จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 042


    ให้ทราบลักษณะของจักขุ ซึ่งมีอยู่เป็นประจำในวันหนึ่งๆ ว่า นี่เป็นอาการของจักขุ

    7553 หูเปรียบเหมือนจระเข้

    “หู” เปรียบเสมือน “จระเข้” แม้จระเข้ออกไปข้างนอก ย่อมไม่เห็นสิ่งที่จะงับ มันย่อมหลับตาไปอย่างเดียว แต่เมื่อลงน้ำไปสัก ๑๐๐ วา เข้าสู่โพรงนอน จิตก็ย่อมสงบ หลับสบาย แม้ “โสต” นี้ก็เหมือนกันเช่นนั้น พอใจสิ่งที่เป็นโพรง อิงอาศัยอากาศ ชอบใจอยู่ในสิ่งซึ่งเป็นช่อง คือ รูหูทีเดียว อากาศในรูหูย่อมเป็นปัจจัยในการได้ยินเสียงของโสตนั้น แม้อัชฎากาศ คือ อากาศโล่งตลอด ก็ควรเป็นปัจจัยเหมือนกัน ด้วยว่าเมื่อบุคคลกระทำการสวดภายในถ้ำ เสียงก็หาพังฝาถ้ำออกไปข้างนอกไม่ แต่ย่อมออกไปทางช่องประตูและหน้าต่าง เมื่อกระทบกันโดยสืบๆ กันแห่งธาตุ ย่อมไปกระทบโสตปสาท ถ้าว่าในเวลานั้นคนที่นั่งอยู่บนหลังถ้ำ ย่อมรู้ว่า คนชื่อโน้นสวด

    นี่ก็เป็นการที่จะให้รู้ลักษณะของทวารแต่ละทวารว่า ปกติในชีวิตประจำวันที่มีการได้ยินเสียง จะต้องอาศัยอากาศ

    7554 จมูก ลิ้น และกายเปรียบเหมือน นก สุนัขบ้าน และสุนัขจิ้งจอก

    “จมูก” เปรียบเหมือน “นก” แม้นกก็ไม่ยินดีอยู่บนต้นไม้ หรือบนพื้นดิน แต่เมื่อโผบินขึ้นสู่อากาศโล่ง เลยไปสักชั่วหนึ่งหรือสองระยะขว้างก่อนดิน ก็ย่อมถึงความเป็นผู้มีจิตแน่วแน่ แม้ “ฆานะ” คือ จมูก ก็เปรียบเหมือนเช่นนั้น พอใจอากาศ มีกลิ่นซึ่งต้องอาศัยลม เป็นอารมณ์ ดังจะเห็นได้เช่นเดียวกับโค เมื่อฝนตกใหม่ๆ ก็ดมแล้วดมเล่าที่แผ่นดิน แล้วก็เบิ่งหน้าหาอากาศ หันหาลม แล้วเวลาที่คนเราแม้เอานิ้วมือจับชิ้นแห่งสิ่งที่มีกลิ่น แล้วสูดดม ไม่หันมาทางลม ก็หารู้กลิ่นของสิ่งนั้นไม่

    นี่ก็เป็นการแสดงให้รู้ว่า สำหรับทางจมูกก็ย่อมจะพอใจที่จะดมกลิ่น ซึ่งอาศัยมากับอากาศและลม

    สำหรับ “ลิ้น” ก็เปรียบเหมือน “สุนัขบ้าน” “กาย” ก็เปรียบเหมือน “สุนัขจิ้งจอก”

    7555 ทางที่จะทำให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางทวาร ๖ เป็นรูป ๕ เป็นนาม ๑

    ซึ่งสำหรับในตอนต้นก็คิดว่าจะไม่กล่าวถึงเรื่องของทวารทั้ง ๖ โดยละเอียด เพียงแต่ให้ทราบว่า ที่โลกกำลังปรากฏเป็นโลก ก็เพราะมีทวาร ทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ซึ่งได้แก่ทวาร ๖ เป็นรูป ๕ ทวาร และเป็นนาม คือ จิต ๑ ทวาร

