จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 014


    เพราะฉะนั้น เวลาเห็นนี้ ปุถุชนนี้ยินดีแล้ว พอใจแล้ว เป็นอาสวะ เกิดขึ้นแล้ว ไหลไปแล้วทันที แต่พระอนาคามีไม่มีอนุสัยกิเลสที่จะทำให้เกิดความยินดีพอใจ ซึ่งเป็นกามาสวะเลย

    เพราะฉะนั้นในขณะนั้นเป็นกุศลจิตสำหรับพระอนาคามี ไม่ใช่เป็นอกุศล ในเมื่อวิถีจิตของผู้ที่เป็นปุถุชนนี้ เวลาเห็นแล้ว โลภมูลจิตเกิด ถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่น่าพอใจ โทสมูลจิตประกอบด้วยความรู้สึกไม่แช่มชื่นเกิด ถ้าขณะนั้นเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ โมหมูลจิตเกิด ถ้าขณะนั้นไม่ประกอบด้วยโลภะและโทสะ และถ้าในขณะนั้นไม่เป็นไปกับกุศลซึ่งเป็นทาน หรือเป็นศีล หรือเป็นความสงบของจิต หรือเป็นสติปัฏฐาน ก็ต้องเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด แต่พระอนาคามีไม่มีความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นใดๆ ที่ปรากฏทางจมูก รสที่ปรากฏที่ลิ้น สิ่งใดๆ ที่กระทบสัมผัสกาย

    เพราะฉะนั้นย่อมเป็นโมหมูลจิตในบางครั้ง ถ้าเป็นอกุศล แต่ว่าไม่มีโทสมูลจิตเกิดอีกต่อไป แล้วก็ส่วนใหญ่ก็จะเป็นกุศลจิต ซึ่งเมื่อเป็นกุศลแล้ว ย่อมสงบ เพราะฉะนั้นพระอนาคามีบุคคลยังยินดีพอใจในกุศลซึ่งเป็นความสงบ แม้เมื่อมีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะเหตุว่าพระอนาคามียังไม่ได้ดับภวาสวะ ความยินดีพอใจในภพ ในชาติ ในการเกิดขึ้นของจิต ในการเป็นไปในระหว่างที่ยังไม่จุติ

    นี่คือความต่างกันนะคะ เพราะฉะนั้นอาสวะจึงมี ๔ ได้แก่ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ ความเห็นผิด และอวิชชาสวะ ความไม่รู้ ซึ่งมีอยู่ในขณะที่ไม่ได้บรรลุคุณธรรมถึงขั้นเป็นพระอรหันต์ อวิชชาสวะก็ยังคงมีอยู่ แต่ว่าผู้ที่เป็นพระโสดาบันแล้ว ดับทิฏฐาสวะ ผู้ที่เป็นพระอนาคามีแล้วดับกามาสวะ ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ดับอาสวะและกิเลสทั้งหมด

    7001 อาสวะหมายถึงอกุศลจิตทั้งหมดหรือไม่

    ถาม ก็หมายความว่า อาสวะนี้หมายถึงอกุศลจิตทั้งหมด ใช่ไหม ถ้าขณะใดเป็นโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะในขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ โทสะไม่เป็นอาสวะ ต้องทราบว่า โลภะเป็นอาสวะ ๒ คือ กามาสวะและภวาสวะ ทิฏฐิเป็นอาสวะหนึ่ง คือ ทิฏฐาสวะ อวิชชาเป็นอาสวะหนึ่ง คือ อวิชชาสวะ กิเลสอื่นไม่ใช่อาสวะ

    ผู้ฟัง โทสะไม่ใช่อาสวะ โทสะไม่ได้ทำให้อวิชชาเกิดอย่างนั้นหรือ

    ท่านอาจารย์ ที่ทรงแสดงไว้ อาสวะซึ่งเป็นธรรมที่สะสม หมักดอง มอมเมาทำให้เป็นไปในอกุศล ในขณะที่มีการเห็น มีการได้ยิน มีเพียง ๔ ส่วนอกุศลธรรมอื่นก็เป็นประเภทอื่นไป เป็นกิเลส เป็นสังโยชน์ เป็นนิวรณธรรม เป็นต้น หรือว่าเป็นอนุสัย

