จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 026


    โลกุตตรจิตมี ๘ ดวง คือ โสตาปัตติมรรคจิตเป็นโลกุตตรกุศล สกทาคามิมรรคจิตเป็นโลกุตตรกุศล อนาคามิมรรคจิตเป็นเป็นโลกุตตรกุศล อรหัตตมรรคจิตเป็นโลกุตตรกุศล

    ส่วนวิบาก คือ ผลของกุศล เมื่อชื่อว่ากุศลแล้ว ย่อมเป็นปัจจัยให้ผลจิต หรือวิบากจิตเกิดขึ้น เพราะเหตุว่ากุศลเป็นเหตุ สำหรับกิริยาจิตและวิบากจิตเท่านั้นที่จะไม่เป็นเหตุให้เกิดวิบาก แต่สำหรับธรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศลแล้วเป็นเหตุ

    เพราะฉะนั้นโสตาปัตติมรรคจิตเป็นโลกุตตรกุศล ก็เป็นปัจจัยให้โลกุตตรวิบากจิต คือ โสตาปัตติผลจิตเกิดต่อทันที ไม่มีระหว่างคั่น กุศลอื่นทั้งหมดไม่สามารถที่จะให้ผลทันทีสืบต่อจากกุศลจิตได้ แต่ว่าสำหรับโลกุตตรกุศลแล้ว ไม่มีธรรมอื่นมาคั่นระหว่างกุศลจิตและวิบากจิต

    เพราะฉะนั้นทันทีที่โสตาปัตติมรรคจิตดับ โสตาปัตติมรรคจิตเป็นโลกุตตรกุศลดับ โสตาปัตติผลจิตซึ่งเป็นโลกุตตรวิบากจิตเกิดต่อทันที เวลาที่สกทาคามิมรรคจิตซึ่งเป็นโลกุตตรกุศลดับ สกทาคามิผลจิตซึ่งเป็นโลกุตตรวิบากจิตเกิดต่อทันที เวลาที่อนาคามิมรรคจิตซึ่งเป็นโลกุตตรกุศลดับ อนาคามิผลจิตซึ่งเป็นโลกุตตรวิบากจิตเกิดต่อทันที เวลาที่อรหัตมรรคจิตดับลง อรหัตมรรคจิตเป็นโลกุตตรกุศลดับลง อรหัตผลจิตเป็นวิบากจิตเกิดต่อทันที

    7272 ผลของโลกุตตรกุศลทั้ง ๔ ไม่ทำปฏิสนธิกิจ

    เพราะฉะนั้นผลของโลกุตตรกุศลจิตทั้ง ๔ ไม่ได้กระทำปฏิสนธิกิจ ไม่เหมือนกับวิบากของกุศลและอกุศลทั้งหลาย เพราะเหตุว่าเวลาที่โลกุตตรกุศลดับ โลกุตตรวิบากจิตเกิดขึ้น มีนิพพานเป็นอารมณ์ต่อจากโลกุตตรกุศลทันที แล้วก็ไม่ได้กระทำกิจปฏิสนธิ พระโสดาบันบุคคลยังเกิดอีก ๗ ชาติ แต่ปฏิสนธิจิตของพระโสดาบันไม่ใช่โสตาปัตติผลจิตทำกิจปฏิสนธิ แล้วแต่ว่าพระโสดาบันบุคคลนั้นจะเกิดในภูมิใด ในสวรรค์ชั้นใด หรือว่าในพรหมภูมิใด กามาวจรวิบาก หรือรูปาวจรวิบาก หรืออรูปาวจรวิบาก ก็จะทำกิจปฏิสนธิในภูมินั้นๆ

    7273 ภูมิ หมายถึง ระดับขั้นของจิต หรือ หมายถึง โอกาสโลก

    เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้ทราบว่า คำว่า ภูมิ มี ๒ ความหมาย คือ ความหมายหนึ่ง หมายถึง ระดับขั้นของจิต ซึ่งมีอยู่ ๔ ภูมิ คือ เป็นกามาวจรจิต ๑ เป็นรูปาวจรจิต ๑ เป็นอรูปาวจรจิต ๑ เป็นโลกุตตรจิต ๑

