จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 028


    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมตามปกติอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ซึ่งถ้าไม่รู้ความจริงอย่างนี้ ไม่สามารถจะละความยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะแม้แต่ความรู้สึกมี ก็ไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่รู้สึกว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป

    7288 ทุกขเวทนา - สุขเวทนา

    สุขเวทนา เป็นความรู้สึกสบายทางกาย เกิดกับจิต ๑ ดวง สติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสุขเวทนาที่เกิดทางกายได้ไหม ในเมื่อกายมี และมีการกระทบสิ่งที่สัมผัสกาย ซึ่งสุขเวทนาเกิดขึ้น ถ้าอารมณ์ที่กระทบกายนั้นเป็นอารมณ์ที่น่าสบาย แต่เพราะสติไม่ได้ระลึก จึงไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นเพียง “สุขเวทนา” ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป

    ทุกขเวทนา เกิดกับจิตที่เป็นกายวิญญาณทางกาย จิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ๑ ดวง

    ในเวทนา ๕ สุขเวทนาเกิดกับจิตที่รู้สิ่งที่กระทบกายแล้วสบาย ๑ ดวง ทุกขเวทนา เกิดกับจิตที่รู้สิ่งที่กระทบกายแล้วเป็นทุกข์ ไม่สบายกาย ๑ ดวง เป็นผลของอดีตอกุศลกรรม

    วันนี้ทุกข์กายมีไหมคะ เพราะไม่ได้ระลึกจึงไม่รู้ว่า มี ในขณะที่กระทบสัมผัสสิ่งซึ่งไม่น่าสบาย เก้าอี้แข็งไหมคะ หรือสบาย ถ้าไม่ระลึกจะไม่รู้ลักษณะสภาพของเวทนาในขณะที่กำลังกระทบสิ่งหนึ่งสิ่งใดทางกาย แต่เมื่อสภาพความรู้สึก มี แล้วสติสามารถจะระลึกรู้ได้ จึงจะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เป็นความรู้สึกอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    7289 โทมนัสเวทนา - โสมนัสเวทนา - อุเบกขาเวทนา

    สำหรับ โทมนัสเวทนา เกิดกับจิต ๒ ดวง ซึ่งเป็นอกุศล คือ โทสมูลจิต ๒ ดวง

    อุเบกขาเวทนา เกิดกับกุศลจิตก็ได้ อกุศลจิตก็ได้ วิบากจิต กิริยาจิตก็ได้ เช่นเดียวกับโสมนัสเวทนา

    เพราะฉะนั้น โทมนัสเวทนา มีเพียง ๒ ดวง ซึ่งเกิดกับโทสมูลจิต ไม่เกี่ยวกับกาย โทมนัสเกี่ยวกับใจ เป็นความรู้สึกไม่สบายใจ เสียใจ น้อยใจ ทุกอย่างที่เกี่ยวกับความไม่สบายใจทั้งหมด เป็นโทสมูลจิต ขณะนั้นเวทนา ความรู้สึก เป็นความรู้สึกไม่สบายใจหรือเสียใจ เกิดกับจิตเพียง ๒ ดวง แต่ดูเหมือนว่า ทุกท่านนี้เดือดร้อนเหลือเกิน เวลาที่โทมนัสเวทนาเกิด หรือเวลาที่ทุกขเวทนาเกิด

    7290 เวทนาดับไปแล้ว สติระลึกรู้ อย่างนี้เป็นสติปัฏฐานหรือไม่

    ท่านอาจารย์ มีข้อสงสัยอะไรไหมคะเรื่องเวทนา

    ถาม ผมสงสัยเรื่องเวทนาอยู่ ลักษณะของสติปัฏฐาน คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมคือเวทนานี้ เวทนานั้นจะต้องดับไปแล้ว สติจึงจะระลึกรู้ จะถือว่าเป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ โดยมากท่านผู้ฟังจะคิดถึงปริยัตินะคะที่ทรงแสดงว่า จิตเกิดขึ้นทีละขณะ เพราะฉะนั้นขณะที่เป็นอกุศลจิตเกิดแล้วดับไป ภายหลังกุศลจิตซึ่งประกอบด้วยสติปัฏฐานจึงจะเกิดขึ้นได้ ใช่ไหมคะ