    7576 ทบทวน ที่ชื่อว่า จิต ในลักษณะ ๕ ประการ

    ขอทวนอธิบายคำว่า “จิต” ในจิตตุปปาทกัณฑ์ในธัมมสังคิณีปกรณ์ ซึ่งมีข้อความว่า

    ที่ชื่อว่า “จิต” เพราะอรรถว่า

    ๑. ลักษณะที่หนึ่ง คือ ที่ชื่อว่า “จิต” เพราะอรรถว่า “คิด” อธิบายว่า รู้แจ้งอารมณ์

    ๒. อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่ศัพท์ว่า “จิตตํ” นี้ ทั่วไปแก่จิตทุกดวง ฉะนั้น ในคำว่า “จิตฺตํ” นี้ กุศลจิตฝ่ายโลกีย์ อกุศลจิตและมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า “จิต” เพราะสั่งสมสันดานของตน ด้วยสามารถแห่งชวนวิถี

    อรรถที่ ๒ คือ ที่ชื่อว่า “จิต” เพราะสั่งสมสันดานของตน ด้วยสามารถแห่งชวนวิถี

    ๓. ชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติอันกรรม กิเลส สั่งสมวิบาก

    ๔. “จิต” แม้ทุกดวง ชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร

    ๕. คือ ชื่อว่า “จิต” เพราะกระทำให้วิจิตร

    7577 ชื่อว่า จิต เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรโดยนัยของทวาร

    ซึ่งจะขอกล่าวถึงอรรถที่ ๔ คือ จิตแม้ทุกดวงชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร ที่ได้กล่าวถึงแล้ว โดยนัยของชาติ โดยนัยของภูมิ โดยนัยของเหตุ โดยนัยของโสภณ อโสณ โดยนัยของอสังขาริก สสังขาริก โดยนัยของโลกียะ โลกุตระ โดยนัยของทวาร

    การที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของจิตโดยนัยของทวาร ทรงแสดงให้ทราบว่า ทางตา มีจิตเกิดขึ้นกี่ประเภท ทางหู มีจิตเกิดขึ้นกี่ประเภท ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยนัยเดียวกัน เพราะว่าจิตบางดวงเกิดได้เฉพาะอาศัยจักขุปสาท แต่ว่าจะอาศัยโสตปสาทเกิดขึ้นไม่ได้

    เช่น “จิตเห็น” ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า “จักขุวิญญาณ” สภาพที่รู้แจ้งทางตา เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ จะไม่อาศัยเกิดทางโสตทวาร หรือว่าฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร มโนทวาร หรือจิตที่กำลังได้ยินเสียง “โสตวิญญาณ” ก็จะเกิดโดยอาศัยโสตปสาทรูป เป็นโสตทวารเท่านั้น จะไม่อาศัยตา หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย หรือใจ

    เพราะฉะนั้นเมื่อทรงจำแนกจิตโดยทวาร ก็ได้ทรงแสดงว่า จิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยจักขุทวารมีกี่ดวง คือ มีกี่ประเภท และจิตที่อาศัยโสตทวารมีกี่ประเภท จิตที่อาศัยฆานทวารมีกี่ประเภท จิตที่อาศัยชิวหาทวารมีกี่ประเภท จิตที่อาศัยกายทวารมีกี่ประเภท จิตที่อาศัยมโนทวารมีกี่ประเภท

    นอกจากนั้นก็ยังได้ทรงแสดงว่า จิตประเภทใดสามารถที่จะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ได้เพียงทวารเดียว และจิตประเภทใดสามารถที่จะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ได้ ๕ ทวาร คือ ทีละทวาร และจิตประเภทใดสามารถที่จะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๖ ทวาร ทีละทวาร และจิตประเภทใดสามารถที่จะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ได้โดยไม่อาศัยทวารเลย

