ประโยชน์ของการศึกษาเพื่อเกื้อกูลให้สติเกิดระลึกรู้สภาพธรรม


    ไม่ทราบว่า วันนี้ท่านผู้ฟังมีข้อสงสัยอะไรบ้างหรือเปล่าคะ ได้เรียนให้ท่านผู้ฟังทราบแล้วว่า ประโยชน์ของการศึกษาธรรม เพื่อที่จะเกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะศึกษาธรรมข้อใดที่เป็นความละเอียดยิ่งขึ้น จุดประสงค์ก็เพื่อที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามที่ได้ศึกษา เช่น ความรู้สึกเป็นสภาพที่มีจริง ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งไม่ให้ความรู้สึกเกิดขึ้น แม้แต่ในขณะนี้ไม่ว่าจิตเกิดขึ้นขณะใด ก็จะต้องมีสภาพที่รู้สึกในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ในขณะนั้น ซึ่งในขณะนี้ความรู้สึกย่อมจะเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด คือ เป็นความรู้สึกเฉยๆ หรือเป็นความรู้สึกที่เป็นสุข ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ ความรู้สึกดีใจ ความรู้สึกเสียใจ ไม่ใช่เพียงเพื่อจะให้รู้จำนวน หรือว่ารู้เพียงชื่อ แต่เพื่อให้รู้ลักษณะของความรู้สึกที่กำลังมี ซึ่งถ้าสติไม่เกิด และไม่ระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึกที่กำลังมีในขณะนี้ แม้ความรู้สึกนั้นมีจริง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่เมื่อปัญญาไม่สามารถจะรู้ลักษณะของความรู้สึกได้ ก็ย่อมจะยึดถือความรู้สึกว่าเป็นเราที่เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ ดีใจ เสียใจ หรือเฉยๆ

    เพราะฉะนั้นตราบใดที่สติยังไม่ระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึก ย่อมไม่มีทางที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะเหตุว่าทุกคนยึดมั่นในความรู้สึก ความรู้สึกนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต เพราะว่าทุกคนต้องการมีความรู้สึกที่เป็นสุข ไม่มีใครต้องการความรู้สึกที่เป็นทุกข์

    เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะมีทางใดที่จะให้เกิดสุขเวทนา หรือโสมนัสเวทนา ก็ย่อมจะพยายามขวนขวายให้เกิดความรู้สึกนั้น โดยที่ไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นการติด ความพอใจ ความยึดมั่นในความรู้สึก ซึ่งเพียงเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป แต่ในเมื่อความรู้สึกเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทุกคนยึดถือ เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงเวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ ซึ่งเป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นธรรมที่ยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลประการสำคัญประการหนึ่ง มิฉะนั้นแล้วก็คงจะไม่แยกเวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์


    หมายเลข 7294
    20 ส.ค. 2558