    แต่ว่าต้องทราบว่า สภาพธรรมนี้เกิดขึ้นทีละขณะ แล้วดับไปก็จริง แต่เกิดสืบต่ออย่างเร็วมาก เช่นในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ มีใครสามารถที่จะรู้จิตที่เห็น แล้วก็ดับไป แล้วก็จิตอื่นเกิดต่อคั่นอยู่ระหว่างจิตเห็นแต่ละขณะนี้ได้ไหมคะ

    ขณะนี้ปรากฏเหมือนว่า เห็นไม่ดับ ใช่ไหมคะ เพราะว่ากำลังเห็นอยู่ และโดยปริยัติก็ทราบว่า จักขุวิญญาณนี้มีอายุที่น้อยมาก สั้นมาก เช่นเดียวกับจิตอื่นๆ ทุกขณะ คือ เพียงเกิดขึ้นทำกิจเห็น แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ในระหว่างจิตเห็นซึ่งปรากฏเหมือนกับไม่ดับในขณะนี้ มีจิตอื่นเกิดมาก เกิดแทรก เกิดคั่น ถูกไหมคะ ถูกครับ

    เวลานี้กำลังเห็นอย่างนี้ เพราะไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของจิตแต่ละดวง หรือแต่ละขณะ เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นยังมีปรากฏอยู่ เพราะเกิดแล้วก็ดับ แล้วก็มีจิตอื่นเกิดสืบต่อทันทีอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานจึงเป็นกุศลธรรมซึ่งเกิดพร้อมกุศลจิตแล้วระลึกรู้สภาพของจิตเห็น ซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน โดยที่มีจิตอื่นเกิดสืบต่อคั่นอยู่ในระหว่างจิตที่กำลังเห็นในเวลานี้ นับไม่ถ้วนว่า ขณะนี้จักขุวิญญาณเกิดดับแล้วกี่ดวง เพราะว่าไม่ปรากฏการเกิดขึ้นและดับไปของจักขุวิญญาณ แต่แม้กระนั้นก็มีจิตอื่นซึ่งเกิดดับคั่นอยู่ระหว่างจักขุวิญญาณดวงหนึ่ง กับจักขุวิญญาณอีกดวงหนึ่ง ซึ่งปรากฏว่าต่อกัน

    นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่า สติปัฏฐานในระหว่างนั้น สามารถที่จะเกิดระลึกรู้ลักษณะของจักขุวิญญาณ คือ จิตที่กำลังเห็นในขณะนี้ได้ ฉันใด เวทนาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตแต่ละขณะ ก็สามารถที่จะปรากฏลักษณะของสภาพของเวทนาลักษณะนั้นๆ ได้

    อย่างอุเบกขาเวทนา ความรู้สึกเฉยๆ เกิดกับจักขุวิญญาณแล้วก็ดับไป แล้วขณะนี้มีอุเบกขาเวทนาเกิดกับจักขุวิญญาณ ซึ่งในระหว่างจักขุวิญญาณ ๒ ดวงนี้ มีจิตเกิดดับคั่น ซึ่งเป็นสติปัฏฐานได้ ที่จะระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึกเฉยๆ ไม่ทุกข์ ไม่สุข ซึ่งเกิดในขณะที่กำลังเห็น

    7291 สติระลึกรู้เวทนาได้โดยลักษณะสืบต่อของเวทนาที่เกิดกับจิตอื่น

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์อธิบายก็หมายความว่า ลักษณะของเวทนาซึ่งเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานกับตัวสติ ซึ่งเป็นผู้ระลึกรู้ ถ้าว่าโดยขณะแท้ๆ ที่ว่าขณะเป็นปัจจุบันว่า โดยขณะๆ สภาวธรรมนั้นเกิดในขณะเดียวกันไม่ได้ แต่ว่าสติสามารถจะระลึกรู้สภาพธรรม คือ เวทนานั้นได้ โดยลักษณะการสืบต่อของเวทนา

    ท่านอาจารย์ ที่เกิดกับจิตอื่น เช่นเดียวกับการเห็นในขณะนี้ ไม่ใช่กุศลจิตที่ระลึกรู้การเห็น เพราะว่าระหว่างจักขุวิญญาณ ๒ ดวง มีมหากุศลจิตซึ่งเป็นสติปัฏฐานเกิดระลึกรู้จักขุวิญญาณ คือ สภาพเห็นในขณะนี้ หรืออาจจะระลึกลักษณะของเวทนาที่เกิดพร้อมการเห็นในขณะนี้ แต่ว่าจิตซึ่งประกอบด้วยสติปัฏฐาน สติปัฏฐานนั้นไม่สามารถจะระลึกรู้ลักษณะของจิตหรือเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกับสติปัฏฐานนั้นได้ ต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมอื่น ดวงอื่น ขณะอื่น