    เพราะฉะนั้นเรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดที่จะต้องพิจารณา และค่อยๆ เข้าใจขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าเพียงขั้นเข้าใจที่จะจำว่า นี่คืออภิธรรม แล้วก็อยากจะเรียนพระอภิธรรมจบ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นเรื่องชีวิตแต่ละขณะ ซึ่งเป็นอภิธรรม เป็นธรรมที่พร้อมที่จะให้เข้าใจได้ทันทีว่า ขณะใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นเป็นอวิชชา ถ้าไม่ปรากฏลักษณะที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองเป็นกิเลส ขณะนั้นก็เป็นประเภทของอาสวะ

    7002 กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

    ผู้ฟัง แล้วอีกเรื่องหนึ่ง พูดถึงเรื่อง “ตัณหา” มี ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา แต่ส่วนใหญ่ผมได้ยินพระท่านพูดว่า กามตัณหา เป็นความยินดีติดใจในกามอารมณ์ ขณะที่มีความยินดีติดใจในกามอารมณ์ ขณะนั้นเป็น “กามตัณหา” และภวตัณหานี้ มีความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ขณะนั้นเป็น “ภวตัณหา” และ “วิภวตัณหา” ก็คือความไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น เช่น ไม่อยากเป็นคนหูหนวก ตาบอด ง่อยเปลี้ยเสียขา สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นวิภวตัณหา ซึ่งผมเห็นว่า พูดเช่นนี้ไม่ตรงกับที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ก็อยากให้อาจารย์แสดงว่า ตัณหาทั้ง ๓ นี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ โดยสั้นๆ ก็คือว่า กามตัณหา คือ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ภวตัณหา มี ๒ คือ ความยินดีในภพ ๑ และอีกอย่างหนึ่ง คือ ความยินดีที่เกิดพร้อมด้วยความเห็นผิดว่าเที่ยง คือ สัสสตทิฏฐิ สำหรับวิภวตัณหา หมายถึงความยินดีพอใจในอุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าสูญ นี่เป็นตัณหา ๓ ที่แสดงไว้ในพระไตรปิฎก

    7003 ชื่อว่าจิตเพราะเป็นกรรมกิเลสสั่งสมวิบาก

    แต่ในขณะนี้กำลังถึงลักษณะของจิต

    อรรถที่เป็นลักษณะของจิตประการที่ ๓ ที่ว่า ชื่อว่า จิต เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรม กิเลส สั่งสมวิบาก

    แสดงให้เห็นว่า ในชีวิตตามความเป็นจริงแต่ละขณะ บางขณะเป็นกิเลส บางขณะเป็นกรรม บางขณะเป็นวิบาก

    ซึ่งถ้าเข้าใจชัดเรื่องของวิถีจิต ก็จะเป็นปัจจัยทำให้สติสามารถที่จะเกิดระลึกรู้ลักษณะของกิเลส กรรม และวิบากได้ เช่น ขณะที่เห็น ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่ใช่วิบากจิต แต่ว่าจักขุวิญญาณเป็นวิบาก สัมปฏิจฉันนะเป็นวิบาก สันตีรณะเป็นวิบาก โวฏฐัพพนะไม่ใช่วิบาก กุศลและอกุศล ไม่ใช่วิบาก ตทาลัมพนะเป็นวิบาก

    มีประโยชน์อะไรที่จะรู้อย่างนี้ หรือว่าไม่มีประโยชน์ เสียเวลา ทำไมจะต้องรู้ถึงความละเอียดว่า ในการเห็นครั้งหนึ่งๆ ขณะใดเป็นวิบาก และขณะใดไม่ใช่วิบาก เพราะเหตุว่าธรรมที่เป็นเหตุ ไม่ใช่ธรรมที่เป็นผล อกุศลทั้งหลายหรือกุศลก็ตามเป็นเหตุ แต่ไม่ใช่เป็นวิบาก

