” คือ ความหมายที่เป็นลักษณะของจิตประการที่ ๔ ซึ่งมีข้อความว่า

    อนึ่ง จิตแม้ทุกดวง ชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตร ตามสมควร โดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม

    สัมปยุตตธรรม หมายถึง เจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมซึ่งเกิดกับจิต เวลาที่พูดถึงสัมปยุตธรรม ได้แก่ จิตและเจตสิก ซึ่งเกิดร่วมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน ดับพร้อมกัน และเกิดที่เดียวกัน ไม่รวมธรรมอื่นเลย

    เพราะฉะนั้นขณะที่จิตเกิดแต่ละขณะนี้ วิจิตรตามสัมปยุตตธรรม วิจิตร คือ ต่างกันตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ซึ่งได้กล่าวถึงแล้ว โดยชาติ โดยภูมิ

    สำหรับวันนี้ก็แสดงให้เห็นว่า จิตต่างกันโดยสัมปยุตธรรมที่เป็นเวทนาเจตสิก โดยนัยของ เวทนาเภท คือ ความต่างกันของจิต ซึ่งแสดงโดยนัยของเวทนา

    7283 เวทนาเจตสิก กับ จิต

    เวทนา หมายความถึง สภาพธรรมซึ่งเป็นสภาพที่รู้สึกดีใจ หรือเสียใจ หรือว่าเป็นสุขทางกาย เป็นทุกข์ทางกาย หรือเป็นสภาพที่ไม่สุข ไม่ทุกข์ คือ สภาพที่เฉยๆ

    ซึ่งในวันหนึ่งๆ จะปราศจากเวทนาไม่ได้เลย เช่นเดียวกับขณะใดที่มีจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นต้องมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง จะมีจิตซึ่งเกิดขึ้นโดยปราศจากสภาพธรรมซึ่งเป็นเวทนาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่รู้สึกเฉยๆ หรือว่าเป็นสุข เป็นทุกข์ ดีใจ หรือเสียใจ ในอารมณ์ที่ปรากฏไม่ได้ แต่เวทนาเจตสิกที่เกิดนี้จะเกิดเพียงลักษณะเดียวในขณะหนึ่งๆ ซึ่งขณะใดที่มีความรู้สึกเฉยๆ ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า “อทุกขมสุข” ไม่สุข ไม่ทุกข์ นี้ ในขณะนั้นไม่ใช่สภาพธรรมที่ดีใจ หรือเสียใจ เวลาที่ความรู้สึกเฉยๆ ดับไปแล้ว แล้วก็มีความรู้สึกดีใจเกิดขึ้น ในขณะนั้นจะมีความรู้สึกเสียใจ หรือความรู้สึกเฉยๆ รวมอยู่ด้วยไม่ได้

    เพราะฉะนั้นเวทนาเจตสิกดวงหนึ่ง เกิดกับจิตดวงหนึ่ง ทุกๆ ขณะที่จิตเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าเป็นเวทนาเจตสิกประเภทใด

    เพราะฉะนั้นจะเห็นความต่างกันของสัมปยุตธรรมว่า จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ คือ เป็นประธานในการรู้ คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสภาพที่รู้แจ้งในสีสันวรรณะต่างๆ ที่ปรากฏ ไม่ว่าสีจะต่างกันไปละเอียดสักเท่าไร จิตก็สามารถที่จะรู้แจ้งในลักษณะของสีที่ปรากฏทางตาได้ ไม่ว่าเสียงจะสูง จะต่ำ จะเป็นที่น่ารื่นรมย์ หรือไม่สบายหู โสตวิญญาณ เป็นสภาพที่ได้ยินเสียง ก็เกิดขึ้นรู้แจ้งในอารมณ์นั้นได้ เช่นเดียวกับเวลาที่กลิ่นกระทบจมูก กลิ่นก็มีหลายกลิ่น แล้วจิตก็เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งกลิ่นลักษณะต่างๆ แต่จิตไม่สามารถจะรู้สึกดีใจ หรือเสียใจ หรือเฉยๆ ในอารมณ์ที่ปรากฏ