    ผู้ฟัง ลักษณะของเวทนาซึ่งมีลักษณะการสืบต่อ ที่เป็นลักษณะที่เป็นปัจจุบันจริงๆ แล้วสติปัฏฐานไม่สามารถที่จะระลึกรู้ได้ ทีนี้ลักษณะของเวทนาที่มีสภาพการสืบต่อเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ อันนี้ผมยังไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ก็เหมือนกับทางตาที่กำลังเห็น เห็นไม่ได้ดับเลยค่ะ ฉันใด ขณะใดที่เห็น ขณะนั้นต้องมีเวทนาเจตสิกเกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณที่เห็น เพราะเหตุว่าเวทนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง

    ขณะนี้จักขุวิญญาณเกิดแล้วดับไป เห็นแล้วดับไปๆ ไม่ใช่มีแต่จักขุวิญญาณเกิด ต้องมีเวทนาเจตสิกเกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณจิตด้วย

    นี่เป็นการที่สติปัฏฐานสามารถระลึกรู้ลักษณะของเวทนา เพราะเหตุว่าเวทนาเกิดกับจิตทุกดวง

    7292 สติระลึกเวทนาที่เกิดกับจิตเห็น

    ผู้ฟัง ถ้าสติจะระลึกรู้ลักษณะของเวทนาที่เกิดพร้อมกับจิตเห็น จักขุวิญญาณก็ไม่ได้เกิดกับผู้ที่ได้ฌานสมาบัติ คือ สืบต่อกันเป็นลักษณะการเกิดดับๆ ก็จะต้องมีสัมปฏิจฉนะ โวฏฐัพพนจิต สันตีรณจิต ชวนจิต ตทาลัมพนจิต ภวังคจิต สลับกันไปอย่างนี้ตลอดใช่ไหม ที่นี้ลักษณะการระลึกรู้ลักษณะเวทนาในจักขุวิญญาณ ในจิตเห็นเท่านั้น ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ หรือสัมปฏิจฉนะก็ได้ เพราะเวลานี้ท่านผู้ฟังบางท่านก็ห่วงอยู่ประการหนึ่ง คือว่า ไม่ทัน ระลึกไม่ทัน มักจะใช้คำว่า ระลึกไม่ทัน ที่จริงแล้ว ไม่ทราบว่าท่านจะให้ทันจิตดวงไหน จึงกล่าวว่าระลึกไม่ทัน ระลึกไม่ทัน ที่ถูกแล้ว “หลงลืมสติ” คือ สติไม่ระลึก กับ “มีสติ” คือ สติเกิดขึ้นจึงระลึก แต่ไม่ใช่ว่าไม่ทันค่ะ เพราะไม่มีจุดประสงค์ที่จะให้ทันจิตดวงหนึ่งดวงใด เพราะเหตุว่าจิตเกิดดับอย่างเร็วมาก เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องทันจิตดวงไหน เพียงแต่ว่าขณะใดที่สภาพธรรมใดปรากฏให้สติระลึกรู้ได้ สติปัฏฐานจึงระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยที่ไม่ต้องห่วงว่า นี่เป็นจิตที่ดับไปแล้วๆ ๆ เพราะแม้จะคิดว่า จิตเกิดดับเร็วสักเท่าไร ก็ยังไม่ใช่สภาพการเกิดดับของจิตจริงๆ ซึ่งเร็วยิ่งกว่านั้น ในขณะนี้ที่ว่าเห็น จะเอาอะไรมาวัดว่า ดวงไหนดับไป ไม่มีใครสามารถจะกำหนดได้

    ผู้ฟัง ลักษณะของจิตที่เห็นนี้ เรามุ่งหมายเฉพาะจักขุวิญญาณจิตเท่านั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ มิได้ค่ะ วิถีจิตทั้งหมดขณะที่กำลังเห็น