    และความหมายของภูมิอีกนัยหนึ่ง หมายความถึง โอกาสโลก คือ เป็นสถานที่เกิดของจิต หรือว่าเป็นสถานที่เกิด เพราะว่ามีอยู่ภูมิหนึ่งซึ่งจิตไม่เกิด มีแต่รูปเท่านั้นที่เกิด เป็นรูปปฏิสนธิ

    เพราะฉะนั้นคำว่า ภูมิ เป็นโอกาสโลก เป็นสถานที่เกิดของนามธรรมและรูปธรรม รวมทั้งหมดมี ๓๑ ภูมิ ตามระดับขั้นของจิต คือ เป็นภูมิที่เกิดของกามาวจรจิต ๑๑ ภูมิ ซึ่งได้แก่ ทุคติภูมิ หรืออบายภูมิ ๔ และสุคติภูมิ ๗ ซึ่งเป็นมนุษย์ ๑ ภูมิ และสวรรค์ ๖ ภูมิ

    นอกจากนั้นยังมีรูปพรหมภูมิ ๑๖ ภูมิ สำหรับผู้ที่ได้รูปฌานจิต และยังมีอรูปพรหมภูมิ ๔ ภูมิ สำหรับผู้ที่ได้อรูปฌานจิต

    รวมโอกาสโลก ซึ่งเป็นที่เกิดของนามธรรมและรูปธรรมทั้งหมด ๓๑ ภูมิ คือ ๓๑ ขั้น แต่ว่าจะเป็นสถานที่เกิดจริงๆ มีมากกว่านั้น เพราะแม้แต่ในภูมิของมนุษย์ ก็ไม่ได้มีแต่โลกนี้โลกเดียว ยังมีโลกมนุษย์อื่นๆ อีกด้วย

    7274 โลกียจิตเป็นปัจจัยให้โลกุตตรจิตเกิดต่อได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะในเรื่องของภูมิ

    ถาม อาจารย์ครับ โปรดอธิบายตอนนี้ให้ผมเข้าใจสักหน่อย เพื่อจะได้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนผู้มาฟังทั้งหลาย โลกียจิตที่จะหมดจะสิ้นสุด แล้วจะเข้าถึงโลกุตตรผลจิต จะเกิดติดต่อกันโดยอย่างไร

    ท่านอาจารย์ โดยปัจจัยค่ะ

    ผู้ฟัง โดยปัจจัยอย่างไร พูดยาวๆ หน่อยครับ พูดสั้นๆ ก็เข้าใจยาก

    ท่านอาจารย์ เหมือนอย่างทางตา จักขุวิญญาณ คือ สภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือพูดง่ายๆ ว่าเห็น จิตที่เห็นเกิดที่จักขุปสาท แล้วก็ดับที่จักขุปสาท เป็นปัจจัยให้สัมปฏิจฉันจิตเกิดที่หทยวัตถุ แต่รู้รูปารมณ์ที่ปรากฏทางจักขุปสาทต่อ โดยความเป็นปัจจัย แต่ที่เกิดนี้ก็ห่างกันแล้วใช่ไหมคะ จิตดวงหนึ่งเกิดที่จักขุปสาท ดับที่จักขุปสาท เป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดที่หทยรูป หทยวัตถุ แต่ว่ารู้อารมณ์เดียวกัน คือ รู้อารมณ์ทางจักขุทวาร

    เพราะฉะนั้นเวลาที่บุคคลใดก็ตามอบรมเจริญปัญญา รู้ความเกิดดับของสภาพธรรมจนกระทั่งปัญญาคมกล้าที่จะละคลายความติดในการเห็นสภาพธรรมเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เวลาที่มรรควิถีจิตจะเกิด มหากุศลจิตซึ่งมีไตรลักษณ์ลักษณะหนึ่งลักษณะใดของลักษณะ ๓ เป็นอารมณ์ ที่เป็นอนิจฺจํ หรือทุกฺขํ หรืออนตฺตา ในขณะนั้นดับไป จิตต่อไปเป็นโคตรภูจิต หมายความว่าข้ามจากความเป็นปุถุชนสู่การที่จะเป็นพระอริยเจ้า เมื่อโคตรภูจิตดับ เพราะเหตุว่าโคตรภูจิตนี้มีนิพพานเป็นอารมณ์จริง แต่ยังไม่ได้ดับกิเลส ตามปัจจัย