    7578 ผู้ที่มีจักขุทิพย์ โสตทิพย์ จะเห็น จะได้ยินทางไหน

    ถาม ที่อาจารย์ว่า จิตเกิดทางทวารต่างๆ และรู้อารมณ์ทางทวารต่างๆ แต่ผู้ที่ได้อภิญญาจิต เขาได้ยินเสียงทางหู ได้ยินเสียงทิพย์ หรือเสียงไกลๆ หรือเห็นจุติ ปฏิสนธิของสัตว์จากทางจักขุทวาร หรือทวารไหนกันแน่

    ท่านอาจารย์ ทางมโนทวาร แต่ต้องอาศัยจักขุ ถ้าเป็นจักขุทิพย์

    ผู้ถาม ขณะที่เห็นภาพที่ปรากฏ เช่น การจุติของสัตว์ จะเห็นทางจักขุปสาท หรือเห็นทางไหน ทางใดทางหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ เห็นทางมโนทวาร แต่ถ้าเป็นจักขุทิพต้องอาศัยจักขุปสาท

    ผู้ถาม จักขุทิพ อาศัยจักขุปสาท แต่อาศัยมโนทวาร

    ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ เพราะเหตุว่าทางมโนทวารรับอารมณ์ต่อจากทางจักขุทวาร

    ขณะนี้ที่กำลังเห็น จิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางจักขุทวาร ดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดต่อ แล้วจิตเกิดขึ้นรับรู้สิ่งที่ปรากฏต่อทางมโนทวาร ขณะนี้ต้องมี ๒ ทวาร ไม่ว่าจะมีการเห็นขณะใด จักขุทวารวิถีจิตดับไปหมดแล้ว มโนทวารวิถีจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อ ถ้าเป็นทางหู โสตทวารวิถีจิตเกิดขึ้นได้ยินเสียง ดับไปแล้ว มโนทวารวิถีจิตเกิดต่อรู้เสียงที่ดับไปต่อ ฉันใด จักขุทิพก็เช่นเดียวกัน ต้องมีจักขุปสาทเกิดขึ้น แต่จิตที่รู้รูปทิพนั้น รู้ทางมโนทวารซึ่งเกิดสืบต่อจากทางจักขุทวาร

    ผู้ถาม ผู้ที่ได้จักขุทิพ เห็นของไกลๆ ก็เหมือนกับแว่นขยาย หรือกล้องขยายให้เห็นทางใกล้ๆ หรือลักษณะของจักขุปสาท เขามีการรับกระทบเหมือนแว่นขยาย มีกำลังเป็นพิเศษกว่าคนธรรมดา

    ท่านอาจารย์ ต้องอาศัย อาโลก คือ แสงสว่าง เพราะฉะนั้นต้องอาศัยอาโลกกสิณ ถ้าจะเจริญฌานโดยพรหมวิหาร ๔ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ไม่สามารถที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดจักขุทิพได้

    ผู้ถาม อันนี้ผมสงสัยอยู่ที่ว่า เมื่อเขาไม่ปรารถนาจะให้จักขุทิพเกิด ก็คงจะเหมือนกับเราธรรมดา แต่ขณะที่เขาปรารถนาที่จะเห็นของที่ไกล ผิดกับคนธรรมดาที่ไม่สามารถจะมองเห็นได้ คิดเอาเองนะ จักขุปสาทคงเหมือนกับแว่นขยาย นี่คิดเอาเองสามารถจะดึงภาพมาใกล้ๆ ได้

