จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 007


    ถ้าเป็นทางตา ก็เป็นจักขุทวารวิถีจิต ถ้าเป็นทางหู ก็เป็นโสตทวารวิถีจิต ถ้าเป็นทางจมูก ก็เป็นฆานทวารวิถีจิต ถ้าเป็นทางลิ้น ก็เป็นชิวหาทวารวิถีจิต ถ้าเป็นทางกาย ก็เป็นกายทวารวิถีจิต จิตดวงนี้สามารถกระทำกิจทางทวารทั้ง ๕ จึงชื่อว่า “ปัญจทวาราวัชชนจิต”

    6870 มโนทวาราวัชชนจิต

    สำหรับทางใจ ก่อนที่กุศลจิตหรืออกุศลจิตจะเกิด คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ก็จะต้องมีอาวัชชนจิต คือ การรำพึงหรือนึกถึงเรื่องนั้น ซึ่งเป็นจิตดวงหนึ่งที่กระทำกิจนึกถึงเรื่องทางใจ จิตนี้ชื่อว่า “มโนทวาราวัชชนจิต”

    เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า วิถีจิตที่ทำอาวัชชนกิจ มี ๒ ดวง คือ จิตที่กระทำอาวัชชนกิจทางปัญจทวาร ๑ ดวง ชื่อว่า “ปัญจทวาราวัชชนจิต” เกิดขึ้นกระทำกิจคิดถึงอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย จิตดวงนี้ไม่กระทำกิจทางมโนทวาร แต่เวลาที่มีการคิดนึก ก็จะต้องมีจิตที่ทำอาวัชชนกิจเกิดก่อน คิดถึงเรื่องนั้นก่อนที่จะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต จิตดวงนั้นที่กระทำกิจอาวัชชนะทางมโนทวาร มีดวงเดียว จึงชื่อว่า “มโนทวาราวัชชนจิต

    เพราะฉะนั้นจิตที่กระทำกิจ “อาวัชชนะ” ๖ ทวาร มี ๒ ดวง คือ ดวงหนึ่งกระทำอาวัชชนกิจทางทวารทั้ง ๕ ชื่อว่า “ปัญจทวาราวัชชนจิต” อีกดวงหนึ่งทำอาวัชชนกิจทางมโนทวารทวารเดียว จึงชื่อว่า “มโนทวาราวัชชนจิต

    6871 ขณะนี้มีปัญจทวาราวัชชนจิตกับมโนทวาราวัชชนจิตหรือไม่

    ขณะนี้มีไหมคะ ปัญจทวาราวัชชนจิต มี ถ้าไม่มีก็ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ขณะนี้มีปัญจทวาราวัชชนจิตไหมคะ มี ทุกครั้งที่จะคิดถึงเรื่องต่างๆ ทางใจ “มโนทวาราวัชชนจิต” เกิดก่อนวิถีจิตอื่น

    6872 พระอรหันต์มีภวังคจิตหรือไม่

    ถาม อย่างพระอรหันต์ มีภวังคจิตหรือเปล่าครับ

    ท่านอาจารย์ มีค่ะ

    ผู้ฟัง อย่างจุติจิตดับ ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อทันที ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีค่ะ สำหรับพระอรหันต์ มิฉะนั้นก็ไม่ต่างกับบุคคลอื่น

    ผู้ฟัง พูดถึงมนุษย์ปุถุชนธรรมดา ถ้าจุติดับแล้วปฏิสนธิทันที สัญญา ความจำ น่าจะจำได้บ้างว่า เกิดเป็นอะไร ในภพภูมิที่แล้วมาเกิดเป็นอะไร

    ท่านอาจารย์ ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นขณะเดียว แล้วก็กระทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แล้วจะจำอะไร

    ผู้ฟัง แล้วอย่างที่มีข่าวว่า บางคนอาจจะระลึกชาติได้ จะเป็นไปได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ บางคน ใครรู้