    ถ้าไม่มีมหากุศลเกิดก่อน ที่จะมีไตรลักษณ์ลักษณะใดลักษณะหนึ่งเป็นอารมณ์ โคตรภูจิตก็เกิดมีนิพพานเป็นอารมณ์ไม่ได้ ถ้าโคตรภูจิตยังไม่มีนิพพานเป็นอารมณ์ โลกุตตรมรรคจิตจะเกิดขึ้นดับกิเลสก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้นจิตแต่ละดวงที่เกิดสืบต่อกัน ก็มีปัจจัยที่จะให้จิตประเภทนั้นๆ เกิดขึ้นสืบต่อกัน ถ้าไม่มีการอบรมเจริญสติปัฏฐานเลย จะประจักษ์ความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาของสภาพธรรมก็ไม่ได้

    ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นก็ต้องเจริญสติปัฏฐานจึงจะรู้ได้

    ท่านอาจารย์ มีหนทางเดียวค่ะ ไม่มีหนทางอื่นเลย สภาพธรรมกำลังปรากฏ ถ้าระลึกไม่ได้ ที่จะพิจารณาที่จะศึกษาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ไม่มีการที่จะประจักษ์แจ้งในธาตุรู้ซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็ว หรือในรูปที่ปรากฏซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็ว ในรูปขณะต่างๆ เป็นนามธรรมขณะต่างๆ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เกิดดับสืบต่อกันตามเหตุตามปัจจัย

    เวลาที่ยังไม่ถึงเรื่องของโลกุตตรจิตก็เข้าใจยาก แต่ก็ให้ทราบว่า โลกุตตรจิตเกิดเพราะเหตุปัจจัย สืบเนื่องมาจากการอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    7275 รู้ทั่วถึงธรรมของพระพุทธเจ้าได้อย่างไร

    ถาม ผมอยากจะเรียนถามอาจารย์ต่อไป ในครั้งพุทธกาล มีคนหลายคนที่เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้ว ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะรู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคได้อย่างไร

    ทีนี้ผมอยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ผู้ที่จะรู้ธรรมทั่วถึง ธรรมทั่วถึงของพระผู้มีพระภาคหมายถึงธรรมอะไรครับ

    ท่านอาจารย์ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่าอย่างไรคะ เมื่อมีผู้ไปทูลถาม

    ผู้ฟัง อันนี้ผมก็ไม่ได้จำมา

    ท่านอาจารย์ จำแต่คำถามหรือคะ ซึ่งคำตอบก็ต้องมีประโยชน์มาก รู้ทั่วถึงธรรม ธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง บางทีพระผู้มีพระภาคก็ตรัสให้รู้ขันธ์ ๕ บ้าง บางทีพระผู้มีพระภาคก็ตรัสให้รู้อริยสัจ ๔ บ้าง บางทีก็ตรัสให้รู้ปรมัตถธรรมทั้ง ๔ บ้าง ผมคิดว่าถ้ารู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคแล้ว ก็หมายถึงรู้ปรมัตถธรรมทั้ง ๔ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าเพียงแต่ได้ยินคำว่า “ขันธ์ ๕” ก็คงจะไม่ทราบว่า ให้รู้ทั่วถึงอะไร เพราะว่ายังไม่รู้จักว่าขันธ์ ๕ คืออะไร

    เพราะฉะนั้นธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นขันธ์ ๕ เมื่อประจักษ์ว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนี้ไม่เที่ยง เกิดขึ้นและดับไป สิ่งที่เกิดขึ้นและดับไปแล้วนั้น เป็นอดีต สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นปัจจุบัน และสิ่งที่จะเกิดต่อ ซึ่งจะต้องมีแน่นอน หลังจากที่ขณะหนึ่งดับไปแล้ว ขณะต่อไปก็เกิดต่อ ขณะนั้นเป็นอนาคต