    เพราะฉะนั้นขณะใดที่เป็นวิบากจิต ขณะนั้นเป็นผล ซึ่งเกิดเพราะเหตุ ไม่ใช่เป็นตัวเหตุ ในขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ ถ้ารู้ว่าเป็นวิบาก เป็นผลของกรรมในอดีต ทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น จะคิดไหมคะว่า มีตัวตนที่สามารถที่จะบันดาลให้วิบากใดๆ เกิดขึ้นก็ได้ จะคิดอย่างนั้นไหมคะ ถ้ารู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะใดที่เห็น ไม่ว่าจะเห็นสิ่งใดก็ตาม เป็นวิบาก เป็นผลของอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้นตามความเป็นจริงแล้ว เมื่อเหตุในอดีตมีพร้อมด้วยปัจจัยที่จะให้วิบากเกิดขึ้นขณะใด วิบากจิตก็เกิดขึ้นแล้ว เช่นในขณะนี้เป็นต้น เป็นวิบากจิตซึ่งเกิดขึ้นแล้ว เพราะมีปัจจัยในอดีตที่ได้กระทำแล้ว ไม่มีตัวตนซึ่งจะไปบังคับ แต่ให้ทราบว่า วิบากนี้เกิดขึ้นเพราะกรรมในอดีตเป็นปัจจัย

    ถ้ามีความรู้จริงๆ อย่างนี้ ก็จะเห็นความเป็นอนัตตาในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แล้วจะเป็นปัจจัยให้สติระลึกรู้ในขณะที่วิบากจิตเกิดขึ้นกระทำกิจทางหนึ่งทางใด รู้ว่านั่นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นผลของกรรมในอดีต

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ก็เกื้อกูลให้สติระลึกรู้ในขณะที่กำลังเห็นในขณะนั้นได้ว่า เป็นสภาพธรรมประเภทซึ่งเกิดขึ้นเพราะได้ปัจจัยที่พร้อมที่จะเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง เป็นผลของกรรม

    7004 กลัวว่าวิบากจะไม่เกิดหรือกลัวจะหมดวิบากบ้างหรือไม่

    มีท่านผู้ใดกลัวว่า วิบากจะไม่เกิดขึ้นบ้างไหมคะ หรือว่าจะหมดวิบากแล้ว ไม่ต้องกลัวค่ะ ไม่ว่าวันไหนทั้งสิ้น จะเป็นวันนี้ เย็นนี้ พรุ่งนี้ วันต่อๆ ไป เดือนต่อๆ ไป ปีต่อๆ ไป ชาติต่อๆ ไป ไม่ต้องห่วงเรื่องที่วิบากจะไม่เกิด เพียงแต่วิบากที่จะเกิดนั้น จะเป็นวิบากประเภทไหน เป็นผลของกรรมอะไร ซึ่งในชาตินี้ก็เป็นเครื่องพิสูจน์วิบากแล้วใช่ไหมคะว่า แต่ละคนมีวิบากของกุศลกรรม หรือว่ามีวิบากของอกุศลกรรมมากน้อยแค่ไหน

    7005 แม้แต่จะให้ใครสนใจฟังพระธรรมของพระพุทธเจ้าก็ยากเสียแล้ว

    ส. มีท่านผู้ใดสงสัยในเรื่องวิบากบ้างไหมคะ เชิญค่ะ

    ถาม ผมเคยคิดว่า ความจริงแล้ว การทำบาป ผลจะต้องมี ทั้งนี้เพราะเรามีพื้นในเรื่องการศึกษาธรรมบ้าง แต่ถ้าเราพิจารณาถึงบุคคลทั่วๆ ไป ที่เขาศึกษาบ้าง ไม่ได้ศึกษาบ้าง หรือศึกษานิดๆ หน่อยๆ เขาจะต้องปฏิเสธว่า ผลกรรมนี้ไม่มี เขาอาจจะเจาะเข้าถึงปัญหา เช่นปัญหาของท่านพระองคุลีมาลเถระว่า ทำบาปตั้งมากมาย แต่ผลที่สุดแล้วบาปนั้นไม่ได้ให้ผลเลย เพราะฉะนั้นก็แสดงว่าคำสอนหรือข้อปลีกย่อยอะไรต่างๆ เป็นเพียงส่วนประกอบ ซึ่งความจริงนั้นวิบากไม่มี เขาอาจจะเข้าใจเหมาๆ หรือสรุปรวมๆ อย่างนี้ได้ ที่ผมพูดนี้ ผมหมายถึงว่า เราไม่อยากจะเอาตัวรอดคนเดียว คือ คิดถึงคนทั้งหลายอื่นๆ ที่ทำให้บ้านเมืองเรายุ่งๆ อยู่อย่างเดี๋ยวนี้ ก็เพราะเขามีความคิดตามแนวทำนองอย่างนี้ แล้วเราจะทำอย่างไรกับคนพวกนี้ ซึ่งทำให้บ้านเมืองเรายุ่งไม่สิ้นสุดเสียที อย่างน้อยก็ให้ค่อยยังชั่วลงบ้าง