    ผู้ฟัง ที่มีข่าวมา ก็น่าสงสัย

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นข่าว ความจริงก็เป็นความจริง ผลทั้งหลายย่อมมาจากเหตุ ถ้าเหตุถูกต้อง ผลที่ถูกต้องก็เกิดขึ้น ถ้าเหตุผิดคลาดเคลื่อน จะเป็นผลที่ถูกต้องไม่ได้

    ท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่เชื่อง่ายหรือเชื่อยาก ถ้าใครบอกว่า เขาระลึกชาติได้ เชื่อไหมคะ ถ้าใครบอกว่า เขาเป็นพระอรหันต์ เชื่อไหมคะ ทำไมถึงจะเชื่อง่ายๆ ล่ะคะ ต้องพิจารณาถึงเหตุเสียก่อนว่า เหตุนั้นสมควรจะให้ผลอย่างนั้นเกิดขึ้นได้หรือเปล่า ถ้าเขาว่า เขาว่า เขาว่า ก็จะไปบังคับให้เขาว่าอย่างอื่นไม่ได้ เขาจะว่าอย่างไร เขาก็จะว่าอย่างนั้น ก็เป็นเรื่องของเขา แต่ว่าเรื่องของท่านผู้ฟัง เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณา และเป็นผู้ที่หนักแน่นในเหตุผลจริงๆ

    6873 วิถีจิตที่ ๒ ทางปัญจทวารวิถี

    ขอกล่าวถึงวิถีจิต ท่านผู้ฟังจะทราบว่า ทั้งหมดมี ๗ ประเภท “ปัญจทวาราวัชชนจิต” และ “มโนทวาราวัชชนจิต” กระทำอาวัชชนกิจ เพราะฉะนั้นเป็น อาวัชชนจิต ๑ เป็นวิถีจิตแรก

    สำหรับทางปัญจทวาร คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ขณะนี้เอง ทุกครั้งที่ศึกษาธรรมให้ทราบว่า เป็นเรื่องของขณะนี้ เป็นสภาพของจิตในขณะนี้เอง ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นปัจจัยทำให้ ถ้าเป็นสีสันวัณณะกระทบจักขุปสาท “จักขุวิญญาณ” เกิดขึ้น กระทำ “ทัสสนกิจ” คือ เห็น ถ้าเป็นเสียงกระทบกับโสตปสาท เป็นปัจจัยให้ “โสตวิญญาณ” เกิดขึ้นกระทำ “สวนกิจ” คือ ได้ยิน ถ้าเป็นกลิ่นกระทบกับฆานปสาท เป็นปัจจัยให้ “ฆานวิญญาณ” เกิดขึ้นกระทำ “ฆายนกิจ คือ ได้กลิ่น รู้แจ้งในกลิ่นที่กำลังปรากฏ ถ้าเป็นทางลิ้น รสกระทบกับชิวหาปสาท ก็เป็นปัจจัยให้ “ชิวหาวิญญาณ” เกิดขึ้นกระทำ “สายนกิจ” คือ ลิ้มรส ที่รสต่างๆ ปรากฏ เพราะมีสภาพที่ลิ้มรสนั้นๆ รสนั้นๆ จึงปรากฏ ถ้าเป็นทางกาย เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวที่กำลังปรากฏกระทบกับกายปสาท เป็นปัจจัยให้ “กายวิญญาณ” เกิดขึ้นกระทำ “ผุสสนกิจ” คือ รู้อารมณ์ที่กระทบทางกาย

    นี่เป็นวิถีจิตที่ ๒ ต่อจากอาวัชชนกิจ ถ้าเป็นทางปัญจทวารวิถี ก็จะต้องเกิดขึ้นตามลำดับ คือ เมื่ออาวัชชนจิตดับไป จิตดวงต่อไปก็กระทำกิจต่างๆ ทางทวารต่างๆ แล้วแต่ว่าจะเป็นจิตเห็น กระทำทัสสนกิจ จิตได้ยิน กระทำสวนกิจ จิตได้กลิ่น กระทำฆายนกิจ จิตลิ้มรส ทำสายนกิจ ถ้าเป็นจิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย กระทำผุสสนกิจ แล้วก็ดับไปชั่วขณะเดียวเท่านั้นเอง ที่ปรากฏในขณะนี้ ดูเหมือนไม่ดับเลย ให้ทราบว่า ขณะเห็นจริงๆ ที่เป็นจิตที่กระทำทัสสนกิจนี้ชั่วขณะเดียวเท่านั้น ไม่นานเลย