    ผู้ฟัง แต่จิตที่ทำกิจเห็นจริงๆ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดทางจักขุทวารวิถีเช่นเดียวกัน แต่ว่าทำหน้าที่รับรูปารมณ์ รับสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา แต่ไม่ได้ทำหน้าที่เห็น สติที่จะระลึกรู้ลักษณะของเวทนาที่ประกอบในจิตเห็น ถ้าจะระลึกรู้ลักษณะของเวทนาที่ประกอบในสัมปฏิจฉันนจิต หรือจิตดวงอื่นๆ ที่นอกจากจักขุวิญญาณ อันนี้จะเป็นการระลึกถูกต้องหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ ไม่เป็นไร เพราะเหตุว่าสภาพธรรมกำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง อย่างนั้นก็ไม่ชื่อว่า ระลึกรู้ลักษณะของเวทนาที่ประกอบในจิตเห็น แต่ระลึกรู้ลักษณะของเวทนาที่กำลังปรากฏทางจักขุทวาร

    ท่านอาจารย์ ใช้คำว่า ทางตา หรือทางหู

    ผู้ฟัง แต่ถ้าบอกว่า ระลึกรู้เวทนาในจิตเห็น อันนี้ผมยังไม่เข้าใจ ถ้าพูดว่า ระลึกรู้ลักษณะของเวทนาที่กำลังปรากฏเกิดขึ้นทางจักขุทวาร

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นเหตุให้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระอภิธรรม เพื่อที่จะเกื้อกูลให้ผู้ที่ได้ฟังพระธรรมโดยย่อ โดยนัยของพระสูตร ได้เห็นความเป็นอนัตตาโดยละเอียด จากขั้นการฟังแล้วพิจารณาสำหรับเนยยบุคคล ซึ่งไม่สามารถจะประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมทันทีที่ได้ทรงแสดงธรรม

    เพราะเหตุว่าสำหรับท่านที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมว่า นามธรรมและรูปธรรมไม่เที่ยง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยนัยของพระสูตร ไม่มีคำว่า สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ หรือชวนะเลย แต่ว่าทรงแสดงให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และผู้นั้นสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน สำหรับผู้ที่เป็นอุคฆฏิตัญญูบุคคลและวิปัญจิตัญญูบุคคล แต่สำหรับผู้ที่เป็นเนยยบุคคล หรือปทปรมะ ที่จะสะสมปัจจัยไป ต้องแสดงโดยละเอียดจริงๆ เพื่อที่จะให้เข้าถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมว่า ในขณะที่เห็น ไม่ใช่มีเฉพาะจักขุวิญญาณ เพื่อที่จะได้รู้ว่า ความไม่เที่ยง ไม่เที่ยงโดยความมีสภาพธรรมอะไรเกิดสืบต่อในแต่ละทวาร โดยขั้นการฟัง แต่ว่าโดยขั้นที่จะระลึกรู้จริงๆ จะทรงแสดงให้ระลึกรู้อุเบกขาเวทนาที่เกิดกับสัมปฏิจฉันนะ ที่เกิดกับสันตีรณะไหม เพียงแต่ทรงแสดงว่า ให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา

    นี่ก็ต้องใช้เวลามากทีเดียวนะคะ สำหรับผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญาให้รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่นามธรรม คือ ไม่ใช่สภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา เพียงแค่นี้ค่ะ ไม่ต้องทรงแสดงถึงสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ หรืออะไรเลย เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องที่จะให้ประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏแต่ละทวารที่สามารถจะรู้ได้

    มิฉะนั้นแล้วจะไม่ทรงแสดงพระอภิธรรม แต่ที่ทรงแสดงสำหรับผู้ที่เป็นเนยยบุคคล หรือผู้ที่เป็นปทปรมะ เพื่อที่จะได้เกื้อกูลให้เห็นว่า สภาพธรรมทางตาซึ่งกำลังปรากฏไม่ใช่ขณะจิตเดียว แต่ว่ามีจิตหลายขณะ และประกอบด้วยเจตสิกหลายชนิดแต่ละขณะสืบต่อกัน แต่ถ้าใครสามารถจะรู้ชัดในความไม่ใช่ตัวตนของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา อันนั้นก็จะสามารถรู้ว่า สภาพรู้ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งเป็นรูปธรรม และลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก็จะปรากฏทางมโนทวารให้รู้ว่า ลักษณะที่เป็นธาตุรู้ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นรูปธรรม แต่ว่าไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อละเอียดเป็นสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ หรือชวนะ