    แล้วลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏต่างกันไปแต่ละขณะ แม้แต่ความรู้สึก บางครั้งก็รู้สึกดีใจ บางครั้งก็รู้สึกเสียใจ บางครั้งก็รู้สึกเฉยๆ ในขณะที่กำลังดีใจ ไม่ใช่ในขณะเดียวกับที่เสียใจ เพราะฉะนั้นก็เป็นต่างขณะ สภาพธรรมที่เป็นสภาพที่ดีใจ ต้องดับเสียก่อน แล้วก็มีปัจจัยให้เกิดสภาพธรรมที่เสียใจ หรือว่าสภาพธรรมที่เฉยๆ เพราะฉะนั้นการเกิดขึ้นและดับไป ปรากฏลักษณะที่ต่างกันเป็นสภาพที่เป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นอนาคต เป็นสภาพที่หยาบ เป็นสภาพที่ละเอียด เป็นสภาพที่เลว เป็นสภาพที่ประณีต เป็นสภาพที่ไกล เป็นสภาพที่ใกล้

    เพราะฉะนั้นขันธ์ ๕ ไม่ใช่ขณะอื่น เป็นขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏขณะนี้

    7276 ขันธ์ ๕ - ปรมัตถธรรม เหมือนกันแต่รู้ไม่ง่ายทั้งสอง

    ผู้ฟัง เรื่องให้รู้ขันธ์ ๕ บางคนก็คิดว่า พอจะรู้ได้ แต่ทีนี้ถ้าให้รู้ปรมัตถธรรมทั้ง ๔ บางคนก็คิดว่าปรมัตถธรรมนี้รู้ยาก แต่แท้ที่จริงแล้ว ขันธ์ ๕ กับปรมัตถธรรมก็อันเดียวกัน ปรมัตถธรรมมี ๔ พระผู้มีพระภาคก็เลยจัดใหม่ เรียกขึ้นมาอีกชื่อหนึ่งว่า ขันธ์ ๕ จัดรูปทั้งหมดเป็น รูปขันธ์ เวทนาทั้งหมด เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาทั้งหมด เป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกที่เหลืออีก ๕๐ เป็นสังขารขันธ์ จิตทั้งหมดจัดเป็นวิญญาณขันธ์ นิพพานจัดเป็นขันธวิมุติ

    เพราะฉะนั้นถ้าจะให้ผู้ปฏิบัติธรรมให้รู้ปรมัตถธรรม ๔ ผู้ปฏิบัติก็จะรู้ยาก ถ้าให้รู้ขันธ์ ๕ ก็คิดว่า พอที่จะรู้ได้ เพราะฉะนั้นให้รู้ขันธ์ ๕ หรือให้รู้ปรมัตถธรรม ๔ นี้ เหมือนกันไหมครับ

    ท่านอาจารย์ เหมือนกันค่ะ แต่ไม่ง่ายทั้ง ๒ เพราะเหตุว่าขณะที่กำลังเห็นนะคะ เป็นปรมัตถธรรมหรือยัง ที่กำลังปรากฏ ถ้าเห็นไม่ใช่ปรมัตถธรรม เพราะในขณะที่กำลังเห็นเป็นปรมัตถธรรมหรือยัง ที่กำลังปรากฏ ถ้าเห็นไม่ใช่ปรมัตถธรรม เพราะเห็นเป็นสัตว์ บุคคล เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ไม่ใช่เพียงเป็นสิ่งที่เพียงปรากฏทางตา ขณะนั้นไม่ใช่รู้ปรมัตถธรรม

    หรือในขณะที่กำลังเห็น ซึ่งทุกท่านกำลังเห็นอยู่ในขณะนี้ ถ้าสติไม่ระลึกได้ และปัญญาไม่เริ่มน้อมที่จะพิจารณารู้ว่า ขณะที่เห็นเป็นเพียงชั่วขณะหนึ่งในชีวิต ชั่วขณะได้ยินก็เป็นอีกขณะหนึ่งในชีวิต เป็นเพียงแต่ละขณะในสังสารวัฏ ถ้าไม่รู้ว่าในขณะที่กำลังเห็น เป็นเพียงสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ในขณะที่เสียงปรากฏ ก็มีธาตุรู้เสียง เป็นสภาพรู้เสียง เป็นปรมัตถธรรม คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้านามธรรมที่ได้ยินเสียงยังไม่ปรากฏ ก็เป็นแต่เพียงธาตุรู้ อาการรู้ หรือสภาพรู้ ก็ไม่ใช่ว่าปรมัตถธรรม ๔ จะรู้ได้ง่าย

    ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยนัยของปรมัตถธรรม ๔ หรือขันธ์ ๕ หรืออริยสัจธรรม ๔ ก็ตาม หรือว่าโดยนัยอื่นๆ ก็ไม่ใช่เป็นสภาพธรรมที่รู้ง่าย เพราะเหตุว่าต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญา ที่จะประจักษ์ลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ของสภาพธรรมที่ปรากฏ เป็นประจำวันทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ไม่ใช่ว่าพอเปลี่ยนชื่อ แล้วจะรู้ได้ง่ายขึ้นนะคะ ไม่ใช่ว่าพอพูดว่า ปรมัตถธรรม ๔ จะรู้ง่ายกว่าขันธ์ ๕ หรือว่ารู้ง่ายกว่าอริยสัจ ๔

    7277 ผู้ที่จะบรรลุเป็นพระอริยบุคคลต้องรู้ปรมัตถธรรมทั้งหมดหรือไม่

    ผู้ฟัง ผู้ที่จะบรรลุเป็นพระอริยบุคคลทั้งหลาย จะต้องรู้ปรมัตถธรรมทั้งหมดหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ตามความสามารถ แต่ว่าจะหมดความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่มีความสงสัยในลักษณะว่า นามธรรมนี้เป็นเรา หรือเป็นตัวตน หรือเป็นสัตว์ หรือเป็นบุคคล หรือนามธรรมนั้นเป็นของเรา หรือเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล หรือรูปธรรมนี้เป็นเรา หรือเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    7278 ถึงสติปัฏฐานไม่เกิด แต่ก็ต้องมีสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ผมก็ยังคิดว่า ปรมัตถธรรมทั้ง ๔ ประการ ในชาตินี้คงจะรู้ไม่ทั่วแน่ เพราะว่าผมอบรมเจริญสติปัฏฐานมาเป็นตั้งสิบๆ ปีแล้ว ธรรมต่างๆ ที่ปรากฏได้ก็แค่ศึกษาปรมัตถ์เท่านั้น

    ท่านอาจารย์ อะไรบ้างคะ

    ผู้ฟัง ก็มีสี เสียง กลิ่น รส ผัสสะ พอเห็นบ้าง ลักษณะของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นี้พอมีปรากฏบ้าง ลักษณะของสติ ลักษณะของเวทนา ลักษณะของปัญญา ลักษณะเหล่านี้เคยปรากฏ ธรรมอื่นๆ เช่นปสาทรูป ๕ วิบากจิตทั้ง ๑๘ ไม่เคยปรากฏเลย ในเมื่อธรรมทั้งหลายที่ไม่เคยปรากฏ ก็หมดโอกาสที่จะรู้

    เพราะฉะนั้นเมื่อธรรมทั้งหลายไม่เคยปรากฏ เราก็รู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นคิดว่าชาตินี้รู้ทั่วถึงธรรมของปรมัตถธรรมทั้ง ๔ ยังไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เวลาที่สติปัฏฐานไม่เกิด สีสันวรรณะปรากฏหรือเปล่าคะ

    ผู้ฟัง ไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มองเห็นอะไรหรือเปล่าคะ

    ผู้ฟัง เห็นครับ

    ท่านอาจารย์ สีสันวรรณะหรือเปล่า สิ่งที่ปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง ไม่เป็นฮะ

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็น แล้วเป็นอะไรล่ะคะ

    ผู้ฟัง เป็นวัตถุ เป็นสิ่งของ เป็นบุคคล

    ท่านอาจารย์ ก่อนที่จะเป็นวัตถุสิ่งของทั้งหลายในขณะที่เห็น เห็นอะไร ไม่ใช่ว่าคนที่สติปัฏฐานไม่เกิด จะไม่มีสีสันวรรณะปรากฏทางตาเลย เป็นไปได้อย่างไรคะ ที่รูปารมณ์หรือวัณโณ หรือสีสันวรรณะต่างๆ ที่ปรากฏในขณะที่ลืมตา จะไม่ปรากฏถ้าสติไม่เกิด

