ยากที่จะพูดให้เข้าถึงสภาพของธรรม โวหารเทศนาจึงมีมาก


    ส.   มีอะไรสงสัยไหมคะในเรื่องนี้

    ถาม   อาจารย์ว่า ความวิจิตรของจิต วาจาก็เกิดจากจิต เพราะฉะนั้นจิตจะวิจิตรเท่าไรก็มีคำพูด พูดถึงเรื่องของจิต แต่บางทีจิตบางอย่าง คำพูดเข้าไปไม่ถึง เช่นคำว่า “โยนิโสมนสิการ” แปลเป็นภาษาไทยก็แปลว่า การพิจารณาโดยแยบคาย และอรรถกถาต่างๆท่านก็ยังขยายความออกไปอีก เสร็จแล้ว ฟังแล้วก็ยังไม่รู้ว่า โยนิโสมนสิการนั้นคืออย่างไร จิตชนิดไหน แบบไหน จึงจะมีโยนิโสมนสิการ พูดเท่าไรๆ คนฟังก็ยังไม่เข้าใจ เพราะคำพูดเข้าไม่ถึง หรือยังไง

    ส.   ยากนะคะที่จะใช้คำพูด แล้วก็สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมได้ทันที ไม่ต้องกล่าวถึงโยนิโสมนสิการ เพียง “จิต” นี้เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ในขณะที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ในขณะที่กำลังได้ยินเสียง จิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ไม่ใช่เสียง พูดอย่างนี้น่าจะชัดเจนแล้ว ใช่ไหมคะ หรือว่าจะมีคำอะไรที่จะชัดเจนยิ่งกว่านี้ แต่แม้อย่างนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะเข้าใจลักษณะของจิต ซึ่งกำลังได้ยินเสียง เป็นธาตุที่กำลังรู้เสียงในขณะนี้ได้ ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดระลึก และพยายามน้อมที่จะศึกษา รู้ในอาการของธาตุรู้ที่มีจริงๆ ซึ่งกำลังรู้เสียง แต่ก็มีคำ เพราะเหตุว่าลักษณะของจิตมีจริง ก็จะต้องมีโวหาร มีคำซึ่งจะทำให้เข้าใจลักษณะของจิต ถ้าพิจารณาบ่อยๆ แล้วก็รู้หนทางที่จะทำให้อบรมเจริญปัญญา ที่สามารถจะประจักษ์แจ้งในลักษณะของธาตุรู้ สภาพรู้ได้

    เพราะฉะนั้นโวหารจึงมีมาก โดยเฉพาะโวหารเทศนาของพระผู้มีพระภาคที่จะกล่าวถึงสภาพธรรมแต่ละลักษณะตามความเป็นจริง


    หมายเลข 7591
    21 ส.ค. 2558