    เพราะฉะนั้นในระหว่างที่ดูเสมือนว่า การเห็นนี้ไม่ดับ มีจิตเกิดคั่นในระหว่างจิตเห็นดวงหนึ่งกับอีกดวงหนึ่งหลายขณะทีเดียว นี่เป็นการเกิดดับอย่างรวดเร็วของจิต

    เพราะฉะนั้นกว่าจะสะสางความเห็นผิด ซึ่งไม่เคยประจักษ์เลยว่า นามธรรมและรูปธรรมเกิดดับ จะต้องใช้เวลาอบรมเจริญปัญญานานหรือไม่นาน แล้วต้องรู้ความจริงอย่างนี้ ที่จะประจักษ์แจ้งจริงๆ ว่า ไม่ใช่เรา เป็นสภาพรู้แต่ละลักษณะซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    นี่คือการอบรมเจริญปัญญาที่จะถึงความเป็นพระอริยบุคคล ไม่ใช่ไปนั่งๆ แล้วไม่รู้อะไร แต่เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ในชีวิตปกติประจำวัน

    6874 สัญญาที่เกิดกับปฏิสนธิจิตทำหน้าที่จำอะไร

    ถาม สัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง เมื่อกี้อาจารย์กล่าวถึงว่า ในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดนั้นก็ไม่ได้มีการเห็น หรือได้ยิน หรือได้กลิ่น หรือลิ้มรส หรือกระทบสัมผัสทางกาย ที่จะต้องจำอะไร อยากเรียนถามว่า สัญญาที่เกิดกับปฏิสนธิจิตนั้น จะทำหน้าที่อะไร

    ท่านอาจารย์ จำอารมณ์ของปฏิสนธิจิต เพราะจิตเกิดขึ้นจะต้องรู้อารมณ์

    ผู้ฟัง อารมณ์ของปฏิสนธิจิตจะเป็นอะไร สัญญาก็จำอันนั้น ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ สัญญาเจตสิกเกิดพร้อมกับจิตใด ก็จำอารมณ์ที่จิตนั้นกำลังรู้ จะไปจำอารมณ์อื่นของจิตอื่นไม่ได้ สัญญาเจตสิกเกิดพร้อมกับจิตใด ก็จำอารมณ์ของจิตนั้น

    6875 ปฏิสนธิจิตมีอารมณ์อะไร

    อยากจะถามไหมคะว่า ปฏิสนธิจิตมีอารมณ์อะไร ถึงแม้ว่าจะไม่มีใครรู้ได้ เพราะปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นขณะเดียว แล้วก็ดับไป แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงว่า ปฏิสนธิจิตมีอารมณ์เดียวกับจิตก่อนจุติของชาติก่อน

    ปฏิสนธิจิตของชาตินี้มีอารมณ์เดียวกับอารมณ์ก่อนจุติของชาติก่อน

    6876 ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใด เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานได้ทั้งสิ้น

    ถาม ที่อาจารย์บอกว่า เป็นมหากิริยาจิต แต่เป็นโลกียะ ทำไมพระอรหันต์จึง ...