    ท่านอาจารย์ ข้อความในพระไตรปิฎกไม่ได้แสดงไว้ว่าโดยในลักษณะของแว่นขาย แต่ว่าแสดงไว้โดยลักษณะของฌาน กำลังของจิตซึ่งละเอียดในขณะนั้น และอาศัยอาโลกกสิณ เพราะเหตุว่ากสิณมี ๑๐ ปฐวีกสิณ ไม่เป็นปัจจัยหรือเป็นเหตุที่จะให้เกิดจักขุทิพ เตโชกสิณ ก็ไม่เป็นเหตุ ไม่เป็นปัจจัย หรือเป็นเหตุที่จะให้เกิดจักขุทิพ เตโชกสิณ ก็ไม่เป็นเหตุไม่เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดจักขุทิพ แต่ว่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะให้กระทำอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้ เช่น ทำให้เกิดไฟได้ แต่สำหรับจักขุทิพต้องอาศัยอาโลกกสิณ แสงสว่าง

    7579 จักขุทิพย์ เห็นจุติ ปฏิสนธิของสัตว์ได้อย่างไร

    ผู้ถาม ยังสงสัยอีกข้อหนึ่ง คือ ผู้ที่ได้จักขุทิพ สามารถที่จะเห็นการจุติและปฏิสนธิของสัตว์ว่า ไปเกิดในภูมิที่ดี หรือไม่ดี คือ ตามที่ได้ศึกษามาแล้ว สัตว์นั้น เมื่อจุติหรือตายลงไปนั้นจะไปเกิดที่ไหน จะรู้ได้อย่างไรด้วยความรวดเร็วถึงเช่นนั้น จิตที่จะไปปฏิสนธิ ไปเกิดรูปใหม่ คิดเอาเองว่า จะต้องมากกว่าจักขุทิพ จะมีอีกแขนงหนึ่ง หรือเกิดปนกันไปกับจักขุทิพ

    ท่านอาจารย์ อจินไตย ๔ นะคะ ฌานวิสัยรวมอยู่ด้วย น่าสงสัยจริงๆ แล้วจะไม่หายสงสัย จนกว่าจะอบรมเจริญจนถึงขั้นนั้นได้ มิฉะนั้นแล้วจะไม่ทรงแสดงว่า ในอจินไตย ๔ มี พุทธวิสัย ฌานวิสัย วิบากแห่งกรรม และความคิดเรื่องโลก

    ควรคิดไหม ถ้าเป็นอจินไตย แต่ว่าศึกษาได้ตามที่ทรงแสดงว่า อะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ที่จะให้เกิดจักขุทิพ ในกสิณ ๑๐ ต้องอาศัยปัจจัยที่เหมาะสมที่สมควร เพราะเหตุว่าทางตาที่การเห็นวัตถุสิ่งต่างๆ ปรากฏรูปร่างสัณฐานได้ ก็ต้องอาศัยแสงสว่าง เพราะฉะนั้นถ้าจะให้เห็นความละเอียด หรือว่าเห็นไกลกว่าตาธรรมดา ก็ต้องอาศัยการเจริญอาโลกกสิณ

    7580 ชื่อว่า จิต เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร

    ท่านอาจารย์ ยังมีข้อสงสัยอะไรอีกหรือเปล่าคะ

    อรรถ คือ ลักษณะของจิตประการที่ ๔ ตามข้อความในจิตตุปปาทกัณฑ์ ในอรรถกถา อัฏฐสาลินี มีข้อความว่า

    ชื่อว่า “จิต” เพราะเป็นธรรมชาติที่วิจิตรตามสมควร

    มีข้อความต่อไปว่า

    ในคำว่า “จิตตํ” นั้น เพราะเหตุที่จิตมีราคะ คือ โลภะ ความยินดี ความต้องการ ก็อย่างหนึ่ง มีโทสะ ก็อย่างหนึ่ง มีโมหะ ก็อย่างหนึ่ง

    นี่โดย “เหตุ” นะคะ

    เป็นกามาวจร ก็อย่างหนึ่ง จิตต่างกันโดยรูปาวรจิต เป็นต้น ก็อย่างหนึ่ง

    นี่ก็โดยนัยของ “ภูมิ”