    ท่านอาจารย์ ยากนะคะ เพราะว่าเพียงแต่อยากจะให้ผู้ใดสนใจ แม้แต่จะรับฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วทรงแสดงไว้ ก็ยากเสียแล้ว เพราะว่าบางท่านอาจจะเห็นว่า ไม่เป็นประโยชน์ บางท่านอาจจะเห็นว่าคร่ำครึ ไม่ทันสมัย เพราะตามความเป็นจริงแล้ว ไม่รู้เลยว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องของธรรม ซึ่งเกิดปรากฏทุกยุคทุกกาลสมัยตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นท่านผู้ฟังที่หวังดีต่อคนอื่น ก็ศึกษาให้มากๆ จนกระทั่งเข้าใจละเอียด สามารถที่จะเป็นปัจจัยให้ประพฤติปฏิบัติตามได้จริงๆ เพิ่มขึ้น และเป็นตัวอย่างของบุคคลอื่น แล้วถ้าสามารถจะเกื้อกูลบุคคลอื่นในด้านใด รวมทั้งการแสดงธรรมด้วยตามกาลเทศะที่สมควร ก็จะเป็นประโยชน์

    เพราะฉะนั้นสำหรับตัวท่านผู้ฟังนี้เชื่อแน่ในเรื่องของกิเลส กรรม วิบากหรือยังคะว่า ไม่ต้องห่วงเลยเรื่องวิบากว่าจะไม่เกิดขึ้นหรือจะหมดแล้ว จะหมดวิบาก ไม่มีทางจะหมดได้ เพราะว่ากิเลสยังไม่หมด เมื่อกิเลสยังไม่หมด กรรมก็ต้องไม่หมด เมื่อกรรมไม่หมดแล้ววิบากนั้นจะหมดได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้นในชีวิตตามความเป็นจริง ท่านแสวงหาวิบากหรือเปล่า แม้ว่าท่านรู้ว่า ท่านไม่หมดวิบาก ทุกคนจะต้องมีวิบากตลอดไป จนกว่าจะตาย ถึงตายแล้วก็ยังต้องมีวิบากทำกิจปฏิสนธิในภูมิต่างๆ ต่อไปอีก แล้วยังจะไม่จบอีก ยังต้องมีวิบากต่อไปอีก

    7006 กำลังแสวงหาวิบากหรือเปล่าหรือว่ารู้แล้วว่าแล้วแต่เหตุ

    เพราะฉะนั้นในขณะนี้ตามความเป็นจริง ท่านกำลังแสวงหาวิบากหรือเปล่า หรือว่ารู้แล้วว่า แล้วแต่เหตุ เพราะฉะนั้นจึงควรที่จะประกอบกรรมดียิ่งขึ้น ไม่ควรจะคิดว่าพอแล้ว เพราะเหตุว่าทานเป็นการกระทำโดยสละวัตถุปัจจัยเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่นเพียงเล็กน้อย ไม่มาก เพราะไม่มีใครสามารถที่จะสละได้หมด หรือว่าไม่มีใครสามารถที่จะสละได้มากอย่างที่หวัง ถึงแม้ว่าจะมีกถา หรือคำที่พรรณนาเรื่องของการให้ทาน และอานิสงส์ของทานสักเท่าไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าสามารถที่จะทำให้ทานเกิดได้ทันทีเสมอไป หรือว่ามากเท่าที่ควรจะเป็น แม้แต่เรื่องของทานยังเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเรื่องของกุศลประการอื่นๆ นี้ ก็ควรที่จะทราบว่า ควรที่จะอบรมเจริญโดยไม่ประมาทจริงๆ แต่เมื่อเป็นผู้ที่ต้องการผลที่ดี คือ อิฏฐารมณ์ ไม่มีใครต้องการอนิฏฐารมณ์เลย สิ่งที่ไม่น่าพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไม่มีใครปรารถนา แต่ทุกคนนี้ไม่รู้ว่าวันไหน อนิฏฐารมณ์จะเกิดขึ้นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย จึงเป็นผู้ที่ไม่ควรประมาท