    ถึงแม้ว่าสติปัฏฐานไม่เกิด ก็มีการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ถึงแม้ว่าสติปัฏฐานไม่เกิด เสียงก็ปรากฏ ไม่ใช่ว่าเสียงจะไม่ปรากฏเลย สำหรับผู้ที่สติปัฏฐานไม่เกิด เสียงก็ยังปรากฏ แต่ไม่รู้ ไม่รู้ในลักษณะสภาพที่แท้จริงของเสียง เช่นเดียวกับไม่รู้ลักษณะสภาพที่แท้จริงของสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่ว่ารูปต่างๆ นี้ จะไม่ปรากฏ สี รูปารมณ์ปรากฏทางตา สัททะ คือ เสียง สัททารมณ์ ปรากฏทางหู กลิ่นต่างๆ ปรากฏทางจมูก รสต่างๆ ปรากฏทางลิ้น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง กำลังปรากฏอยู่เสมอ แต่ปัญญาและสติไม่ได้เกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน โดยการประจักษ์แจ้ง

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดซึ่งเป็นวิสยรูป หรือว่าเป็นโคจรรูป สภาพธรรมที่ปรากฏเป็นอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เป็นของจริง เป็นสัจธรรม เป็นอริยสัจจะ เป็นขันธ์ ๕ เป็นปรมัตถธรรม แต่ว่าปัญญายังไม่ได้รู้จริงๆ ว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้นเป็นสัจธรรม เป็นขันธ์ ๕ เป็นปรมัตถธรรม เพียงแต่รู้โดยศึกษา เข้าใจได้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เสียงที่ปรากฏทางหู นี่เป็นการรู้ขั้นศึกษา

    เพราะฉะนั้นการที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมอื่นที่ยังไม่ปรากฏ แต่จะต้องเริ่มด้วยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ จนกว่าสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมจะปรากฏโดยความขาดตอน ซึ่งจะไม่ประชุมรวมกันเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุ เป็นโลกซึ่งกำลังปรากฏรวมกันทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    7279 การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องรู้เพื่อละความไม่รู้

    การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องรู้เพื่อละความไม่รู้ Pause 02:32 Rewind 10s 00:08 03:39 Mute
    ดาวน์โหลด MP3 3.35 MB

    เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน อย่าลืมว่า เป็นเรื่องรู้ ซึ่งละความไม่รู้ เพราะฉะนั้นเมื่อรู้แล้วหรือความรู้เกิดขึ้น จะค่อยๆ ละความไม่รู้ แต่ไม่ใช่ที่จะต้องการรู้อย่างอื่น ถ้าขณะใดเกิดความต้องการที่จะรู้รูปอื่นที่ไม่ปรากฏ เช่น จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป หทยรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต และรูปอื่นๆ เช่น ชีวิตินทรียรูป อาโปธาตุ อิตถีภาวรูป หรือปุริสภาวรูป การที่จะรู้ลักษณะของรูปเหล่านั้น ไม่ใช่จะรู้ได้โดยความอยาก เพียงแต่ว่าปัญญาของบุคคลใดจะประจักษ์ในลักษณะของรูปใด หรือว่ารูปใดจะปรากฏ ในขณะที่ปัญญาถึงความสมบูรณ์พร้อมที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของรูป โดยไม่ใช่ว่าจะเลือกนะคะ ในขณะนี้เอง อิตถีภาวรูปก็มี ปุริสภาวรูปก็มี อาโปธาตุก็มี ชีวิตินทรียรูปก็มี หทยวัตถุก็มี แต่เวลาที่วิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้น เพราะได้มีเหตุปัจจัยสมบูรณ์พร้อมที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แล้วแต่ว่ารูปหนึ่งรูปใด กี่รูปจะปรากฏแก่บุคคลแต่ละคน ตามการสะสมที่ต่างกัน แต่จะไม่มีวันที่จะปรากฏ เพราะความต้องการอยากจะรู้รูปหนึ่งรูปใด

    อบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ ความรู้ค่อยๆ เพิ่มขึ้น แล้วก็ละคลายความสงสัย ความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมชนิดหนึ่งชนิดใดก็ได้ ที่กำลังปรากฏ โดยไม่เลือก โดยไม่มีความเป็นตัวตนที่อยากจะรู้รูปนั้น หรืออยากจะรู้นามนี้ และเวลาที่ปัญญาถึงความสมบูรณ์พร้อม ไม่มีใครสามารถที่จะกั้นนามธรรมและรูปธรรมประเภทต่างๆ ซึ่งจะปรากฏในลักษณะความไม่ใช่ตัวตน สำหรับแต่ละบุคคลตามการสะสม