    จิตมีรูปเป็นอารมณ์ ก็อย่างหนึ่ง จิตมีเสียงเป็นอารมณ์ เป็นต้น ก็อีกอย่างหนึ่ง

    นี่โดยโดยนัยของ “ทวาร” หรือโดยนัยของ “อารมณ์”

    แม้ในจิตมีรูปเป็นอารมณ์ จิตมีสีเขียวเป็นอารมณ์ ก็อย่างหนึ่ง มีสีเหลือง เป็นต้น เป็นอารมณ์ ก็อย่างหนึ่ง

    นี่ก็แสดงถึงการเกิดขึ้นและดับไป สืบต่อกันอย่างรวดเร็วของจิต

    แม้ในจิตมีเสียงเป็นอารมณ์ เป็นอาทิ ก็มีนัยเช่นเดียวกัน

    ในจิตแม้เหล่านั้น แม้ทุกดวง ที่เป็นจิตขั้นต่ำ ก็อย่างหนึ่ง ที่เป็นจิตขั้นกลาง ก็อย่างหนึ่ง ที่เป็นจิตขั้นประณีต ก็อย่างหนึ่ง

    แม้ในจิตเหล่านั้น จิตที่มีฉันทะเป็นอธิบดี ก็อย่างหนึ่ง จิตที่มีวิริยะเป็นอธิบดี ก็อย่างหนึ่ง จิตที่มีจิตตะเป็นอธิบดี ก็อย่างหนึ่ง จิตที่มีวิมังสาเป็นอธิบดี ก็อย่างหนึ่ง

    ข้อความในอรรถกถาเป็นการประมวลข้อความในพระไตรปิฎก ซึ่งหมายความว่า ท่านเหล่านั้นท่านรู้ข้อความในพระไตรปิฎกแล้ว เพราะฉะนั้นจึงกล่าวถึงลักษณะของจิต โดยนัยต่างๆ เช่น โดยนัยของอธิบดี ๔ ซึ่งได้แก่ ฉันทะ ๑ วิริยะ ๑ จิตตะ ๑ วิมังสา คือ ปัญญา ๑ ซึ่งจะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้นะคะ

    ฉะนั้น พึงทราบความที่จิตนั้นวิจิตรด้วยอำนาจสัมปยุตตธรรม ภูมิ อารมณ์ เหล่านี้เป็นต้น

    7581 ชื่อว่า จิต เพราะกระทำให้วิจิตร

    สำหรับประการสุดท้าย ซึ่งเป็นอรรถลักษณะของจิตประการที่ ๕ คือ ชื่อว่า “จิต” เพราะกระทำให้วิจิตร ซึ่งข้อความในอรรถกถา อัฏฐสาลินี มีว่า

    ชื่อว่า “จิต” เพราะกระทำให้วิจิตรอย่างไร จริงอยู่ ธรรมดาว่า ความวิจิตรอื่นจะยิ่งไปกว่าจิตรกรรม ย่อมไม่มีในโลก

    จริงไหมคะ สิ่งที่มีอยู่ ไม่ได้ปล่อยให้อยู่ไปตามธรรมดาธรรมชาติเลย แต่เอามาประดิษฐ์ให้เป็นสิ่งต่างๆ เกิดขึ้น แม้แต่ลวดลายรูปภาพต่างๆ ซึ่งเป็นจิตรกรรม ซึ่งในอัฏฐสาลินีอรรถกถา มีต่อไปว่า

    ความวิจิตรอื่นจะยิ่งไปกว่าจิตรกรรม ย่อมไม่มีในโลก ธรรมดาว่า ลวดลายในจิตรกรรมแม้นั้นก็เป็นความวิจิตร คือ เป็นความงดงามอย่างยิ่งทีเดียว พวกช่างลวดลายเมื่อจะทำจิตรกรรมนั้น ย่อมเกิดจิตสัญญาว่า รูปทั้งหลายชนิดต่างๆ เราพึงกระทำ ณ ตรงนี้ โดยอุบายอย่างนี้

