ศิลปะอันวิจิตรทุกชนิดในโลก ย่อมสำเร็จเพราะจิตที่วิจิตร


    ซึ่งข้อความในอรรถกถา อัฏฐสาลินี มีว่า

    การกระทำให้วิจิตรทั้งหลายที่ให้สำเร็จกิจ มีการเขียน มีการลงสี การทำสีให้เรืองรอง และการสลับสี เป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยสัญญาอันวิจิตร รูปอันวิจิตรอย่างใดอย่างหนึ่ง ในความวิจิตรคือลวดลาย ย่อมสำเร็จมาจากการกระทำให้วิจิตรนั้น

    เพราะฉะนั้นศิลปะอันวิจิตรทุกชนิดในโลก อันจิตนั่นเองคิดว่า รูปนี้จงอยู่บนรูปนี้ รูปนี้จงอยู่ใต้ รูปนี้จงอยู่ตรงข้างทั้งสอง ดังนี้ แล้วจึงกระทำ เหมือนรูปอันวิจิตรที่เหลือ ย่อมสำเร็จได้ด้วยกรรมอันช่างคิดแล้ว ฉะนั้น

    นี่เป็นเรื่องของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงลักษณะที่วิจิตรต่างๆ ซึ่งย่อมสำเร็จเพราะจิตที่วิจิตร

    แม้จิตที่ให้สำเร็จความวิจิตรนั้น ก็ชื่อว่า “จิต” อย่างนั้นเหมือนกัน เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรด้วยการกระทำนี้ ดังพรรณนามาฉะนี้

    อีกอย่างหนึ่ง จิตนั่นเอง ชื่อว่า วิจิตร แม้กว่าลวดลายในจิตรกรรมนั้น เพราะให้สำเร็จจิตรกรรมตามที่จิตคิดทุกชนิด

    นี่เป็นเพียงส่วนปลีกย่อยของชีวิตประจำวัน แต่ว่าถ้าพูดถึงกรรมที่ทุกท่านกระทำในวันหนึ่งๆ ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง ที่เป็นกุศลกรรม ที่เป็นทานบ้าง เป็นศีลบ้าง เป็นการอบรมเจริญภาวนาบ้าง หรือว่าที่เป็นอกุศลกรรมที่เป็นปาณาติบาตบ้าง อทินนาทานบ้าง ก็ย่อมจะวิจิตรมากมาย ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า เป็นลักษณะของจิตซึ่งวิจิตร

    มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะ


    หมายเลข 7582
    21 ส.ค. 2558