    แต่อย่าลืมนะคะ ขณะใดที่อยาก ขณะนั้นสติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขันธ์หนึ่งขันธ์ใด โดยความเป็นขันธ์ โดยความเป็นปรมัตถ์ คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีวันที่จะประจักษ์ได้ โดยความอยาก หรือโดยความต้องการ แต่เพราะอบรมเจริญปัญญาแล้วละ เมื่อละ สภาพธรรมก็จะค่อยๆ ปรากฏเพิ่มขึ้น แจ่มแจ้งขึ้น ละเอียดขึ้น ชัดเจนขึ้น จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์พร้อมที่เป็นวิปัสสนาญาณ ที่จะประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมประเภทที่ปรากฏทางมโนทวาร

    เพราะเหตุว่าทางมโนทวารจะแยกขาดลักษณะของสภาพธรรมซึ่งกำลังปรากฏสืบต่อกันทั้ง ๖ ทวารออก เป็นแต่ละลักษณะโดยชัดเจน

    7280 ต้องได้วิปัสสนาญานขั้นไหน รูปต่างๆ จึงจะปรากฏ

    ถาม รูปต่างๆ ที่อาจารย์กล่าวเมื่อกี้นี้ ปสาทรูป ๕ ภาวรูป ๒ หรืออาโปธาตุต่างๆ เหล่านี้ จะต้องได้วิปัสสนาญาณขั้นไหน รูปต่างๆ เหล่านี้จึงจะปรากฏ

    ท่านอาจารย์ อย่าลืมนะคะว่า ขณะนี้รูปใดกำลังปรากฏ อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏ เพื่อละความต้องการ แล้วเวลาที่ปัญญาถึงความสมบูรณ์พร้อมที่จะเป็นวิปัสสนาญาณ ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่า สำหรับบุคคลไหน รูปธรรมไหนจะปรากฏ หรือว่านามธรรมไหนจะปรากฏ ตามระดับขั้นของการอบรมปัญญาของแต่ละท่าน มิฉะนั้นก็ย่อมจะไม่มีพระอัครสาวก ซึ่งเป็นผู้ที่อบรมบารมีมากกว่าพระมหาสาวก แล้วย่อมจะไม่มีพระมหาสาวกที่อบรมบารมีแสนกัป มากกว่าพระสาวก

    ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมโดยตลอด โดยละเอียดเท่าๆ กันทุกคน แต่ว่าสภาพธรรมใดจะเกิดปรากฏแก่บุคคลใด บุคคลนั้นประจักษ์แจ้งแล้วละ ไม่ใช่จะอยากรู้ขึ้น แต่เมื่อประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมใด ก็ละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แล้วยังไม่พอนะคะ เพราะวิปัสสนาญาณไม่ได้มีแต่เพียงขั้นเดียว เพียงชั่วระยะที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏบางส่วนบางนาม บางรูป ชั่วขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณ และหลังจากนั้นก็มีปัจจัยที่จะให้อวิชชาเกิดขึ้น อกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่ได้ดับไป ก็เกิดขึ้น ปิดบังลักษณะของสภาพธรรม ไม่ให้ประจักษ์แจ้งที่เป็นวิปัสสนาญาณได้ ตลอดติดต่อกันไป จนถึงความเป็นพระอรหันต์ สำหรับผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ที่สามารถบรรลุคุณธรรมจากพระโสดาบัน ถึงความเป็นพระอรหันต์

    แล้วยิ่งถ้าเป็นเนยยบุคคล ซึ่งเป็นทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา คือ ผู้ที่ปฏิบัติลำบาก แล้วก็รู้ช้า ซึ่งควรที่จะเป็นบุคคลในยุคนี้ ไม่ใช่ในยุคนี้จะเป็นสมัยของอุคฆฏิตัญญูบุคคล หรือวิปัญจิตัญญูบุคคล ซึ่งเป็นผู้ที่ตรัสรู้โดยเร็ว โดยง่าย แต่ต้องเป็นผู้ที่ฟังแล้วฟังอีก พิจารณาแล้วพิจารณาอีก สติอบรมเกิดแล้วเกิดอีก นานแสนนาน อย่าหวังหรือว่าอย่ารอ เพราะเหตุว่ายิ่งหวังยิ่งรอ ซึ่งจะเป็นเครื่องกั้นไม่ให้ประจักษ์รู้ลักษณะของสภาพธรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 18
    16 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