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ได้กล่าวถึง กำลังกล่าวถึงวิถีจิต เพื่อที่จะให้รู้ว่า การสั่งสมสันดานตนที่เป็นกุศลจิต อกุศลจิต และมหากิริยาฝ่ายโลกียจิตคืออะไร แต่ว่าการศึกษาธรรม ต้องให้เข้าใจจริงๆ ให้เป็นประโยชน์เกื้อกูล ให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใด ก็เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานได้ทั้งสิ้น ถ้าเข้าใจ

    เพราะฉะนั้นขณะนี้ที่เห็น ไม่ใช่ว่าให้ท่านผู้ฟังไปแยกว่า ก่อนที่จะมีการเห็นดวงต่อไปเกิดขึ้น มีจิตอะไรเกิดขึ้นบ้าง โดยการประจักษ์แจ้ง เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่เพื่อที่จะให้เห็นสภาพธรรมว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน อย่างไร ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงประจักษ์แจ้งและทรงแสดง เพื่อเป็นหนทางให้สติเริ่มระลึกที่จะรู้ลักษณะของจิตเห็นว่า ต่างกับจิตที่ได้ยินเสียก่อน ต่างกับจิตที่กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังกระทบสัมผัส กำลังคิดนึก ให้สติและปัญญาเกิดขึ้นเป็นขั้นๆ เพื่อที่จะได้รู้ลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นขั้นๆ ยังไม่ใช่ขั้นที่จะไปประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปก่อน เพราะเหตุว่าถ้ายังไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จะประจักษ์การเกิดดับไม่ได้ แต่ว่าการเข้าใจโดยละเอียด ก็จะเป็นปัจจัยที่สะสม ทำให้มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ต่างกันตามที่ได้ยิน ได้ฟัง จนกว่าปัญญาจะศึกษาพิจารณาและรู้ชัดขึ้น

    6877 อาวัชชนวิถี - วิญญาณวิถี

    ควรระลึกเสมอว่าการศึกษาให้เข้าใจเรื่องจิต เจตสิก รูปนั้น ก็เพื่อ อบรมเจริญสติปัฏฐาน รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูป ที่เกิดขึ้นปรากฏแต่ละขณะตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อนจากที่ พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง ถ้าศึกษาเข้าใจอย่างหนึ่ง แต่ปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ไม่รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมตามความ เป็นจริงตามที่ได้ศึกษา ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้

    6878 สัมปฏิจฉันนวิถี - สันตีรณวิถี - โวฏฐัพพนวิถี

    เมื่อวิญญาณวิถีจิตดับไปแล้ว จิตดวงต่อไปก็เป็นวิถีจิตที่กระทำ “สัมปฏิจฉันนะกิจ” คือ รับอารมณ์นั้นต่อจากวิญญาณวิถีจิต ถ้าไม่รับ จะไม่รู้เลยว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร แต่สิ่งที่ก็เห็นก็ยังปรากฏ ก็เพราะมีจิตนี้ เพราะถึงแม้ว่าเห็นดับไป ได้ยินดับไป ก็ยังมีสัมปฏิจฉันนะจิต เป็นวิถีจิตที่เกิดต่อจากวิญญาณวิถี กระทำ “สัมปฏิจฉนกิจ” รับอารมณ์นั้นต่อ ชั่วขณะเดียว แล้วก็ดับไป เป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น เป็นวิถีจิตที่ ๔ กระทำ “สันตีรณกิจ พิจารณาอารมณ์อย่างรวดเร็ว ตามอายุของจิต จิตเกิดขึ้นและดับไปเร็วเพียงใด สันตีรณจิตก็เกิดขึ้นกระทำสันตีรณกิจรวดเร็วเพียงนั้น

    วิถีที่ ๑ คืออะไรคะ ขอทวน

    วิถีที่ ๑ คือ อาวัชชนวิถี วิถีที่ ๒ คือ วิญญาณวิถี วิถีที่ ๓ คือ สัมปฏิจฉันนะวิถี วิถีที่ ๔ คือ สันตีรณวิถี วิถีที่ ๕ คือ โวฏฐัพพนวิถี ทางปัญจทวาร

    6879 โวฎฑัพพนจิตกระทำทางให้กุศลจิตหรืออกุศลจิตรึกิริยาจิตเกิด

    ทางปัญจทวารกับมโนทวารนี้แยกกัน ถ้าทางปัญจทวารแล้ว โวฏฐัพพนจิต คือ จิตที่กระทำกิจนี้ พิจารณาอารมณ์ที่ปรากฏทางตา หลังจากจิตเห็นดับไป สัมปฏิจฉนจิตดับไป สันตีรณจิตดับไป โวฏฐัพพนจิตก็เกิด กระทำกิจตัดสินอารมณ์ เพื่อที่กุศลจิตหรืออกุศลจิตสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่มีกุศลจิตและอกุศลจิต เพราะฉะนั้นมหากิริยาจิตจะเกิดต่อ