    เพราะฉะนั้นการเข้าใจเรื่องเหตุและผล เรื่องของกิเลส เรื่องของกรรม เรื่องของวิบาก ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้ได้รับทุกข์จากสังสารวัฏน้อยลง

    นอกจากนั้นถ้าเข้าใจวิถีจิตละเอียดว่า ในขณะที่เห็นครั้งหนึ่ง วิบากจิต เช่น จักขุวิญญาณที่กำลังเห็นก็ดี สัมปฏิจฉนะที่รับอารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณก็ดี สันตีรณะที่พิจารณาอารมณ์ต่อจากสัมปฏิจฉนะก็ดี วิบากจิตทั้งหมดไม่สามารถที่จะกระทำกรรมใดๆ ได้เลย ทุกท่านที่จะทำกุศลกรรมประการหนึ่งประการใด ให้ทราบว่า ในขณะนั้นเป็นชวนวิถีจิต เป็นกุศลชวนวิถีจิต วิบากจิตที่เห็นนี้ทำอะไรไม่ได้

    เสียงที่ได้ยิน แม้ว่าจะได้ยินเสียงที่น่าพอใจสักเท่าไร วิบากจิตก็เพียงเกิดขึ้นได้ยิน รับเสียงนั้นต่อ แล้วก็พิจารณาเสียงนั้น แต่ทำอะไรไม่ได้เลย

    เวลาที่กลิ่นที่ดีปรากฏทางจมูก จิตที่เป็นวิบากจิตเกิดขึ้นรู้กลิ่นนั้น สัมปฏิจฉันนะรับกลิ่นนั้น สันตีรณะพิจารณากลิ่นนั้น แต่ทำกุศลใดๆ ไม่ได้ ทำกรรมใดๆ ไม่ได้ เคลื่อนไหวใดๆ ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังเห็น อาจจะมีบางท่านที่กำลังยกมือ กำลังเขียน กำลังจด แต่ให้ทราบว่า ในขณะที่เขียน ในขณะที่จด ไม่ใช่วิบากจิตที่เห็น ไม่ใช่วิบากจิตที่ได้ยิน ไม่ใช่วิบากจิตที่ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่เป็นชวนวิถีจิต ซึ่งแล้วแต่ว่า การเคลื่อนไหวนั้นเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต แต่การเคลื่อนไหวทั้งหมด การพูด การเดิน การประกอบกิจการงาน การกระทำทางกาย วาจาใดๆ ก็ตาม ทั้งหมดไม่ใช่วิบากจิต

    เพราะฉะนั้นการที่รู้อย่างนี้จะเกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า แม้ในขณะที่เห็นก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ในขณะที่รู้สึกยินดีพอใจในสิ่งที่เห็น หรือว่าในขณะที่รู้สึกไม่ยินดี ไม่พอใจในสิ่งที่เห็น หรือไม่ใช่ในขณะที่มีความคิดเรื่องสิ่งที่เห็น