    จริงไหมคะ เวลาที่จะวาดรูป ก็ต้องนึกก่อนว่า จะให้มีลวดลายอะไรบ้าง เพราะฉะนั้น สภาพของจิตที่กำลังคิดถึงลวดลายต่างๆ นั้น ก็เป็นความวิจิตรของจิต ถ้าจะดูสีสันของเสื้อผ้าของทุกๆ ท่านในทีนี้ หรือนอกสถานที่นี้ ตามถนนหนทางในทุกๆ วันนี้ ไม่เหมือนกันเลย

    นี่ก็แสดงถึงความวิจิตรของจิต ซึ่งประดิษฐ์ลวดลายต่างๆ แม้แต่เพียงลายผ้าก็ยังวิจิตรถึงอย่างนี้ เพราะฉะนั้นวัตถุสิ่งอื่นๆ ซึ่งวิจิตรต่างๆ กันไป ก็แสดงถึงความวิจิตรของจิต

    7582 ศิลปะอันวิจิตรทุกชนิดในโลก ย่อมสำเร็จเพราะจิตที่วิจิตร

    ซึ่งข้อความในอรรถกถา อัฏฐสาลินี มีว่า

    การกระทำให้วิจิตรทั้งหลายที่ให้สำเร็จกิจ มีการเขียน มีการลงสี การทำสีให้เรืองรอง และการสลับสี เป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยสัญญาอันวิจิตร รูปอันวิจิตรอย่างใดอย่างหนึ่ง ในความวิจิตรคือลวดลาย ย่อมสำเร็จมาจากการกระทำให้วิจิตรนั้น

    เพราะฉะนั้นศิลปะอันวิจิตรทุกชนิดในโลก อันจิตนั่นเองคิดว่า รูปนี้จงอยู่บนรูปนี้ รูปนี้จงอยู่ใต้ รูปนี้จงอยู่ตรงข้างทั้งสอง ดังนี้ แล้วจึงกระทำ เหมือนรูปอันวิจิตรที่เหลือ ย่อมสำเร็จได้ด้วยกรรมอันช่างคิดแล้ว ฉะนั้น

    นี่เป็นเรื่องของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงลักษณะที่วิจิตรต่างๆ ซึ่งย่อมสำเร็จเพราะจิตที่วิจิตร

    แม้จิตที่ให้สำเร็จความวิจิตรนั้น ก็ชื่อว่า “จิต” อย่างนั้นเหมือนกัน เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรด้วยการกระทำนี้ ดังพรรณนามาฉะนี้

    อีกอย่างหนึ่ง จิตนั่นเอง ชื่อว่า วิจิตร แม้กว่าลวดลายในจิตรกรรมนั้น เพราะให้สำเร็จจิตรกรรมตามที่จิตคิดทุกชนิด

    นี่เป็นเพียงส่วนปลีกย่อยของชีวิตประจำวัน แต่ว่าถ้าพูดถึงกรรมที่ทุกท่านกระทำในวันหนึ่งๆ ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง ที่เป็นกุศลกรรม ที่เป็นทานบ้าง เป็นศีลบ้าง เป็นการอบรมเจริญภาวนาบ้าง หรือว่าที่เป็นอกุศลกรรมที่เป็นปาณาติบาตบ้าง อทินนาทานบ้าง ก็ย่อมจะวิจิตรมากมาย ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า เป็นลักษณะของจิตซึ่งวิจิตร

    มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะ

    7583 จะระลึกรู้ลักษณะของจิตตามพุทธประสงค์บ้างหรือไม่

    แล้วไม่ทราบว่า เมื่อท่านผู้ฟังเห็นว่า จิตเป็นสภาพที่กระทำให้วิจิตรแล้ว จะรู้ลักษณะของจิต ตามจุดประสงค์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องที่จิตเป็นสภาพที่กระทำให้วิจิตรบ้างหรือเปล่า เพราะรูปธาตุภายนอก ที่เห็นว่าวิจิตรมาก โดยเป็นพืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆ เป็นวัตถุ เป็นภูเขา เป็นแม่น้ำต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดเพราะส่วนผสมของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ซึ่งมีลักษณะที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ไหลหรือเกาะกุม ระดับต่างๆ ทำให้ปรากฏเป็นสิ่งที่วิจิตรต่างๆ แต่สิ่งที่วิจิตรกว่ารูปธาตุภายนอก ก็คือจิต เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพที่กระทำให้วิจิตร