    โวฏฐัพพนจิตเกิดต่อจากสันตีรณจิต กระทำกิจตัดสินสำหรับกุศลหรืออกุศลที่จะเกิดต่อ เกิดขึ้นกระทำกิจก่อนกุศลและอกุศลค่ะ

    จิตที่เกิดขึ้นในขณะนั้นกระทำกิจนั้นก่อนกุศลจิตและอกุศลจิตเกิด

    แสดงให้เห็นว่า กุศลจิตก็ไม่ได้เกิดตามความพอใจของตนว่า อยากจะเกิด หรือว่าอกุศลจิตก็สามารถจะเกิดได้ว่า อยากจะเกิดเป็นอกุศลเดี๋ยวนี้ก็เกิด ไม่ใช่อย่างนั้นเลย เหมือนอย่างชีวิตตามความเป็นจริงของท่านผู้ฟังว่า ทุกท่านอยากจะให้กุศลจิตเกิด แต่ทำไมอกุศลจิตเกิดบ่อยกว่ากุศลจิต เพราะโวฏฐัพพนจิตกระทำกิจนั้น แล้วก็มนสิการให้จิตต่อไปเป็นอกุศล ทั้งๆ ที่ไม่อยากให้อกุศลเกิดเลย แต่ก็เป็นอนัตตา เพราะเหตุว่าจิตที่กระทำโวฏฐัพพนกิจเป็นอโยนิโสมนสิการ จิตขณะต่อไปจึงเป็นอกุศล แล้วจะเป็นโยนิโสหรืออโยนิโสมนสิการ เป็นอนัตตาอีกเหมือนกัน ไม่มีใครสามารถไปจัดแจงให้โวฏฐัพพนะเป็นโยนิโสมนสิการได้

    6880 ชวนวิถี

    สำหรับจิตที่เกิดต่อจากโวฏฐัพพนจิต กระทำ “ชวนกิจ” ที่ท่านผู้ฟังได้ยินคำว่า “ชวนวิถี” สั่งสมสันดานตน

    ข้อที่ว่า ในคำว่า “จิตฺตํ” นี้ กุศลจิตฝ่ายโลกีย์ อกุศลจิต และมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า จิต เพราะสั่งสมสันดานของตน ด้วยสามารถแห่งชวนวิถี

    หลังจากโวฏฐัพพนวิถีจิตดับไปแล้ว จิตที่เกิดต่อเป็น “ชวนวิถี” ซึ่งจะกระทำการสั่งสมสันดาน เวลาที่เป็น “ชวนจิต”

    เวลาเห็นที่เป็นจักขุวิญญาณ กระทำ “ทัสสนกิจ” ไม่ได้สั่งสมสันดาน เป็นวิบากจิตซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมซึ่งพร้อมด้วยปัจจัยที่จะให้ผลเกิดขึ้น ก็ทำให้จิตเห็นเกิดขึ้นชั่วขณะหนึ่ง ทำให้สัมปฏิจฉนะเกิดต่อ ทำให้สันตีรณะเกิดต่อ นั่นเป็นผลของกรรมหนึ่ง ที่ทำให้เห็นรูปๆ หนึ่ง แต่เวลาที่โวฏฐัพพนจิตดับไปแล้ว จิตต่อไปกระทำ “ชวนกิจ”

    เพราะฉะนั้น เป็น “ชวนวิถี” ๗ ขณะ ที่สั่งสมสันดานตนนี้ เพราะว่าเกิดซ้ำถึง ๗ ครั้ง ตอนนี้ที่ทำชวนกิจเป็นกุศลหรืออกุศล สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์ ไม่มีกุศลจิตและอกุศลจิต เพราะฉะนั้นก็เป็นมหากิริยาจิตที่กระทำชวนกิจ ที่เป็น “ชวนวิถี”

