เฉพาะเจตนาเจตสิกดวงเดียว เป็นอภิสังขารในปฏิจจสมุปปาท


    และในเจตสิก ๕๐ ซึ่งเป็นสังขารขันธ์ ก็ยังหมายเฉพาะเจตนาเจตสิกดวงเดียวเท่านั้นที่เป็น “อภิสังขาร” ในปฏิจจสมุปปาท ซึ่งท่านผู้ฟังก็คงจะได้ทราบว่า “อวิชชา” เป็นปัจจัยแก่ “สังขาร"

    “สังขาร” นั้น หมายความถึง “อภิสังขาร” คือ สภาพของเจตสิกซึ่งเป็นเจตนา เป็นสภาพที่ปรุงแต่งอย่างยิ่ง คือ ทำให้เป็นกุศลหรืออกุศล ซึ่งจะทำให้เกิดผลข้างหน้า ในเมื่อเจตสิกอื่นก็ปรุงแต่งให้จิตเกิดขึ้น เช่น ผัสสเจตสิก ถ้าไม่มีผัสสเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่กระทบอารมณ์ การเห็นมีไม่ได้ การได้ยินมีไม่ได้ การได้กลิ่นมีไม่ได้ การลิ้มรสมีไม่ได้ การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึกต่างๆ ก็มีไม่ได้ แต่ว่าผัสสเจตสิกไม่ใช่อภิสังขาร

    เพราะฉะนั้นในสังขารขันธ์ ๕๐ เฉพาะ เจตนาเจตสิก ดวงเดียวเท่านั้นที่เป็น “อภิสังขาร” คือ เป็นสภาพที่ปรุงแต่งอย่างยิ่งให้เป็นกุศลธรรมหรืออกุศลธรรม

    เพราะเหตุว่าสำหรับ อวิชชา ซึ่งเป็นปัจจัยแก่ สังขาร ในปฏิจจสมุปปาท สังขาร นั้นได้แก่ ปุญญาภิสังขาร ๑ อปุญญาภิสังขาร ๑ อเนญชาภิสังขาร ๑ ซึ่งหมายถึงเจตนา

    สำหรับปุญญาภิสังขาร ได้แก่ เจตนาซึ่งเกิดกับกุศลจิต สำหรับอปุญญาภิสังขาร ก็ได้แก่ เจตนาซึ่งเกิดกับอกุศลจิต และสำหรับอเนญชาภิสังขาร ก็ได้แก่ เจตนาที่เกิดกับอรูปฌานกุศลจิต ซึ่งเป็นกุศลที่ไม่หวั่นไหว


    หมายเลข 7352
    21 ส.ค. 2558