มีกำลังอ่อนต้องอาศัยการชักจูง - มีกำลังกล้าไม่ต้องอาศัยการชักจูง


    ท่านอาจารย์ มีข้อสงสัยอะไรไหมคะ เชิญค่ะ

    ผู้ฟัง ที่ว่า สสังขาร และ อสังขารนี้ ตามพยัญชนะก็อย่างที่อาจารย์กล่าวแล้วว่า อาศัยการชักจูง คือสสังขาร ถ้าอสังขารแล้วไม่ต้องอาศัยการชักจูง เพราะฉะนั้น อสังขาร กำลังจึงมีมากกว่า

    แต่ทีนี้โดยนัยของการปฏิบัติแล้ว ก็อยากจะรู้ว่า อ้ายที่ชักจูงน่ะ หมายถึงอย่างไร และไม่ชักจูงหมายถึงอย่างไร เช่นสมมติว่า ผมเห็นรถยนต์รุ่นใหม่มาถึงสวยงามมาก อยากจะได้ ขณะที่คิดอย่างนั้น อยากถามอาจารย์ว่า เป็นสสังขาร หรือ อสังขาร

    ท่านอาจารย์ อสังขารค่ะ

    ผู้ฟัง เพราะว่าบางคนเขาบอกว่า เป็นสสังขาร เพราะว่ารูปของรถยนต์มาชักจูง บางคนเขาว่าอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่มีอสังขาร โดยนัยนั้นไม่มีอสังขารเลย ใช่ไหมคะ

    เพราะฉะนั้นก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า โดยความต่างกันของจิต ที่เป็นอสังขาร และสสังขารนั้นคืออย่างไร

    บางครั้งอกุศลจิตเกิด มีกำลังแรงกล้าทันทีด้วยตนเอง เพราะเหตุว่าสะสมมาที่จะให้เกิดความยินดีพอใจ หรือความไม่พอใจในขณะนั้น ตามการสะสมทันที เพราะฉะนั้นก็เป็นจิตที่มีกำลังแรงกล้าที่เกิดขึ้น โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องชักจูงใดๆ เลย แต่ว่าบางครั้งไม่เป็นอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายกุศลหรืออกุศลก็ตาม มีกำลังอ่อน เคยรู้สึกอย่างนั้นไหมคะ

    ไม่ค่อยอยากจะไปดูหนังหรอกค่ะ หรือละครก็เหมือนกัน แต่ว่าถ้ามีญาติพี่น้องเพื่อนฝูงชักชวนก็ไป จิตในขณะนั้น พอที่จะบอกได้ไหมคะว่า ด้วยตัวเองอยากจะไปหรือเปล่า ไม่ดูก็ได้ ไม่ดูก็ดี แต่ว่าเมื่อมีใครชวนก็ไป ไม่ใช่ว่าจะไม่ไป เพราะฉะนั้นในขณะนั้นก็เป็นจิตที่อ่อน หรือไม่อ่อน เพราะเหตุว่าถ้าตามลำพังคนเดียวตัวเองก็คงจะไม่ไป หรือว่าบางครั้งก็รู้สึกว่า หนังเรื่องนี้ก็คงจะดี น่าดู ก็คงจะสนุก ก็อยากจะไปเหมือนกัน แต่ก็ไม่ไป เพราะยังไม่มีกำลังกล้าที่ว่าไปทันที เมื่อเห็นแล้วก็เกิดความต้องการยินดีที่จะไปทันทีได้ เป็นอย่างนี้หรือเปล่าคะ

    ชีวิตประจำวันจริงๆ ที่จะต้องรู้ว่า ขณะใดเป็นจิตที่มีกำลังกล้า หรือขณะใดเป็นจิตที่มีกำลังอ่อน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอกุศลที่เป็นโลภะ หรือโทสะ หรือว่าเป็นฝ่ายกุศลก็ตาม บางคนก็มีคนชวนไปทอดกฐิน เมื่อทราบข่าวว่ามีการทอดกฐิน บางท่านก็อาจะเกิดอยากจะไปทันที ด้วยตัวเอง แล้วก็ชักชวนคนอื่นด้วย แล้วสำหรับบางคนถึงแม้ว่าจะถูกชักชวนแล้ว แต่ถ้าคนนี้ไม่ไป คนนั้นไม่ไป ก็ไม่ไป อย่างนั้นเป็นจิตที่อ่อน หรือว่าจิตที่มีกำลังแรงกล้า

    เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกุศลหรืออกุศล สภาพของจิตนี้ต่างกัน แม้ว่าจะมีเจตสิกประกอบเท่ากันทางฝ่ายกุศลก็ตาม แต่ว่ากำลังของจิตที่เกิดขึ้นในขณะนั้นแรงกล้า หรือว่าอ่อน ก็แล้วแต่เหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น


    หมายเลข 7357
    22 ม.ค. 2567