    ๖ วิถีแล้วค่ะ มีเพียง ๗ อย่าลืม เดี๋ยวนี้ก็ถึงวิถีที่ ๖ แล้ว แต่วิถีที่ ๖ นี้ เป็นวิถีที่จะสั่งสมสันดานตน เพราะกระทำกิจซ้ำ เกิดซ้ำๆ กัน ๗ ครั้ง ขณะเห็นขณะเดียว ถ้ามีความยินดีในสิ่งที่เห็น อกุศลจิตที่เป็นโลภมูลจิตเกิด ๗ เท่าของจิตเห็นขณะเดียว นี่คือการสะสมอกุศล ซึ่งทุกคนกำลังเป็นตามความเป็นจริงอยู่ในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นจะดับกิเลสนี้ง่ายไหมคะ โดยไม่รู้อะไรเลย โดยที่ทั้งอวิชชาก็สะสมไว้ ๗ เท่าๆ ของการเห็นครั้งหนึ่ง โลภะก็สะสมไว้ ๗ เท่าๆ ของการเห็นครั้งหนึ่ง แล้วถ้าเป็นโทสมูลจิตก็สะสม ๗ เท่าๆ ของการเห็น หรือการได้ยินครั้งหนึ่งๆ แล้วก็หวังว่า เมื่อไรจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ทำไมถึงไม่คิดถึงเหตุตามความเป็นจริงที่ได้สั่งสมมาในสังสารวัฏว่า จะต้องเป็นปัญญาที่รู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    6881 ขณะใดที่สติระลึก ขณะนั้นกำลังดำเนินหนทางที่จะรู้แจ้งที่จะดับกิเลส

    กำลังฟังเรื่องของจิต ถ้าขณะใดที่สติระลึก ขณะนั้นกำลังดำเนินหนทางที่จะทำให้รู้แจ้ง ที่จะดับกิเลส เพราะเหตุว่าขณะใดที่สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นถึงแม้ว่าเป็นกุศล ก็ไม่ใช่หนทางที่จะดับกิเลส ซึ่งข้อความในอัฏฐสาลินี มีว่า

    อกุศลและกุศลที่ไม่ใช่มรรค ชื่อว่า “อาจยคามี” เพราะอรรถว่า ไปก่อธรรมที่เป็นไป เหมือนช่างอิฐก่อกำแพง ฉะนั้น

    อิฐทีละแผ่นที่ซ้อนทับถมกันจนกระทั่งเป็นกำแพง เพราะฉะนั้นเวลาที่ไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นกุศล อกุศลใดๆ ก็สร้างภพชาติ เหมือนกับช่างอิฐที่ก่อกำแพง แต่ขณะใดที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นเป็นมรรค เป็นอปจยคามี เพราะอรรถว่า ไม่ไปก่อธรรมที่เป็นไปนั้นนั่นแหละ เหมือนบุรุษรื้ออิฐที่ช่างอิฐนั้นก่อทับกันไว้ ฉะนั้น

    กำลังรื้ออิฐ หรือว่ากำลังก่ออิฐคะ ทั้งรื้อ ทั้งก่อ

    ครบหรือยังคะ วิถีจิต ๗ วิถี ยังใช่ไหมคะ ขณะนี้เป็นวิถีที่เท่าไรคะ ๖

    ขณะนี้ท่านผู้ฟังก็จะทราบได้ว่า การสั่งสมสันดาน เป็นในขณะไหนคะ อาวัชชนจิต สั่งสมสันดานไม่ได้ วิญญาณจิต สั่งสมสันดานไม่ได้ สัมปฏิจฉนวีถีจิต สั่งสมสันดานไม่ได้ สันตีรณวิถีจิต สั่งสมสันดานไม่ได้ โวฏฐัพพนวิถีจิต สั่งสมสันดานไม่ได้ แต่จิตต่อจากโวฏฐัพพนวิถีจิต สั่งสมสันดาน เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าเกิดซ้ำ ๗ ขณะ ในขณะปกติ ถ้าเป็นในขณะสลบ จะเกิดซ้ำ ๖ ขณะ ถ้าเป็นในขณะที่จะจุติจะเกิดซ้ำ ๕ ขณะ เพราะเหตุว่ากำลังอ่อนลง เพราะว่ากำลังจะจุติ แต่ในยามปกติขณะนี้ ชวนวิถีจะเกิดซ้ำ ๗ ครั้ง มากกว่าวิถีอื่นๆ ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นจึงสั่งสมสันดานของตน

