เวทนาดับไปแล้ว สติระลึกรู้ อย่างนี้เป็นสติปัฏฐานหรือไม่


    ส.   มีข้อสงสัยอะไรไหมคะเรื่องเวทนา

    ถาม   ผมสงสัยเรื่องเวทนาอยู่ ลักษณะของสติปัฏฐาน คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมคือเวทนานี้ เวทนานั้นจะต้องดับไปแล้ว สติจึงจะระลึกรู้ จะถือว่าเป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า

    ส.   โดยมากท่านผู้ฟังจะคิดถึงปริยัตินะคะที่ทรงแสดงว่า จิตเกิดขึ้นทีละขณะ เพราะฉะนั้นขณะที่เป็นอกุศลจิตเกิดแล้วดับไป ภายหลังกุศลจิตซึ่งประกอบด้วยสติปัฏฐานจึงจะเกิดขึ้นได้ ใช่ไหมคะ

    แต่ว่าต้องทราบว่า สภาพธรรมนี้เกิดขึ้นทีละขณะ แล้วดับไปก็จริง แต่เกิดสืบต่ออย่างเร็วมาก เช่นในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ มีใครสามารถที่จะรู้จิตที่เห็น แล้วก็ดับไป แล้วก็จิตอื่นเกิดต่อคั่นอยู่ระหว่างจิตเห็นแต่ละขณะนี้ได้ไหมคะ

    ขณะนี้ปรากฏเหมือนว่า เห็นไม่ดับ ใช่ไหมคะ เพราะว่ากำลังเห็นอยู่ และโดยปริยัติก็ทราบว่า จักขุวิญญาณนี้มีอายุที่น้อยมาก สั้นมาก เช่นเดียวกับจิตอื่นๆทุกขณะ คือ เพียงเกิดขึ้นทำกิจเห็น แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ในระหว่างจิตเห็นซึ่งปรากฏเหมือนกับไม่ดับในขณะนี้ มีจิตอื่นเกิดมาก เกิดแทรก เกิดคั่น ถูกไหมคะ ถูกครับ

    เวลานี้กำลังเห็นอย่างนี้ เพราะไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของจิตแต่ละดวง หรือแต่ละขณะ เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นยังมีปรากฏอยู่ เพราะเกิดแล้วก็ดับ แล้วก็มีจิตอื่นเกิดสืบต่อทันทีอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานจึงเป็นกุศลธรรมซึ่งเกิดพร้อมกุศลจิตแล้วระลึกรู้สภาพของจิตเห็น ซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน โดยที่มีจิตอื่นเกิดสืบต่อคั่นอยู่ในระหว่างจิตที่กำลังเห็นในเวลานี้ นับไม่ถ้วนว่า ขณะนี้จักขุวิญญาณเกิดดับแล้วกี่ดวง เพราะว่าไม่ปรากฏการเกิดขึ้นและดับไปของจักขุวิญญาณ แต่แม้กระนั้นก็มีจิตอื่นซึ่งเกิดดับคั่นอยู่ระหว่างจักขุวิญญาณดวงหนึ่ง กับจักขุวิญญาณอีกดวงหนึ่ง ซึ่งปรากฏว่าต่อกัน

    นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่า สติปัฏฐานในระหว่างนั้น สามารถที่จะเกิดระลึกรู้ลักษณะของจักขุวิญญาณ คือ จิตที่กำลังเห็นในขณะนี้ได้ ฉันใด เวทนาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตแต่ละขณะ ก็สามารถที่จะปรากฏลักษณะของสภาพของเวทนาลักษณะนั้นๆได้

    อย่างอุเบกขาเวทนา ความรู้สึกเฉยๆ เกิดกับจักขุวิญญาณแล้วก็ดับไป แล้วขณะนี้มีอุเบกขาเวทนาเกิดกับจักขุวิญญาณ  ซึ่งในระหว่างจักขุวิญญาณ  ๒ ดวงนี้ มีจิตเกิดดับคั่น ซึ่งเป็นสติปัฏฐานได้ ที่จะระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึกเฉยๆ ไม่ทุกข์ ไม่สุข ซึ่งเกิดในขณะที่กำลังเห็น


    หมายเลข 7290
    20 ส.ค. 2558