    7293 ถ้าสติปัฏฐานไม่ระลึกรู้เวทนา ไม่มีทางละการยึดถือว่าเป็นตัวตนได้

    ยังมีอะไรสงสัยไหมคะในเรื่องของเวทนา

    เป็นสิ่งที่มีจริง แล้วก็ถ้าสติปัฏฐานไม่ระลึกรู้ ก็ไม่สามารถที่จะละการยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะเหตุว่าทุกคนเห็นความสำคัญของความรู้สึก แล้วก็ยึดมั่นในความรู้สึก ข้อความในมโนรถปุรนีอรรถกถา มีว่า

    ย่อมไม่มีบาปอกุศลธรรมใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าปราศจากเวทนา คือ ความรู้สึกดีใจ เสียใจ หรือเฉยๆ ในอารมณ์ที่ปรากฏ

    7294 ประโยชน์ของการศึกษาเพื่อเกื้อกูลให้สติเกิดระลึกรู้สภาพธรรม

    ไม่ทราบว่า วันนี้ท่านผู้ฟังมีข้อสงสัยอะไรบ้างหรือเปล่าคะ ได้เรียนให้ท่านผู้ฟังทราบแล้วว่า ประโยชน์ของการศึกษาธรรม เพื่อที่จะเกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะศึกษาธรรมข้อใดที่เป็นความละเอียดยิ่งขึ้น จุดประสงค์ก็เพื่อที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามที่ได้ศึกษา เช่น ความรู้สึกเป็นสภาพที่มีจริง ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งไม่ให้ความรู้สึกเกิดขึ้น แม้แต่ในขณะนี้ไม่ว่าจิตเกิดขึ้นขณะใด ก็จะต้องมีสภาพที่รู้สึกในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ในขณะนั้น ซึ่งในขณะนี้ความรู้สึกย่อมจะเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด คือ เป็นความรู้สึกเฉยๆ หรือเป็นความรู้สึกที่เป็นสุข ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ ความรู้สึกดีใจ ความรู้สึกเสียใจ ไม่ใช่เพียงเพื่อจะให้รู้จำนวน หรือว่ารู้เพียงชื่อ แต่เพื่อให้รู้ลักษณะของความรู้สึกที่กำลังมี ซึ่งถ้าสติไม่เกิด และไม่ระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึกที่กำลังมีในขณะนี้ แม้ความรู้สึกนั้นมีจริง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่เมื่อปัญญาไม่สามารถจะรู้ลักษณะของความรู้สึกได้ ก็ย่อมจะยึดถือความรู้สึกว่าเป็นเราที่เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ ดีใจ เสียใจ หรือเฉยๆ

    เพราะฉะนั้นตราบใดที่สติยังไม่ระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึก ย่อมไม่มีทางที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะเหตุว่าทุกคนยึดมั่นในความรู้สึก ความรู้สึกนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต เพราะว่าทุกคนต้องการมีความรู้สึกที่เป็นสุข ไม่มีใครต้องการความรู้สึกที่เป็นทุกข์

    เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะมีทางใดที่จะให้เกิดสุขเวทนา หรือโสมนัสเวทนา ก็ย่อมจะพยายามขวนขวายให้เกิดความรู้สึกนั้น โดยที่ไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นการติด ความพอใจ ความยึดมั่นในความรู้สึก ซึ่งเพียงเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป แต่ในเมื่อความรู้สึกเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทุกคนยึดถือ เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงเวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ ซึ่งเป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นธรรมที่ยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลประการสำคัญประการหนึ่ง มิฉะนั้นแล้วก็คงจะไม่แยกเวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์

    7295 เวทนามี ๔ ชาติ

    สำหรับการที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่เกิดขึ้นปรากฏได้ ก็จะต้องอาศัยการฟังเรื่องของสภาพธรรมนั้นให้ละเอียดยิ่งขึ้น และพร้อมกันนั้นก็พิจารณาพิสูจน์ธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวันด้วย ซึ่งก็ควรที่จะได้ทราบว่า สำหรับเวทนาเจตสิกซึ่งเป็นธรรมที่รู้สึกในอารมณ์นั้น มี ๔ ชาติ เช่นเดียวกับจิต คือ เวทนาที่เป็นกุศลก็มี เวทนาที่เป็นอกุศลก็มี เวทนาที่เป็นวิบากก็มี เวทนาที่เป็นกิริยาก็มี