    6882 ยาแก้ยาพิษคือการเจริญสติปัฏฐานเท่านั้น

    เวลาที่เห็น แล้วเกิดโลภะ ยินดี พอใจ ในอารมณ์ คือ รูปารมณ์ที่กำลังปรากฏ ดูเหมือนไม่เป็นโทษ ใช่ไหมคะ เป็นแต่เพียงพอใจธรรมดาๆ แต่ให้รู้ว่าในขณะนั้นเป็นธรรมที่เป็นโทษ เป็นธรรมที่ให้ผลเป็นทุกข์ แต่ค่อยๆ สะสมทุกข์ขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่ว่าปรากฏความเป็นทุกข์ขึ้นทันที ถ้ามีความพอใจเพียงเล็กน้อย ไม่เหมือนกับขณะที่เกิดความพอใจมาก ถึงขั้นที่เป็นนิวรณธรรมกลุ้มรุมในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการคิด ก็คิดแต่ในสิ่งที่พอใจอย่างแรง ลักษณะอาการของความหนัก ความที่เป็นอกุศล ความกระสับกระส่าย ความไม่สงบก็ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ลืมตามานี่ ชวนวิถี สั่งสมสันดานที่เป็นกุศลหรืออกุศล ใครจะตอบได้คะ

    ตั้งแต่ลืมตาขึ้นมาตรงต่อความเป็นจริง อกุศลมากไหมคะ แล้วจะทำอย่างไรดี ทุกท่านกำลังกินยาพิษ เพราะฉะนั้นก็แสวงหายาที่จะรักษายาพิษ ถ้ารู้ ถ้าไม่รู้ ก็ยังคงกินยาพิษ สะสมยาพิษ ซึ่งเวลาที่ให้ผลก็จะให้ผลเป็นโทษภัย ทีละเล็กทีละน้อยไปเรื่อยๆ แต่เมื่อรู้ว่าเป็นยาพิษ ก็แสวงหายาซึ่งจะรักษายาพิษ ซึ่งมีชนิดเดียว คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐานเท่านั้น

    น่าหนักอกหนักใจหรือเปล่าคะ แต่ว่าถ้ารู้ก็ดีกว่าไม่รู้ใช่ไหมคะ นี่คือสภาพธรรมตามความเป็นจริงค่ะ เพื่อที่จะได้เป็นผู้ไม่ประมาท และเห็นโทษของอกุศลว่า ขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่มีหนทางที่จะพ้นจากการสะสมของอกุศล เพราะเหตุว่ากุศลอื่นๆ ก็เกิดน้อย แต่ถ้าอบรมเจริญสติปัฏฐาน สติปัฏฐานก็สามารถที่จะเกิดแทนอกุศล เพราะโวฏฐัพพนวิถีจิตโยนิโสมนสิการแล้วมหากุศลก็เกิด พร้อมด้วยสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    6883 กุศลเกิดที่ชวนวิถีจำนวนเท่ากันกับอกุศลหรือเปล่า

    ท่านผู้ฟังถามว่า กุศลจิตได้จำนวนเท่ากันหรือเปล่า จิตที่ทำชวนกิจ ที่เป็นชวนวิถี สั่งสมสันดาน แล้วแต่ว่าจะเป็นอกุศลก็สั่งสมโดยการเกิดซ้ำ ๗ ครั้ง ถ้าเป็นกุศลก็สั่งสมโดยการเกิดซ้ำ ๗ ครั้ง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 18
    15 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