สังขารธรรม


    สำหรับในวันนี้ ก็เป็นความต่างกันของจิตโดยอำนาจของสัมปยุตตธรรมที่ทำให้จิตต่างกัน โดยเป็นอสังขาริกหรือสสังขาริก

    ท่านผู้ฟังได้ยินคำว่า “สังขาร” บ่อยๆ ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกก็ได้กล่าวถึง “สังขาร” หลายนัย ซึ่งควรที่จะได้เข้าใจตามลำดับว่า

    “สังขาร” ที่หมายความถึง สังขารธรรม นัยหนึ่ง

    “สังขาร” ที่หมายความถึง สังขารขันธ์ นัยหนึ่ง

    “สังขาร” ที่หมายความถึง อภิสังขาร นัยหนึ่ง

    “สังขาร” ที่หมายความถึง อสังขารและสสังขารอีกนัยหนึ่ง

    สำหรับความหมายของ สังขารธรรม ก็คงจะทราบแล้วว่า หมายความถึงสภาพธรรมที่เกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัยปรุงแต่ง และดับไป ไม่เที่ยง ที่กล่าวว่า

       สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง หมายความถึงธรรมทุกอย่าง ไม่เว้นเลย ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เมื่อมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป ตามเหตุปัจจัยนั้นๆ

    “เสียง” เป็นสังขารธรรม เพราะเสียงเกิดขึ้น แล้วก็ไม่เที่ยง  สภาพธรรมใดๆก็ตาม ซึ่งเกิดแล้วจักไม่ดับ ไม่มีเลย และสภาพธรรมซึ่งเกิดแล้ว ไม่ได้ตั้งอยู่นานเลย เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะที่เล็กน้อย แล้วก็ดับไป หมดสิ้นไป นั่นเป็นลักษณะของสังขารธรรม ซึ่งได้แก่ จิต เจตสิก และรูป

       ปรมัตถธรรม มี ๔ จิตปรมัตถ์ ๑ เจตสิกปรมัตถ์ ๑ รูปปรมัตถ์ ๑ นิพพานปรมัตถ์ ๑

       ปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก และรูป เป็นสังขารธรรม มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้นเป็นไปต่างๆ และตั้งอยู่ชั่วเวลาที่สั้นมาก แล้วก็ดับไป นั่นเป็นความหมายของสังขารธรรม

    นอกจากนิพพานแล้ว ธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นสังขารธรรม

    มีข้อสงสัยอะไรไหมคะในตอนนี้

     


    หมายเลข 7350
    21 ส.ค. 2558