    ในปัจจุบันชาติ ทุกท่านเห็นคติที่ต่างกันของมนุษย์และสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งสัตว์เดรัจฉานก็มีรูปร่างแตกต่างกันมาก บางประเภทก็มีเท้ามาก บางประเภทก็ไม่มีเท้าเลย บางประเภทก็มี ๒ เท้า บางประเภทก็มี ๔ เท้า บางประเภทก็มีอยู่ในน้ำ บางประเภทก็อยู่บนบก และรูปร่างก็วิจิตรต่างกันมาก

    สำหรับมนุษย์ก็เป็นคติอีกคติหนึ่ง ซึ่งความวิจิตรของจิตก็กระทำให้ต่างกันไป โดยเพศต่างกัน โดยสัณฐานต่างกัน ทำให้สัญญาเกิดความจำในสัณฐานที่ต่างกัน ในเพศที่ต่างกัน เพราะกรรมซึ่งต่างกัน เพราะจิตซึ่งกระทำกรรมนั้นวิจิตรต่างๆ กัน ทำให้เกิดโวหาร คือ คำพูดซึ่งแสดงลักษณะของสภาพธรรมตามที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นถ้านึกถึงคำพูดซึ่งมีมากมายเหลือเกิน ก็เป็นคำพูดซึ่งแสดงให้เห็นลักษณะที่วิจิตรของสิ่งที่ปรากฏนั่นเอง วันหนึ่งมีคำพูดมาก หลายอย่าง พูดถึงสิ่งต่างๆ ก็แสดงให้เห็นว่า เพราะมีสิ่งต่างๆ ที่วิจิตรมากเพียงไร ก็ทำให้เกิดโวหาร เพื่อที่จะเรียกสิ่งที่ปรากฏที่วิจิตรเพียงนั้น และคำพูดนี้จะไม่มีวันหมด จะไม่มีวันจบ เพราะเหตุว่ามีสิ่งซึ่งจิตกระทำให้วิจิตรเกิดขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นคำพูดก็จะต้องบัญญัติเรียกสิ่งที่จิตกระทำให้วิจิตรมากขึ้น

    เพราะฉะนั้นในวันหนึ่งๆ ให้ทราบว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ไม่ว่าจะเห็นอะไร หรือว่าไม่ว่าจะพูดอะไร ย่อมเป็นสิ่งที่กระทำให้เห็นความวิจิตรของจิต ซึ่งกระทำให้สิ่งต่างๆ เหล่านั้นวิจิตร และถ้าท่านผู้ฟังจะคิดว่า ประโยชน์อะไรที่จะรู้เรื่องสภาพของจิต ซึ่งเป็นธรรมที่กระทำให้วิจิตร พระผู้มีพระภาคตรัสให้ระลึกถึงลักษณะของจิตในขณะนี้ เมื่อเห็นความวิจิตรต่างๆ ซึ่งจิตกระทำให้วิจิตร

