สราคจิต - วีตราคจิต


    ด้วยเหตุนี้ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน จะเห็นได้ว่า สำหรับจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรพที่ ๑ คือ สราคจิต คือ จิตประกอบด้วยราคะ หรือโลภะ ความยินดี ความพอใจ ซึ่งมีเป็นปกติธรรมดา โดยที่ว่าท่านผู้ฟังอาจจะไม่เคยสังเกตลักษณะของโลภะ ความยินดี ความพอใจเลย แต่ด้วยเหตุใดสราคจิตจึงเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรพที่ ๑ เพราะเหตุว่าเกิดขึ้นเป็นปกติ ประจำ เมื่อมีการเห็นแล้ว อาจจะไม่รู้เลยว่า เวลาที่วิบากจิตซึ่งเห็นดับไปแล้ว โลภมูลจิตเป็นสภาพที่ยินดี พอใจในสิ่งที่เห็นเกิดสืบต่ออย่างรวดเร็วอยู่เรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นการที่จะดับกิเลสได้ ปัญญาจะต้องสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นเมื่อมีการเห็น แล้วก็มีโลภะ เมื่อมีการได้ยิน แล้วก็มีโลภะ เมื่อมีการได้กลิ่น แล้วก็มีโลภะ มีการลิ้มรส แล้วก็มีโลภะ มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แล้วก็มีโลภะเป็นประจำ จึงเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน แล้วแต่ว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะของวิบากจิต ซึ่งเป็นวีตราคจิต จึงเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรพที่ ๒

    ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมที่เกิดปรากฏเป็นปกติ มีโลภมูลจิตเป็นประจำ ถ้าสติปัฏฐานของใครจะระลึกรู้ได้ หรือมิฉะนั้นก็เป็นวีตราคจิต ซึ่งเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรพที่ ๒ คือ จิตที่ปราศจากราคะ ได้แก่ กุศลจิต หรืออัพยากตจิต ซึ่งก็ได้แก่ วิบากจิตและกิริยาจิต แต่เมื่อกิริยาจิตไม่ปรากฏ วิบากจิตมีปรากฏในขณะที่เห็น เป็นวิบากจิต ในขณะที่ได้ยิน เป็นวิบากจิต ในขณะที่ได้กลิ่น เป็นวิบากจิต ในขณะที่ลิ้มรส เป็นวิบากจิต ในขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย เป็นวิบากจิต

    เพราะฉะนั้นขณะนี้มีวิบากจิตสลับกับกุศลจิต หรืออกุศลจิต ถ้าขณะใดที่เป็นอกุศลจิต ก็เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรพแรก ซึ่งถ้าเป็นสราคจิต ก็เป็นจิตที่พอใจอยู่ตลอดเวลาในการเห็น ในการได้ยิน ในการได้กลิ่น ในการลิ้มรส ในการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ถ้าขณะใดที่มีการระลึกได้ ก็รู้ว่า เห็น ไม่ใช่ความยินดีพอใจ ขณะที่ได้ยินเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาพรู้เสียง ไม่ใช่ความยินดีพอใจในเสียง

    เพราะฉะนั้นในขณะนั้นลักษณะของวิบากจิต ซึ่งเป็นผลในปัจจุบันเกิดขึ้น เพราะเหตุในอดีตเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ลักษณะของวิบากจิต อย่ารู้หยาบ ๆ เวลาที่มีอุบัติเหตุ มีโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้น มีการได้ลาภ หรือเสื่อมลาภ หรือว่ามีการเป็นสุข เป็นทุกข์ทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้น แต่ต้องรู้ว่า วิบากจิตทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นรับผลของกรรม  ทางตา คือ ทุกขณะที่เห็น เป็นวิบาก ทุกขณะที่ได้ยิน เป็นวิบาก ทุกขณะที่ได้กลิ่น เป็นวิบาก ทุกขณะที่ลิ้มรส เป็นวิบาก ทุกขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย เป็นวิบาก

    มีท่านผู้ฟังสงสัยอะไรบ้างไหมคะในเรื่องนี้


    หมายเลข 7027
    23 ส.ค. 2558