    เพราะเหตุว่าลักษณะของจิตนั้นเป็นใหญ่ เป็นประธานเฉพาะในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ แต่ว่าสำหรับเวทนาเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่รู้สึก เพราะฉะนั้นในขณะใดก็ตามที่มีความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใด ให้ทราบว่า ในขณะนั้นเป็นสัมปยุตตธรรมที่เกิดกับจิต เป็นเจตสิกดวงหนึ่ง ซึ่งเมื่อเป็นสภาพที่รู้สึกในอารมณ์ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติเรียกสภาพธรรมนั้นว่า เวทนาเจตสิก

    เพราะฉะนั้นการที่จิตมีต่างกันไป เป็นโดยชาติ เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นวิบากก็มี เป็นกิริยาก็มี เจตสิกที่เกิดกับจิตนั้นๆ ก็ต้องเป็นเช่นเดียวกับจิต จิตกับเจตสิกเกิดขึ้นเป็นกุศล ถ้าจิตเป็นกุศล เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็ต้องเป็นกุศลทุกดวง หรือว่าเจตสิกซึ่งเป็นกุศลเกิดขึ้น เจตสิกและจิตที่เกิดร่วมด้วยก็ต้องเป็นกุศล

    เพราะฉะนั้นอกุศลเจตสิกจะไปเกิดกับกุศลจิตไม่ได้ หรือว่าวิบากจิตจะไปเกิดกับกิริยาเจตสิกก็ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เมื่อจิตต่างโดยชาติ เป็นกุศลจิตก็มี อกุศลจิตก็มี วิบากจิตก็มี กิริยาจิตก็มี

    เวทนาเจตสิกที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นอกุศลก็มี ที่เป็นวิบากก็มี ที่เป็นกิริยาก็มี

    7284 พระอภิธรรมแสดงเวทนาที่เกิดกับจิตต่างๆ โดยละเอียดเพื่อไม่ให้เข้าใจผิด

    แต่ว่าถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ก็จะมีผู้ที่เข้าใจผิดในลักษณะของเวทนา เพราะส่วนมากจะไม่ชอบทุกขเวทนาทางกาย เช่น ความป่วยไข้ได้เจ็บต่างๆ หรือว่าเย็นไปบ้าง ร้อนไปบ้าง ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นทุกข์ทางกาย ไม่มีผู้ใดชอบเลย ขณะที่มีการกระทบสิ่งที่ร้อนเกินไป เย็นเกินไป เป็นต้น ทำให้ความรู้สึกไม่สบาย ขณะนั้นเป็นกายวิญญาณ เป็นจิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แล้วเกิดความรู้สึกเป็นทุกข์ ความรู้สึกไม่สบายกายเกิดขึ้น เพียงชั่วขณะเดียว อย่าปนกับความรู้สึกไม่แช่มชื่น หลังจากที่กระทบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจทางกาย

    นี่เป็นความละเอียดของจิต ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดว่า

    จิตที่เป็นอกุศลแต่ละประเภทนั้น มีเวทนาอะไรเกิดร่วมด้วย

    จิตที่เป็นวิบากแต่ละประเภทนั้น มีเวทนาอะไรเกิดร่วมด้วย

    จิตที่เป็นกิริยาแต่ละประเภทนั้น มีเวทนาอะไรเกิดร่วมด้วย

    และจิตที่เป็นกุศลแต่ละประเภทนั้น มีเวทนาอะไรเกิดร่วมด้วย

    ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ศึกษาโดยละเอียด ไม่ปะปน ถ้ามิฉะนั้นแล้วทุกท่านไม่ชอบทุกขเวทนา แต่ชอบสุขเวทนา ขณะที่เป็นสุขเวทนา เป็นวิบาก เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว แต่ความรู้สึกชอบสุขเวทนา ขณะนั้นเวทนานั้นไม่ใช่วิบากแล้ว เพราะเหตุว่าเป็นเวทนาที่เกิดกับโลภมูลจิต จึงเป็นอกุศลเวทนา ไม่ใช่ว่าดี เวลาที่ไม่ว่าจะกระทบกับอารมณ์ที่ปรากฏทางตา เห็นสิ่งที่น่าพอใจ จิตที่เห็นแล้วเวทนาเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกับจิตที่เห็นเป็นกุศลวิบาก เป็นผลของอดีตกุศลกรรม ในขณะที่เห็น ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งการเกิดขึ้นของจักขุวิญญาณที่เห็น แล้วก็ดับไป แต่ว่าเห็นสิ่งที่น่าพอใจ เพราะฉะนั้นเมื่อจักขุวิญญาณดับไปแล้ว เกิดความยินดีพอใจในสิ่งที่เห็น โดยที่สิ่งที่เห็นนั้นยังไม่ดับไป แต่มีความยินดีพอใจในสิ่งที่เห็น ขณะที่มีความยินดีพอใจ ความรู้สึกอาจจะเกิดเป็นโสมนัสเวทนา มีความดีใจ เพราะชอบใจ พอใจในอารมณ์ที่เห็น ขณะนั้นเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า ท่านที่ไม่ชอบทุกข์ทางกาย เวลาที่ป่วยไข้ได้เจ็บชั่วขณะที่รู้สึกเจ็บ นั่นเป็นอกุศลวิบาก แต่ความไม่พอใจ ความไม่แช่มชื่นขณะนั้นไม่ใช่วิบาก เป็นอกุศลเวทนา ซึ่งเกิดกับอกุศลจิต ซึ่งเป็นเหตุที่จะให้เกิดอกุศลวิบากข้างหน้า