    เวทนาเป็นสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เวทนาที่เป็นวิบากย่อมเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย สำหรับเวทนาที่ไม่ใช่วิบาก เช่น กุศล อกุศล หรือกิริยานั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย แต่ก็จะต้องเกิดเพราะปัจจัยอื่น เช่น ถ้าเป็นความรู้สึกซึ่งยินดี พอใจ ความรู้สึกในขณะนั้นย่อมเป็นโสมนัสเวทนา หรืออุเบกขาเวทนา จะเป็นโทมนัสเวทนาไม่ได้

    นี่เป็นเหตุที่สภาพธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นอนัตตา ย่อมเกิดร่วมกันตามเหตุตามปัจจัย

    7296 สุขเวทนา - ทุกขเวทนา เป็นเวทนาชาติวิบาก เป็นผลของกรรม

    สำหรับในเวทนา ๕ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ ซึ่งเป็นสภาพที่เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่ออารมณ์กระทบสัมผัสกาย ไม่เกี่ยวกับความดีใจหรือเสียใจ แต่เป็นความรู้สึกให้ขณะที่วิญญาณจิตเกิดขึ้นประจักษ์แจ้งในสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย โดยรู้สึกเป็นสุขอย่างหนึ่ง หรือว่ารู้สึกเป็นทุกข์อย่างหนึ่ง

    สำหรับสุขเวทนาก็ดี หรือทุกขเวทนาก็ดี เป็นเวทนาที่เป็นชาติวิบาก เป็นผลของกรรมซึ่งจะต้องรู้ด้วยว่า การที่กรรมให้ผล ให้ผลโดยการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา โดยได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู โดยได้กลิ่น สิ่งที่กระทบทางจมูก โดยลิ้มรส ซึ่งกระทบสัมผัสลิ้น และรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย วิญญาณจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นชาติวิบาก

    เพราะฉะนั้นเวลาที่เห็นจักขุวิญญาณเป็นวิบากจิต ฉันใด เวทนาที่เกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณก็เป็นวิบากเจตสิก ฉันนั้น เวทนาที่เกิดกับจักขุวิญญาณ เป็นอุเบกขาเวทนา ไม่ใช่สุขเวทนา หรือทุกขเวทนา

    เพราะฉะนั้นสำหรับเวทนาซึ่งเป็นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนา เกิดเฉพาะเวลาที่อารมณ์กระทบสัมผัสกาย แล้วกายวิญญาณซึ่งเป็นจิตดวงหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นรู้แจ้งอารมณ์ที่กระทบสัมผัส ถ้าอารมณ์ที่กระทบสัมผัสนั้นแข็งเกินไป ร้อนเกินไป เย็นเกินไป ขณะนั้นความรู้สึกเป็นทุกข์เกิดขึ้น ไม่มีใครที่จะสามารถจะเปลี่ยนแปลงให้เกิดความรู้สึกเป็นสุข เวลาที่สิ่งซึ่งเป็นอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ เกิดขึ้นกระทบกายปสาทที่กาย

    เพราะฉะนั้นเวทนาซึ่งเป็นชาติวิบาก ย่อมเป็นไปตามกรรม แล้วแต่ว่ากายจะกระทบสัมผัสสิ่งที่เป็นอิฏฐารมณ์ สุขเวทนาก็เกิด กายกระทบสัมผัสกับสิ่งที่เป็นอนิฏฐารมณ์ ทุกขเวทนาก็เกิด ซึ่งทุกท่านก็เคยมีทุกขเวทนา คงจะไม่มีใครบอกว่า ไม่เคยรู้ลักษณะของทุกขเวทนาที่กายเลย ใช่ไหมคะ เวลาที่ปวด เจ็บ เมื่อย เป็นไข้ ปวดศีรษะ ปวดท้อง ปวดฟัน ทั้งหมด สิ่งที่ปรากฏที่กายทั้งหมดเป็นทุกขเวทนา เวลาที่เป็นความรู้สึกเป็นทุกข์ และเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย

    เพราะฉะนั้นทุกขเวทนาเป็นชาติวิบาก ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งไม่ให้ทุกขเวทนาเกิด

    มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะในเรื่องนี้

    ต้องแยกนะคะ ทางกายและทางใจ ถ้าเป็นเรื่องที่กระทบสัมผัสกาย เวทนาจะเป็นสุขเวทนา ๑ หรือทุกขเวทนา ๑ ซึ่งเป็นชาติวิบาก ซึ่งเป็นผลของอดีตกรรม

