สุขเวทนา - ทุกขเวทนา เป็นเวทนาชาติวิบาก เป็นผลของกรรม


    สำหรับในเวทนา ๕ คือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ ซึ่งเป็นสภาพที่เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่ออารมณ์กระทบสัมผัสกาย ไม่เกี่ยวกับความดีใจหรือเสียใจ แต่เป็นความรู้สึกให้ขณะที่วิญญาณจิตเกิดขึ้นประจักษ์แจ้งในสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย โดยรู้สึกเป็นสุขอย่างหนึ่ง หรือว่ารู้สึกเป็นทุกข์อย่างหนึ่ง

    สำหรับสุขเวทนาก็ดี หรือทุกขเวทนาก็ดี เป็นเวทนาที่เป็นชาติวิบาก เป็นผลของกรรมซึ่งจะต้องรู้ด้วยว่า การที่กรรมให้ผล ให้ผลโดยการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา โดยได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู โดยได้กลิ่น สิ่งที่กระทบทางจมูก โดยลิ้มรส ซึ่งกระทบสัมผัสลิ้น และรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย วิญญาณจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นชาติวิบาก

    เพราะฉะนั้นเวลาที่เห็นจักขุวิญญาณเป็นวิบากจิต ฉันใด เวทนาที่เกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณก็เป็นวิบากเจตสิก ฉันนั้น เวทนาที่เกิดกับจักขุวิญญาณ เป็นอุเบกขาเวทนา ไม่ใช่สุขเวทนา หรือทุกขเวทนา

    เพราะฉะนั้นสำหรับเวทนาซึ่งเป็นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนา เกิดเฉพาะเวลาที่อารมณ์กระทบสัมผัสกาย แล้วกายวิญญาณซึ่งเป็นจิตดวงหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นรู้แจ้งอารมณ์ที่กระทบสัมผัส ถ้าอารมณ์ที่กระทบสัมผัสนั้นแข็งเกินไป ร้อนเกินไป เย็นเกินไป ขณะนั้นความรู้สึกเป็นทุกข์เกิดขึ้น ไม่มีใครที่จะสามารถจะเปลี่ยนแปลงให้เกิดความรู้สึกเป็นสุข เวลาที่สิ่งซึ่งเป็นอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ เกิดขึ้นกระทบกายปสาทที่กาย

    เพราะฉะนั้นเวทนาซึ่งเป็นชาติวิบาก ย่อมเป็นไปตามกรรม แล้วแต่ว่ากายจะกระทบสัมผัสสิ่งที่เป็นอิฏฐารมณ์ สุขเวทนาก็เกิด กายกระทบสัมผัสกับสิ่งที่เป็นอนิฏฐารมณ์ ทุกขเวทนาก็เกิด ซึ่งทุกท่านก็เคยมีทุกขเวทนา คงจะไม่มีใครบอกว่า ไม่เคยรู้ลักษณะของทุกขเวทนาที่กายเลย ใช่ไหมคะ เวลาที่ปวด เจ็บ เมื่อย เป็นไข้ ปวดศีรษะ ปวดท้อง ปวดฟัน ทั้งหมด สิ่งที่ปรากฏที่กายทั้งหมดเป็นทุกขเวทนา เวลาที่เป็นความรู้สึกเป็นทุกข์ และเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย

    เพราะฉะนั้นทุกขเวทนาเป็นชาติวิบาก ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งไม่ให้ทุกขเวทนาเกิด

    มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะในเรื่องนี้

    ต้องแยกนะคะ ทางกายและทางใจ ถ้าเป็นเรื่องที่กระทบสัมผัสกาย เวทนาจะเป็นสุขเวทนา ๑ หรือทุกขเวทนา ๑ ซึ่งเป็นชาติวิบาก ซึ่งเป็นผลของอดีตกรรม

    แต่เวลาที่รู้สึกเดือดร้อนใจ เป็นห่วง กังวล ไม่สบายใจ แต่กายไม่เดือดร้อน ไม่เป็นอะไร ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นทุกข์ ในขณะนั้นไม่ใช่ผลของอดีตกรรม แต่เป็นการสะสมอกุศลธรรมซึ่งสะสมทำให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจ ไม่แช่มชื่นเกิดขึ้น


    หมายเลข 7296
    20 ส.ค. 2558