    เพราะฉะนั้นโดยการศึกษาพระอภิธรรมโดยละเอียด จึงได้แสดงเรื่องของเวทนาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิต เพื่อไม่ให้เข้าใจผิด มิฉะนั้นแล้วก็จะพอใจ หลงติดในโสมนัสเวทนา ในสุขเวทนา หรือในอุเบกขาเวทนา โดยที่ไม่รู้ว่า แม้ว่าเป็นอุเบกขาเวทนาที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นอกุศลก็มี ที่เป็นวิบากก็มี ที่เป็นกิริยาก็มี

    7285 จิตรู้อารมณ์แล้ว ตั้งสติปัฏฐาน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ตั้งได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ มีข้อสงสัยไหมคะ เชิญค่ะ

    ถาม จิตที่รับรู้อารมณ์ตอนนี้ เราจะตั้งสติปัฏฐาน โดยจะบอกว่า สิ่งที่เห็น หรือจิตที่เห็นรับอารมณ์ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะเป็นการถูกต้องไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ตั้งได้ไหมคะ ตั้งสติได้ไหมคะ

    ผู้ฟัง เมื่อเห็นปั๊บ สติเกิดขึ้นมา ที่เราชอบใจหรือเจ็บป่วยอะไรขึ้นมา ก็นึกว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน อย่างนี้จะเป็นการถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ สติเกิดระลึกได้ขั้นคิด คือ คิดอย่างนั้นเป็นสติที่ระลึกอย่างนั้น จึงคิดอย่างนั้น

    ผู้ฟัง คือสติกับคิดไม่ใช่อันเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ มีสติหลายขั้นนี่ค่ะ สติเกิดกับโสภณจิต เกิดกับกุศลจิต ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นเพราะสติระลึกได้ จึงเป็นกุศลประเภทนั้นๆ เช่น วันหนึ่งๆ ส่วนใหญ่แล้วอกุศลจิตซึ่งเป็นโลภมูลจิตเกิด ทันทีที่ลืมตานึกถึงสิ่งที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นทางตา อยากเห็นอะไร อยากได้ยินเสียงอะไร อยากได้กลิ่นอะไร อยากลิ้มรสอะไร ทั้งหมดนี้เป็นลักษณะของโลภมูลจิต เพราะฉะนั้นขณะนั้นสติไม่ได้เกิด ขณะที่เป็นโลภมูลจิต แต่ขณะใดก็ตามซึ่งกุศลจิตเกิด แทนที่คิดจะเอา แต่ว่าคิดที่จะสละ คิดที่จะให้ประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น ในขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เราค่ะ เป็นสติที่ระลึกในการที่จะให้ ในการที่จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น นั่นเป็นสติขั้นที่จะให้ ซึ่งเป็นทาน ระลึกได้ในการที่จะให้ ในการที่จะสละวัตถุสิ่งของ เพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น หรือเวลาที่จะเว้นทุจริต ขณะนั้นก็เป็นสติที่ระลึก ที่จะเว้น ไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้นเวลาที่ป่วยไข้ แล้วระลึกขึ้นมาได้ว่า เป็นผลของอดีตกรรม ทำให้ความรู้สึกไม่สบายทางกายเกิดขึ้น เพราะว่าทุกคนอยากจะมีร่างกายที่แข็งแรง มีสุขภาพดี มีความสุขทางกาย แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ทุกข์ทางกายเกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลของอดีตอกุศลกรรม ขณะนั้นก็มีความรู้สึกเป็นทุกข์เกิดขึ้นที่กาย อาจจะปวดที่ตา เจ็บที่หลัง เจ็บมือ หรือตัวร้อน หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ปรารถนา แต่มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ขณะที่คิดนั้นเป็นสติที่ระลึกเป็นไปอย่างนั้น ไม่ใช่สติปัฏฐานที่ระลึกลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน โดยไม่ต้องคิด