    แต่เวลาที่รู้สึกเดือดร้อนใจ เป็นห่วง กังวล ไม่สบายใจ แต่กายไม่เดือดร้อน ไม่เป็นอะไร ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นทุกข์ ในขณะนั้นไม่ใช่ผลของอดีตกรรม แต่เป็นการสะสมอกุศลธรรมซึ่งสะสมทำให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจ ไม่แช่มชื่นเกิดขึ้น

    7297 โสมนัสเวทนา - อุเบกขาเวทนา เป็นเวทนาได้ทั้ง ๔ ชาติ

    แต่สำหรับเวทนาอื่น เช่น โสมนัสเวทนา หรืออุเบกขาเวทนาก็ดี เป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ เป็นวิบาก เป็นกิริยาก็ได้ นี่เป็นความต่างกัน แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    7298 เคยระลึกรู้ลักษณะของเวทนาบ้างหรือยัง

    เคยรู้สึกระลึกรู้ลักษณะของเวทนาบ้างหรือยังคะ เวทนากำลังเกิดขึ้น กำลังดับไป บางท่านอาจจะระลึกรู้ลักษณะของรูปที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย บางท่านอาจจะน้อมระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม ซึ่งเป็นสภาพรู้ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึก แต่นั่นไม่พอ อย่าลืมว่า สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏทั้ง ๕ ขันธ์ คือ ทั้งสภาพธรรมที่เป็นรูปขันธ์ สภาพธรรมที่เป็นเวทนาขันธ์ สภาพธรรมเป็นสัญญาขันธ์ สภาพธรรมที่เป็นสังขารขันธ์ และสภาพธรรมที่เป็นวิญญาณขันธ์

    ถ้าสติยังไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเหล่านี้จริงๆ ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้นกิเลสก็ไม่ใช่สิ่งที่จะดับได้โดยความรู้ไม่เกิดขึ้น หรือโดยสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจนทั่วจริงๆ

    7299 เวลาหลับมีความรู้สึกหรือไม่

    เวลาที่กำลังหลับมีความรู้สึกไหมคะ ธรรมนี้เป็นเรื่องน่าคิด น่าพิจารณา ไม่ว่าจะได้ฟังเรื่องของเวทนา ซึ่งเป็นความรู้สึก ยิ่งคิด ยิ่งพิจารณา ก็ยิ่งทำให้ธรรมแจ่มแจ้งชัดเจนขึ้น เพราะฉะนั้นก็น่าที่จะคิด น่าที่จะพิจารณาว่า ในขณะที่กำลังหลับ มีความรู้สึกไหม

    ค่ะ ต้องคิดดีๆ ใช่ไหมคะ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมมีปัจจัยก็เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป ไม่ใช่มีแต่จักขุวิญญาณซึ่งเห็น หรือโสตวิญญาณซึ่งได้ยิน หรือฆานวิญญาณซึ่งได้กลิ่น ชิวหาวิญญาณซึ่งลิ้มรส กายวิญญาณซึ่งรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือมโนวิญญาณที่กำลังคิดนึก ไม่ใช่มีแต่เพียงเท่านี้ค่ะ เพราะเหตุว่าแม้ในขณะที่นอนหลับสนิท ไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้เลย ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย ทางใจก็ไม่ได้คิดนึก ไม่ได้ฝัน แต่เมื่อยังไม่ใช่ผู้ที่สิ้นชีวิต หรือผู้ที่ตายไปแล้ว ก็ย่อมจะมีจิตเกิดดับ เป็นภวังคจิต ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นจนกว่าจะตื่นขึ้น แล้วก็มีการเห็นโลกนี้ใหม่ แล้วพอถึงเวลาก็หลับไปอีก ไม่รู้ในโลกนี้สักอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ที่เคยเห็น ที่เคยได้ยิน ที่เคยชอบ ที่เคยคิดถึง ที่เคยนึกถึง ในขณะที่นอนหลับสนิท หมด ไม่มีอารมณ์ใดๆ ปรากฏเลย แต่จิตเกิดขึ้นแล้วดับไป นามขันธ์ทั้ง ๔ คือ จิตและเจตสิกต้องเกิดร่วมกัน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 18
    16 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