    7584 ขณะนี้จิตกำลังกระทำให้วิจิตร

    ท่านผู้ฟังอาจจะคิดถึงภายนอกว่า สิ่งนั้นจิตก็กระทำให้วิจิตร สิ่งนี้จิตก็กระทำให้วิจิตร คนนี้จิตก็กระทำให้วิจิตร คนนั้นจิตก็กระทำให้วิจิตร หรือว่าคติของสัตว์เดรัจฉานประเภทต่างๆ จิตก็กระทำให้วิจิตร แต่ลืมว่า แท้ที่จริงแล้วจิตในขณะนี้ เดี๋ยวนี้เองซึ่งกำลังกระทำให้วิจิตรต่อไปข้างหน้า เพราะฉะนั้นไม่ใช่ให้คิดถึงเพียงสิ่งข้างนอกว่า จิตกระทำให้วิจิตร แต่เมื่อเห็นสิ่งที่จิตกระทำให้วิจิตรข้างนอกแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสให้ระลึกรู้ลักษณะของจิตที่กำลังเป็นไปในขณะนี้ เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    7585 คัททุลสูตรที่ ๒ ข้อ ๒๕๘

    ตามที่ทรงแสดงไว้ในสังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค คัททูลสูตร ที่ ๒ ข้อ ๒๕๘ มีข้อความว่า

    พระนครสาวัตถี ฯลฯ

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังสาระนี้มีที่สุด เบื้องต้น เบื้องปลายรู้ไม่ได้แล้ว ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่.

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุนัขที่เขาผูกไว้ด้วยเชือก ถูกล่ามไว้ที่หลักหรือเสาอันมั่นคง ถ้าแม้มันเดิน มันก็ย่อมเดินใกล้หลักหรือเสานั้นเอง ถ้าแม้มันยืน มันก็ย่อมยืนใกล้หลักหรือเสานั้นเอง ถ้าแม้มันนั่ง มันก็ย่อมนั่งใกล้หลักหรือเสานั้นเอง ถ้าแม้มันนอน มันก็ย่อมนอนใกล้หลักหรือเสานั้นเอง แม้ฉันใด

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ฉันนั้นเหมือนกันแล ย่อมตามเห็นรูปว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ย่อมตามเห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา.

    ปุถุชนนั้น ถ้าแม้เดิน เขาก็ย่อมเดินใกล้อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้นั้นเอง ถ้าแม้ยืน เขาก็ย่อมยืนใกล้อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้นั้นเอง ถ้าแม้นั่ง เขาก็ย่อมนั่งใกล้อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้นั้นเอง ถ้าแม้นอน เขาย่อมนอนใกล้อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้นั้นเอง.

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงพิจารณาจิตของตนเนืองๆ ว่า จิตนี้เศร้าหมองด้วยราคะ โทสะ โมหะสิ้นกาลนาน

    ไม่ว่าจะทรงแสดงเรื่องอะไร พระผู้มีพระภาคก็ตรัสให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ให้พิจารณาลักษณะของจิตว่า จิตนี้เศร้าหมองด้วยราคะ โทสะ โมหะสิ้นกาลนาน ไม่ใช่เฉพาะเดี๋ยวนี้ แต่ว่านานแสนนานมาแล้ว และถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของจิต ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพรู้ ธาตุรู้ ซึ่งกำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริงก็จะเศร้าหมองต่อไปอีกนานแสนนาน จนกระทั่งเบื้องปลายก็รู้ไม่ได้ เพราะเหตุว่าที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่

    ท่านที่อยากจะรู้เบื้องต้นนี่ ก็ควรที่จะพิจารณาว่า ขณะนี้ยังไม่รู้เลยทั้งๆ ที่กำลังปรากฏ แล้วจะไปรู้เบื้องต้นของสังสารวัฏนั้น จะรู้ได้อย่างไร มีทางใดที่จะรู้ได้ในเมื่อสิ่งที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้า ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจจริงๆ ในขณะนี้ ก็ยังไม่สามารถที่จะรู้ได้ ถ้าไม่ได้อบรมเจริญปัญญาจริงๆ แล้วจะพยายามไปรู้เบื้องต้นของสังสารวัฏ ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นจิตที่เศร้าหมองด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งก็จะต้องเศร้าหมองต่อไปอีก ถ้าปัญญาไม่สามารถที่จะรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่มีหนทางที่จะอบรมเจริญปัญญาได้ โดยรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 18
    16 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