    ผู้ฟัง ถ้าจะเป็นสติปัฏฐาน ต้องหมายความว่า เป็นลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ไม่คิด แต่ว่ารู้ตรงลักษณะที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ว่าเป็นรูป ไม่ใช่ตัวตน

    ท่านอาจารย์ ว่าอีกแล้วไงคะ กระทบสัมผัสสิ่งที่แข็ง ต้องว่าอะไรไหมคะ เวลาที่กำลังรู้แข็ง กระทบสัมผัสหรือจับสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่แข็ง ต้องว่าอะไรไหมคะในขณะที่แข็ง ไม่ต้องใช่ไหมคะ แข็งปรากฏ เพราะฉะนั้นสติที่เป็นสติปัฏฐานระลึกได้ รู้ว่ามีแข็งกำลังปรากฏ “รู้” นะคะ ไม่ใช่ว่าต้องคิดออกมาเป็นคำ ระลึกได้ จึงระลึกรู้ที่แข็งที่กำลังปรากฏ เหมือนกับทางตา สีสันวรรณะกำลังปรากฏ หลงลืมสติ คุยกันเพลินไป แต่เกิดระลึกได้ว่า มีสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ได้นึกเป็นเรื่อง

    เพราะฉะนั้นสติขั้นคิดก็คิดเป็นธรรมที่เป็นกุศล รู้ว่าอะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล นั่นเป็นสติที่ระลึกพร้อมการคิด แต่ไม่ใช่สติปัฏฐานที่ระลึกลักษณะที่ขณะนั้นไม่ได้คิด แต่กำลังพิจารณาศึกษาน้อมที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามที่ได้ยินได้ฟัง

    ผู้ฟัง คิดมาก่อน

    ท่านอาจารย์ ปกติคนเราหยุดความคิดไม่ได้หรอกค่ะ คิดกันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเห็นทางตา ก็คิดถึงสิ่งที่ปรากฏทางตาทันที พอได้ยินทางหูในขณะนี้ ก็คิดถึงเสียงที่ปรากฏทางหู เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ ทันที เวลาที่ได้กลิ่น ก็คิดเรื่องกลิ่นที่ปรากฏว่า กลิ่นอะไร ถ้าเป็นกลิ่นไม่ดี ก็หาทางที่จะกำจัด ถ้าเป็นกลิ่นที่ดี ก็หาทางที่จะได้มา

    เช่นเดียวกับเวลาที่รสปรากฏ ชิมอาหารต่างๆ ก็คิดตามรสที่ปรากฏว่า จะต้องปรุง จะต้องเติม หรือจะต้องทำอะไร นี่ก็เป็นความคิด ซึ่งเกิดต่อจากทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ได้ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส

    เพราะฉะนั้นเรื่องคิดนี้ คิดอยู่เป็นประจำ ถ้าศึกษาสภาพธรรมทั้งหลายจริงๆ จะรู้ได้ว่า ไม่มีใครสามารถจะทำอะไร เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แต่ว่ามักจะคิดเสมอ แม้ว่ากำลังกระทบสัมผัสสิ่งที่แข็ง ก็อดคิดไม่ได้ว่า แข็งเป็นรูปธรรม สภาพที่รู้แข็ง เป็นสภาพรู้ ไม่ใช่ว่ายับยั้งว่า อย่าคิดอย่างนั้น แต่ว่าสติปัฏฐานต้องละเอียดที่จะรู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่กำลังศึกษาลักษณะแข็ง แต่เป็นสภาพที่กำลังคิดเรื่องแข็งที่กำลังปรากฏ

    7286 เวทนาเจตสิก - สัพพจิตตสาธารณเจตสิก

    ถาม ขณะที่กระทบสัมผัสกับสิ่งที่ดีๆ อันนั้นเป็นกุศลวิบากใช่ไหม เมื่อเกิดความพอใจในภายหลังแล้ว อันนี้เป็นอกุศลจิตซึ่งเกิดร่วมกับเวทนาเจตสิกใช่ไหมครับ เวทนาเจตสิกอันนี้ก็เป็นอกุศลเจตสิก แล้วก็ยังมีเวทนาที่เป็นกุศลด้วย ในสัพพจิตตสาธารณเจตสิกมีทั้งกุศลและอกุศลหรือครับ

    ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ แล้วแต่จะเกิดกับจิตประเภทใด ก็เป็นประเภทนั้น สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ชื่อยาว แต่ว่าความหมายก็หมายความถึง เจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง สัพพ แปลว่า ทั้งหมด สาธารณะ แปลว่าทั่วไป สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ก็คือเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้นแล้วแต่จิตว่า จิตนั้นเป็นกุศล สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวงนั้น ก็เป็นกุศล ถ้าจิตนั้นเป็นอกุศล สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวงนั้นก็เป็นอกุศล ถ้าจิตนั้นเป็นวิบาก สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวงนั้นก็เป็นวิบาก ถ้าจิตนั้นเป็นกิริยา สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวงนั้นก็เป็นกิริยา

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดทั้งฝ่ายดีและไม่ดี

    ท่านอาจารย์ เกิดพร้อมกันไม่ได้ค่ะ ผัสสะนับเป็น ๑ ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล หรือเป็นวิบาก หรือเป็นกิริยา แต่เจตสิกนั้นเป็นเจตสิกที่เกิดขึ้นกระทบอารมณ์ที่จิตกำลังรู้

    ผู้ฟัง เจตสิกนี้ก็เท่ากับเป็นกลางๆ ถ้าเกิดร่วมกับอกุศลก็เป็นอกุศล เกิดร่วมกับกุศลก็เป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ เพราะฉะนั้นจึงมีคำอีกคำหนึ่ง สำหรับสัพพจิตตสาธารณะ คือ อัญญสมานาเจตสิก หมายความว่าเป็นเจตสิกซึ่งเสมอกับธรรมที่เกิดร่วมกัน คือ เป็นพวกเดียวกัน เพราะว่าถ้าธรรมที่เกิดด้วยเป็นกุศล เจตสิกพวกนี้ก็เป็นกุศล เมื่อธรรมที่เกิดร่วมด้วยเป็นอกุศล เจตสิกพวกนี้ก็เป็นอกุศล

    7287 ขณะนี้เวทนาเป็นอะไร ส่วนมากเป็นเวทนาอะไร

    ขณะนี้ เวทนาเป็นอะไรคะ เป็นอุเบกขา ส่วนมากในวันหนึ่งๆ เวทนาเป็นอะไร เวทนาไม่ใช่ความรู้สึกสงสารเวทนา แต่ “เวทนา” หมายถึงสภาพธรรมที่รู้สึกในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นในวันหนึ่งๆ สภาพธรรมทั้งหลายเป็นลักษณะที่มีจริง เป็นจริง ตามสภาพธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้นในวันหนึ่งๆ ท่านผู้ฟังจะสังเกตได้ไหมคะว่า ความรู้สึกเป็นอะไรคะ

    ผู้ฟัง อุเบกขาเป็นส่วนใหญ่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสำหรับเวทนาเจตสิก มี ๓ ประเภท ได้แก่ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อุเบกขาเวทนา ๑ หรืออีกนัยหนึ่ง เวทนา ๕ ได้แก่ ทุกขเวทนา ๑ สุขเวทนา ๑ โสมนัสเวทนา ๑ โทมนัสเวทนา ๑ และอุเบกขาเวทนา ๑

    อุเบกขาเวทนานี้วันหนึ่งๆ เกิดมากกว่าเวทนาอื่น และโดยประเภทแล้ว จำนวนของจิตที่ประกอบด้วยอุเบกขาเวทนามากกว่าเวทนาอื่น

    ผู้ฟัง ขอให้อาจารย์ยกตัวอย่างอุเบกขาเวทนาที่เกิดร่วมกับอกุศลจิต

    ท่านอาจารย์ อุเบกขาเวทนาที่เกิดร่วมกับอกุศลจิต เวลาที่เป็นโลมูลจิตที่ยินดีพอใจเกิดขึ้น แต่ไม่มีความรู้สึกว่าดีใจ ขณะนั้นโลภมูลจิตนั้นประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา ความรู้สึกเฉยๆ ซึ่งมีอยู่เป็นประจำจนไม่รู้สึก ไม่รู้สึกว่าเป็นโลภมูลจิต จึงไม่รู้ว่าเป็นอุเบกขา ความรู้สึกเฉยๆ ขณะนั้นเกิดแล้ว