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นว่า เป็นจิตต่างประเภทกัน ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ก็จะไม่เป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานระลึกได้ในขณะที่มีการกระทำด้วยกาย ด้วยวาจา เช่น ในขณะที่กระทำการเคลื่อนไหวทางกาย อย่างท่านที่คิดจะอ่านพระไตรปิฎก ก็เดินไปหยิบพระไตรปิฎกที่จะอ่าน ในระหว่างที่เดินไปนั้น เห็นเป็นวิบากจิต แต่ไม่ใช่ในขณะที่เดิน ไม่ใช่ขณะที่หยิบ เพราะฉะนั้นเวลาที่สติเกิดระลึกได้ ในขณะนั้นจะรู้ลักษณะของจิตที่เป็นกุศล ที่มีความต้องการในการที่จะเดินไป เพื่อที่จะแสวงหาความรู้ เพื่อที่จะเข้าใจธรรมด้วยการอ่านพระไตรปิฎก แต่ถ้าไม่รู้อย่างนี้ สติไม่เกิด หลงลืมสติ ในขณะที่กำลังเดิน เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เกิดพอใจแล้วในสิ่งที่เห็น ระหว่างที่ยังไม่ถึงหนังสือพระไตรปิฎก ใช่ไหมคะ หรือว่าเสียงหนึ่งเสียงใดเกิดขึ้น ก็เกิดความยินดีบ้าง ยินร้ายบ้างในเสียงที่ปรากฏ แต่ถ้ารู้จริงๆ ว่า ในขณะที่กำลังเดิน ไม่ใช่วิบากจิต จิตที่เห็นเดินไม่ได้ เคลื่อนไหวไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ จิตที่ได้ยินก็เพียงแต่ได้ยินเท่านั้น เพราะฉะนั้นในขณะที่คิดนึก ในขณะที่กระทำกิจใดๆ ก็ตาม ในขณะนั้นเป็นชวนวิถีจิต เป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต การรู้อย่างนี้ ย่อมเป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นพร้อมทั้งกุศลจิตเกิดด้วยก่อนที่จะถึงพระไตรปิฎก แล้วก็หยิบขึ้นอ่าน ก็ยังเป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิดได้ แต่ถ้าไม่รู้ เห็นอะไรในระหว่างทาง ได้ยินเสียงอะไรในระหว่างนั้น อกุศลจิตก็ไหลไปแล้ว เพราะเหตุว่าเป็นอาสวะ ที่สะสมหมักดองมา พร้อมที่จะไหลไป เป็นโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ ในอารมณ์ที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นเวลาที่รู้อย่างนี้ ต่อไปนี้เวลาที่มีการกระทำทางกาย หรือว่าการเดิน การพูด การนั่ง การคู้ การลิ้ม การเหยียด แม้ในขณะที่รับประทานอาหาร พอเอื้อมมือไหวไป ก็ยังรู้แล้วว่า นี่เป็นจิตที่ไม่ใช่จิตเห็น ถ้าจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมในขณะนั้น แล้วก็ตามความเป็นจริงว่า ในขณะนั้นมีความต้องการที่เป็นอกุศล หรือว่าเป็นกุศลในขณะนั้น ซึ่งเวลาที่รับประทานอาหาร จิตย่อมเป็นอะไรคะ ที่เอื้อมมือไปตัก แล้วก็เคี้ยว จักขุวิญญาณ เห็น ทำอะไรไม่ได้ โสตวิญญาณก็ได้ยิน ถ้ามีเสียงเพลง เสียงอะไรในขณะนั้น แต่โสตวิญญาณและวิบากจิตทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังรับประทานอาหาร ซึ่งต้องมีการกระทำทางกาย การเคลื่อนไหวมือ ระลึกรู้ไหมคะว่า เป็นจิตอะไร ตามความเป็นจริง ตามปกติ จิตอะไรคะ โลภมูลจิต

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่หนีโลภะ แต่ต้องรู้โลภะตามความเป็นจริง จึงจะละได้

    7007 โลภะมีอยู่ประจำ แต่กุศลจิตก็มีโอกาสที่จะเกิดได้

    โลภะมีอยู่ประจำ ตั้งแต่เล็ก ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งโต แต่ว่ากุศลจิตก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดด้วย อย่าคิดว่าจะต้องเป็นโลภะไปเรื่อยๆ แม้แต่การประกอบการงานอาชีพ ส่วนใหญ่ก็เป็นโลภะ ซึ่งในวันหนึ่งๆ โลภะมากทีเดียว แต่ว่าอย่าลืมว่า กุศลจิตก็มีโอกาสที่จะเกิดได้ เมื่อเห็นประโยชน์ของกุศลจิต ในขณะที่รับประทานอาหาร โลภะเกิดขึ้นชวนวิถีหนึ่ง แล้วชวนวิถีต่อไป สติระลึกรู้ลักษณะของจิตที่ยินดีพอใจในขณะนั้น หรือระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรม แล้วแต่ว่าจะเป็นอาการของสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว หรือแม้แต่รสที่ปรากฏเวลากระทบลิ้น รู้ได้ทันทีในขณะที่ลิ้มรส ไม่ใช่ขณะที่ทำอาการเคี้ยว หรืออย่างหนึ่งอย่างใด สภาพที่ลิ้มรสเป็นลักษณะของวิบากจิต ซึ่งทำอะไรไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นวิบากทั้งหมด ขณะที่เป็นภวังคจิตเป็นวิบากจิต นอนหลับสนิท ไม่มีการเคลื่อนไหวกระทำกิจใดๆ ทั้งสิ้น และการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะว่ารู้ลักษณะของวิถีจิตอย่างละเอียด ก็จะทำให้รู้ว่า แม้ในขณะที่ยังไม่มีการกระทำใดๆ ทางกาย ทางวาจา เพียงเห็น สติก็ยังสามารถที่จะรู้ขณะที่ต่างกันว่า สภาพที่รู้สิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่สภาพที่ยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ แม้ว่าจะยังไม่มีการกระทำทางกาย ทางวาจา เพราะเหตุว่าโลภชวนวิถีก็เกิดต่อจากจักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ หรือว่าในขณะที่ได้ยินเสียง ชวนวิถีซึ่งเป็นโลภะก็สามารถที่จะเกิดได้ต่อจากโสตวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต

    เพราะฉะนั้นย่อมเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง ถูกต้อง แล้วก็ไม่หลอกตัวเอง การอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้สภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นผู้ที่มีปัจจัยที่โลภะจะเกิดเป็นประจำ เป็นปกติ เวลาที่สติปัฏฐานเกิดขึ้น ก็ย่อมระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานนี้หมดโลภะ ไม่เห็นโลภะเลย มีแต่กุศลทั้งนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้อย่างไร เพราะว่าการอบรมเจริญปัญญา ต้องเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ไม่ใช่เปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือว่า เวลาปกติอย่างนี้อย่างหนึ่ง แล้วก็ไปทำวิปัสสนา จากหน้ามือเป็นหลังมือ อีกอย่างหนึ่ง ไม่มีโลภะเกิดขึ้นเลย ไม่ใช่อย่างนั้น นั่นไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นย่อมไม่เห็นว่า ตามปกติโลภะย่อมเกิด เพราะฉะนั้นการที่จะละโลภะ ไม่ใช่ละโลภะในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ บรรลุความเป็นพระอนาคามีทันที แต่ว่าละโลภะที่เกิดพร้อมสักกายทิฏฐิ ที่ยึดถือการเห็นว่าเป็นเราเห็น เวลาที่ได้ยินเกิดขึ้นก็ละการเห็นผิดที่ยึดถือสภาพที่ได้ยินว่า เราได้ยิน

    เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญาจะเห็นได้ว่า ต้องละกิเลสตามลำดับขั้น สำหรับผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคล โสตาปัตติมรรคจิตเกิดขึ้นดับสักกายทิฏฐิเป็นสมุจเฉท ไม่มีการเห็นผิด ที่จะยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่ว่ายังมีความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ยังมีโลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ไม่เกิดกับมิจฉาทิฏฐิใดๆ เลย แต่ว่ายังเป็นโลภมูลจิต จนกว่าจะถึงความเป็นพระอนาคามี จึงจะดับความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้

    เป็นเรื่องจริงนะคะ

    7008 คำถามเกี่ยวกับสักกายทิฏฐิ

    ถาม อยากจะขอให้อาจารย์อธิบายที่ว่า พระโสดาบันละกิเลสได้ ๓ อย่าง คือ ราคะ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา คือ อยากทราบความหมายครับ เราทราบแต่ภาษาบาลี ความหมายจริงๆ อย่างวิจิกิจฉา หรือสักกายทิฏฐิ มีความหมายลึกซึ้งแค่ไหน

    ส. สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดในกาย คือนามธรรมและรูปธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว รูปารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา หาใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมที่ชื่อว่า “รูปารมณ์” ที่ทรงบัญญัติว่า “รูปารมณ์” หมายถึงสภาพธรรมที่สามารถปรากฏทางตาแก่จักขุวิญญาณ หรือจักขุทวารวิถีจิต รูปารมณ์ สิ่งที่ปรากฏทางตา ยาวหรือสั้น ลองคิดดูนะคะ รูปารมณ์ หรือวัณณะ สิ่งที่ปรากฏทางตา ยาวหรือสั้น โดยตรงรูปารมณ์ หรือวัณณะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 18
    15 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