    ผู้ฟัง ที่เกิดร่วมกับอกุศลจิต

    ท่านอาจารย์ โลภมูลจิตเป็นอกุศลจิต ซึ่งมีอยู่เป็นประจำ เวลาเห็นรู้สึกยังไงคะ ตามปกติ ดีใจตลอดทุกขณะที่เห็นตลอดไปตั้งแต่เช้าจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ หรือยังไงคะ ซึ่งการเห็น ตั้งแต่ลืมตาขึ้นมา แล้วยังไม่หลับนอนจริงๆ การเห็นไม่ได้รู้สึกว่าดับไปเลย ใช่ไหมคะ เช่นในขณะนี้ พอตื่นขึ้นแล้วยังไม่หลับลงไป เวลาที่ลืมตาจะไม่รู้สึกเลยว่า ขณะจิตที่เห็นนี้ดับ เห็นแล้วก็ดับๆ ๆ

    เพราะฉะนั้นเวลาที่เห็นนี้ไม่ได้รู้สึกดีใจ เป็นโสมนัส ทันทีที่เห็นไปทุกขณะ จนกระทั่งปรากฏว่า วันนี้ดีใจตลอดทั้งวัน ไม่ใช่อย่างนั้น

    เพราะฉะนั้นเวลาที่เห็นให้ทราบว่า จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นในขณะใด ขณะนั้นประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะได้เข้าใจ และควรที่จะได้รู้ตามความเป็นจริง เพื่อที่จะได้เกื้อกูลกับการเจริญสติปัฏฐาน ให้รู้ว่า ขณะใดที่ระลึกถึงความรู้สึก ซึ่งวันหนึ่งๆ นี้นะคะ ความรู้สึกเกิดอยู่เป็นประจำ แต่ว่าไม่ค่อยจะรู้สึก ไม่ได้ระลึกถึงความรู้สึก โดยเฉพาะเวลาที่ความรู้สึกนั้นเป็นอุเบกขาเวทนา เพราะเหตุว่าเห็นแล้วก็เฉยๆ ไม่ได้ระลึกถึงความรู้สึกเลย ใช่ไหมคะ เพราะว่าเฉยๆ จึงไม่ได้ระลึกถึงความรู้สึกเฉยๆ

    เวลาที่ได้ยินก็ได้ยินบ่อย เวลาที่โสตวิญญาณเกิดขึ้นได้ยินเสียง ในขณะนั้นความรู้สึกที่เกิดกับโสตวิญญาณ จิตที่ได้ยินเสียง ก็เป็นความรู้สึกเฉยๆ คือ อุเบกขาเวทนา ไม่ปรากฏว่าเป็นโทมนัส หรือว่าโสมนัส หรือว่าตื่นเต้นดีใจ หรือว่าเสียใจ

    เพราะฉะนั้นผู้ที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึก ก็สามารถที่จะระลึกถึงในขณะที่เห็น แล้วก็รู้ว่า มีความรู้สึกเฉยๆ หรือว่าในขณะที่ได้ยินเสียง ก็มีความรู้สึกเฉยๆ

    ผู้ฟัง อย่างความรู้สึกที่ต้องการจะได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง คือ ปรารถนาเห็นอยู่ทั้งวัน

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นน่ะค่ะ คือชีวิตปกติประจำวัน

    ผู้ฟัง เป็นอุเบกขา หรือว่า

    ท่านอาจารย์ วันหนึ่งๆ ตั้งแต่ลืมตาจนกระทั่งหลับตา ดีใจกี่ครั้ง วันนี้ดีใจบ้างหรือยังคะ ลองคิดดูซิคะ เห็นนี้มากมายเหลือเกิน ตั้งแต่เช้าจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ ได้ยินก็มีมากมายเหลือเกิน ตั้งแต่เช้าจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ แล้วในขณะที่ได้กลิ่นก็มี ในขณะที่ลิ้มรสก็มี ขณะนั้นมีความรู้สึกดีใจกี่ครั้ง วันนี้ดีใจแล้วหรือยัง หรือว่ายังเฉยๆ อยู่เรื่อยๆ

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมตามปกติอย่างไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 18
    16 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